fbpx
'ปฏิรูป กสทช. - ปฏิรูปสื่อ' กับ สุภิญญา กลางณรงค์

‘ปฏิรูป กสทช. – ปฏิรูปสื่อ’ กับ สุภิญญา กลางณรงค์

ภาวรรณ ธนาเลิศสมบูรณ์ เรียบเรียง

ย้อนกลับไปในสมัยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยปี พ.ศ. 2550 การบัญญัติมาตรา 47 ว่าด้วยเรื่องการกำหนดให้คลื่นความถี่ที่ใช้ในการกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และโทรคมนาคม กลายเป็นทรัพยากรสื่อสารของชาติ มีไว้เพื่อประโยชน์สาธารณะ คือต้นกำเนิดของ ‘คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ’ หรือที่คุ้นหูกันในนาม กสทช.

กสทช. เป็นองค์กรอิสระซึ่งถูกจัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ.2554 ตามพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 โดยมีเจตนารมน์และอำนาจหน้าที่ในการปฏิรูประบบโครงสร้างคลื่น จากการเป็นทรัพย์สินผูกขาดของรัฐ ก่อให้เกิดการแข่งขันที่เสรีเป็นธรรม และกำกับดูแลเนื้อหาสื่อมวลชนในทุกแขนงเพื่อผลประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน

ที่ผ่านมา กสทช. ได้สร้างการเปลี่ยนแปลงให้แก่สังคมสื่อไทยมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการประมูลคลื่นความถี่ การสร้างระบบใบอนุญาต การกำกับดูแลด้วยมาตรการจัดเรตการออกอากาศ ฯลฯ ทว่าภารกิจการปฏิรูปสื่อนั้นไม่สามารถเสร็จสิ้นลงโดยง่าย เมื่อต้องเผชิญกับอุปสรรคนานาประการจากภายในและภายนอกองค์กร

101 ชวน สุภิญญา กลางณรงค์ อดีตกรรมการ กสทช. หญิงผู้มีบทบาทสำคัญในการดำเนินงานปฏิรูปสื่อตลอดหลายปีในฐานะตัวแทนของภาคประชาสังคม มาร่วมตีแผ่ปัญหาจากโครงสร้างภายในองค์กร อุปสรรคทางการเมืองที่ส่งผลต่อแผนการปฏิรูปหลังรัฐประหาร ประสบการณ์การทำงานของ กสทช. ร่วมกับรัฐบาล คสช. รวมถึงมองไปยังอนาคตข้างหน้าที่ไม่ต้องการแค่เพียง ‘การปฏิรูปสื่อ’ แต่ยังต้องการ ‘การปฏิรูป กสทช.’ เพื่อสังคม

สุภิญญา กลางณรงค์

เหตุใดตอนนี้คุณถึงกลายเป็นอดีต กสทช.

เราหยุดปฏิบัติหน้าที่ไปตั้งแต่วันที่ 15 มีนาคมปีที่แล้ว เนื่องจากเป็นวันที่ศาลฎีกามีคำพิพากษาคดีการเมืองในอดีตของตัวเอง ตอนที่ไปชุมนุมปีนสภาคัดค้านสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เร่งออกกฎหมายตั้งแต่ปี 2551 แต่ศาลบอกว่าเป็นการทำเพื่อประโยชน์สาธารณะและคดีไม่ร้ายแรง สองปีนี้จึงเป็นช่วงของการถูกภาคทัณฑ์

ตามพระราชบัญญัติ กสทช. เขียนคุณสมบัติต้องห้ามของกรรมการองค์กรอิสระไว้ เช่น ต้องคำพิพากษา พอเราถูกคำพิพากษา 15 มีนาคม ก็ตัดสินใจยุติการดำรงตำแหน่งด้วยตัวเอง เพราะคิดว่าเราขาดคุณสมบัติ เพียงแต่ว่าในทางกฎหมายยังต้องรอกระบวนการให้ครบถ้วน ตำแหน่งนี้ได้รับพระราชทานโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง ฉะนั้นตามครรลองของกฎหมายต้องได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้พ้นตำแหน่ง หลังจากใช้เวลาส่งเอกสารหลายเดือน เพิ่งมีประกาศราชกิจจานุเบกษาพ้นตำแหน่งอย่างเป็นทางการเมื่อต้นปีที่ผ่านมา เรียกได้ว่าอยู่ในสถานะคลุมเครืออยู่เกือบปี และตอนนี้ชัดเจนแล้วว่าเป็นอดีต กสทช.

เหนื่อยหรือไม่กับการทำงานในตำแหน่งที่ถูกจับตาตลอดเวลา

เป็นช่วงเวลาที่เครียด เพราะมีความคาดหวังจากทุกฝ่าย เรามาจากภาคสังคม NGO ก็ถูกคาดหวังให้ยืนหยัดเพื่อประโยชน์สาธารณะ ต้องเคร่งครัดตัวเองในหลายเรื่อง มีความคาดหวังในตัวเอง ความคาดหวังจากภาคเอกชนที่เรากำกับ และยังมีข้อจำกัดภายใต้คณะกรรมการ แต่เป็นประสบการณ์ที่สนุกดี และได้บทเรียนหลายอย่างจากการทำงาน

