ศาลสูงสุดสหรัฐฯ เอียงขวา ประชาธิปไตยในอเมริกาลงคลอง?

ศาลสูงสุดสหรัฐฯ เอียงขวา ประชาธิปไตยในอเมริกาลงคลอง?

ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ เรื่อง

กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ

 

เดาไม่พลาดที่หัวข้อแรกในการโต้วาทีครั้งแรกระหว่างผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีเมื่อวันที่ 29 กันยายนที่ผ่านมา ได้แก่เรื่องศาลสูงสุด ในประเด็นการเสนอชื่อผู้พิพากษาศาลสูงสุดคนใหม่แทนที่ รูธ เบเดอร์ กินสเบิร์ก ซึ่งเสียชีวิตเมื่ออาทิตย์ที่แล้ว

ไมค์ วอลเลซ แห่งฟ็อกซ์นิวส์ ผู้ดำเนินการอภิปรายโต้วาที ถามคำถามแรกว่าแต่ละคนจะปกป้องการกระทำของตนว่าถูกต้องและชอบธรรมอย่างไร ที่คำถามต้องออกมาแนวนี้ เพราะประเด็นการแต่งตั้งผู้พิพากษาศาลสูงสุดกำลังเป็นปัญหาที่โต้แย้งกันอย่างหนักระหว่างแกนนำของสองพรรค ว่าการเสนอชื่อผู้พิพากษาคนใหม่โดยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แล้วรับรองโดยวุฒิสภาก่อนการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึงในต้นเดือนพฤศจิกายนนี้ สมควรและชอบธรรมหรือไม่

ฝ่ายประธานาธิบดีทรัมป์และสมาชิกวุฒิสภาพรรครีพับลิกันต้องการให้มีการเสนอชื่อและรับรองให้เสร็จสิ้นอย่างรวดเร็วก่อนการเลือกตั้ง ด้วยเหตุผลว่าพรรครีพับลิกันชนะการเลือกตั้ง ได้คุมทั้งทำเนียบขาว (อำนาจบริหาร) และวุฒิสภา (นิติบัญญัติ) จึงเหมาะสมและชอบธรรมแล้วที่จะดำเนินการแต่งตั้งเลย

ทางฝ่ายอดีตรองประธานาธิบดี โจ ไบเดน และแกนนำพรรคเดโมแครตกล่าวหาพรรครีพับลิกันว่า เป็นการตระบัดสัตย์หลอกลวงและไร้ยางอายอย่างยิ่งที่จะทำเช่นนั้น แต่ไบเดนก็ไม่ได้โจมตีทรัมป์ถึงขนาดนี้ในระหว่างการโต้วาที เขาสุภาพเกินกว่าจะพูดถ้อยคำเหล่านี้ออกมาได้ ผรุสวาทดังกล่าวออกมาจากปากของสมาชิกวุฒิสภาและแกนนำพรรคคนอื่นๆ ไบเด็นชูประเด็นแค่ว่า การเสนอชื่อและพิจารณารับรองควรกระทำโดยคนที่ประชาชนลงคะแนนเสียงให้ ขณะนี้กระบวนการเลือกตั้งกำลังดำเนินไปแล้วทั่วประเทศ หลังเดือนพฤศจิกายนก็จะรู้ผลว่าใครได้รับการเลือกตั้งให้มานั่งในทำเนียบขาวและวุฒิสภา ถึงเวลานั้นก็ค่อยให้ผู้แทนของปวงชนเหล่านั้นตัดสินว่าจะเสนอใครและรับรองใครให้เข้ามาเป็นผู้พิพากษาศาลสูงสุดต่อไป

