fbpx
‘อุ้มหาย’ ไม่ใช่อาชญากรรม ‘ซ้อมทรมาน’ ไม่มีคนผิด

‘อุ้มหาย’ ไม่ใช่อาชญากรรม ‘ซ้อมทรมาน’ ไม่มีคนผิด

 วจนา วรรลยางกูร เรื่อง

Shin Egkantrong ภาพประกอบ

ใครจะรู้ว่าสักวันหนึ่งผู้โชคร้ายที่ถูกอุ้มไปซ้อมทั้งที่ไม่ได้ทำอะไรผิดอาจเป็นคนในครอบครัว เพื่อน หรือกระทั่งตัวเราเอง

เรื่องเล่าที่ได้ยินมาตั้งแต่เด็กว่าเจ้าหน้าที่ซ้อมผู้ต้องหาให้รับสารภาพ อาจกลายเป็นประสบการณ์ตรงที่ไม่น่าจดจำ

‘การซ้อมทรมาน’ เกิดขึ้นต่อเนื่องไม่มีที่สิ้นสุด ราวกับว่าถูกระบุอยู่ในคู่มือการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ และยากจะนำตัวคนผิดมาลงโทษ เมื่อเป็นสิ่งที่ทำโดยเจ้าหน้าที่รัฐอันเกี่ยวโยงโครงสร้างอำนาจหลายส่วนที่พร้อมปกปิดเรื่องอันน่าหดหู่นี้ เหยื่อส่วนมากก็แทบจะหาหลักฐานไม่ได้เมื่อถูกปิดตาขณะโดนซ้อมในสถานที่ลับ

รอยด่างพร้อยนี้ทำให้ระบบความยุติธรรมบิดเบี้ยว เมื่อมีการซ้อมทรมานคนบริสุทธิ์ให้รับสารภาพในสิ่งที่ไม่ได้ทำ คนผิดตัวจริงไม่ถูกลงโทษ เหยื่อกลายเป็นแพะ ครอบครัวเหยื่อนอกจากจะเป็นหนี้สินจากการออกมาต่อสู้คดีที่ยืดเยื้อยาวนานแล้วยังเสี่ยงถูกคุกคามจากผู้มีอำนาจ ส่วนเจ้าหน้าที่อาจถูกลงโทษเพียงแค่ถูกย้ายไปทำหน้าที่ส่วนอื่น

ความรุนแรงอีกระดับที่เจ้าหน้าที่รัฐใช้ควบคู่กับการทรมาน เพื่อยุติความขัดแย้งกับคนที่ลุกขึ้นมาเรียกร้องความเป็นธรรม คือ ‘อุ้มหาย’ เมื่อไม่มีศพ ไม่มีหลักฐาน ก็ยากจะสืบเสาะว่าเกิดอะไรขึ้นกับบุคคลที่สูญหาย แม้หลายกรณีมีพยานเห็นว่าหายไปหลังถูกเจ้าหน้าที่รัฐควบคุมตัวก็ตาม

การอุ้มหายถูกเลือกใช้เป็นเครื่องมือจัดการคนเห็นต่างกับรัฐหลายครั้ง เพราะหาหลักฐานยากและไม่มีกฎหมายใดระบุว่าการอุ้มหายเป็นอาชญากรรม ตำรวจก็ไม่ค้นหาหรือดำเนินคดีเพราะไม่มีกฎหมายรองรับ

สภาพที่ไร้ทางออกเช่นนี้เปิดช่องให้ ‘การฆ่า’ เกิดขึ้นโดยไม่มีการหาตัวคนทำ

น่าสลดที่เรื่องราวเหล่านี้เกิดขึ้นในประเทศไทย จนชวนคิดว่านี่คงไม่ใช่สภาพสังคมที่เราและคนรุ่นต่อไปอยากอยู่

