fbpx

ยกระดับเศรษฐกิจต้องคิดใหม่อาชีวศึกษาไทย กับ ศุภชัย ศรีสุชาติ

การพัฒนาคุณภาพแรงงานกลายเป็นหนึ่งโจทย์สำคัญสำหรับประเทศไทยในการพยายามก้าวพ้นกับดักรายได้ปานกลาง โดยเฉพาะการวางเป้าหมายเพิ่มแรงงานทักษะสูง

เมื่อมองไปที่ระบบการศึกษาซึ่งเป็นต้นทางในการสร้างคนส่งต่อไปยังตลาดแรงงาน ส่วนหนึ่งที่ยังขาดคือแรงงานมีฝีมือจากอาชีวศึกษา

ปัจจัยสำคัญหนึ่งที่ทำให้มีผู้เลือกเรียนสายอาชีพน้อยคือค่านิยมของสังคม ที่แม้ว่าปัจจุบันจะมีความพยายามปรับภาพลักษณ์และสร้างความเข้าใจมากขึ้น แต่คนส่วนมากก็ยังเลือกเรียนสายสามัญเพื่อเรียนต่อมหาวิทยาลัย โดยอาจมองไม่เห็นเส้นทางอันหลากหลายและความก้าวหน้าจากการเรียนสายอาชีพ

การจะชูแนวทาง ‘อาชีวะสร้างชาติ’ จึงจำเป็นต้องมีความเข้าใจในทิศทางการพัฒนาร่วมกัน ตั้งแต่ภาครัฐ สถานประกอบการ สถานศึกษา จนถึงคนในสังคม

101 พูดคุยกับ ผศ.ดร.ศุภชัย ศรีสุชาติ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นักวิชาการที่ศึกษาด้านเศรษฐศาสตร์แรงงานมาอย่างต่อเนื่อง ถึงสถานการณ์ของแรงงานสายอาชีวะในปัจจุบัน แนวทางสนับสนุนให้คนเรียนสายอาชีพ จนถึงโจทย์ใหม่ที่การศึกษาสายอาชีพต้องรับมือ

ศุภชัย ศรีสุชาติ ภาพจากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ภาพรวมสถานการณ์ปัจจุบันประเทศไทยขาดแคลนแรงงานที่จบการศึกษาสายอาชีพแค่ไหน

หากมองในแง่ว่าเราอยากจะพ้นจากประเทศกับดักรายได้ปานกลางก็ต้องเพิ่มมูลค่าผลผลิตของบ้านเรา ซึ่งวิธีการหนึ่งคือทำให้แรงงานมีคุณภาพ ก็ต้องถามว่าเราต้องการคุณภาพระดับไหน

สิ่งที่เราขาดมาโดยตลอดคือแรงงานในอาชีวศึกษา เหตุผลหนึ่งเพราะคนเรียนอาชีวะน้อยลง ส่วนหนึ่งเพราะเรื่องค่านิยมและหากมองในแง่เศรษฐศาสตร์การศึกษา คนก็มองว่าการเรียนจบระดับมหาวิทยาลัยอาจจะได้ผลตอบแทนดีกว่า ผู้ปกครองจึงอาจเลือกให้ลูกเข้าสู่สายสามัญ ในขณะที่นักเรียนสายสามัญที่จบชั้น ม.6 เมื่อออกมาทำงานก็อาจไม่ได้งานที่มีผลตอบแทนสูง ซึ่งโดยหลักการแล้วกลุ่มที่ได้เงินเดือนระดับสูงน่าจะเป็นสายวิชาชีพที่มีทักษะสูง เราจึงต้องพยายามปรับกระบวนการคิดในระดับประเทศว่าควรสร้างคนจากสายอาชีวะเพิ่มขึ้น

เวลาพูดว่ามีการขาดแคลนแรงงานในตลาดแรงงานนั้นต้องเจาะจงให้ชัดเจน เพราะอาจทำให้เกิดความเข้าใจผิด เช่นที่เราได้ยินว่าตลาดแรงงานขาดแคลน ขณะเดียวกันก็มีคนว่างงาน จึงต้องพูดเจาะจงว่าตลาดที่ขาดแคลนนั้นเป็นรายเซกเตอร์ รายอุตสาหกรรม หรือมีการขาดแคลนในบางอาชีพ เช่น ช่างก็เป็นกลุ่มที่มีสาขาขาดแคลน โดยเฉพาะช่างที่มีคุณภาพ อย่างช่างเชื่อมใต้น้ำ ฉะนั้นเวลาพูดถึงการขาดแคลนแรงงานต้องพูดให้ชัดว่าขาดแคลนในอุตสาหกรรมไหน และอย่ามองว่าอาชีวะเป็นแค่งานช่าง งานบางอย่างต้องเรียนเชิงวิศวกรรมในระดับ ปวส. หรือระดับมหาวิทยาลัยด้วย

