fbpx
คุณหญิงสุภาพ ยศสุนทร ยอดหญิงของไทย

คุณหญิงสุภาพ ยศสุนทร ยอดหญิงของไทย

กษิดิศ อนันทนาธร เรื่อง

เมื่อคุณหญิงสุภาพ ยศสุนทร จากไปในปี 2517 หัวหน้าและเพื่อนสนิทของเธออย่าง ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เขียนบทไว้อาลัยให้เธอถึง 2 ชิ้น ชิ้นหนึ่งลงในอนุสรณ์งานศพ เล่าเรื่องสมัยที่เป็นเสรีไทยด้วยกัน อีกชิ้นหนึ่งเป็นเอกสารนำของบทความเรื่อง ‘ขั้นตอนต่าง ๆ สู่ระเบียบการเงินระหว่างประเทศ’ ซึ่งป๋วยใช้กล่าวในงานปาฐกถา Per Jacobson อันสำคัญ

ไม่เพียงเท่านั้น ป๋วยยังเขียนไว้ด้วยว่า ถ้ามีเวลามากกว่านี้อยากจะเขียนเรื่องที่ทั้งคู่ทำงานในธนาคารแห่งประเทศไทยด้วยกันใน ค.ศ.1950-1960 เมื่อทั้งคู่ได้ช่วยกันพยายามสร้างระเบียบและความน่าเชื่อถือให้ระบบเศรษฐกิจและการเงินไทย ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องต่อสู้อย่างไม่หยุดหย่อน

ป๋วยยังกล่าวต่อไปว่า “ในโลกแห่งความโหดร้ายของเรานี้ สิ่งที่เราเล่าขานสู่อนุชนอาจช่วยให้เขาเหล่านั้นรู้ว่า ควรทำอะไรหรือไม่ควรทำอะไร ควรทำอย่างไรและไม่ควรทำอย่างไร ในการต่อสู้ของอนุชนเหล่านั้นทั้งในปัจจุบันและอนาคต ผู้ร่วมงานรุ่นเยาว์ของเราคงต้องพบกับความผิดหวังอย่างที่พวกเราได้พบมาก่อนหน้าพวกเขาแล้ว ในความตกต่ำสุดขีดเพราะเหตุความล้มเหลว หนุ่มสาวเหล่านั้นอาจเรียนรู้ว่าจะรักษาอุดมการณ์ไว้ได้อย่างไร ดังที่คุณและผม รวมทั้งเพื่อนๆ ได้ทำมาแล้วในอดีต คุณคงหวังอย่างแน่วแน่ว่า อนุชนของเราจะรักษาความซื่อสัตย์ ความร่วมแรงร่วมใจ และกำลังใจในการรับใช้ส่วนรวมอย่างแน่วแน่ตลอดไป

น่าเสียดาย ป๋วยไม่มีโอกาสและเวลาได้เขียนบทความที่เล่ารายละเอียดถึงเรื่องเหล่านี้อีก และน่าเสียดายที่คนอย่าง คุณหญิงสุภาพ ยศสุนทร ซึ่งตายจากเราไปเมื่อ 44 ปีก่อน ก็ค่อยๆ ตายไปจากความทรงจำของสังคมไทย ทั้งที่เธอเป็นคนที่น่ารู้จักอยู่ไม่น้อย

แล้วใครคือ คุณหญิงสุภาพ ยศสุนทร

คุณหญิงสุภาพ ยศสุนทร
คุณหญิงสุภาพ ยศสุนทร
(11 ตุลาคม 2463 – 26 มีนาคม 2517)
ภาพนี้ถ่ายเมื่อปี 2514

กำเนิดและการศึกษา

คุณหญิงสุภาพ ยศสุนทร สกุลเดิม รักตประจิต เป็นบุตรีคนเดียวของหลวงและนางรถรัฐวิจารณ์ เกิดเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2463 ที่บางขุนพรหม กรุงเทพฯ ด้วยความที่เธอเป็นลูกคนเดียว ‘ป๋า’ จึงเลี้ยงให้เก่งเป็นผู้ชายเพื่อสอบชิงทุนไปเมืองนอก ส่วน ‘นาย’ อยากเลี้ยงให้เป็นผู้หญิงมีความรู้แบบกุลสตรี และเก่งการครัวเหมือนท่าน สุภาพบอกว่า ลงท้ายป๋าเป็นฝ่ายชนะ เพราะได้เวลาของลูกไปมากกว่า

เมื่ออายุได้ 3 ขวบครึ่ง สุภาพเข้าเรียนที่โรงเรียนวังหลังของแหม่มโควล์ พออายุได้ 7 ขวบย้ายไปเข้าโรงเรียน SPG ถนนราชดำริ ตามบิดาที่ย้ายจากโรงงานบางกอกน้อยไปโรงงานมักกะสัน แต่อยู่ที่นี่ไม่นาน ป๋าก็เอาออก หลังจากถูกครูตีเพราะเขียนคำผิด ทั้งที่มาจากการป่วยจนไม่ได้เรียนเรื่องนั้นของเธอ ในเดือนมกราคม 2473 สุภาพเข้าเรียนที่โรงเรียนมาแตร์เดอี ในชั้น ม.2 จนจบ ม.8 จากที่นี่

