fbpx

‘ความตายของโกโบริ’ กับ ‘ฆาตกรที่ชื่ออังศุมาลิน’ : คู่กรรมบนถนนสังคมการเมืองไทย

ภาพจำของคู่กรรมของคนแต่ละยุคสมัยอาจต่างกันไป บางคนอาจซาบซึ้งกับตัวอักษรในนิยาย หลายคนเสียน้ำตาให้กับโกโบริหน้าจอโทรทัศน์ หรืออาจจะรู้สึกแปลกๆ กับเวอร์ชันหนังที่เบิร์ด ธงไชยกลับมาแสดงอีกครั้ง คนไม่น้อยบริภาษนักแสดงหน้าใหม่ผู้เล่นเป็นอังศุมาลินที่ประกบกับณเดชน์ในภาพยนตร์เวอร์ชันล่าสุด

‘คู่กรรม’ เป็นหนึ่งในผลงานยอดนิยมของวิมล ศิริไพบูลย์ภายใต้นามปากกว่า ‘ทมยันตี’ หากนับจากการตีพิมพ์เป็นตอนๆ ลงในนิตยสารศรีสยามในปี 2508 และการรวมเล่มพิมพ์เล่มครั้งแรกในอีก 4 ปีต่อมา ก็ถือว่าคู่กรรมอยู่สังคมไทยมากว่าครึ่งศตวรรษแล้ว

เมื่อเอาไม้บรรทัดทางการเมืองมาวัดก็จะพบว่า ปี 2512 ยังเป็นปีเดียวกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป เลือกตั้งครั้งนี้เป็นครั้งแรกในรอบทศวรรษ หลังจากที่สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ยึดอำนาจอธิปไตยของประชาชนไป คู่กรรมจึงเกิดขึ้นภายใต้สภาพแวดล้อมของสังคมเผด็จการทหารที่บ่มเพาะในสังคมไทยมาอย่างยาวนาน ไม่แน่ใจว่าเกี่ยวกันหรือไม่ แต่ทมยันตีได้ให้สัมภาษณ์ในรายการโทรทัศน์ว่า แรงบันดาลใจของการเขียนคู่กรรมนั้น มาจากตอนที่เธอไปเยี่ยมสุสานทหารสัมพันธมิตรที่กาญจนบุรี[1]

ญี่ปุ่นกลับมาเร่งฟื้นฟูประเทศและกลายเป็นประเทศดาวรุ่งหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 อัตราเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างก้าวกระโดดปรากฏผ่านเหตุการณ์สำคัญนั่นคือโอลิมปิกฤดูร้อนในปี 2507 ซึ่งเป็นเวลาก่อนที่ทมยันตีจะแต่งเรื่องคู่กรรมเพียง 1 ปี เมื่อรัฐบาลไทยมีนโยบายเปิดรับการลงทุนจากต่างชาติ ญี่ปุ่นก็เป็นหนึ่งในนั้น 

ตัวอย่างหนึ่งก็คือ กรณีบริษัทก่อสร้างญี่ปุ่นแห่งหนึ่งเข้าพบสฤษดิ์เพื่อขออนุมัติในการตั้งบริษัทร่วมทุนสร้างทางด่วนในไทยเมื่อปี 2505 ในนามไทยญี่ปุ่นก่อสร้าง[2] ในอีกด้านเมื่อเทียบการค้าระหว่าง 2 ประเทศแล้ว ไทยตกเป็นฝ่ายขาดดุลญี่ปุ่น โดยเริ่มมาตั้งแต่ปี 2497 พอในปี 2513 ขาดดุลมากถึง 6,337 ล้านบาท[3] ดังนั้น การรับรู้ญี่ปุ่นในยุคนั้นจึงมีอยู่ 2 ฝั่ง นั่นคือ ฝั่งที่ชื่นชมในฐานะที่เป็นสัญลักษณ์ของประเทศที่พัฒนาทางเศรษฐกิจ กับอีกฝั่งก็คือ มองว่าญี่ปุ่นเป็นสัตว์เศรษฐกิจที่เข้ามากอบโกยผลกำไรในประเทศ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรที่นักศึกษาจะรวมกันต่อต้านสินค้าญี่ปุ่นในปี 2515 อันเป็นกระแสหนึ่งในความเปลี่ยนแปลงสำคัญช่วง 14 ตุลาคม 2516 

ภาพที่ 1 หน้าปก คู่กรรม ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 1 ปี 2512 ที่มาภาพ su-usedbook