แรงงานส่วนอาชีวะที่ขาดแคลนจริงคือในระบบโรงงานอุตสาหกรรม เขาจึงอาจทดแทนด้วยแรงงานที่มีฝีมือต่ำกว่า ขณะเดียวกันบางโรงงานที่มีศักยภาพก็ใช้เครื่องจักรมาแทน แต่ก็ต้องใช้คนคุมอยู่ดี ฉะนั้นจึงต้องมองรายเซกเตอร์


การส่งเสริมให้คนเรียนอาชีวะมีผลอย่างไรกับการก้าวพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง

ตอนนี้โดยสภาพของประเทศไทยการจะส่งเสริมให้คนพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง เรื่องแรกคือผลิตภาพ (productivity) ของประเทศต้องเพิ่มขึ้น ซึ่งจะทำได้ด้วยคุณภาพของคน ปัญหาอยู่ที่ว่าประเทศไทยเป็นช่วงจังหวะที่โครงสร้างประชากรไม่เอื้อประโยชน์เหมือนสมัยก่อน โครงสร้างประชากรของเราต่อไปเด็กจะน้อยลง ผู้สูงอายุจะเพิ่มขึ้น ถ้าเราไม่ทำอะไร คนที่อยู่ในวัยแรงงานจะเริ่มมีสัดส่วนลดลง ซึ่งคนกลุ่มนี้ต้องดูแลเด็กและผู้สูงอายุ แปลว่าต้องทำงานหนักกว่าปกติ ไม่อย่างนั้นก็ต้องทำงานที่มีมูลค่าเพิ่มสูง

ในแง่ของรายได้ หากแบ่งเซกเตอร์ของไทยเป็นสามภาค คือ ภาคเกษตร ภาคบริการ และภาคอุตสาหกรรม เซกเตอร์ที่รายได้โดยเฉลี่ยสูงสุดคือเซกเตอร์อุตสาหกรรม ซึ่งคนที่อยู่ในเซกเตอร์อุตสาหกรรมมีจำนวนน้อยที่สุด เพราะฉะนั้นโครงสร้างเราบิดเบี้ยวอยู่ เพราะเซกเตอร์ที่มีผลิตภาพสูง รายได้สูง ปรากฏว่ากลับมีคนในเซกเตอร์นั้นน้อย ขณะที่เซกเตอร์เกษตรที่รายได้น้อยสุดกลับมีคนอยู่ในนั้นเยอะ แล้วเซกเตอร์บริการพอเกิดโควิดก็ตายหมด ซึ่งคนกลุ่มนี้อยู่ในกลุ่มรายได้ปานกลาง

ถ้าเราอยากทำให้โครงสร้างเศรษฐกิจไทยแข็งแกร่ง คนมีรายได้สูง ก็ต้องทำให้เซกเตอร์การผลิตของเราเพิ่มขึ้น ซึ่งบุคลากรในเซกเตอร์การผลิตในภาคอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าเพิ่มสูงคือการผลิตเชิงกายภาพ เช่น ผลิตรถยนต์ อะไหล่ และงานทางวิศกรรมต่างๆ กลุ่มนี้จำเป็นต้องใช้คนในระดับอาชีวะหรือที่ทักษะสูงกว่านั้น แต่บางครั้งการใช้คนจบระดับมหาวิทยาลัยในเซกเตอร์นี้ก็อาจไม่ตรงกับความต้องการ เพราะสิ่งที่เซกเตอร์อยากได้คือช่างอุตสาหกรรมมากกว่าคนจบมหาวิทยาลัยที่อาจเป็นคนออกแบบในเชิงระบบหรือออกแบบโปรแกรมต่างๆ คนที่จะทำงานจริงคือคนที่จบสายอาชีวะ ซึ่งเราขาดคนส่วนนี้

อีกประเด็นที่ทำให้สายอาชีวะขาดแคลนคือมีการส่งแรงงานไปต่างประเทศ เช่น แรงงานที่พอมีฝีมือก็ไปไต้หวัน เกาหลี หรือญี่ปุ่น ส่วนแรงงานที่ไปอิสราเอลจะเป็นภาคเกษตรซึ่งไม่ใช่กลุ่มที่เราขาด ฉะนั้นนอกเหนือจากการแข่งขันในตลาดของเราแล้วแรงงานยังไปต่างประเทศด้วย ทำให้กระบวนการพัฒนาคนขาดแคลนยิ่งขึ้น จึงมีความจำเป็นต้องเตรียมคนในสายอาชีวะ


อาชีวศึกษาปัจจุบันสามารถผลิตคนได้ตอบโจทย์ตลาดแรงงานหรือความต้องการของนายจ้างแค่ไหน

อาชีวศึกษาแบ่งเป็นหลายระดับและหลายมิติ เช่น แบ่งตามขนาดสถานศึกษาหรือแบ่งว่าเป็นของรัฐและเอกชน ซึ่งภาครัฐมีอาชีวะ 429 แห่ง เอกชนอีก 445 แห่ง รวมกัน 874 แห่ง หากเป็นอาชีวะของรัฐจะมีตั้งแต่ ปวช. ปวส. และ ป.ตรี สำหรับเอกชนส่วนใหญ่จะมีในระดับ ปวช. และ ปวส.

