fbpx

สุรพงษ์ ชัยนาม กับ Hans J. Morgenthau

ศุภมิตร ปิติพัฒน์ เรื่อง*

 

งานวิจัยของสุรพงษ์ ชัยนาม (2561) ชุด “นโยบายต่างประเทศไทยต่อประเทศเพื่อนบ้านในยุคสงครามเย็น สี่กรณีศึกษาเปรียบเทียบ : บรูไน อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์และสิงคโปร์” ศึกษาการดำเนินนโยบายต่างประเทศของรัฐในสภาพแวดล้อมระหว่างประเทศในระดับภูมิภาคที่มีมหาอำนาจภายนอกเข้ามาแทรกแซงทั้งทางการเมืองและการทหาร แน่นอนว่านอกจากมิติด้านการเมืองการทหารและความมั่นคงแล้ว ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในภูมิภาค ยังได้พลังขับเคลื่อนที่มาจากการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม รวมทั้งการผลักดันโดยตัวแสดงอื่นๆ ที่ไม่ใช่รัฐหรือผู้นำที่เป็นตัวแทนอำนาจรัฐด้วย  แม้เราจะไม่อาจปฏิเสธความสำคัญของมิติเศรษฐกิจ และพลังผลักดันด้านอื่นๆ ที่ส่งผลต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศได้  แต่งานวิจัยของสุรพงษ์ก็ให้ความเข้าใจชัดว่า ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐในด้านอื่นๆ ทั้งหมดนั้นเดินหน้าไปได้เป็นปกติก็โดยอาศัยความสัมพันธ์ทางการเมือง ซึ่งมีการทูตเป็นเครื่องมือสำคัญ

หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่งได้ว่า เหตุปัจจัยในสภาพแวดล้อมทั้งภายในและภายนอกจะก่อปัญหายากง่ายอย่างไร หรือส่งผลเป็นบวกเป็นลบเพียงใดต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในด้านต่างๆ  มิได้ขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัยเหล่านั้นโดยลำพัง แต่ยังได้ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐในทางการเมืองกับการเจรจาทางการทูตเป็นทางส่งผ่านและปรับสภาพความมากน้อยหนักเบาของเหตุปัจจัยในสภาพแวดล้อมที่ส่งผลกระทบเข้ามาหารัฐ หรือส่งผลต่อการดำเนินนโยบายในแต่ละด้านของรัฐได้ด้วย  

ในความสัมพันธ์ทางการเมือง สิ่งที่เข้ามามีผลกำหนดสภาวะของความสัมพันธ์ระหว่างกันได้มาก ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์ระดับบุคคลต่อบุคคล หรือระดับรัฐต่อรัฐ ก็คือ ปัจจัยอุดมการณ์

ข้อเสนอสำคัญของสุรพงษ์เกี่ยวกับปัจจัยอุดมการณ์ในการเมืองระหว่างประเทศสมัยสงครามเย็น อันเป็นข้อเสนอที่ปรากฏอยู่ในบทนำของงานวิจัยชุดนี้ทุกเล่ม มีอยู่ว่า

 

ปัจจัยอุดมการณ์คือพิษร้ายที่บรรดาประเทศมหาอำนาจของทั้งค่ายโลกเสรีและค่ายคอมมิวนิสต์ใช้เป็นเครื่องมือเพื่อกลบเกลื่อนวาระซ่อนเร้นด้านผลประโยชน์ที่แท้จริงของพวกตน หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง เป็นการใช้อิทธิพลของปัจจัยอุดมการณ์เป็นเครื่องมือเพื่อตีกรอบและจำกัดทางเลือกด้านนโยบายต่างประเทศของกลุ่มประเทศบริวาร (client states) ในสังกัดของแต่ละค่าย มิให้มีนโยบายและผลประโยชน์ขัดกับผลประโยชน์แท้จริงของบรรดาประเทศมหาอำนาจของแต่ละค่ายในยุคสงครามเย็น (สุรพงษ์ ชัยนาม 2561 ก, ข, ค, ง, 21)

 

ข้อเสนอข้างต้นชวนให้คนสอนความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอยากจัดเวทีเสวนาระหว่างสุรพงษ์ ชัยนามกับนักคิดนักทฤษฎีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ  ถ้าเรารับข้อเสนอของสุรพงษ์ไว้เป็นหลักว่า ปัจจัยอุดมการณ์คือพิษร้ายที่มากระทบต่อการมองเห็นว่าอะไรคือผลประโยชน์ที่แท้จริงของรัฐ จะเชิญใครมาเสวนาเกี่ยวกับเรื่องของผลประโยชน์แห่งชาติก็น่าจะสนุกไม่เท่าชวนนักคิดนักทฤษฎีฝ่าย political realism มาร่วมวง พิจารณาว่า ก็ในเมื่อการเมืองระหว่างประเทศไม่อาจเลี่ยงปัจจัยอุดมการณ์พ้น อุดมการณ์ทำงานอยู่ในส่วนใดของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และในเงื่อนไขสภาวะแบบไหนที่อุดมการณ์จะกลายเป็นปัจจัยส่งผลเป็น “พิษร้าย” ต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศขึ้นมาได้