ม.จ.วิภาวดี รังสิต เล่าว่า สุภาพเรียนเก่งมาก มักได้ที่ 1 หรือที่ 2 อยู่เสมอ ส่วนสำหรับเพื่อนๆ ในกลุ่มที่เล่นด้วยกันเป็นประจำ จะเรียกเธอว่า ‘โหนก’ เพราะรูปศีรษะของเธอทุยทั้งข้างหน้าข้างหลัง โดยเฉพาะที่หน้าผาก

ในการสอบไล่ชั้น ม.8 สุภาพสอบได้ที่ 4 ของประเทศ จึงได้รับทุนกระทรวงศึกษาธิการให้เข้าเรียนต่อในคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จากนั้นราวปีครึ่งก็สอบชิงทุนเล่าเรียนหลวงได้ จึงเดินทางไปศึกษาต่อที่ประเทศอังกฤษในปี 2481 และเข้าเรียนวิชาพาณิชยศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยเบอร์มิงแฮม ในปีถัดมา จนสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี เกียรตินิยมอันดับสอง เมื่อเดือนกรกฎาคม 2485

ก็ที่เมืองเบอร์มิงแฮมนี้เองที่สุภาพได้รู้จักกับ ประจิตร ยศสุนทร เพื่อนร่วมสำนัก จนต่อมาได้สมรสกันที่เมืองสเตนส์ มิดเดิลเซกส์ ประเทศอังกฤษ เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2485

เด็กหญิงสุภาพ รักตประจิต
เด็กหญิงสุภาพ รักตประจิต
คุณหญิงสุภาพ ยศสุนทรกับ 'ป๋า' และ 'นาย'
กับ ‘ป๋า’ และ ‘นาย’
คุณหญิงสุภาพ ยศสุนทรกับ 'ป๋า' และ 'นาย' เมื่อเดินทางไปศึกษาต่อที่อังกฤษ ปี 2481
กับ ‘ป๋า’ และ ‘นาย’ เมื่อเดินทางไปศึกษาต่อที่อังกฤษ ปี 2481
สุภาพ รักตประจิต, จินตนา นาควัชระ, จันทร์แจ่ม อินทุโสภณ, ประพฤทธิ์ ณ นคร, สวัสดิ์ ศรีสุข, เกษม ผลาชีวะ ที่ฐานอนุสาวรีย์ ม.เฟอร์ดินาน เดอเลสเสป ปากคลองสุเอช ระหว่างเดินทางไปประเทศอังกฤษของเหล่าผู้ได้รับทุนเล่าเรียนหลวง เมื่อปี 2481
(จากซ้าย) สุภาพ รักตประจิต, จินตนา นาควัชระ, จันทร์แจ่ม อินทุโสภณ, ประพฤทธิ์ ณ นคร, สวัสดิ์ ศรีสุข, เกษม ผลาชีวะ
ที่ฐานอนุสาวรีย์ ม.เฟอร์ดินาน เดอเลสเสป ปากคลองสุเอช
ระหว่างเดินทางไปประเทศอังกฤษของเหล่าผู้ได้รับทุนเล่าเรียนหลวง เมื่อปี 2481
การชุมนุมนักเรียนที่ Harpenden ประเทศอังกฤษ เมื่อปี 2482
การชุมนุมนักเรียนที่ Harpenden ประเทศอังกฤษ เมื่อปี 2482

เสรีไทย

หลังสำเร็จการศึกษา ในระยะแรก สุภาพทำงานบริษัทผู้สอบบัญชีแห่งหนึ่งในเมืองเบอร์มิงแฮม ต่อมาเมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ขึ้น และมีการก่อตั้งขบวนการเสรีไทยในปี 2485 เธอได้รับหน้าที่เป็นเลขานุการของ มณี สาณะเสน ข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศที่มารับหน้าที่หัวหน้าของเสรีไทยในอังกฤษ หลังจากที่เสรีไทยกลุ่มหนึ่งซึ่งเข้าเป็นทหารอังกฤษเดินทางไปฝึกที่อินเดียแล้ว สุภาพได้ไปทำงานกับรัฐบาลพลัดถิ่นของนอร์เวย์ราว 8 เดือน ซึ่งเวลานั้นมาอยู่ในลอนดอน

ต่อมา สุภาพทำงานในกระทรวงโฆษณาการของอังกฤษเพื่อเตรียมตัวมาปฏิบัติงานเสรีไทยในอินเดีย เพื่อสมทบกับคณะที่ล่วงหน้าไปแล้ว โดยระยะแรกทำงานแปลและอ่านข่าวภาษาไทยของวิทยุ All India Radio ที่เดลฮี แล้วจึงย้ายไปทำหน้าที่แปลและเขียนข่าวลงในใบปลิวของกองบัญชาการทหารอังกฤษเอเชียอาคเนย์ที่กัลกัตตา ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติลงในปี 2488 จึงกลับประเทศไทย