อาชีวะมีหลายกลุ่ม อย่างกลุ่มราชมงคลเป็นอาชีวะที่มีหลักสูตรถึงระดับปริญญา จึงอาจไม่ได้สอนพื้นฐานช่างอย่างเดียว แต่มีหลักสูตรอื่นที่หลากหลายมาก อย่างบริหารธุรกิจ อาชีวะแบ่งได้สิบกว่าประเภท เช่น วิทยาลัยเทคนิค วิทยาลัยการอาชีพ วิทยาลัยบริหารธุรกิจและท่องเที่ยว วิทยาลัยพณิชยการ วิทยาลัยศิลปหัตถกรรม ฯลฯ ในกลุ่มย่อยเหล่านี้มีคุณภาพและมาตรฐานแตกต่างไปตามสาขาและขนาดสถานศึกษา

ถามว่าฝั่งตลาดแรงงานต้องการอะไร ผู้ประกอบการบอกว่าต้องการแค่ว่าเข้ามาแล้วทำงานได้เลย ไม่ต้องเสียเวลาฝึก แต่โดยสภาพการณ์นั้นเป็นเรื่องยาก เพราะอาชีวะไม่ได้ผลิตคนเพื่อโรงงานไหนเป็นการเฉพาะ จึงเกิดแนวคิดว่าให้สถานประกอบการกับอาชีวะในพื้นที่มาจับมือกันแล้วสอนในสิ่งที่สถานประกอบต้องการ เพื่อส่งคนเข้าสู่ระบบของเขา นี่เป็นตัวอย่างหนึ่งที่ให้สถานประกอบการช่วยอาชีวะออกแบบหลักสูตร แล้วสร้างหลักสูตรทวิภาคี มีการไปฝึกงานในสถานประกอบการ ช่วยทำให้ความต้องการในเชิงคุณภาพและปริมาณสามารถดำเนินการได้

ตัวอย่างหนึ่งคือ ‘ปัญญาภิวัฒน์’ เป็นตัวอย่างระบบการเรียนเพื่ออาชีพและมีอาชีพใหม่ๆ เช่น อาชีพนิติบุคคลคอนโด ไปเรียนรู้ว่าต้องติดต่ออะไร บริหารจัดการคอนโดอย่างไร ซึ่งเราไม่ค่อยเห็นในสถาบันการศึกษาของรัฐหรือเอกชนทั่วไป แต่หลักสูตรแบบนี้สามารถสร้างคนเข้าตลาดแรงงานได้เต็มที่ หรือการที่ปัญญาภิวัฒน์ให้เด็กไปทำงานในเซเว่น-อีเลฟเว่นเลย มีการเชื่อมต่อระหว่างตลาดแรงงาน ผู้ประกอบการ และสถาบันการศึกษาเป็นเนื้อเดียวกัน

กระทรวงศึกษาธิการก็พยายามให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมกำหนดดีมานด์ แต่การกำหนดดีมานด์นั้นยากในทางปฏิบัติ เพราะเอกชนอยากได้ทันที แต่การสร้างคนต้องใช้เวลา 4 ปี จะมีช่วงเวลาที่ไม่ทันกัน จึงต้องวางแผนกำลังคน โดยเอกชนต้องมองว่าใน 4 ปีข้างหน้าเขาจะทำอะไร ซึ่งก็บอกได้ยากในทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในสถานการณ์โควิดแบบนี้ แผนที่ทำไว้ก็ทำไม่ได้ เพราะตอนนี้เอกชนรับคนไม่ไหวจึงเป็นปัญหา

อย่างไรก็ตาม ถ้าเอกชนและสถานศึกษาสามารถมาคุยแล้วเชื่อมต่อกันได้ จะสามารถทำหลักสูตรเพื่อสนองตอบภาคธุรกิจได้ทันเวลา


ปัญหาที่คนเรียนอาชีวะน้อย ส่วนหนึ่งเพราะเรื่องค่านิยมและวิธีคิดว่าจบมหาวิทยาลัยได้ผลตอบแทนดีกว่า ปัจจุบันเรื่องเหล่านี้ยังส่งผลมากแค่ไหน

ค่านิยมเป็นเรื่องสำคัญ เพราะเวลาผู้ปกครองจะส่งลูกเข้าเรียนอาชีวะก็ต้องคิดว่า ตอนเช้าส่งลูกไปเรียนแล้วจะได้กลับมาไหม ต้องยอมรับว่าผู้ปกครองมีภาพลบกับอาชีวะและมีข่าวเรื่อยๆ ว่ามีการตีกันระหว่างสถาบัน นอกจากนี้ยังมีประโยคที่บอกว่า “ให้เรียนสูงๆ เพื่อเป็นเจ้าคนนายคน” วิธีคิดนี้ยังติดอยู่กับคนบางกลุ่มในสังคมอยู่ ฉะนั้นถ้าเป็นไปได้คนส่วนใหญ่ก็เลือกให้ลูกเรียนสายสามัญและเข้ามหาวิทยาลัย จะได้ทำงานเบากว่า เป็นเจ้าคนนายคน และเป็น white collar มากกว่าที่จะเป็น blue collar

