fbpx
อ่านอินเดียในระเบียบโลกใหม่ ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

อ่านอินเดียในระเบียบโลกใหม่ กับ ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

กานต์ธีรา ภูริวิกรัย เรื่อง

 

 

มีผู้เปรียบเปรยไว้ว่า อินเดียทั้งเก่าแก่และอ่อนเยาว์ในเวลาเดียวกัน – ‘เก่าแก่’ ในฐานะอู่อารยธรรมของโลก หาก ‘อ่อนเยาว์’ ในฐานะประเทศเอกราชที่เพิ่งถือกำเนิดขึ้นเมื่อ 73 ปีก่อนหน้า เมื่อชวาหร์ลาล เนห์รู อ่านสุนทรพจน์ ‘Tryst with Destiny’ ที่ป้อมแดง กรุงเดลี ในโอกาสการประกาศอิสรภาพของอินเดีย หลังจากตกอยู่ใต้การปกครองของสหราชอาณาจักรมาหลายสิบปี

แม้ ‘ประเทศอินเดีย’ อาจอ่อนเยาว์ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า อินเดียก้าวขึ้นมาเป็นประเทศระดับแนวหน้าได้อย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นในด้านการเมือง เศรษฐกิจ หรือสังคมวัฒนธรรม และด้วยความที่อินเดียเป็นประเทศที่มีขนาดใหญ่และมีศักยภาพหลายด้าน ทำให้หลายคนจับตามองและตั้งคำถามว่า อินเดียจะสามารถไล่ตามจีน และก้าวขึ้นมาเป็นหนึ่งในมหาอำนาจของโลกได้หรือไม่ และในยุคที่การเมืองโลกถูก ‘เขย่า’ ด้วยเทคโนโลยีและโรคระบาด อินเดียจะวางยุทธศาสตร์การต่างประเทศของตนเองอย่างไร

101 สนทนากับ ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก คอลัมนิสต์ประจำ The101.world และผู้ที่สนใจศึกษาอินเดียในมิติทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม ไล่เรียงตั้งแต่อินเดียบนเวทีโลก อินเดียกับเอเชียใต้ จีน และอาเซียน รวมถึงความร่วมมือระดับภูมิภาคเพื่อรับมือกับโควิด-19 (บันทึกเทปเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2563)

หมายเหตุ: คุณศุภวิชญ์แจ้งแก้ไขข้อมูลใน podcast ว่า ความสัมพันธ์ไทย-จีนในปีนี้ครบรอบ 45 ปี

 

อินเดียบนเวทีโลก

 

การนิยามความเป็นมหาอำนาจของอินเดียต้องเริ่มจากการมองภาพความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและการเมืองโลกก่อน ในกรณีของอินเดีย ต้องบอกตามตรงว่า อินเดียยังเป็นมหาอำนาจระดับกลางหรือระดับภูมิภาคเท่านั้น แต่ในความคิดของอินเดีย เขาพยายามจะขยายอิทธิพลหรือระดับความเป็นมหาอำนาจของตัวเองมาก แต่ก็ต้องยอมรับว่าอินเดียยังมีข้อจำกัดหลายๆ เรื่อง เมื่อเทียบกับมหาอำนาจชาติอื่นที่อยู่บนเวทีโลก เช่น ปัญหาด้านเศรษฐกิจหรือสังคมในประเทศ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่อาจจะฉุดรั้งการขยายตัวของอินเดีย เราต้องไม่ลืมว่า อินเดียมีประชากรประมาณ 1,300-1,400 ล้านคน แต่ประชากรราวๆ 30% ยังอยู่ใต้เส้นความยากจนอยู่เลย นอกจากนี้ อินเดียยังมีปัญหาเรื่องความขัดแย้งระหว่างรัฐที่เพิ่งผนวกเข้ามา รวมถึงเรื่องการก่อการร้าย ตรงนี้ทำให้อินเดียยังไม่สามารถโฟกัสไปที่เรื่องการต่างประเทศได้เต็มร้อย เพราะกิจการภายในยังวุ่นวายอยู่

แต่ที่น่าสนใจคือ เมื่อกลางเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา อินเดียเพิ่งได้รับสถานะสมาชิกไม่ถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) ซึ่งถือเป็นตำแหน่งสำคัญในเวทีโลก เมื่อเราดูเชิงศักยภาพการทหาร จะเห็นว่าอินเดียมีศักยภาพทางการทหารใหญ่เป็นอันดับ 4 ของโลก มีจำนวนทหารมากเป็นอันดับ 2 ของโลก เป็นรองเพียงแค่จีนเท่านั้น

นอกจากนี้ ถ้าเราย้อนไปในยุคสงครามเย็น อินเดียถือว่าเป็นแกนนำของมหาอำนาจโลกที่เรียกว่า ‘กลุ่มไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด’ (Non-Aligned Movement) คู่ไปกับโลกขั้วเสรีที่นำโดยสหรัฐฯ และขั้วสังคมนิยมที่นำโดยสหภาพโซเวียต นี่ก็สะท้อนว่า อินเดียไม่อยากตกอยู่ใต้อำนาจใคร และเขาก็คิดเสมอว่า ตนเองต้องยกระดับความเป็นมหาอำนาจของตนเองขึ้นมา แต่ก็อย่างที่บอกไปว่า อินเดียยังเป็นมหาอำนาจที่จำกัดวงอยู่ในภูมิภาคเอเชียหรือเอเชียใต้เท่านั้น หรือเป็นมหาอำนาจระดับกลาง เป็น emerging power ที่กำลังขยับขยายเข้ามาในเวทีโลกมากขึ้น ผ่านการสร้างความร่วมมือทางการทหารและความมั่นคงกับหลายประเทศ โดยเฉพาะในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ภายใต้การนำของพรรค BJP และนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี เราจะเห็นความพยายามสร้างภาพใหม่ของอินเดียบนเวทีโลก และเราต้องไม่ลืมว่า อินเดียเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศบนโลกที่ครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ด้วย

 

นโยบายการต่างประเทศของอินเดีย

 

แนวนโยบายการต่างประเทศส่วนใหญ่ของอินเดียจะถูกกำหนดโดยกระทรวงการต่างประเทศและข้าราชการ ซึ่งเมื่อปี 2019 ผู้ที่ขึ้นนั่งตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศคนใหม่ของอินเดียคือ Dr Subrahmanyam Jaishankar ซึ่งเป็นอดีตนักการทูต และเป็นมือขวาคนสำคัญของอดีตรัฐมนตรีฯ คนก่อนที่ไม่ต่ออายุเพราะปัญหาสุขภาพ การขึ้นมาของ Jaishankar ก็เป็นเหมือนกับการทำหน้าที่สานต่อนโยบายการต่างประเทศของอินเดีย สิ่งสำคัญคือ นี่จะช่วยให้การโยงเครือข่ายความสัมพันธ์ระหว่างประเทศระหว่างส่วนงานราชการกับการเมืองง่ายขึ้น

อย่างไรดี ลักษณะพิเศษของ Jaishankar คือ เขาเป็นอดีตเอกอัครราชทูตประจำสหรัฐฯ และจีนมาก่อน การเลือกเขาขึ้นมาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจึงสะท้อนให้เห็นว่า อินเดียมองเห็นสถานการณ์ในอนาคตที่สหรัฐฯ และจีนจะมีความขัดแย้งกันมากขึ้น ทำให้อินเดียเหมือนอยู่ในสภาวะที่ระบอบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศกำลังเปลี่ยนแปลง การที่นักการทูตมืออาชีพที่มีองค์ความรู้ทั้งสองด้านขึ้นมาเป็นรัฐมนตรี ก็จะช่วยในสถานการณ์การเมืองเช่นนี้มากขึ้น

สิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งของ Jaishankar คือ เขาเป็นปลัดกระทรวงการต่างประเทศในช่วงที่อินเดียกับจีนมีปัญหาข้อพิพาทกันเมื่อปี 2017 การเข้ามาของเขาจึงอาจจะทำให้มีการแก้ไขปัญหาระหว่างอินเดียกับจีนที่มีมาก่อนหน้านี้มากขึ้น สิ่งหนึ่งที่ผมสังเกตเห็นคือ ด้วยความที่เขาเป็นนักการทูตมาก่อน ลักษณะท่าทีและการใช้คำพูดจึงจะมีความอ่อน (soft) กว่านักการเมือง เพราะนักการเมืองมุ่งเน้นระบบฐานเสียง ซึ่งจะเปลี่ยนแปลงไปตามความคาดหวังของประชาชน แต่นักการทูตจะยึดโยงเรื่องผลประโยชน์แห่งชาติและมองเรื่องความสัมพันธ์ระยะยาวระหว่างประเทศ เราจึงจะเห็นโทนการใช้คำพูดของอินเดียที่ดูอ่อนลงในยุคของเขา ซึ่งก็อาจบอกได้ว่า เป็นลักษณะส่วนบุคคลด้วย

ถ้าเรามองนโยบายการต่างประเทศของอินเดียในภาพรวม จะเห็นว่าอินเดียยังคงเน้นความสำคัญกับ ‘เพื่อนบ้านมาก่อน’ แม้จะมีสถานการณ์ความเปลี่ยนแปลงในหลายๆ เรื่อง รวมถึงเน้นการสร้างความร่วมมือกับประเทศมหาอำนาจ จัดการปัญหาที่มีกับปากีสถาน และผลักดันนโยบาย Act East ซึ่งเป็นนโยบายที่นายกฯ โมดีคาดหวังมาก

 

เมื่อ จีน รุกคืบเข้ามาในเอเชียใต้

 

ถ้าย้อนประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศหรือแนวนโยบายการต่างประเทศของอินเดีย ต้องย้อนไปถึงสมัยนายกฯ ชวาหร์ลาล เนห์รู ประมาณช่วงที่อินเดียก่อตั้งประเทศในปี 1947 คนที่ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของอินเดียจะรู้จัก Nehruvian foreign policy คือนายกฯ เนห์รูเป็นเหมือน founding father ผู้ออกแบบแนวนโยบายต่างประเทศของอินเดีย และกลายเป็นแบบแผนสำคัญของการออกแบบนโยบายต่างประเทศของอินเดียตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