จิรายุ นพวงศ์ ให้รายละเอียดว่า งานในกระทรวงดังกล่าวนั้น สุภาพเป็นผู้หญิงคนเดียวในแผนกไทย เมื่อมีงานทางวิทยุที่มีบทละครพูดเป็นนาย เป็นแม่ เป็นลูกสาว สุภาพก็ต้องพูดบทเองทั้งหมด เขาว่า สุภาพเป็นคนแข็งงาน ไม่เคยเกี่ยงงาน และไม่เอาเปรียบใคร จึงเป็นที่รักใคร่ของเพื่อนร่วมงานทั้งปวง นอกจากนี้ด้วยภาษาอังกฤษที่ดีของเธอ ทำให้สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้เธอยัง “เป็นคนคล่องแคล่วและมีเสน่ห์ในทางการสมาคม เป็นดาราดวงเด่นในระหว่างเพื่อนร่วมงานทั้งกระทรวง”

ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ‘ทหารชั่วคราว’ ในกองทัพบกอังกฤษสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ตั้งข้อสังเกตว่า “ถ้ารัฐบาลอังกฤษใจกว้างสักหน่อย ก็คงจะได้มีทหารหญิงสุภาพเข้ามาโดดร่มชูชีพ ฝึกกองโจรกับเราในขณะนั้น”

พิสุทธิ์ นิมมานเหมินท์ เล่าขำๆ ว่า ตอนที่เกิดสงครามแล้วสุภาพไม่ได้กลับมา เขาถามเพื่อนของเขาคนหนึ่งว่าเพราะเหตุใด เพื่อนผู้นั้นตอบว่า “สุภาพไม่กลับเพราะรักตประจิต” ก่อนจะขยายความว่า “สุภาพ รัก ตาประจิตร จึงไม่กลับมา” (ประจิตร ยศสุนทร ก็เป็นเสรีไทยผู้หนึ่งด้วย)

มณี สานะเสน หัวหน้าเสรีไทยในประเทศอังกฤษ กับสุภาพ และนายทหารอังกฤษ เมื่อไปเยี่ยมพลทหารเสรีไทย 36 คน ในกองทัพบกอังกฤษ ที่ค่าย Thornton, Bradford ปี 2486
มณี สานะเสน หัวหน้าเสรีไทยในประเทศอังกฤษ กับสุภาพ และนายทหารอังกฤษ
เมื่อไปเยี่ยมพลทหารเสรีไทย 36 คน ในกองทัพบกอังกฤษ ที่ค่าย Thornton, Bradford ปี 2486
เสรีไทยสายอังกฤษ ในเครื่องแบบทหารบกอังกฤษ ที่บ้านอัมพวัน ถนนศรีอยุธยา เมื่อปี 2488 (แถวยืน จากซ้าย) ประทาน เปรมกมล, กำแหง พลางกูร, รจิต บุรี, เสนาะ นิลกำแหง, เปรม บุรี, ธนา โปษยานนท์, วัฒนา ชิตวารี, ประจิตร ยศสุนทร, พัฒนพงศ์ รินทกุล, อรุณ สรเทศน์, ป๋วย อึ๊งภากรณ์, สำราณ วรรณพฤกษ์ (แถวนั่ง จากซ้าย) สวัสดิ์ ศรีสุข, ม.จ.การวิก จักรพันธุ์, สุภาพ ยศสุนทร, ม.จ.จิริดนัย กิติยากร, ประโพธ เปาโรหิตย์, ม.จ.ภีศเดช รัชนี
เสรีไทยสายอังกฤษ ในเครื่องแบบทหารบกอังกฤษ ที่บ้านอัมพวัน ถนนศรีอยุธยา เมื่อปี 2488
(แถวยืน จากซ้าย) ประทาน เปรมกมล, กำแหง พลางกูร, รจิต บุรี, เสนาะ นิลกำแหง, เปรม บุรี, ธนา โปษยานนท์, วัฒนา ชิตวารี, ประจิตร ยศสุนทร, พัฒนพงศ์ รินทกุล, อรุณ สรเทศน์, ป๋วย อึ๊งภากรณ์, สำราณ วรรณพฤกษ์
(แถวนั่ง จากซ้าย) สวัสดิ์ ศรีสุข, ม.จ.การวิก จักรพันธุ์, สุภาพ ยศสุนทร, ม.จ.จิริดนัย กิติยากร, ประโพธ เปาโรหิตย์, ม.จ.ภีศเดช รัชนี

การทำงาน

เมื่อกลับมาประเทศไทย สุภาพเข้าทำงานที่ส่วนการควบคุมปริวรรต ธนาคารแห่งประเทศไทย ในเดือนกุมภาพันธ์ 2490 จากนั้นเดือนพฤศจิกายน 2491 ย้ายไปยังส่วนค้นคว้า โดยได้เลื่อนเป็นหัวหน้าส่วนค้นคว้าและหัวหน้าหน่วยการเงินระหว่างประเทศพร้อมกัน ในปี 2493

ในปี 2494 สุภาพเข้าอบรมที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศที่กรุงวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา เป็นเวลาเกือบ 1 ปี จากนั้นจึงแวะดูงานที่ธนาคารกลางของสหรัฐฯ และอังกฤษ รวมทั้งธนาคารพาณิชย์บางแห่ง

