fbpx
มหากาพย์คนไร้สัญชาติ ข้ามให้พ้นคำถาม “คนไทยหรือเปล่า” : สุรพงษ์ กองจันทึก

มหากาพย์คนไร้สัญชาติ ข้ามให้พ้นคำถาม “คนไทยหรือเปล่า” : สุรพงษ์ กองจันทึก

ธิติ มีแต้ม เรื่องและภาพ

 

“คุณดูละครสักเรื่องหนึ่ง คุณเห็นใจนางเอกที่ถูกตัวร้ายรังแกข่มเหง ทุกคนเข้าใจตรงกัน แต่ถ้าใครไปเล่นบทผู้ร้าย คนก็จะด่า มันเป็นเรื่องธรรมดา ความเข้าใจก็มีขึ้นๆ ลงๆ”

สุรพงษ์ กองจันทึก อดีตประธานคณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติและผู้พลัดถิ่น สภาทนายความแห่งประเทศไทย ปัจจุบันสวมหมวกเป็นประธานมูลนิธิผสานวัฒนธรรม เปรียบเปรยให้ 101 ฟังตอนหนึ่งระหว่างที่บทสนทนาเรื่องคนไร้สัญชาติกำลังเดินทางไปถึงช่วงสุดท้าย

เป็นการเปรียบเปรยที่สะท้อนกลายๆ ว่า ทำไมสังคมไทยยังมักได้ยินข่าวเรื่องเด็กไร้สัญชาติออกมาเป็นช่วงๆ ทั้งที่เป็นเรื่องเก่า ทั้งที่เป็นเรื่องเชย ทั้งที่ควรจะจบสิ้นไปตั้งนานแล้ว แต่เปล่า, ตั้งแต่กรณีน้องหม่อง ทองดี เมื่อหลายสิบปีก่อน กระทั่งมาถึงกรณีน้องน้ำผึ้งและน้องพลอยที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อไม่กี่เดือนก่อน แม้ว่าวินาทีนี้พวกเขาได้สัญชาติไทยเรียบร้อยแล้ว แต่ดูเหมือนละครของสังคมไทยไม่เคยจบ ไม่มีใครการันตีว่าอนาคตจะไม่พบเจอเด็กไร้สัญชาติอีก

ในห้วงเวลาที่ประเด็นคนไร้สัญชาติกำลังเบาเสียงลง ผู้คนเบนเข็มไปประเด็นอื่น 101 ชวนอ่านทรรศนะของ ‘สุรพงษ์’ ผู้ที่เกาะติดปัญหาคนไร้สัญชาติมาร่วมสี่ทศวรรษ

“ตอนเป็นเด็กเราชอบเที่ยว พอเข้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ออกค่ายอาสา ได้เห็นคนมากขึ้น ผมเห็นกลุ่มคนชาวเขาตั้งแต่ปี 2523 เรื่องสัญชาติยังไม่มีใครสนใจมาก 40 ปีก่อนประเทศยังไม่เจริญมาก แม้ว่าคนที่ไม่มีสัญชาติ ไม่มีเอกสาร เพราะเขาอยู่บนเขา ก็ไม่มีผลต่อชีวิตเขาเท่าไหร่ แต่พอไทยเริ่มใช้บัตรประชาชนเพื่อกำหนดตัวตนกันมากขึ้น ปัญหามันเลยค่อยๆ แดงขึ้นมา”

ความที่เจ้าตัวร่ำเรียนมาด้านกฎหมาย ทำให้เขาพยายามเชื่อมรอยต่อแก้ปัญหามิติทางสังคม โดยเฉพาะเรื่องสิทธิมนุษยชนได้ก็เมื่อยุคสมัยล่วงเลยมาถึงปี 2540 ที่สังคมไทยมีรัฐธรรมนูญฉบับที่ว่ากันว่าเป็นประชาธิปไตยที่สุดตั้งแต่ที่มาและกระบวนการ

“ก่อนหน้านี้เรื่องสัญชาติเป็นเรื่องของความมั่นคง คนที่ทำงานกับชาวเขาอย่างผมไม่มีสิทธิ์ยุ่งเลย เป็นเรื่องของฝ่ายรัฐเท่านั้นที่จะให้หรือไม่ให้ ชาวบ้านไม่มีสิทธิมาเรียกร้อง พอมีรัฐธรรมนูญ 2540 สังคมก็เริ่มพูดเรื่องเหล่านี้มากขึ้น กรรมการสิทธิมนุษยชนก็เกิดในช่วงนั้น ระเบียบของกระทรวงมหาดไทยที่จะรองรับชาวเขาดั้งเดิมให้ได้สัญชาติไทยก็ออกมาในช่วงนั้น”

หมุดหมายจากรัฐธรรมนูญปี 2540 สังคมไทยทำท่าจะก้าวหน้าไปเรื่อยๆ ทว่าทำไมปัจจุบันยังมีคนไร้สัญชาติหลงเหลืออยู่เป็นล้านคน อะไรทำให้คำถามเบสิคยังคงกังวานอยู่ในปัจจุบัน แม้จะผ่านมายี่สิบกว่าปีแล้วก็ตาม

 

 

การไร้สัญชาติเมื่อก่อนซีเรียสขนาดไหน ถ้าพูดเรื่องนี้ในปัจจุบันอาจจะนึกไม่ค่อยออกแล้วว่าการไร้สัญชาติเป็นอย่างไร

เรื่องสัญชาติมันสำคัญกับชีวิตคน มันผูกพันกับเรื่องสิทธิเด็ก สิทธิผู้หญิง ฯลฯ สิทธิต่างๆ เหล่านี้มันผูกพันมาตั้งแต่คุณเกิดเป็นทารก ปัจจุบันรัฐเอาสิทธิเหล่านี้ไปผูกกับบัตรประชาชน ถ้าเกิดว่าคุณไม่มีบัตร สิทธิของคุณมันก็หายไปหมด เพราะรัฐไม่รู้ว่าคุณเป็นใคร