‘คู่กรรม’ ความเป็นกลางของบ้านอังศุมาลิน และปมด้อยของหญิงสาว

ครอบครัวของอังศุมาลินไม่เพียงจะเป็นศูนย์กลางของเรื่อง แต่ยังเป็นพื้นที่ตรงกลางระหว่างฝ่ายอักษะและสัมพันธมิตรอีกด้วย เราจะเห็นว่า ‘อร’ แม่นางเอกพยายามที่จะรักษาความเป็นกลางของพื้นที่โดยไม่พยายามเป็นศัตรูกับใคร เนื่องจากตัวเองก็ไม่มีใครคุ้มกะลาหัว เพราะตัวเองก็เลือกที่จะหย่ากับฝ่ายผัวเก่าที่เป็นทหารเรือไปนานแล้ว แต่ในอีกมิติ การพยายามเป็นกลางก็เพื่อผลประโยชน์ของตัวเองเป็นหลัก ดังนั้นบ้านหลังนี้จึงถูกจับจ้องจากชาวบ้านและมองด้วยสายตาริษยา เพราะถือว่ามีอภิสิทธิ์หลายประการ ไม่ว่าจะเป็นข้อได้เปรียบจากความใกล้ชิดสนิทสนมกับครอบครัวของกำนันอันเป็นฝ่ายอำนาจรัฐไทย หรือการได้ผลประโยชน์จากกองทัพญี่ปุ่นที่มาจากการที่โกโบริพยายามเข้ามาตีสนิทอังศุมาลิน

แต่ ‘ความเป็นกลาง’ อาจใช้ไม่ได้ในยามสงครามเช่นนี้ บ้านหลังดังกล่าวกลายเป็นพื้นที่ต่อสู้ทางการเมืองไปในที่สุด การแต่งงานของโกโบริและอังศุมาลินกลายเป็นสมรภูมินั้น เริ่มต้นจากการที่โกโบริเกรงว่าอังศุมาลินจะเป็นขี้ปากชาวบ้านจากการที่เขาแตะเนื้อต้องตัวหญิงสาว หลายกรรมหลายวาระจนเป็นขี้ปากของชาวบ้าน ไม่ว่าจะเป็นความพาซื่อหรือเป็นแผนของเขาก็ตาม โกโบริได้นำเรื่องไปปรึกษาผู้ใหญ่ ทำให้ถูกโยงไปเป็นเรื่องการเมืองระหว่างประเทศ ไม่นานก็ปรากฏข่าวแต่งงานเกิดขึ้นในหน้าหนังสือพิมพ์โดยที่อังศุมาลินยังไม่ทันจะรู้ตัว ดังนั้น ครอบครัวของอังศุมาลินที่เคยเป็นพื้นที่กลางระหว่างทั้งสองฝ่าย จึงกลายเป็นฝ่ายอักษะเต็มตัว กองทัพญี่ปุ่นยังใช้การแต่งงานนี้เพื่อจับตาพ่อของอังศุมาลินที่พวกเขาหวาดระแวงว่าเป็นฝ่ายเสรีไทยไปด้วย เหตุการณ์นั้นนำไปสู่การผลักให้อังศุมาลินที่อาจเคยเผลอใจให้โกโบริ แสดงความแน่วแน่ว่า ตนนั้นไม่เต็มใจกับการแต่งงาน และมีท่าทีรังเกียจโกโบริแบบออกนอกหน้า การแสดงตัวเป็นศัตรูกับโกโบริ จึงเสมือนเป็นการพยายามยืนยันความเป็นกลางดังกล่าวอยู่ คล้ายกับเสรีไทยที่ไม่ยอมรับการตัดสินใจของรัฐบาล 

อาจเป็นเพราะว่าอังศุมาลินมีชีวิตไม่มั่นคง เพราะครอบครัวหย่าร้าง ต้องอาศัยอยู่กับแม่และยายบริเวณบางกอกน้อย เธอจึงโหยหาความสมบูรณ์ของครอบครัวเพื่อมาเติมให้กับชีวิตที่วิ่นแหว่ง การที่ขาดพ่อที่เป็นเสาหลักของบ้านทำให้โกโบริเป็นจิกซอว์ที่เหมาะสมที่จะเข้ามาแทนที่สิ่งนั้น จะเห็นว่าเรือนร่างของโกโบริยังถูกจับจ้องจากอังศุมาลินอยู่ไม่วางตา กล้ามเนื้อ ท่อนแขน เป็นตัวแทนความเป็นชายที่อังศุมาลินเห็นแล้วรู้สึก ‘อบอุ่น’ ซึ่งสื่อถึงความโหยหาเพศชายของตัวเธอเองอีกด้วย ทั้งที่ปากของเธอปฏิเสธเขาอยู่ตลอดเวลาผ่านวาจาที่ชิงชังและเชือดเฉือน

