fbpx
อวสานตุลาการเสรีนิยมในเงื้อมมือทรัมป์ : เดิมพันใหญ่ในยุคประชาธิปไตยเสื่อมถอย

อวสานตุลาการเสรีนิยมในเงื้อมมือทรัมป์ : เดิมพันใหญ่ในยุคประชาธิปไตยเสื่อมถอย

ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ เรื่อง

 

ปรากฏการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในแวดวงวิชาการสหรัฐฯ ขณะนี้นับว่าน่าตื่นเต้นและติดตามเป็นอย่างยิ่ง นั่นคือ นักรัฐศาสตร์จำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ กำลังหันมาศึกษาปัญหาและการเสื่อมถอยของระบบประชาธิปไตยในอเมริกาเอง

ก่อนหน้านี้ การศึกษาเกี่ยวกับหัวข้อและประเด็นดังกล่าวมักเป็นเรื่องปัญหาและอุปสรรคของระบบประชาธิปไตยในประเทศอื่นๆ ทั่วโลก เมื่อนักรัฐศาสตร์อเมริกันศึกษาเรื่องประชาธิปไตยในอเมริกา ส่วนใหญ่คือการศึกษาถึงความสำเร็จและจุดอ่อนบางประการซึ่งเกิดจากตัวผู้นำหรือสถาบันการเมืองหลักๆ ที่ดำเนินการอย่างไม่เต็มที่ แต่ถึงกระนั้นก็ไม่เคยมีใครคิดว่ามีปัญหาอะไรในระบบประชาธิปไตยในอเมริกา

ที่ผ่านมา การศึกษาประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยในอเมริกาไม่ใช่เรื่องยากลำบากแต่ประการใด หนังสือคลาสสิกว่าด้วยกำเนิดและการทำงานของระบบประชาธิปไตยในอเมริกาที่ไม่มีใครเทียบเคียงได้นับเป็นศตวรรษ คือ “ประชาธิปไตยในอเมริกา” (Democracy in America) ของอเล็กซิส เดอ ต๊อกเกอร์วิลล์ (Alexis de Tocqueville) และต้องอ่านเอกสารอีกอย่างน้อย 2 ชิ้น คือ “คำประกาศเอกราช” และ “รัฐธรรมนูญ” แค่นี้ก็ทำให้พอเข้าใจในอุดมการณ์และการทำงานของระบบการเมืองสหรัฐฯ ได้

ช่างง่ายดายและสะดวกสบายเสียนี่กระไร

เมื่อต้นปีที่ผ่านมา สตีเวน เลวิตสกี้ (Steven Levitsky) กับ แดเนียล ซิบแบลตต์ (Daniel Ziblatt) แห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ออกหนังสือ “ประชาธิปไตยตายอย่างไร” (How democracies die) เขาเปิดฉากบทนำในหนังสือเล่มใหม่ล่าสุดด้วยคำถามว่า “ประชาธิปไตยของเราตกอยู่ในอันตรายหรือ?”

ทั้งคู่ยอมรับว่าไม่เคยนึกเลยว่าวันหนึ่งจะต้องถามคำถามนี้ ที่ผ่านมา เลวิตสกี้และซิบแบลตต์ศึกษาวิจัยเรื่องประชาธิปไตยมา 15 ปี แต่เป็นประชาธิปไตยในประเทศอื่น ไม่ใช่ในสหรัฐอเมริกา นี่เป็นครั้งแรกที่พวกเขาคิดว่าสภาพการณ์และปรากฏการณ์ต่างๆ กำลังส่งสัญญาณว่าสมมติฐานและความเชื่อดั้งเดิมนั้นกำลังถูกสั่นคลอนอย่างน่ากลัว ระบบประชาธิปไตยในอเมริกากำลังสร้างเงื่อนไขและปัจจัยที่ล้วนนำไปสู่การทำลายและบั่นทอนความมั่นยืนของประชาธิปไตยลงอย่างไม่น่าเชื่อ