สังคมที่เจ้าหน้าที่รัฐพร้อมจับใครก็ได้เพื่อปิดคดี

สังคมที่ทำให้การทำร้ายร่างกายระหว่างสอบสวนเป็นเรื่องปกติ

สังคมที่หยิบความรุนแรงมาใช้กำจัดคนที่ลุกขึ้นมาเรียกร้องความเป็นธรรม

สังคมที่คนถูกอุ้มฆ่าแล้วไม่มีกฎหมายให้เอาผิดใครได้

จับแพะ-ซ้อมทรมาน อย่ายอมรับเป็นวิถีไทย

“ทุกคนไม่ได้สนใจ ห่วงแต่ทำมาหากิน เพราะคิดว่าเป็นเรื่องไกลตัว แต่เมื่อใดที่เขาหรือญาติพี่น้องถูกกระทำ เมื่อนั้นเขาจะกลับมาศึกษาว่าตัวเองมีสิทธิอย่างไรบ้าง”

สมศักดิ์ ชื่นจิตร พ่อที่ออกมาเรียกร้องความเป็นธรรมให้ลูกที่ตกเป็นแพะ เล่าความในใจว่าเมื่อ 9 ปีที่แล้ว ก่อนเกิดเหตุเขาก็เป็นคนทั่วไปที่มุ่งทำมาหากิน ไม่ได้สนใจเรื่องสิทธิมนุษยชนหรือปัญหาการซ้อมทรมาน

ปี 2552 ฤทธิรงค์ ชื่นจิตร นักเรียนม.6 ถูกตำรวจซ้อมให้รับสารภาพว่าเป็นคนวิ่งราวทรัพย์ในคดีที่เขาไม่ได้ทำ มีการข่มขู่ว่าจะฆ่าและหากเขาตายก็จะเป็นแค่คดีคนหาย เมื่อมีหลักฐานไม่เพียงพอเจ้าหน้าที่จึงปล่อยตัวกลับบ้าน

หลังพบว่าลูกชายถูกทำร้ายร่างกาย สมศักดิ์จึงเดินหน้าเรียกร้องความเป็นธรรม แต่เมื่ออีกฝ่ายเป็นเจ้าหน้าที่รัฐแต่ละขั้นตอนจึงเป็นไปด้วยความยากลำบาก เขาร้องเรียนไปกว่า 50 องค์กร แจ้งความกับตำรวจ 3 ครั้ง ส่งเรื่องไป ป.ป.ท. ใช้เวลาสอบ 2 ปี ก่อนมีคำสั่งให้ยุติเพราะมีหลักฐานไม่เพียงพอ

ผ่านไป 9 ปี ศาลพิพากษาให้ลงโทษเจ้าหน้าที่ตำรวจ 1 ราย จำคุก 1 ปี ปรับ 8,000 บาท โดยให้รอลงอาญา 2 ปี และยกฟ้องผู้บังคับบัญชา

“การทรมานไม่ได้กระทำเฉพาะตัวกับเหยื่อ แต่โดนคนเดียวล้มทั้งบ้าน พ่อแม่พี่น้องครอบครัวต้องทุกข์ทรมานและพะวงว่าเหยื่อจะถูกกล่าวหาโดยที่ไม่ได้กระทำความผิด กลัวว่าจะติดคุก ต้องวิ่งเต้นต่อสู้ในกระบวนการยุติธรรมจนเป็นหนี้เป็นสิน”

สมศักดิ์ เล่าว่าสิ่งที่เกิดขึ้นทำให้ครอบครัวเขาเป็นทุกข์และวิตกกังวลตลอดมา และหากหลุดพ้นจากขั้นตอนในกระบวนการยุติธรรมทั้งหมดแล้วสิ่งที่ตามมาคือหนี้สินที่ครอบครัวต้องรับภาระ

“การละเมิดสิทธิด้วยการซ้อมทรมานเป็นนรกโลกันต์ที่ใครได้สัมผัสแล้วจะเข้าใจ เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องไกลตัว ใครถูกกระทำจะรู้ได้ว่าเป็นสิ่งใกล้ตัวที่สุด เพราะเจ้าหน้าที่รัฐยังใช้อำนาจในการละเมิดประชาชนแบบนี้อยู่ เรื่องนี้ทุกคนรู้อยู่แล้ว ‘อ๋อ ตำรวจซ้อมประชาชนเหรอ มันก็ทำกันทั้งนั้น’ อย่ายอมรับว่านี่เป็นวิถีชีวิตหรือเป็นอัตลักษณ์ของประเทศเรา”