หนึ่งในนโยบายสำคัญคือ Neighbourhood first policy หรือนโยบายเพื่อนบ้านมาก่อน อินเดียจะมองว่า การให้ความสำคัญกับเพื่อนบ้านถือเป็นนโยบายต่างประเทศอันดับแรกของตน เพราะถ้าเพื่อนบ้านสงบ เป็นมิตรที่ดี ก็จะนำมาสู่ความปลอดภัยและมั่นคงของอินเดียด้วย อย่างไรก็ตาม ด้วยความที่ช่วงนั้นเป็นสภาวะสงครามเย็น ประเทศเพื่อนบ้านส่วนใหญ่ของอินเดียก็เหมือนเติบโตและหลุดพ้นจากความเป็นอาณานิคมมาพร้อมๆ กัน อินเดียที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่กว่าจึงเป็นเหมือน ‘พี่ใหญ่’ ที่ให้ความช่วยเหลือด้านเศรษฐกิจกับประเทศรอบข้าง รวมถึงการเข้าไปแทรกแซงกิจการการเมืองของประเทศเพื่อนบ้านเพื่อสร้างความมั่นคงให้กับตัวเอง นี่หมายความว่า การที่เพื่อนบ้านไม่มีความเปลี่ยนแปลงอะไรมากก็นำมาสู่ผลประโยชน์ของอินเดียด้วยเช่นกัน เพราะเพื่อนบ้านถือเป็นหลังบ้านของอินเดีย ลักษณะแบบนี้เหมือนกันทุกประเทศ โดยเฉพาะประเทศใหญ่ๆ อย่างสหรัฐฯ ก็มองว่าลาตินอเมริกาเป็นเหมือนหลังบ้านของตนเช่นกัน

แต่ในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา สถานการณ์ในภูมิภาคเอเชียใต้เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะหลังวิกฤตเศรษฐกิจปี 2008 ซึ่งอินเดียก็ยังเล่นบทบาทเดิมอยู่ แต่ไม่เป็นผล เพราะสถานะความสัมพันธ์ของอินเดียกับประเทศเพื่อนบ้านเริ่มลดลง เนื่องจากประเทศจีนเริ่มขยายอิทธิพลเข้ามาในภูมิภาคนี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่าแต่ก่อน เพื่อนบ้านมีแค่อินเดียเป็นที่พึ่งพา เวลาอินเดียบอกกล่าวหรือแนะนำอะไร ก็มีแนวโน้มที่พวกเขาจะปฏิบัติตาม เพราะอินเดียเป็นเหมือนผู้ให้ทุนหรือสนับสนุนด้านเศรษฐกิจรายใหญ่ของหลายประเทศ เช่น ในภูฏาน เนปาล หรือบังกลาเทศ

แต่เมื่อจีนเข้ามา เพื่อนบ้านของอินเดียมีตัวเลือกมากขึ้น ยิ่งไปกว่านั้นคือ จีนมาพร้อมเงินทุนที่หนากว่า เทคโนโลยีที่ดีกว่า แถมยังมีข้อเสนอที่ยั่วยวนจิตใจมากกว่า พูดให้ชัดกว่านั้นคือ แม้อินเดียจะให้เงินทุนทางเศรษฐกิจ แต่ก็มาพร้อมกับเงื่อนไขต่างๆ เช่น ความเป็นประชาธิปไตยหรือเสรีนิยม แต่สำหรับจีน คุณจะเป็นอะไรก็ช่าง ถ้าพร้อมจะรับเงินทุนของฉันก็โอเค

กรณีที่เราเห็นชัดเจนคือศรีลังกา ที่เรามักได้อ่านประเด็นเรื่องกับดักหนี้สาธารณะของจีนในศรีลังกา เรื่องนี้ก็มีการถกเถียงและพูดกันมากว่า เป็นกับดักที่จีนวางไว้ แต่ผมต้องขอย้อนไปในสถานการณ์ของศรีลังกาก่อนว่า ก่อนหน้านี้ ศรีลังกาเจอกับปัญหาถูกคว่ำบาตรจากนานาชาติ รวมถึงอินเดีย ในประเด็นการปราบปรามกบฏพยัคฆ์ทมิฬอีแลม ที่เรียกว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน ตอนนั้นไม่มีเงินทุนไหลเข้ามาในศรีลังกาเลย แต่จีนใช้โอกาสตรงนี้และมาพร้อมกับข้อเสนอเงินกู้ ซึ่งถ้าเรามองในด้านผลประโยชน์ระหว่างประเทศของศรีลังกาในตอนนั้นก็ต้องยอมรับว่า มีแค่จีนที่เสนอเงินเข้ามาให้เขาพัฒนาประเทศ ขณะที่อินเดียไม่สามารถเสนออะไรให้ได้เพราะไปร่วมคว่ำบาตร ศรีลังกาก็ต้องคว้าทุกอย่างไว้ นี่เลยเป็นต้นตอปัญหาของกับดักหนี้สาธารณะ และเป็นการเพิ่มอิทธิพลของจีนในภูมิภาคนี้ ซึ่งจีนจะใช้โมเดลนี้กับหลายประเทศ ถ้าเป็นอาเซียนก็คือเมียนมา ที่จีนไม่ได้สนใจว่าสหรัฐฯ จะแบนเมียนมาหรือไม่ เขาก็ยังลงทุนตามปกติ

การกระทำแบบนี้ทำให้บทบาทในเชิงเศรษฐกิจของจีนเพิ่มเข้ามาในภูมิภาคมากขึ้น หลายประเทศเริ่มจับมือกับจีนมากขึ้น และหลีกห่างจากอินเดีย โดยเฉพาะในแง่ของเศรษฐกิจ ถ้าเราดูกรณีของเนปาล บังกลาเทศ ศรีลังกา หรือมัลดีฟส์ จะเห็นว่าสัดส่วนการค้าระหว่างประเทศของจีนกับประเทศในภูมิภาคเหล่านี้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา จึงกล่าวได้ว่า การเข้ามาของจีนเปลี่ยนแปลงภูมิรัฐศาสตร์ในเอเชียใต้อย่างมาก โดยเฉพาะการลงทุนในปากีสถาน อันนี้ปฏิเสธไม่ได้ว่า อินเดียมองโครงการ Belt-Road Initiative (BRI) โดยเฉพาะโครงการระเบียงเศรษฐกิจจีน-ปากีสถาน (China-Pakistan Economic Corridor – CPEC) เป็นเหมือนภัยคุกคามสำคัญของเขา เพราะโครงการนี้ทำให้เกิดการพัฒนาในพื้นที่ที่เป็นพื้นที่พิพาทระหว่างอินเดียกับปากีสถาน และยังมีการที่จีนเช่าท่าเรือระยะยาวในศรีลังกา ตรงนี้ก็สั่นคลอนความมั่นคงของอินเดียในมหาสมุทรอินเดียด้วย

อย่างไรก็ตาม อินเดียก็พยายามอย่างมากที่จะแข่งขันกับการขยายอำนาจของจีน แต่ด้วยความที่จีนมีเงินทุนหนากว่า และมีการเติบโตทางเศรษฐกิจและศักยภาพทางการทหารที่ก้าวหน้ามากกว่า ทำให้ความพยายามท้าทายจีนด้วยตัวเองเป็นไปได้ยาก อินเดียจึงได้แสวงหาพันธมิตร ทั้งในแง่เศรษฐกิจและการทหาร ให้เข้ามาดำเนินการในภูมิภาคมากขึ้น เช่น การซ้อมรบระหว่างสหรัฐฯ ญี่ปุ่น และอินเดีย หรือที่เราเรียกว่า Malabar Naval Exercise และความร่วมมือ The Quad ที่ประกอบด้วย สหรัฐฯ ญี่ปุ่น อินเดีย และออสเตรเลีย ตรงนี้ก็เป็นความพยายามของอินเดียในการปกป้องหรือป้องกันการขยายอิทธิพลของจีนที่จะเข้ามาในภูมิภาคนี้ด้วย

 

จากเพื่อนรักสู่เพื่อนร้าย: ย้อนมองความสัมพันธ์และประเด็นความขัดแย้งจีนอินเดีย

 

(1) ย้อนมองความสัมพันธ์จีน-อินเดีย

จริงๆ ปีนี้จีนกับอินเดียได้ฉลองครบรอบ 70 ปีที่มีความสัมพันธ์ต่อกันอย่างเป็นทางการไป ถ้าเทียบกับไทย ปีนี้เราเพิ่งฉลอง 45 ปีความสัมพันธ์ไทย-จีน นั่นหมายความว่า อินเดียเจริญสัมพันธไมตรีกับ ‘สาธารณรัฐประชาชนจีน’ (จีนแผ่นดินใหญ่) ตั้งแต่จีนเปลี่ยนระบบก็ว่าได้ ถ้าย้อนไปดูประวัติศาสตร์ จะเห็นว่าอินเดียเป็นประเทศประชาธิปไตยแรกๆ ในเอเชียที่ยอมรับสถานะพรรคคอมมิวนิสต์จีนเหนือการปกครองจีน และเลือกที่จะตัดความสัมพันธ์กับรัฐบาลสาธารณรัฐหรือรัฐบาลพรรคก๊กมินตั๋ง (ปัจจุบันคือไต้หวัน) ขณะที่หลายประเทศยังยอมรับรัฐบาลสาธารณรัฐอยู่ นี่ก็สะท้อนว่า ในช่วงเวลาที่จีนก่อตั้งประเทศ (สถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน ปี 1949) และอินเดียก่อตั้งประเทศ (1947) ความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศนี้ดีมาโดยตลอด

ถ้าเราย้อนดูความสัมพันธ์ในเวลานั้น ผมต้องเรียกว่า ความสัมพันธ์อยู่ในระดับสูงมากและดีมาก ถึงขนาดที่ว่า ครั้งหนึ่งนายกฯ เนห์รูปฏิเสธที่นั่งใน UNSC หลายคนวิเคราะห์ว่า เนห์รูทำเช่นนี้เพราะกลัวมีปัญหากับจีน ขณะที่เนห์รูก็มองว่า ประเทศกำลังพัฒนาหรือประเทศเกิดใหม่อย่างจีนและอินเดียควรจะร่วมมือกัน และเป็นแกนนำของประเทศกำลังพัฒนาในการต่อสู้กับภัยคุกคามรูปแบบใหม่ หรือสงครามเย็นในเวลานั้น จนในช่วงราวทศวรรษที่ 1950 ถึงกับมีคำพูดติดปากว่า “ฮินดี ชินี ไบ ไบ” (Hindi Chini Bhai Bhai) แปลว่า อินเดีย-จีนพี่น้องกัน (India and China are brothers)

ส่วนความสัมพันธ์ส่วนตัวของผู้นำก็ถือว่าอยู่ในระดับดีมาก มีการเดินทางเยือนกันระหว่างนายกฯ เนห์รูและนายกฯ โจว เอินไหล ของจีน และยังมีการเขียนจดหมายส่วนตัวเพื่อปรึกษาหารือเรื่องการต่างประเทศ ความมั่นคง หรือเศรษฐกิจ และราวทศวรรษที่ 1950 อินเดียถึงขนาดเชิญผู้บัญชาการทหารกองทัพปลดแอกประชาชนจีนมาเป็นแขกกิตติมศักดิ์ (chief guest) ในวันสาธารณรัฐ (Republic Day) ของอินเดีย