เหตุใดจึงมีความคาดหวังจากภาคประชาสังคมเป็นพิเศษ

เราทำเรื่องการปฏิรูปสื่อมานาน และเป็นคนหนึ่งที่ผลักดันในเกิดพระราชบัญญัติกสทช. ทำมาตั้งแต่เรียนจบ จนกระทั่งมาตั้งองค์กรคณะทำงานติดตามมาตรา 40 คณะกรรมการปฏิรูปสื่อเองก็ทำ ทำให้มีความคาดหวังจากเครือข่าย NGO และภาคประชาชน เรามาจากการสรรหาที่มีแรงสนับสนุนจากกลุ่มนี้ จึงต้องมีความรับผิดชอบ

สุภิญญา กลางณรงค์

การเป็นผู้หญิงอายุน้อยคนเดียวในวงข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ เรียนรู้บทบาทในการทำงานอย่างไร

วัยก็มีผลเหมือนกัน เราเข้ามาทำงานตรงนี้ตั้งแต่อายุยังน้อย บางครั้งใช้ท่าทีที่อาจถูกมองว่าเป็นเด็กหรืออุดมคติมากเกินไป เราไม่ได้เสียใจกับสิ่งที่ทำ แต่ถ้ากลับไปเป็นอีกครั้ง คงต้องเพิ่มมิติการทูตเข้าไป การเลือกบทบู๊ บทบุ๋น ต้องดูตามสถานการณ์

เหตุใดที่ผ่านมาคุณจึงเลือกใช้สื่อโซเชียลมีเดีย เช่น ทวิตเตอร์ส่วนตัว ออกมาวิพากษ์วิจารณ์หรือเผยแพร่ข้อมูลแทนการใช้สื่อของ กสทช.

เราใช้ทวิตเตอร์มาก่อนทำงาน และรู้สึกว่ามันรวดเร็ว ทำให้เราสามารถจุดประเด็นได้เลย เป็นข้อดีเวลาเราต้องการเตือนสังคม แต่มีจุดอ่อนที่ความรวดเร็วอาจทำให้เกิดความผิดพลาด เสี่ยงต่อการถูกฟ้อง

แต่ กสทช. ไม่มี platform ส่วนรวม จริงๆ ควรดู ‘FCC (Federal Communications Commission)’ ของอเมริกาเป็นต้นแบบ กรรมการทุกคนมีทวิตเตอร์เป็นเรื่องปกติ เพื่อกระชับประเด็นและบอกจุดยืนของแต่ละคน และเว็บไซต์ของ FCC จะขึ้นแถลงการณ์ให้ว่าเรื่องนี้มีมติอย่างไร แถลงการณ์จากแต่ละคนเป็นอย่างไร บางครั้งเขาจะถ่ายทอดสดการประชุม ให้คนเห็นการลงมติอย่างเป็นทางการ เพราะอย่างไรการลงมตินี้ก็เป็นการตัดสินใจที่มีการวางแผนมาล่วงหน้าของแต่ละคนอยู่แล้ว ของไทยไม่มีวัฒนธรรมแบบนี้ ซึ่งถ้ามีจะดีมาก

เมื่อ กสทช.ไม่มีแบบนี้ ทำให้เราต้องออกมาพูด และเราคิดว่าตัวเองควรทำ เพราะกสทช.ไม่ใช่บอร์ดบริษัทหรือคณะรัฐมนตรีที่ต้องเห็นไปในทางเดียวกัน แต่เป็น Commissioner ซึ่งแต่ละคนมีความเป็นปัจเจกของตัวเอง มีเสียงที่แตกต่าง ฉะนั้น Commissioner แต่ละคนสามารถแสดงความคิดเห็นได้เหมือนของอเมริกา

เราไม่ได้เอาความเห็นส่วนตัวของเขาไปทวีต สิ่งที่เราจะทวีตคือผลที่เป็นมติและความเห็นของเรา แน่นอนว่าบางครั้งเราอาจเผลอล้ำเส้นโดยไม่ได้ตั้งใจ แต่เราก็ต้องการเป็นบทเรียนให้คนอื่นทำแบบนี้เช่นกัน ว่าทางที่ดีควรจะสื่อสารกับสาธารณะ

คณะกรรมการ กสทช. ชุดปัจจุบันจาก 11 ท่าน ตอนนี้เหลือ 7 ท่าน ซึ่งทราบมาว่าได้หมดวาระไปแล้ว แล้วสถานะของกรรมการที่เหลืออยู่ตอนนี้เป็นยังไง

ใช่ค่ะ กสทช. ชุดแรกหมดวาระไปแล้วเมื่อ 6 ตุลาคม 2560 จากวาระ 6 ปีตามกฎหมาย แต่กฎหมายบอกว่าถ้ายังหาคณะกรรมการชุดใหม่ไม่ได้ ก็ให้ชุดแรกรักษาการไปก่อน ตอนนี้มีเกษียณไป 2 ท่าน ลาออก 1 ท่าน และดิฉันพ้นตำแหน่ง

ตอนนี้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แก้กฎหมายเปลี่ยนกระบวนการสรรหา กสทช. กระบวนการใหม่สรรหาอย่างไร

กระบวนการแบบเดิมมี 2 ตะกร้า ตะกร้าหนึ่งคือให้ NGO และนักวิชาการเลือกกันเอง ส่วนอีกตะกร้าคือสมัครกับคณะกรรมการสรรหา รวมเป็น 44 รายชื่อ ส่งให้สว. เลือกให้เหลือ 11 คน