สิ่งที่สมศักดิ์ต้องการคือกฎหมายที่มีบทลงโทษผู้บังคับบัญชาที่ปล่อยให้เกิดการซ้อมทรมานประชาชนในหน่วยงานที่รับผิดชอบ เพราะหากปล่อยให้ผู้ใต้บังคับบัญชาดำเนินการโดยไม่ดูแลหรือแก้ไข ปัญหานี้ก็จะเกิดขึ้นไม่จบสิ้น

“ถ้ามีบทลงโทษให้ผู้บังคับบัญชาต้องรับผิดชอบด้วย เขาก็จะคอยดูแล เหมือนพ่อแม่เลี้ยงลูกก็จะไม่ปล่อยให้ลูกออกไปดื้อเกเรหรือทำร้ายใคร เพราะถ้าลูกไปเกเรแล้วพ่อแม่ต้องรับผิดชอบด้วย จึงต้องคอยหมั่นสั่งสอนลูกน้อง สังคมเราปล่อยกันมาไกลแล้ว ใครอยากทำอะไรก็ทำ ผู้บังคับบัญชาไม่ต้องมารับผิดชอบ นี่คือสิ่งที่ผมต้องการ” สมศักดิ์กล่าว

สมศักดิ์ ชื่นจิตร
สมศักดิ์ ชื่นจิตร (ภาพจาก Amnesty International Thailand)

อุ้มหายไม่เป็นอาชญากรรม เปิดช่อง ฆ่า-ทำลายหลักฐาน

อีกหนึ่งความรุนแรงที่เจ้าหน้าที่รัฐใช้ทำลายศัตรูทางการเมืองคือการบังคับให้สูญหายหรืออุ้มหาย ซึ่งมีการใช้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็นนวัตกรรมของเจ้าหน้าที่รัฐที่จะกำจัดบุคคลโดยไม่ถูกเอาผิด

รายงานของสหประชาชาติบันทึกข้อมูลบุคคลที่ถูกอุ้มหายของประเทศไทยที่ยังไม่ได้รับการคลี่คลายไว้อย่างน้อย 82 กรณี โดยนับจากปี 2534 จากการหายตัวไปของ ทนง โพธิ์อ่าน ผู้นำแรงงานที่สูญหายไปหลังเหตุการณ์ รสช. แต่ในความเป็นจริงการอุ้มฆ่าเป็นวิธีการที่ถูกใช้มาก่อนหน้านั้นเป็นเวลายาวนาน เช่น เหตุการณ์ ‘ถังแดง’ ในภาคใต้ช่วงสงครามเย็น ที่มีผู้เสียชีวิตราวสามพันคนจากการถูกทิ้งลงมาจากเฮลิคอปเตอร์และการเผาร่างในถังน้ำมันแล้วนำเถ้าทิ้งแหล่งน้ำซึ่งทำให้เหลือร่องรอยน้อย

เหตุที่ประเด็นการอุ้มหายชี้ไปที่เจ้าหน้าที่รัฐเป็นส่วนใหญ่ เพราะการบังคับบุคคลให้สูญหายโดยไม่สามารถสืบเสาะหลักฐานที่จะเอาผิดผู้กระทำได้นั้นต้องใช้ทรัพยากรมาก เช่น การอำพรางศพโดยนำขึ้นเฮลิคอปเตอร์ไปทิ้งในป่าห่างไกล การเผาร่างจนเหลือขี้เถ้าเศษกระดูกแล้วไปทิ้งกลางทะเล ใช้คนและเวลามากอีกทั้งต้องทำในสถานที่ลับสายตาคนทั่วไป

ผู้ที่จะทำได้จึงต้องเป็นผู้มีอำนาจหรือเจ้าหน้าที่รัฐที่มีเครื่องมือและโครงสร้างอำนาจต่างๆ เกื้อหนุนอุ้มชูอยู่