เหตุผลของฝ่ายใดถูกต้องและชอบธรรมตามหลักรัฐธรรมนูญมากกว่ากัน? คำอธิบายของทรัมป์ก็น่ายอมรับในเหตุผลและตรรกะของการเสนอชื่อผู้พิพากษาได้ แต่ถ้าใครที่ติดตามและรับรู้ความเป็นมาของเหตุการณ์แวดล้อมการเสนอชื่อผู้พิพากษาที่ได้กระทำกันมาในอดีต ก็ต้องหยุดคิดและถามกลับว่า ที่ว่าชอบธรรมและถูกต้องนั้น เอามาตรฐานอะไรมาวัด

ประการแรก รัฐธรรมนูญไม่ได้ระบุรายละเอียดของการเสนอและแต่งตั้งผู้พิพากษาศาลสูงแต่อย่างใด คงปล่อยให้ดำเนินการกันเองตามสภาพความจริงและความเหมาะสมในแต่ละยุคสมัย ประการต่อมาคือการปล่อยให้จารีตและธรรมเนียมของนักการเมืองสองพรรคเป็นผู้สร้างกฎเกณฑ์และกติกาที่สองฝ่ายยึดถือปฏิบัติต่อไป ทำให้การตอบคำถามแรกนี้ของทั้งสองฝ่ายไม่มีใครเอาชนะกันได้อย่างง่ายดาย

แต่ที่มีการโจมตีกันจนถึงขนาดกล่าวหาว่าตระบัดสัตย์นั้นมาได้อย่างไร? เรื่องนี้เกิดขึ้นในช่วงท้ายวาระการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของบารัค โอบามา ในเดือนกุมภาพันธ์ 2016 เหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันได้เกิดขึ้น อุบัติเหตุในประวัติศาสตร์มักมีผลกระเทือนมากกว่าปกติ แอนโทนิน สกาเลีย ผู้พิพากษาศาลสูงสุด เสียชีวิตในบ้านพักตากอากาศล่าสัตว์ในเท็กซัสอย่างไร้ร่องรอย

ความสำคัญคือมันเป็นโอกาสที่ประธานาธิบดีจะสามารถเสนอชื่อผู้พิพากษาศาลสูงสุดคนใหม่ได้ ที่ผ่านมาผู้พิพากษาศาลสูงสุดมักมีอายุยืนและอยู่ในตำแหน่งตลอดชีวิตกันนานๆ ทั้งนั้น แน่นอนว่าฝ่ายพรรคเดโมแครตย่อมไม่ปล่อยให้โอกาสทองนี้ผ่านไป ประธานาธิบดีโอบามาเสนอชื่อผู้พิพากษาเมอร์ริค การ์แลนด์ เข้าแทนที่ในเดือนมีนาคม 2016 ตอนนั้นกำลังมีการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีคนใหม่ที่จะเลือกในเดือนพฤศจิกายนปีเดียวกัน ทางฝ่ายสมาชิกวุฒิสภาพรรครีพับลิกัน ซึ่งเป็นฝ่ายเสียงข้างมาก นำโดยมิตช์ แมคคอนแนล ออกมาตอบโต้ความพยายามของพรรคเดโมแครต ด้วยการอ้างว่าไหนๆ ก็จะมีการเลือกตั้งในไม่กี่เดือนแล้ว ขอให้ชะลอการเสนอชื่อและแต่งตั้งผู้พิพากษาคนใหม่ไปหลังการเลือกตั้ง เพื่อให้ประธานาธิบดีคนใหม่ได้ใช้อำนาจที่ได้รับจากประชาชนผู้เลือกตั้งเป็นผู้เสนอชื่อผู้พิพากษาจะดีกว่าด้วยประการทั้งปวง