แม้ว่านางเอกจะเป็นตัวละครที่พยายามบอกผู้อ่านว่าตัวเองรักชาติเพียงใด แต่เราก็ไม่เห็นเลยว่า อังศุมาลินถูกบ่มเพาะความรักชาติมาอย่างไร การเกลียดกองทัพญี่ปุ่นและทหารญี่ปุ่นอย่างออกหน้าออกตาเมื่อเทียบกับตัวละครอื่นจึงดูไม่สมเหตุสมผลนัก อังศุมาลินไม่เคยติดต่อหรือได้รับการชี้นำจากเสรีไทยเลย แต่ผู้เขียนกลับวางทางเดินให้อังศุมาลินถูกบังคับให้คิดตามเสรีไทย (ซึ่งก็เป็นการชี้โดยอ้อมว่า เป็นทางที่ไม่ถูกต้องนั้น) ทั้งนี้โทนเรื่องทั้งหมดของนิยายก็มิได้ชี้ให้เห็นว่ากองทัพญี่ปุ่นเลวร้าย หรือเป็นผู้รุกรานที่น่าหวาดกลัวหรือน่ารังเกียจ ในทางกลับกันโกโบริและกองทัพดูเหมือนจะมีความยุติธรรมให้กับคนแถวบางกอกน้อยมากพอดู เสียงก่นด่าของอังศุมาลินต่อโกโบริและกองทัพญี่ปุ่นเสียอีกที่เป็นเหมือนเด็กเจ้าปัญหา

อังศุมาลินยังเหยียบเรือสองแคมอยู่บนความสัมพันธ์ของสองชาย นั่นคือ ‘โกโบริ’ ทหารญี่ปุ่นผู้มีศักดิ์เป็นหลานชายแม่ทัพ เรื่องราวของโกโบรินั้นมีพื้นหลังที่ค่อนข้างคลุมเครือ เราไม่ค่อยรู้ประวัติอะไรของเขามากนักว่าเขาไปยังไงมายังไง ผิดกับ ‘วนัส’ ลูกกำนันที่เราทราบพื้นหลังอย่างมากจากความสัมพันธ์กับอังศุมาลินในต้นเรื่อง วนัสเป็นนิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (คณะเดียวกันกับนิสิตที่โยนบกจิตร ภูมิศักดิ์ แต่จิตรนั้นถูกโยนบกในยุคหลังคู่กรรมไปแล้ว) เมื่อเทียบกับอังศุมาลินแล้วเขาคือคู่ตรงข้ามระหว่างความเป็นชาย-หญิง, สายวิทย์-สายศิลป์, เหตุผล-อารมณ์ วนัสสอบได้ทุนไปเรียนต่อที่อังกฤษ ก่อนเดินทางไกล เขาได้สร้างข้อผูกมัดทางหัวใจไว้กับอังศุมาลินที่ท่าน้ำ ชีวิตของวนัสแม้จะหายไปจากอังศุมาลิน แต่เขาได้กลายเป็นผู้ผูกปมใหญ่ให้กับหัวใจนางเอกไป หากวนัสมีบทบาทกว่านี้ คู่กรรมอาจเป็นเรื่องรักสามเส้าที่เข้มข้น และทำให้อังศุมาลินดูเป็นคนที่คิดและทำอะไรที่สมเหตุสมผลมากกว่านี้

เสรีไทยกับความกระอักกระอ่วน ปีศาจปรีดี และผีคอมมิวนิสต์

ทมยันตีให้น้ำหนักขบวนการเสรีไทยไปในทางค่อนข้างลบ เมื่อเทียบกับกองทัพญี่ปุ่น อย่าลืมว่าในช่วงสงครามโลก ไทยจับมือกับญี่ปุ่น ฝ่ายสัมพันธมิตรและเสรีไทยนั้นเองที่ร่วมมือกันโจมตีและทิ้งระเบิดในเขตเมืองและจุดยุทธศาสตร์ การบาดเจ็บล้มตายของผู้คนจึงมาจากฝ่ายดังกล่าวไปด้วย ตัวแทนของเสรีไทยยังปรากฏผ่านภาพของตาผล ตาบัว ชาวบ้านที่มีบุคลิกอวดเก่ง คิดสั้น โลภมาก เห็นแก่ผลประโยชน์ส่วนตน พวกเขามักสร้างปัญหาให้กับบ้านอังศุมาลินอยู่เนืองๆ และเรียกตัวเองว่าเป็น ‘พลกะพรรค’ ซึ่งหมายถึงพวกขบวนการเสรีไทยนั่นเอง ‘จิ๋มหนึ่ง’ ‘จิ๋มสอง’ คือรหัสลับที่พวกเขาใช้เรียกตัวเอง ตาผลตาบัวยังเป็นคนที่เข้าไปทำงานในกองทัพญี่ปุ่น แล้วถูกจับได้ว่าลักลอบนำน้ำมันก๊าดออกไปขายต่อ จนถูกลงโทษด้วยการกรอกน้ำมันก๊าดใส่ปากต่อหน้าฝูงชน 