สมัยก่อนคนที่ไม่มีเอกสารสิทธิแต่ว่าอาศัยอยู่ภายในประเทศไทย ก็เรียกว่าคนที่อยู่มาดั้งเดิมกันทั้งนั้น มันยังไม่มีความรู้สึกว่าคนไม่มีบัตรเป็นคนต่างด้าว เวลาเราไปตามพื้นที่ป่าเขาที่ห่างไกล หรือแม้กระทั่งในสลัม ตามท้องสนามหลวง สมัยก่อนรัฐคิดเพียงแค่ว่าจะให้ความเป็นไทยกับเขายังไง

ต่อมาเราก็แยกคนเป็น 2 กลุ่มหลักๆ คือกลุ่มที่น่าจะเป็นไทย กับอีกกลุ่มที่รัฐไปบอกว่าเขาเป็นต่างด้าวเลย รัฐให้สิทธิเขาในฐานะแรงงานต่างด้าว แต่สมัยก่อนแรงงานต่างด้าวที่ถือสัญชาติลาว เขมร พม่า ยังไม่มี เพราะมันยังไม่มีการพิสูจน์สัญชาติกันอย่างเป็นเรื่องเป็นราว

 

ในสายตาของรัฐไทย ตอนนี้มีแค่ไทยกับไม่ไทย ?

ใช่

 

ปัญหาการไร้สัญชาติในสังคมไทยสตาร์ทตรงไหน

สมัยก่อนเรียกว่าใครอยู่ที่ไหนก็เป็นคนของพื้นที่นั้น กษัตริย์เมื่อก่อนครองไปถึงไหน คนที่อยู่ในบริเวณนั้นก็ต้องเป็นคนของกษัตริย์ เวลาบุกไปตี เขาไม่ได้แค่แย่งดินแดนอย่างเดียว เขาแย่งคนกันด้วย พม่าตีกรุงศรีอยุธยาเสร็จ ก็กวาดต้อนคนไทยไปอยู่ที่นั่น รัฐไหนที่มีกำลังเยอะก็จะมีคนมาเป็นแรงงานเยอะ มีกองกำลังเยอะ แสดงถึงความยิ่งใหญ่ เขาไม่ได้สนใจพื้นที่มากเท่ากำลังคน

ผู้ปกครองเขาต้องการให้คนส่งส่วยให้เขามากขึ้น เขาก็มีกำลังมากขึ้น และมันไม่ได้เพิ่มขึ้นจากพื้นที่ พาวเวอร์เขามันขึ้นอยู่กับการได้รับการยอมรับจากคน พอมายุคหลังๆ รูปแบบการปกครองมันเปลี่ยนไป คนเริ่มมากขึ้น แต่พื้นที่กลับเท่าเดิม บวกกับความคิดทางการเมืองที่เข้ามาแทรก มีการกีดกันคนที่มีความคิดทางการเมืองที่แตกต่างกันออกไป ไทยเราก็เริ่มมีเรื่องเหล่านี้จริงๆ จังๆ คือช่วงเกิดสงครามอินโดจีน

อย่างตอนเวียดนามมีสงคราม คนเวียดนามที่อพยพหนีสงครามเข้ามาในไทย เราไม่รู้ว่าความคิดทางการเมืองเขาเป็นยังไง เขาอาจจะหนีมาเพราะสงคราม ก็ไม่น่าจะมีปัญหามาก แต่ถ้าจะเข้ามาเพื่อต้องการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงการปกครองให้เป็นระบอบคอมมิวนิสต์ ไทยก็กลัว เลยมีการออกกฎหมายแบ่งคนเป็นครั้งแรก

แต่เดิมนั้นคนที่เกิดในไทยถือว่าเป็นคนไทยทั้งหมด คนชาติอื่นมาคลอดลูกในไทยก็ไม่มีปัญหา แต่พอช่วงสงครามอินโดจีน ถ้าเป็นคนชาติอื่นมาเกิดในไทย รัฐก็ไม่ให้สัญชาติไทย จากนั้นมาหลักการนี้ก็กลายเป็นกฎหมายสัญชาติ แล้วก็ผูกพันมาถึงปัจจุบันนี้

 

แปลว่าสายเลือดไทยแท้หรือไม่แท้เริ่มถูกพิสูจน์จากความกลัว ?

การให้สัญชาติมันมีสองแบบ แบบแรกเรียกว่าตามสายเลือด ถ้าพ่อแม่เป็นไทย ไม่ว่าจะเกิดในไทยหรือว่าเกิดต่างประเทศ ก็ได้สัญชาติไทยทันที แบบที่สองเรียกว่าตามดินแดน คือใครที่มาอยู่ในไทย เกิดลูกในประเทศไทย ลูกได้สัญชาติไทยเลย แต่หลักการนี้ก็มีข้อยกเว้นถ้าพ่อแม่เป็นคนต่างด้าว

ส่วนต่างด้าวมีอยู่สามกลุ่ม หนึ่งคือต่างด้าวที่รัฐให้เข้าประเทศไทยได้แค่ชั่วคราว ไม่ว่าจะมาท่องเที่ยว มาทำงาน ถือวีซ่าพาสปอร์ตเข้ามาตามช่องทางเข้าออกที่ถูกต้อง แต่เมื่อเกิดลูกในประเทศไทย ก็ไม่ได้สัญชาติไทย สองคือรัฐผ่อนผันให้อยู่เป็นกรณีพิเศษ เช่น ต่างด้าวที่ขึ้นทะเบียนหรือว่าชาวเขา-ชนกลุ่มน้อยบริเวณชายแดนที่มาขึ้นทะเบียน คนเหล่านี้ถ้ามีลูกในประเทศไทยก็ไม่ได้สัญชาติไทย กลุ่มที่สามคือคนที่เข้าเมืองผิดกฎหมาย ถ้ามีลูกในประเทศไทยก็ไม่ได้สัญชาติไทย