พวกเขาตั้งสมมติฐานในการศึกษานี้ว่า ประชาธิปไตยไม่ได้ตายด้วยการทำรัฐประหารและการยึดอำนาจของกองทัพเท่านั้น หากจบชีวิตด้วยสิ่งที่คิดไม่ถึงคือ การบั่นทอนและทำลายจากภายในจากน้ำมือของผู้นำการเมืองในประเทศเอง ที่อาศัยระบบประชาธิปไตยเข้ามาสร้างอำนาจและครอบงำสถาบันอื่นๆ ทั้งหมด จนทำให้แก่นแกนของความเป็นประชาธิปไตยค่อยๆ ถูกบั่นทอนลง กระทั่งกลายเป็นระบบอำนาจนิยม

เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ รากฐานของระบบประชาธิปไตยในอเมริกามั่นคงและดำเนินสืบทอดมาอย่างยาวนาน อันนี้เป็นข้อได้เปรียบของสหรัฐฯ แต่เท่านี้ยังไม่พอ การที่สถาบันการเมืองทั้งหลายทำงานตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจตามหน้าที่ก็ยังไม่เพียงพอที่จะป้องกันการบ่อนทำลายและความเสื่อมทรามจากอำนาจนิยมได้ ประชาธิปไตยจะทำงานได้และอยู่รอดปลอดภัยตลอดไป ยังต้องอาศัยบรรทัดฐาน (norms) อีก 2 อย่างในการกำกับให้ระบบถ่วงดุลดำเนินไปได้ด้วยดี ประการแรก ต้องมีขันติธรรมร่วมกัน คือการเมืองทุกฝ่ายต้องยอมรับพรรคการเมืองอื่นๆ ว่าเป็นคู่แข่งที่ชอบธรรม ประการที่สอง คือการมีความอดกลั้นและอดทนต่อผู้อื่น ไม่ใช้อภิสิทธิ์และความได้เปรียบในทางสถาบันไปเอาชนะคู่ต่อสู้ เป็นต้น

ผมอ่านความเห็นและข้อเสนอของนักรัฐศาสตร์อเมริกันแล้ว คิดว่าปัญหาประชาธิปไตยของอเมริกาง่ายกว่าของหลายประเทศในโลกอย่างเปรียบกันไม่ได้เลย แต่ก็น่ารับฟังว่าสมมติฐานของเขาจะทำให้ความเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดในอนาคตอันใกล้นี้ดำเนินไปอย่างมีผลทางบวกต่อสภาวการณ์ของระบบนี้หรือไม่

ว่าด้วยขันติธรรมร่วมกันและความอดกลั้นอดทนต่อฝ่ายอื่น บัดนี้เป็นที่กระจ่างชัดว่าประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ทำลายและเหยียบย่ำบรรทัดฐานสองประการลงไปอย่างหน้าตาเฉย ในนามของการสร้างอเมริกาก่อน (America First) และการสร้างอเมริกาให้ยิ่งใหญ่อีกครั้ง (Make America Great Again) รวมถึงความเหนือกว่าของความเป็นอเมริกันแบบคนผิวขาวและเป็นชายแบบดั้งเดิม

ที่ผ่านมาทรัมป์ไม่ค่อยประสบความสำเร็จในการใช้เครื่องมือของอำนาจบริหาร (ประธานาธิบดี) ในการบรรลุจุดหมายส่วนตัวของเขาได้ดังใจ ทำเนียบขาวกลายเป็นที่ทำงานที่ไร้ระเบียบและไร้หลักการ จนกลายเป็นเวทีของการปะทะกันในทางหลักการและนโยบายระหว่างประธานาธิบดีกับนักข่าว อีกสถาบันที่ออกมาถ่วงดุลและตรวจสอบการใช้อำนาจของทรัมป์คือ ศาลอุทธรณ์ของสหพันธ์ เหนือกว่านั้นคือศาลสูงสุดของสหรัฐฯ (Supreme Court) และนั่นคือเป้าหมายที่ทรัมป์และพรรคพวกฝ่ายขวาสุดต้องการยึดกุม

หน้าที่และบทบาทสำคัญยิ่งของประธานาธิบดีสหรัฐฯ ประการหนึ่งคือ การเลือกและเสนอชื่อผู้สมควรได้รับตำแหน่งผู้พิพากษาศาลสูงสุด อันเป็นตำแหน่งสำคัญยิ่งในการบริหารและปกครองประเทศของรัฐบาล และเป็นเสาหลักให้แก่การต่อสู้และเคลื่อนไหวเรียกร้องความเป็นธรรมของประชาชนพลเมืองอเมริกันทั่วไป