ในเวลากระชั้นชิดและในสถานการณ์โควิด-19 ระหว่างประเทศ จะเชิญใครก็เชิญไม่ทัน คนสอนความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจึงขออนุญาตเชิญ Hans J. Morgenthau ลงมาจากชั้นหนังสือ เพื่อมาเปิดบทสนทนากับข้อเสนอของสุรพงษ์ในวงนี้

คนอ่านงานวิจัยของสุรพงษ์ชุดนโยบายต่างประเทศไทยต่อประเทศเพื่อนบ้านทั้ง 4 จะได้ข้ออนุมานซึ่งไม่น่าจะผิดว่า สุรพงษ์เห็นพ้องเป็นส่วนใหญ่กับหลัก political realism 6 ประการของ Morgenthau (1978, 4 – 15) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในข้อที่มอร์เกนธาวเสนอให้ใช้ผลประโยชน์แห่งชาติเป็นเกณฑ์ประเมินและวินิจฉัยในการพิจารณากำหนดเป้าหมาย และการเลือกวิธีการไปสู่เป้าหมายของการดำเนินนโยบายต่างประเทศ  โดยผลประโยชน์แห่งชาติที่ว่านี้ก็มิได้มีอะไรซับซ้อนมากไปกว่า อำนาจของรัฐ ที่พิจารณาจากขีดความสามารถที่รัฐพึงรักษา แสวงหาเพิ่มเติม และแสดงออกอย่างเหมาะสมในการดำเนินนโยบาย  ซึ่งก็แล้วแต่ว่าในบริบททางประวัติศาสตร์ในเวลานั้น อำนาจ/ขีดความสามารถของรัฐแบบใดในด้านใด ที่จะช่วยให้รัฐสามารถดำรงไว้ซึ่งความมั่นคงของตน เพิ่มพูนความมั่งคั่งและคุณภาพชีวิตของประชาชนพลเมือง รักษาคุณค่าที่เป็นหลักการสำคัญของระเบียบทางสังคมอันเป็นที่ยึดถือและควรปกป้องไว้ให้มั่นยืน และดึงใจคนชาติอื่นๆ ให้เข้ามาสมัครสมานกับคุณค่าหลักการเหล่านั้น

การถือผลประโยชน์แห่งชาติเป็นเกณฑ์ตามความหมายที่กล่าวมานี้ มอร์เกนธาวมิได้บอกว่าผลประโยชน์แห่งชาติเป็นสิ่งที่มีอยู่อย่างชัดเจน มีตั้งอยู่ก่อนแล้วไม่มีอะไรให้โต้แย้งได้ ตรงกันข้าม การใช้ผลประโยชน์แห่งชาติในความหมายนี้ก็เพื่อนำมาเป็นเกณฑ์ในการใช้เหตุผลสำหรับคิด เลือก และอภิปรายถกเถียงกันในเรื่องที่เกี่ยวกับการต่างประเทศว่า ข้อเสนอ นโยบาย ยุทธศาสตร์ ที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเรียกร้องต้องการให้ทำ ให้ดำเนินการ ให้เปลี่ยน หรือให้จัดซื้อจัดหาอะไรมานั้น จะต้องแสดงเหตุผลออกมานำเสนอให้ฝ่ายอื่นๆ พิจารณาได้ว่า การดำเนินการตามแนวทางนั้น ส่งเสริม สนับสนุน ขยาย ป้องกันรักษา หรือช่วยแก้ไขปัญหาที่กระทบต่อผลประโยชน์แห่งชาติที่เป็นขีดความสามารถของรัฐในด้านต่างๆ  และอิทธิพลที่รัฐนั้นจะมีต่อรัฐอื่นๆ ในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอันจะได้มาจากขีดความสามารถในด้านต่างๆ เหล่านั้นอย่างไร แล้วนำการพิจารณานั้นมาแสดงว่า :-

ทำไมจึงควรทำเรื่องนี้ ทำไมจึงควรทำด้วยวิธีนี้ เป้าหมายที่ตั้งและวิธีการที่จะใช้ในการบรรลุเป้าหมายของการดำเนินนโยบายนี้สอดคล้องกับขีดความสามารถที่มีอยู่อย่างไร หรือจะมีผลกระทบอย่างไรต่อระเบียบหรือคุณค่าสำคัญด้านต่างๆ ที่สังคมนั้นยึดถือและรัฐพึงมีหน้าที่ปกป้อง  แล้วผลคาดหวังที่อยากจะได้จากการดำเนินนโยบายดังกล่าวเกี่ยวข้องกับการรักษาสิ่งที่เป็นผลประโยชน์ของรัฐโดยตรง หรือว่าเป็นแต่เพียงผลในทางอิทธิพลอันเกิดจากการแสดงอำนาจของรัฐ หรือว่าเป็นผลที่จะได้แก่พันธมิตรและการรักษาอิทธิพลของรัฐนั้นต่อพันธมิตร ซึ่งไม่ว่าจะเป็นในทางใด ก็มีคำถามตามมาได้อีกว่า ยังมีเป้าหมายอื่นที่เป็นหรือที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์โดยตรง และสำคัญต่อรัฐนั้น ยิ่งกว่าการจะดำเนินนโยบายในเรื่องนี้อีกไหม ค่าเสียโอกาสจากการทำเรื่องนี้ แล้วไม่ได้ทำเรื่องอื่นๆ จะพิจารณาอย่างไร ฯลฯ