เป็นที่รู้กันว่าการดำเนินคดีเจ้าหน้ารัฐนั้นเป็นสิ่งที่ยากเย็นยิ่ง โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ระดับสูงที่มีส่วนในการใช้ความรุนแรงกับประชาชน แม้จะมีองค์กรที่ทำหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของภาครัฐอันเป็นอีกกลไกที่น่าจะเป็นที่พึ่งแก่ประชาชน แต่หลายครั้งที่องค์กรเหล่านี้ถูกตั้งคำถามถึงความโปร่งใสที่มีทิศทางการทำงานเป็นเนื้อเดียวกันกับผู้มีอำนาจ จนทำให้ครอบครัวผู้เสียหายไม่สามารถเข้าถึงความยุติธรรมได้

14 ปี ที่ ทนายสมชาย นีละไพจิตร หายตัวไปจากการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายในคดีละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยศาลฎีกายกฟ้องตำรวจ 5 นายในคดีกักขังหน่วงเหนี่ยวและกรมสืบสวนคดีพิเศษมีมติงดสืบสวนเนื่องจากไม่พบผู้กระทำผิด

4 ปี ที่ พอละจี รักจงเจริญ หรือ บิลลี่ หายตัวไปหลังออกมาสู้เพื่อสิทธิชุมชนปกาเกอะญอแก่งกระจาน หลังพบว่าสามีไม่กลับบ้าน พิณนภา พฤกษาพรรณ ภรรยาบิลลี่ได้เข้าแจ้งความกับตำรวจ แต่เจ้าหน้าที่บอกว่าบิลลี่ถูกเจ้าหน้าที่อุทยานจับตัวไปไม่สามารถแจ้งความได้ ต่อมาเมื่อไปแจ้งความอีกเจ้าหน้าที่กลับบอกให้เธอไปหาข้อมูลหลักฐานมา

หลายครั้งจากการยื่นเรื่องกับหลายองค์กร พิณนภาพบคำตอบที่น่าผิดหวังเมื่อไม่มีหลักฐานเพียงพอจะดำเนินคดี ขณะที่กรมสืบสวนคดีพิเศษปฏิเสธจะรับเป็นคดีพิเศษ เพราะพิณนภาผู้ยื่นเรื่องไม่ได้เป็นภรรยาที่จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย โดยระบุว่าหากพบศพจึงจะดำเนินคดีต่อได้ แต่ต่อมาหลังมีแรงกดดันจากนานาชาติ ได้มีการรับเป็นคดีพิเศษเมื่อ มิ.ย. 2561

2 ปี ที่ เด่น คำแหล้ หายไปจากโคกยาว หลังเป็นแกนนำออกมาต่อสู้เรียกร้องสิทธิที่ดินชุมชน เมื่อเด่นหายตัวไป สุภาพ คำแหล้ ผู้เป็นภรรยาพร้อมคนในชุมชนต้องระดมกำลังค้นหาร่องรอยคนหายในป่าเอง โดยตำรวจบอกว่าเป็นพื้นที่รับผิดชอบของเจ้าหน้าที่ป่าไม้ และชาวบ้านยังเป็นผู้นำหลักฐานที่พบไปส่งมอบให้เจ้าหน้าที่ถึงสถานีตำรวจ โดยต่อมาพบกะโหลกที่เป็นหลักฐานยืนยันว่าเสียชีวิตแล้ว

การไม่มีกฎหมายรองรับกลายเป็นภาระให้ครอบครัวและญาติผู้สูญหายต้องค้นหาหลักฐานเอง ซึ่งแทบเป็นไปไม่ได้เมื่อคู่กรณีเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ และหากไม่พบชิ้นส่วนร่างกายก็ไม่มีหลักฐานให้ตำรวจสืบสวนดำเนินคดีได้

ซ้ำร้ายการไม่มีหลักฐานว่าเหยื่อเสียชีวิตหรือบาดเจ็บจนไม่สามารถดำเนินคดีเองได้ ครอบครัวจึงไม่ใช่ผู้เสียหายที่จะดำเนินคดีแทนผู้ถูกอุ้มหายได้ และทำให้ข้อกล่าวหาเหลือเพียงกักขังหน่วงเหนี่ยว ไม่ใช่ฆาตกรรมหรือทรมาน