อีกกลุ่มที่ไม่ได้สัญชาติ คือคนที่อยู่ในประเทศไทยอยู่แล้ว แต่ตกหล่นด้วยสาเหตุแตกต่างกันไป เช่น อยู่บนเขาไกลๆ หรือแม้แต่อยู่ในเมือง แต่พ่อแม่อาจไม่ได้เอาข้อมูลเก่ามา เช่น คนเร่ร่อน-เก็บขยะ พ่อแม่อาจจะมีบ้านอยู่ต่างจังหวัด แต่ไม่เคยติดต่อกลับไป บางคนคลอดลูกมาก็ไม่ได้ไปแจ้งเกิด บางคนอาจจะมีความผิดปกติทางร่างกายและจิตใจ ญาติก็ไม่สนใจ

เพราะการแจ้งเกิดหรือการทำบัตร เจ้าตัวและญาติต้องเอาข้อมูลที่เพียบพร้อมไปให้รัฐที่อำเภอ ถ้าเจ้าหน้าที่เห็นข้อมูลครบถ้วนก็ดำเนินการให้ ถ้าไม่ครบถ้วนเขาก็ไม่ทำให้ แต่มันมีคนจำนวนมากที่ตกหล่นเพราะการไปติดต่อเจ้าหน้าที่รัฐเมื่อก่อนมันยากลำบาก ยิ่งสมัยนี้เทคโนโลยีสูงขึ้น บัตรก็ยิ่งมีความสำคัญมาก เราเอาทุกเรื่องมารวมอยู่ภายในบัตรใบเดียวกัน

รัฐเองก็ต้องการรู้เรื่องของคนผ่านบัตรมากขึ้น ด้วยความเชื่อว่าถ้ารับรู้ข้อมูลประชาชนมากเท่าไหร่ ก็จะดูแลความมั่นคงได้มากเท่านั้น แต่ประชาชนอาจไม่ได้คิดแบบนั้น เพราะมันมีเรื่องความเป็นส่วนตัว ยิ่งคนอื่นรู้เรื่องส่วนตัวมากเท่าไหร่ มันเหมือนถูกรุกล้ำสิทธิส่วนบุคคลมากขึ้นเท่านั้น

 

ในแง่นี้ การให้สัญชาติไทยแก่ใครสักคน แปลว่ารัฐต้องเอาความมั่นคงของชาติเป็นหลักด้วย ?

จริงๆ เรื่องการมีสัญชาติ หลักที่ทั่วโลกเขาใช้กันคือ คนหนึ่งคนต้องมีรัฐอย่างน้อยหนึ่งรัฐมาคุ้มครองดูแล การคุ้มครองดูแลโดยรัฐเราเรียกว่าการมีสัญชาติ ไม่มีเรื่องอื่นเลย การมีสัญชาติแปลว่ารัฐมีหน้าที่ไปคุ้มครองดูแลคนที่มีสัญชาติตัวเอง

เช่น เมื่อไม่กี่ปีก่อนเกิดสงครามที่ซีเรีย สิ่งแรกที่รัฐไทยทำคือตรวจสอบว่ามีคนไทยอยู่ที่ซีเรียไหม ทูตไทยที่นั่นไปหาว่าคนไทยอยู่ที่ไหนบ้าง ถ้าสุ่มเสี่ยงอันตรายต้องพาเขามาดูแล ถ้าเอามาดูแลแล้วยังอันตรายก็ต้องส่งกลับ เหมาเครื่องบินส่งกลับไทยมาก่อน คณะรัฐมนตรีต้องประชุมด่วน ต้องส่งเครื่องบินไปรับ นี่คือการได้รับการคุ้มครองดูแลจากรัฐไทย เพราะคุณมีสัญชาติไทย แม้กระทั่งคนบางคนอาจจะต้องคดีไปอยู่ต่างประเทศ เจ้าหน้าที่ไทยหรือว่าทูตไทยก็มีหน้าที่ไปดูแลเขา ส่วนถ้าเขาทำความผิดก็ว่าไปตามกฎหมาย

 

 

เจตนาของรัฐในการให้สัญชาติคือเพื่อการคุ้มครองดูแล ?

ใช่, มันเป็นหน้าที่ของรัฐอยู่แล้ว พูดอีกแบบคือคนที่ไม่มีรัฐคุ้มครองดูแลเลยต้องไม่มี ในโลกนี้ต้องไม่มีคนไร้สัญชาติ แต่เฉพาะในไทยทุกวันนี้ยังมีคนไร้สัญชาติเป็นล้านคน

การเป็นไทยโดยการเกิดตามรัฐธรรมนูญ ใครก็ไปถอนสัญชาติไม่ได้นะ เพราะมีหลักการกำกับว่าคนจะไร้สัญชาติไม่ได้ แม้ว่าเขาจะทำผิดมหาศาล เขาก็ต้องมีสัญชาติไทยติดตัวไป จะเอาเขาไปติดคุกไปประหารชีวิตตามขั้นตอนก็ทำได้ แต่ยังไงเขาก็ต้องมีสัญชาติไทยอยู่ดี

 

แล้วการให้สัญชาติไทยในปัจจุบัน สอดคล้องกับการดูแลของรัฐหรือไม่

เมื่อก่อนเรายังไม่ได้สนใจเรื่องสัญชาติหรือการมีบัตรเท่าไหร่ เช่น คุณเป็นชาวเขาอยู่บนเขา ไม่มีบัตร ถ้าเกิดเจ็บป่วยแล้วถูกส่งมารักษาตัวที่โรงพยาบาล ก็มีเจ้าหน้าที่เซ็นรับรองว่าเป็นประชากรอยู่ในเขตนั้นๆ โรงพยาบาลก็รักษาฟรีให้ แต่สมัยนี้ ถ้าคุณไม่มีบัตร แล้วอ้างว่าเจ้าหน้าที่ส่งมา ก็ไม่ฟรี เพราะว่าระบบมันลิงค์กันหมด เราไม่สามารถใช้วิธีสงเคราะห์เหมือนสมัยก่อนได้