แต่จุดพลิกผันของความสัมพันธ์จีน-อินเดียเกิดขึ้นตอนจีนเคลื่อนทัพบุกทิเบต ทำให้อินเดียกับจีนมีพรมแดนติดกันทันที จากที่แต่เดิมเคยมีทิเบตกั้น ต้องอธิบายก่อนว่า หลายคนอาจจะเข้าใจว่าการยึดครองทิเบตเป็นนโยบายของพรรคคอมมิวนิสต์จีน แต่จริงๆ นี่เป็นนโยบายของพรรคก๊กมินตั๋งหรือระบบสาธารณรัฐมาโดยตลอด คือจีนอ้างสิทธิเหนือทิเบตมาตั้งแต่ยุคราชวงศ์ชิงแล้ว แต่สิ่งที่พรรคคอมมิวนิสต์ทำคือ ใช้กำลังทหารเข้าไปบุกทิเบตจนผนวกรวมทิเบตเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของจีนได้

จุดที่น่าสนใจคือ หลักฐานทางประวัติศาสตร์แสดงให้เห็นว่า จีนเข้าไปในทิเบต 2 ช่วง ช่วงแรกคือประมาณต้นปี 1950 ซึ่งในช่วงแรกนี้ อินเดียไม่ได้มองว่า การเข้าไปของจีนเป็นปัญหาเลย จริงๆ มีหลักฐานถึงขั้นว่า อินเดียเป็นผู้ส่งออกข้าวให้กองทัพปลดแอกประชาชนจีนเสียด้วยซ้ำ เพราะจีนกับอินเดียมีสัญญาการค้าข้าวกัน ทำให้อินเดียส่งข้าวผ่านช่องทางธรรมชาติที่ปกติเป็นเส้นทางการค้าระหว่างจีน-อินเดีย-ทิเบต อยู่แล้ว จนมีการตั้งคำถามว่า การที่จีนยึดทิเบตได้เป็นเพราะอินเดียช่วยสนับสนุนหรือไม่

อย่างไรก็ดี ทัศนคติของอินเดียเปลี่ยนไปในปี 1959 คือการยึดครองช่วงที่สอง เมื่อจีนยึดทิเบตแบบถาวร ทำให้องค์ดาไลลามะต้องลี้ภัยจากทิเบตมาอินเดีย ส่งผลให้อินเดียกับจีนมีพรมแดนติดกันถึง 4,056 กิโลเมตร

ตรงนี้จึงเกิดเป็นปัญหาพรมแดนระหว่างสองประเทศ เพราะมุมมองด้านกฎหมายระหว่างประเทศที่ต่างกัน โดยเฉพาะเรื่องการกำหนดเขตแดนที่ทำขึ้นตั้งแต่สมัยอาณานิคมโดยอังกฤษ เราจะเห็นว่า คนชอบพูดถึงเส้นพรมแดนแค่เส้นเดียว แต่จริงๆ มีเส้นที่เป็นปัญหา 2 เส้น เส้นแรกคือ ‘เส้นจอห์นสัน’ (Ardagh–Johnson Line) ที่ถูกขีดในปี 1869 เป็นเส้นที่รัฐบาลอังกฤษทำการสำรวจและขีดขึ้นมา พร้อมทั้งบอกว่า นี่เป็นเส้นแบ่งพรมแดนระหว่างรัฐบาลอังกฤษในอินเดีย กับมณฑลซินเจียงของจีน ซึ่งเส้นนี้ได้ผนวกรวมเอาดินแดนอักไซชินเป็นของอินเดียด้วย และรัฐบาลอินเดียก็ยึดตามเส้นนี้ แต่ปรากฏว่า เส้นนี้ถูกเขียนใหม่อีกครั้งโดยรัฐบาลอังกฤษในปี 1899 เรียกว่า ‘เส้นแม็กคาร์ตนีย์-แมคโดนัลด์’(Macartney–MacDonald Line) ซึ่งระบุว่า อักไซชินเป็นส่วนหนึ่งของจีน และรัฐบาลจีนก็ยึดถือเส้นนี้เป็นหลัก นี่เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหาในพื้นที่ฝั่งลดาข

อีกหนึ่งเส้นที่เป็นปัญหาคือที่อรุณาจัลประเทศ พื้นที่พรมแดนตรงนี้ถูกขีดโดย ‘เส้นแมกมาฮอน’ (McMahon Line) มาจาก Simla Convention 1914 ซึ่งรัฐบาลจีนไม่ได้เข้าร่วมด้วย เป็นอังกฤษกับทิเบตที่ตกลงกัน ทำให้รัฐบาลจีนไม่ยอมรับการตกลงครั้งนั้น เพราะถือว่าทิเบตไม่ได้เป็นตัวแทนของรัฐบาลจีน แต่เป็นส่วนหนึ่งของจีน ข้อตกลงนี้จึงไม่มีผล

เมื่อความเห็นไม่ตรงกันเช่นนี้ นายกฯ โจว เอินไหล ของจีนจึงมองว่า ถ้าปล่อยไปเช่นนี้ต้องเกิดปัญหาระหว่างสองประเทศแน่ จึงยื่นข้อเสนอไปยังนายกฯ เนห์รูของอินเดียให้แลกดินแดนกัน กล่าวคือ จีนจะยอมรับเส้นแมกมาฮอน ให้อรุณาจัลประเทศทั้งหมดเป็นของอินเดีย แต่อินเดียต้องยอมรับว่าอักไซชินเป็นของจีน ตรงนี้ก่อให้เกิดสิ่งที่เรารู้จักกันในชื่อ ‘เส้นควบคุมตามจริง’ (Line of Actual Control – LAC) ซึ่งเป็นเส้นที่ถูกเสนอโดยฝั่งจีน แต่อินเดียไม่ยอมรับข้อเสนอนี้ เพราะเขามองว่าตนเองควรได้ทั้งอรุณาจัลและอักไซชิน ตรงนี้จึงเป็นปัญหาที่นำมาสู่สงครามจีน-อินเดียในปี 1962

 

(2) จากสงครามจีนอินเดีย 1962 สู่ปัญหาข้อพิพาทจีนอินเดีย 2020

ถ้าจะถามว่า สงครามจีน-อินเดียในปี 1962 ใครเป็นฝ่ายเริ่มก่อน ก็ต้องบอกว่า อีกฝ่ายต่างบอกว่าอีกฝ่ายเริ่มก่อนนั่นแหละ แต่ผลของสงครามครั้งนั้นคือ อินเดียแพ้ทำให้เสียดินแดนมากกว่าเดิม จริงๆ จีนถึงขนาดยึดพื้นที่อรุณาจัลได้ทั้งหมด ยึดเขตอักไซชิน และเกือบบุกเข้ามาในลดาขด้วย แต่อินเดียโชคดีอย่างหนึ่งที่สหรัฐฯ เข้ามาช่วยเหลือตามที่ร้องขอไป จีนเองก็ไม่อยากมีปัญหากับสหรัฐฯ เลยยอมถอนทหารออกจากอรุณาจัล แต่ยังคงทหารไว้ที่อักไซชิน ซึ่งแผ่นดินที่จีนถือครองในทุกวันนี้ก็เหมือนกับในข้อเสนอที่จีนเคยให้ไว้กับอินเดียในยุคโจว เอินไหล

แต่ผลของสงครามกลับนำมาซึ่งมุมมองที่ต่างกัน กล่าวคือ อินเดียยอมรับเส้นควบคุมตามจริง (LAC) แต่จีนมองว่า เส้นนี้ไม่มีอีกต่อไปนับตั้งแต่อินเดียปฏิเสธข้อเสนอในครั้งนั้น เพราะฉะนั้น เส้น LAC ที่เราเห็นในแผนที่ ในมุมมองจีนคือมันไม่ได้ขีดแบบนั้น มันไม่มีเส้นนี้ เมื่อเป็นแบบนี้จึงนำมาสู่ปัญหาต่อเนื่องจนถึงทุกวันนี้ คือเมื่อไม่มีการขีดเส้นเขตแดนให้ชัดเจน พอทหารสองฝ่ายลาดตระเวนก็จะไม่มีทิศทางที่แน่ชัด จีนเองมองว่านี่เป็นพื้นที่พิพาทที่ตัวเองอาจจะขยายดินแดนไปได้มากกว่านี้ ส่วนอินเดียก็เข้มงวด มองว่า LAC เป็นแบบนี้ แล้วจีนจะล้ำเข้ามาได้ยังไง เลยเกิดปัญหาการปะทะกันระหว่างทหารสองฝ่าย ซึ่งเกิดตลอดเวลา พอหิมะละลาย เข้าฤดูร้อนเมื่อไหร่ เทศกาลลาดตระเวนจะเกิดขึ้น เป็นการปะทะชกต่อยกัน โดยทั้งคู่จะไม่ใช้อาวุธเพราะมีข้อตกลงระหว่างกันว่า จะพยายามแก้ปัญหาโดยสันติวิธีและไม่ใช้อาวุธปืน

การที่สถานการณ์ยืดเยื้อมาจนถึงทุกวันนี้เป็นผลมาจากการที่อินเดียพยายามพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางการทหารใกล้กับพื้นที่พิพาทใน ‘ความเห็นของจีน’ ซึ่งอินเดียก็มองว่านั่นเป็นพื้นที่ของเขา แน่นอนว่า พอมองไม่เหมือนกัน จีนก็มองว่าอินเดียพยายามเปลี่ยนแปลงสถานะเดิม (status quo) ของพื้นที่ และเป็นภัยคุกคามเชิงความมั่นคง จึงพยายามบอกให้อินเดียยุติโครงการพัฒนาดังกล่าว แต่อินเดียปฏิเสธ นำมาสู่การส่งทหารเข้าไปประชิดพรมแดนและพยายามพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานแข่งกับอินเดีย ซึ่งถ้าเรามองทางยุทธศาสตร์การทหาร ถ้าอีกฝ่ายมีทหารใกล้กับพื้นที่พิพาท แต่ฝั่งเราไม่มี ตรงนี้ก็เกิดปัญหาแล้ว จีนเลยสร้างบังเกอร์เข้ามาบ้าง

จะเห็นว่า ปัญหาอยู่ที่การที่ฝั่งอินเดียมองว่า บังเกอร์นั้นข้ามเส้น LAC ที่ตนเองยึดถือ เป็นเหมือนความพยายามของจีนในการขยายอำนาจ แต่จีนไม่ได้มองแบบนั้น เพราะเขามองว่า LAC ไม่มีการตกลงกันชัดเจน นี่ไม่ได้เป็นปัญหาของจีน จึงนำมาซึ่งการปะทะกันของสองฝ่ายที่กินเวลามาตั้งแต่ต้นเดือนพฤษภาคม แต่มีทหารเสียชีวิตกลางเดือนมิถุนายน