พ่อของอังศุมาลินน่าจะเป็นคนสำคัญของขบวนการ ก็ไม่ชัดนักว่ามีบทบาทอะไร ทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน ทั้งยังเป็นบุคคลที่เสมือนตายจากครอบครัวอังศุมาลินไปแล้ว ส่วนวนัส เสรีไทยสายอังกฤษ ถูกจับได้หลังจากกระโดดร่มลงมาจากเครื่องบิน วนัสนี่เองที่นำไปสู่จุดสุดยอดของเรื่อง นั่นคือเป็นผู้ปลดปล่อยอังศุมาลินให้เป็นอิสระจากสัญญาว่าจะให้รอเขา ขณะเดียวกันก็เป็นผู้ปลิดชีวิตโกโบริทางอ้อม หลังจากเป็นผู้ระบุพิกัดทิ้งระเบิดบริเวณสถานีรถไฟบางกอกน้อย

เมื่อวินิจฉัยกับบริบทของนิยายช่วงปลายทศวรรษ 2500 ต่อต้นทศวรรษ 2510 ชื่อเสียงของขบวนการเสรีไทยไม่ได้เป็นที่ยอมรับในเชิงบวกมากนัก เพราะคนสำคัญของขบวนการในฝั่งไทยคือปรีดี พนมยงค์ นักการเมืองคนสำคัญที่ถูกรัฐประหารตั้งแต่ปี 2490 

ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่า สถานภาพของเขาเป็นอย่างไร ปรีดีถูกสร้างภาพลักษณ์ให้เป็น ‘ปีศาจทางการเมือง’ ด้วยข้อกล่าวหาร้ายแรงนานาประการ ตั้งแต่ผู้บงการเบื้องหลังกรณีสวรรคตเพื่อสถาปนาระบอบมหาชนรัฐ เป็นผู้ก่อกวนทางการเมืองที่อยู่เบื้องหลังรัฐประหาร โดยเฉพาะกบฏวังหลวงในปี 2492 และเป็นคอมมิวนิสต์ที่พร้อมจะยกกองทัพเข้ามาบุกไทยในทศวรรษ 2490 ความล้มเหลวจากกบฏวังหลวงทำให้ปรีดีต้องลี้ภัยเข้าไปยังจีน แต่เขามิได้นิ่งเฉย พยายามมี ‘ซีน’ ทางการเมืองในไทยจากต่างแดนเรื่อยมา (คุ้นๆ มั้ย) ว่ากันว่าแปลก พิบูลสงครามเคยจะชวนกลับให้เข้าประเทศ โดยจะให้รื้อฟื้นคดีสวรรคตขึ้นมาใหม่ การเอาปรีดีกลับมานั้น ก็เป็นหมากหนึ่งใช้เพื่อคานอำนาจกับฝ่ายสฤษดิ์ ธนะรัชต์ แต่แผนดังกล่าวก็ไม่สำเร็จเพราะถูกรัฐประหารเสียก่อน[4] ในที่สุดปรีดีก็ย้ายจากจีนไปกรุงปารีส ฝรั่งเศสในปี 2513 และเสียชีวิตที่นั่นในปี 2526 

คำพูดของตาบัวที่ว่า “เขาให้พวกเราออกมาปลุกปั่นคนไทย” ของฝ่ายเสรีไทย ยิ่งทำให้กระหวัดไปนึกถึงความตึงเครียดของบ้านเมืองที่มีต่อคอมมิวนิสต์หลังวันเสียงปืนแตกในปี 2508 นัยดังกล่าวจึงอาจกระหวัดไปถึงปรีดี พนมยงค์ก็เป็นได้

ภาพที่ 2 หนังสือเบื้องหลังการก่อตั้งขบวนการเสรีไทย โดย ปรีดี พนมยงค์
ที่มาภาพ oncebookk 

คู่กรรมกับการกลายเป็นตำนาน และกระบวนการกลายเป็นญี่ปุ่น ในทศวรรษ 2530

คู่กรรมที่ฉายในช่อง 7 เวลาไพรม์ไทม์ เมื่อปี 2533 กลายเป็นละครประวัติศาสตร์เนื่องจากมีเรตติ้งสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ที่จนถึงทุกวันนี้ยังไม่มีใครมาโค่นล้มลงได้ ผู้ที่รับบทโกโบริคือธงไชย แมคอินไตย์ นักร้องชื่อดังแห่งยุคสมัย คนไทยได้สัมผัสความเป็นญี่ปุ่นผ่านผลิตภัณฑ์และสินค้าอุตสาหกรรมต่างๆ ในครัวเรือนอยู่แล้ว ตั้งแต่เครื่องใช้ไฟฟ้าอย่าง ทีวี พัดลม ตู้เย็น เตารีด หม้อหุงข้าว รวมถึงพาหนะอย่างรถจักรยานยนต์และรถยนต์ เพลงเมดอินไทยแลนด์และราชาเงินผ่อนของคาราบาวในปี 2527 ได้บ่งบอกถึงการบริโภคสินค้าต่างประเทศ โดยเฉพาะญี่ปุ่น[5]