นอกจากที่รับราชการในธนาคารแห่งประเทศไทยแล้ว สุภาพยังถูกยืมตัวไปช่วยงานต่างๆ ด้วย เช่น ครึ่งหลังของปี 2498 ไปช่วยงานองค์การ ECAFE และในปี 2499 ไปช่วยงาน Dr.John A. Loftus ที่ปรึกษาชาวอเมริกันในการศึกษาและประเมินผลโครงการพัฒนาเศรษฐกิจของหน่วยราชการต่างๆ

จนปี 2503 สุภาพได้รับแต่งตั้งเป็นผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการของธนาคารแห่งประเทศไทย เมื่ออายุเพียง 40 ปี นับเป็นพนักงานหญิงคนแรกของแบงก์ชาติที่ได้ดำรงตำแหน่งดังกล่าว

ต่อมาเธอได้รับแต่งตั้งเป็นผู้อำนวยการช่วยผู้ว่าการ มีหน้าที่รับผิดชอบงานด้านวิชาการและการธนาคารต่างประเทศ เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2509 อันเป็นตำแหน่งผู้อำนวยการชั้นอาวุโสและเป็นตำแหน่งสูงสุดของพนักงานประจำของธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งแน่นอนว่าไม่เคยมีพนักงานหญิงคนใดเคยดำรงตำแหน่งสำคัญนี้มาก่อน

นอกจากนี้ในปี 2499-2513 สุภาพได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ช่วยผู้จัดการทุนรักษาระดับอัตราแลกเปลี่ยน และเป็นผู้จัดการดังกล่าวตั้งแต่ปี 2513 ถึงวาระที่สุดของชีวิต

โดยในปี 2514-2515 สุภาพได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการบริหารในธนาคารโลก กรุงวอชิงตัน โดยเป็นผู้แทนของ 7 ประเทศ คือ พม่า ศรีลังกา ลาว มาเลเซีย เนปาล สิงคโปร์ และไทย ซึ่งเป็นสตรีคนที่ 2 ที่ได้รับเกียรตินี้ และเธอทำหน้าที่ได้เป็นอย่างดี จนได้รับการยกย่องจากคณะกรรมการบริหารว่าเป็นผู้คงแก่เรียนและมีสมรรถภาพอย่างสูงในการทำงาน

ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศผู้วางรากฐานสำคัญให้สถาบันแห่งนี้ ยกย่องสุภาพเป็นอย่างมาก ถึงกับเขียนว่า “สุภาพอายุน้อยกว่าผม เรียนทีหลังผม จึงตกเป็นหน้าที่เป็นผู้ช่วยผมอยู่ตลอดเวลา แต่ถ้าพูดโดยปราศจากอคติแล้ว ถ้าจะกลับหน้าที่กัน ให้สุภาพเป็นหัวหน้า ผมเป็นผู้ช่วย ก็จะราบรื่นและได้ประโยชน์อย่างเดียวกัน เพราะสติปัญญา ความรู้ ความริเริ่ม ความกว้างขวางของสุภาพนับได้ว่ายอดเยี่ยม หาเสมอเหมือนได้ยาก

โดยที่หน้าที่การงานซึ่งได้รับใช้ชาติมาอย่างต่อเนื่องและมีผลงาน สุภาพจึงได้รับพระราชทานจตุตถจุลจอมเกล้า (จ.จ.) เมื่อปี 2508 ทำให้มีคำว่า ‘คุณหญิง’ นำหน้าชื่อ หลังจากนั้นในปี 2514 จึงได้ตติยจุลจอมเกล้า (ต.จ.)

คุณหญิงสุภาพ ยศสุนทรเมื่อคราวไปอบรมที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ กรุงวอชิงตัน ปี 2494
เมื่อคราวไปอบรมที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ กรุงวอชิงตัน ปี 2494
คุณหญิงสุภาพ ยศสุนทรเมื่อดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ ธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2505
เมื่อดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ ธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2505
คุณหญิงสุภาพ ยศสุนทรรับเหรียญที่ระลึกในการทำงานที่ธนาคารแห่งประเทศไทยครบ 20 ปี จากผู้ว่าการฯ ป๋วย เมื่อปี 2510
รับเหรียญที่ระลึกในการทำงานที่ธนาคารแห่งประเทศไทยครบ 20 ปี จากผู้ว่าการฯ ป๋วย เมื่อปี 2510

งานอื่นๆ

นอกจากภาระหน้าที่หลักแล้ว สุภาพยังเป็นที่ปรึกษาให้กับคณะจัดทำ ธปท. ปริทรรศน์ วารสารภายในของธนาคารแห่งประเทศไทยด้วย  พวกเขาเขียนถึงเธอว่า เธอเป็นคนที่ “ใจกว้าง ยุติธรรม ยินดีรับฟังความเห็นของผู้อื่นแม้ว่าจะขัดกับความคิดเห็นของตน … สนับสนุนให้ผู้อื่น รวมทั้งผู้อยู่ใต้บังคับบัญชา ให้แสดงความคิดเห็นโดยเสรีอยู่เสมอ …(และ) ไม่เคยลังเลที่จะแสดงความคิดเห็นของตน ในเมื่อเห็นว่าความคิดเห็นนั้นเป็นประโยชน์”