ที่น่าสนใจคือ ทั้งสองฝ่ายมีการตกลงกันในช่วงต้นเดือนมิถุนายนแล้วว่า จะถอนทหาร ลดการลาดตระเวน บรรยากาศช่วงนั้นถือว่าดีมาก แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือ อินเดียสงสัยว่าจีนถอนทหารออกไปหรือยัง จึงเดินทางไปตรวจสอบยังพื้นที่นั้น ซึ่งจีนถอนทหารออกไปแล้วจริงๆ แต่ยังทิ้งบังเกอร์หรือสาธารณูปโภคทางการทหารไว้ ตอนนั้นผู้บัญชาการทหารที่ไปดูอาจจะมองว่าตรงนั้นเป็นพื้นที่ของเขา เลยสั่งรื้อทำลายสิ่งก่อสร้างเหล่านี้ พอเรื่องดังไปถึงหูจีน เขาก็ส่งทหารมาประณามอินเดียในเรื่องนี้ เพราะจีนมองว่า ตนเองถอนทหารออกไปแล้ว และในข้อตกลงก็ไม่ได้บอกให้ทำลายสิ่งก่อสร้าง ซึ่งตรงนี้อาจจะมาจากความไม่ละเอียดอ่อนด้วยก็ได้ เลยเกิดการปะทะกันซึ่งกินเวลายาวนานพอสมควร

อีกอย่างหนึ่ง ถ้าใครเคยไปพื้นที่ลดาขจะรู้ว่า พื้นที่ตรงนั้นทั้งสูงและหนาว มันจะมีกลุ่มโรคชื่อว่า High Altitude Sickness เป็นโรคที่เกิดจากความกดอากาศเปลี่ยนหรืออุณหภูมิที่หนาวเย็น ถ้าดูกันจริงๆ แล้ว ทหารอินเดียที่เสียชีวิตจากการปะทะมี 3 นาย แต่หลักๆ ที่ทำให้เสียชีวิตคือหนาวสั่นเพราะตกน้ำ และไม่ได้รับการช่วยเหลืออย่างทันท่วงที หรือความกดอากาศเปลี่ยนแปลง จนทำให้ทหารอินเดียเสียชีวิตรวมกันราวๆ 20 นาย กลายเป็นปัญหามาจนถึงทุกวันนี้ และทั้งสองประเทศก็พยายามคลี่คลายเรื่องที่เกิดขึ้นอยู่

 

(3) การปะทะกันบริเวณหุบเขากัลวาน: เกียรติภูมิของจีน รอยแผลของอินเดีย

เมื่อเกิดการปะทะในปี 2020 นี้ หลายคนอาจจะมองย้อนไปถึงการปะทะกันในปี 2017 ซึ่งตอนนั้น การปะทะเกิดขึ้นในพื้นที่ที่เป็น 3 ประเทศติดกัน (trijunction) คือจีน อินเดีย และภูฏาน กล่าวคือ ตอนนั้นจีนเหมือนจะพัฒนาพื้นที่เข้าไปในพื้นที่พิพาทของจีนกับภูฏาน ซึ่งอินเดียทำหน้าที่เหมือนเป็นรัฐอารักขาทางการทหารให้ภูฏานอยู่ การพัฒนาพื้นที่ของจีนจึงนำมาสู่ปัญหากับอินเดียด้วย เพราะอินเดียต้องปกป้องภูฏาน

อีกอย่างหนึ่งคือ ถ้าจีนพัฒนาพื้นที่ตรงนั้นสำเร็จ จะนำมาสู่ภัยคุกคามด้านความมั่นคงของอินเดีย เพราะพื้นที่ตรงนั้นเป็นเหมือนคอไก่ ถ้าจีนยึดได้จะทำให้พื้นที่บริเวณตะวันออกเฉียงเหนือ (North East) ถูกตัดออก ซึ่งอินเดียมองว่านี่เป็นภัยคุกคามด้านความมั่นคง แต่ผมไปอ่านงานของนักวิชาการฝั่งจีน เขามองว่า ในกรณีข้อพิพาทปี 2017 จีนไม่คิดว่าอินเดียจะมีปัญหากับเรื่องนี้ เพราะมันไม่ได้อยู่ในพรมแดนของอินเดียด้วยซ้ำ ปัญหาเลยยืดเยื้อเพราะต่างฝ่ายต่างไม่ถอย แต่พอมีการเจรจา จีนก็ยอมถอยในที่สุด

มาในปี 2020 นี้ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก็คล้ายกันในบริเวณหุบเขากัลวานหรือในฝั่งลดาข แต่อย่างที่บอกไปว่า อินเดียเป็นฝ่ายพัฒนาสิ่งก่อสร้าง และไม่ยอมหยุดตามคำขอของจีน ทำให้เกิดปัญหาขึ้น ข้อแตกต่างที่สำคัญคือ หุบเขากัลวานมีภูมิหลังทางประวัติศาสตร์ เป็นสมรภูมิแรกที่กองทัพจีนกับอินเดียมาเจอกันในปี 1962 และจีนได้รับชัยชนะ หุบเขากัลวานจึงเป็นเกียรติภูมิในชัยชนะของจีน และเป็นพื้นที่ตราบาปของอินเดีย ที่ถ้าได้รับชัยชนะก็เหมือนจะลบล้างความพ่ายแพ้ของตัวเอง พื้นที่ตรงนี้ยังสำคัญกับความมั่นคงของทั้งจีนและอินเดีย โดยจีนต้องพยายามยึดอักไซชินไว้ให้ได้ เพราะอักไซชินเป็นพื้นที่เดียวที่เชื่อมระหว่างทิเบตกับซินเจียงโดยไม่ต้องอ้อม รวมถึงเข้าไปในเอเชียกลางด้วย ส่วนอินเดียก็ยึดตามแผนที่ และอักไซชินก็เหมือนเป็นแหล่งต้นน้ำสำคัญหลายสายของฝั่งอินเดียด้วย

การปะทะกันในปี 2020 จึงซับซ้อนกว่าปี 2017 พอสมควร เพราะตอน 2017 ยังมีภูฏานเป็นคนกลางในการจัดการ แต่นี่เป็นการปะทะกันโดยตรง และยังมีปัญหาแทรกซ้อนเข้ามาจากกรณีของปากีสถานอีก รวมถึงมีกลุ่มพยายามต่อต้านจีนเพิ่มขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทำให้ความพยายามในการแก้ไขปัญหายากยิ่งขึ้น

 

(4) จากข้อพิพาทจีนอินเดีย สู่การวางยุทธศาสตร์การต่างประเทศ: นโยบายอินโด-แปซิฟิก และ The Quad

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้อินเดียต้องกลับมาทบทวนความสัมพันธ์กับจีน ถึงขั้นที่นักวิชาการหรือผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงบางคนใช้คำว่า ‘reset’ ระบบความสัมพันธ์กับจีนใหม่ เพราะความสัมพันธ์ของจีน-อินเดียลดลงในทุกมิติ แน่นอนว่า อินเดียมองว่าการกระทำของจีนเป็นการกระทำที่ก้าวร้าว และมีโอกาสที่อินเดียจะหันไปหามหาอำนาจอื่นเพื่อคัดคานกับจีนเพิ่มขึ้น อาจจะเป็นสหรัฐฯ ก็ได้ แต่ผู้เชี่ยวชาญหลายคนก็มองว่า อินเดียไม่ควรพึ่งพาใคร แต่ควรยืนบนขาของตัวเอง อีกทั้งอินเดียยังมีความสัมพันธ์ที่ดีกับรัสเซียอยู่ การเข้าหาสหรัฐฯ ก็อาจจะนำมาสู่ปัญหากับรัสเซียในอนาคต ตรงนี้อินเดียก็ต้องสร้างสมดุลด้านนโยบายการต่างประเทศของตนเอง

ส่วนเรื่องนโยบายอินโด-แปซิฟิก อินเดียมองว่าแนวคิดนี้หลักลอย มีแต่คนพูด แต่ไม่เห็นอะไรที่เป็นรูปธรรม ซึ่งปัญหาในตัวมันเองคือ ประเทศที่พูดเรื่องนี้ยังมีจุดหมายปลายทางของความร่วมมือไม่เหมือนกัน ไม่รู้ว่าจะเป็นเรื่องความมั่นคง เศรษฐกิจ หรือสังคมวัฒนธรรม มันยังไม่ชัดเจนเลย ตัวอย่างหนึ่งคือกรณีการเข้าถึงเขตทะเลเสรี ซึ่งต้องบอกว่าก่อน อินโด-แปซิฟิกเกิดขึ้นเพราะสหรัฐฯ พยายามตอบโต้ในทะเลจีนใต้ คือให้มีการเข้าถึงทะเลจีนใต้อย่างเสรี แต่อินเดียมองว่าทะเลเสรีเกิดขึ้นไม่ได้จริง เพราะทะเลจีนใต้ก็ถูกจีนควบคุมอยู่ มหาสมุทรแปซิฟิกตะวันออกก็ถูกสหรัฐฯ ควบคุม พื้นที่เดียวที่เสรีคือมหาสมุทรอินเดีย ซึ่งย่อมไม่เกิดประโยชน์กับอินเดีย เขาเลยไม่ค่อยให้ความสำคัญกับนโยบายอินโด-แปซิฟิกเท่าไหร่ คืออาจจะเข้าไปคุย แต่ไม่ได้ถือเป็นจริงเป็นจัง

กลับกันกับ The Quad ที่เป็นเหมือน dialogue ที่มีการพูดคุยกันทุกปีต่อเนื่อง อินเดียมองว่า นี่เป็นเวทีที่น่าสนใจมากกว่าในการจัดการพื้นที่มหาสมุทรอินเดียหรือเอเชียแปซิฟิก ซึ่งอนาคตน่าจะมีสมาชิกใหม่ๆ เข้ามาร่วมมากขึ้น เช่น นิวซีแลนด์ เกาหลีใต้ เวียดนาม ซึ่งเป็นประเทศที่มีปัญหาพิพาทกับจีนด้วย หลายฝ่ายจึงมองว่า The Quad เกิดขึ้นมาเพื่อบล็อกหรือสกัดกั้นจีน ซึ่งจะมองแบบนั้นก็ไม่ผิดอะไร