หรือกรณีไฟไหม้บ้านหลังหนึ่ง ถ้าเป็นเมื่อก่อนเจ้าของบ้านไม่มีบัตร กรมประชาสงเคราะห์หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะช่วยเหลือ เอาสังกะสีไปให้ ไปทำอาหารให้กิน เอาผ้าห่มไปให้ก็ให้ได้ ไม่มีปัญหา เราไม่ได้เช็คบัตร แต่ปัจจุบันนี้ถ้าเกิดว่าคุณไม่มีบัตร เจ้าหน้าที่เขาไม่สามารถช่วยเหลือได้ เพราะเขาไม่สามารถเบิกงบในเรื่องเหล่านี้ได้แล้ว การตรวจสอบเรื่องเหล่านี้มันกลับมายึดที่ตัวบัตรกันมากขึ้น ในมุมกลับกัน ปัญหามันก็ยังไม่หายไปเพราะการเอาสิทธิของประชาชนไปผูกกับบัตร

เพราะฉะนั้นความช่วยเหลือของรัฐจึงไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เป็นจริง คนที่บ้านเขาถูกไฟไหม้ รัฐต้องช่วยเหลือในฐานะที่เขาเป็นคน แต่พอเขาไม่มีบัตร คุณก็ตัดความช่วยเหลือเขาเลย เจ้าหน้าที่รัฐก็อ้างว่าช่วยไม่ได้ แม้อยากจะช่วย แต่พอเขาไม่มีบัตร มันไม่สามารถเบิกเงินหลวงได้ ทางสำนักงบประมาณเขาไม่ได้จัดงบมาให้กับคนไร้สัญชาติ ถ้าช่วยไปโดยไม่มีหลักฐาน เจ้าหน้าที่ก็กลายเป็นคนทุจริตไปช่วยคนผิดอีก วิธีคิดของของรัฐปัจจุบันไม่ไปด้วยกันกับข้อเท็จจริงที่ยังมีคนตกหล่นเรื่องไร้สัญชาติอยู่

เมื่อก่อนประชากรมันยังน้อย เรายังไม่มีคำว่าแรงงานต่างด้าว แต่ปัจจุบันนี้มันชัดเจนขึ้น มีคนประเภทที่เป็นคนต่างด้าวแน่ๆ กฎหมายที่ออกมาทีหลังก็ยิ่งแบ่งแยกคนไทยกับคนต่างด้าวชัดเจน เช่น กฎหมายทะเบียนราษฎร กฎหมายการแรงงานของต่างด้าว กฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง

ความเข้มงวดมันมาพร้อมกฎหมาย สมัยก่อนคุณอาจจะเดินทางหรือติดต่อกันน้อยกว่าปัจจุบัน บางคนมาทางเรือ บางคนมาทางเท้า ซึ่งมันเดินทางลำบาก แต่ทุกวันนี้การเดินทางง่ายขึ้น คนมันข้ามไปข้ามมากันเป็นปกติ ไม่ใช่เรื่องยากแล้ว แต่ความง่ายนี้ก็ทำให้รัฐต้องเข้ามาจัดการเพิ่มมากขึ้น

 

ในแง่หนึ่งคนไร้สัญชาติในอดีต น่าจะได้รับการช่วยเหลือทางสังคมสงเคราะห์ง่ายกว่าทุกวันนี้ ?

50 ปีที่แล้วคนไร้สัญชาติถูกดูแลดีกว่า เพราะว่ารัฐยังไม่เข้มงวดในการใช้บัตร บัตร 30 บาทรักษาทุกโรคก็ยังไม่เกิด แต่ทุกวันนี้ใครจะมีบัตร 30 บาท ต้องมีสัญชาติไทยเท่านั้น ถ้าคุณไม่มีบัตรคุณก็ทำอะไรไม่ได้เลย

 

ทุกวันนี้รัฐไทยพิสูจน์สัญชาติกันยังไง

อย่างแรกเขาจะเช็คจากบัตรประชาชน ถ้าข้อมูลหน้าตาตรงกับคุณ เจ้าหน้าที่ก็จะเชื่อ แต่ถ้าไปตัวเปล่าแล้วบอกว่าเป็นคนไทย เขาก็จะพิสูจน์ เริ่มตั้งแต่ซักถามประวัติ ใครเป็นพ่อเป็นแม่ พ่อแม่คุณมีสัญชาติไทยหรือเปล่า คุณสามารถชี้แจงให้ชัดเจนได้ไหม หรือกล่าวอ้างเฉยๆ ว่าพ่อแม่เป็นไทย เจ้าหน้าที่ก็ไม่เชื่อ ต้องเอาบัตรพ่อมาดู เอาตัวพ่อมายืนยัน เอาพยานกำนันผู้ใหญ่บ้านมาช่วยด้วย ต้องใช้พยานบุคคลและพยานเอกสารพอสมควร

ถ้าเกิดว่าพยานเหล่านี้ไม่เพียงพอ ปัจจุบันนี้เขาใช้การตรวจดีเอ็นเอ แม้ว่าหน้าตายืนยันว่าใช่ แต่รัฐก็จะไม่ยอมเชื่อ ต้องตรวจดีเอ็นเอ ซึ่งกฎหมายก็ไม่ได้ใส่ไว้ การตรวจดีเอ็นเอไม่ใช่ว่าตรวจแล้วรู้ผลเลย ค่าใช้จ่ายประมาณ 4,000-5,000 บาทต่อคน ยังไม่รวมถึงค่าเดินทาง ประมาณ 4 เดือนถึงจะรู้ผล

ทั้งหมดมันไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับชาวบ้าน การพิสูจน์แบบนี้มีปัญหา แล้วถ้าคุณมีอาการจิตไม่ปกติ พูดยังพูดไม่ค่อยรู้เรื่องเลย แล้วจะให้เล่าประวัติอะไรให้ฟังเพื่อให้เจ้าหน้าที่เชื่อได้อย่างไร

 

ไม่มีวิธีที่ดีกว่านี้แล้ว ?

