fbpx
‘Beating the Crisis’ กับ ศุภวุฒิ สายเชื้อ

‘Beating the Crisis’ กับ ศุภวุฒิ สายเชื้อ

กองบรรณาธิการ เรื่อง

 

โลกและไทยกำลังเผชิญกับวิกฤตที่ใหญ่ที่สุดในรอบศตวรรษ หากมนุษย์จะมีอายุยืน 100 ปี วิกฤตนี้อาจเป็นวิกฤตใหญ่ที่สุดในช่วงชีวิตคนหนึ่ง

101 ชวน ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ ที่ปรึกษากลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร และผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่ม CARE วิเคราะห์เศรษฐกิจไทยในวันที่ยากลำบากที่สุด และพาไปมองภูมิทัศน์โลกในวันที่เจอวิกฤต เพื่อทำความเข้าใจว่าความเป็นไปทั้งหลายส่งผลต่อประเทศไทยอย่างไร

 

 

:: สหรัฐอเมริกา – จัดการวัคซีนจบ แต่การแบ่งแยกในประเทศและสงครามกับจีนไม่จบ ::

 

 

ถ้าจะดูสถานการณ์โลก เราคงต้องมองอเมริกาเป็นจุดเริ่มต้น เพราะเราใช้เงินดอลลาร์เป็นเงินสกุลหลักของโลก เมื่อดอกเบี้ยอเมริกาต่ำ ดอกเบี้ยทุกคนก็ต่ำไปด้วย นโยบายการคลังของเขาก็มีความสำคัญ เขาเป็นประเทศที่ขาดดุลบัญชีเดินสะพัดมากที่สุดในโลกประเทศหนึ่ง เพราะเป็นผู้ซื้อสุทธิสินค้าและบริการของทั่วโลก แล้วเขาก็ยังยอมทำอย่างนั้นอยู่

ปัญหาของอเมริกาตอนนี้มีสองเรื่องใหญ่ๆ

หนึ่ง ในอเมริกามีความแตกแยกอยู่มาก ซึ่งมีความเสี่ยงที่การขับเคลื่อนนโยบายของเขาจะทำได้ไม่ดีเท่าที่ควร

สอง ภายในอเมริกามีความเห็นเหมือนกันเรื่องหนึ่งคือมองว่าคู่ปรปักษ์สำคัญคือจีน

สองปัญหานี้ใหญ่กว่าโควิดอีก ผมประเมินเร็วๆ ว่าอเมริกามีศักยภาพทางด้านวิทยาศาสตร์และเศรษฐกิจที่จะผลิตวัคซีนมาเพียงพอฉีดให้คนอเมริกาทุกคนภายในปลายปีนี้ได้ ดังนั้นปัญหานี้น่าจะจบ แต่สองปัญหานี้อาจจะไม่จบ

 

:: สหภาพยุโรป – คนแบกของหนักที่เดินช้า ::

 

 

สหภาพยุโรปเจอปัญหาเรื่องสุขภาพหนักมาก ก่อนหน้านี้ทุกคนประเมินความรุนแรงของโคโรนาไวรัสต่ำมาก เพราะจำได้ว่าซาร์สที่เป็นโคโรนาไวรัสตัวแรกจบภายใน 5-6 เดือน และไม่ระบาดที่ยุโรปเลย ผมคิดว่ายุโรปการ์ดตกจริงๆ พอโควิดมาเลยเข้ามาเร็วและแรง จนกระทั่งระบบสาธารณสุขเอาไม่อยู่ จึงได้รับผลกระทบรุนแรงมาก

ปัญหาของสหภาพยุโรปคือก่อนหน้านี้มี Brexit กลายเป็นวิกฤตซ้อนวิกฤต เดิมทีสหภาพยุโรปมีดุลอำนาจที่ค่อนข้างลงตัว คือฝรั่งเศสกับเยอรมนี ฝรั่งเศสมักจะดึงไปทางหนึ่ง เยอรมนีก็ดึงไปทางหนึ่ง แล้วอังกฤษเป็นตัวสมดุลตรงกลาง กลายเป็นสามเส้า ที่จริงมีอิตาลีด้วย แต่บางทีอิตาลีก็วอกแวกเลยนับเป็นแค่ครึ่งขา นึกภาพเรามีโต๊ะสามขาครึ่ง พออังกฤษออกเลยเหลืออยู่สองขาครึ่ง ขณะที่เยอรมนีซึ่งเป็นขาที่แข็งแรงมั่นคงมาก แต่พออังเกลา แมร์เคิล กำลังออกจากตำแหน่ง จึงยิ่งมีความไม่แน่นอนมากขึ้น