ตอนนั้นฝ่ายเดโมแครตก็ไม่เห็นด้วยกับความเห็นดังกล่าวของแมคคอนแนล แต่การตอบโต้ไม่เป็นผล เพราะเขาเป็นหัวหน้าคุมสมาชิกวุฒิสภาพรรครีพับลิกันอยู่ จริงๆ แล้ว พรรคเดโมแครตก็พยายามเลือกคนที่เป็นกลางๆ ไม่เสรีนิยมจัดเกินไป เพราะรู้ว่ารีพับลิกันจะไม่ยอมให้ผ่านไปง่ายๆ อย่างน้อยก็ให้ศาลสูงเป็นกลางๆ ไปพลางก็ยังดีกว่าให้ไปข้างอนุรักษนิยม ทว่าคณะกรรมาธิการยุติธรรมซึ่งเป็นผู้ดำเนินการไต่สวนและรับฟังคุณสมบัติทั้งหลายทั้งปวง รวมถึงเป็นคณะที่จะโหวตให้ผ่านหรือไม่ผ่านก่อนนำเข้าที่ประชุมใหญ่ของวุฒิสภา ก็ใช้วิชามารด้วยการไม่นำชื่อการ์แลนด์ขึ้นมาพิจารณาเลยแม้แต่นิดเดียว หากแต่ดองเรื่องไว้ในลิ้นชักเสมียนสภา ทำเป็นทองไม่รู้ร้อน ไม่ว่าเดโมแครตจะร้องเรียน วิพากษ์วิจารณ์อย่างไร กรรมาธิการยุติธรรมก็ทำหูทวนลม ไม่ได้ยิน ปล่อยให้เวลาผ่านไป จนกระทั่งต้นเดือนมกราคม ปีต่อมา เรื่องการเสนอก็เป็นอันตกไปโดยปริยายตามระเบียบ เพราะโดนัลด์ ทรัมป์ ชนะเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดี และเสนอชื่อนีล กอร์ซุช ทันที ในอีกสองอาทิตย์ต่อมา วุฒิสภาก็พิจารณารับรองการแต่งตั้งเรียบร้อยในช่วงปลายเดือนมกราคม 2017

ข้อเสนอที่ไม่ให้เสนอชื่อผู้พิพากษาระหว่างจะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดียังไม่เคยเป็นกติกาหรือจารีตที่ทุกฝ่ายเห็นพ้องแต่ประการใด ส่วนเหตุผลและตรรกะที่พรรครีพับลิกันเสนอมา ครั้งแรกอ้างสิทธิธรรมของประธานาธิบดีจากการเลือกตั้งว่าสมควรจะเป็นผู้เสนอชื่อผู้พิพากษาศาลสูงสุดคนใหม่ แต่พอมาหนนี้ ก็อ้างสิทธิธรรมของการได้รับเลือกตั้งก่อนแล้วจากประชาชน จึงสมควรจะมีอำนาจเสนอชื่อและรับรองโดยวุฒิสภาได้เลย ไม่ต้องรอการเลือกตั้งใหม่ที่กำลังจะมาถึงในอีกไม่นาน พิจารณาด้วยหลักการและเหตุผลทางการเมืองแล้ว ต้องยอมรับว่ารีพับลิกันทำตัวเหมือนสุนัขจิ้งจอกเจ้าเล่ห์จริงๆ

อีกเหตุหนึ่งที่ทำให้รีพับลิกันไม่แคร์ที่จะถูกเดโมแครตประท้วงหรือบอยคอตในการประชุมวุฒิสภา เพราะบัดนี้สภาได้ขจัดอาวุธอันทรงพลังของฝ่ายค้านออกไปแล้ว นั่นคือการอภิปรายมาราธอนเพื่อสกัดการลงมติในญัตติใดๆ ก็ได้ เรื่องนี้เกิดขึ้นในวุฒิสภาระหว่างที่เดโมแครตเป็นเสียงข้างมากคือการยินยอมตามรีพับลิกันในการยกเลิกธรรมเนียม filibuster หรือการอภิปรายอย่างมาราธอนไม่ยอมหยุดหากสมาชิกคนใดไม่เห็นด้วยกับญัตติที่เสนอเข้ามาในสภา ซึ่งเป็นธรรมเนียมเก่าแก่ทำกันมานาน ทำให้แต่ละพรรคยากที่จะฝืนความเห็นแม้แต่คนเดียวไปได้