สนช. คงมองว่าคณะกรรมการแบบชุดนี้ยังไม่เข้าตา (หัวเราะ) จึงไปแก้ใหม่ เอาคนที่สังคมเชื่อถือมาเป็นคณะกรรมการสรรหา คือตัวแทนศาลต่างๆ ตัวแทนองค์กรอิสระ ตัวแทนแบงก์ชาติ รวม 5-6 ท่าน และให้ทุกคนสมัครตรงไปที่คณะกรรมการ

สิ่งที่หายไปคือสัดส่วนจากภาคประชาสังคมที่เข้าไปเป็นคณะกรรมการสรรหา ไม่มีนักวิชาการ ไม่มีองค์กรวิชาชีพ แต่เป็นราชการทั้งหมดบวกธนาคารแห่งประเทศไทย สนช.มองว่าคณะกรรมการชุดนี้น่าจะน่าเชื่อถือ แต่สุดท้ายก็มีเหตุการณ์ตลกร้ายว่า สนช.คว่ำคณะกรรมการสรรหาชุดใหม่นี้เสียเอง ลิสต์รายชื่อนั้นกลายเป็นโมฆะ ต่อมา คสช. ใช้ม. 44 สั่งระงับการสรรหา เท่ากับให้ชุดรักษาการณ์ปัจจุบันเป็นต่อไปเรื่อยๆ และมีแนวคิดจะแก้พระราชบัญญัติกสทช. ใหม่อีกรอบ

สุภิญญา กลางณรงค์

ปัญหาของคณะกรรมการสรรหา กสทช. ชุดนั้นคืออะไร

จากการวิเคราะห์ของตนเอง คิดว่ารายชื่อที่ผ่านเข้าไปยังมีจุดอ่อนว่าบางท่านไม่ผ่าน มีประวัติโชกโชนในเชิงลบ แต่ถึงจะเป็นแบบนั้นก็ไม่ควรล้มทั้งกระบวนการ มีบางคนวิจารณ์ว่า สนช. มีธงจะล้มองค์กรอิสระอยู่แล้ว จากกรณีคณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.) หรือผู้ตรวจการแผ่นดินก่อนหน้านี้  บ้างก็ว่าผู้ใหญ่ไม่พอใจในรายชื่อ เอาเป็นว่าผู้มีอำนาจในเวลานี้อาจจะพอใจกับการทำงานของชุดนี้มากกว่า และรายชื่ออาจจะมีปัญหาจริง ผสมกันทั้งสองแบบ

ตั้งแต่การก่อตั้งปี 2554 กสทช. ถูกคาดหวังให้เข้ามาช่วยปฏิรูปสื่อ ถึงตอนนี้ 6 ปีผ่านไป การปฏิรูปสื่อดำเนินการถึงขั้นใดแล้ว

วาทกรรมการปฏิรูปสื่อ มี 2 เรื่อง คือ ปลดแอกสื่อของรัฐในเชิงโครงสร้างให้เสรีภาพมากขึ้น และจัดสรรคลื่นทรัพยากรความถี่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด พอมาถึงตอนนี้ก็ยังไม่เกิดทั้งสองเรื่อง เรายังไม่สามารถปฏิรูปคลื่นความถี่และไม่สามารถเรียกคืนคลื่นจากหน่วยงานรัฐได้สักคลื่น ส่วนคลื่นดิจิทัลทีวี UHF ที่ประมูลไปนั้น เป็นคลื่นว่าง ไม่มีเจ้าของมานานแล้ว กสทช.จึงนำมาประมูลได้ แต่คลื่นเดิมที่มีเจ้าของ ไม่ว่าของรัฐวิสาหกิจ ของกองทัพ หรือของใครก็ตาม ทั้งวิทยุและโทรทัศน์ กระทั่งคลื่นวิทยุของ กสทช. เอง กสทช. ก็ยังไม่สามารถเรียกคืนมาจัดสรรใหม่ได้

ดังนั้นถือว่าล้มเหลวในการเรียกคืนคลื่นความถี่ในฝั่ง broadcast แต่ฝั่งคลื่นโทรคมนาคมถือว่าทำได้ในระดับหนึ่ง นำคลื่นที่หมดสัมปทานมาทยอยประมูล  สิ่งที่น่าเป็นห่วงในอนาคตคือคลื่นแอนะล็อก (analog) ของทีวี อย่างช่อง 3, ช่อง 7, อสมท. ที่กำลังจะยุติช่องแอนะล็อกในปีนี้ คลื่นแอนะล็อกจะมีมูลค่ามากเพราะสามารถนำไปประมูลทำโทรคมนาคมได้

สมัยก่อนคลื่นโทรคมนาคมจะอยู่ในรัฐวิสาหกิจ อย่าง CAT , TOT ซึ่งคลื่นที่กองทัพมีนอกจากทำวิทยุโทรทัศน์แล้ว ยังสามารถทำคลื่นโทรคมนาคมได้ด้วย ต้องวัดใจกสทช.ว่าหลังจากยุติช่องแอนะล็อกแล้วจะเรียกคืนคลื่นอย่างที่ควรจะเป็นเลยไหม ถ้าไม่เรียกคืนก็ตกเป็นของรัฐเหมือนเดิม ผิดเจตนารมณ์การปฏิรูปแต่แรก

