fbpx

‘โรคยังระบาด สงครามยังรบต่อ อากาศยังผันผวน’ โลก 2023 ในวันที่ยังไม่เห็นแสงสว่างปลายอุโมงค์ กับ สุรชาติ บำรุงสุข

ดูจากโจทย์การเมืองโลกปี 2023 ดูเหมือนว่าจะเป็นปีที่ไม่ดีเลย

ไม่มีใครปฏิเสธว่า 2-3 ปีที่ผ่านมา คือช่วงเวลาที่การเมืองโลกผันผวนและร้อนระอุมากที่สุด – โรคระบาด สงคราม การแข่งขันระหว่างมหาอำนาจ เศรษฐกิจตกต่ำ ภาวะอากาศแปรปรวน ได้เปลี่ยนผ่านโลกเข้าสู่อีกยุคสมัยหนึ่งแล้ว

แต่การเปลี่ยนผ่านยุคสมัยไม่ใช่จุดจบของวิกฤต กลับกัน นั่นคือการพาโลกเข้าปะทะกับมรสุมวิกฤตที่ดำเนินต่อไปโดยปราศจากสัญญาณของการสิ้นสุด เสมือนว่าโลกตกอยู่ใน ‘วิกฤตถาวร’ (Permacrisis)

‘โรคยังระบาด สงครามยังรบต่อ อากาศยังผันผวน’ – นี่คือสาเหตุที่สุรชาติ บำรุงสุข วิเคราะห์ว่าการเมืองโลกในปี 2023 จะยังไม่ถึงจุดคลี่คลาย

ไทยเช่นกันไม่อาจหลีกหนีจากวิกฤตโลกกลางสงครามเย็นครั้งใหม่ในศตวรรษที่ 21 แต่การเลือกตั้งระดับชาติในปี 2023 อาจเป็นจุดพลิกผันให้การต่างประเทศไทยกลับเข้าสู่สภาวะปกติ หลังจากรัฐบาลประยุทธ์เอนดุลอำนาจรัฐไทยไปอยู่ใต้ร่มเงาพญามังกรนับตั้งแต่การรัฐประหารปี 2014

ในเมื่อโลกยังไม่เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ 101 สนทนากับ สุรชาติ บำรุงสุข ศาสตราจารย์กิตติคุณ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ว่าด้วยโจทย์วิกฤตโลกที่เรายังต้องเผชิญต่อไปในอนาคต ทิศทางของระเบียบโลกกลางสงครามเย็นครั้งใหม่ในศตวรรษที่ 21 และที่ทางของการเมืองไทย-การต่างประเทศไทยในกระแสลมแห่งการเลือกตั้ง

หลายคนที่ติดตามการเมืองโลกเห็นตรงกันว่า ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา และโดยเฉพาะในปี 2022 เต็มไปด้วยสารพัดปรากฏการณ์เหนือความคาดหมาย สำหรับอาจารย์ อะไรที่สั่นสะเทือนหรือเปลี่ยนโลกอย่างเห็นได้ชัดที่สุด

ถ้าถอยเวลากลับไปไกลหน่อย ปฏิเสธไม่ได้ว่าเหตุการณ์ 9/11 คือจุดเปลี่ยนใหญ่ แต่ถ้าเราพูดถึงแค่ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา จุดเปลี่ยนที่ใหญ่ที่สุดและมีผลกระทบต่อโลกมากที่สุดอย่างที่เราไม่เคยเห็นมาก่อนคือโควิด-19 ความน่าตกใจก็คือ จากกลางมกราคมปี 2020 ที่เราเห็นเคสแรกที่เสียชีวิตจากโควิดจนถึงปีนี้ จำนวนผู้เสียชีวิตมันมากเท่าไหร่ ใครที่ติดตามยอดทุกวันต้องบอกว่าจิตตก เพราะว่ากันตรงๆ ในยุคสมัยเรา เราเชื่อกันมานานว่าโรคระบาดระดับโลกคงไม่มีหรอก มันจบลงไปแล้ว หากมีคนเสียชีวิตจำนวนมากก็พอจะเป็นที่เข้าใจว่าไม่น่าจะมาจากปัญหาโรคระบาด หรือแม้จะมีโรคระบาดก็คงไม่ยกระดับไปเป็น global pandemic

เพราะฉะนั้น ไม่ต้องคิดถึงอย่างอื่น โจทย์จากปลายปี 2019 ต่อปี 2020 มีอยู่โจทย์เดียวคือโควิด-19 เราเห็นความสูญเสียของชีวิตผู้คน การล้มระเนระนาดของเศรษฐกิจในหลายประเทศ และที่ใหญ่ที่สุดคือการตกงานของคนจำนวนมหาศาล จากปี 2020 ต่อปี 2021 ชัดเจนว่าวิกฤตคนจนคือเรื่องใหญ่ นั่นหมายความว่าขณะที่โลกเผชิญกับโจทย์ใหญ่ที่สร้างวิกฤตระดับ global crisis อย่างที่เราไม่เคยเห็นมาก่อนจากจุลชีวะ (microbe) พูดง่ายๆ เห็นชัดว่าข้าศึกตัวเล็กนิดเดียว แต่อาวุธหรือสิ่งต่างๆ ที่รัฐ ไม่ว่าจะเป็นรัฐมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ จีน รัฐในยุโรป หรือกระทั่งไทยเตรียมซื้อไว้รับมือจากการคุกคามของข้าศึกตัวเล็กๆ แบบนี้ไม่ได้ ผมเสนอว่าโควิดมีผลกระทบใน 4 ระดับคือ โรคเปลี่ยนโลก โรคเปลี่ยนรัฐ โรคเปลี่ยนสังคม และโรคเปลี่ยนชีวิต

แต่พอ global crisis จากโรคระบาดยังไม่ทันจบ พอเข้าปี 2022 ก็เกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครน แต่สงครามที่ปรากฏออกมาคือภาพย่อย ถ้าคิดในภาพใหญ่ระดับมหภาคมันคือโจทย์การแข่งขันระหว่างรัฐมหาอำนาจ จริงๆ โจทย์ชุดนี้เริ่มมาตั้งแต่โลกก้าวเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 แล้ว แค่คำถามอยู่ที่ว่าการแข่งขันของรัฐมหาอำนาจจะปะทุกลายไปเป็นความขัดแย้งใหญ่หรือความขัดแย้งที่ใช้อาวุธในพื้นที่ส่วนไหนของโลก

ก่อนสงครามยูเครนจะเกิด ในเอเชียเรากังวลเกี่ยวกับความขัดแย้งในหมู่เกาะทะเลจีนใต้ ผมเองคาดการณ์สถานการณ์ในเอเชียก่อนหน้าสงครามรัสเซีย-ยูเครนจะเกิดสัก 2-3 ปี ว่ากรณีคาบสมุทรไต้หวันมีแนวโน้มที่จะกลายเป็นวิกฤต ส่วนตัวผมว่าน่ากลัวกว่าทะเลจีนใต้ เพราะผมอยู่กับโจทย์ทะเลจีนใต้มาตั้งแต่ยังเป็นนิสิตปริญญาตรีจนวันนี้เกษียณอายุแล้ว โจทย์ก็ยังอยู่ มีโอกาสรบก็จริง แต่ถามว่ามีโอกาสแค่ไหน ผมว่ามันอยู่ในระดับที่ทุกฝ่ายรู้ว่าควรหรือไม่ควรทำอะไร แต่ไม่ใช่ในกรณีไต้หวัน ผมเชื่อว่าที่หลายฝ่ายในเวทีโลกกังวลคือว่าสงครามจะปะทุในเอเชีย แต่พอวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2022 สิ่งที่เราไม่คาดคิดคือสงครามไปปะทุที่ยูเครน หมายความว่าวันนี้ global crises ที่โลกเรากำลังเผชิญอยู่คือ global pandemic และ great power competition