อีกอย่างที่ดูเบาไม่ได้เลยคือ Malabar Naval Exercise ที่เป็นการซ้อมรบของ 3 ประเทศอย่างที่บอกไป ในอนาคตก็อาจจะมีการขยายพันธมิตรซ้อมรบในมหาสมุทรอินเดียมากขึ้น ทั้งหมดนี้สะท้อนว่า อินเดียไม่เลือกที่จะผูกความสัมพันธ์กับมหาอำนาจประเทศเดียว แต่เลือกเป็นแบบพหุภาคีมากกว่า เพื่อที่จะส่งสัญญาณให้จีนเห็นว่า ถ้าจีนก้าวร้าวต้องเจออะไรแบบนี้ แต่ถ้ามองในมุมจีน จริงๆ จีนก็มองและคาดหวังให้อินเดียเป็นพันธมิตรที่สำคัญกับเขาอยู่ การปะทะรอบล่าสุดก็แทบไม่มีข่าวออกเลยทั้งที่มีทหารเสียชีวิต นี่ก็สะท้อนว่า จีนพยายามรักษาความสัมพันธ์ที่ดีกับรัฐบาลอินเดียอยู่ และก็ต้องยอมรับว่า จีนยังมีปัญหาภายในประเทศ ทั้งเรื่องฮ่องกงหรือไต้หวัน เขาเลยอาจจะไม่มีเวลามายุ่งเรื่องนี้เท่าไหร่

 

(5) ความสัมพันธ์จีนอินเดียในด้านเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม

ผมนิยามความสัมพันธ์อินเดีย-จีนว่าเป็น ‘เพื่อนรักเพื่อนร้าย’ คือมีปัญหาขัดแย้งกันในด้านความมั่นคงหรือพรมแดน แต่ถ้าในด้านเศรษฐกิจ สองประเทศนี้มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันมาก โดยเฉพาะหลังการเยือนจีนของนายกฯ ราจีฟ คานธี (Rajiv Gandhi) ในปี 1988 ที่นำมาสู่การตกลงกันระหว่างสองชาติว่า จะวางปัญหาเรื่องพรมแดนและมุ่งพัฒนาเศรษฐกิจร่วมกัน ซึ่งการเยือนจีนของนายกฯ คานธีเป็นการเยือนในรอบ 30 กว่าปี หลังเกิดปัญหาพรมแดนในปี 1962

นอกจากนี้ บทบาทด้านเศรษฐกิจของจีนในอินเดียก็เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จีนเป็นนายทุนประเทศแรกๆ ที่เข้าไปในอินเดียตั้งแต่อินเดียเปิดประเทศในช่วงทศวรรษที่ 1990 แล้ว แต่ที่เห็นได้ชัดคือช่วง 20 กว่าปีที่ผ่านมา การลงทุนของจีนในอินเดียเติบโตและพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว ตัวอย่างง่ายๆ คือ บริษัทจีนจำนวนมากเข้ามาลงทุนในธุรกิจสตาร์ตอัปของอินเดีย จนปัจจุบันหลายที่กลายเป็นยูนิคอร์นไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็นแอปพลิเคชันจ่ายเงิน Paytm ที่คนอินเดียใช้กันมาก หรือแอปพลิเคชันซื้อของคล้ายๆ Amazon ที่ชื่อว่า Flipkart จีนก็เป็นผู้ลงทุนรายใหญ่ทั้งนั้น

ขณะที่ในเชิงอุตสาหกรรมจีน บริษัทจีนก็เข้ามาลงทุนและสร้างฐานการผลิตในอินเดีย โดยเฉพาะอุตสาหกรรมรถยนต์และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ มือถือจีนหลายแบรนด์ ไม่ว่าจะเป็น Vivo, Oppo หรือ Xiaomi เป็นที่นิยมมากในอินเดีย ยิ่งถ้าดูมูลค่าการค้าจะเห็นว่า จีนกับอินเดียมีมูลค่าการค้าประมาณ 8 หมื่นกว่าดอลลาร์ แต่ปริมาณการค้าของอินเดียจะเป็นไปในทางพึ่งพิงเศรษฐกิจจีนมากกว่า คืออินเดียขาดดุลการค้ากับจีน ต้องพึ่งพาวัตถุดิบนำเข้าจำนวนมากเพื่อมาผลิตอุปกรณ์ต่างๆ ในประเทศตัวเอง

เมื่อภาคเศรษฐกิจผูกโยงกันแบบใกล้ชิด ก็นำมาสู่ความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างสองชาติ โดยเฉพาะนายกฯ โมดีที่มีความสัมพันธ์ค่อนข้างใกล้ชิดกับจีนตั้งแต่เป็นมุขมนตรีรัฐคุชราต (Gujarat State) คือเป็นคนเชิญชวนนักลงทุนเข้ามาพัฒนารัฐคุชราต ทุกครั้งที่เขาเดินทางเยือนจีนก็จะพามุขมนตรีรัฐต่างๆ หรือนักธุรกิจอินเดียไปเจรจากับนายทุนจีนให้เข้ามาลงทุนในอินเดียตลอด แม้แต่ในเวทีโลก จีนกับอินเดียก็เป็นหัวหอกหลักเรื่องการค้าเสรีหรือการกีดกันทางการค้าที่ต้องสู้กับฝั่งตะวันตก เรียกได้ว่าเป็นพันธมิตรที่ค่อนข้างเข้มแข็ง

แต่ที่น่าสนใจกว่านั้นคือ ประเทศในเอเชียใต้ส่วนใหญ่ก็พึ่งพิงวัสดุอุปกรณ์หรือวัตถุดิบจากจีนเช่นกัน กล่าวคือ ต้องนำเข้าวัตถุดิบจากจีนเพื่อมาผลิตสินค้า และส่งออกสินค้าไปในตลาดของอินเดีย ดังนั้น เวลาคนคุยกันว่า ถ้าอินเดียแบนสินค้าจีนจะกระทบจีนมากแค่ไหน คำตอบง่ายๆ คือ อินเดียกระทบมากกว่าจีน เพราะธุรกิจต่างๆ ที่ดำเนินอยู่ในอินเดียเวลานี้มีเจ้าของเป็นคนอินเดีย จีนเป็นเหมือนแค่นักลงทุน การที่อุตสาหกรรมอินเดียไม่นำเข้าส่วนประกอบต่างๆ จากจีน นำมาซึ่งต้นทุนราคาสินค้าที่สูงขึ้น และผลกระทบโดยตรงคือ ประชาชนอินเดียจะต้องใช้สินค้าที่มีราคาแพงขึ้น หรือแม้กระทั่งถ้าจะแบนทุกอย่างจากจีน อินเดียก็ต้องเจอสินค้าจีนทางอ้อมที่ตัวเองนำเข้ามาจากประเทศเพื่อนบ้านอยู่ดี นักเศรษฐศาสตร์ของฝั่งอินเดียเลยมองว่า ถ้าเกิดการแบนสินค้าของจีนจริงๆ อินเดียจะได้รับผลกระทบมากกว่า

ส่วนด้านสังคมและวัฒนธรรม ต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่า ยังไม่เห็นความชัดเจน และต้องบอกว่าจีนกับอินเดียมีความต่างทางวัฒนธรรมสูงมาก แทบจะกลืนกันยาก แต่ในอินเดียนิยมศึกษาภาษาจีนและศึกษาจีนเรื่องจีนเยอะมาก คือในหลายพื้นที่ของประเทศมีสถาบันที่ศึกษาเรื่องจีนโดยเฉพาะ เมื่อเปรียบกับฝั่งจีน ที่สถาบันศึกษาเกี่ยวกับเอเชียใต้หรืออินเดียยังมีน้อย แต่เราก็เริ่มเห็นปรากฎการณ์ใหม่ๆ ผ่านสื่อภาพยนตร์ โดยตลาดจีนถือเป็นตลาดใหญ่สำหรับภาพยนตร์อินเดียที่บูมในระดับโลกและทำรายได้มูลค่ามหาศาล คนจีนจำนวนมากดูและชื่นชอบภาพยนตร์ของอินเดีย ไม่ว่าจะเป็น Dangal, Bahubali หรือ PK ทำให้คนจีนมีทัศนคติหรือมุมมองกับคนอินเดียเปลี่ยนไป ขณะที่คนอินเดียก็ติดตามภาพยนตร์ของดาราจีนด้วยเช่นกัน

 

ประเด็นความขัดแย้งในรัฐจัมมูและแคชเมียร์ กับ ความสัมพันธ์ สามเส้าจีนอินเดียปากีสถาน

 

(1) สถานะพิเศษของรัฐจัมมูและแคชเมียร์

รัฐจัมมูและแคชเมียร์มีสถานะพิเศษตั้งแต่การเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของอินเดีย เวลาเราอธิบายเกี่ยวกับการปกครองของอินเดีย ต้องบอกว่าเมื่ออินเดียได้รับเอกราช แผนที่ของอินเดียตอนนั้นไม่ได้เป็นเหมือนปัจจุบัน แต่เกิดจากการรวมตัวกันของรัฐมหาราชากว่า 500 รัฐ แล้วก็เป็นการค่อยๆ ทยอยรวมด้วย คือปี 1947 เมื่อมีการก่อตั้งประเทศอินเดียและประเทศปากีสถาน สองประเทศนี้ต้องแข่งกันเจรจากับรัฐมหาราชาต่างๆ เพื่อให้รัฐเหล่านั้นผนวกรวมเป็นส่วนหนึ่งของตัวเอง ที่น่าสังเกตคือ ก่อนอังกฤษจะยอมให้อินเดียเป็นอิสระ เขาให้ตัวเลือกรัฐมหาราชาเหล่านี้แค่สองทางคือ ไม่อยู่กับอินเดีย ก็ต้องอยู่กับปากีสถาน แต่ไม่ให้เป็นเอกราช

เมื่อดูในกรณีของรัฐจัมมูและแคชเมียร์ เจ้ามหาราชาเป็นคนฮินดู แต่ประชากรส่วนใหญ่เป็นมุสลิม เลยเกิดเป็นปัญหาว่าเขาจะอยู่กับใคร ระหว่างอินเดียกับปากีสถาน ซึ่งปากีสถานมองว่าจัมมูและแคชเมียร์น่าจะอยู่กับตนเอง เพราะประชากรส่วนใหญ่เป็นมุสลิม และยังเกิดมีการประท้วงกันด้วย ตอนนั้นปากีสถานเลยส่งทหารเข้าไปและยึดได้บางส่วน แต่ต้องบอกว่าคนแคชเมียร์และมหาราชาที่ปกครองในตอนนั้นไม่ได้อยากเลือกทางไหนเลย เขาอยากเป็นเอกราช แต่ติดปัญหาแบบที่บอกไป เมื่อปากีสถานบุกเข้ามา มหาราชาก็กลัวเสียสถานะของตนเองเพราะเขาเป็นคนฮินดู มหาราชาจึงร้องขอความช่วยเหลือจากอินเดีย ฝั่งอินเดียจึงยื่นเงื่อนไขว่า มหาราชาจะต้องยอมเซ็นสนธิสัญญาเป็นส่วนหนึ่งของอินเดียซึ่งเขาก็ยอมเซ็นสัญญาดังกล่าว จนเกิดเป็นสงครามระหว่างอินเดียกับปากีสถานตั้งแต่แยกประเทศใหม่ๆ