ประวัติและความเป็นมาของศาลสูงสุดสหรัฐฯ มีลักษณะเด่นที่ไม่เหมือนใครเลยในระบบการเมืองและการยุติธรรมสมัยใหม่ ในข้อที่ว่าศาลสูงสุดสหรัฐฯ สามารถสถาปนาความเป็นอำนาจอธิปไตยหนึ่งในสามขึ้นมาอย่างรวดเร็ว

ในสมัยผู้พิพากษาศาลสูงสุด จอห์น มาร์แชล (ช่วงที่บิดาแห่งการสร้างประเทศ โธมัส เจฟเฟอร์สัน เป็นประธานาธิบดี) มีการพิจารณาการใช้อำนาจของรัฐบาลกับสภาคองเกรส ด้วยการตัดสินว่าศาลสูงสุดมีอำนาจในการพิจารณาว่าการใช้อำนาจของสองสถาบันนั้นละเมิดรัฐธรรมนูญหรือไม่ หรือที่เรียกว่า judicial review ในปี 1803 ทำให้อำนาจตุลาการเทียบเท่ากับอำนาจบริหารและนิติบัญญัติ โดยไม่รอให้เวลาผ่านไปเนิ่นนานจนสองอำนาจอธิปไตยแทบจะผูกขาดอำนาจนั้นในกำมือเสียก่อน ถ้าศาลสูงสุดออกมาแสดงบทบาทและพยายามจะสถาปนาความชอบธรรมของตนในภายหลังดังที่เกิดกับในประเทศอื่นๆ แล้ว ก็คงยากที่จะประสบความสำเร็จได้

ดูเนื้อหาในรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ ว่าด้วยอำนาจตุลาการ ซึ่งสั้นมากๆ เมื่อเทียบกับอำนาจอื่นๆ ใน มาตรา 3 อนุมาตรา 1 ระบุไว้ดังนี้

“อำนาจตุลาการของสหรัฐให้เป็นของศาลสูงสุดศาลหนึ่งกับศาลชั้นรองลงมาตามที่รัฐสภาได้กำหนดและสถาปนาขึ้นไว้เป็นคราวๆ และให้ผู้พิพากษาทั้งศาลสูงสุดและศาลชั้นรองอยู่ในตำแหน่งตราบเท่าที่ยังเป็นผู้มีความประพฤติอยู่ในทำนองคลองธรรม และให้ได้รับค่าทดแทนในการปฏิบัติหน้าที่ตามที่ได้กำหนดไว้ในเวลาหนึ่งๆ โดยจะถูกตัดทอนลดลงในระหว่างที่ดำรงตำแหน่งอยู่ไม่ได้”

ข้อความเพียงเท่านี้ก็ใช้กันมาได้นับร้อยๆ ปี ไม่ต้องไปเขียนใหม่ทุกห้าหรือสิบปีเพราะกลุ่มการเมืองไม่อาจตกลงกันได้ ประเด็นสำคัญในที่นี้คือ เพื่อให้ผู้พิพากษาทั้งศาลสูงสุดและศาลสหพันธ์มีความเป็นอิสระจากอำนาจการเมือง จึงให้ตำแหน่งนี้คงอยู่ตราบเท่าที่ผู้พิพากษายังมีความประพฤติ “อยู่ในทำนองคลองธรรม” ส่วนจะอยู่นานกี่ปีไม่ใช่ปัญหา นั่นคือ ฝ่ายการเมืองจะใช้อำนาจไล่หรือบีบผู้พิพากษาให้ออกจากตำแหน่งไม่ได้ เมื่อเป็นเช่นนี้ การแต่งตั้งใครขึ้นมาเป็นผู้พิพากษาศาลสูงสุดจึงเป็นเรื่องใหญ่โต และมีผลต่อทิศทางของการตัดสินคดีใหญ่ที่เป็นปัญหาขัดแย้งกันระดับชาติ เพราะผู้พิพากษาศาลสูงสุดมีสิทธิอยู่ในตำแหน่งได้ตลอดชีวิต