จะเห็นได้ว่าในข้อเสนอของมอร์เกนธาวให้ใช้ผลประโยชน์แห่งชาติเป็นหลักในการพิจารณาการดำเนินนโยบายต่างประเทศตามแนวทางที่กล่าวมานี้ ผลประโยชน์แห่งชาติ และอำนาจที่พิจารณาในด้านขีดความสามารถของรัฐในการทำสิ่งต่างๆ เป็นเพียงจุดเริ่มต้น เป็นฐานในการคิดและประเมินตัดสินวินิจฉัยทางเลือก ทั้งในส่วนเป้าหมายและในส่วนวิธีการของนโยบายในการต่างประเทศว่าควรเลือกอะไรและควรทำแบบไหน  ผลประโยชน์แห่งชาติจึงไม่ใช่สิ่งที่มาปิดกั้นตีกรอบการดำเนินนโยบายเรื่องหนึ่งเรื่องใดไว้แล้วล่วงหน้า

โดยวิธีที่นำผลประโยชน์แห่งชาติมาเป็นเกณฑ์ในการใช้และเสนอเหตุผลประกอบและประกบกับการพิจารณาประเมินและตัดสินทางเลือกต่างๆ เช่นนี้ ที่มอร์เกนธาวเสนอว่า จะช่วยให้การกำหนดและการดำเนินนโยบายเป็นไปอย่างมีเหตุมีผล และได้ความสมเหตุสมผลในส่วนของฝ่ายปฏิบัติที่เป็นผู้ตัดสินใจ และช่วยทำให้การศึกษาการตัดสินใจกำหนดและการดำเนินนโยบายของฝ่ายวิชาการสามารถใช้แนวพินิจที่อิงหลักเหตุผลแบบเดียวกันนี้เป็นแนวทางในการศึกษาได้

ความคิดเกี่ยวกับผลประโยชน์แห่งชาติตามหลักของ political realism อย่างที่มอร์เกนธาวเสนอ ยังน่าจะตรงกับความคิดที่อ่านได้จากงานวิจัยของสุรพงษ์อีกส่วนหนึ่ง ในแง่ที่ว่า การที่รัฐใช้เกณฑ์ผลประโยชน์แห่งชาติเป็นหลักในการดำเนินความสัมพันธ์ต่อกัน มอร์เกนธาวเห็นว่าจะช่วยให้รัฐแต่ละฝ่ายคำนึงถึงความพอเหมาะพอสม และเลือกใช้วิจารณญาณในการตั้งข้อเรียกร้องต้องการจากกันได้อย่างเหมาะสมยิ่งขึ้น  เพราะเหตุที่ว่า จากการรู้ว่าตนมีผลประโยชน์ที่ต้องรักษาก็จะทำให้แต่ละรัฐตระหนักขึ้นมาด้วยว่า ทุกฝ่ายต่างก็มีผลประโยชน์สำคัญที่ต้องการรักษาไว้เช่นกัน  เมื่อคิดได้อย่างนั้น แต่ละฝ่ายก็จะให้ความเป็นธรรมแก่ฝ่ายอื่นๆ ได้ใน 2 ความหมาย ผู้เขียนรายงานขอคัดคำของมอร์เกนธาวมาลงไว้ให้ปรากฏ ดังนี้

 

It is exactly the concept of interest defined in terms of power that saves us from both the moral excess and that political folly. For if we look at all nations, our own included, as political entities pursuing their respective interests defined in terms of power, we are able to do justice to all of them. And we are able to do justice to all of them in a dual sense: (1) We are able to judge other nations as we judge our own and, (2) having judged them in this fashion, we are then capable of pursuing policies that respect the interests of other nations, while protecting and promoting those of our own.

Moderation in policy cannot fail to reflect the moderation of moral judgment.

(เน้นข้อความโดยผู้เขียนรายงาน)

 

มอร์เกนธาวคงชวนให้สุรพงษ์เห็นคล้อยตามเขาในจุดนี้ได้อย่างแน่นอนว่า เมื่อใดก็ตาม ที่รัฐเริ่มพิจารณารัฐอื่นโดยไม่ใช้เกณฑ์ของผลประโยชน์เป็นตัวตั้ง แต่ใช้เกณฑ์ตัดสินถูกผิดดีเลวจากค่านิยมเชิงศีลธรรมหรือจากอุดมการณ์ที่ตนยึดถือเป็นหลักในการจัดระเบียบทางสังคมของตน มาตัดสินรัฐอื่นๆ เพราะเห็นว่าอุดมการณ์ที่ตนยึดถือนั้นเป็นดัง “moral laws that govern the universe” ที่รัฐอื่นพึงยึดถือตามด้วย และถ้าหากไม่ยึดถือ ก็หาทางที่จะเปลี่ยนให้มายึดถือให้ได้  เมื่อนั้น รัฐจะไม่อาจตัดสินกันและกันอย่างมีเหตุมีผลในทางที่จะคำนึงถึงผลประโยชน์ส่วนของตนอันพึงรักษา และผลประโยชน์สำคัญอันพึงมีของรัฐอื่น ที่คนในสังคมอื่นนั้นมีสิทธิกำหนดด้วยตนเองได้ พร้อมกับมีสิทธิตัดสินได้ด้วยตนเองว่าจะเลือกคุณค่าอะไร และจัดความสัมพันธ์ระหว่างคุณค่านั้นอย่างไรสำหรับกำกับการอยู่ร่วมกันในสังคม  เราพึงคำนึงไว้เสมอว่าแรงผลักดันให้ประชาชาติทั้งหลายอยากตั้งการปกครองของตนเป็นรัฐของตนขึ้นมาไม่มีอะไรจะเหนือไปกว่าความต้องการที่จะได้สิทธิและรักษา national self-determination ของตนไว้

