fbpx

การประชุมสุดยอดเรื่องประชาธิปไตยในอเมริกา

ผมยังไม่ได้ไปร่วมประชุมสุดยอดว่าด้วยประชาธิปไตย (Summit for Democracy) ที่ทำเนียบขาวเพิ่งประกาศออกมาอาทิตย์ที่แล้ว ก่อนไปถึงเรื่องประชุมประชาธิปไตย ที่นายกฯ ไทยและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศแสดงความหงุดหงิดออกมาอย่างเห็นได้ชัด เพราะไม่ได้รับเชิญกับเขาด้วย อยากจะเล่าเรื่องการเดินทางไปสหรัฐฯ ในยุคโควิด-19 ก่อนว่ามีบรรยากาศอย่างไรบ้าง

ยุคใหม่ของการเดินทางมาถึง เมื่อเราสองคนพ่อแม่ตัดสินใจซื้อตั๋วเครื่องบินไปอเมริกา จุดหมายและเหตุผลให้เราตัดสินใจท่ามกลางสถานการณ์โควิดที่ยังไม่ราบรื่น ไม่ว่าที่ไหนทั้งนั้น คือการเดินทางไปเยี่ยมลูกสาว ซึ่งคนหนึ่งทำงานและอีกคนกำลังเรียนหนังสืออยู่ เนื่องจากเดาว่าถ้าไม่ทำตอนนี้ก็ไม่รู้ว่าวันข้างหน้าจะเป็นอย่างไร สถานการณ์อาจเลวร้ายกว่าตอนนี้อีก เลยตกลงตัดสินใจจองตั๋วสายการบินและเลือกกาตาร์แอร์เวย์เพราะเห็นปรับกิจการสู้โควิดมาอย่างอดทน เพราะทุนน้ำมันหนาเลยทนขาดทุนกำไรมาได้ เชื่อว่าคงไม่บอกยกเลิกตั๋วก่อนวันเดินทาง

เมื่อเปรียบเทียบกับการเตรียมเดินทางในอดีต คราวนี้มีเรื่องต้องทำเพิ่มมากขึ้นหลายอย่าง ที่ขาดไม่ได้เลยคือวัคซีนพาสปอร์ต ต้องไปทำที่กรมควบคุมโรคติดต่อ กระทรวงสาธารณสุข คาดไม่ถึงว่ามีคนมาเข้าแถวรอทำหนังสือเดินทางมากกว่าที่คิด แสดงว่าการเดินทางไปต่างประเทศเป็นกิจกรรมจำเป็นของคนสมัยโลกาภิวัตน์อย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ แม้จะมีโรคระบาดทั่วโลกก็ไม่อาจหยุดยั้งความต้องการนี้ได้ นี่เป็นผลพวงของระบบทุนนิยมที่ทำให้การเคลื่อนไหวของคนและสินค้าไม่อาจหยุดยั้งได้

เสร็จจากวัคซีนพาสปอร์ต ก็ต้องไปตรวจหาเชื้อโควิดที่โรงพยาบาลหรือห้องปฏิบัติการที่รับรองไม่เกิน 3 วันก่อนเดินทาง สองเอกสารนี้จำเป็นต้องใช้ในการตรวจของสายการบิน ถ้าไม่มีก็ไม่อาจขึ้นเครื่องได้ ตอนไปเช็กอินที่สนามบินสุวรรณภูมิ แม้คนไม่มากอย่างโกลาหลเหมือนก่อนนี้ แต่เวลาในการตรวจเอกสารและลงนามเอกสาร โดยเฉพาะคนที่จะบินไปเข้าสหรัฐฯ ต้องกรอกเอกสาร 4 หน้ายาวเหยียดของศูนย์ควบคุมโรคติดต่อ (CDC) ว่ามีการฉีดวัคซีนครบเรียบร้อยแล้วหรือยัง ถ้าไม่ฉีดก็ต้องแจ้งเขาไปด้วยอีกหลายหน้า

พอไปถึงสหรัฐฯ ด่านตรวจคนเข้าเมืองแรกที่เราผ่านคือฟิลาเดลเฟีย ไม่มีการถามและขอดูเอกสารเหล่านั้นเลย แสดงว่าเจ้าหน้าที่ฉลาดพอจะรู้ว่า ก็ให้พนักงานสายการบินทำงานนั้นให้แล้ว จะเสียเวลามาซักถามและขอดูอะไรให้เสียเวลาอีกเล่า ต้องบอกว่าเป็นครั้งแรกที่ผ่านการตรวจลงตราเข้าอเมริกาที่สะดวกสบาย ไร้ความเครียดและความวิตกกังวลที่สุดในประวัติของการเดินทางเข้าอเมริกา ซึ่งมีตำนานของความดุดันยาวนานเพราะคนรอมากเป็นหลายร้อยในแต่ละเที่ยว แต่คราวนี้ผมใช้เวลาไม่ถึงครึ่งชั่วโมงและผ่านเจ้าหน้าที่ ตม. สหรัฐฯ ด้วยมิตรภาพและความปลอดโปร่งโล่งใจ ตอบแค่จะกลับเมื่อไรเท่านั้น ไม่ถามด้วยว่ามาทำอะไร