สมรภูมิทางการเมืองส่วนใหญ่เป็นการต่อสู้ในกรอบของประชาธิปไตยเสรีนิยม ระหว่างฝ่ายเสรีนิยมกับฝ่ายอนุรักษนิยม โดยที่ฝ่ายแรกมักเรียกร้องและปกป้องสิทธิเสรีภาพของปัจเจกบุคคลเป็นอันดับแรก ในขณะที่ฝ่ายหลังไม่เห็นด้วย แต่ต้องการให้ปกป้องและรักษาสิทธิของรัฐ ของครอบครัว และสถาบันทางศาสนาของพวกตนมากกว่า

การต่อสู้สองแนวทางนี้จะว่าไปแล้วก็สืบสาวกลับไปได้ถึงยุคแรกของการร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีการอภิปรายถกเถียงถึงเนื้อหาและนัยของอำนาจรัฐบาลระหว่างฝ่ายเฟดเดอรัลลิสต์ ที่ต้องการให้อำนาจแก่รัฐบาลกลางมากและจำกัดอำนาจของรัฐและท้องถิ่นลง กับฝ่ายแอนตี้เฟดเดอรัลลิสต์ ที่ต้องการให้สิทธิแก่ประชาชนและรัฐท้องถิ่นมากกว่ารัฐบาลกลาง

นักรัฐศาสตร์เรียกพวกแอนตี้เฟดเดอรัลลิสต์ว่า “พวกศรัทธาน้อย” (men of little faith) คือเชื่อถือในรัฐบาลกลางน้อย ส่วนพวกเฟดเดอรัลลิสต์นั้น จริงๆ ก็เป็นพวกศรัทธาน้อย เพราะไม่ไว้ใจในธรรมชาติมนุษย์เช่นกัน จึงมีความกลัวเหมือนกัน ที่ต่างกันคือพวกเฟดเดอรัลลิสต์กลัวอำนาจรัฐน้อยกว่าอำนาจประชาชน

ในยุคประธานาธิบดีทรัมป์ เขาได้โอกาสเสนอผู้พิพากษาศาลสูงสุด และวุฒิสภาซึ่งกุมเสียงข้างมากโดยพรรครีพับลิกันได้รับรองไปแล้วหนึ่งคน คือ นีล กอร์ซุช เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2017 ภายหลังเข้ารับตำแหน่งเพียงไม่กี่วัน เนื่องจากมีตำแหน่งผู้พิพากษาว่างลงจากการเสียชีวิตของผู้พิพากษาแอนโตนิน สกาเลีย เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2016 ขณะนั้นเป็นรัฐบาลโอบามา ซึ่งเขาพยายามเสนอ เมอร์ริค การ์แลนด์ ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ที่มีชื่อเสียงว่าเป็นพวกสายกลางให้ขึ้นเป็นผู้พิพากษาศาลสูงสุด แต่การเสนอของโอบามาจากพรรคเดโมแครตถูกขัดขวางอย่างหัวชนฝาจากพรรครีพับลิกัน ที่หาทางทั้งด้วยเล่ห์กลและเอาสีข้างเข้าถูในการเตะถ่วงและกีดกันไม่ให้โอบามาสามารถเสนอชื่อผู้พิพากษาศาลสูงสุดเข้ามาในวุฒิสภาได้เลย จนกระทั่งหมดสมัยไป

ในระหว่างรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดี ทรัมป์ได้ประกาศต่อผู้สนับสนุนว่าจะแต่งตั้งผู้พิพากษาศาลสูงสุดที่เป็นอนุรักษนิยมอย่างแน่นอน เขาปวารณาตัวตั้งแต่นั้นมาเลยว่าจะทำให้ศาลสูงสุดของสหรัฐฯ เป็นศาลภายใต้พรรครีพับลิกัน ซึ่งก็หมายความว่าเป็นอนุรักษนิยมนั่นเอง

ความจริงนั้น ที่ผ่านมาประธานาธิบดีก็ย่อมเสนอแต่งตั้งบุคคลที่มีอุดมการณ์และความคิดทางการเมืองและสังคมที่ไปกันได้กับฝ่ายรัฐบาล ประธานาธิบดีแฟรงกลิน ดี. โรสเวลต์ สมัยนิวดีล ต้องหาทางแต่งตั้งผู้พิพากษาศาลสูงสุดให้เป็นฝ่ายตนเพื่อจะไม่ขัดขวางกฎหมายนิวดีลของเขา โรสเวลต์ถึงกับเสนอกฎหมายให้เพิ่มจำนวนผู้พิพากษาศาลสูงสุดถึง 15 คน เพื่อให้ฝ่ายเขามีเสียงข้างมากในศาลสูงสุด แต่กฎหมายถูกตีตกไปในที่สุด ด้วยเหตุผลเพื่อรักษาความเป็นอิสระของศาลสูงสุดเอาไว้