วิธีคิดของราชการไทยเป็นแบบนี้ คือการเอาคนที่ไม่มีสัญชาติไทยไปตรวจสอบ แล้วเจ้าหน้าที่ไปใส่ในเอกสารให้ว่าเป็นสัญชาติไทยให้เขาด้วยเหตุใดก็ตามแต่ จะเจตนาหรือไม่เจตนา หรือว่าถูกหลอกอะไรก็ตาม ถ้าตรวจสอบย้อนหลังพบว่าเจ้าหน้าที่รัฐทำผิด มันเสมือนเขาขายชาติเลยก็ว่าได้

การเอาสัญชาติไทยไปให้คนที่ไม่ใช่คนไทย โทษถึงขั้นไล่ออกหรือติดคุกด้วยซ้ำ ปัจจุบันนี้มีนายอำเภอติดคุกเพราะไปเซ็นรับรองความผิดพลาดตรงนี้แล้ว

แต่สมมติว่าคนๆ นั้นเป็นคนไทย แล้วเจ้าหน้าที่ไม่ให้สัญชาติเขา ซึ่งวันนี้ยังมีอยู่เพียบเลย เขามายืนยันสถานะ แต่เจ้าหน้าที่ไม่เชื่อ ไม่ทำให้ เจ้าหน้าที่ก็ไม่มีความผิดอะไรนะ ยังไม่มีเจ้าหน้าที่คนไหนติดคุกเพราะไม่ทำสัญชาติไทยให้คนไทย ดังนั้นถ้าพูดแบบนิสัยราชการไทย คือถ้าไม่ทำเลยถือว่าไม่ผิด เป็นใครก็ไม่อยากทำให้ เพราะไม่อยากมีปัญหา นี่คือสาเหตุของการที่ยังมีคนไทยตกหล่นจากการได้สัญชาติไทยอยู่เยอะมาก

 

 

ที่ผ่านมามักจะมีข่าวเด็กไร้สัญชาติโผล่ขึ้นมาอยู่เสมอ โดยเฉพาะกรณีเด็กที่มีความสามารถ สร้างชื่อเสียงให้ประเทศชาติ ในมุมหนึ่งก็สะท้อนว่าเด็กไร้สัญชาติไม่เคยหมดไป ประเด็นคือทำไมการให้สัญชาติเด็กสักคน ถึงต้องผูกกับความสามารถของเด็กที่จะสร้างประโยชน์ให้ประเทศ

นี่เป็นวิธีคิดของรัฐไทย จริงๆ เราไม่ต้องไปถามเขาว่าเป็นคนไทยหรือเปล่า เพราะว่าการเป็นคนไทยมันไม่ได้บอกว่าต้องคิดอย่างไร คนไทยต้องทำแบบไหน จริงๆ คุณจะทำอะไรก็ได้ ถ้าทำผิดกฎหมายคุณก็ต้องติดคุกไป การจะไปขอสัญชาติไทยไม่เกี่ยวกับว่าต้องทำประโยชน์ต่อประเทศชาติเท่านั้น

อีกอย่างหนึ่งคือวิธีคิดของรัฐสมัยใหม่ ต้องการคนที่มีความสามารถไปสร้างหน้าตาชื่อเสียงให้ประเทศตัวเอง เราจะพบว่าในต่างประเทศที่จริงจังเรื่องกีฬา เช่น ฟุตบอล มีนักฟุตบอลแปลงสัญชาติเยอะมาก พูดง่ายๆ คือชาติต้องการคนเก่ง

กรณีของไทย ผมมองว่าเด็กที่เกิดในไทย ยังไงก็ควรได้สัญชาติไทยอยู่แล้ว และถ้าเป็นเด็กที่มีความสามารถ ถ้าคุณไม่ให้สัญชาติไทยกับคนเก่งๆ อย่างนี้ ถือว่าโง่แล้ว

 

เช่น กรณีน้องหม่อง ทองดี จนมาถึงน้องน้ำผึ้งกับน้องพลอย ?

ใช่, ซึ่งมันสะท้อนว่า รัฐไทยไม่ได้มองเห็นเด็กคนอื่นๆ ที่ไม่ได้แสดงความสามารถให้เห็น และพวกเขายังต้องรอสัญชาติต่อไป แล้วทำไมรัฐถึงไม่เข้าไปดำเนินการเอง คุณเข้าไปดูได้ว่าคนในหมู่บ้านของน้องน้ำผึ้งหรือน้องพลอย มีเด็กไร้สัญชาติเหลืออยู่กี่คน แล้วก็จัดการให้พวกเขาให้เรียบร้อย ทำให้สังคมมั่นใจว่าประเทศไทยไม่ได้ทอดทิ้งนะ ไม่ใช่ว่าเด็กดังแล้วก็ยังไม่ดำเนินการอะไร แบบนี้หนักกว่าเดิม เพราะว่ามันประจานให้คนทั้งโลกเห็น

อย่างน้องน้ำผึ้งกับน้องพลอย เด็กอะไรไม่รู้ เก่งจริงๆ ตั้งแต่เรียนมาได้เกรด 4 ตลอด เล่นกีฬาก็ได้ วัฒนธรรมก็เก่ง ภาษาไทยก็เยี่ยม ภาษาอังกฤษก็เก่ง วิทยาศาสตร์ก็เก่ง คนอย่างนี้อัจฉริยะ

 

ทั้งที่เด็กเก่งขนาดนี้ ทำไมรัฐปล่อยให้ไม่มีสัญชาติมาจนเป็นข่าวได้

ผมคิดว่าเจ้าหน้าที่รัฐคิดเอาเองว่า เพราะพ่อแม่ของเด็กสองคนนี้ไม่มีสัญชาติไทย เลยไปตีความว่าคนที่ไม่มีสัญชาติไทยคือคนต่างด้าว ซึ่งไม่ใช่ คนไม่มีสัญชาติไทยอาจจะไม่ใช่คนต่างด้าวก็ได้ พ่อแม่ของน้องน้ำผึ้งเป็นไทใหญ่ ไทใหญ่กับไทยก็เป็นพวกเดียวกัน และเขาไม่ได้มีสัญชาติพม่าด้วย เขาเป็นชนกลุ่มน้อยที่อยู่ในประเทศไทยมานาน