ดังที่สุภาพเชื่อมั่นว่า “เมื่อหลักวิชาแม่นแล้ว พูดไป ไม่มีใครเขาเข่นฆ่า”

ไม่เพียงแต่งานที่ธนาคารแห่งประเทศไทย เธอยังได้ใช้ความรู้และประสบการณ์ที่มี สอนหนังสือในวิชาภาษาอังกฤษและวิชาเศรษฐศาสตร์ ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  โดยเฉพาะที่แห่งหลัง เธอเป็นกรรมการคณะเศรษฐศาสตร์ในปี 2510-2514 ด้วย  ทั้งยังมีส่วนสำคัญในการก่อตั้งสถานอบรมวิชาการธนาคารของสมาคมธนาคารไทยในปี 2503 และดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการคนแรกของสถาบันแห่งนี้จนถึงปี 2512

ด้านงานหนังสือ แม้สุภาพจะไม่ได้เขียนหนังสืออะไรไว้เป็นของตัวเอง แต่เธอได้ปรับปรุงและเรียบเรียงหนังสือ เศรษฐกิจแห่งประเทศไทย ของป๋วย อึ๊งภากรณ์ ให้เรียบร้อยขึ้น จนป๋วยใส่ชื่อเธอเป็นผู้แต่งร่วม โดยให้เหตุผลว่า “ในต้น พ.ศ.2498 นางสุภาพ ยศสุนทร ผู้ได้ร่วมงานกับผู้เรียบเรียง พิจารณาปัญหาเศรษฐกิจแห่งประเทศไทยมาเป็นเวลาหลายปี ได้มีความอุตสาหะนำต้นฉบับเดิมมาแก้ไขต่อเติมเกลาสำนวน ทำให้หนังสือดีขึ้นจนเจ้าของเดิมก็รู้สึกผิดตาไป จึงต้องขอร้องให้เข้าชื่อเป็นเจ้าของด้วย เพื่อมิให้ผิดหลักธรรมะทางเศรษฐกิจ”

และด้วยความรู้ทางด้านเศรษฐกิจ สุภาพได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการต่าง ๆ หลายแห่ง เช่น กรรมการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจแห่งชาติ (2502-2514) กรรมการคณะกรรมการส่งเสริมสินค้าออก (2503-2514) กรรมการสภาวิจัยแห่งชาติ (2505-2506) สมาชิกสมัชชาแห่งชาติ (2516) และสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (2516)

น่าเสียดายที่ 2 ตำแหน่งหลัง ซึ่งเกี่ยวข้องกับระบอบประชาธิปไตยและการเมืองของประเทศ เธอได้รับมาในช่วงท้ายของชีวิตที่ต้องนอนเจ็บอยู่ในโรงพยาบาลจนไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ใดๆ ได้

คุณหญิงสุภาพ ยศสุนทรร่วมสัมมนากับ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ปี 2506
ร่วมสัมมนากับ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ปี 2506

ตัวตนในการงานของสุภาพ

สำหรับเรื่องการงาน เธอเป็นคนใจเร็วและจริงจัง ทำงานใดก็ต้องการให้ได้ผลงานนั้นสำเร็จอย่างดีที่สุดและรวดเร็วที่สุด จึงดูเข้มงวดและแข็งกร้าวในบางที โดย ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ให้รายละเอียดว่า “สุภาพเป็นคนเข้มแข็งในงาน ใจร้อน นายสั่งอะไรไป พรรคพวกต้องขะมักเขม้นทำไม่ชักช้า และต้องทำดีด้วย มิฉะนั้นจะถูกเล่นงาน แต่พรรคพวกส่วนใหญ่ก็รู้ว่า แกปากร้ายใจดี”

เสริม วินิจฉัยกุล เล่าว่า สุภาพเป็นผู้กว้างขวางในสังคมวิชาการ ทั้งในและนอกประเทศ โดยในแวดวงการเงินของประเทศต่าง ๆ สุภาพรู้จักและคุ้นเคยเกือบทุกคน ตั้งแต่ประธานธนาคารโลก ประธานกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ตลอดจนผู้ว่าการธนาคารชาติ และเจ้าหน้าที่การเงินชั้นสูงของสถาบันการเงินต่างๆ เพราะเธอสนใจในด้านวิชาการ และติดตามงานต่างๆ อยู่เสมอ

ป๋วยเสริมว่า สำหรับในเมืองไทย ที่จำเป็นต้องรู้เรื่องวงศาคณาญาติความเกี่ยวดอง ความเป็นมิตรเป็นศัตรูของคนทั้งหลาย สุภาพเป็น encyclopedia ที่ดีมาก โดย ‘เด็กๆ’ ในธนาคารแห่งประเทศไทย ก็เห็นตรงกันว่า “คุณหญิงฯ มีความจำดีเลิศ สามารถเล่าเรื่องต่างๆ ชื่อบุคคล ชื่อสถานที่ วัน เวลา ได้อย่างละเอียดและแม่นยำ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องภายในประเทศไทยหรือในต่างประเทศ ในอดีตอันใกล้หรือหลายสิบปีมาแล้ว”