เรื่องนี้อาชีวะเองก็พยายามปรับสถานภาพ แสดงให้เห็นว่าอาชีวะปราศจากยาเสพติด อาชีวะไม่ได้มีเรื่องตีรันฟันแทงอย่างเดียว

เรื่องที่สองคือผลตอบแทนที่ได้จากการศึกษา ในสมัยก่อนเรตค่าตอบแทนระหว่างสายสามัญและอาชีวะก็เรียงกันมา แต่พอมีรัฐบาลชุดหนึ่งเพิ่มค่าตอบแทนโดยจูงใจว่าจบปริญญาตรีให้เงินเดือน 15,000 บาท ทำให้อัตราส่วนนี้ยิ่งผิดเพี้ยนไป คนจึงพยายามเรียนปริญญาตรีเพื่อรับเงินเดือน 15,000 บาท ทั้งที่ความสามารถจริงเขาอาจจะอยู่ที่ 10,000 หรือ 12,000 บาท นโยบายแบบนี้ทำให้อัตราเงินเดือนของคนที่จบปริญญาตรีฉีกขึ้นไปมาก คนจึงพยายามหาวิธีเข้าสู่การศึกษาระดับปริญญาตรี โดยอาจกู้ยืมเพื่อการศึกษาแล้วค่อยไปจ่ายในอนาคต เพราะคิดว่าเรียนจบแล้วจะได้ 15,000 บาท แต่ความเป็นจริงในโลกปัจจุบันไม่ได้เป็นอย่างนั้น เป็นเรื่องหนึ่งที่ดึงให้ค่านิยมของคนหลุดออกจากสายอาชีวะ

เรื่องค่าตอบแทนสายอาชีวะก็ต้องดูว่าพอสตาร์ตแล้วเงินเดือนขึ้นเร็วแค่ไหน ซึ่งปริญญาตรีสตาร์ตสูงกว่าอาชีวะ แล้วจะเป็นเส้นขนานไป คนก็ยังคิดว่าในระยะยาวปริญญาตรีอาจจะได้ค่าตอบแทนมากกว่าอยู่ แต่ในตลาดแรงงาน ถ้าคนมีความสามารถก็วิ่งได้สูงกว่านั้น เราเคยสังเกตว่าอาชีวะบางกลุ่มที่เป็นช่าง พอกลายเป็นเจ้าของกิจการเขารุ่งกว่า ถ้าเขามีความสามารถก็สามารถผันตัวได้ แต่ถ้าไปอยู่ตามระบบอุตสาหกรรมเขาอาจจะขึ้นได้ช้ากว่าคนที่จบปริญญาตรีแล้วไปเป็นวิศวกรคุมงาน

ภาพโดย กมลชนก คัชมาตย์


ทางหนึ่งในการสนับสนุนให้เรียนอาชีวะคือการให้ทุนการศึกษา นอกจากผลที่เกิดขึ้นกับเด็กที่ได้ทุนแล้ว ในภาพรวมส่งผลอย่างไรบ้าง

ขึ้นอยู่กับลักษณะของทุน อย่างกรณีทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูงของ กสศ. ที่นอกจากให้เด็กยากจนซึ่งมีการคัดกรองแล้วยังมีทุนหนุนเสริมให้สถาบันการศึกษาด้วย ฉะนั้นสถาบันการศึกษาได้สองต่อ ต่อที่หนึ่งได้ค่าเทอม ต่อที่สองได้ทุนหนุนเสริมมาพัฒนา ซึ่ง กสศ. ให้เงินเด็ก 6,500-7,500 บาทต่อเดือน เด็กก็เอาไปจุนเจือครอบครัวด้วย เงินกระเป๋าเดียวกันก็แผ่ถึงญาติพี่น้อง ผมเจอสิ่งนี้ตอนทำประเมินให้ กสศ.

ทุนการศึกษาเป็นส่วนช่วยอยู่แล้วล่ะ โดยเฉพาะทุนประเภทให้เปล่า แต่ทุนการศึกษาบางตัวจะมีประโยชน์ระยะยาวในแง่ของการทำงาน คือทุนการศึกษาที่เกิดจากบริษัท ให้เด็กเข้าไปฝึกงานโดยแลกกับทุน หรือแลกกับตำแหน่งการทำงานในอนาคตหากคุณมีประสิทธิภาพที่ดี ทำให้เด็กมีกำลังใจและรู้ว่าตัวเองเรียนจบไปแล้วสามารถทำงานที่ไหน ส่วนสถานประกอบการก็จะเห็นเด็กคนนี้ตั้งแต่ต้น ซึ่งหลายที่เริ่มทำแบบนี้ ปัญญาภิวัฒน์เป็นตัวอย่าง เขาคัดเกรดเด็กว่าคนนี้เรียนจบแล้วสามารถบริหารร้านได้ไหม พอบริหารร้านได้ในระยะเวลาหนึ่ง ก็เสนอการเป็นพาร์ตเนอร์ชิปแก่เด็กคนนั้นหรือทีมงานนั้น