แต่สิ่งที่ประธานาธิบดีในอดีตได้กระทำไปส่วนใหญ่เพื่อให้ศาลไม่กีดกันการผลักดันนโยบายบางประการของรัฐบาล เป็นการต่อสู้ระหว่างรัฐบาลที่ต้องการสร้างนโยบายใหม่ๆ ที่อาจให้รัฐบาลกลางมีอำนาจมากเป็นพิเศษในบางกรณี หลายครั้งไม่ใช่ปัญหาและการต่อสู้ในทางอุดมการณ์ที่กระเทือนถึงประชาชน จึงไม่มีการประกาศว่าต้องเป็นผู้พิพากษาหัวอนุรักษนิยมหรือเสรีนิยม

ในกรณีของทรัมป์ สิ่งที่เขาทำให้พรรคเดโมแครตและประชาชน รวมถึงกลุ่มองค์กรประชาสังคมทั้งหลายหวาดวิตก เพราะเขานำเอาจุดยืนทางอุดมการณ์ที่แน่นอนตายตัวเข้ามาใช้ในการคัดเลือกผู้พิพากษาศาลสูง นั่นย่อมหมายถึงการบีบให้ผู้พิพากษาจำต้องเดินไปในทิศทางที่ทรัมป์และมวลชนเอียงขวาของเขาต้องการ

การเมืองแบบนี้ย่อมไม่ใช่การเมืองแบบเสรีประชาธิปไตย หากใกล้กับการเมืองภายใต้พรรคเดียวและรัฐเดียว เช่นพรรคและรัฐบาลเผด็จการหรืออำนาจนิยมที่ไม่ยอมรับความแตกต่างหลากหลายใดๆ ทั้งสิ้น

เมื่อทรัมป์เสนอชื่อ นีล กอร์ซุช เป็นผู้พิพากษาศาลสูงสุดในครั้งแรกนั้น เสียงวิพากษ์วิจารณ์และต่อต้านยังไม่มากนัก เพราะองค์ประกอบในศาลสูงสุดยังก้ำกึ่งระหว่างฝ่ายเสรีนิยมกับอนุรักษนิยม คือ 4 ต่อ 4 แต่เหตุที่ทำให้สถานการณ์ไม่เลวร้ายและน่าตระหนกเกินไปนักต่อบรรดาคนอเมริกันเสรีนิยมและพรรคเดโมแครตก็คือ การทำงานของผู้พิพากษาศาลสูงสุด แอนโทนี เคนเนดี

แม้เคนเนดีจะอยู่ฝ่ายอนุรักษนิยมมาก่อนก็ตาม แต่ในระยะหลังๆ เขาลงคะแนนในคดีสำคัญหลายเรื่องที่ให้คะแนนแก่ฝ่ายเสรีนิยม ทำให้การตัดสินของศาลสูงสุดที่ผ่านมาไม่ออกไปทางอนุรักษนิยมด้านเดียวจนน่าเกลียด หากแต่รักษาน้ำหนักของสองอุดมการณ์เอาไว้ค่อนข้างดี  เช่น ในเรื่องสิทธิของเกย์ การทำแท้ง และการประหารชีวิต

ล่าสุดคือการที่เคนเนดีลงคะแนนให้แก่การแต่งงานของคนเพศเดียวกัน (same sex marriage) ซึ่งต้องนับว่าเขามีความกล้าหาญอย่างมากในการตัดสินใจให้สิทธิคนเพศเดียวกันในการมีชีวิตครอบครัวเยี่ยงคนต่างเพศได้

ในเวลาเดียวกันเขาก็ลงคะแนนให้กับฝ่ายอนุรักษนิยมด้วยเช่นในเรื่องจำกัดสิทธิในการลงคะแนนเสียงของคนผิวดำ ไม่ผ่านการออกกฎหมายควบคุมการมีอาวุธปืน และรับรองการให้บรรษัทสามารถบริจาคเงินในการรณรงค์หาเสียงของพรรคการเมืองได้อย่างไม่จำกัด เป็นต้น