เราเห็นโจทย์ใหม่ๆ แต่ต้องไม่ลืมอีกโจทย์หนึ่งที่เป็นวิกฤตมานาน แต่เราค่อยไม่รู้สึกคือ global climate crisis ผมใช้คำว่า climate crisis ตามที่ UN ปรับวาทกรรมเริ่มเรียกการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศว่าเป็น climate crisis ซึ่งผมเห็นด้วยนะ สภาพภูมิอากาศช่วงหลายปีไปไกลมากกว่าสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงและเริ่มมีสภาวะวิกฤตแปรปรวน ซึ่งไม่เพียงมีผลกระทบต่อการเกษตรอย่างเดียว แต่มันคร่าชีวิตมนุษย์ในหลายสังคม ไม่ว่าจะเป็นพายุ ดินถล่ม น้ำท่วมอย่างที่เกิดในหลายประเทศขณะนี้ ไฟป่าในแคลิฟอร์เนีย ออสเตรเลีย หรือคลื่นความร้อนในยุโรปก็คือผลพวงจาก climate crisis

เพราะฉะนั้น โจทย์ที่เราเห็นได้ชัดอย่างโควิดในปี 2020 และสงครามรัสเซีย-ยูเครนในปี 2022 จริงๆ มันถูกล้อมด้วยโจทย์ใหญ่ 2 ชุด คือการแข่งขันของรัฐมหาอำนาจและสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง

ปี 2023 มีสัญญาณบ้างไหมว่าเราพอจะเริ่มออกจากวิกฤตได้บ้าง

แนวโน้มโลกปี 2023 ในความเห็นผมคือ ‘โรคยังระบาด สงครามยังรบต่อ และอากาศยังผันผวน’ นั่นคือคีย์เวิร์ดของปี 2023 เพราะฉะนั้นโจทย์ใหญ่ที่ตามมาอีกชุดที่เกี่ยวพันกับชีวิตคนคือโจทย์เศรษฐกิจ ตั้งแต่ปี 2022 เราเห็นโจทย์เศรษฐกิจอยู่กับสังคมตะวันตกแล้ว ทั้งในสหรัฐฯ และยุโรป คือปัญหาค่าครองชีพและราคาพลังงาน อีกอย่างที่หลายสังคมเผชิญคืออัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น ที่น่าจะมีความหวังคือความรุนแรงของโรคระบาดจะเบาบางลง แต่ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีการเสียชีวิตนะ

แต่ถ้าถามว่าปีนี้วิกฤตไหนน่ากลัวที่สุด ผมคิดว่าเป็นปัญหาค่าครองชีพ สงครามยูเครนอาจดูไกลตัว แน่นอนว่าไกลโดยทางภูมิศาสตร์ แต่เวลาค่าครองชีพทั่วโลกขึ้นมันไม่มีพรมแดน ไม่ใช่ว่าค่าครองชีพในยุโรปขึ้นแล้วค่าครองชีพในเอเชียจะไม่ขึ้น ส่วนความผันผวนราคาพลังงานยังเป็นโจทย์ที่ต้องตามดู เพราะจะนำไปสู่การขึ้นค่าไฟ รวมถึงวิกฤตอาหาร

ความน่ากลัวอีกอย่างหนึ่งคือโจทย์สงครามในเอเชียว่า ปีนี้ผู้นำจีนจะตัดสินใจทำอะไรกับไต้หวันไหม หรือจะมีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นบริเวณช่องแคบไต้หวันหรือเปล่า

ดูจากโจทย์ใหญ่ปี 2023 ดูเหมือนว่าจะเป็นปีที่ไม่ดีเลย ถามเล่นๆ คิดว่าปีนี้จะมีโจทย์ใหญ่กว่านี้ไหม

อย่างหนึ่งที่คนเริ่มกลับมาพูดถึงกันหลังเกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครนคือสงครามนิวเคลียร์ ซึ่งก็ไม่นึกไม่ฝันเหมือนกันว่าโลกจะวนกลับมาจุดนี้อีก

ใช่ ระเบียบระหว่างประเทศหลังสงครามเย็นมีเสถียรภาพพอสมควร หลังสงครามเย็นจบตอนนั้นผมก็คิดว่าโลกน่าจะก้าวพ้นสงครามนิวเคลียร์แล้ว อาวุธนิวเคลียร์ยังมีอยู่ก็จริง แต่ก็อาจจะไม่มีผลกระทบต่อการเมืองโลกสูงมาก แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าสงครามนิวเคลียร์คือมรดกของสงครามเย็น เพราะแกนกลางความขัดแย้งของสงครามเย็นอยู่ที่อาวุธนิวเคลียร์ พูดง่ายๆ อาวุธนิวเคลียร์คือรากฐานของการแข่งขันระหว่างรัฐมหาอำนาจในยุคสงครามเย็น

พอรัสเซียตัดสินใจบุกยูเครน หลังจากนั้นน่าจะมีประมาณ 3 ครั้งที่คำกล่าวของปูตินมีนัยโยงไปถึงอาวุธนิวเคลียร์ ที่พูดชัดเลยคือที่ปูตินตัดสินใจประกาศคำสั่งให้กองกำลังป้องปรามนิวเคลียร์เตรียมความพร้อมระดับสูง บางครั้งก็ไม่ชัดเจน อย่างมีครั้งหนึ่งที่ประกาศว่า “รัสเซียจะใช้อาวุธทุกอย่างที่มีเพื่อปกป้องรัสเซีย” นัยของคำว่า ‘ใช้อาวุธทุกอย่างที่มี’ ก็คือรวมอาวุธนิวเคลียร์ด้วย นี่ก็เป็นนัยอีกเหมือนว่า รัสเซียอาจชิงโจมตีก่อน (pre-emptive strike) คือถ้ากลัวก็ตัดสินใจทำสงครามเลย สมมติว่าเป็นรัฐมหาอำนาจรบกันนี่ตายเลยนะครับ ดีว่าสหรัฐฯ ไม่ตื่นตูมตาม ไม่อย่างนั้นสถานการณ์จะมีอาการคล้ายกับวิกฤตการณ์คิวบา (The Cuban Missile Crisis) ปี 1962  