ส่วนเรื่องการคืนเสรีภาพสื่อของรัฐให้เป็นสื่อของเอกชน อันนี้ ‘เหมือนจะทำได้’ คือพวกวิทยุโทรทัศน์เมื่อก่อนเป็นของรัฐ รัฐอยากใช้เมื่อไรก็ได้ ยุคนี้เป็นยุคใบอนุญาต ทีวีดิจิทัลทั้งหมดความสัมพันธ์กับรัฐควรเป็นอิสระ แต่ตอนนี้มันกลับมาสู่สภาพเดิม เพราะทุกช่องถูกกระทำเหมือนเป็นสื่อของรัฐ รัฐจะใช้แอร์ไทม์เมื่อไรก็ได้ สั่งปิดก็ได้ เพราะฉะนั้นในเชิงโครงสร้างก็ถือว่าล้มเหลวมานับตั้งแต่รัฐประหาร ซึ่ง กสทช. กลายเป็นส่วนหนึ่งของอำนาจที่ถูกยึดมา ทำให้ความเป็นอิสระลดลงไป

ข้อดีของการเปลี่ยนระบบสัมปทานคลื่น มาเป็นระบบประมูลและระบบใบอนุญาตในปัจจุบัน คืออะไร

ระบบประมูลและระบบใบอนุญาต มีการแข่งขันเสรีเปิดเผยของทีวีดิจิทัล ทีวีเคเบิล ดาวเทียมเกิดการจัดระเบียบมาขอใบอนุญาตและอยู่ตามกติกา ส่วนวิทยุเป็นการกระทำแบบประคับประคอง เพราะนำวิทยุท้องถิ่นชุมชน 5,000-6,000 รายมาจดทะเบียนและให้ใบอนุญาตชั่วคราว ถ้าให้ใบอนุญาตจริงต้องทำการประมูล ซึ่งตอนนี้ยังไม่เกิด เพราะยังเรียกคืนคลื่นความถี่เดิมไม่ได้ แผนแม่บทที่บอกว่าภายใน 5 ปีต้องคืนคลื่น ก็ติด ม.44 ที่สั่งให้ขยายเวลาเพิ่มอีก 5 ปี จึงเป็นภาวะที่ไม่ได้ไปไหน

สถานการณ์ใบอนุญาตชั่วคราว สำหรับวิทยุชุมชนขนาดเล็ก ดีกว่าหรือแย่กว่าก่อนมี กสทช.

ดีกว่าตรงเข้าสู่ระบบกฎหมาย เพราะแต่ก่อนไม่ได้รับใบอนุญาตก็เสี่ยงต่อการถูกจับกุม ผิดพระราชบัญญัติวิทยุคมนาคม พ.ศ.2498 ถ้าออกอากาศโดยไม่มีใบอนุญาต เพียงแต่ความไม่ชัดเจนอาจส่งผลกระทบกับคนทำธุรกิจ คือกู้แบงก์ไม่ได้ เพราะไม่มีใบอนุญาตจริง

วิทยุท้องถิ่นตอนนี้แบ่งออกเป็น 3 ประเภท เป็นพวกแสวงหากำไร กับไม่แสวงหากำไร และพวกที่เป็นชุมชนจริงๆ ที่ล้มหายตายจากไปเยอะเพราะสู้ไม่ไหว รัฐไม่มีนโยบายสนับสนุน เราเองพยายามผลักดันให้ใช้เงินกองทุนวิจัยกสทช.มาสนับสนุนสื่อชุมชน ซึ่งมีมติแล้ว แต่ตอนนี้ยังไม่เป็นรูปธรรม

ฉะนั้นสื่อชุมชนแท้ๆ ที่ทำโดยไม่หวังผลกำไร เพื่อชุมชน โดยชุมชน ยังคงมีอยู่ แต่อ่อนแรงลงไปเรื่อยๆ และกลายสภาพเป็นวิทยุธุรกิจ ส่วนใหญ่ขายอาหารเสริม ขายน้ำผลไม้มากขึ้น มีปัญหาเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภค แต่เนื้อหาเชิงการเมืองก็ถือว่าเรียบร้อยตั้งแต่หลังรัฐประหาร

การเปลี่ยนภูมิทัศน์สื่อไปสู่อินเทอร์เน็ต ส่งผลกระทบต่อวิทยุชุมชนเหล่านี้ด้วยหรือไม่

ส่งผลมากค่ะ ช่วงก่อนที่จะมี 3G เราไม่คิดว่าภูมิทัศน์สื่อจะเปลี่ยนแปลงเร็วขนาดนี้จากการเข้าถึงโซเชียลมีเดีย ประกอบกับสมาร์ทโฟนที่ราคาถูกลง แต่พอ 3G เริ่มมีผลไปสักปีสองปี ดิจิทัลทีวีเริ่มมีให้เห็น ส่งผลต่อภูมิทัศน์สื่อหลักหมดเลย ประกอบกับภาวะการเมืองที่มีข้อจำกัดด้านการควบคุมสื่อมากขึ้น ทำให้สื่อออนไลน์กลายเป็นช่องทางหลัก

คสช. เข้ามามีบทบาทในการควบคุมเนื้อหาของสื่อได้อย่างไร

เริ่มจากการมีกฎอัยการศึกก่อน พอรัฐประหาร ทั้งทีวีวิทยุในประเทศไทยก็เงียบ ทีวีดาวเทียมที่ก่อนหน้านั้นยังถ่ายการชุมนุมก็เงียบ หลังจากนั้นเป็นจุดเปลี่ยน เราเจอปัญหาว่าสื่อรายเล็กๆ ที่เป็นเคเบิล ตกงานกะทันหัน กสทช. ได้รับเสียงร้องเรียนเต็มไปหมด