คนจึงเรียกว่าการลงคะแนนเสียงของเคนเนดีว่าเป็น “เสียงที่แกว่ง” (swing vote)

ดังนั้น เมื่อเคนเนดีประกาศว่าจะลาออกจากตำแหน่งภายในสิ้นเดือนกรกฎาคมนี้ ก็สร้างแรงกระเพื่อมไม่น้อยในกรุงวอชิงตัน ทุกฝ่ายรีบวิเคราะห์สถานการณ์และหามาตรการในการรับมือกับการแต่งตั้งผู้พิพากษาคนใหม่ที่จะมาแทนที่เคนเนดีกันเป็นการใหญ่

แน่นอนว่าฝ่ายรีพับลิกันและทรัมป์ต่างดีใจอย่างออกนอกหน้า คาดไม่ถึงว่าส้มอีกลูกจะหล่นลงในมือของพวกตนอีกวาระหนึ่ง และยังหล่นเร็วกว่าที่คิดไว้มากเลย การแต่งตั้งผู้พิพากษาศาลสูงสุดคนใหม่ในวาระนี้ มีความหมายนัยอันใหญ่หลวงกว่าการแต่งตั้งผู้พิพากษาศาลสูงก่อนหน้านี้อย่างมาก

ดังที่ได้กล่าวแล้วว่า จากการที่ผู้พิพากษาเคนเนดีทำตัวเป็น “เสียงที่แกว่ง” ทำให้ทั้งสองฝ่ายคือเสรีนิยมกับอนุรักษนิยมทำงานร่วมกันมาได้ ผลัดกันได้และผลัดกันเสียในบางคดี แต่ไม่ถึงกับทำให้ประชาชนรู้สึกว่าศาลสูงสุดไม่อยู่ในทำนองคลองธรรมเสียทีเดียว เพราะยังตัดสินให้ผลประโยชน์และอุดมการณ์ของสองฝั่งความคิดทางการเมืองตลอดมา

แต่ถ้าหากเคนเนดีไม่อยู่ แล้วทรัมป์และรีพับลิกันสามารถแต่งตั้งผู้พิพากษาสายอนุรักษนิยมเข้าไปได้อีกคน เป็นอันว่าเสียงข้างมากจะตกเป็นของฝ่ายอนุรักษนิยมทันที สภาพการณ์ดังกล่าวสร้างความวิตกกังวลต่ออนาคตของบทบาทศาลสูงสุดอย่างยิ่ง

ยังมิต้องกล่าวถึงผู้พิพากษาอาวุโสอีกหนี่งท่านคือ รูธ เบเดอร์ กินสเบิร์ก ซึ่งมีอายุ 85 ปีแล้ว คนเริ่มคิดกันแล้วว่ามีความเป็นไปได้ที่กินสเบิร์กอาจออกจากตำแหน่งในช่วงที่รัฐบาลทรัมป์และรีพับลิกันยังครองเสียงอยู่ นั่นหมายความว่าทรัมป์จะได้แต่งตั้งผู้พิพากษาศาลสูงสุดที่เป็นอนุรักษนิยมอีกหนึ่งคน ถ้าเป็นเช่นนี้ก็เป็นอันว่าถึงกาลอวสานของอำนาจตุลาการที่เป็นเสรีนิยมอย่างแน่แท้

ไม่รอช้า ประธานาธิบดีทรัมป์รีบประกาศชื่อผู้พิพากษาที่เขาจะเสนอให้วุฒิสภาพิจารณารับรองในทันที ในที่สุดผู้ได้รับเลือกคือ เบร็ตต์ คาวานอห์ ซึ่งมีคุณสมบัติคับแก้วสำหรับตำแหน่งดังกล่าว นั่นคือจบการศึกษาจากสำนักกฎหมายมหาวิทยาลัยเยลและเป็นอาจารย์กฎหมายในมหาวิทยาลัยดังๆ เคยทำงานเป็นเสมียนในศาลสูงสุดให้กับผู้พิพากษาเคนเนดีมาก่อน และเป็นผู้พิพากษาในศาลอุทธรณ์ในเขตวอชิงตัน ดี.ซี. มากว่าสิบปีแล้ว