อีกมุมหนึ่งที่อาวุธนิวเคลียร์กลายเป็นโจทย์ใหญ่ตั้งแต่ช่วงสงครามเริ่ม เพราะรัสเซียไม่ประสบความสำเร็จในการใช้กองกำลังทหารบุกยึดกรุงคีฟ ทั้งๆ ที่หลายฝ่ายเชื่อว่ารัสเซียน่าจะยึดกรุงคีฟได้ตั้งแต่ต้น วันที่ 24 กุมภาฯ ผมเขียนบทความว่าเสาร์อาทิตย์หลังสงครามเริ่มจะเป็นสุดสัปดาห์ที่ผู้นำยุโรปนอนไม่หลับ เพราะกรุงคีฟอาจแตก แต่ก็มีการคาดการณ์และตั้งคำถามกันว่า ถ้ารัสเซียยึดยูเครนไม่ได้ รัสเซียจะตัดสินใจใช้อาวุธนิวเคลียร์ทำลายยูเครนไหม หรืออย่างตอนก่อนที่ฤดูหนาวจะเริ่ม หลังกองทัพยูเครนเริ่มเปิดการรุกกลับ (counter-offensive) ทางภาคใต้ที่เคอร์ซอน กองกำลังทหารรัสเซียก็ถอยร่นข้ามไปอยู่อีกฝั่งของแม่น้ำดนิโปร คำถามคือปูตินจะตัดสินใจใช้อาวุธนิวเคลียร์เพื่อแก้ปัญหาการถอยร่นของกองทัพรัสเซียในเคอร์ซอนไหม เพราะถ้าเคอร์ซอนแตก ตอบได้เลยครับว่าแนวโน้มปีนี้สงครามใหญ่จะรบที่ไครเมีย เราอาจจะได้เห็นสงครามไครเมียในศตวรรษที่ 21 ถ้าดูในประวัติศาสตร์จะเห็นว่าไครเมียเป็นหนึ่งในจุดที่เคยเกิดสงครามใหญ่ของรัฐยุโรป เพราะฉะนั้นคำถามก็วนกลับไปจุดเดิมว่ารัสเซียจะใช้นิวเคลียร์หรือไม่

สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นมันท้าทายเราอย่างมากว่า ตกลงวันนี้โลกกำลังก้าวเข้าสู่ยุคสงครามเย็นแบบเก่าที่มีความกลัวสงครามนิวเคลียร์เป็นอาภรณ์ประดับกายใช่ไหม ในความหมายที่ว่าเราต้องอยู่กับมัน

นิวเคลียร์คือแกนกลางของความขัดแย้งในโลกยุคสงครามเย็น ในยุคนี้เราอาจมีโอกาสต้องเผชิญกับการกลับมาของสงครามนิวเคลียร์ก็จริง แต่โลกก็เปลี่ยนไปมากเหมือนกัน อย่างการเมืองโลกตอนนี้เราเห็นทั้ง great power competition และ global pandemic ซ้อนทับกันอยู่ ใจกลางความขัดแย้งของการเมืองโลกอาจจะไม่ได้อยู่ที่ปัญหาความมั่นคงอย่างเดียวแล้วหรือเปล่า

สงครามเย็นเป็นอะไรที่มองง่าย เพราะใจกลางของปัญหาอยู่ที่โลกความมั่นคง อาวุธนิวเคลียร์คือฐานของทุกอย่าง แต่ในยุคหลังสงครามเย็น (post-cold war) ปฏิเสธไม่ได้ว่ามันเกิดความหลากหลาย วันนี้ในขณะที่เรากลัวสงครามนิวเคลียร์ อากาศก็ผันผวน สงครามนิวเคลียร์ก็กลัว กลัวเชื้อโรคด้วย แล้วก็กลัวจนด้วย เพราะเศรษฐกิจก็ยังวิกฤตอยู่

อย่างปี 2023 ผมว่าเราเรียกว่าเป็นโลกยุคหลังโควิดได้ อย่างที่บอกไปแล้วคือการระบาดน่าจะไม่รุนแรง แต่ผลพวงวิกฤตเศรษฐกิจจากการระบาดยังไม่จบ ความยากจนที่โควิดสร้างขึ้นมายังไม่จบ แต่ก็แทรกด้วยวิกฤตสงครามยูเครน ตามมาด้วยปัญหานิวเคลียร์ วิกฤตพลังงาน และวิกฤตอาหาร ซึ่งเกิดจากโควิดระบาดและ climate change อยู่แล้ว สงครามยูเครนก็เข้ามากระทบอีก

เฉพาะวิกฤตอาหารอย่างเดียวก็เป็นวิกฤตยกกำลังสามแล้ว คือหนึ่ง climate change มีผลกระทบต่อการผลิตอาหารในหลายสังคมทั่วโลก ประเทศไทยก็กระทบนะ แต่เราไม่เคยพูดถึงโจทย์นี้ สอง การระบาดของโควิดทำให้สังคมเกษตรหลายสังคมไม่สามารถไปทำเกษตรได้แบบเก่า กำลังการผลิตอาหารก็ลดลง สาม วิกฤตอาหารจากสงครามยูเครน ใครที่ทานขนมปังเป็นประจำหรือใครที่ทำขนมปังจะเห็นว่าช่วงที่ผ่านมาตั้งแต่กลางปี 2022 คือข้าวสาลีขึ้นราคา เห็นชัดเลยว่าแป้งสาลีราคาขึ้น

สังคมไทยวันนี้โชคดีอย่างเดียวครับ คือเป็นสังคมข้าวเจ้า ถ้าไทยเป็นสังคมข้าวสาลีเราจะมีอาการเหมือนปฏิวัติอาหรับสปริง (Arab Spring) ในตะวันออกกลาง เพราะการประท้วงเริ่มจากราคาอาหารในตลาด คือราคาแป้งขึ้น ทำให้คนรู้สึกว่ารัฐไม่มีน้ำยา คุมไม่ได้แม้กระทั่งราคาอาหาร ถ้าไทยเป็นสังคมข้าวสาลี การเมืองไทยเปลี่ยนแน่ๆ ตั้งแต่ปีที่แล้ว สักกลางปี 2022 ก็น่าจะเป็นวิกฤตเหมือนศรีลังกาแล้วนะ

ผมเคยเปรียบเทียบการเมืองไทยกับศรีลังกา สุดท้ายที่ตระกูลราชปักษาอยู่ไม่ได้มันมองได้หลายแง่มุมก็จริง คอร์รัปชันภายในก็เป็นส่วนหนึ่ง แต่การล่มสลายของอำนาจปกครองของตระกูลราชปักษาสะท้อนว่าพอทั้งวิกฤตโควิด วิกฤตสงครามรัสเซีย-ยูเครน วิกฤตพลังงาน วิกฤตอาหารโถมเข้ามาพร้อมกัน 4 วิกฤตใหญ่ ระบอบการปกครองที่อ่อนแอและล้าหลังแบกต่อไม่ได้ สุดท้ายก็นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในศรีลังกา ผมถึงได้เรียก 3 ป. (ป้อม-ป๊อก-ประยุทธ์) ว่า 3 ป. เรียกว่า 3 ปักษาที่กรุงเทพฯ แต่เมื่อไหร่เขาจะโบยบินแบบราชปักษาที่ศรีลังกาบ้าง (หัวเราะ)

อาจารย์บอกว่าปี 2023 ดูจะเป็นปีที่ไม่ดีเท่าไหร่ แต่จะมองอีกแบบได้ไหมว่าในระยะยาว เราอาจจะเห็นความหวังได้บ้างหรือเปล่า เช่น สงครามรัสเซีย-ยูเครนอาจจะมีทางลง หรือถ้าเป็นวิกฤตพลังงาน ประเทศยุโรปที่เคยพึ่งพาแก๊สธรรมชาติจากรัสเซียก็อาจจะหาทางพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานแบบอื่นเพื่อลดการพึ่งพารัสเซียได้ในอนาคต