กรณีการได้สัญชาติไทยของน้องน้ำผึ้งถือเป็นเคสแรกของไทย สำหรับกฎหมายและระเบียบที่เขียนเอาไว้แต่ไม่เคยมีใครเคยไปขอเลย เป็นมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2559 กฎหมายบอกไว้ว่ากรณีที่จะได้สัญชาติไทย ถ้าเป็นลูกของชนกลุ่มน้อยที่เกิดขึ้นในไทย และพ่อแม่ได้รับบัตรชนกลุ่มน้อยไว้แล้ว สามารถให้สัญชาติไทยเลย

กรณีน้องน้ำผึ้งเป็นไทใหญ่ เขาทำบัตรไทใหญ่ไว้แล้ว แล้วก็เกิดในไทย มีเอกสารแสดงตัวเรียบร้อย กลุ่มนี้ได้สัญชาติไทยเลย ตามมติ ครม. น้องน้ำผึ้งก็ไปยื่นเรื่อง กรณีน้องน้ำผึ้ง เจ้าหน้าที่ก็ทำหน้าที่ให้เร็ว ยื่นเรื่องแล้วทำให้มันเร็วขึ้น ซึ่งสมัยก่อนอาจใช้เวลาหลายเดือน หรืออาจเป็นปี เพราะกรณีน้องน้ำผึ้ง อายุ 18 ปีกว่า ถ้าอายุไม่ถึง 18 ปีจะจบที่อำเภอ ไม่ต้องไปตรวจสอบประวัติอาชญากรรม ไม่ต้องไปถามสันติบาล แต่ถ้าเกิดว่าอายุ 18 ปีขึ้นไป ต้องไปตรวจตรงนี้ด้วย เผอิญว่าน้องน้ำผึ้งอายุเกิน 18 ปีไปหน่อยนึง แต่พอเป็นข่าวขึ้นมาทุกคนก็ช่วยเหลือ จากที่ต้องใช้เวลานาน ก็เร่งรัดข้อมูลให้เร็วขึ้นหน่อย แล้วเขาก็ทำได้

ส่วนน้องพลอย พ่อแม่ไม่ใช่ชนกลุ่มน้อยที่อยู่ในไทย กลุ่มนี้เขาบอกว่าให้จบปริญญาตรีก่อน นี่คือหลักการที่เขาเขียนไว้นะ ต้องจบปริญญาตรีถึงจะมายื่นเรื่องได้ จะต้องมีข้อมูลประกอบ เช่น พ่อแม่ต้องทำทะเบียนเอาไว้แล้ว ต้องมีสูติบัตรที่ชัดเจน การเรียนก็ต้องเรียนในไทยต่อเนื่องกันมา ไม่ใช่ว่าเกิดในไทยแล้วไปเรียนต่อพม่า 10 ปีแล้วกลับมาไทยใหม่ และต้องไม่มีประวัติอาชญากรรม เป็นต้น

แต่กฎหมายก็เขียนเพิ่มเติมมาอีกว่า ถึงแม้ว่าจะไม่จบปริญญาตรี ถ้ามีความจำเป็นหรือสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทย กรณีน้องหม่อง ทองดี ก็ใช้มุมนี้ว่ามาสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทยได้

ส่วนกลุ่มที่มีความจำเป็นต้องได้รับสัญชาติไทย กลุ่มนี้ยังไม่มีใครเคยขอเลย อาจเพราะกฎหมายที่เพิ่งออก เผอิญว่าน้องน้ำผึ้งได้ไปยื่นเรื่องนี้เป็นเคสแรกว่าขอสัญชาติไทยในฐานะที่มีความจำเป็นในสัญชาติไทยไว้ แต่เจ้าหน้าที่บอกว่าไม่มีใครเคยมาขอเรื่องเหล่านี้เลย เขาก็งงกันว่ามันขอได้เหรอ แต่พอเรื่องมันเป็นข่าวดังขึ้นมา สังคมเรียกร้องและกฎหมายเปิดช่องก็สำเร็จ

 

หลังจากนี้เจ้าหน้าที่รัฐก็มีบทเรียนแล้ว คงอ้างว่าไม่เคยมีคนขอไม่ได้แล้ว ?

ก็น่าจะสร้างบรรทัดฐานที่ดีกับสังคมไทยได้ เจ้าหน้าที่รัฐรู้แล้วว่าการทำเรื่องสัญชาติให้เร็วมันทำได้ ผมหวังว่ากรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย จะทำหนังสือออกมาแจ้งไปยังฝ่ายปกครองทั่วประเทศว่าระบบปกติมันต้องทำให้ทุกคนเข้าถึงสิทธิได้

ในอีกมุมหนึ่ง เด็กคนอื่นๆ ที่ยังไม่ได้สัญชาติก็พัฒนาตัวเองขึ้นด้วย จากเคสน้องพลอยน้องน้ำผึ้ง ถ้าคุณขยัน คุณต่อสู้พัฒนาตัวเองให้มีศักยภาพ ไม่ใช่แค่สัญชาติไทยเท่านั้นที่จะได้ แต่มันคืออนาคตของตัวคุณเอง มันไม่เหมือนกับยุคก่อน กลุ่มคนไร้สัญชาติที่ไปโรงเรียน จะถูกปลูกฝังว่าเรียนไปทำไม เสียเวลา ไปทำอย่างอื่นดีกว่า ไปรับจ้างทำงานอะไรที่ได้เงินดีกว่า

กรณีน้องน้ำผึ้งกับน้องพลอย ผมยังเห็นข่าวพูดถึงศักยภาพของน้องน้อยไป ส่วนใหญ่พูดกันแค่มุมว่าน้องๆ เป็นตัวแทนประเทศไทยไปแข่งขัน แต่ไม่ไปไล่ดูว่าชีวิตน้องเขาที่ผ่านมาเป็นยังไงบ้าง

 

ถ้ามองภาพใหญ่ ที่คุณบอกว่ารัฐไทยดูแลคนไร้สัญชาติได้ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เป็นจริง ทำยังไงจะปรับให้ลงรอยกันได้ หรือจะสามารถปลดล็อคอย่างไรให้ไม่มีเรื่องไร้สัญชาติอีกต่อไป