เรื่องทุนการศึกษาสามารถออกแบบได้ อย่างทุนของ กสศ. มุ่งเน้นเติมโอกาสเรื่องความเหลื่อมล้ำ จะให้เด็กที่ด้อยโอกาสก่อนและเงินทุนอาจมีจำกัด เด็กที่ไม่ได้ทุนแบบนี้ก็อาจไปกู้ กยศ. นอกจากนี้ก็มีทุนที่มหาวิทยาลัยให้เองและทุนจากองค์กรภายนอกต่างๆ ถ้าอาชีวศึกษาสามารถสร้างความมั่นใจว่าเด็กที่จบมาแล้วมีคุณภาพก็สามารถไปขอทุนได้ เพราะตลาดแรงงานต้องการอาชีวะที่มีฝีมือ การล็อกตัวเด็กตั้งแต่ต้น สถานประกอบการจะได้ประโยชน์ที่สูงกว่า เพราะสามารถถ่ายทอดเทคโนโลยีได้เลย พอเรียนจบก็สามารถไปใช้เทคโนโลยีของกิจการนั้นได้ สถานประกอบการทำหน้าที่คล้ายสถาบันการศึกษา รูปแบบนี้จะเกิดมากขึ้น อีกหน่อยหากค่านิยมที่ไม่ต้องการปริญญาเกิดขึ้น ไม่ว่าจะปริญญาสายอาชีวะหรือสายสามัญ เด็กก็สามารถเดินเข้าไปขอฝึกงานแล้วเรียนรู้กับโรงงานได้เลย


เวลาพูดถึงเรื่องการให้ทุนการศึกษา มีข้อวิจารณ์ว่าอาจเป็นการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำที่ไม่ยั่งยืน อาจารย์คิดเห็นอย่างไร

ดีกว่าไม่มี ทุนเข้ามาช่วยเติมเต็มเรื่องความเหลื่อมล้ำได้ อย่าง กสศ. ช่วยให้คนเข้าสู่โอกาสอย่างน้อยสองพันคน หากได้ทุนตั้งแต่ ปวช. ก็ได้อยู่ 5 ปี ส่วน ปวส. ก็ 2 ปี แต่ละเดือนได้คนละ 7,500 บาทและมีค่าจิปาถะ แล้วให้สถาบันการศึกษา 10,000 บาท บวกค่าเทอมอีก

แหล่งที่มาของทุนก็สำคัญ อย่าง กสศ. ตอนเริ่มต้นได้เงินจากภาษีที่แบ่งมาจากการบริโภคสุราและบุหรี่ ตอนหลังใช้ระบบงบประมาณรัฐ ก็ถูกถกเถียงเรื่อยมาว่าทำไมต้องให้ งบประมาณที่ขอแต่ละปีก็ต้องเอาผลงานไปแลกว่าลดความเหลื่อมล้ำจริง ซึ่ง กสศ. ช่วยเยอะ

ทุนการศึกษามีหลายประเภท ผมบริหารจัดการทุนการศึกษาของคณะเอง มีทั้งทุนเรียนดี ทุนช่วยเหลือในยามฉุกเฉิน ทุนขาดแคลนหรือทุนช้างเผือก ทุนนักกีฬา ทุนแต่ละประเภทมีนัยบางอย่างว่าเราส่งเสริมคนกลุ่มไหน อย่างทุนนักกีฬา เราขอให้เขามาเป็นนักกีฬา มันไม่ใช่ทุนจริงๆ เพราะต้องมาเป็นนักกีฬาเพื่อสร้างชื่อเสียงให้กับมหาวิทยาลัย อย่างทุนที่คณะผมก็บอกว่าให้เด็กที่รับทุนมาทำงานให้คณะสัก 10-15 ชั่วโมงก็ได้ เพื่อให้เขารู้สึกว่าทุนไม่ใช่ของฟรี ถ้าเขารู้สึกแบบนั้นจะเห็นว่าทุนมีคุณค่าและช่วยพัฒนาระบบความคิดได้ ซึ่งในต่างประเทศการยกเว้นค่าเทอม การให้ทุนการศึกษา การเป็น assistantship ต่างๆ ช่วยทำให้เด็กเข้าสู่ระบบได้ สถาบันการศึกษามีช่องที่จะให้ทุนการศึกษาได้อยู่แล้ว ซึ่งช่วยได้ระดับหนึ่ง แต่ต้องทำเรื่อง targeting บางคนไม่มีความจำเป็นต้องรับทุนก็ไม่ควรได้ ควรมีกระบวนการคัดกรองที่ดีว่าใครควรได้รับทุนและเป็นทุนประเภทไหน ก็จะยั่งยืนในแง่การทำงาน


ปัจจุบันลักษณะการรับคนเข้าทำงานโดยไม่ดูปริญญา แต่เน้นเรื่องทักษะ ได้รับการยอมรับแค่ไหน