แต่เมื่อพิจารณาภูมิหลังและประวัติการทำงานของคาวานอห์อย่างละเอียด พบว่าเขามีประสบการณ์ทำงานให้กับฝ่ายการเมืองด้านกฎหมายมากมาย เรียกว่าเป็นคนการเมืองมากกว่าเป็นผู้พิพากษาอิสระ เริ่มด้วยการทำงานรณรงค์หาเสียงให้จอร์จ ดับเบิลยู. บุช เป็นประธานาธิบดี เมียเขาก็เคยทำงานเป็นเลขานุการส่วนตัวให้บุชมาก่อน จนตัวเขาได้ตำแหน่งผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ในเขตวอชิงตันเป็นรางวัลตอบแทนจากประธานาธิบดีบุช เคยอยู่ในทีมคณะสอบสวนอิสระภายใต้เคนเนธ สตาร์ ที่สอบสวนกรณีอื้อฉาวของประธานาธิบดีบิล คลินตัน นอกจากนั้น คาวานอห์ยังเป็นผู้เขียนคำแนะนำให้ดำเนินการถอดถอนประธานาธิบดีคลินตันออกจากตำแหน่งด้วยซ้ำไป

ในประเด็นนี้ สมาชิกวุฒิสภาพรรคเดโมแครตคงไม่รีรอที่จะถามคาวานอห์ว่า หากคณะกรรมการอิสระสอบสวนการแทรกแซงการเลือกตั้งของโรเบิร์ต มุลเลอร์ จะดำเนินการถอดถอนประธานาธิบดีทรัมป์ เขาจะมีความเห็นอย่างไร

ดูภาพรวมของผู้พิพากษาศาลสูงสุดคนใหม่ล่าสุด น่าจะนำไปสู่การอภิปรายอย่างดุเดือดเข้มข้นแน่ๆ ในวุฒิสภา

ประเด็นใหญ่ที่ฝ่ายเสรีนิยมและกลุ่มองค์กรอิสระและประชาสังคมพากันเป็นห่วงอย่างมากคือถ้าศาลสูงสุดกลายเป็นศาลอนุรักษนิยมเต็มตัว ในที่สุดจะนำไปสู่การกลับคำพิพากษาคดี โรและเวด (Roe v Wade 1971) อันเป็นชัยชนะของกลุ่มผู้หญิงฝ่ายก้าวหน้าที่ต่อสู้เพื่อให้การทำแท้งเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญ

นับแต่นั้น ฝ่ายอนุรักษนิยม รวมถึงกลุ่มองค์กรศาสนา ต่างพากันออกมาเคลื่อนไหวหาทางล้มคำตัดสินดังกล่าวให้ได้ การต่อสู้เรื่องการทำแท้งถือได้ว่าเป็นการต่อสู้เรื่องสิทธิในตัวของผู้หญิงที่ยาวนานและยากลำบากที่สุด ขณะนี้ฝ่ายโปรชีวิต (Pro Life) หรือต่อต้านการทำแท้งเสรี ใช้กลยุทธ์ไปผลักดันให้แต่ละมลรัฐออกกฎหมายจำกัดหรือทำให้การทำแท้งเสรีแทบทำไม่ได้เลย

ดังนั้น ถ้าหากเสียงข้างมากในศาลสูงสุดเป็นฝ่ายอนุรักษนิยมอย่างเด็ดขาดเป็นครั้งแรกในสมัยทรัมป์ ผู้คนพากันกังวลว่าศาลสูงสุดอาจยอมกลับคำพิพากษาคดีนี้ใหม่ ด้วยแรงกดดันจากฝ่ายรัฐบาลและมวลชนเอียงขวาทั้งหลาย นั่นเท่ากับเป็นการประกาศสงครามกลางเมืองในทางอุดมการณ์ระหว่างสองกลุ่มมวลชนก็ได้