โลกมันเปลี่ยนไป ทำไมเราต้องกลับไปอยู่แบบเก่า วิธีคิดการจัดการดูแลบ้านเมืองก็ต้องเปลี่ยนไป ทั้งเรื่องสิทธิมนุษยชน เรื่องความมั่นคง ต้องเปลี่ยนให้ทันกับยุคสมัย ถ้าจำนวนคนเพิ่มมากขึ้น แต่แผ่นดินประเทศไทยเท่าเดิม การแย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติมันก็สูงขึ้นเพราะทรัพยากรมันมีเท่าเดิม นี่ข้อมูลพื้นฐานทั่วไป

ทีนี้ในปัจจุบัน คนมันไม่เพิ่มแล้ว สัดส่วนคนเกิดใหม่น้อยลง คนสูงวัยเพิ่มมากขึ้น สมัยก่อนคนที่แต่งงานแล้วมีลูกกัน 8 คนถือว่าปกติ ตอนนี้ใครมี 2 คนถือว่าเก่งแล้ว ใครมี 3 คน เพื่อนฝูงตกใจเลย ตอนนี้คนไม่มีลูกกลายเป็นเรื่องปกติแทน ขณะที่คนที่เป็นเพศที่สามได้รับการยอมรับเพิ่มขึ้น ตอนนี้พอเด็กน้อยลง โรงเรียนก็ไม่มีคนเรียน

สมัยก่อนเศรษฐกิจประเทศไทยขยายตัว คนต่างด้าวจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาทำงานกันเยอะ แต่เดี๋ยวนี้การพัฒนาของเพื่อนบ้านกับของไทยแทบไม่ต่างกัน คนต่างด้าวที่เข้ามาไม่ใช่หลั่งไหลเข้ามานะ ไทยต้องไปพาเข้ามา เพื่อเอามาเป็นแรงงานให้เรา มันสอดคล้องกับที่เด็กไทยสมัยใหม่เรียนสูงขึ้น จบระดับปริญญาตรีมาจะให้มาทำงานแบกหาม ทำงานประมง เขาก็ไม่ทำ ยิ่งจำนวนเด็กที่น้อยอยู่แล้ว เขาก็ไม่มาทำงานใช้แรงพวกนี้เลย ทุกวันนี้เราถึงขาดแคลนแรงงาน

สถานการณ์เป็นแบบนี้จะจัดการยังไง เมื่อก่อนคุณกีดกันเขา คุณกลัวว่าเขาจะเข้ามาแย่งงานคนไทย ทุกวันนี้ไม่เหลือให้กีดกัน แล้วประชากรไทยอยู่ที่ประมาณ 64 ล้านคน จะคงอยู่ไปอีก 20 ปีเป็นอย่างน้อย และมันจะลดลงไปเรื่อยๆ รัฐก็ต้องมาคิดกันใหม่ว่าจะอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขยังไง คนที่ไม่มีสัญชาติเราจะให้บัตรเขาทุกคนเพื่อให้เขามีความสุข มีความมั่นคงในชีวิตเหมือนเราได้ไหม เราต้องเข้าใจความเป็นจริงว่ายิ่งเราไม่ให้สัญชาติ ยิ่งเราไม่ดูแลเขา มันก็ยิ่งสร้างปัญหา

 

 

เท่าที่คลุกคลีปัญหาคนด้อยโอกาสมา มีกรณีไหนไหมที่ไทยเคยปลดล็อกปัญหาได้

ไม่เชิงว่าปลดล็อกได้ แต่ก็ดีกว่าในอดีต เมื่อตอนปี 2548 ไทยสามารถทำเรื่องหนึ่งที่เป็นที่ยอมรับกันทั่วโลกได้ คือให้คนทุกคนในประเทศไทยเรียนหนังสือได้ ไม่ว่าจะมีสัญชาติไทยหรือไม่มี ก็ให้เรียนได้เหมือนกัน เป็นนโยบายรัฐจากมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 5 กรกฎาคม 2548 เพราะหลักการคือการลงทุนทางการศึกษาเป็นการลงทุนที่ต่ำที่สุด ไม่ว่าคนจะมีสัญชาติไทยหรือไม่มี ถ้าเขาอยู่ในสังคมไทย แล้วถ้าเขาไม่มีความรู้ไม่มีการศึกษา เขาก็อาจเป็นปัญหากับบ้านเมืองได้ แต่ถ้าเราปลูกฝังให้เขาเป็นคนดี เข้าใจเรื่องกฎระเบียบ มีวินัย มีคุณธรรม นี่เป็นการลงทุนต่ำแต่ได้มูลค่าสูงมาก และรัฐบาลทุกรัฐบาลก็ดำเนินการต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

แต่ในการปฏิบัติจริง เราก็พบว่ามันมีปัญหามหาศาล อย่างการปฏิบัติของราชการไทย เราพบว่ามีเด็กจำนวนมากที่เข้าไม่ถึงการศึกษา หลายโรงเรียนไม่ยอมรับให้เด็กเข้าเรียนถึงแม้ว่าจะมีกฎหมายมาแล้วก็ตาม แต่โรงเรียนก็ไม่รับหน้าตาเฉย เรื่องปลดล็อกไร้สัญชาติก็เหมือนกัน ระบบราชการยังไม่เข้าใจเรื่องเหล่านี้มาก แม้กระทั่งสังคมไทยเอง ถ้าเรามองอีกแง่หนึ่ง สมมติว่ามีเด็กไร้สัญชาติไปฆ่าคนตาย แล้วจู่ๆ มีการให้สัญชาติไทยกับพวกเขา กระแสสังคมจะออกมาแบบตรงข้ามเลย

ไทยเป็นประเทศที่มีความรักชาติสูงมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่น อะไรๆ ก็อ้างความเป็นชาติ เพราะเราถูกปลูกฝังเรื่องเหล่านี้มานาน ความเป็นชาตินี่เองที่บดบังหลายๆ เรื่องอยู่ ทำให้มนุษย์ไม่ค่อยเปิดกว้างกับเรื่องสิทธิมนุษยชน

 

ดูเหมือนว่าถ้าจะยุติปัญหาไร้สัญชาติ ไม่อาจเลี่ยงการเปิดรับเรื่องสิทธิมนุษยชนได้ และต้องวางความเป็นไทยลงด้วย ?