แต่ในปี 2016 ธรรมเนียมให้สมาชิกสามารถปฏิเสธญัตติแม้มาจากเสียงข้างมากถูกยกเลิกไปด้วยความเชื่อว่าจะทำให้การผ่านกฎหมายและรับรองเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐที่ประธานาธิบดีเสนอมาไม่ถูกทำให้เป็นการเมืองที่แตกแยกและไร้ทางออกต่อไป ทว่าทั้งหมดนี้กลับกลายมาเป็นฝันร้ายและความเสียเปรียบทางการเมืองของพรรคเดโมแครต เมื่อรีพับลิกันตัดสินใจกลับคำและกลับใจ แทนที่จะยึดหลักการเพื่อความราบรื่นของการบริหารและระบบการเมืองต่อไป

 

เย็นวันที่ 26 กันยายน 2020 ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศด้วยความภาคภูมิและเชื่อมั่นที่มีโอกาสเสนอชื่อผู้พิพากษาศาลสูงสุดสหรัฐฯ อีกครั้ง

“วันนี้เป็นเกียรติของข้าพเจ้าที่ได้เสนอหนึ่งในนักคิดทางกฎหมายที่หลักแหลมและมีพรสวรรค์ที่สุดของชาติเราแก่ศาลสูงสุด เธอเป็นสตรีที่ประสบความสำเร็จอย่างหาที่เปรียบมิได้ มีปัญญาอันสูงส่ง มีคุณสมบัติอันยอดเยี่ยม และมีความภักดีอันเด็ดเดี่ยวในรัฐธรรมนูญ … ผู้พิพากษาเอมี โคนีย์ บาร์เรตต์”

นับเป็นครั้งที่ 3 ในวาระ 4 ปีแรกของการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของทรัมป์ที่ได้รับโอกาสเสนอชื่อผู้พิพากษาศาลสูงสุด ซึ่งนับว่าเป็นโชคที่หาไม่ได้ง่ายๆ นัก

ตำแหน่งผู้พิพากษาศาลสูงสุดเป็นตำแหน่งตลอดชีวิตตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ นั่นหมายความว่าโอกาสที่จะเสนอชื่อผู้พิพากษาคนใหม่ได้นั้นก็ต้องรอจนกว่าผู้พิพากษาคนปัจจุบันซึ่งมีทั้งหมด 9 คน รวมประธานศาลสูงสุด เสียชีวิตหรือลาออกก่อนเท่านั้น ข้อหาเรื่องพฤติกรรมอันไม่เหมาะสมหรือผิดพลาดทางศีลธรรมไม่เคยปรากฏว่าเกิดขึ้นเลย เพราะกระบวนการสรรหาและคัดเลือกกว่าจะได้รับตำแหน่งนั้นเข้มงวดและตรวจสอบอย่างละเอียดจนแทบไม่มีอะไรที่ผิดพลาดในชีวิตจะผ่านไปได้ ดังนั้นการมีโอกาสที่ประธานาธิบดีจะได้เสนอชื่อและผ่านการรับรองจากวุฒิสภาที่เป็นพรรคเดียวกันจึงเป็นเรื่องที่เกิดได้ยากมากๆ เป็นโอกาสทองในทางการเมืองทีเดียวที่จะได้สถาบันสูงสุดทางกฎหมายที่มีแนวความคิดและอุดมการณ์ชุดเดียวกับผู้แต่งตั้ง