สำหรับคนทั่วไปที่เสพความเป็นญี่ปุ่นในฐานะสินค้า อาจมีคำถามว่า ตกลงคนญี่ปุ่นคือใคร พูดจายังไง หน้าตาเป็นยังไง คู่กรรมอาจมาช่วยตอบข้อสงสัยนี้ แม้ว่าในเรื่องไม่มีตัวละครคนใดที่เป็นคนญี่ปุ่นเล่นเลยก็ตาม แต่ในเรื่องกลับมีการพูดภาษาญี่ปุ่นอย่างจริงจังจนถึงขนาดมี ‘ซับไตเติล’ ภาษาไทย กำกับเวลาที่โกโบริหรือทหารญี่ปุ่นพูด หรือการให้ดาราคนไทยมาพูดไทยก็ต้องแกล้งพูดให้ไม่ชัด ก็ทำให้ประเด็นความเป็นญี่ปุ่นที่น่ารู้จัก น่าค้นหา ชัดเจนขึ้นด้วย

คู่กรรมกลายเป็นตัวอย่างสำคัญของการทำให้ญี่ปุ่นกลายเป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทยได้อย่างแนบเนียน ไม่แพ้กับพลังทางวัฒนธรรมที่มากับการ์ตูน และการ์ตูนทีวีที่มีอิทธิพลต่อลูกหลานชนชั้นกลางในเขตเมืองที่ยังจำกัดแวดวงอยู่ การที่ละครเป็นที่นิยมจนเรตติ้งทะลุฟ้าได้ทำให้ความเป็นญี่ปุ่นถูกรับรู้กันอย่างกว้างขวางผ่านการดูละครโดยตรง การอ่านข่าวหนังสือพิมพ์ การฟังจากวงสนทนาในที่ทำงานหรือตลาด ร้านค้า ชื่อ ‘ฮิเดโกะ’ อันเป็นชื่อภาษาญี่ปุ่นของอังศุมาลิน (ที่แปลว่าดวงอาทิตย์) ถือเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการกลายเป็นญี่ปุ่นของคนไทย-สังคมไทยในยุคสมัยดังกล่าว เช่นเดียวกับความนิยมชมชอบของโกโบริ-ความเป็นญี่ปุ่นในร่างของเบิร์ด ธงไชยน่าจะเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุด

ญี่ปุ่นยังมีบทบาทต่อการพัฒนาประเทศผ่านการลงทุนในไทยอย่างใหญ่หลวง ปี 2533 กองทุนความร่วมมือทางเศรษฐกิจโพ้นทะเลแห่งญี่ปุ่นได้อนุมัติเงินกู้กว่า 2 พันล้านเพื่อสร้างทางหลวงสายบางปะอิน-นครสวรรค์, สายสระบุรี-นครราชสีมา, สายธนบุรี-ปากท่อ[6] และปีต่อมาสายกรุงเทพฯ-ชลบุรีสายใหม่ เป็นเงินกว่า 2 พันเก้าร้อยล้าน[7] (ก่อนหน้านั้นก็มีการให้กู้เพื่อสร้างทางหลวง แต่ก็ยังไม่ใช่เงินก้อนใหญ่นัก) สอดคล้องกับการเติบโตของนิคมอุตสาหกรรมและการลงทุนจากบริษัทญี่ปุ่นปี 2535 ยังเป็นปีที่ก่อตั้งมูลนิธิโตโยต้าแห่งประเทศไทยเนื่องในโอกาสครบรอบ 30 ปีที่ดำเนินกิจการในประเทศ[8]

ในปีเดียวกันนั้น ยังมีงานแต่งงานระหว่างเขาทราย แกแล็คซี่ แชมป์โลกมวยสากลคนไทย กับ ยูมิโกะ โอตะ หญิงสาวชาวญี่ปุ่นผู้ที่ติดตามผลงานเขาทรายมาตั้งแต่ปี 2532 งานนี้มีคนใหญ่คนโตเข้าร่วม ไม่ว่าจะเป็นเปรม ติณสูลานนท์ หรืออานันท์ ปันยารชุน ถือว่าเป็นการตอกย้ำความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมระหว่างไทย-ญี่ปุ่นในช่วงนี้มากขึ้นไปอีก หากเทียบแล้วอาจเป็นคู่แต่งงานที่กลับข้างกันระหว่างอังศุมาลินและโกโบริ เป็นเขาทรายและยูมิโกะ โอตะ ทั้งคู่รู้จักและพบกันเพราะมวย ก่อนที่เขาทรายจะประกาศแขวนนวม และแต่งงานกันอย่างใหญ่โต แต่ความรักของพวกเขาก็สิ้นสุดลงด้วยการหย่าร้าง ด้วยเหตุผลว่าเข้ากันไม่ได้เองจากวัฒนธรรมและประเพณีที่ต่างกัน[9]