อย่างไรก็ตาม อินเดียยังให้สถานะพิเศษกับแคชเมียร์ โดยกำหนดในรัฐธรรมนูญเป็นพิเศษว่า ให้มีการปกครองตนเองในลักษณะพิเศษ เช่น กำหนดระบบภาษี ระบบกฎหมายของตัวเอง และมีระบบศาลแยกขาดจากอินเดีย

 

(2) การผนวกรัฐจัมมูและแคชเมียร์

จุดเปลี่ยนในเรื่องนี้เกิดขึ้นในปี 2019 ระหว่างการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง ซึ่งก่อนหน้านี้เกิดประเด็นผู้ก่อการร้ายในแคชเมียร์ พรรค BJP ของโมดีก็หาเสียงว่า ถ้าเขาได้เป็นรัฐบาล จะทำให้แคชเมียร์เป็นส่วนหนึ่งของอินเดียอย่างแท้จริง คือจะไม่ได้มีสถานะพิเศษเหมือนที่เคยได้มา เมื่อพรรค BJP ชนะการเลือกตั้ง คนก็ไม่ได้คิดว่าโมดีจะทำแบบนั้นจริง แต่ปรากฎว่าเขาทำจริงจังมากๆ คือยกเลิกสถานะพิเศษของจัมมูและแคชเมียร์ และแตกเป็นดินแดนสหภาพจัมมู-แคชเมียร์ และยังมีดินแดนสหภาพลดาขด้วย

อินเดียจะมีระบบการปกครอง 2 รูปแบบคือดินแดนสหภาพกับรัฐ (state) รัฐยังคงความเป็นอิสระ คือมีอิสระทางกฎหมายและเศรษฐกิจ แต่ดินแดนสหภาพจะถูกปกครองโดยตรงจากรัฐบาลกลาง เมื่อมองในแง่การปกครองก็ต้องบอกว่า สถานภาพของจัมมูและแคชเมียร์ลดจากการมีอิสระที่สุดมากกว่ารัฐอื่นๆ เหลือเพียงแค่รัฐที่รัฐบาลกลางเข้าไปปกครองดูแล ไม่มีการเลือกตั้งเพราะขึ้นตรงกับรัฐบาลกลาง พูดง่ายๆ คือสูญเสียอิสระทั้งหมดในการบริหารจัดการ ขณะที่คนแคชเมียร์ก็ไม่ได้อยากอยู่กับปากีสถาน พวกเขาต้องการเอกราช ต้องการรัฐอิสระที่แยกขาดออกมา การที่อินเดียทำแบบนี้หมายความว่าโอกาสที่จะเป็นอิสระเทียบเท่ากับศูนย์ มันยากขึ้น เพราะรัฐบาลกลางเข้ามาจัดการดูแลเอง

ต้องบอกว่า รัฐจัมมูและแคชเมียร์เป็นรัฐที่กองกำลังทหารกว่าครึ่งประเทศประจำการอยู่ที่นั่น คือรัฐบาลต้องมองว่าที่นี่สำคัญมากในหลายๆ มิติ ยิ่งสถานการณ์เปลี่ยนไปแบบนี้ก็นำมาสู่ความไม่สงบ พอรัฐบาลประกาศทีก็เป็นการประกาศกฎอัยการศึก ซึ่งใช้ยาวมาจนถึงทุกวันนี้ คนแคชเมียร์ยังอยู่กันแบบโดนตัดอินเทอร์เน็ตบ้าง โทรศัพท์บ้าง ยังไม่สามารถเดินทางกันได้อย่างอิสระเสรี ยิ่งเมื่อเจอโควิด รัฐบาลก็ยิ่งถือโอกาสนี้จัดการ เพราะถ้าเปิดเมื่อไรย่อมเกิดการประท้วงใหญ่ของคนในพื้นที่แน่ๆ แม้รัฐบาลจะอ้างเรื่องสิทธิประโยชน์ของคนในพื้นที่ก็ตาม แต่คนแคชเมียร์ก็ไม่โอเคกับการแบ่งแยกครั้งนี้

อย่างไรก็ดี คนลดาขกลับค่อนข้างยินดีปรีดากับการแยกในครั้งนี้ เพราะเขามองว่าตนเองได้เป็นอิสระจากแคว้นจัมมูแคชเมียร์ ส่วนคนอินเดียทั่วไปก็ชอบนโยบายนี้มาก เพราะพวกเขามองว่า ทำแบบนี้จะได้จบปัญหาผู้ก่อการร้ายเสียที

ถ้ามองภาพเชิงการปกครอง ผมคิดว่าการผนวกรวมสองรัฐนี้จะนำไปสู่ปัญหาในรัฐอื่น เพราะไม่ได้มีแค่รัฐจัมมูและแคชเมียร์ที่มีสถานะแบบนี้ แต่ยังมีรัฐอื่นๆ เช่น รัฐนาคาแลนด์ ซึ่งอินเดียเพิ่งไปผนวกมาและมีปัญหาความมั่นคง ยังมีการรบและมีกลุ่มกบฏแบ่งแยกดินแดนอยู่ การที่รัฐบาลอินเดียทำแบบนี้ก็เป็นการส่งสัญญาณความไม่มั่นคงในสถานะความเป็นรัฐของรัฐกลุ่มนี้ เราจึงเห็นกลุ่มกบฏแบ่งแยกดินแดนกลับมาเคลื่อนไหวอีกครั้ง หลังมีการเจรจาสันติภาพไปก่อนหน้านี้ รัฐบาลก็ประกาศกฎอัยการศึกเพิ่มในรัฐนาคาแลนด์ เพราะพวกเขาก็กลัวเหมือนกัน นี่ก็เป็นผลกระทบโดยตรงจากเคสของจัมมูและแคชเมียร์

 

(3) ความสัมพันธ์ สามเส้าจีนอินเดียปากีสถาน

ในมิติความสัมพันธ์สามเส้า เรื่องนี้ส่งผลกระทบมากๆ โดยเฉพาะกับปากีสถาน เพราะปากีสถานอ้างสิทธิเหนือดินแดนแคชเมียร์ จริงๆ อินเดียกับปากีสถานเคยมีปัญหาเรื่องแคชเมียร์และขึ้นสู่เวทีสหประชาชาติ (UN) มาแล้ว ซึ่งตอนนั้นการแก้ไขคือทำประชามติ (referendum) ให้คนแคชเมียร์เลือก แต่ประชามติที่ว่าก็ไม่เคยเกิดขึ้น โดยรัฐบาลอินเดียอ้างว่า เขาได้จัดการเลือกตั้งแล้ว และมีคนแคชเมียร์ออกมาเลือกตั้ง นั่นคือประชามติว่าคนแคชเมียร์ยังเอาระบบอินเดียอยู่ แต่ปากีสถานมองว่า การที่อินเดียทำแบบนี้เป็นการละเมิดข้อตกลงที่เคยคุยกันไว้ จึงยกเรื่องนี้ไปสู่เวทีสหประชาชาติอีกครั้ง ถึงแม้ว่าจะไม่มีการคุยกันอย่างจริงจัง

ขณะที่จีนมีปัญหากับเรื่องแคชเมียร์โดยเฉพาะประเด็นที่กระทรวงมหาดไทยของอินเดียประกาศแผนที่ฉบับใหม่ออกมา กลายเป็นว่าดินแดนสหภาพลดาขได้ผนวกรวมอักไซชินเข้าไป รัฐบาลจีนจึงออกมาประท้วงว่า การออกแผนที่แบบนี้มีปัญหาและเป็นการละเมิดอำนาจอธิปไตยของจีน ตรงนี้เลยกลายเป็นต้นตอและสาเหตุที่นำมาสู่ปัญหาจีน-อินเดียในทุกวันนี้ คือจีนเห็นว่า อินเดียเริ่มทำอะไรที่เป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงหรืออำนาจอธิปไตยของจีนแล้ว ฉะนั้น ในช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา จีนเลยประกาศแผนที่ใหม่เหมือนกัน โดยรวมเอารัฐอรุณาจัลและอักไซชินทั้งหมดเป็นของจีน

 

(4) อ่านอินเดียผ่านกรณีจัมมูแคชเมียร์

สำหรับอินเดีย เขามองการผนวกรวมแคชเมียร์และจัมมูเป็นเรื่องสำคัญในแง่การบริหารจัดการและสร้างความเข้มแข็งภายในประเทศ มากกว่าจะมองว่าการผนวกรวมครั้งนี้เป็นการประกาศศักดาในเวทีโลก แต่ก็ต้องยอมรับว่า ถ้าการเมืองภายในประเทศสงบลงและคลี่คลายไปได้ การจัดการเรื่องภายนอกประเทศก็จะง่ายขึ้น เราต้องอย่าลืมว่าเรื่องจัมมูและแคชเมียร์เป็นปัญหาเรื้อรังของอินเดียมาตั้งแต่ก่อตั้งประเทศจนถึงปัจจุบัน และยังนำมาสู่ประเด็นปัญหาเรื่องการก่อร้าย การแบ่งแยกดินแดน ทำให้อินเดียภายในปั่นป่วน จนขยับขยายไปภายนอกได้ยาก

นอกจากนี้ อย่างที่ผมบอกไปแล้วว่า อินเดียไม่เคยมองว่าตัวเองจะอยู่แค่เอเชียใต้ แต่อยากขยับขยายบทบาทตัวเองในเวทีโลกมาโดยตลอด ซึ่งอินเดียเป็นหนึ่งในกลุ่มที่พยายามเสนอให้มีการปฏิรูป UNSC ให้เพิ่มที่นั่งสมาชิกถาวร โดยเฉพาะให้ประเทศกลุ่มแอฟริกา อเมริกาใต้ หรือกลุ่มเอเชียให้มากขึ้น เพราะอินเดียไม่เชื่อระบบมหาอำนาจสองขั้วหรือขั้วเดียว แต่มองว่าควรเป็นพหุภาคีหรือพหุมหาอำนาจ และเขาก็อยากเป็นส่วนหนึ่งของตรงนั้นด้วย