ที่ไม่ค่อยเคยเห็นอีกอย่างคือจำนวนนักท่องเที่ยวหรือผู้โดยสารที่ลดลงไปอย่างมาก นี่เป็นอะไรที่นึกไม่ถึงเหมือนกัน ในหลายสิบปีที่ผ่านมา ผมเห็นแต่จำนวนของผู้เดินทางที่เพิ่มขึ้นอย่างทวีคูณในทุกเส้นทางการบินทั่วโลก เห็นหน้าตาผู้โดยสารที่แตกต่างหลากหลาย จนคิดว่าเครื่องบินโดยสารเป็นเหมือนรถเมล์ประจำทางในจังหวัดที่เชื่อมต่อหมู่บ้านกับเมือง มันเป็นโลกใหม่ที่ภิวัตน์ยิ่งกว่าที่ใครคิดถึงก่อนว่าจะเป็นอย่างไร ดังคำขวัญของสายการบินหนึ่งที่ประกาศว่า บัดนี้ใครๆ ก็บินได้ ใช่แล้ว โลกยุคใหม่จริงๆ ต้องเปิดให้ใครๆ ก็ได้ที่ต้องการสามารถทำได้ แต่ในทางปฏิบัติ ใครๆ ก็น่าจะรู้ว่า ในบางที่บางเวลา ไม่ใช่ใครๆ ก็ทำได้ มีแต่คนบางคนเท่านั้นที่ได้ทำและทำได้ เช่นการเป็นนายกรัฐมนตรีประเทศไทย

การมาถึงของเชื้อโควิด-19 จึงเป็นอะไรที่คนก็ไม่ได้คาดคิดเหมือนกันว่าจะมีพลานุภาพอันกว้างใหญ่ไพศาล ขนาดปิดประเทศได้ทั้งหมดทั่วโลกในเวลาเดียวกัน เพราะถ้าโลกยังอยู่ภายใต้อิทธิพลของระบบทุนนิยมโลก อย่างมากก็จะยอมให้ปิดประเทศบางแห่งบางเวลา ในสถานที่ภูมิศาสตร์ที่ไม่เหมือนกัน จะไม่ยอมให้ปิดประเทศ ไม่ให้คนออกจากบ้านไปทำงานในทุกประเทศทุกสถานที่และเวลาเดียวกันหมดอย่างที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้ได้เลย โดยไม่มีการประกาศ ทุนนิยมโลกกำลังเจอคู่ต่อสู้ใหม่ที่พอฟัดพอเหวี่ยงกับมันอย่างที่ไม่เคยเจอมาก่อน เป็นสงครามโลกที่มองไม่เห็นและไม่มีการประกาศ แต่คนทั้งโลกกำลังปั่นป่วนหงุดหงิดและไม่เข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้น

ขอเล่าอีกนิดเดียวถึงสภาพการณ์ของคนอเมริกันในสถานการณ์โควิด-19 ในมลรัฐที่ผู้ว่าการรัฐและรัฐสภาแห่งรัฐไม่ใช่พวกเอียงขวาสุดขั้ว แต่เป็นพรรคเดโมแครตและพวกเสรีนิยม การทำตามคำแนะนำของรัฐบาลกลางและสำนักงานควบคุมโรคก็เข้มแข็งเอาจริงเอาจัง ผู้คนตามถนน ในโรงละคร พิพิธภัณฑ์ รถไฟ ล้วนสวมหน้ากากตลอดเวลา ถ้าดูจากสภาพผู้คนบนถนนและตามร้านรวงก็ดูปกติและไม่เห็นปัญหาความขัดแย้งอะไรในเรื่องโควิดมากนัก แต่จริงๆ แล้วภายในชุมชนและเมืองต่างๆ ทั่วประเทศโดยเฉพาะทางแถบตะวันตกและใต้ที่เป็นฐานเสียงของพรรครีพับลิกันและกลุ่มประชาชนเอียงขวานิยมขาวสุดขั้วนั้น การประท้วงและเดินขบวนต่อต้านรัฐบาลกลางและพรรคเดโมแครตยังคึกคักและเสียงดังไม่หยุดหย่อน ที่สำคัญมาจากการปลุกระดมอย่างไม่ยอมแพ้ของ โดนัลด์ ทรัมป์ อดีตประธานาธิบดีผู้ลากให้การเมืองอเมริกันทำตัวเหมือนการเมืองในโลกที่สามไปได้อย่างไม่น่าเชื่อ ขนาดลงมือเตรียมการวางแผนอย่างดีในการทำรัฐประหาร แย่งอำนาจรัฐจากโจ ไบเดนในวันประกาศรับรองการเลือกตั้งในวันที่ 6 มกราคม แน่นอนเวทีที่สำคัญสำหรับฝ่ายค้านย่อมได้แก่เครื่องมือสื่อสารดิจิทัลทั้งหลายและสถานีโทรทัศน์ฟ็อกซ์นิวส์ ที่ปั่นข่าวและสร้างข่าวอย่างขะมักเขม้น