กสทช. จึงค่อยๆ เจรจาให้สื่อกลับคืนมา แต่เป็นการกลับมาอย่างมีเงื่อนไข วิทยุชุมชนแทบทุกรายสามารถกลับมาออกอากาศได้ แต่ต้องเซ็น MOU กับตัวแทนกองทัพในจังหวัดนั้นและสำนักงาน กสทช. ช่องเคเบิลดาวเทียมหลายช่องต้องเปลี่ยนชื่อตัวเองและปรับเนื้อหาเช่นกัน

การสร้างเงื่อนไขแก่สื่อในการกลับมาออกอากาศของ คสช. ส่งผลดีต่อการทำงาน กสทช. หรือไม่

หลังจากปี 2557 มุมลบคือการจำกัดเสรีภาพ แต่มุมบวกคือโอกาสในการจัดระเบียบ ตอนนั้น กสทช. สบช่องเข้าไปเพิ่มการจัดระเบียบบางเรื่อง เช่น เรื่องมาตรฐานเครื่องส่งคลื่นวิทยุ ที่ก่อนหน้านี้มีจำนวนมากเกินไปจนคลื่นตีกัน

โดยรวมสื่ออาจมองว่าเป็นภาระที่ต้องทำตาม ทั้งทำตามมาตรฐาน กสทช. และประกาศ คสช. ที่ซับซ้อนกว่ามาตรา 37 ของพระราชบัญญัติประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ 2551 ซึ่งกสทช. ใช้กำกับเนื้อหาครอบจักรวาล รวมถึงเรื่องที่ขัดต่อความมั่นคง ศีลธรรมอันดี แต่ประกาศ คสช. จะรวมถึงเนื้อหาที่กระทบการเมือง ความขัดแย้งด้วย

หลังจากนั้น คสช. ยังออกมาตรา 44 มาคุ้มครองการใช้อำนาจของ กสทช. ว่าการสั่งปิดสถานีตามคำสั่ง คสช. จะไม่ถูกฟ้องในคดีอาญาและแพ่ง เป็นเกราะป้องกันให้ กสทช. ใช้อำนาจตรงนี้ได้อย่างเต็มที่ ถ้าใช้อำนาจตามปกติต้องรอบคอบบ้าง เวลาเราสั่งปิดเขา ถ้าไม่มีเหตุผลชอบธรรมมากพอเขาก็อาจจะฟ้องแพ่ง ฟ้องอาญามาตรา 157 เราได้

ประกาศ คสช. ส่งผลต่อเสรีภาพสื่ออย่างไรบ้าง

ทำให้สื่อทีวีเป็นสื่อของรัฐเหมือนในยุคที่ไม่มี กสทช. ทั้งที่ กสทช. ควรเข้ามาปฏิรูปให้สื่อโทรทัศน์ไม่เป็นสื่อของรัฐ มีความเป็นอิสระ มีศักดิ์ศรีของตัวเองมากขึ้น ตอนนี้เรามีช่องเยอะขึ้น ก็ควรจะหลากหลาย เหมือนเป็นสีรุ้งคนละเฉด แต่พอหลังรัฐประหาร กลับกลายเป็นสีเดียวกันหมด ทุกคนไม่สามารถแสดงศักยภาพของตนเอง ไม่สามารถเป็นตลาดทางความคิด (marketplace of idea) ตามที่เราคิดไว้แต่แรก ทุกคนเลยไม่เห็นประโยชน์ของการมีหลายๆ ช่อง เป็นผลจากบรรยากาศการถูกจำกัดเสรีภาพ

บทบาทของสื่อต้องท้าทายตรวจสอบรัฐบ้าง ไม่ถึงขั้นล้มรัฐบาล แต่ไม่ใช่การสถาปนาความมั่นคงแก่รัฐ ตอนนี้ทีวีเรียบร้อยมาก แต่หนังสือพิมพ์และสื่อออนไลน์เรายังเห็นการวิพากษ์วิจารณ์บ้าง

คณะทำงานเพื่อติดตามสื่อที่ คสช. ตั้งขึ้น ทำงานร่วมกับ กสทช. อย่างไร

เขาจะส่งเป็นเรื่องร้องเรียนเข้ามาที่สำนักงาน สำนักงานชงเรื่องให้อนุกรรมการด้านกำกับเนื้อหาซึ่งมีกรรมการกสทช.อีกท่านหนึ่งเป็นประธาน  อนุกรรมการจะตัดสินในขั้นอนุว่ามีเรื่องร้องเรียนมาจากคณะทำงานติดตามสื่อ เมื่อตัดสินว่าผิด จะนำมาเข้าบอร์ด

พอเข้าบอร์ด มีเรื่องสองอย่างที่ต้องดูคือกระบวนการและเนื้อหาว่าผิดจริงไหม ซึ่งเราก็ไม่เห็นด้วยเป็นส่วนใหญ่ วิธีการบางเรื่องมันลัดขั้นตอน หรือเนื้อหาบางเรื่องไม่ได้รุนแรงขนาดนั้น เพื่อนบางคนก็อาจไม่แฮปปี้เท่าไหร่เพราะเขาถือว่าเป็นประกาศ คสช. มาแล้ว แต่เราคิดว่าเรามีสิทธิ์ที่จะโต้แย้ง การโต้แย้งของเราบางครั้งก็เป็นประโยชน์ต่อผู้รับใบอนุญาต นำไปฟ้องที่ศาลปกครอง