เพราะฉะนั้น ถึงไม่มีเรื่องนี้ ผมก็ต้องบอกว่า อินเดียไม่เคยอยากเป็นแค่มหาในเอเชียใต้อยู่แล้ว ยิ่งในยุคโมดี เราจะเห็นเขาเดินสายไปต่างประเทศเยอะมาก โดยเฉพาะแถบเอเชียและแอฟริกา ซึ่งก็สะท้อนแล้วว่า ฉันอยากออกไปจากตรงนี้ อยากเป็นมหาอำนาจที่ใหญ่กว่าเดิม

 

(5) อ่านอินเดียผ่านความสัมพันธ์สามเส้า

เวลาประเทศต่างๆ มีปัญหากัน แน่นอนว่ามันเป็นประเด็นปัญหาความมั่นคงร่วมกันทั้งโลก เพราะในปัจจุบัน โลกเชื่อมโยงด้วยระบบโลกาภิวัตน์ แต่สำหรับกรณีจีน-อินเดีย-ปากีสถาน ความพิเศษคือทั้งสามประเทศมีอาวุธนิวเคลียร์ในครอบครอง ซึ่งต้องยอมรับว่า การมีอาวุธนิวเคลียร์นำมาสู่ความกังวลของประเทศอื่นว่า ถ้าเกิดการปะทะที่แรงขึ้นก็อาจจะเกิดสงครามนิวเคลียร์ได้

นอกจากนี้ จีนและอินเดียเป็นหนึ่งและสองประเทศที่มีประชากรมากสุดในโลก และถ้ามองไปในอนาคต สองประเทศนี้ก็จะเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่อันดับต้นๆ ของโลก ปัญหาก็จะยิ่งซับซ้อนขึ้นไปอีก เพราะปัญหาของทั้งสามประเทศเป็นเหมือนการปะทะกันของประเทศขนาดใหญ่ทั้งทางประชากรและเศรษฐกิจ ซึ่งย่อมเลี่ยงไม่ได้ว่าการมีปัญหากันจะกลายเป็นเรื่องในระดับเวทีโลก โดยเฉพาะเมื่อจีนมีที่นั่งถาวรใน UNSC ส่วนปากีสถานและอินเดียก็มีที่นั่งไม่ถาวร ทำให้พอเกิดปัญหาและไม่สามารถตกลงกันได้จริงๆ เขาก็จะพยายามนำประเด็นพวกนี้เข้าสู่เวทีโลกเพื่อจะแก้ปัญหา ยิ่งในทุกวันนี้ ทั้งจีนและอินเดียเป็นเหมือนกับ supply chain ของโลกในเชิงอุตสาหกรรมและวัตถุดิบต่างๆ การเกิดสงครามระหว่างสองชาติย่อมนำมาสู่วิกฤตเศรษฐกิจโลกและสร้างแรงสั่นสะเทือนให้โลกได้เช่นกัน

ที่น่าสังเกตคือ ทั้งสามประเทศพยายามใช้การเจรจาแบบพหุภาคีหรือทวิภาคีมากกว่าที่จะดึงคนอื่นเข้าไปยุ่งด้วย ถ้าเรื่องนั้นไม่ได้สุดหรือหนักหนาสาหัสจริงๆ แต่ถ้าถามว่า มีโอกาสไหมที่รัฐอื่นๆ จะเข้าไปยุ่งกับปัญหาของสามประเทศนี้ ก็ต้องบอกว่า ในประวัติศาสตร์เคยเกิดขึ้นมาแล้ว เช่น ในปี 1962 สหรัฐฯ เข้าไปยุ่งในสงครามจีน-อินเดีย หรือในสงครามเอกราชของบังกลาเทศในปี 1971 ที่ทั้งสหภาพโซเวียตและสหรัฐฯ ก็เข้ามาร่วมในปัญหานี้ แต่สิ่งที่เราเห็นคือ เวลาเกิดความขัดแย้งและมีประเทศอื่นยื่นมือเข้ามา ประเทศเหล่านั้นย่อมคำนวณแล้วว่า การเข้ามาของตนเองย่อมได้ประโยชน์ อย่างในปัจจุบัน เราจะเห็นประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ พยายามเสนอตัวเองเป็นคนกลางตลอดเวลา ตั้งแต่ปัญหาแคชเมียร์ระหว่างอินเดีย-ปากีสถาน หรือในประเด็นจีน-อินเดีย แต่ทั้งสามฝ่ายปฏิเสธ เพราะเขามองว่า หากคนกลางเข้ามาแก้ปัญหาอาจจะเกิดปัญหาก็ได้ จึงเลือกใช้แนวทางทวิภาคีมากกว่า แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า จะไม่มีประเทศใดเข้ามาแทรกแซงหรือแสดงท่าทีอะไรกับประเด็นพิพาทเหล่านี้เลย เพราะจริงๆ เวลาประเทศไหนตกลงอะไรกันไม่ได้และดึงพันธมิตรของตนเองเข้ามาช่วยก็เกิดขึ้นทั่วโลกนั่นแหละ

 

อินเดียกับอาเซียน

 

(1) อินเดียมองอาเซียน อาเซียนมองอินเดีย

อินเดียมีความสัมพันธ์กับกลุ่มประเทศในอาเซียนมาอย่างยาวนาน โดยเฉพาะประเทศเวียดนามกับอินโดนีเซีย ที่เห็นได้ชัดเจนคือ ในวันที่ 26 มกราคม ซึ่งอินเดียจะจัดงานวันสาธารณรัฐและมีการเดินสวนสนามใหญ่ รวมถึงการมีเชิญแขกกิตติมศักดิ์มาร่วม ซึ่งแขกกิตติมศักดิ์คนแรกของงานนี้คือ ประธานาธิบดีคนแรกของประเทศอินโดนีเซีย ส่วนในกรณีของเวียดนาม อินเดียกับเวียดนามถือเป็นพันธมิตรที่เหนียวแน่นมาตั้งแต่สมัยสงครามเย็น รวมถึงลาวกับกัมพูชาด้วย คือถึงอินเดียจะบอกว่าตัวเองไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด แต่เอาเข้าจริง อินเดียมีความใกล้ชิดกับโลกขั้วสังคมนิยมมากกว่าขั้วเสรี

ในปัจจุบัน อินเดียมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายจาก Look East เป็น Act East คือมองว่าต้องกระตือรือร้นกับภูมิภาคฝั่งตะวันออกของตัวเองมากกว่านี้ แน่นอนว่านโยบาย Act East รวมอาเซียนอยู่ด้วย การที่นโยบายของอินเดียเปลี่ยนไปเช่นนี้สะท้อนว่า เขาให้ความสำคัญกับอาเซียนที่อยู่ใกล้ชิดกันในทางภูมิศาสตร์ เราจึงจะเห็นความร่วมมือต่างๆ ทั้งการพัฒนาเส้นทางสามชาติที่จะเชื่อมอินเดีย-ไทย-เมียนมา และเป็นการเชื่อมอินเดียกับอาเซียนแผ่นดินใหญ่ รวมถึงยึดโยงด้านการค้า การคมนาคมขนส่งในอนาคต หรือจะเป็นความร่วมมือลุ่มแม่น้ำโขง-คงคา (Mekong – Ganga Cooperation – MGC) ที่คุยกันเรื่องเศรษฐกิจหรือการพัฒนาด้านการศึกษา

ที่น่าสนใจคืออีกอย่างคือเมื่อปี 2018 ในงานวันสาธารณรัฐ อินเดียเลือกเชิญแขกกิตติมศักดิ์ของประเทศเป็นผู้นำอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ ตรงนี้สะท้อนว่า อินเดียให้ความสำคัญอย่างไรกับอาเซียน หรือในพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งสมัยที่สองของนายกฯ โมดีเมื่อปี 2019 เขาก็ได้เชิญประเทศสมาชิกความริเริ่มอ่าวเบงกอล (BIMSTEC) ซึ่งมีอาเซียนรวมอยู่ด้วย มาเป็นแขกกิตติมศักดิ์ ทั้งหมดนี้อาจจะมองในเชิงสัญลักษณ์ได้ว่า อินเดียมองอาเซียนเปลี่ยนไปเยอะมาก ถ้าพูดให้ชัดเจนคือ อินเดียมองว่าอาเซียนกำลังเป็นภาคีในเชิงความมั่นคงและเศรษฐกิจในอนาคต อีกทั้งอาเซียนก็เป็นตลาดเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่อินเดียเข้ามาลงทุนค่อนข้างเยอะ

ขณะที่ฝั่งอาเซียนก็เข้าลงไปทุนในอินเดียมากพอสมควร โดยประเทศที่ลงทุนเป็นเบอร์หนึ่งคือสิงคโปร์ จริงๆ ต้องบอกว่า หลายประเทศเห็นศักยภาพของอินเดียมานานแล้ว และเริ่มเข้าไปมีบทบาทมากขึ้น มีข้อตกลงเขตการค้าเสรี (Free Trade Agreement – FTA) กับอินเดียในหลายเรื่อง ตรงนี้สะท้อนว่า อาเซียนเริ่มขยับขยายมามองอินเดียเพื่อสร้างสมดุลกับจีนเช่นกัน เพราะกลุ่มประเทศอาเซียนส่วนใหญ่ยึดโยงกับจีนค่อนข้างมาก อินเดียจึงเป็นเหมือนทางเลือกใหม่เพื่อกระจายความเสี่ยงในอนาคต ยิ่งในสถานการณ์ที่สหรัฐฯ กับจีนทำสงครามการค้ากัน ผมคิดว่าอาเซียนควรมองอินเดียให้มากขึ้น

 

(2) อินเดียกับ RCEP  

เป็นที่ชัดเจนแล้วว่า รัฐบาลอินเดียตัดสินใจไม่เข้าร่วม ‘ความตกลงพันธมิตรทางการค้าระดับภูมิภาค’ (Regional Comprehensive Economic Partnership – RCEP) เพราะเขาไม่เข้าร่วมประชุมนัดพิเศษระหว่างผู้เชี่ยวชาญที่ผ่านไปแล้ว 2 ครั้ง จริงๆ คนที่อยากให้อินเดียร่วม RCEP มากๆ คือเกาหลีใต้และญี่ปุ่น ซึ่งถือว่าเป็นนักลงทุนรายใหญ่ในอินเดีย สองประเทศนั้นก็พยายามโน้มน้าวให้อินเดียเข้ามาร่วมด้วย แต่ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร

ถ้าถามว่าโจทย์ใหญ่อะไรทำให้อินเดียตัดสินใจไม่เข้าร่วม RCEP คืออินเดียมองว่า ความตกลงนี้จะทำให้เขาเสี่ยงในการสูญเสียตลาดเศรษฐกิจมหาศาล โดยเฉพาะภาคการเกษตร เราต้องไม่ลืมว่าสินค้าเกษตรเป็นอุตสาหกรรมและเป็นภาคเศรษฐกิจใหญ่ของอินเดีย ซึ่งรัฐบาลพยายามคุ้มครองมาโดยตลอด เพราะภาคการเกษตรมีความอ่อนไหวทั้งเชิงการเมืองและเศรษฐกิจ