ขึ้นอยู่กับประเภทของงานด้วย บางวิชาชีพต้องมีใบอนุญาตผ่านสมาคมหรือมีการสอบ เช่น อาชีพแพทย์ถ้าไม่ได้ผ่านการเรียนในมหาวิทยาลัยก็ไม่สามารถสอบใบประกอบโรคศิลป์ได้ หรือผู้ตรวจสอบบัญชียังไงก็ต้องเรียนวิชาบัญชี ไม่ว่าจะผ่านการเรียนระบบไหน จึงหลีกเลี่ยงการเข้าสู่ระบบสถาบันการศึกษาไม่ได้ แต่สำหรับอาชีวะอาจยืดหยุ่นกว่า แล้วแต่ประเภทงาน

การรับคนเข้าทำงาน อันดับแรกเขาดูว่าสาขาที่เรียนมาตรงกับความต้องการของเขาไหม อันดับที่สองอาจดูเรื่องทัศนคติ เช่น สามารถทำงานเป็นทีมได้ไหม อันดับที่สามคงดูเรื่องความสามารถพิเศษ สำหรับอาชีวะคงดูว่าเข้ามาแล้วสามารถทำงานได้ทันทีเลยหรือเปล่า การจบมหาวิทยาลัยเป็นสัญญาณหนึ่งที่การันตีว่าอย่างน้อยคุณมีความรู้

เดี๋ยวนี้มีคอร์สออนไลน์ที่มีการทดสอบค่อนข้างยากแล้วให้ประกาศนียบัตร ซึ่งส่วนใหญ่เป็นของสถาบันต่างประเทศที่น่าเชื่อถือ อย่างในสายการเงินหรือนวัตกรรม ใบประกาศนี้เป็นหนังสือรับรองตัวหนึ่งที่ทำให้คนสามารถใช้เข้าสู่ระบบได้ แต่ตลาดแรงงานบ้านเราอาจยังไม่ยอมรับคอร์สเหล่านี้เท่าไหร่ หากจะยอมรับคือในกรณีที่เข้ามาเป็นพนักงานบริษัทแล้วอยากเพิ่มทักษะก็ไปเรียนแล้วเอามายื่น อย่าง CFA หรือ CISA แต่การจะรับเข้าทำงานโดยมีใบประกาศผ่านคอร์สต่างๆ ไม่มีปริญญา ผมคิดว่ายังยากอยู่

สำหรับสังคมไทย ใบปริญญาน่าจะยังจำเป็น ซึ่งเกี่ยวกับเรื่องค่านิยมด้วย สำหรับในตลาดแรงงานเองก็ใช้เป็นตัวช่วยแยกว่าจะกำหนดอัตราค่าตอบแทนเท่าไหร่ และเป็นตัวกรองว่าคนคนนี้มีคุณสมบัติหรือความสามารถขั้นต้นเป็นอย่างไร


ในแง่งบประมาณที่สถานศึกษาอาชีวศึกษาได้รับ เพียงพอต่อการจัดการศึกษาให้มีคุณภาพไหม

ผมคิดว่าพอ เพราะรัฐให้เป็นเงินต่อหัวเด็ก ซึ่งแต่ละสาขาจะให้งบไม่เท่ากัน ถ้าเด็กต้องจ่ายต้นทุนจริงๆ เด็กจะต้องจ่ายแพงกว่านั้น แบบนี้อาจมองว่าอย่างนั้นอาชีวะเอกชนก็คิดค่าเทอมแพงสิ เพราะต้องสะท้อนต้นทุนจริงและรับการอุดหนุนไม่เท่าสถาบันของรัฐ แต่ก็ไม่ได้อีก เพราะสถาบันอาชีวะแข่งกันทั้งของรัฐและเอกชน 800 กว่าแห่ง พอแข่งกันก็ไปทำราคาสูงในพื้นที่เดียวกันยาก เลยมีกลยุทธ์ว่าแบ่งเป็นอาชีวะแต่ละด้านและราคาจะไม่ต่างกันมาก

งบที่รัฐให้อาชีวะคิดว่าเป็นเรตที่เหมาะสมอยู่ แต่การจัดใช้งบประมาณของสถาบันอาจเป็นเรื่องใหญ่กว่า บางสถาบันเอาเงินไปใช้เพื่อการลงทุน บางสถาบันเอาเงินไปใช้เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายดำเนินการ ผลที่ได้ก็จะแตกต่างกัน ทรัพยากรที่แต่ละสถาบันมีก็แตกต่างกัน ฉะนั้นการบริหารจัดการอาจต่างกันในแง่งบประมาณและส่งผลต่อคุณภาพ แต่โดยภาพรวม ผมคิดว่าอาชีวะได้รับในระดับที่ทำงานได้


มองถึงความเปลี่ยนแปลงของโลกที่ถูกดิสรัปต์ด้วยดิจิทัล อะไรเป็นโจทย์ใหญ่ในการพัฒนาการศึกษาสายอาชีพ ทั้งในเชิงหลักสูตรและในเชิงทักษะ