นอกจากนี้ ป๋วยยังเล่าต่อไปว่า สมัยนั้นเกิดคำพังเพยในหมู่ฝรั่งนักธุรกิจและนักวิชาการว่า “ถ้าใครมากรุงเทพฯ แล้วไม่รู้จักสุภาพ คนนั้นยังไม่รู้จักกรุงเทพฯ ถ้าใครมากรุงเทพฯ แล้วสุภาพไม่รู้จัก คนนั้นไม่สำคัญเลย

ป๋วยกับสุภาพสนิทกันมาก เพราะนอกจากเป็นเสรีไทยด้วยกันแล้ว ประจิตร สามีของเธอ ยังเคยเรียนอัสสัมชัญสมัยที่ป๋วยสอนอยู่ เธอจึงเรียกป๋วยว่า ‘มาสเซ่อ’ ผู้บังคับบัญชาอย่างป๋วยโชคดีที่เขามีสุภาพเป็นกัลยาณมิตร เขาเล่าว่า สุภาพดูคนแม่น บางทีจะมาต่อว่าว่า “มาสเซ่อจำได้ไหมว่า เราเคยเตือนว่ามาสเซ่อเลี้ยงเจ้าคนนี้ไว้จะไม่เป็นมงคล”

นอกจากนี้เธอยังเป็นคนซื่อสัตย์สุจริตและทนการคดโกงไม่ได้ ป๋วยเล่าว่า “เมื่อปรากฏว่าใครในราชการกินกันโกงกันอย่างไร สุภาพจะต้องมานั่งที่หน้าโต๊ะทำงานของผม พอเปิดประตูเข้ามาก็เห็นแล้วว่าอารมณ์ไม่ปกติ … พอนั่งลงได้ก็พูด พูด พูด พูด พูด ใส่คะแนนไม่ทัน บางครั้งต้องขอให้หยุดก่อน แล้วให้เริ่มเล่าตั้งต้นใหม่ เพราะไม่รู้เรื่องมาแต่เดิม นั่นแหละจึงยิ้มออก แล้วบางทีก็ว่า มาสเซ่อวันนี้เซ่อจริง”

คุณหญิงสุภาพ ยศสุนทรเมื่อคราวไปประชุมผู้ว่าการธนาคารกลางแห่งประเทศในภาคพื้นเอเชีย ที่บาเกียว ประเทศฟิลิปปินส์ ปี 2510
เมื่อคราวไปประชุมผู้ว่าการธนาคารกลางแห่งประเทศในภาคพื้นเอเชีย ที่บาเกียว ประเทศฟิลิปปินส์ ปี 2510
คุณหญิงสุภาพ ยศสุนทรเป็นประธานการประชุมเรื่องการขยายการค้า ซึ่งองค์การ ECAFE จัดขึ้นที่กรุงเทพฯ เมื่อปี 2510
เป็นประธานการประชุมเรื่องการขยายการค้า ซึ่งองค์การ ECAFE จัดขึ้นที่กรุงเทพฯ เมื่อปี 2510
คุณหญิงสุภาพ ยศสุนทรในการประชุมสภาผู้ว่าการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ และธนาคารโลก ณ กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย ปี 2504
ในการประชุมสภาผู้ว่าการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ และธนาคารโลก
ณ กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย ปี 2504
คุณหญิงสุภาพ ยศสุนทรในการประชุมสภาผู้ว่าการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ และธนาคารโลก ณ กรุงวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา ปี 2512
ในการประชุมสภาผู้ว่าการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ และธนาคารโลก
ณ กรุงวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา ปี 2512

อุปนิสัย

สุภาพเป็นคนพูดจาโผงผาง มีอารมณ์สนุกสนานร่าเริง เข้าได้กับคนทุกวัย และเป็นกันเองกับทั้งเพื่อนตัวเอง เพื่อนสามี และเพื่อนลูก

พิสุทธิ์ นิมมานเหมินท์ บอกว่าเมื่อแรกรู้จักสุภาพในปี 2481 เธอเป็น “เด็กหญิงที่ซุกซนและร่าเริงคนหนึ่ง”

สุภาพมีฝีมือในการทำอาหาร ซึ่งเป็นมรดกที่ได้รับมาจากนางรถรัฐวิจารณ์ (ศิริพร) ผู้มารดา ไม่เพียงแต่อาหารไทย เธอยังชอบทดลองทำอาหารต่างชาติที่ชอบด้วย  ชื่อเสียงด้านนี้ของเธอเริ่มแต่สมัยเมื่อเรียนอังกฤษ โดยระยะแรกเธอพักอยู่บ้านพันเอกกิลแมนที่ปอร์ทสมัธ เพื่อนอย่างประโพธ เปาโรหิตย์ ที่อยู่ถึงไบรท์ตัน ยังยอมเสียค่ารถไฟมาชิมรส