ขณะที่ฝั่งภาคอุตสาหกรรมหรือการผลิต ก็ต้องยอมรับว่าอินเดียยังด้อยประสิทธิภาพอยู่มาก เมื่อเทียบกับหลายประเทศที่อยู่ในความร่วมมือนี้ ทำให้อินเดียสุ่มเสี่ยงที่จะเสียตลาดภายในประเทศให้สินค้านำเข้า เพราะสินค้าที่ผลิตภายในประเทศยังไม่มีประสิทธิภาพและยังแข่งขันไม่ได้ โดยเฉพาะกับสินค้าจากจีน ทุกวันนี้อินเดียก็นำเข้าสินค้าจากจีนมากพอสมควรแล้ว และถ้าอินเดียเข้าร่วม RCEP และยังมี FTA ที่โยงไปถึงจีน ก็อาจจะทำให้ราคาสินค้าจากจีนถูกลงไปอีก แถมคุณภาพสินค้าก็อยู่ในระดับเดียวกับอินเดียด้วย ทำให้อุตสาหกรรมอินเดียไปต่อไม่ได้ ภาพหลักตรงนี้เป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญที่ทำให้อินเดียตัดสินใจไม่เข้าร่วม RCEP

ต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่า กระแสชาตินิยมในอินเดียเพิ่มขึ้นมาก เขามีนโยบายการพึ่งพาตนเอง (self-reliance) แน่นอนว่านี่ขัดกับระบบการค้าเสรีแบบเต็มตัว อินเดียยังพยายามเน้นให้คนซื้อของที่ผลิตในประเทศ นี่ก็เป็นอีกปัจจัยที่ทำให้อินเดียไม่ร่วม RCEP

อีกอย่างคือ อินเดียเสียดุลการค้าให้หลายประเทศใน RCEP รวมถึงไทยด้วย เพราะฉะนั้น ถ้าอินเดียเข้าร่วม ก็อาจจะทำให้เขาเสียดุลเพิ่มขึ้น ส่วนถ้าจะมีผลดีอะไร RCEP น่าจะมีผลดีเฉพาะกับนักลงทุนจากต่างประเทศ เช่น อุตสาหกรรมผลิตรถยนต์ ที่จะนำเข้าวัตถุดิบจากประเทศตนเองมาผลิตในอินเดียได้ในราคาถูกขึ้น ต้นทุนถูกขึ้น แต่อุตสาหกรรมในประเทศของอินเดียเองจะมีปัญหา

ส่วนเรื่องจีน ผมว่านี่เป็นข้อกังวลใหญ่ของอินเดียเหมือนกัน เพราะเหมือนว่ากรอบความร่วมมือนี้มีพี่ใหญ่อย่างจีนอยู่ด้วย อินเดียอาจจะมองว่า คนพยายามจะดึงเขาไปบาลานซ์กับจีนไหม อีกอย่างคือ อินเดียยังเสียเปรียบดุลการค้ากับจีนอยู่เลย การเข้าร่วม RCEP ไม่ได้ส่งผลดีต่อสภาพเศรษฐกิจของอินเดียในอนาคตแน่ๆ แต่ใน RCEP ยังมีหลายประเทศที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจร่วมอยู่ ดังนั้น ถ้าถามว่าการที่อินเดียไม่ได้เข้าร่วมจะทำให้จีนมีบทบาทเพิ่มขึ้นไหม ผมว่ายังไม่มีความชัดเจนมาก แต่ที่แน่นอนคือ ตลาดอาเซียนกับจีนจะโตมากขึ้น และบทบาทอิทธิพลของจีนต่ออาเซียนก็จะเพิ่มขึ้นด้วย ส่วนญี่ปุ่น เกาหลีใต้ รวมถึงสิงคโปร์ ที่เป็นนักลงทุนรายใหญ่ของอินเดีย ก็น่าจะได้รับผลกระทบแน่ๆ จากการที่อินเดียไม่เข้าร่วม RCEP

 

ความร่วมมือในภูมิภาคเอเชียใต้กับการจัดการวิกฤตโควิด-19

 

การที่ประเทศสมาชิกของสมาคมความร่วมมือแห่งภูมิภาคเอเชียใต้ (South Asian Association for Regional Cooperation – SAARC) มาประชุมกันเมื่อต้นปี 2020 เพื่อหาทางจัดการกับโควิด-19 ถือเป็นความร่วมมือที่สำคัญครั้งหนึ่ง เพราะ SAARC หยุดชะงักไปประมาณ 5 ปีแล้ว นี่ถือเป็นครั้งแรกในรอบ 5 ปีที่เขาหันหน้ามาคุยกันอีกครั้ง แน่นอนว่า การที่อินเดียเป็นคนริเริ่มให้จัดประชุมก็สะท้อนความพยายามของอินเดียที่จะกลับมาสร้างบทบาทนำของตนเองในเอเชียใต้ด้วย

แต่จากวันนั้นจนถึงวันนี้ มันก็ไม่ได้มีความก้าวหน้ามากขึ้นเท่าไหร่ เพราะตอนต้นปี อินเดียยังมีผู้ติดเชื้อโควิดน้อยมาก ทรัพยากรในการบริหารยังมีเหลือเฟือ แต่เมื่อเวลาผ่านไป ตอนนี้ตัวเลขในอินเดียเพิ่มขึ้นสูงมาก ทำให้ในประเทศก็แทบจะเอาตัวไม่รอดแล้ว อินเดียยังได้รับการสนับสนุนเครื่องตรวจและหน้ากากอนามัยจากจีนด้วย กลายเป็นว่า เอเชียใต้ต้องพึ่งพาความช่วยเหลือจากจีนแทน เพราะจีนจัดการเรื่องต่างๆ ได้เรียบร้อยแล้ว

ถ้าพูดอย่างตรงไปตรงมา ตอนแรกที่อินเดียส่งความช่วยเหลือเบื้องต้นไปยังประเทศในเอเชียใต้ ต้องบอกว่าเขาได้ใจเพื่อนบ้านนะ แต่ตอนนั้นเอเชียใต้ยังติดเชื้อน้อยมาก รวมๆ กันไม่ถึงพันคน อินเดียเลยยังมีศักยภาพในการช่วยเหลือเพื่อนบ้านอยู่ แต่ปัจจุบันคือเงียบกริบ ส่วนหนึ่งก็เพราะปากีสถานไม่โอเคกับการกระทำของอินเดีย เพราะเขามองว่าถ้าจะจัดประชุมในระดับภูมิภาค ทำไมไม่ให้เลขาธิการ SAARC เป็นผู้ดำเนินการ ทำไมต้องเป็นอินเดีย เพราะฉะนั้น การมีปากีสถานที่เป็นไม้เบื่อไม้เมากันอยู่ก็ทำให้อินเดียทำอะไรได้ยากขึ้น และเป็นปัญหาใหญ่ที่ทำให้กลุ่มความร่วมมือนี้ไม่ก้าวหน้าแม้จะมีอายุยาวนาน ฝั่งอินเดียก็หันไปหา BIMSTEC แทน เพราะเป็นกลุ่มที่มีทั้งประเทศในเอเชียใต้และอาเซียน แต่ไม่มีปากีสถาน

 

ทำไมเราต้องศึกษาอินเดีย?

 

หลายคนอาจจะไม่รู้ว่า จริงๆ ไทยเป็นเพื่อนบ้านกับอินเดีย เพราะเรามีพรมแดนทางทะเลติดกัน เวลาคุยเรื่องเพื่อนบ้านของไทยเราจะพูดถึงเมียนมา ลาว กัมพูชา เสียเยอะ แต่อินเดียก็เป็นเพื่อนบ้านเราเช่นกัน ซึ่งถ้าเรามองอินเดียเป็นเพื่อนบ้าน การศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจะเปลี่ยนไปเลย เพราะเราศึกษาเรื่องเพื่อนบ้านเยอะมาก แต่กลับไม่ได้ศึกษาอินเดียอย่างจริงจังเหมือนที่มีการศึกษาสหรัฐฯ กับจีนแยกขาดออกมา ส่วนอินเดียจะไปอยู่ในการศึกษาเอเชียใต้แทน

นี่ก็เป็นคำถามว่า ทำไมเราไม่มีการศึกษาอินเดียอย่างจริงจัง เพราะในปัจจุบัน บทบาทของอินเดียในการเป็นแกนนำขั้วใหม่ๆ ในเวทีโลกเพิ่มมากขึ้น และในอนาคต ก็มีโอกาสมากที่ระบบของโลกจะเป็นแบบพหุภาคี โลกจะมีหลายขั้วมากขึ้น เพราะจีนอาจจะยังไม่มีอำนาจถึงขนาดมาแข่งกับสหรัฐฯ ได้จริง

อีกอย่างคือ ไทยได้ดุลการค้าปริมาณมหาศาลกับอินเดีย และในอนาคต ตลาดอินเดียจะใหญ่เป็นอันดับต้นๆ ของโลก มีการคาดการณ์แล้วว่า อินเดียจะเป็นเบอร์สองในเรื่องเศรษฐกิจรองจากจีน ส่วนในเชิงจำนวนประชากร อินเดียจะขึ้นเป็นเบอร์หนึ่งแน่ๆ บทบาทของอินเดียต่อโลกก็จะเพิ่มขึ้น เพราะเมื่อเศรษฐกิจโต อิทธิพลในเวทีโลกก็จะเพิ่มขึ้นตาม ในอาเซียนอาจจะยังไม่เห็นชัด แต่ในภูมิภาคอื่น อินเดียถือเป็นผู้นำหรือเจ้าภาพในการจัดประชุมเกี่ยวกับประเทศในภูมิภาคแอฟริกา เอเชียกลาง หรือเอเชียใต้ รวมถึงพยายามเพิ่มบทบาทตนเองในแถบอาหรับ ตรงนี้เป็นอะไรที่เราละเลยไม่ได้เลย

ผมมองว่า อินเดียเป็นเหมือนทางเลือกหนึ่งที่สำคัญและน่าศึกษาต่อไปในอนาคต ซึ่งเราไม่ควรที่จะมุ่งไปหาแต่จีนและละเลยอินเดียไป เวลาเรามองอินเดีย ให้มองเหมือนที่มองจีนเมื่อประมาณ 20-30 ปีที่แล้ว นั่นแหละคือสิ่งที่ผมหวังไว้ และถ้าเรามองอินเดียแบบนั้น เราจะเห็นโอกาสหลายอย่างเพิ่มขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นในเชิงการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ หรือเศรษฐกิจระหว่างประเทศก็ตาม

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save