ณ วันนี้ ถ้าจะให้ประเมินในระยะยาว ต้องบอกว่าตอบยาก เพราะความผันผวนเยอะมาก เมื่อปลายปีที่แล้ว พจนานุกรม Collins ได้ยกให้คำว่า ‘Permacrisis’ (วิกฤตถาวร) เป็นคำแห่งปี คำเต็มคือ permanent + crisis ถ้ามองความหมายจากการสร้างคำใหม่ในสังคม มันตอบเราว่า long-term crisis หรือแม้แต่ medium-term crisis ที่เหมือนจะกลายเป็น Permacrisis ยังเป็นโจทย์สำคัญ แต่แง่ดีคือวิกฤตก็เป็นโอกาสที่ทำให้เกิดการปรับตัว

อย่างวิกฤตพลังงาน พอรัสเซียคุมท่อก๊าซที่ส่งพลังงานลงมาที่ยุโรป วันนี้ยุโรปหันกลับสร้างพลังงานทดแทนหลายอย่าง แต่ในทางกลับกัน ยุโรปก็ยอมรับว่าเริ่มต้องหันกลับใช้พลังงานนิวเคลียร์ เพราะเป็นทางออกในบรรดาพลังงานทางเลือกที่ไม่มากนักหากจะออกห่างจากรัสเซีย

ผมว่าโจทย์พลังงานยุโรปน่าสนใจสำหรับไทยในอนาคต เป็นไปได้ไหมที่เราจะหันไปสนใจพลังงานทางเลือกอื่นมากขึ้น มากกว่าที่จะอยู่กับพลังงานฟอสซิลแบบเดิม แล้วก็คอยอย่างมีความหวังอย่างเดียวว่าเมื่อไหร่รัสเซียจะขายน้ำมันถูกๆ ให้เรา เราจะซื้อน้ำมันถูกๆ จากรัสเซียโดยที่โลกตะวันตกไม่โกรธเราได้ไหม แบบนี้มันเป็นเหมือนคำถามที่ไม่มีคำตอบ

ผมคิดว่าฝ่ายขวาไทยโปรรัสเซีย โปรจีนที่ประเมินว่ายุโรปจะหนาวตายแน่ๆ เหมือนกับว่าปูตินจะจับเอาผู้นำยุโรปเข้าตู้เย็นแล้วแช่แข็งให้ตายในตู้เย็นยี่ห้อรัสเซีย ไม่ตระหนักว่ายุโรปมีความมุ่งมั่นในการปรับตัว ลดการพึ่งพาพลังงานจากรัสเซีย เราเห็นอัตราการลดลงของการใช้ก๊าซและการใช้พลังงานจากรัสเซียลดลงเยอะมาก แต่ปีกขวาไทยไม่เห็นว่าวิกฤตมี 2 ด้าน ด้านหนึ่งคือโอกาส แต่อีกด้านแน่นอนว่ามันก็หนีไม่พ้นสภาวะวิกฤต ส่วนหนึ่งวิกฤตพลังงานก็สะท้อนสภาวะวิกฤตทางการเมืองให้เห็นอย่างชัดเจนว่า โลกกำลังเผชิญการแบ่งค่าย

จริงๆ ก็เป็นที่ถกเถียงกันพอสมควรว่าโลกตอนนี้แบ่งออกเป็นกี่ขั้วกันแน่ หรือจะเกิดสงครามเย็นครั้งใหม่ไหม มองอย่างไร

ผมอาจจะมองแบบสำนักคิดเก่า หลายปีที่ผ่านมาก่อนโควิดผมหลีกเลี่ยงที่จะใช้คำว่า Cold War ภาษาที่ผมเลือกใช้ในงานเขียนคือคำว่า ‘การแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์’ (geopolitical competition) นักรัฐศาสตร์ในโลกตะวันตกก็เหมือนกัน เราเลี่ยงที่จะใช้คำว่าสงครามเย็น การใช้คำว่า ‘สงคราม’ ค่อนข้างเป็นเรื่องละเอียดอ่อนอยู่ เพราะเหมือนมองโลกในแง่ร้าย

แต่พอโควิดระบาด วัคซีนแบ่งก็เป็น 2 ค่ายใช่ไหม คำถามที่ถามกันวันนี้คือ คุณฉีดวัคซีนเชื้อตายหรือวัคซีน mRNA ก็ชัดเจนว่าโลกแบ่งเป็น 2 ค่าย  ยิ่งพอเกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครนก็ยิ่งชัด บางคนอาจจะมองว่าโลกกำลังแบ่งออกเป็นหลายขั้ว (multipolarity) แต่ผมว่าในความเป็นจริงมันไม่ใช่

แต่พอโลกแยกแบ่งออกเป็นสองขั้ว และเริ่มตัดขาดจากกัน (decoupling) ถามว่าโลกาภิวัตน์จบลงด้วยไหม ผมว่าไม่ โลกาภิวัตน์ยังดำเนินต่อไป แต่ดำเนินแยกออกในสองระบบคู่ขนานกัน

ที่แน่ๆ คือสงครามเย็นครั้งนี้ไม่เหมือนกับสงครามเย็นในอดีต ตอนนี้โลกกำลังเจอสงครามเย็นแบบไหนกันแน่

ผมเรียกสงครามเย็นที่กำลังดำเนินอยู่ตอนนี้ว่า สงครามเย็นในศตวรรษที่ 21 (The 21st Century Cold War) ความต่างที่ใหญ่ที่สุดจากสงครามเย็นครั้งก่อนคือหนึ่ง คู่ขัดแย้ง ซึ่งคือสหรัฐฯ กับจีน ส่วนรัสเซียที่เป็น revisionist power เหมือนกัน วันนี้รัสเซียไม่ได้มีอำนาจเหมือนสหภาพโซเวียตในสมัยสงครามเย็นศตวรรษที่ 20 แล้ว อำนาจทางเศรษฐกิจถือว่าน้อยมาก แต่รัสเซียมีอาวุธเยอะพอที่จะรบ เพราะฉะนั้น พอคู่ขัดแย้งใหญ่ในเวทีโลกไม่ใช่คู่เดิม วันนี้จีนใหญ่กว่ารัสเซีย หรือผลพวงจากสงครามยูเครนทำให้รัสเซียต้องพึ่งพาจีน ไม่เหมือนกับสงครามเย็นยุคก่อนที่ช่วงหนึ่งก่อนจีนกับรัสเซียจะแตกกันในภายหลัง จีนต้องพึ่งพารัสเซียในปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างเหมากับสตาลิน

สอง ฝ่ายที่มองว่าโลกยังไม่ได้เข้าสู่สงครามเย็นมักมองว่า ความขัดแย้งระหว่างมหาอำนาจในปัจจุบันไม่ได้มีความขัดแย้งทางชุดความคิดหรืออุดมการณ์ทางการเมือง แต่จะบอกว่าไม่มีอุดมการณ์ ผมว่าไม่ใช่ แต่เป็นอุดมการณ์ที่เป็นอีกชุดหนึ่ง ผมว่าการเมืองวันนี้ไม่ใช่การปะทะกันระหว่างอุดมการณ์ทุนนิยม-สังคมนิยม แต่คือระหว่างเสรีนิยม-อำนาจนิยม หรือในภาษาการเมืองไทยคือ การต่อสู้ระหว่างประชาธิปไตยกับเผด็จการอำนาจนิยม