สุภิญญา กลางณรงค์

การเป็นเสียงข้างน้อยใน กสทช. มีประโยชน์อย่างไร

การเป็นเสียงข้างน้อยอย่างเดียวอาจไม่มีความหมายมากนัก ถ้าเป็นเสียงข้างน้อยที่เงียบ ไม่เอาประเด็นมาสู่สาธารณะ แต่การเป็นเสียงข้างน้อยจะดีในแง่การต่อสู้ทางกฎหมาย ว่าผู้รับผลกระทบสามารถเอาเสียงข้างน้อยไปอ้างอิงในศาลได้ มีหลายเคสพิสูจน์แล้วว่าสามารถต่อสู้ได้จริง ถ้าไม่มีเสียงข้างน้อยคอยคานไว้ โอกาสต่อสู้ในชั้นศาลจะน้อยมาก เพราะว่ามันจะชนะเอกฉันท์

การมีเสียงข้างน้อยในการโหวตและบันทึกไว้ จะช่วยตามหลักนิติธรรม คือสามารถนำไปอ้างหรือเป็นพยานต่อสู้ในชั้นศาลได้ ให้ศาลมาคานอำนาจ กสทช. อีกทีหนึ่ง แต่ในทางสังคมการเมือง การเป็นเสียงข้างน้อยที่ใช้ทางกฎหมายอย่างเดียวจะไม่เกิดผล มันต้องออกมาพูดกับสังคมด้วย ซึ่งเป็นสิ่งที่ตัวเองพยายามทำและคิดว่าเกิดผลอยู่พอสมควร อย่างน้อยก็ทำให้คนเข้าใจว่างานของ กสทช. คืออะไร มันสร้างความเปลี่ยนแปลงในกระบวนการมากกว่า ส่วนปลายทางต้องดูเป็นเรื่องๆ ไป

เนื้อหาส่วนใหญ่ที่คณะทำงานติดตามสื่อของ คสช. ร้องเรียนมาให้ กสทช. ลงโทษ เป็นเรื่องเกี่ยวกับอะไร

เป็นเรื่องการเมืองค่ะ ตั้งแต่วิจารณ์รัฐประหาร วิจารณ์ไปที่ตัว คสช. เอง หรือเลือกข้างทางการเมือง บางช่องเห็นได้ชัดว่าเลือกข้างทางการเมืองจริง ในกฎหมายปกติอาจเอาผิดยาก เพราะการมีอคติอาจจะเป็นเรื่องจริยธรรม แต่พอเอาประกาศ คสช. มาจับ มันกลายเป็นเรื่องผิดกฎหมายไปด้วย ซึ่งมองในมุมสิทธิมนุษยชนก็อาจเป็นการรุกล้ำเสรีภาพด้านการแสดงออกทางความเห็น

เวลามีปัญหาเรื่องเนื้อหาทางการเมืองเข้ามา กสทช. ใช้หลักเกณฑ์อะไรในการตัดสินลงโทษ

กสทช. พยายามใช้อนุกรรมการเป็นด่านแรก ตัดสินตามดุลยพินิจ และอาจใช้หน่วยงานราชการเป็นตัวต้นเรื่อง เช่น ถ้าเป็นเรื่องความมั่นคง อาจสอบถามไปยังหน่วยงานต้นเรื่อง หรือถ้าเป็นเรื่องวัฒนธรรม อาจสอบถามกระทรวงวัฒนธรรม ซึ่งเราแย้งตลอดว่ามันต้องถามอีกฝั่งหนึ่งด้วย ควรถามคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนด้วย บางครั้งก่อนตัดสิน กสทช. มีไปถามบ้าง แต่ก็ยังไม่หลากหลายพอ บางเรื่องที่ตัดสินยากคณะกรรมการก็ต้องเปิดทีวีดูด้วยกันในที่ประชุมและเถียงกัน

การลงโทษแบบนี้ทำให้สื่อทีวีบางแห่งซึ่งเคยมีจุดยืนทางการเมือง ต้องเซ็นเซอร์ตัวเองหรือเปลี่ยนจุดยืนไปบ้างหรือไม่

ก็เซ็นเซอร์ไปมากพอสมควร กลุ่มทีวีดาวเทียมบางแห่งต้องยอมรับว่าล้ำเส้นไปมาก ควรต้องกลับมามีมาตรฐานบ้าง แต่ฟรีทีวีอย่างช่อง Voice TV ต้องปรับเยอะมาก หลายเคสเขาเองก็ไม่ได้ฟ้อง แต่ยอมรับคำสั่ง

การกำกับสื่อหลังรัฐประหารครั้งนี้ มีความแตกต่างจากช่วงก่อนรัฐประหารมากน้อยแค่ไหน

มีมากเลยค่ะ ก่อนรัฐประหาร มุมมองใน กสทช. ค่อนข้างไปในทางอนุรักษ์ ด้วยองค์ประกอบที่มีทหารเยอะ แต่ก็ยังมีการดีเบท มีความหลากหลายทางความคิด พอหลังรัฐประหาร ความอิสระมีน้อยลง เมื่อมีข้อร้องเรียนจากผู้มีอำนาจ คือ คสช. หรือรัฐบาล แนวโน้มที่ กสทช. ตัดสินว่าผิดมีสูงมาก ทั้งที่ในภาวะปกติอาจมองว่าไม่ผิด ตรงนี้กระทบกับการใช้ดุลยพินิจอย่างมีอิสระมากกว่าแต่ก่อน