ก่อนหน้านี้มีปัญหาว่า สหภาพยุโรปต้องพยายามเปลี่ยนตัวเอง เดิมทีมีการอุดหนุนด้านการเกษตรมากเกินไป เป็นภาระมากเกินไป เริ่มมีกฎเกณฑ์และระเบียบแบบแผนมากเกินไป ทำอย่างไรก็โตได้ไม่ดีเท่าอเมริกา แล้วประเด็นสุดท้ายคือ เขาก็ต้องเลือกข้างว่าจะอยู่ข้างจีนมากขึ้น หรือจะอยู่ข้างอเมริกามากขึ้น เพราะจีนก็บุกที่ยุโรปค่อนข้างมาก

ต้องยอมรับว่ายุโรปจะค่อยๆ ซึมไปเรื่อยๆ แล้วการที่เขาเป็นสหภาพใหญ่ ยิ่งบริหารจัดการยากขึ้น เขาถูกกดโดยรัฐบาลยุโรปที่อยู่ทับซ้อนกับรัฐบาลแต่ละประเทศ เหมือนคนแบกของหนัก แล้วเดินช้าลงเรื่อยๆ

 

:: จีน ความฝันร้อยปีของสี จิ้นผิง ::

 

 

สิ่งที่เกิดขึ้นที่ประเทศจีนคือประธานาธิบดีสี จิ้นผิงรวบอำนาจอย่างเต็มรูปแบบ ในปี 1947 มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐจีน ช่วงนั้นจีนถูกปกครองโดยประธานเหมาเป็นหลัก แล้วจีนก็เห็นปัญหาตอนที่ประธานเหมาเสียชีวิตไป ตอนนั้นปั่นป่วนมากเลย ในที่สุดแล้วเติ้ง เสี่ยวผิงสามารถขึ้นมาเป็นผู้นำได้ เติ้ง เสี่ยวผิงก็เลยบอกว่าต้องไม่ให้เกิดปัญหานี้อีก หลังจากเติ้ง เสี่ยวผิง ผู้นำทุกคนหลังจากนั้นอยู่แค่ 2 เทอม เทอมละ 5 ปี โดยเทอมที่ 2 จะต้องเริ่มหาผู้สืบทอดอำนาจ จนกระทั่งสี จิ้นผิงเลิกทำ

จีนมีเดิมพัน คือสี จิ้นผิงจะต้องทำให้จีนชนะอเมริกาภายในอายุขัยของสี จิ้นผิง ซึ่งเดาว่าคงนึกถึงปี 2047 ก็คือ 100 ปีนับจาก 1947 เพราะฉะนั้นเหมือนมีนาฬิกาเดินตลอดเวลา

ปัญหาของจีนคืออเมริกาก็รู้แล้วเหมือนกันว่านั่นคือสิ่งที่จีนต้องการ สิ่งที่จีนต้องการมีสองอย่าง

หนึ่ง จีนต้องชนะอเมริกาด้านเทคโนโลยี เทคโนโลยีที่สำคัญในอนาคต 20 ปีข้างหน้าคือ 5G

สอง ไล่อเมริกาออกจากภูมิภาคอาเซียน เพราะภูมิภาคนี้ต้องเป็นสนามหลังบ้านของจีน

ประเทศไทยอยู่ในสายตาของจีนในเชิงที่ว่า ข้างไหนมีท่าทางชนะเราก็ไปข้างนั้น ตอนนี้จีนมีท่าทางชนะเราก็ไปอยู่ข้างจีน เดี๋ยวถ้าเกิดจู่ๆ อเมริกาชนะ เราก็เปลี่ยนข้างได้ แต่เราไม่ได้มีจุดยืนที่ชัดเจนขนาดนั้น

 

:: มาตรการการคลัง ช่วยคนก่อนตกงาน ::

 

 

สถานการณ์วันนี้ รัฐบาลรู้ว่าล็อกดาวน์ไม่ได้ ตัวเลขที่น่าสนใจคือข้อมูลที่รัฐบาลบอกว่าจะแจกวัคซีนให้ใคร ในนั้นมีผู้สูงอายุ 11 ล้านคน และคนเป็นโรคเบาหวานประมาณ 4 ล้านคน รวม 15 ล้านคน ถึงรัฐบาลบอกว่าไม่ล็อกดาวน์ คนพวกนี้จะรู้ตัวว่าตัวเองเสี่ยงที่จะติดโควิดแล้วตายหรือป่วยหนัก คนพวกนี้จะไม่ออกมาใช้เงิน ประชากรไทยมีอยู่ 70 ล้านคน หายไป 15 ล้านคน อย่างไรจีดีพีก็ลง ฉะนั้นเศรษฐกิจจะฟื้นไม่ได้ ถึงแม้คุณจะไม่ล็อกดาวน์