สามคือ ตกลงนิยาม ‘ซ้าย-ขวา’ ยังใช้ได้ไหม หรือว่าวันนี้ฝ่ายอำนาจนิยมกลายเป็นฝ่ายขวา ส่วนฝ่ายเสรีนิยมที่เป็นประชาธิปไตยกลายเป็นฝ่ายซ้าย ถ้าคิดในมุมผม ผมอธิบายว่าวันนี้จีนกับรัสเซียเป็นฝ่ายขวา โลกตะวันตกเป็นฝ่ายซ้ายเพราะเป็นประชาธิปไตย แต่ฝ่ายขวาในไทยและสลิ่มมีข้อดีคือไม่เปลี่ยนจุดยืน จะยังเป็นขวาต่อไป เพราะฉะนั้นนี่คือสาเหตุที่ฝ่ายขวาไทยหนุนจีนและรัสเซีย

เพราะฉะนั้น ระเบียบโลกสองขั้วที่เป็นอยู่ตอนนี้ไม่ใช่ 2 ขั้วที่แนบแน่น ขยับไม่ออก แต่ผมมองว่าระเบียบโลกตอนนี้เหมือน 2 ขั้วหลวมๆ ในช่วงกลางของสงครามเย็นในศตวรรษที่ 20 นั่นคือเหตุผลที่โอลาฟ โชลซ์ (Olaf Scholz) นายกรัฐมนตรีเยอรมนีใช้คำว่า ถ้าเป็นสงครามเย็น ก็คงเป็นสงครามเย็นที่ขั้วอำนาจโลกมีหลายขั้ว ผมก็ว่าใช่ เพราะระเบียบโลกปัจจุบันอย่างไรก็ไม่ได้เป็นขั้วเดียว (unipolar) อย่างที่จีนมองและต้องต่อสู้ เพราะจีนปฏิเสธโลกขั้วอำนาจเดียวที่โลกตะวันตกเป็นผู้นำ

แต่ความน่ากลัวคือระเบียบโลกขั้วเดียวที่มีจีนเป็นผู้นำต่างหาก เพราะอำนาจโลกขั้วเดียวที่โลกตะวันตกเป็นผู้นำไม่มีทางเกิด เพราะโลกเสรีนิยมคานอำนาจกันเองจากการเติบโตของสหภาพยุโรป ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย หมายความว่าในองคาพยพของโลกตะวันตก ขั้วอำนาจมันมีความหลากหลาย เพราะฉะนั้นโอกาสที่สหรัฐฯ จะมีอำนาจนำ (hegemony) ฝ่ายเดียวถือว่ายากนะ สหรัฐฯ มีสถานะอำนาจนำฝ่ายเดียวบนเงื่อนไขเดียวคือช่วงสงครามเย็นจบใหม่ๆ ที่รัฐมหาอำนาจอื่นล่มสลาย ปัจจุบันผมว่าไม่ใช่ อย่างไรสหรัฐฯ วันนี้ก็ยังต้องฟังเสียงสหภาพยุโรป การตัดสินใจหลายอย่างของสหรัฐฯ ไม่สามารถเดินหน้าได้เอง แต่มีความเป็นไปได้ที่เราจะเห็นโลกขั้วเดียวที่จีนมีอำนาจนำ เพราะหนึ่ง ระบอบการปกครองจีนเป็นระบบพรรคเดียว สอง ระบอบการเมืองจีนเป็นระบอบที่ผู้นำตัดสินใจแบบคนเดียว เพราะฉะนั้น ในวันที่จีนขึ้นมามีอำนาจหรือเป็นมหาอำนาจ ถ้าจีนเป็นคนกำหนดระเบียบโลกก็จะไปในทางขั้วเดียว นั่นหมายความว่า สิ่งที่จีนอธิบายคือสิ่งที่จีนจะเป็นนั่นแหละ

ถ้าระเบียบโลกเปลี่ยนไปในทางที่โลกตะวันตกถดถอย ระเบียบโลกจะไม่ใช่ระเบียบโลกที่อยู่บนพื้นฐานของกฎกติกา (rule-based order) เป็นเสรี และมี rule of law ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นระเบียบแบบตะวันตก แต่ถ้าจีน รัสเซียหรือฝ่ายอำนาจนิยมขึ้นมาเป็นผู้กำหนดระเบียบโลก จะเป็น rights of the strong เป็นระเบียบแบบอำนาจนิยมที่ให้อำนาจหรือสิทธิแก่รัฐที่แข็งแกร่งกว่า ผมคิดว่าจีนกับรัสเซียมีวิธีคิดแบบ Darwinism คือรัฐที่อ่อนแอกว่าต้องยอม เช่นอย่างในสงครามรัสเซีย-ยูเครน หลายฝ่ายก็วิพากษ์รัสเซียว่ารัสเซียไม่มีสิทธิอ้างว่ายูเครนคือส่วนหนึ่งของรัสเซีย ต้องอยู่ภายใต้รัสเซียที่แข็งแกร่งกว่า กรณีจีน-ไต้หวันก็เช่นกัน

รัฐไทยก็ยอมไปอีกแบบ วันนี้รัฐไทยแทบจะกลายเป็นรัฐบรรณาการของจีนไปแล้ว ผมพูดเสมอว่ารัฐไทยมีความเท่าเทียมกับรัฐอื่นในฐานะรัฐเอกราชหรือรัฐอธิปไตยในระเบียบระหว่างประเทศ แต่ถ้าจีนหรือรัสเซียขึ้นมา ความเท่าเทียมจะไม่มีเพราะตัวกำหนดสถานะของรัฐในเวทีโลกคือความแข็งแกร่ง เพราะฉะนั้น ผมพูดเสมอว่า APEC ทำให้รัฐไทยเป็นตัวตลก วันประชุม G20 ผู้นำอินโดนีเซียไม่มีความจำเป็นต้องเดินทางไปรับไปส่งประธานาธิบดีจีนที่สนามบินจาการ์ตา ผู้นำไทยระดับสูงสุดทั้งไปรับและไปส่ง รวมทั้งโค้งแล้วโค้งอีกที่สนามบิน ผู้นำรัฐเอกราชหรือผู้นำรัฐอธิปไตยไม่จำเป็นต้องไปโค้งคำนับผู้นำรัฐมหาอำนาจขนาดนั้น หรืออย่างกรณีที่ว่ากันว่าไทยลงมติงดออกเสียงประณามการใช้กำลังทางการทหารของรัสเซียในการละเมิดอธิปไตยยูเครนและการผนวกรวม 4 แคว้นทางภาคตะวันออกของยูเครนเพื่อเอาใจปูตินให้มาประชุม APEC ผมวิเคราะห์ตั้งแต่ต้นแล้วว่าปูตินไม่สามารถออกนอกประเทศได้และจะไม่ออก เพราะในสถานการณ์วิกฤต เมื่อคุณออกไปแล้ว คุณอาจจะกลับไม่ได้

ในภาพรวม ภาวะที่โลกกำลังแบ่งออกเป็นสองขั้วอีกครั้งถือว่าน่ากังวลไหม

ผมไม่ใช่คนโลกสวยนะ ผมว่านั่นคือความเป็นจริง (reality) ของโลก ผมคิดว่าปัจจุบันเราอยู่ในช่วงต้น (early period) ของสงครามเย็นชุดใหม่เท่านั้น แปลว่าต่อจากนี้โลกยังต้องเผชิญการแบ่งออกเป็น 2 ขั้ว 2 ค่าย หรือ decoupling ทางการเมืองต่อไปอีกนานพอสมควร