เมื่อรัฐไม่ใช้หลักเหตุผลตามการพิจารณาผลประโยชน์มาเป็นเกณฑ์ตัดสิน รัฐนั้นก็จะมองไม่เห็นว่า สิ่งที่เป็นผลประโยชน์ร่วมกันที่อาจใช้เป็นจุดเริ่มต้นหาทางออกจากปัญหาระหว่างสองฝ่ายได้นั้นอยู่ที่ไหน  และเมื่อเป็นเช่นนั้น ความยุ่งยากในความสัมพันธ์ก็จะเกิดตามมาจากนั้นอีกมาก

แต่มอร์เกนธาวก็คงขอกล่าวเพิ่มเติมเพื่อให้เข้าใจเขาถูกต้องด้วยว่า เขาไม่ได้ปฏิเสธว่าคุณค่าอย่างเสรีภาพไม่ใช่คุณค่าสากล หรือไม่ควรส่งเสริมสนับสนุนคุณค่าอันดีงามอย่างเสรีภาพหรือห้ามใครๆ ไม่ให้ใช้คุณค่าเหล่านั้นสำหรับตัดสินวินิจฉัยถูกผิดดีเลวงดงามหรืออัปลักษณ์  ขึ้นชื่อว่ามนุษย์แล้ว มอร์เกนธาวบอกว่าการวินิจฉัยตัดสินในเชิงศีลธรรม (moral judgment) แบบนี้ มีติดตัวมาในธรรมชาติการคิดการใช้เหตุผลของมนุษย์  แต่ในขณะที่คนแต่ละคนอาจเสียสละและอุทิศตนเองเพื่อปกป้อง เพื่อต่อสู้ เพื่อให้ได้มาซึ่งคุณค่าดีงามที่เป็นสากลอย่างเสรีภาพ รัฐมีข้อจำกัดที่จะทำเช่นเดียวกันนั้น

มอร์เกนธาวกล่าวไม่มีอ้อมค้อมว่า

 

The state has no right to let its moral disapprobation of the infringement of liberty get in the way of successful political action, itself inspired by the moral principle of national survival.

 

มอร์เกนธาวถือว่าคนที่ขึ้นมารับผิดชอบอำนาจรัฐจะต้องกล้าเผชิญกับปัญหาทางศีลธรรมที่มีอยู่ในการกระทำทางการเมือง และต้องตระหนักอยู่เสมอไปในความตึงเครียดระหว่างข้อเรียกร้องตามหลักการที่เป็นอุดมคติของอุดมการณ์หรือศีลธรรมไม่ว่าจะเป็นศีลธรรมทางโลกหรือทางศาสนา กับ สัมฤทธิผลทางการเมืองในการดำเนินกิจการในนามของรัฐที่รับผิดชอบต่อผลประโยชน์ของสาธารณะ มิใช่ผลประโยชน์ส่วนตัว

การเกลื่อนไปว่าไม่มีความตึงเครียดในเรื่องนี้ก็ดี หรือการไม่กล้าเผชิญกับหลักการทางอุดมการณ์หรือศีลธรรมที่ตั้งข้อเรียกร้องต่อการกระทำทางการเมืองก็ดี เท่ากับเป็นการมองการเมืองดีจนเกินจริงว่าในที่สุดแล้วการเมืองจะตอบสนองคุณค่าตามหลักการอุดมการณ์ให้เป็นที่พอใจได้มากกว่าที่เป็นจริง และคิดว่าคุณค่าหรือหลักการตามอุดมการณ์ที่ปรารถนานั้น จะบรรลุถึงได้ตามอุดมคติได้ง่ายกว่าที่เป็นจริง   ความคิดและการตั้งความหวังที่ผิดๆ แบบนี้นำไปสู่ความล้มเหลวและผิดพลาดในทั้งสองทางมานักต่อนัก

ความเป็นพิษของปัจจัยอุดมการณ์จึงไม่ได้อยู่ในตัวหลักการทางศีลธรรมหรือหลักการของอุดมการณ์ที่รัฐหนึ่งรัฐใดหรือคนในสังคมหนึ่งสังคมใดยึดถือ เท่ากับการบีบบังคับให้คนที่มิได้ยึดถือต้องรับยึดถืออย่างปราศจากเสรีภาพ นี่คือท่าทีแบบเสรีนิยมในความคิดมอร์เกนธาว ที่เป็นฝ่ายเปิดประเด็นวิพากษ์เสรีนิยมอย่างเต็มที่