แม้ต่อมาเป็นผู้ใหญ่ในธนาคารแห่งประเทศไทยแล้ว เธอก็ยังทำอาหารให้ลูกน้องกินอย่างเอร็ดอร่อย ลูกน้องของเธอเล่าว่า คราวหนึ่งไปทำงานกันที่กรุงวอชิงตัน สุภาพชวนพนักงานที่ไปด้วยกันให้ไปกินอาหารไทยในที่พักของเธอ เมื่อพนักงานผู้นั้นอาสาช่วยตำน้ำพริก สุภาพห้ามไว้โดยให้เหตุผลว่า “ไม่ได้ ต้องฉันตำเอง เดี๋ยว pressure ไม่เท่ากัน” ซึ่งฝีมือตำน้ำพริกของเธอนั้น ไม่แต่คนไทยที่ประทับใจ ยังรวมถึงฝรั่งและญี่ปุ่นด้วย

ในวงคนคุ้นเคย เช่น เพื่อนนักเรียนอังกฤษ มักจะเรียกสุภาพว่า ‘ยายสุ’ และใช้สรรพนามว่า ‘นาย’ อาจเพราะในวงเพื่อนร่วมเรียน เพื่อนร่วมงาน บางทีสุภาพอยู่ในลักษณะ “หญิงคนเดียวในหมู่ชาย” ทำให้บางคราวเธอพูดกระเดียดเป็นชายไปบ้าง และต้องไม่ลืมว่า ความสามารถในหน้าที่การงานของเธอก็ไม่ได้แพ้ผู้ชายแต่อย่างใด

คุณหญิงสุภาพ ยศสุนทรประจิตร ยศสุนทร, ประโพธ เปาโรหิตย์, ธนา โปษยานนท์, สุภาพ รักตประจิต, ประพฤทธิ์ ณ นคร, กฤษณ์ โปษยานนท์, สวัสดิ์ ศรีสุข ถ่ายที่ Risboro Hotel, Llandudno, Wales
(จากซ้าย) ประจิตร ยศสุนทร, ประโพธ เปาโรหิตย์, ธนา โปษยานนท์, สุภาพ รักตประจิต,
ประพฤทธิ์ ณ นคร, กฤษณ์ โปษยานนท์, สวัสดิ์ ศรีสุข
ถ่ายที่ Risboro Hotel, Llandudno, Wales

วาระสุดท้าย

สุภาพป่วยเป็นเนื้องอกในทรวงอก ตั้งแต่ปี 2514 แม้จะเข้ารับการรักษา ผ่าตัด และเยียวยาแบบทันสมัยที่สุด ทั้งในกรุงเทพฯ และวอชิงตัน แต่ก็ไม่อาจหายไปจากโรคนี้ได้

สุภาพเป็นคนเข้มแข็งและแสดงออกซึ่งความเข้มแข็งนั้นอย่างเรียกร้องให้ผู้อื่นรู้สึกตามได้  ดัง บุญมา วงศ์สวรรค์ กล่าวว่า “กำลังใจอันเข้มแข็งของสุภาพ แม้ในขณะที่ตัวเองป่วยอยู่ ก็ยังกล้าแข็งพอที่จะปลุกให้คนดีๆ มีกำลังใจที่จะทำงานเพื่อประเทศชาติ”

เมื่ออาการป่วยหนักเข้า และเธอรู้ว่าวาระที่สุดของชีวิตจะมาเยือนในไม่ช้า สุภาพก็อดเสียใจไปไม่ได้ ลูกๆ ของเธอเล่าว่า “แม่ได้เผชิญกับความจริงมาอย่างกล้าหาญ และมีกำลังใจเข้มแข็งอยู่ตลอดมา แต่เมื่อเข้าโรงพยาบาลครั้งสุดท้าย แม่ไม่มีกำลังใจดีเหมือนแต่ก่อน แม้ร้องไห้บ่อยครั้งกับพี่น้อง เพื่อนฝูง และผู้ที่เคารพนับถือที่ไปเยี่ยม แม่อยากจะมีชีวิตอยู่ต่อไป ขอเพียงอีกปีสองปี เพื่อทำงานที่แม่รัก และอยู่ชื่นชมหลานที่ยังเล็กมาก”

อย่างไรก็ดี เธอก็ยังเป็นสุภาพคนเดิม “แม่ได้พูดฝากฝังให้พ่อดูแลจัดการเรื่องต่าง ๆ แทนแม่” กระนั้นบางเรื่องก็ไม่อาจทำใจได้โดยง่าย “แม่ร้องไห้ขณะที่แม่บอกพี่ชฎาว่า แม่อยากจะช่วยเรื่องหนังสือที่คุณวิจิตร คุณประทีป คุณไพบูลย์ และพี่ชฎา จะจัดทำเป็นอนุสรณ์ให้แม่ แต่แม่ไม่มีแรงจะช่วยทำ แม้ว่าความคิดเห็นและข้อเสนอแนะนำต่างๆ อยู่ในหัวของแม่อยู่แล้ว”

คุณหญิงสุภาพ ยศสุนทร “สตรีบรรดาศักดิ์ ผู้มีความเรียบร้อยอ่อนโยนและเกียรติคุณอันดีงาม”[1] ถึงแก่อนิจกรรมด้วยโรคมะเร็ง เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2517 ณ โรงพยาบาลรามาธิบดี ในวัย 53 ปี 5 เดือน 15 วัน