โจทย์ใหญ่อยู่ที่ตัวเราเองว่าผู้นำไทยเข้าใจโลกไหม เข้าใจแล้วมีวิสัยทัศน์ไหม หรือเข้าใจก็ไม่เข้าใจ วิสัยทัศน์ก็ไม่มี ไม่มีทั้งความเข้าใจ ไม่มีทั้งความรู้ ไม่มีวิสัยทัศน์ เพราะฉะนั้นการต่างประเทศไทยจะเป็นโจทย์ชุดใหญ่ที่ต้องปฏิรูปหากฝ่ายค้านได้เป็นรัฐบาลหลังการเลือกตั้งในปี 2023 เพราะถ้าปล่อยไว้ เลือกลุงตู่ได้ปู่ดอน ประเทศไทยจะกลายเป็นประเทศไร้ทิศทาง ซึ่งนั่นคือทิศทางนโยบายต่างประเทศไทยปัจจุบัน เห็นชัดได้จากการประชุม APEC ผมไม่ใช่ฝ่ายที่โจมตีรัฐบาลโดยไม่มีหลักการ แต่ผมคิดว่า APEC ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะ APEC จะเป็นประโยชน์ต่อเมื่อประเทศเจ้าภาพสามารถเปิดเวทีการหารือแบบทวิภาคีกับประเทศที่มาร่วมประชุมได้ แต่เราแทบไม่เห็นเลย

ปฏิเสธไม่ได้ว่าการแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์เป็นประเด็นร้อนในการเมืองโลกจนดูเหมือนว่าจะกลบหลายๆ โจทย์การเมืองโลกไป อย่างกระแสประชานิยมฝ่ายขวาที่เคยมาแรงในช่วงปี 2015-2019 ก็ดูเหมือนว่าจะแผ่วแรงลงแล้ว แต่กระแสมันหายไปจริงๆ ไหม 

ผมตอบได้ว่ากระแสยังไม่หาย และอาจจะเป็นกระแสคนละแบบกับการแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์ เพราะเป็นโจทย์การเมืองโลกอีกชุดหนึ่ง แต่โจทย์ภูมิรัฐศาสตร์มันรวมกับกระแสประชานิยมฝ่ายขวาเมื่อทรัมป์เป็นประธานาธิบดี คือการเปิดสงครามการค้ากับจีน

แต่ในปัจจุบัน ฝ่ายขวาประชานิยมก็ยังขับเคลื่อนการเมืองต่อ ความน่ากลัวยังมี คือกระพือกระแสความกลัว เช่น การต่อต้านคนต่างชาติ การต่อต้านผู้อพยพในสังคมยุโรปหลายแห่ง อย่างเยอรมนีนี่ก็ประสบปัญหาเยอะ อีกส่วนคือเราเห็นผู้นำฝ่ายขวาประชานิยมยังครองอำนาจอยู่ เช่น วิกเตอร์ ออร์บานในฮังการี แล้วปฏิเสธไม่ได้ว่าผู้นำฝ่ายขวาวันนี้ที่มีอำนาจที่สุด 2 คนคือสีจิ้นผิงกับปูติน

น่าสนใจที่วันนี้เรานิยามสีจิ้นผิงกับปูตินเป็นฝ่ายขวาประชานิยมอีกแบบหนึ่ง เราจึงเห็นฝ่ายขวาไทยกระโดดเกาะกระแสฝ่ายขวาโลกโดยไม่ต้องคิด ทั้งๆ ที่ชุดความคิดของฝ่ายขวาไทยล้าหลังและไม่ได้เกาะไปกับกระแสการเมืองโลกเลยสักนิดเดียว เพราะฉะนั้น เราจะเห็นบรรดาปีกอนุรักษนิยมไทยกลายเป็นกองเชียร์สงครามของฝ่ายรัสเซีย และกลายเป็นปีกโปรจีน จีนทำทุกอย่างถูกหมด แล้วก็ออกอาการรังเกียจตะวันตก

ฝ่ายขวาไทยกำลังทำให้กระแสการต่างประเทศไทยปั่นป่วน พอฝ่ายขวาไทยเป็นพวกกระโดดเกาะที่เชื่อว่าวันนี้จีนจะเติบโตกลายเป็นรัฐมหาอำนาจ และจะเป็นรัฐมหาอำนาจเดี่ยว นั่นไม่ต่างจากฝ่ายทหารและฝ่ายขวาที่เคยเกาะญี่ปุ่น เพราะเชื่อว่าญี่ปุ่นจะเป็นรัฐมหาอำนาจสมัยก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 แล้วสุดท้ายญี่ปุ่นก็แพ้ ผมอยากให้ขวาไทยกลับไปอ่านประวัติศาสตร์สงครามโลกครั้งที่ 2 ช่วงที่ฝ่ายทหารกับฝ่ายขวาเกาะกระแสญี่ปุ่นในเอเชีย ผมว่าไม่ต่างเลย

ผมไม่ได้เรียกร้องว่าเราต้องอยู่กับฝ่ายโลกตะวันตก แต่ผมเรียกร้องให้เรามีเหตุมีผลในการคิดและการกำหนดนโยบายด้านการต่างประเทศ ผมนี่แหละคือหนึ่งในหัวขบวนในการต่อต้านสหรัฐฯ ในยุคขบวนการนักศึกษายุคเดือนตุลา ผมไม่ได้ไล่สหรัฐฯ ออกจากไทยเพื่อให้คุณพาไทยไปไว้กับจีน ถ้าเป็นอย่างนั้นคนรุ่นผมที่เสียชีวิตในการต่อต้านสหรัฐฯ จะเสียใจมาก

จากที่คุยกันมา ดูเหมือนว่าวิธีมองการเมืองโลกของไทยไม่ได้อยู่กับกระแสโลกเท่าไหร่

ผมคิดว่าหลังรัฐประหาร 2006 และหลังรัฐประหารอีกรอบในปี 2014 สังคมไทยแยกตัว (decoupling) ออกจากการเมืองโลก พอเราแยกสังคมไทยออกจากการเมืองโลก เราก็ไม่ค่อยเห็นความเปลี่ยนแปลงของโลกเท่าไหร่ โดยเฉพาะพวกฝ่ายขวาไทยที่ล้าหลังมาก ไม่มีชุดความคิดเรื่องการต่างประเทศ หรือถ้าเห็นก็เห็นแบบไม่ค่อยเป็นจริงเท่าไร

กลับไปที่วิกฤตโลก ถ้าตัดความล้าหลังของฝ่ายขวาไทยไป โจทย์ climate crisis เป็นโจทย์ชุดหนึ่งที่กระทบเรามาก เพียงแต่สังคมไทยเราอาจจะไม่รู้สึกกับโจทย์นี้มากเมื่อเทียบกับโจทย์อื่น ผมมีคำถามเสมอว่าจนบัดนี้ เรายังไม่เห็น climate movement ในสังคมไทยเหมือนในระดับโลกเลยนะ ถามเล่นๆ ว่าใครจะเป็น เกรตา ธุนแบร์ก (Greta Thunberg) ของไทย เพราะในหลายสังคม climate movement ไม่ได้เริ่มจากคนรุ่นเก่า แต่เริ่มจากคนรุ่นใหม่ นี่ก็สะท้อนว่าคนรุ่นใหม่ในสังคมไทยก็มีอีกโจทย์รออยู่