อย่างไรก็ดี โดยเหตุที่มอร์เกนธาวเป็น realist และเขาเป็นคนเสนอให้พิจารณาผลประโยชน์แห่งชาติไปในทางการพัฒนาฐานอำนาจและขีดความสามารถของรัฐ ที่รัฐจะนำมาใช้สร้างและรักษา “the control of man over man” ทั้งในทางความคิดจิตใจและการกระทำ  ดังนั้น การจะจำกัดให้รัฐคำนึงถึงกันและกัน ประเมินตัดสินกันและกัน และปฏิสัมพันธ์กันบนฐานของผลประโยชน์แห่งชาติ ในที่สุดแล้วก็ไม่อาจจะตัดเรื่องอุดมการณ์ หลักการทางศีลธรรมทางโลกหรือทางศาสนาออกไปจากสมการของผลประโยชน์ที่นิยามในเชิงอำนาจได้

ทั้งนี้เพราะเครื่องมือหรือขีดความสามารถที่ทรงพลังในการ “ควบคุม” ความคิดจิตใจคนทั้งหลายได้นั้น ไม่ได้อยู่ที่กำลังอาวุธ เงิน อามิสเครื่องล่อใจในทางวัตถุ  กฎหมาย ความสามารถที่จะกำหนดกระบวนการขั้นตอนในการจัดองค์กรหรือสถาบัน และการคุมสื่อกลางสำหรับการติดต่อสัมพันธ์ในรูปแบบต่างๆ   ไม่ใช่ว่าฐานอำนาจที่เป็นขีดความสามารถเหล่านี้ไม่สำคัญหรือไม่มีพลังอะไรเลยในการ “ควบคุม” ความคิดจิตใจคน แต่การจะมีอิทธิพลต่อความคิดจิตใจคน ให้คนคิด ให้คนทำโดยตัวเขาเอง ให้เขาคิดและให้เขาควบคุมตัวของเขาเอง ให้เขายั้งให้เขาหยุดด้วยตัวเอง ให้เขารู้สึกนึกคิดและตั้งความปรารถนาขึ้นมาเอง และทุ่มเทอุทิศที่จะลงมือกระทำตามความปรารถนานั้นให้สำเร็จด้วยตัวเอง การจะมีอิทธิพลในความหมายถึงระดับนี้ได้จำเป็นต้องใช้ความคิดความเชื่อ ค่านิยมอุดมการณ์ หลักการปทัสถาน หรือในสมัย/ในพื้นที่ที่ศาสนายังมีพลังก็คืออาศัยหลักศีลธรรมทางศาสนา เป็นหนทางเข้าไปครองความคิดจิตใจคน และทำงานภายในใจคน โดยความสำคัญของอำนาจรัฐในด้านนี้ รัฐมหาอำนาจจึงไม่เว้นที่จะคิดถึงผลประโยชน์อันจะได้มาจากอำนาจฐานนี้ และดำรงไว้ซึ่งตัวแทน ซึ่งอาจเปลี่ยนหน้าไปตามเวลา ที่จะทำงานขับเคลื่อนการขยายผลขยายอิทธิพลจากฐานอำนาจในด้านนี้

สุรพงษ์เสนอว่ามหาอำนาจใช้อุดมการณ์เป็นเครื่องมือในการกลบเกลื่อนวาระซ่อนเร้นด้านที่เป็นผลประโยชน์แท้จริง แต่ในนิยามผลประโยชน์แห่งชาติของนักคิดในฝ่าย realism ถืออุดมการณ์เป็นส่วนหนึ่งของอำนาจรัฐที่สำคัญ และโดยเหตุนั้นคนสอนความสัมพันธ์ระหว่างประเทศก็พิจารณาอุดมการณ์ตาม realists ว่า อุดมการณ์จัดเป็นผลประโยชน์แห่งชาติที่สำคัญได้ด้วยเช่นกัน

แต่มอร์เกนธาวก็คงเห็นด้วยกับสุรพงษ์ในข้อที่ว่า อุดมการณ์อาจกลายเป็นปัจจัยที่เป็นพิษร้ายขึ้นมาได้ แต่เป็นเพราะว่าอุดมการณ์หรือความคิดความเชื่อที่รัฐนั้นยึดถือนั้นก่อให้เกิด hubris หรือความคิดอหังการที่จะเปลี่ยนโลกให้เหมือนกับรูปลักษณ์ของตนขึ้นมา  และความคิดอันยิ่งใหญ่แบบนี้ก็มักจะเกิดกับชาติมหาอำนาจ ที่คิดว่าตนยิ่งใหญ่ หรือเกิดกับผู้นำประเทศที่คิดว่าตนมีความยิ่งใหญ่ แม้ประเทศจะยังมีขีดความสามารถจำกัด

มอร์เกนธาวเสนอคำเตือนเรื่อง hubris ไว้โดยอ้อมในหลัก Political Realism ข้อที่ 5 ของเขาว่า

 

There is a world of difference between the belief that all nations stand under the judgment of God, inscrutable to the human mind, and the blasphemous conviction that God is always on one’s side and that what one wills oneself cannot fail to be willed by God also.     