นี่คือพัฒนาการมิติใหม่ของศาลสูงสุดที่เริ่มพัฒนาเข้าสู่เวทีและพื้นที่ของความขัดแย้งทางอุดมการณ์สังคมมากขึ้นเรื่อยๆ ในอดีต ผู้พิพากษาศาลสูงสุดและคำตัดสินของศาลสูงสุดไม่ได้ปลอดจากความคิดทางการเมืองเสียทั้งหมด เช่นในยุคแรกจากปี 1819-1824 ศาลสูงสุดภายใต้ประธานจอห์น มาร์แชล ได้พิพากษาตัดสินคดีที่ขัดแย้งกันระหว่างมลรัฐกับธุรกิจเอกชนหรือธนาคาร คำตัดสินส่วนใหญ่ออกมาว่ามลรัฐต่างๆ ใช้อำนาจที่ผิดรัฐธรรมนูญ ผลคือคำพิพากษาศาลสูงสุดเท่ากับสนับสนุนและส่งเสริมการขยายเติบใหญ่ของกิจการทุนนิยมเอกชนทั้งหลายในมลรัฐต่างๆ เรียกว่าจุดยืนในการส่งเสริมทุนเอกชนและไม่สนับสนุนการใช้สิทธิของรัฐมาแรง ในขณะที่ศาลสูงสุดไม่ออกมาป้องกันสิทธิของคนอินเดียนและคนผิวดำที่เป็นเสรี กลับถ่วงและเก็บคำร้องเรียนเหล่านั้นไว้ กระทั่งก่อนสงครามกลางเมือง คำพิพากษาของศาลสูงสุดคดีทาสเดรดสก็อต ซึ่งประธานศาลสูงสุดที่เป็นคนภาคใต้พยายามต่อสู้รักษาระบบทาสอยู่ คำพิพากษาที่ว่าทาสผิวดำไม่อาจเป็นพลเมืองได้แม้จะได้รับอิสรภาพจากการเป็นทาสแล้วก็ตาม มีผลในการเติมเชื้อไฟให้แก่ขบวนการเลิกทาสในภาคเหนือ จนระเบิดในสงครามกลางเมือง

ประเด็นขัดแย้งใหญ่ๆ ขณะนี้ที่ศาลสูงสุดได้ตัดสินและกำลังพิจารณาประเด็นอันเป็นสาขาย่อยที่บรรดามลรัฐต่างๆ ส่งขึ้นมาให้ตัดสิน ได้แก่ (1) ปัญหาการทำแท้ง (2) ปัญหาหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของประธานาธิบดีโอบามา หรือ Affordable Care Act (ACA) ว่าอเมริกันมีสิทธิเลือกทำประกันสุขภาพกับเอกชนไหม และอาการป่วยก่อนหน้าของผู้เอาประกันถูกใช้เป็นเงื่อนไขปฏิเสธได้ไหม (3) สิทธิในการถืออาวุธปืน

ข้อโต้แย้งในปัญหาเหล่านี้แตกออกไปเป็นสองกลุ่มอย่างชัดเจน ฝ่ายอนุรักษนิยมเอียงขวาไม่ต้องการให้ทำแท้งเสรีและไม่เอาโอบามาแคร์ แต่จะเอาสิทธิถือปืนเสรี ส่วนฝ่ายเสรีนิยมและเอียงซ้ายก็ตรงข้ามกันทุกประการ ดังนั้นจึงไม่ต้องสงสัยว่า หากเกิดกรณีฟ้องร้องและเรียกร้องในมลรัฐต่างๆ ประเด็นโต้แย้งที่ไม่อาจตกลงกันได้ระดับรัฐก็ต้องส่งขึ้นไปให้ศาลสูงสุดเป็นผู้ตัดสินสุดท้าย