จริงๆ ในหมู่คนรุ่นใหม่ไทย ไม่ใช่ว่าประเด็น climate change ไม่สำคัญเสียทีเดียว แต่ถ้าเทียบกันแล้ว สิทธิทางการเมือง สิทธิเสรีภาพยังถือเป็นปัญหาใหญ่หลักที่เร่งด่วนของสังคมไทยมากกกว่าหรือเปล่า

ผมว่ามันสะท้อนสังคมล้าหลังทางการเมือง (backward society) ในสังคมที่พัฒนาแล้ว สิทธิเสรีภาพไม่ใช่เรื่องที่ต้องถกเถียง สิทธิเสรีภาพเป็นสิทธิพื้นฐานที่ต้องมีในสังคม แต่ในสังคมล้าหลังทางการเมือง สิทธิเสรีภาพกลายเป็นความหรูหรา (luxury) ที่ต้องเรียกร้อง ทั้งๆ ที่เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานทางการเมือง

ถ้าสิทธิเสรีภาพทางการเมืองไม่ใช่ luxury จะเห็นชัดว่า คนรุ่นใหม่จะเรียกร้องประเด็นสังคมที่เป็นรูปธรรม เพราะฉะนั้น climate change หรือ climate crisis จึงเป็นวาระอันดับต้นๆ ของสังคมตะวันตก ทั้งในสหรัฐฯ ในยุโรป ซึ่งชัดเจนมาก หรือในออสเตรเลีย แต่ถ้าสังคมไม่มีสิทธิเสรีภาพก็ยากที่จะก้าวไปการเรียกร้องประเด็นอื่นๆ ที่ก้าวหน้า

เอาจริงๆ คนรุ่นผมสมัยเป็นนิสิตนักศึกษาก็อยู่ในขบวนการนักศึกษาที่เรียกร้องสิทธิเสรีภาพ จนถึงวันนี้ผมก็ยังพูดเรื่องสิทธิเสรีภาพ เรื่องรัฐประหารไม่จบ ผมยังเคยคิดว่าหลังผมอายุ 60 แล้ว น่าจะได้พูดประเด็นที่ก้าวหน้ามากกว่าเรื่องสิทธิเสรีภาพ รัฐประหาร หรือซื้ออาวุธ จนทุกวันนี้หลายคนหรือลูกศิษย์ที่อ่านงานเขียนเก่าๆ เรื่องทหารหรือการเมืองไทยของผมเมื่อ 20 ปีที่แล้วบอกว่า เปลี่ยนชื่อตัวละครบางคน เปลี่ยนปี พ.ศ. นิดหน่อยนี่เอากลับมาใช้ใหม่ได้หมดเลย

แต่มองย้อนกลับไป 20 ปี แล้วหันกลับมามอง โลกวันนี้เปลี่ยนไปเท่าไหร่แล้ว เอาแค่ 3 ปีที่ผ่านมา ถ้าใช้คำพูดของเลนินก่อนการปฏิวัติรัสเซียคือ 3 ทศวรรษอาจไม่มีเหตุการณ์อะไรเลย แต่ 3 สัปดาห์อาจเปลี่ยนโลกได้ ย้อนแย้งกับที่เลนินพูด แต่ผมว่า 3 ปีที่ผ่านมาโลกเปลี่ยนมโหฬารและจะเป็นรากฐานของความเปลี่ยนแปลงในอนาคต ในขณะที่บทความการเมืองไทยเมื่อ 20 ปีที่แล้วยังร่วมสมัย นั่นแปลว่าการเมืองไทยไม่เปลี่ยน แต่โลกเปลี่ยน

จริงๆ การเมืองไทยช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาก็เปลี่ยน แค่อาจจะเป็นคลื่นใต้น้ำที่กำลังรอปะทุอยู่

ปรากฏการณ์ทางการเมืองในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาก็คงมองเป็นคลื่นได้ แต่สุดท้ายก็ไม่มีใครบอกได้ว่าจะปะทุจริงๆ เมื่อไหร่ ไม่ต่างจากสังคมโลกอาหรับ ก่อนอาหรับสปริง คลื่นความไม่พอใจทางการเมืองต่อระบอบการปกครองมันปะทุแรงกว่าในไทยเยอะ ในไทยผมว่ายังไม่ปะทุจริง อาจจะมองว่าพลังทางการเมืองก่อตัวเป็นคลื่นระลอกเล็กๆ ก็ได้นะ เพียงแต่เราไม่รู้ว่าคลื่นระลอกเล็กวันหนึ่งจะรวมกันเป็นคลื่นระลอกใหญ่ได้ไหม อย่างที่เราเห็นในตูนิเซียช่วงปลายปี 2010 ต่อด้วยในไคโรช่วงต้นปี 2011 คือคลื่นที่เคยปะทุขึ้นมาแล้วไม่สำเร็จ วันหนึ่งมันกลายเป็นคลื่นลูกใหญ่

พอมองการเมืองโลกแล้วก็เห็นตัวเรานะ คือมองแล้วไม่ได้หมดหวัง อย่างปฏิวัติอาหรับสปริงแม้ว่าหลังจากนั้นอียิปต์จะล้มเหลวจากการทำรัฐประหารของอัล-ซีซีก็ตาม แต่มุมที่สำเร็จของอาหรับสปริงเป็นบทเรียนใหญ่ของการเมืองโลก ให้ข้อคิดทางการเมืองเยอะมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับฝ่ายประชาธิปไตย

อาจารย์เคยวิเคราะห์ไว้ว่าเศรษฐกิจจะเป็นจุดตายของรัฐบาลทหารที่นำไปสู่วิกฤตศรัทธา และวิกฤตเศรษฐกิจช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาก็พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าเป็นจุดตายจริงๆ แต่ก็ดูเหมือนว่ารัฐบาลประยุทธ์ก็ยังพอยืนระยะต่อได้

ปี 2020 มีสื่อต่างประเทศถามผมว่าทำไมไม่เกิดการประท้วงของคนงานในไทย ผมไม่รู้จะอธิบายอย่างไร เพราะคนตกงานแล้วแต่ก็ยังไม่มีการประท้วง มีการประท้วงของคนรุ่นใหม่ก็จริง แต่ก็ไม่ได้มีข้อเรียกร้องทางเศรษฐกิจ ปี 2021 โจทย์เศรษฐกิจกลายเป็นโจทย์ที่ใหญ่ขึ้น พี่น้องคนงานประสบความยากลำบาก ตกงานเยอะมากก็ไม่เกิดการประท้วงอีก พอปี 2022 ผมเริ่มคิดแล้วว่าจะต้องเปลี่ยนชุดความคิดว่าโจทย์การเมืองไทยไม่เหมือนอาหรับสปริง ที่อาหรับสปริงต่างออกไปอย่างหนึ่งคือโลกอาหรับเผชิญปัญหาราคาอาหารที่พุ่งทะยานสูง การประท้วงที่ศรีลังกาก็เห็นชัดว่าส่วนหนึ่งคือแป้งทำโรตีราคาขึ้น