ภาวะเช่นนี้ซ้ำเติมครอบครัวเหยื่อให้เผชิญความอยุติธรรมอย่างโดดเดี่ยวโดยไม่มีช่องทางนำคนผิดมาลงโทษ และเปิดช่องทางให้เจ้าหน้าที่รัฐใช้วิธีการนี้ต่อไป

พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ
พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ (ภาพจาก Amnesty International Thailand)

วาบความหวัง พ.ร.บ.ป้องกันทรมาน-อุ้มหาย

ปัญหาเรื่องกฎหมายที่ไม่ครอบคลุมนั้นมีความพยายามจากกระทรวงยุติธรรมและภาคประชาสังคมที่ริเริ่มให้มีการร่าง ‘พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย’ ตั้งแต่ปี 2557

จากการลงนามและให้สัตยาบันใน ‘อนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทรมานและการปฏิบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (UNCAT)’ ทำให้ไทยมีพันธกรณีในการออกกฎหมายที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการลงนามใน ‘อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ (ICPPED)’ ที่ สนช. มีมติเห็นชอบที่จะให้สัตยาบันแต่ยังไม่ดำเนินการ

ที่ผ่านมามีการทวงถามในที่ประชุมทบทวนการบังคับใช้กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) และแถลงการณ์แสดงความกังวลขององค์กรสิทธิมนุษยชนนานาชาติหลายครั้ง ถึงความล่าช้าของกฎหมายและคดีอุ้มหายนักสิทธิมนุษยชนไทยที่ไม่มีความคืบหน้า

ล่าสุด 3 ธ.ค. 2561 คณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (วิป สนช.) เห็นชอบร่างพ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว โดยจะเสนอให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณาในวันที่ 20 ธ.ค.นี้

อ่าน ร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ….

ข้อสังเกตจากร่างฉบับล่าสุด มีการนิยาม ‘เจ้าหน้าที่รัฐ’ ว่า “บุคคลซึ่งใช้อำนาจรัฐหรือได้รับมอบอำนาจ หรือได้รับแต่งตั้ง อนุญาต การสนับสนุน หรือการยอมรับโดยตรงหรือโดยปริยาย ให้ใช้อำนาจรัฐ ในการดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งตามกฎหมาย” แต่อาจไม่ครอบคลุมถึงกรณีที่บุคคลอื่นที่ดำเนินการแทนโดยได้รับการยุยง ยินยอม รู้เห็นเป็นใจจากเจ้าหน้าที่รัฐ หรือกรณีที่เจ้าหน้าที่รัฐรับรู้แต่เพิกเฉย

มาตรา 23 มีข้อยกเว้นที่อาจเปิดช่องทางให้มีการทรมานหรืออุ้มหายได้ว่า “เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ทำการจำกัดเสรีภาพบุคคลหรือศาล อาจไม่เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับผู้ถูกจำกัดเสรีภาพตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 21 หากการเปิดเผยดังกล่าวอาจก่อให้เกิดอันตรายหรือละเมิดต่อความเป็นส่วนตัวของบุคคล หรือเป็นอุปสรรคต่อการสืบสวนคดีอาญา”

คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหายมีสัดส่วนจากหน่วยงานของรัฐจำนวนมาก อีกทั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิไม่มีที่มาที่ชัดเจน

นอกจากนี้ยังคงมีปัญหาต่อการออกมาเรียกร้องความเป็นธรรมของผู้เสียหายที่ไม่ได้ระบุอยู่ในกฎหมายฉบับนี้ เช่น การฟ้องปิดปากบุคคลที่ออกมาเปิดเผยว่ามีการซ้อมทรมานโดยเจ้าหน้าที่รัฐ สร้างภาระทางกฎหมายและทำให้เหยื่อเกิดความหวาดกลัว

พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม เผยว่า พ.ร.บ.ฉบับนี้ เนื้อหาเริ่มแรกเป็นร่างที่นักสิทธิมนุษยชนพอจะรับได้ แต่เมื่อนำเข้า สนช. แล้วมีการนำกลับมาแก้ไขปรากฏว่ามีการนำ 2 มาตราที่สำคัญออก คือ เรื่องการห้ามส่งกลับบุคคลที่มีความเสี่ยงต่อการทรมานและอุ้มหาย และเรื่องการห้ามทรมานโดยอ้างสถานการณ์ฉุกเฉิน

ร่างฉบับล่าสุดมีการนำ 2 เรื่องสำคัญนี้กลับมาในมาตรา 11 และ มาตรา 12 ซึ่ง พรเพ็ญ ยังคงมีความกังวลหากมีการปรับเปลี่ยนเนื้อหาส่วนนี้ในขั้นตอนของ สนช.

“สองมาตรานี้เป็นเงื่อนไขที่จะทำให้ใช้การทรมานได้ทั้งในประเทศและร่วมมือกับประเทศอื่นในการส่งกลับบุคคลตามคำร้องขอของประเทศต่างๆ ได้ เจตนารมณ์ของอนุสัญญาทั้งสองฉบับ (UNCAT-ICPPED) คือห้ามกระทำโดยเด็ดขาดไม่ว่าจะสถานการณ์ใด หลายคนบอกว่าทั้งสองหลักการนี้เป็นเรื่องที่ไม่ทำอยู่แล้วในจารีตประเพณีกฎหมายระหว่างประเทศ แต่โดยเนื้อหาแล้วประเทศไทยทำอยู่ตลอด หากเขียนไว้ในกฎหมายไทยจะสามารถนำมากล่าวอ้างในระบบกลไกกฎหมายได้อย่างหนักแน่นมากขึ้น”

พรเพ็ญ ย้ำว่าประเทศไทยจำเป็นต้องมีกฎหมายฉบับนี้จากการไปลงนามและให้สัตยาบันใน UNCAT และการลงนามใน ICPPED จึงต้องทำให้สองข้อหานี้เป็นความผิดทางอาญา

“ประเทศไทยมาถูกทางแล้ว ในการร่างกฎหมายฉบับนี้ขึ้นมาเพื่อห้ามไม่ให้มีการทรมานและบังคับให้สูญหาย แต่หลักการบางประการที่ พ.ร.บ. ฉบับนี้จะต้องยึดมั่นและไม่แก้ไข คือ มาตรา 11 กับมาตรา 12 ส่วนเรื่องอื่นๆ เป็นเรื่องการนำมาใช้ซึ่งต้องผ่านการให้ความรู้ทางกฎหมายทั้งผู้ปฏิบัติและผู้บังคับใช้ โดยมีมาตรการป้องกัน” พรเพ็ญกล่าว

อย่างน้อยพ.ร.บ.ฉบับนี้เป็นความหวังว่าจะเป็นปัจจัยช่วยทัดทานการใช้ความรุนแรงโดยเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งจะส่งผลต่อความโปร่งใสในกระบวนการยุติธรรมและทำให้ครอบครัวผู้เสียหายได้รับการปฏิบัติอย่างที่ควรจะเป็น

ทั้งหมดนี้จะเกิดขึ้นผ่านการเห็นชอบของสภาที่ทำคลอดกฎหมายกว่า 300 ฉบับใน 4 ปีแต่เคยตีตกกฎหมายฉบับนี้มาแล้ว ซึ่งที่ผ่านมามีความกังวลว่าบุคคลที่นั่งใน สนช. จำนวนมากเป็นเจ้าหน้าที่รัฐหรือมีส่วนยึดโยงกับองค์กรที่จะถูกบังคับใช้กฎหมาย โดยเฉพาะประเด็นที่จะให้ผู้บังคับบัญชาร่วมรับผิดชอบกับการซ้อมทรมานอุ้มหายที่ลูกน้องทำ

จึงอาจเป็นอีกครั้งที่จะได้เห็นหัวจิตหัวใจของสนช.

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save