คุณหญิงสุภาพ ยศสุนทรกับ ปุ๊ก แป๊ก และรุจ ที่หัวหิน ปี 2495
กับ ปุ๊ก แป๊ก และรุจ ที่หัวหิน ปี 2495
คุณหญิงสุภาพ ยศสุนทรกับ ปุ๊ก ที่หัวหิน เมื่อเมษายน 2504
กับ ปุ๊ก ที่หัวหิน เมื่อเมษายน 2504
คุณหญิงสุภาพ ยศสุนทรกับ อิทธิ วิเศษสุข (หนุ่ม) หลานยาย ที่กรุงวอชิงตัน เดือนเมษายน 2515
กับ อิทธิ วิเศษสุข (หนุ่ม) หลานยาย ที่กรุงวอชิงตัน เดือนเมษายน 2515
คุณหญิงสุภาพ ยศสุนทรทำบุญวันเกิด (ปีสุดท้าย) ที่วัดเบญจมบพิตร 11 ตุลาคม 2516
ทำบุญวันเกิด (ปีสุดท้าย) ที่วัดเบญจมบพิตร 11 ตุลาคม 2516
คุณหญิงสุภาพ ยศสุนทรกับครอบครัวและญาติ 'ยศสุนทร' เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2516
กับครอบครัวและญาติ ‘ยศสุนทร’ เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2516

คือสุภาพ ยศสุนทร

ตลอดชีวิตของสุภาพนับได้ว่าเธอประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานอย่างมาก ทั้งในและนอกประเทศ จนเป็นที่ยอมรับในวงกว้าง โดยเฉพาะในทางเศรษฐกิจ อย่างที่สามารถยกย่องให้เธอเป็น ‘ยอดหญิงของไทย’ ได้

เมื่อเธอตายจากไปก่อนวัยอันควร ท่ามกลางบรรยากาศการต่อสู้เพื่อสถาปนาระบอบประชาธิปไตยอีกครั้ง หลังการล่มสลายของระบอบเผด็จการแห่ง ‘สามทรราช’ ในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เพื่อนสนิทอย่าง ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เขียนไว้อาลัยเสมือนคุยกับเธอว่า

“ผมเพียงต้องการแสดงความยินดีกับคุณ ในความจริงที่ว่า การต่อสู้ของคุณนั้นยุติลงแล้ว เพื่อนๆ และผมต้องรับภาระหนักขึ้นอีกในการต่อสู้ ไม่ว่าคุณจะเห็นด้วยหรือไม่ก็ตาม ก็ไม่สำคัญนัก โดยเฉพาะเรื่องเสรีภาพ สิ่งสำคัญกว่าคือความจริงที่คุณกับผมได้เห็นพ้องต้องกันว่า อุดมการณ์นั้นมีค่าควรแก่การต่อสู้ แม้มองไม่เห็นชัยชนะ”

การต่อสู้ของสุภาพยุติลงไปแล้วแต่เมื่อ 44 ปีก่อน การต่อสู้ของป๋วยก็จบไปแล้วเมื่อ 19 ปีก่อน แต่การต่อสู้ของพวกเราที่ยังมีชีวิตอยู่เพื่อระบบระเบียบของประเทศที่เป็นธรรม บ้านเมืองที่มีเสรีภาพ ยังคงต้องดำเนินต่อไป ถึงแม้ว่าการต่อสู้เพื่ออุดมการณ์นั้น จะมองไม่เห็นชัยชนะก็ตาม!

คุณหญิงสุภาพ ยศสุนทร

บรรณานุกรม

  • คุณหญิงสุภาพ ยศสุนทร สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติถึงแก่อนิจกรรม”, รายงานการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ชุดที่ 2 ครั้งที่ 18 วันพฤหัสบดีที่ 28 มีนาคม 2517 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม
  • ป๋วย อึ๊งภากรณ์, คนที่ผมรู้จัก, กษิดิศ อนันทนาธร, บรรณาธิการ (กรุงเทพฯ: มูลนิธิเสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป, 2559)
  • สุภาพ ยศสุนทร (ธนาคารแห่งประเทศไทย พิมพ์เป็นอนุสรณ์เนื่องในงานพระราชทานเพลิงศพ คุณหญิงสุภาพ ยศสุนทร ท.ช.,ท.ม.,ต.จ. ณ เมรุวัดธาตุทอง วันอังคารที่ 18 มิถุนายน 2517)
  • อนุสรณ์ในงานรับพระราชทานเพลิงศพ คุณหญิงสุภาพ ยศสุนทร ท.ช.,ท.ม.,ต.จ. ณ เมรุวัดธาตุทอง กรุงเทพมหานคร วันอังคารที่ 18 มิถุนายน พุทธศักราช 2517

หมายเหตุ

ภาพประกอบในบทความนี้ทั้งหมด ถ่ายมาจากหนังสืองานศพทั้ง 2 เล่มข้างต้น ในห้องศาสตราจารย์สุกิจ นิมมานเหมินท์ สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จึงขอขอบคุณมา ณ ที่นี้

[1] คำแปลชื่อและสกุลของเธอ โดย ปรียา ฉิมโฉม

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save