กสทช. มีดุลยพินิจที่เลือกโทษเองได้ ว่าให้ตักเตือน ปรับ หรือสั่งปิดสถานีใช่หรือไม่

ใช่ค่ะ เป็นดุลยพินิจของกรรมการเลย ซึ่งการใช้ดุลยพินิจตามหลักนิติธรรมต้องถูกโต้แย้ง ถูกคานอำนาจด้วยการฟ้องร้องได้ แต่พอเป็นเรื่องการเมือง การใช้ดุลยพินิจมันไม่ถูกตรวจสอบ ตรงนี้เลยทำให้กระทบหลักนิติธรรม

เมืองไทยให้อำนาจในการใช้ดุลยพินิจมากไปในบางเรื่อง ส่วนบางเรื่องก็ไม่ใช้และปล่อยปละละเลยมากเกินไป เช่น การกำกับผังรายการ หรือการจัดเรตไม่เป็นไปตามเกณฑ์ กสทช.มักไม่ได้กระตือรือร้นในเรื่องนี้ จะกระตือรือร้นในเรื่องการเมืองเป็นหลัก มีหลายเรื่องที่ต้องใช้อำนาจในการกำกับดูแลเพื่อประโยชน์สาธารณะเพิ่มขึ้น

สมัยที่คุณยังทำงานอยู่ใน กสทช. มีเรื่องใดที่ คสช. ร้องเรียนแล้ว กสทช. ตัดสินว่าไม่ผิดบ้างหรือไม่

น้อยมาก แต่มักจะลดขนาดโทษมากกว่า เพราะมีบางเรื่องที่ไม่รุนแรง เช่น การวิพากษ์วิจารณ์บุคคลสาธารณะปกติ แต่กลายเป็นเรื่องใหญ่ขึ้นมา

สุภิญญา กลางณรงค์

คุณมีข้อเสนอแนะเกี่ยวกับแนวทางกำกับดูแลสื่อที่ชัดเจนมากขึ้นอย่างไร

อยากให้ใช้ลักษณะแบบมีลูกขุน ที่ผ่านมามีอนุกรรมการก็จริง แต่อนุกรรมการเป็นโควตาที่คณะกรรมการแต่ละคนเลือกมา จึงอาจจะไม่ได้มีความชำนาญที่หลากหลาย ไอเดียลูกขุนคือ เมื่อต้องตัดสินเรื่องที่ตัดสินยาก อย่างความเหมาะสม จรรยาบรรณ จริยธรรม ต้องเอามุมมองของคนต่างๆ จากองค์กรกึ่งลูกขุน กึ่งวิชาชีพ กึ่งภาคประชาสังคม มาช่วยสะท้อนว่าตกลงเรื่องนี้ล้ำเส้นหรือไม่ การใช้ดุลยพินิจจะได้มีน้ำหนักมากขึ้น และสอดคล้องกับความเป็นจริงของสังคมมากขึ้น เพราะสังคมมันพลวัตไปเรื่อยๆ กรอบบรรทัดฐาน (norms) บางอย่างอาจไม่เหมือนเดิม แต่เรื่องที่ผิดกฎหมายอยู่แล้ว ควรฟันธงและใช้โทษหนักไปเลย

หากคิดจากเรื่องการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน NGO ควรเข้าไปอยู่ในกลไกรัฐหรือไม่

จริงๆ ก็ควรนะคะ ในเมืองนอกการมีล็อบบี้ยิสต์หรือส่งคนเข้าไปในกลไกรัฐ เป็นเรื่องปกติและทำได้ เพียงแต่ถ้าเข้าไปอย่างโดดเดี่ยว ไม่มีความช่วยเหลือจากทางสังคม ก็คงยาก

ด้านการกำกับดูแลจัดเรตรายการ โดยเฉพาะละคร คุณคิดว่ามีช่องโหว่ที่ทำให้รายการประเภท น.13+ หรือ น.18+ กลายเป็นเรตทั่วไปหรือไม่

ส่วนตัวคิดว่ามีช่องโหว่ เรื่องนี้มีการร้องเรียนเข้ามาตลอด แต่มักจะไม่ทัน เพราะ กสทช. ตัดสินเรื่องนี้ช้า กว่าจะตัดสินละครก็จบแล้ว การจัดเรตรายการ กสทช. ถือให้เป็นเสรีภาพของช่อง เพราะยุคนี้เราไม่มี กบว. (คณะกรรมการบริหารวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์) โดยรัฐ แต่ส่วนใหญ่ช่องมักจะจัดเป็นเรต ท.ทั่วไป เสมอ เพราะมีผลต่อการลงโฆษณา ซึ่งตรงนี้ต้องเปลี่ยนวิธีคิด และ กสทช. อาจต้องเพิ่มกลไกการเตือนเรื่องเรตให้เร็วขึ้น

 

ด้านการให้บริการกระจายสื่อผ่านช่องทางออนไลน์ หรือ Over-the-top (OTT) กสทช. ควรเข้ามามีบทบาทกำกับดูแลด้วยหรือไม่