ภาพที่ 3 งานแต่งงานเขาทราย แกแล็คซี่และยูมิโกะ โอตะ
ที่มาภาพ ไทยรัฐ 

ความตายของโกโบริ และฆาตกรที่ชื่ออังศุมาลิน 

แม้ผู้เขียนพยายามจะทำให้เห็นว่า อังศุมาลินพยายามต่อสู้ภายในตัวเองระหว่างเหตุผลและหัวใจ

จะด้วยศักดิ์ศรีหรือความทรนงใดๆ ก็ตาม แต่สิ่งที่อังศุมาลินแสดงออกคือวาจาที่เชือดเฉือนและทำร้ายคนที่ตนเองรักหลายครั้งหลายครา แล้วต้องมาสำนึกเสียใจในภายหลังแทบจะตลอดเวลาจนน่ารำคาญ เห็นได้จากที่แม่อรเคยเตือนว่า “ข้อสำคัญคือ หนูไม่ควรพูดเสียงอย่างนั้น มันไม่น่ารักเลยนะจ๊ะ แม่ไม่ชอบ อย่ากระชั้นกระโชกให้เคืองหู หนูจะโกรธจะเคืองหรือจะไม่พอใจ ก็ควรจะเก็บไว้ในใจถึงจะถูก”[10] ความเกลียดชังอย่างออกนอกหน้า ยังปรากฏในบทสนทนาระหว่างเธอกับโกโบริอย่างเช่น “ถึงฉันจะแต่งงานกับคุณ ฉันก็จะเกลียดคุณ ถ้าฉัน…มีลูก ฉันจะสอนให้มันเกลียดคุณด้วย ฉันจะสอนให้มันรู้จักความเกลียดก่อนที่มันจะรู้จักความรักเสียอีก” [11]

จะเรียกว่าความสัมพันธ์แบบนี้คือ คือความสุขที่ได้เห็นคนที่ตนเองรักเจ็บปวดหรือเปล่าก็ไม่แน่นัก ยิ่งไปกว่านั้น ไม่เพียงแค่คำผรุสวาท แต่เป็นประโยคมุ่งร้ายแสดงนัยของการฆ่าและทำลายต่อพระเอกก็ปรากฏให้เห็นอยู่ไม่น้อย ประโยคแรกๆ ที่อังศุมาลินพูดกับแม่อรลับหลังโกโบริ ก็คือ “ถ้าหนูมีฤทธิ์ หนูจะเสกให้พวกนี้ตายไปต่อหน้าต่อตาให้หมดเลย” [12] หรือตอนที่ตาผลตาบัวจะมาดักทำร้ายโกโบริเนื่องจากแค้นที่ถูกลงโทษปางตาย อังศุมาลินก็รู้อยู่แก่ใจว่าทั้งสองเตรียมมีดมาฟัน ก็ไม่ตักเตือนโกโบริให้หนีไปหรือให้ระวังจากการโดนทำร้าย[13] หลังเหตุการณ์นั้นโกโบริเดาออกว่าเกิดอะไรขึ้น จึงกล่าวว่าไปว่า “ผมรู้แต่ว่าคุณเกลียดผม แต่ผมไม่คิดว่าคุณจะเกลียดผมมากจนถึงกับจะอยากให้ผมตาย”[14]

ภาพที่ 4 พาดหัวข่าวหน้า 1 ไทยรัฐ และโฆษณาทิชชูยี่ห้อหนึ่ง
ที่มาภาพ เพจ ภาพจากหนังสือเรื่องย่อละครไทย

ที่เลวร้ายไปกว่านั้น การตัดสินใจอย่างโหดเหี้ยมด้วยการพยายามฆ่าลูกตัวเองกับโกโบริด้วยการทิ้งตัวลงมาจากบันไดเพื่อหวังให้แท้ง เนื่องจากต้องการจะลงโทษโกโบริที่เธอเข้าใจผิดว่าเขาได้ทำอะไรกับวนัสที่ถูกจับเป็นเชลย เธอกล่าวว่า “ฉันเคยบอกคุณแล้วว่า หากวนัสเป็นอะไรไป ฉันจะชดใช้ให้เขา…คุณไม่มีวันหรอกที่จะได้สิ่งที่คุณต้องการ คุณควรจะรู้รสเสียบ้างว่า เวลาคนอื่นเสียลูกไปนั้นเขาจะรู้สึกยังไง ฉันจะชดใช้ให้เขาเดี๋ยวนี้”[15] ความหุนหันพลันแล่นดังกล่าวทำให้เธอต้องมาสำนึกเสียใจภายหลัง ด้วยการพูดกับตัวเองว่า “ลูก…เราเองที่ฆ่าแก…เราเอง”[16] ถือเป็นการกระทำกรรมที่ครบทั้งกาย วาจา ใจ เพียงแต่ว่าในครั้งนั้นโชคดีที่เธอไม่ได้แท้งลูก 