นี่เองทำให้การเสนอชื่อและลงมติรับรองผู้พิพากษาศาลสูงสุดถึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งในขณะนี้ ถ้าผู้พิพากษาเอมี โคนีย์ บาร์เรตต์ ผ่านการรับรอง (ซึ่งแทบไม่มีทางที่เดโมแครตจะขัดขวางได้ เพราะรีพับลิกันกุมเสียงข้างมากไว้ได้แล้วในวุฒิสภา) ก็จะทำให้จำนวนของฝ่ายผู้พิพากษาสายอนุรักษนิยมเพิ่มขึ้นเป็น 6 เสียง กุมเสียงข้างมากเด็ดขาดได้ในศาลสูงสุด และจะดำรงสภาพนี้ไปอีกหลายสิบปี เท่ากับปิดเกมในศาลสูงไปได้อีกหลายรัฐบาลเลย เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงไม่แปลกใจที่แมคคอนแนลออกมาสำทับอย่างไม่รีรอว่าจะรีบดำเนินการพิจารณาสอบสวนและรับรองผู้พิพากษาบาร์เรตต์ให้เสร็จก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีในวันที่ 3 พฤศจิกายนนี้แน่ๆ

ฝ่ายที่ตกที่นั่งลำบากและแทบไม่มีประตูในการต่อสู้เรื่องศาลสูงสุดคือพรรคเดโมแครต หนทางและยุทธวิธีที่จะช่วยไม่ให้ความเสียเปรียบนี้ขยายวงกว้างไปมากกว่านี้ คือการปลุกระดมประชาชนอเมริกันให้ออกมาช่วยปกป้องนโยบายโอบามาแคร์ มีการโจมตีและวิพากษ์ผู้พิพากษาบาร์เรตต์ว่าเป็นฝ่ายอนุรักษ์เอียงขวา ทั้งยังเป็นสมาชิกกลุ่มศาสนาที่ชื่อว่า People of Praise ซึ่งเป็นกลุ่มนอกทางการเกิดหลังการประชุมใหญ่วาติกัน 2 ที่นำไปสู่การปฏิรูปศาสนาและสถาบันคาทอลิกทั่วโลก สมาชิกส่วนใหญ่จึงเป็นคาทอลิกรวมทั้งบาร์เรตต์ด้วย (น่าสังเกตว่าขณะนี้ผู้พิพากษาศาลสูงสุดเป็นคาทอลิกถึง 5 คน และเป็นยิว 3 คน) กลุ่มนี้มีความเชื่อในหัวหน้าบ้านที่เป็นชาย ให้ความสำคัญแก่ศรัทธาอย่างมาก ทำให้เกิดคำถามว่า หากผู้พิพากษาบาร์เรตต์พิจารณาตัดสินคดีความ เธอจะเลือกตัดสินตามศรัทธาความเชื่อหรือตามความจริงในสังคม ซึ่งอาจมีศรัทธาความเชื่อตรงข้ามกับเธอ นั่นคือจุดยืนที่เป็นกลางของเธอกำลังเป็นคำถามของสังคม

ก่อนหน้านี้ ผู้พิพากษาบาร์เรตต์เคยผ่านการไต่สวนจากวุฒิสภาก่อนรับตำแหน่งผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์สหพันธ์ ไดแอน ไฟน์สไตน์ สมาชิกวุฒิสภาแคลิฟอร์เนีย พรรคเดโมแครต ได้ถามเธอว่า ดูจากผลงานและการพิจารณาคดีต่างๆ แล้ว เห็นว่า “ลัทธิความเชื่อ” (dogma) มีบทบาทมากในความคิดของเธอ คำถามนั้นสร้างความไม่พอใจแก่ชาวคาทอลิกมาก ถือว่าคำถามนั้นเป็นการละเมิดเสรีภาพในศาสนาของพวกเขา คราวนี้เดโมแครตจึงพยายามไม่วิจารณ์เรื่องความเป็นนักศาสนานิยมของเธอนัก แต่หันไปชูประเด็นเรื่องนโยบายโอบามาแคร์แทน อ้างว่าเธอเคยเขียนคำพิพากษาคัดค้านคำตัดสินของศาลสูงสุดที่กล่าวว่าโอบามาแคร์ไม่ละเมิดรัฐธรรมนูญ และโจมตีบาร์เรตต์ว่าจะเป็นผู้ทำลายโอบามาแคร์ลงอย่างสิ้นเชิง