มุมมองส่วนตัวในฐานะเป็นผู้กำกับดูแลมาก่อน เห็นด้วยว่าเมื่อถึงจุดหนึ่งต้องมีการกำกับ เพียงแต่ว่าต้องระวังเรื่องวิธีการมาก เพราะถ้าหนักข้อหนักมือมากเกินไป จะไปบล็อกเรื่องเสรีภาพและพัฒนาการของเทคโนโลยี

สิ่งที่ กสทช. และรัฐควรทำคือใช้ soft power ในที่นี้หมายถึงเริ่มจากการพูดคุยขอความร่วมมือ หามาตรฐานร่วมกันและเอาเรื่องของการคุ้มครองผู้ใช้บริการเป็นตัวตั้ง ไม่ใช่เรื่องความมั่นคงของรัฐ ไม่อย่างนั้นจะไม่ได้แรงหนุน ต้องค่อยๆ เริ่มทำ และเอาประเด็นที่กระทบคนจำนวนมากก่อน เช่น การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (privacy data protection) การคุ้มครองผู้บริโภค (consumer protection) จะได้แนวร่วมมากกว่า

สุดท้าย คุณมีข้อเสนอแนะอย่างไรต่อ กสทช. ชุดใหม่และภาคส่วนอื่นๆ เพื่อนำไปสู่การปฏิรูปสื่อที่แท้จริง

เนื่องจากไม่รู้ว่า กสทช. ชุดใหม่มาเมื่อไร ก็ขอฝากถึงชุดปัจจุบันที่เป็นอดีตเพื่อนร่วมงานกันก่อนดีกว่า กสทช. ชุดนี้มีความกล้าที่จะทำอะไรหลายๆ เรื่อง ซึ่งทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง อย่างน้อยเรามี 3G 4G ใช้ในประเทศไทย มีดิจิทัลทีวีหลายช่อง แต่อยากฝากให้เน้นการคุ้มครองผู้บริโภคมากขึ้น มากกว่าการ censorship ทางการเมือง เพราะจะทำให้เสียเครดิตความเป็นองค์กรกำกับดูแลอิสระ อยากให้ทำงานใกล้ชิดภาคประชาสังคมมากขึ้น ใช้เครื่องมือสื่อสารให้เป็นประโยชน์ และบางเรื่องทำให้โปร่งใส เช่น ถ่ายทอดสดการประชุมเหมือน FCC อเมริกา

กสทช. ทำประโยชน์หลายอย่างให้กับประเทศ แต่มาพร้อมกับต้นทุนที่ค่อนข้างสูงมาก ดังนั้นสิ่งที่สังคมต้องสร้างเพิ่มขึ้นคือกลไกการตรวจสอบที่เมืองไทยยังมีน้อยอยู่ ทำให้ข้อมูลต่างๆ ต้องเปิดเผย การพบปะภาคเอกชน การใช้งบประมาณ ถ่ายทอดสด ถ้าเราเปิดเผยตรงนี้ได้จะทำให้ทุกคนเคร่งครัดมากขึ้นในระดับปัจเจก

ในหลักโครงสร้างกฎหมาย อยากให้มีการเปิดเผยข้อมูล ระบบตรวจสอบที่ดีขึ้น ส่วนภาคเอกชนก็ควรปรับวัฒนธรรมให้ตรงไปตรงมา รักษาระยะห่างกับรัฐ โดยมีภาคสังคมช่วยกันตรวจสอบในโซเชียลมีเดีย ช่วยกันวิจารณ์


หมายเหตุ: ผู้สนใจสามารถติดตามชมเทปบันทึกภาพรายการ 101 One-on-One ตอน “ปฏิรูป กสทช. ปฏิรูปสื่อ” กับ สุภิญญา กลางณรงค์ ดำเนินรายการโดย ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ออกอากาศเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2561 ทาง The101.world

MOST READ

Projects

16 Nov 2021

‘เติมนักเรียนในช่องว่าง’ 4 หนังสั้นคนรุ่นใหม่ที่ไม่อยากให้ผู้ใหญ่พูดแทน

ถ้าเรามองว่า School Town King คือสารคดีที่เคยเล่าเรื่องราวของของเยาวชน การศึกษาและความเหลื่อมล้ำผ่านสายตาของผู้ใหญ่ เรื่องสั้นจาก ‘เติมนักเรียนในช่องว่าง’ ก็ไม่ต่างกันนัก เพียงแต่มันสื่อสารโดยตรงมาจากกลุ่ม ‘นักเรียน’ ผู้เป็นคำตอบของหลายๆ ช่องว่างในสังคมนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Nov 2021

Economy

15 Mar 2018

การท่องเที่ยวกับเศรษฐกิจไทย

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ตั้งคำถาม ใครได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวบูม และเราจะบริหารจัดการผลประโยชน์และสร้างความยั่งยืนให้กับรายได้จากการท่องเที่ยวได้อย่างไร

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

15 Mar 2018

Economy

23 Nov 2023

ไม่มี ‘วิกฤต’ ในคัมภีร์ธุรกิจของ ‘สิงห์’ : สันติ – ภูริต ภิรมย์ภักดี

หากไม่เข้าถ้ำสิงห์ ไหนเลยจะรู้จักสิงห์ 101 คุยกับ สันติ- ภูริต ภิรมย์ภักดี ถึงภูมิปัญญาการบริหารคน องค์กร และการตลาดเบื้องหลังความสำเร็จของกลุ่มธุรกิจสิงห์

กองบรรณาธิการ

23 Nov 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save