 

มอร์เกนธาวเขียนงานความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของเขาจากฐานของมหาอำนาจและเขียนขึ้นมาสำหรับมหาอำนาจเป็นหลัก  ส่วนข้อเสนอของสุรพงษ์ที่ชี้ชัดว่า มหาอำนาจใช้อุดมการณ์เป็นเครื่องมืออำพรางคงเป็นที่สนใจของ Morgenthau คล้ายกับที่ E. H. Carr เคยเสนอว่าอุดมการณ์บางทีก็อำพรางมาในรูปของความรู้ และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความรู้สำหรับการครองอำนาจและอิทธิพลของมหาอำนาจอย่างที่พบในสาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

แต่ในงานวิจัยของสุรพงษ์ยังระบุไว้ด้วยว่า อุดมการณ์มิใช่แต่จะเป็นเครื่องมือสำหรับมหาอำนาจเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นมหาอำนาจ หรือเป็นประเทศเพิ่งเกิดใหม่ อุดมการณ์ส่งผลอย่างมากต่อความคิดในการกำหนดผลประโยชน์แห่งชาติ

ถ้าเป็นเช่นนั้น ก็ควรพิจารณาต่อไปอีกว่า อุดมการณ์จัดเป็นผลประโยชน์แห่งชาติส่วนไหนของรัฐ และอุดมการณ์มีฤทธิ์แบบไหน

ต่อคำถามข้อหลัง คนสอนความสัมพันธ์ระหว่างประเทศได้คำตอบชัดเจน ไม่ใช่จากมอร์เกนธาว แต่ได้จาก Carl Schmitt ที่ฝากคำตอบผ่านมาทางหยุด แสงอุทัย

หยุดเสนอว่าอุดมการณ์มีฤทธิ์ต่อความเป็นการเมือง และถ้าอุดมการณ์จะเป็นปัจจัยที่เป็น “พิษร้าย” อย่างที่สุรพงษ์เสนอ ก็ควรเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างความเป็นการเมืองกับอุดมการณ์นี้ให้ดีก่อน

ในวารสาร สราญรมย์ ปีที่ ๕ ฉบับที่ระลึก ๑๐ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๘ หยุดเสนอว่า ความสัมพันธ์ทางการเมืองใน 2 ระดับ คือการเมืองภายในและระหว่างประเทศ มีทาง “บีบบังคับ” ที่ส่งผลต่อกันได้ กล่าวคือ “การเมืองต่างประเทศได้บีบบังคับให้ประเทศต้องดำเนินนโยบายการเมืองภายในประเทศไปในวิถีทางใดทางหนึ่ง”  และ “การเมืองภายในประเทศก็ยังมีบีบบังคับให้ประเทศต้องดำเนินนโยบายการเมืองต่างประเทศไปในทางใดทางหนึ่ง”  หยุดเสนอต่อไปให้เราเข้าใจในลักษณะความเป็นการเมืองว่า

 

คำว่า ‘การเมือง’ ย่อมมีทางอธิบายความหมายได้หลายทาง แต่คำว่า ‘การเมือง’ ที่ข้าพเจ้าจะใช้ในบทความนี้ข้าพเจ้าหมายถึงความเป็นมิตรไมตรี และความเป็นปรปักษ์เพื่อบรรลุเป้าหมายและผลประโยชน์ในทางใดทางหนึ่ง ในทางการเมืองภายในประเทศ เราจะเห็นได้ว่าผู้มีแนวความคิดเห็นหรืออุดมการณ์อย่างเดียวกันหรือใกล้เคียงกัน หรือมีประโยชน์ได้เสียอย่างเดียวกันหรือใกล้เคียงกัน ย่อมจะผูกมิตรไมตรีร่วมมือกันเพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามความคิดเห็นหรืออุดมการณ์ หรือให้บรรลุถึงผลประโยชน์อันร่วมกันหรือใกล้เคียงกันนั้น ในการนี้ เขาจะต้องต่อสู้กับปรปักษ์ เป็นการต่อสู้ระหว่างความคิดเห็นต่อความคิดเห็น อุดมการณ์กับอุดมการณ์       

 

ความหมายการเมือง ซึ่งเน้นความเป็นการเมืองตรงการเกิดสภาวะปรปักษ์ ที่การแบ่งแยกมิตรกับศัตรูเป็นลักษณะหลักของการเมือง ตามที่หยุดเสนอให้พิจารณาข้างต้น เมื่อปรับมาพิจารณาความสัมพันธ์ทางการเมืองในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ทำให้ได้ความตระหนักว่า นอกเหนือจากการรับรองรัฐและรัฐบาล นอกเหนือจากการเปิดความสัมพันธ์ทางการทูต และการเจรจาทำความตกลงระหว่างประเทศเพื่อรักษาผลประโยชน์ของแต่ละฝ่ายหรือบรรลุถึงผลประโยชน์ที่ทุกฝ่ายมีร่วมกัน ซึ่งจัดเป็นการดำเนินความสัมพันธ์กันตามปกติแล้ว  ความเป็นการเมืองในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ยังต้องพิจารณาถึงเวลาที่ความสัมพันธ์อันเคยดำเนินมาตามปกตินั้น เกิดไม่เป็นปกติขึ้นมา เพราะมีปัญหาการเมืองเข้ามาแทรก และเปลี่ยนความสัมพันธ์ที่เคยมีมาเป็นปกตินั้นไปอยู่ในสภาวะปรปักษ์ ที่ต้องรวมตัวฝ่ายเดียวกันเพื่อต่อสู้กับฝ่ายตรงข้าม และถ้าจำเป็นขึ้นมา การใช้กำลังความรุนแรงต่อกันก็เป็นเรื่องที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้มาก