สถาบันการศึกษาทุกที่เผชิญโจทย์นี้ ไม่ใช่เฉพาะอาชีวะ ตอนนี้เราพยายามเสริมทักษะที่จำเป็นต่อศตวรรษที่ 21 พยายามเสริมทักษะที่จำเป็น (essential skills หรือ soft skills) สำหรับอาชีวะคงเน้นเรื่องการใช้เทคโนโลยีมากขึ้น โดยเฉพาะเทคโนโลยีดิจิทัลต้องมีการปรับเพิ่มเติมมากขึ้นซึ่งมากับดีมานด์ของสถานประกอบการ เพราะถ้ามีการใช้โรบอต สิ่งที่สำคัญกว่าคือคนคุมโรบอต สถาบันเหล่านี้จึงพัฒนาหลักสูตร จัดลำดับ จัดแข่งขันเพื่อให้สถาบันมีชื่อเสี่ยง เช่น ในการแข่งหุ่นยนต์ของช่อง MCOT ที่จัดทุกปี ทุกสถาบันก็จะส่งเด็กเข้ามา เพราะเป็นกระบวนการเรียนรู้และเป็นหลักสูตรที่มี สถาบันเหล่านี้ก็จะมีการอัปเดตทักษะ

นอกจากนี้เราต้องยอมรับว่าอาจมีสถาบันที่ไปต่อไม่ได้ อยู่ในสภาวะขาดทุนหรือไม่มีศักยภาพที่จะพัฒนาหลักสูตรใหม่ๆ หรือหาครูที่มีคุณภาพได้ เหล่านี้กระทรวงศึกษาต้องมาดู แต่ก็สามารถตรวจสอบได้หากจำนวนนักศึกษาลดลงเรื่อยๆ จนไม่สามารถจัดการเรียนการสอนได้ ขณะที่กลุ่มอื่นมีการพัฒนาหลักสูตรอยู่ตลอด


ในระดับโลก มีประเทศไหนที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนาอาชีวะจนส่งผลทางด้านเศรษฐกิจ

เยอรมนี ระบบของเขาคือภาคเอกชนมาทำอาชีวะ มีการเชื่อมต่อที่ดีและเขาเน้นอุตสาหกรรมมาตั้งแต่ต้น โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ ซึ่งจำเป็นจะต้องป้อนคนเข้าไป คนที่เข้ามาสู่ระบบนี้จะได้เงินเดือนในระดับที่โอเคและได้ทุนการศึกษาแต่ต้น นอกจากนี้ยังมีเรื่องค่านิยมของสังคม เด็กจะเห็นระบบโรงงานตั้งแต่เล็ก เห็นว่าเมืองขับเคลื่อนด้วยอาชีวะและเห็นการทำงานในระบบโรงงานมาตลอด เยอรมนีเป็นตัวอย่างหนึ่งที่ภาคเอกชนทำงานพัฒนาอาชีวะร่วมกับภาครัฐมาเป็นเวลานาน

อีกตัวอย่างหนึ่งคือเกาหลีใต้ หลังจากเจอวิกฤตเศรษฐกิจคล้ายบ้านเรา เกาหลีก็ปรับบทบาท เน้นอาชีวะ เน้นวิชาชีพเพิ่มมากขึ้น รูปแบบของเกาหลีเน้นอุตสาหกรรมเช่นเดียวกับไต้หวัน แต่ต้นตำรับอยู่ที่เยอรมนี

โครงสร้างประเทศไทยไม่ได้ถูกวางมาแบบนั้น เราไปภาคเกษตรตลอด หากมองเรื่องการศึกษาอย่างการสอนอาชีวะในราชมงคลก็มีจุดตั้งต้นมาจากวิทยาลัยช่าง พอยกระดับเป็นมหาวิทยาลัยก็พยายามขยายหลักสูตร เพิ่มผู้เรียนในแต่ละหลักสูตร ต้องเข้าใจว่ามหาวิทยาลัยทุกแห่งพยายามหาเงิน ก็กลับไปดูว่าหลักสูตรแบบไหนที่คนต้องการ คือหลักสูตรที่คนเรียนจะหาเงินได้ในอนาคต อย่างหลักสูตรบริหารธุรกิจ ซึ่งฉีกออกมาจากสายวิศวกรรมหรือช่างจากแต่เดิม จุดเน้นก็ต่างไป ซึ่งที่จริงราชมงคลหลายแห่งมีคุณภาพที่จะผลิตนักศึกษาในสายช่าง-สายอาชีวะ