โกโบริเหมือนจะรู้ว่า สุดท้ายความตายคงจะเป็นทางออกที่ดีสุด โดยเฉพาะเมื่อคิดว่าในยามสงครามทหารอย่างเขาคงไม่มีชีวิตที่ยืนยาวนัก เขาเคยถามว่า “ถ้าผมตาย คุณจะร้องไห้ไหม?”[17] เขายังทิ้งคำพูดอันน่าน้อยใจไว้ว่า “อิสระของคุณขึ้นอยู่กับความตายของผม”[18] เขาเชื่อว่าถ้าเขาตายไปจะทำให้อังศุมาลินสามารถกลับไปหาคนรักได้ อาจหมายถึงว่า เขารู้ดีว่านั่นคือเหตุผลว่าทำไมฮิเดโกะของเขาถึงให้เขาตายนัก แต่โกโบริเข้าใจผิด เพราะความตายของเขาได้นำไปสู่การเปิดเผยตัวตนของอังศุมาลินที่ซ่อนอยู่

ฉากสารภาพของอังศุมาลินกับโกโบริที่กำลังหายใจรวยริน เป็นการแก้ตัวด้วยเหตุผลต่างๆ นานามาเพื่อชำระล้างบาปที่เคยทำ “ไม่ใช่ว่าฉันเพิ่งรู้ตัวนะคะว่ารักคุณ ฉันรู้มานานแล้ว แต่…ฉันรับสัญญาไว้กับคนคนหนึ่งว่าจะคอยเขา ฉันก็ต้องคอยค่ะ คุณเข้าใจไหมคะ บางครั้งการรักษาเกียรติศักดิ์และคำมั่นสัญญา ทำให้เราต้องเชือดหัวใจตัวเองเหมือนกัน”[19] “ถ้าฉันรู้อนาคต ถ้าฉันไม่รั้น ไม่เจ้าทิฐิ ฉันจะรักคุณเสียตั้งแต่วันนั้น เพื่อจะกอบโกยเวลาที่เราจะได้อยู่ใกล้กันไว้ให้มากที่สุด”[20] “ความทุกข์จากการได้รักไม่เท่าความทุกข์จากการพยายามไม่รัก”[21] ตัวบทนี้แหละที่ตอกย้ำว่า ตอนที่อังศุมาลินทำตัวเลวร้ายต่อโกโบรินั้น ก็เพราะว่าเธอมิอาจจะแสดงออกได้อย่างซื่อตรง

อังศุมาลินให้ค่ากับสงครามว่าเป็น “แสงสว่างและความอบอุ่นในหัวใจ”[22] ทั้งที่ในความเป็นจริงมันคือสภาพความเป็นอยู่อย่างยากลำบากของผู้คนทั้งหลาย จะเห็นว่ารอบตัวคนสำคัญในเรื่อง แทบไม่มีใครบาดเจ็บล้มตายจากสงครามเลย ไม่ว่าจะเป็นบ้านของอังศุมาลิน บ้านพ่อ บ้านกำนัน หากจะมีความสูญเสียเกิดขึ้น ก็เป็นสิ่งที่เกิดกับผู้คนบนท้องถนนที่เป็นใครก็ไม่รู้ ไร้ชื่อ ไร้นาม ก็อาจไม่แปลกนักที่เรื่องสงครามไม่ได้ถูกมองอย่างซีเรียส แต่จะไปพีกตรงที่ความตายของโกโบริ จุดนั้นได้กลายเป็นฉากที่ควรค่าแก่การสะเทือนใจของผู้อ่านและผู้ชม

ฉาบจบของคู่กรรม เวอร์ชั่นละครช่อง 7 เป็นตอนที่ถูกทำให้ยืดเยื้อ ความตายของโกโบริกลายเป็นความบันเทิงบนความโศกเศร้าของผู้ชม ว่ากันว่าเมื่อละครฉาย ท้องถนนในกรุงเทพฯที่ ขึ้นชื่อว่ารถติดหนักอันดับต้นๆ ของโลก กลับกลายเป็นถนนโล่ง ไม่ต่างอะไรกับตอนที่โทรทัศน์ถ่ายทอดสดเขาทราย แกแล็คซี่ขึ้นชกป้องกันแชมป์โลก ยุคนั้นเศรษฐกิจไทยกำลังเฟื่องฟู นโยบายเปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้าในช่วงเวลาใกล้เคียงกันก็ทำให้เห็นว่า ความตึงเครียดของสงครามเย็นในภูมิภาคค่อยๆ สลายไปเช่นกัน 

ความตายของโกโบริอาจเป็นการปิดฉากสงครามและความวุ่นวายแห่งยุคสมัยลงทั้งในทศวรรษ 2510 และทศวรรษ 2530 โดยที่ไม่มีใครรู้ว่าจะเกิดความเปลี่ยนทางการเมืองอันยิ่งใหญ่ขึ้น จากการลุกฮือของประชาชนทั้งในปี 2516 และปี 2535.