ในสภาวะเช่นนี้ การแบ่งแยกว่าใครคือมิตรใครคือศัตรู ใครที่ยังไม่เป็นมิตรแต่มีโอกาสดึงมาเป็นแนวร่วมได้ หรือใครที่ศัตรูฝ่ายตรงกันข้ามกำลังดึงไปเป็นแนวร่วม กลายมาเป็นเกณฑ์กำหนดความสัมพันธ์ระหว่างกัน  และกำหนดภูมิทัศน์ของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในภูมิภาคหนึ่งๆ ที่จะต้องผจญประจันหรือประจัญกันต่อไป  ความเป็นการเมืองในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศตามทางอธิบายความหมายเช่นนี้ เป็นความสัมพันธ์ทางการเมือง ที่เข้ามากำหนดสภาพและวางเงื่อนไขส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในด้านอื่นๆ ได้ทั้งหมด รวมทั้งการส่งผลต่อกันระหว่างเหตุปัจจัยในสภาพแวดล้อมระหว่างประเทศ กับการกำหนดและดำเนินนโยบายต่างประเทศของรัฐในภูมิภาคหนึ่งๆ

หยุดเสนอว่าการแบ่งแยกมิตรกับศัตรูในการเมืองภายในของประเทศหนึ่งในที่สุดแล้วเป็นผลโดยตรงของความเห็นต่างเกี่ยวกับระบอบการปกครองอันพึงปรารถนา และความแตกต่างนี้มีนัยสำคัญต่อปัญหาความมั่นคง ในแง่ที่ว่า ฝ่ายสนับสนุนระบอบการปกครองแตกต่างกัน หรือรัฐที่มีการปกครองเป็นคนละระบอบไม่เหมือนกัน มีแนวโน้มที่จะมองกันและกันว่าอีกฝ่ายเป็นภัยอันตราย ที่ไม่เพียงแต่จะมากระทบต่อการรักษาผลประโยชน์เฉพาะในบางเรื่อง แต่ความแตกต่างนั้นยังนำไปสู่การตั้งคำถามจากฝ่ายหนึ่งต่ออีกฝ่าย เกี่ยวกับอำนาจอันชอบธรรมในการปกครองและระบอบการเมือง รวมทั้งการผูกขาดการใช้กำลังความรุนแรงในนามของรัฐด้วย

ความแตกต่างทางความคิดค่านิยมอุดมการณ์จึงส่งผลต่อการมองภัยคุกคามความมั่นคง และจากการมองภัยคุกคามความมั่นคงก็ส่งผลต่อแนวทางกำหนดและดำเนินนโยบายต่างประเทศ

นอกจากนั้น หยุดเสนอให้ใช้ “ทางอธิบายความหมาย” ของการเมืองข้างต้นมาทำความเข้าใจการแยกมิตร กับปรปักษ์ในการเมืองระหว่างประเทศ ซึ่งก่อตัวจากความคิดที่ไม่เหมือนกันเกี่ยวกับระบอบการเมือง ค่านิยมอุดมการณ์และวัฒนธรรม ที่ส่งผลต่อการมองเห็นผลประโยชน์แตกต่างกันหรือถึงขั้นขัดแย้งกัน ความแตกต่างนี้นำไปสู่โครงสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่เป็นมิตร หรือเป็นปรปักษ์ต่อกัน “ที่จะเข้ามาบีบบังคับการดำเนินนโยบายการเมืองภายในประเทศไปในวิถีทางใดทางหนึ่ง”

ข้อเสนอของสุรพงษ์ ที่พิจารณาว่าปัจจัยอุดมการณ์เป็น “พิษร้าย” แต่เมื่อเราตระหนักว่าการปกครองรัฐและการรักษาอำนาจรัฐ รวมทั้งฐานความชอบธรรมของอำนาจรัฐไม่อาจปราศจากซึ่งอุดมการณ์ได้ อุดมการณ์จึงเป็นส่วนผลประโยชน์แห่งชาติในด้านฐานอำนาจรัฐที่เป็นความคิด เป็นหลักการของการจัดระเบียบและรักษาความมั่นคงของระเบียบผ่านการครองความคิดจิตใจ อันเป็นอำนาจที่มอร์เกนธาวและนักคิดในฝ่าย classical realism ให้ความสำคัญไม่แพ้ฐานอำนาจรัฐในด้านวัตถุ และยังเป็นปัจจัยมีความสำคัญมาก ในทางที่เป็นตัวสร้างปัญหา และในทางที่จะเป็นการรักษาผลประโยชน์ด้านความมั่นคงของรัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐที่ระบอบการเมืองการปกครองยังไม่ตั้งมั่นได้อย่างมั่นคง  โจทย์สำคัญของการเมืองระหว่างประเทศ ของนโยบายต่างประเทศและการดำเนินการทางการทูตของรัฐต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในสมัยสงครามเย็นจึงได้แก่โจทย์ที่ว่าทำอย่างไร ปัจจัยอุดมการณ์ที่มีความสำคัญต่ออำนาจรัฐของทุกประเทศ จึงจะไม่สร้างภาวะที่เป็นพิษร้ายแพร่ซึมใส่กัน