การตอบคำถามเรื่องการเสนอผู้พิพากษาคนใหม่ของโจ ไบเดน จึงไม่กล้าก้าวล่วงไปถึงคุณสมบัติและความเชื่อทางศาสนาของเธอ หากแต่รวมศูนย์ไปเพียงประเด็นเดียวคือโอบามาแคร์ แต่อาศัยแค่กระสุนนัดเดียว เดโมแครตจะหยุดการเสนอชื่อผู้พิพากษาศาลสูงสุดครั้งนี้ได้หรือ

ข้อสังเกตท้ายสุดของผมต่อการเคลื่อนไหวเรื่องการเสนอชื่อผู้พิพากษาบาร์เรตต์ของทรัมป์และรับลูกอย่างดีจากสมาชิกวุฒิสภาพรรครีพับลิกันคือ นี่เป็นความพยายามในการเปลี่ยนประเด็นข่าวที่มีผลกระทบต่อคนอเมริกัน โดยโดนัลด์ ทรัมป์ ที่กำลังเพลี่ยงพล้ำและถูกกระทำมาแทบทุกวันตลอดหกเดือนมานี้ โดยเฉพาะหลังการแพร่ระบาดของโควิดในสหรัฐฯ ที่ไม่สามารถควบคุมและป้องกันมันได้เลย ทรัมป์ตกเป็นจำเลยของฝ่ายเดโมแครตและสังคมอยู่ กระทั่งทำให้คะแนนเสียงของเขาตกลงมาอย่างต่อเนื่อง และนักสังเกตการณ์พากันลงมติว่าเขาคงแพ้การเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งนี้ค่อนข้างแน่ เขาพยายามเสนอประเด็นและข่าวใหญ่อื่นๆ ทั้งจากนอกประเทศและในประเทศ แต่ก็ไม่มีเรื่องไหนติดตลาดและเปลี่ยนกระแสโจมตีเขาลงไปได้

เอมี โคนีย์ บาร์เรตต์ ผู้พิพากษาสตรี คุณวุฒิการศึกษาและการงานอันยอดเยี่ยมไม่มีที่ติ ทั้งยังมีอุดมการณ์ศรัทธาในแนวอนุรักษนิยมอย่างแรงกล้า จึงเป็นสิ่งประทานให้จากพระเจ้าอย่างคาดไม่ถึง เรียกว่าประทานทั้งอำนาจควบคุมศาลสูงสุดของฝ่ายอนุรักษนิยมไปอีกนานแสนนาน รวมถึงผลประโยชน์เฉพาะหน้าที่ทรัมป์หวังว่าความขัดแย้งโต้เถียงในเรื่องนี้จะช่วยกลบการโจมตีเขาเรื่องโควิดเสียที และใช้เป็นผลงานเพิ่มคะแนนนิยมให้ตัวเขาในการเลือกตั้งครั้งนี้ได้ด้วย

ทั้งหมดนี้แสดงถึงวิกฤตของโดนัลด์ ทรัมป์เองในฐานะประธานาธิบดี หรือเป็นวิกฤตของระบบประชาธิปไตยในอเมริกาในศตวรรษที่ 21

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

17 Jul 2020

ร่วมรากแต่ขัดแย้ง ความบาดหมางระหว่างอินโดนีเซียและมาเลเซีย

อรอนงค์ ทิพย์พิมล เขียนถึงความขัดแย้งระหว่างประเทศมาเลเซียและอินโดนีเซีย ที่ทั้งสองประเทศมีรากเหง้าทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมร่วมกันหลายอย่าง จนนำไปสู่ความขัดแย้งในการช่วงชิงความเป็นเจ้าของภาษาและวัฒนธรรมมลายู

อรอนงค์ ทิพย์พิมล

17 Jul 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save