ส่วนตัวมีข้อเสนออย่างไรที่จะพัฒนาระบบการศึกษาสายอาชีพให้ตอบโจทย์การพัฒนาประเทศ

ต้องมองตั้งแต่สถานประกอบการ ซึ่งสถานประกอบการต้องชี้ให้ชัดว่าต้องการคนประเภทไหน เขาอาจบอกว่าต้องการอาชีวะ แต่พอไปแข่งในตลาดแรงงานก็กังวลว่าการใช้เด็กอาชีวะจะตอบโจทย์ไหม ขณะเดียวกันก็มีบางสถานประกอบการที่รู้ตัวแน่ชัดว่าต้องการทักษะอาชีวะจริงๆ ฉะนั้นสถานประกอบการต้องส่งสัญญาณให้ชัดเจน ไม่ใช่แค่ส่งสัญญาณว่าต้องการจำนวนเท่าไหร่ แต่ต้องส่งสัญญาณราคาออกมาด้วย ซึ่งตรงนี้คือส่วนที่ยาก สถานประกอบการต้องจ่ายตามผลิตภาพให้ได้ ถ้าเด็กอาชีวะคนนี้มีความสามารถสูงกว่าเด็กมหาวิทยาลัย สถานประกอบการต้องคิดใหม่ว่าเงินเริ่มต้นอาจเท่ากันได้ ไม่ใช่ไปกดเด็กอาชีวะ ซึ่งส่วนนี้เป็นเรื่องยากเหมือนกัน

เรื่องที่สอง ภาครัฐต้องพยายามอัปเกรดอาชีวะให้เป็นของพรีเมียม ซึ่งก็ยากเช่นกัน ถามว่าทำยังไง ผมยืนยันว่าไม่ควรใช้งบกระจัดกระจาย ต้องเลือก product champion สถาบันอาชีวะนี้เก่งด้านไหนก็สนับสนุนด้านนั้นให้เป็นผู้เชี่ยวชาญ อย่าทำให้เก่งกระจาย หมายความว่าในหนึ่งอาชีวะไม่ควรเก่งทุกเรื่อง เพราะไม่มีใครเก่งทุกเรื่องได้ด้วยเงินที่เท่ากัน อย่างธรรมศาสตร์เราเคยพลาดไป พอทำสายวิทยาศาสตร์แล้วความเข้มแข็งของสายสังคมก็ลด สายวิทยาศาสตร์เองก็อาจสู้มหาวิทยาลัยที่เป็นสายวิทยาศาสตร์แต่ต้นไม่ได้

มีตัวอย่างที่สิงคโปร์เขาสนับสนุนสถาบันอาชีวะโดยสร้าง product champion เช่น สถาบันนี้เก่งด้านการต่อเรือเดินทะเลก็ทำไปเลย สถาบันนี้เก่งเรื่องผลิตภัณฑ์อาหารก็ทำด้านนี้ไปเลย ไม่ต้องมาตีกัน ของไทยเราเก่งทุกเรื่องทำทุกอย่างเลยเป็นปัญหา ถ้าเรากำหนดทิศทางแบบนี้การใช้เม็ดเงินจะดีขึ้น เพียงแต่ภาครัฐอาจต้องยอมรับว่าสถาบันไหนไม่มีศักยภาพก็ต้องยอมปลด ซึ่งทำได้ยากโดยระบบเพราะอัตรายังคาอยู่ การจะรวมสถาบันเหมือนรวมโรงเรียนก็ยาก เพราะ ผอ. มีตำแหน่งเดียว แต่เราต้องใช้ทรัพยากรให้คุ้มมากขึ้น

อีกส่วนที่สำคัญคือต้องเปลี่ยนค่านิยมหรือทัศนคติของสังคมเรื่องเด็กอาชีวะ ถ้าสื่อหรือละครโปรโมตกันทุกวันว่าเด็กอาชีวะตีกัน พ่อแม่ก็ไม่ส่งไปเรียนหรอก และอีกเรื่องที่ต้องทำคือการกำหนดราคา (pricing) ในระยะยาวจะเป็นอย่างไร ซึ่งเป็นเรื่องมุมมองการให้เงินอุดหนุนมหาวิทยาลัย ซึ่งตอนนี้มหาวิทยาลัยออกนอกระบบเยอะแล้ว ทำให้มหาวิทยาลัยทำงานบนพื้นฐานราคาที่มีการแข่งขันมากขึ้น ขณะเดียวกันก็สะท้อนต้นทุนและส่งสัญญาณไปยังตลาดมากขึ้น ผมคิดว่าระบบการกำหนดราคาของมหาวิทยาลัยเป็นอีกเรื่องที่ต้องเข้ามาดู ส่วนระบบการกำหนดราคาของอาชีวะส่วนใหญ่มีภาครัฐสนับสนุนก็อาจจะตอบยากอยู่ เพราะส่วนใหญ่อาชีวะไม่ได้ออกนอกระบบ ยังได้รับการสนับสนุนเต็มๆ จากภาครัฐ


ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือระหว่าง กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และ The101.world

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Education

20 Jul 2023

คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ในวิกฤต (?)

ข่าวการปรับหลักสูตรของอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ชวนให้คิดถึงอนาคตของการเรียนการสอนสายมนุษยศาสตร์ เมื่อตลาดแรงงานเรียกร้องทักษะสำหรับการทำงานจริง จนมีการลดความสำคัญวิชาพื้นฐานอันเป็นการฝึกฝนการวิเคราะห์วิพากษ์เพื่อทำความเข้าใจโลกอันซับซ้อน

เสียงเล็กๆ จากประชาคมอักษร

20 Jul 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save