ภาพที่ 5 คู่สร้างคู่สม ปกคู่กรรม เดือนกรกฎาคม 2533
ที่มาภาพ เพจ ภาพจากหนังสือเรื่องย่อละครไทย

[1] sabuysabuyshop (นามแฝง). “สัมภาษณ์ทมยันตี คู่กรรม(2538)”. สืบค้นเมื่อ 20 กันยายน 2565 จาก https://www.youtube.com/watch?v=Iw_spokDWCc (19 กุมภาพันธ์ 2556)

[2] บริษัท ไทยนิชิมัตสุก่อสร้าง จำกัด. “ความเป็นมาของบริษัท”. สืบค้นเมื่อ 17 กันยายน 2564 จาก http://www.thainishimatsu.com/th/company_overview/company_history

[3] อัจฉราพร แสนอาทิตย์, “อุดมการณ์ชาตินิยมของนักศึกษาไทยกับการต่อต้านสินค้าญี่ปุ่นใน พ.ศ.2515”, วารสารญี่ปุ่นศึกษา (ตุลาคม 2556-มีนาคม 2557) : 109

[4] อ่านเรื่องของเขาได้ใน มรกต เจวจินดา, ภาพลักษณ์ปรีดี พนมยงค์กับการเมืองไทย พ.ศ.2475-2526 วิทยานิพนธ์อักษรศาสตรมหาบัณฑิต ภาควิชาประวัติศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2537, หน้า 74-135

[5] อ่านเพิ่มเติมได้ใน ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์, “พลวัตของการกลายเป็นท้องถิ่นของ “ความเป็นญี่ปุ่น” ในประเทศไทย ตั้งแต่ทศวรรษ 2520”,  ญี่ปุ่นศึกษา , 32 : 2 (ตุลาคม 2558-มีนาคม 2559) : 27-46

[6] “ประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การกู้เงินจากกองทุนความร่วมมือทางเศรษฐกิจโพ้นทะเลแห่งญี่ปุ่น สำหรับโครงการก่อสร้างทางหลวง 3 สายภายใต้เงินกู้รัฐบาลญี่ปุ่น ครั้งที่ 14”, ราชกิจจานุเบกษา, เล่ม 107 ตอนที่ 42, 15 มีนาคม 2533, หน้า 2133-2134

[7] “ประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การกู้เงินจากกองทุนความร่วมมือทางเศรษฐกิจโพ้นทะเลแห่งญี่ปุ่น สำหรับโครงการก่อสร้างทางสายกรุงเทพฯ-ชลบุรี สายใหม่”, ราชกิจจานุเบกษา, เล่ม 108 ตอนที่ 2, 3 มกราคม 2534, หน้า 148-149

[8] มูลนิธิโตโยต้าประเทศไทย. “ประวัติและความเป็นมา”. สืบค้นเมื่อ 22 กันยายน 2564 จาก https://www.toyota.co.th/ttf/about.php

[9] ไทยรัฐออนไลน์. “ย้อนรอยตำนานรัก(ร้าว) ยอดแชมป์โลก ‘เขาทราย แกแล็คซี่’”. สืบค้นเมื่อ 24 กันยายน 2564 จาก https://www.thairath.co.th/content/335405

[10] ทมยันตี, คู่กรรม 1 (พิมพ์ครั้งที่ 15, กรุงเทพฯ : ณ บ้านวรรณกรรม, 2551), หน้า 291

[11] ทมยันตี, คู่กรรม 2 (พิมพ์ครั้งที่ 15, กรุงเทพฯ : ณ บ้านวรรณกรรม, 2551), หน้า 521

[12] ทมยันตี, คู่กรรม 1, หน้า 119

[13] ทมยันตี, คู่กรรม 1, หน้า 201-208

[14] ทมยันตี, คู่กรรม 1, หน้า 220

[15] ทมยันตี, คู่กรรม 2, หน้า 860-861 

[16] ทมยันตี, คู่กรรม 2, หน้า 864 

[17] ทมยันตี, คู่กรรม 2, หน้า 720 

[18] ทมยันตี, คู่กรรม 2, หน้า 744 

[19] ทมยันตี, คู่กรรม 2, หน้า 972

[20] ทมยันตี, คู่กรรม 2, หน้า 967

[21] ทมยันตี, คู่กรรม 2, หน้า 970

[22] ทมยันตี, คู่กรรม 2, หน้า 988 

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save