แกนนำสมาชิกวุฒิสภาพรรคเดโมแครต ชัค ชูเมอร์ ประกาศแล้วว่าเขาจะคัดค้านการแต่งตั้งคาวานอห์แน่นอน ด้วยเหตุผลว่าเมื่อดูจากประวัติและผลงานแล้ว คิดว่าคาวานอห์จะทำหน้าที่เป็นผู้แทนของผลประโยชน์พิเศษ (คือกลุ่มทุนและการเมืองอนุรักษนิยม) และต่อต้านชนชั้นกรรมกรและครอบครัว จนนำไปสู่การลิดรอนและทำลายสิทธิพลเมืองและสิทธิมนุษยชนของพลเมืองอเมริกันนับล้านๆ คนลงไป หัวหน้าสมาชิกวุฒิสภาเสียงข้างน้อยยังเสนอต่อไปว่า รัฐบาลควรเสนอผู้พิพากษาที่เป็นอิสระและเป็นกลางที่ทั้งสองพรรครับได้

ข่าวล่าสุดขณะเขียนบทความนี้มีความเป็นไปได้ว่า ความฝันและปรารถนาของทรัมป์และมิตช์ แมคคอนเนลล์ หัวหน้าเสียงข้างมากพรรครีพับลิกันในวุฒิสภา ในการพิจารณารับรองผู้พิพากษาคาวานอห์ให้เสร็จสิ้นก่อนการเลือกตั้งกลางเทอมในเดือนพฤศจิกายนนี้ ทำท่าจะเป็นหมันเสียแล้ว เมื่อคณะกรรมาธิการในวุฒิสภาฝ่ายเดโมแครตรวบรวมเอกสารและบรรดาคำตัดสินทั้งหลายของคาวานอห์ ซึ่งมีอยู่มากมายมหาศาล เนื่องจากตัวเขามีบทบาทและไปเคลื่อนไหวกับกลุ่มการเมืองมาก กล่าวกันว่าเอกสารและคำตัดสินของเขานั้นรวมกันแล้วมากกว่าของผู้พิพากษาศาลสูงสุดในอดีตที่ผ่านมารวมกันเสียอีก

ฝ่ายรีพับลิกันบอกว่า ถ้าเล่นกันขนาดนั้นก็เกินไป ชัค ชูเมอร์เลยตอบโต้ว่า ก็ทีสมัยรัฐบาลโอบามาพยายามเสนอชื่อผู้พิพากษาขึ้นมา มิตช์ แมคคอนเนลล์ก็หาทางบ่ายเบี่ยงนานาประการ ในที่สุดอ้างว่ารอให้ผ่านการเลือกตั้งประธานาธิบดีไปก่อน แล้วค่อยมาเจรจากัน มาคราวนี้ชูเมอร์เลยบอกว่า ก็ต้องรอให้เลือกตั้งกลางปีผ่านไปเรียบร้อยก่อน แล้วค่อยมาเจรจากันเรื่องประชุมรับรองผู้พิพากษาคาวานอห์

ถ้าการณ์เป็นไปตามนี้ มีความเป็นไปได้ที่ดุลยภาพในวุฒิสภาที่รีพับลิกันมีอยู่ 51 เสียง อาจเพลี่ยงพล้ำในการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาบางคนที่ครบเทอม นักสังเกตการณ์ทางการเมืองประเมินแล้วมีความเห็นว่าพรรคเดโมแครตมีโอกาสจะได้วุฒิสมาชิกเพิ่มเข้ามา ซึ่งถ้ากลายเป็นฝ่ายเสียงข้างมากไป ก็สรุปอนาคตของผู้พิพากษาคาวานอห์ได้เลยว่า โอกาสผ่านการรับรองซึ่งตกลงกันว่าให้เอาเพียงเสียงข้างมากปกติ ไม่ต้องได้คะแนนเสียงสองในสามอย่างแต่ก่อน ก็จะไม่ผ่านด่านและปราการของพรรคเดโมแครตแน่นอน

น่าติดตามดูว่า ฝันของโดนัลด์ ทรัมป์ จะเป็นจริงหรือสลายไปหรือไม่ ที่สำคัญจะมีสัญญาณอะไรไหมว่าคนอย่างทรัมป์และพรรครีพับลิกันจะมีขันติธรรมและความอดกลั้นอดทนต่อฝ่ายตรงข้าม เพื่อรักษาและจรรโลงกลไกการทำงานของระบบประชาธิปไตยให้เข้มแข็งและมีความหมายต่อคนส่วนใหญ่ต่อไป

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save