พอมองประวัติศาสตร์สังคมเอเชีย สุดท้ายวิกฤตอาหารจะจบลงด้วยกบฏ ถ้าเคยดูหนังจีนแล้วย้อนกลับไปอ่านประวัติศาสตร์ จริงๆ มันบอกคำตอบให้เราชัดนะว่าวิกฤตสภาพภูมิอากาศจะนำไปสู่การขาดแคลนอาหาร แล้วพอรัฐใช้อำนาจไปเรียกเก็บภาษี สุดท้ายวิกฤตยกกำลังสามจบลงด้วยเงื่อนไขเดียว คือกบฏ

ความโชคดีของไทยคือข้าวเจ้าเราไม่ขาด เป็นอู่ข้าวอู่น้ำ พอมีวิกฤตเศรษฐกิจ แต่ไม่เจอวิกฤตอาหาร มันพอประคับประคองไปได้ แต่ก็อย่างที่เราคุยกันว่าภายใต้ภาวะคลื่นลมสงบก็มีคลื่นใต้น้ำรอปะทุอยู่ เหมือนมีไฟสุมอยู่ในสังคมไทย แล้วในขณะที่มีอาการไฟสุม ก็มีความหวังว่าเลือกตั้งครั้งต่อไปจะได้เปลี่ยนรัฐบาล มีความหวังกับนโยบายที่รัฐบาลใหม่จะผลักดันออกมา

ก่อนที่พรรคการเมืองจะเริ่มออกนโยบาย ผมวิเคราะห์ไว้ว่านโยบายการเลือกตั้งปี 2023 จะเป็นประชานิยมทุกพรรค แล้วก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ แต่ส่วนหนึ่งต้องเข้าใจว่านโยบายประชานิยมตอบสนองต่อความต้องการของพี่น้องประชาชนที่ประสบวิกฤตเศรษฐกิจมาหลายปี ประชานิยมของรัฐบาลกึ่งทหารหลังเลือกตั้ง 2019 ก็เป็นประชานิยมจับฉลากหรือประชานิยมชิงโชค คือคุณต้องมีสมาร์ตโฟน ซึ่งไม่ใช่ว่าทุกคนจะมี แล้วต้องรอประมาณสักหลังเที่ยงคืนเพื่อกดลงทะเบียนรับสวัสดิการในระบบ สุดท้ายก็กลายเป็นประชานิยมที่ตอบสนองชนชั้นกลางบางส่วนเท่านั้น

การเมืองไทยก็มีเงื่อนไขภายในเฉพาะ เพราะฉะนั้นผมคิดว่าผลการเลือกตั้งรอบนี้จะสะท้อนผลจากวิกฤตตลอด 3 ปีที่ผ่านมา จริงๆ เราเริ่มเห็นกระแสจากผลสำรวจบางส่วนแล้ว ใน NIDA Poll ที่สำรวจมาอย่างต่อเนื่องก็พอจะเห็นว่าใครอยู่ในอันดับสูงสุดของโพล หรืออย่างน้อยพอจะบอกได้ว่าพรรคไหนจะชนะ แต่คำถามคือกระแสจะสู้กับกระสุนได้ไหม หมายความว่าทรัพยากรยังคงเป็นปัจจัยในการเลือกตั้งอยู่ ผมว่าการเลือกตั้งรอบนี้น่าสนใจ เพราะเราผ่าน 3 ปีที่เป็นจุดเปลี่ยนที่ใหญ่ที่สุดของโลก รัฐไทยและสังคมไทย

การเลือกตั้งครั้งนี้อาจกลายเป็นจุดเปลี่ยน แต่ภายใต้การกุมกลไกระบอบการเมืองให้ตอบโจทย์การสืบทอดอำนาจของฝ่ายทหาร การเลือกตั้งจะเป็นจุดเปลี่ยนได้จริงเหรอ

ผมคิดว่าเป็นจุดเปลี่ยนนะ เพราะว่าถ้าดูจากผลสำรวจ ท่านผู้นำชนะได้แค่ในภาคใต้ แปลว่าสนามการเลือกตั้งในภาคใต้จะรุนแรงมาก เพราะท่านผู้นำจะต้องรักษาที่นั่งในภาคใต้ให้ได้ ถ้ารักษาที่นั่งในภาคใต้ไม่ได้ก็จะไม่มีแต้มต่อเหลือในภาคอื่น คำถามคืออะไรจะเกิดขึ้นถ้าผู้นำทหารที่สืบทอดอำนาจจากการรัฐประหารแพ้การเลือกตั้งแบบหมดสภาพ เราก็หวังว่ามันจะไม่นำไปสู่การปลุกกระแสขวาจัดแล้วจบลงด้วยรัฐประหาร แต่ผมก็คิดว่ารัฐประหารมันขายไม่ออกแล้ว หรือถ้าจะขายว่าเลือกความสงบจบที่ลุงตู่ก็คงไม่มีใครซื้อแล้ว ยกเว้นฝ่ายขวาบางส่วนที่ผมเรียกว่าสลิ่มกะทิบูด

สมมติว่าการเลือกตั้งพลิกให้ฝ่ายค้านในปัจจุบันขึ้นมาเป็นรัฐบาลได้ หมายความว่าการเลือกตั้งรอบนี้จะเป็นโค้งสุดท้ายของรัฐบาลจากการรัฐประหาร 2014 หรือรัฐบาลทหารแปลงรูป ที่เงื่อนไขทางการเมืองทำให้ทหารต้องเปลี่ยนเครื่องแบบมาใส่ชุดสูทสากล ถ้าเป็นจริง การเลือกตั้งครั้งนี้จะพาการเมืองไทยเข้าสู่หลังระบอบประยุทธ์ (The Post-Prayuth regime) ซึ่งก็ต้องจับตาดูต่อไป

ถ้าเลือกตั้งเปลี่ยนรัฐบาลได้จริง โจทย์ของรัฐบาลใหม่ที่กรุงเทพฯ จะมีโจทย์การระหว่างประเทศเป็นโจทย์ชุดที่ใหญ่ที่สุดชุดหนึ่งที่ต้องคิด สิ่งที่ผมว่าน่าสนใจในรัฐบาลใหม่มากกว่าว่าใครจะเป็นนายกรัฐมนตรีคือ ใครจะเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมและกระทรวงการต่างประเทศ เพราะปีนี้ไทยจะหนีไม่พ้นโจทย์การปฏิรูปการต่างประเทศไทย การปฏิรูปกองทัพ และอาจลามไปถึงการปฏิรูปตำรวจด้วย

ก้อนหินในภาพของคือชิ้นส่วนของกำแพงเบอร์ลินที่ถูกทุบในเดือนพฤศจิกายน ปี 1991

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Spotlights

4 Nov 2020

101 Policy Forum : ประเทศไทยในฝันของคนรุ่นใหม่

101 เปิดวงสนทนาพูดคุยกับตัวแทนวัยรุ่น 4 คน ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน , สิรินทร์ มุ่งเจริญ, ภาณุพงศ์ สุวรรณหงษ์, อัครสร โอปิลันธน์ ว่าด้วยสังคม การเมือง เศรษฐกิจไทยในฝัน ต้นตอที่รั้งประเทศไทยจากการพัฒนา ข้อเสนอเพื่อพาประเทศสู่อนาคต และแนวทางการพัฒนาและสนับสนุนคนรุ่นใหม่

กองบรรณาธิการ

4 Nov 2020

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save