ผมเสนอว่าให้ทำมาตรการการคลังตามประเทศอื่นๆ โดยการเอาเงินของรัฐไปให้บริษัท ช่วยจ่ายเงินเดือนพนักงานเพื่อไม่ให้ถูกไล่ออก แต่เรารอให้ตกงานก่อนแล้วค่อยให้ หน่วยการผลิตหรือบริษัทก็เลยแตก อย่างนี้คุณจะกลับมาฟื้นใหม่ยาก เวลาคุณจะกดสวิตช์เปิดใหม่ ถ้าทุกอย่างยังอยู่หมด ก็จะเดินต่อได้

ประตูเวลาปิดไปเรื่อยๆ เวลามีค่ามาก ผมเคยเปรียบเทียบเสมอว่า สิ่งที่คุณกำลังบอกให้ประชาชนทำตอนนี้คือให้กลั้นหายใจ กลั้นไปนานๆ ก็ไม่ไหว คนเรากลั้นหายใจได้เฉพาะจังหวะหนึ่งเท่านั้น ตอนแรกให้หายใจนิดหนึ่ง ตอนนี้มาให้กลั้นอีกแล้วเหรอ ไม่ไหว

 

:: การท่องเที่ยวแบบ wellness economy ::

 

 

รัฐบาลจีนมีนโยบายชัดเจนให้คนจีนเที่ยวประเทศจีน เพราะฉะนั้นเราหวังพึ่งการท่องเที่ยวไม่ได้ เพราะนักท่องเที่ยวจีน เป็นเกือบ 1 ใน 3 ของนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมดที่เข้ามาประเทศไทย ส่วนนักท่องเที่ยวจากที่อื่นเราก็คงไม่อยากรับ เพราะเขามีทั้งไวรัสสายพันธุ์อังกฤษ สายพันธุ์แอฟริกาใต้เข้ามาด้วย เราคงไม่อยากได้ของแถมนั้น เพราะฉะนั้นอย่างไรก็ไม่มีทางเหมือนเดิม

ปัญหาคือถ้าสถานการณ์ไม่เหมือนเดิม แต่ทรัพยากรโครงสร้างของธุรกิจท่องเที่ยวเป็นอย่างเดิม เราจะปรับโครงสร้างนี้อย่างไร ซึ่งยังไม่เห็นรัฐบาลบอกเลยว่าจะปรับโครงสร้างอย่างไร

แนวคิดหนึ่งก็คือจะต้องเปลี่ยนประเทศไทยเป็น wellness economy ตอนนี้ถ้าพูดถึงประเทศไทย คนจะพูดว่า ‘land of smile’ แต่เราเปลี่ยนเป็น ‘land of wellness’ ได้ไหม คนที่เข้ามาเมืองไทยจะเข้ามาเพราะประเทศไทยมี wellness ทั้งการรักษาพยาบาล ดูแลผู้สูงอายุ กีฬา ออกกำลังกาย สปา แพทย์ทางเลือก อาหารออร์แกนิก ประเทศไทยผลิตอาหารอยู่แล้ว ต่อไปนี้ทุกอย่างเป็นอาหารออร์แกนิก มีใบรับรอง และมีแพ็กเกจทัวร์ท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ

ถ้าสามารถปลูกฝังความคิดให้คนในโลกได้ว่า ถ้าอยากสุขภาพดีให้มาเมืองไทย นับเป็นความสำเร็จในการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทย

 

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Spotlights

4 Nov 2020

101 Policy Forum : ประเทศไทยในฝันของคนรุ่นใหม่

101 เปิดวงสนทนาพูดคุยกับตัวแทนวัยรุ่น 4 คน ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน , สิรินทร์ มุ่งเจริญ, ภาณุพงศ์ สุวรรณหงษ์, อัครสร โอปิลันธน์ ว่าด้วยสังคม การเมือง เศรษฐกิจไทยในฝัน ต้นตอที่รั้งประเทศไทยจากการพัฒนา ข้อเสนอเพื่อพาประเทศสู่อนาคต และแนวทางการพัฒนาและสนับสนุนคนรุ่นใหม่

กองบรรณาธิการ

4 Nov 2020

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save