การอภิปรายของหยุดเกี่ยวกับลักษณะความเป็นการเมืองอันมาจากสภาวะปรปักษ์ของการจำแนกมิตรและศัตรู แนวทางการมองศัตรูที่แท้จริงว่าได้แก่ใครข้างต้น ได้บอกวิธีการแก่เราอย่างหนึ่ง ที่จะช่วยแก้ความเป็นพิษร้ายของปัจจัยอุดมการณ์ นั่นคือ แต่ละฝ่ายหยุดใช้ปัจจัยนี้เป็นอำนาจ “เข้ามาบีบบังคับ” จากภายนอกเพื่อให้รูปลักษณะการปกครองของรัฐ “เป็นไปในวิถีทางใดทางหนึ่ง”

หลังจากผ่านความยากลำบาก ผ่านความสูญเสียมโหฬารในสภาวะของความเป็นปรปักษ์อันยาวนาน การต่างประเทศและการทูตของประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จึงเรียนรู้ที่จะหยุดการใช้อุดมการณ์จากภายนอกเข้ามาแทรกซึมและแทรกแซงการเมืองภายในเพื่อ “บีบบังคับ” การเปลี่ยนแปลงการจัดอำนาจรัฐและระเบียบทางสังคม “ให้เป็นไปในวิถีทางใดทางหนึ่ง”

แต่ในระดับที่เหนือกว่าอาเซียนขึ้นไป การแทรกซึมในทางอุดมการณ์จากภายนอกเข้ามาหาภายใน และการเชื่อมต่อจากภายในออกไปหาภายนอกเพื่อขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงการจัดอำนาจรัฐและระเบียบทางสังคมยังดำเนินต่อมาในหลายพื้นที่ ในรูปแบบต่างๆ กัน

วงเสวนาระหว่างสุรพงษ์ มอร์เกนธาว หยุด และชมิทท์ ดำเนินมาพอสมควรแก่เวลาที่จะปิดวง และคงไม่มีเรื่องไหนที่จะเหมาะสำหรับลงท้ายการเสวนานัดนี้เท่ากับการนำบทสนทนาของเพลโตระหว่างโสเกรตีสกับยูไทโฟร ในสำนวนแปลของสมบัติ จันทรวงศ์  มาวางไว้ให้พิจารณา

โสเกรตีส : ถ้าเราเห็นไม่ตรงกันในเรื่องของขนาดของสิ่งต่างๆ เราก็ควรยุติการเห็นไม่ตรงกันนั้นเสียด้วยการวัดใช่ไหม?

ยูไธโฟร : ใช่

โสเกรตีส : และข้าพเจ้าก็คิดว่าเราควรจะตกลงกันได้ในเรื่องของน้ำหนักที่แตกต่างกันด้วยการชั่งใช่ไหม?

ยูไธโฟร : แน่นอน

โสเกรตีส : แต่การเห็นไม่ตรงกันในเรื่องอะไรเล่า ที่เราไม่สามารถจะตกลงกันได้และทำให้เราเป็นศัตรูกัน และโกรธขึ้งซึ่งกันและกัน?  บางทีท่านอาจจะไม่สามารถให้คำตอบได้ทันที ขอให้ข้าพเจ้าได้ลองแนะดู ไม่ใช่เรื่องเกี่ยวกับถูก-ผิด สูงส่ง-ต่ำทราม และดี-เลว ดอกหรือ? ปัญหาเกี่ยวกับสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่หรือที่ท่านและข้าพเจ้าและคนอื่นๆ ต้องกลายเป็นศัตรูกัน เมื่อเรากลายเป็นศัตรูกันนั้น เป็นเพราะเราเห็นแตกต่างกัน และไม่สามารถตกลงกันได้อย่างเป็นที่พอใจในเรื่องเหล่านี้ มิใช่หรือ?

ใช่ไหม?

 


*บทความเป็นส่วนหนึ่งของรายงานวิจัยบทที่ 4  ศุภมิตร ปิติพัฒน์, บทเรียนนโยบายต่างประเทศไทยสมัยสงครามเย็นต่อประเทศเพื่อนบ้านทางทะเล:  การสังเคราะห์ข้อค้นพบจากงานวิจัยของสุรพงษ์ ชัยนาม ชุด “นโยบายต่างประเทศไทยต่อประเทศเพื่อนบ้านในยุคสงครามเย็น: สี่กรณีศึกษาเปรียบเทียบ บรูไน อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์”  รายงานวิจัยเสนอสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย / สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม, 2563.   ผู้เขียนขอขอบคุณ สกว. – สกสว. ผู้สนับสนุนทุนวิจัย.

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save