สาเหตุหนึ่งซึ่งเป็นเรื่องใหญ่คือ ไทยเราไปยอมรับในอนุสัญญาว่าด้วยเรื่องสิทธิเด็กของสหประชาชาติไว้ ซึ่งสำหรับเด็กไทยไม่มีปัญหา ในอนุสัญญาว่าด้วยเรื่องสิทธิเด็กบอกว่า เด็กต้องได้รับการแจ้งเกิดและได้สิทธิในการมีสัญชาติ ได้รับการดูแลจากพ่อแม่ แต่ไทยเราเคยไปตั้งข้อสงวนไว้ว่าจะไม่ทำเรื่องเหล่านี้ ทำให้เด็กจำนวนมากที่เกิดในประเทศไทยไม่ได้รับการแจ้งเกิดและไม่มีสัญชาติ เมื่อเป็นแบบนี้ รัฐไทยก็ไม่รู้สึกว่ามันเป็นหน้าที่ในการให้สัญชาติไทยแก่เด็กที่เกิดในไทย

พอมาปี 2553 หลายๆ ฝ่ายช่วยกันเรียกร้อง เราสามารถถอนข้อสงวนข้อนี้ออกได้ แต่ในทางปฏิบัติ เจ้าหน้าที่รัฐก็ไม่ได้ปฏิบัติอย่างจริงจัง ราชการไม่รู้ว่าไทยถอนข้อสงวนออกแล้วนะ มันมีกฎหมายใหม่ออกมาแล้วว่าต้องรับแจ้งเกิดเด็กทุกคน แต่ราชการบางส่วนอ้างว่าไม่รู้ อ้างว่าข้อมูลไม่ชัดเจน บางทีก็อ้างว่ารู้ว่าเกิดในไทยแหละ แต่ไม่รู้ว่าคนนี้เป็นพ่อจริงหรือเปล่า เป็นแม่จริงหรือเปล่า ก็เลยไม่รับแจ้งเกิด ไม่ให้สัญชาติ

 

ก่อนหน้าปี 2553 ทำไมต้องสงวนไว้ เหตุผลคืออะไร

เพราะฝ่ายความมั่นคงเขาไม่ยอม เขามองว่าคุณเป็นลูกของแรงงานต่างด้าวบ้าง เป็นผู้ลี้ภัยเข้ามาบ้าง แอบมาเกิดในไทยบ้าง คุณจะมาขอสัญชาติไทยทั้งหมดไม่ได้ เขาไม่ยอม

 

ถ้าฝ่ายความมั่นคงไม่ปรับวิธีคิด เรื่องคนไร้สัญชาติจะจบไหม ?

เราอยากให้จบ อยากให้ทุกคนได้สัญชาติตามที่เป็นจริง แต่มันไม่ใช่แค่ฝ่ายความมั่นคง มันขึ้นอยู่กับกระแสสังคมด้วย เหมือนที่ผมยกตัวอย่างให้ฟัง ถ้าคนไร้สัญชาติทำความดีเข้าตาสังคมไทย กระแสสังคมก็พร้อมจะช่วยหมด แต่สมมติว่าเขาไปฆ่าคนตาย กระแสสังคมก็จะมองว่าคนพวกนี้มันสร้างปัญหาให้บ้านเมือง เราจะเอาไว้ทำไม ไล่เขากลับประเทศไป นี่คือความเป็นจริง เรายังข้ามไม่พ้นเรื่องนี้

 

แล้วเราจะสามารถข้ามพ้นได้จริงไหม

จริงๆ คุณดูละครสักเรื่องหนึ่ง คุณเห็นใจนางเอกที่ถูกตัวร้ายรังแกข่มเหง ทุกคนเข้าใจตรงกัน แต่ถ้าใครไปเล่นบทผู้ร้าย คนก็จะด่า มันเป็นเรื่องธรรมดา ความเข้าใจก็มีขึ้นๆ ลงๆ เพียงแต่ว่าหน้าที่รัฐและคนที่เป็นผู้นำ ต้องชี้ให้สังคมเห็นว่า ถึงแม้ว่าเขาจะเป็นยังไง จะดีจะร้าย พื้นฐานที่สุดรัฐต้องดูแล

ถ้าไม่ดีเราก็ช่วยปรับปรุงให้เขาดีขึ้น สังคมไทยต้องมีที่ยืนให้กับคนในสังคมทุกคน ไม่ใช่ทำให้เขากลายเป็นคนที่ไม่มีจุดยืน ทุกคนอยากให้บ้านเมืองสงบสุข แต่บ้านเมืองมันจะสงบสุขได้ สังคมต้องมีที่ยืนให้ทุกคนด้วย

ทุกวันนี้กลายเป็นว่าถ้าคุณคิดไม่เหมือนฉัน คุณต้องออกจากประเทศนี้ไป ไม่ควรอยู่ในโลกนี้ คำถามว่าเป็นไทยหรือเปล่ามันไม่ช่วยให้ประเทศพัฒนา เรายอมรับความหลากหลายทางชีวภาพได้ จุลินทรีย์ชีวิตหนึ่งมีค่า มดมีค่า แบคทีเรียมีค่า เด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว เราเข้าใจเรื่องพวกนี้ได้ เราก็น่าจะเข้าใจความหลากหลายทางภูมิปัญญาด้วย

โลกที่เจริญมาได้เพราะมันมีความหลากหลายทางภูมิปัญญา ถ้าคิดเหมือนกันทั้งโลกมันจะเจริญได้ยังไง โลกเรามีไฟสว่างใช้เพราะโทมัส เอดิสัน มันคิดไม่เหมือนคนอื่นใช่ไหม แต่ทุกวันนี้ใครคิดไม่เหมือนฉัน คุณออกไป วิธีคิดแบบนี้คือการทำลายความเป็นมนุษย์ แล้วประเทศมันจะเจริญได้จากการทำลายกันได้ยังไง.

 

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save