สภาพและบรรยากาศของการเมืองที่ไม่ยอมและออมชอมกันแบบนี้ ว่าไปแล้วเป็นการกระทำที่ ‘ไม่อเมริกัน’ (unamerican) อย่างยิ่ง ซึ่งศัพท์ ‘ไม่อเมริกัน’ นี้ในอดีตมีอีกความหมายคือเป็นการกระทำของคอมมิวนิสต์ที่เป็นศัตรูตัวสำคัญของอเมริกานับแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 มา แต่ในโลกยุคโลกาภิวัตน์ที่ระบบทุนนิยมโลกปรับเปลี่ยนตัวเองเหมือนไวรัสโควิดให้มีสายพันธุ์ใหม่ๆ ที่แพร่หลายเติบโตในทุกแห่งที่มีคนผู้ใช้แรงงานและการผลิตสินค้า จนดูเหมือนระบเศรษฐกิจทั้งหลายในประเทศต่างๆ ทั่วโลกไม่ต้องง้อและทำตัวเป็นลูกไล่ของระบอบการเมืองใดๆ ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลเสรีนิยมหรืออำนาจนิยมหรือไฮบริดทั้งสองระบบ มันก็ทำงานเอาตัวรอดได้ทั้งนั้น นี่เองเป็นเหตุให้นักการเมืองพรรครีพับลิกันตัดสินใจเลิกเป็นเสรีนิยมและเดินตามรอยมรดกของความเป็นประชาธิปไตยแบบอเมริกันที่ยึดหลักการตามรัฐธรรมนูญ มาสู่การเป็นนักการเมืองของกลุ่มพลังอนุรักษ์เชื้อชาติผิวขาวนิยม ทำลายหลักการของรัฐธรรมนูญที่มีจารีตแห่งความเป็นเสรีชนลงไป เพื่อการได้มาซึ่งอำนาจและรักษาอำนาจนั้นไว้กับพวกตนแต่ฝ่ายเดียว บรรยากาศทางการเมืองของสังคมอเมริกันขณะนี้จึงพูดได้ว่ากำลังถดถอยออกห่างจากความเป็นประชาธิปไตยเสรีอย่างน่าตกใจ

ท่ามกลางบรรยากาศที่ประชาธิปไตยถดถอยนี้เอง เมื่อทำเนียบขาวประกาศจะจัดการประชุมสุดยอดว่าด้วยประชาธิปไตย (Summit for Democracy) ในราววันที่ 10-11 ธันวาคมนี้ โดยจะเชิญประเทศต่างๆ ทั่วโลกมาร่วมประชุมด้วยนั้น ผู้สังเกตการณ์จึงอดจะกระทบกระเทียบรัฐบาลไม่ได้ว่าในที่ประชุมจะเอาอะไรไปแสดงและอวดแก่ชาวโลกที่เป็นประชาธิปไตย ยิ่งการเรียกร้องให้ประเทศทั้งหลายระดมกำลังในการสร้างและรักษาระบบประชาธิปไตยไว้ท่ามกลางสถานการณ์โลกที่ท้าทายและกระทั่งทำลายความเป็นประชาธิปไตย สหรัฐฯ จะไปเรียกร้องคนอื่นเขาได้อย่างไรในเมื่อการเมืองในบ้านเองก็ทวีการบั่นทอนและทำลายระบบประชาธิปไตยอยู่ทุกวัน

Freedom House ซึ่งจัดอันดับประเทศบนหลักการเสรีภาพและความเท่าเทียม ออกมาประกาศฐานะของประชาธิปไตยในสหรัฐฯ ว่าต่ำกว่าของชิลี คอสตาริกาและสโลวาเกีย โดยยกหลักฐานประกอบได้แก่การขีดเส้นแบ่งเขตเลือกตั้งแบบตามใจของฝ่ายคุมอำนาจรัฐอยู่ (gerrymandering) การใช้เงินมหาศาลในการเมือง และการกีดกันสิทธิการเลือกตั้งของคนผิวสี ลำพังการเปลี่ยนตัวประธานาธิบดีมาเป็นโจ ไบเดนไม่อาจทำให้สถานะดังกล่าวดีขึ้นได้ เอาเข้าจริงๆ แล้วหลังจากชัยชนะของไบเดน ที่พรรครีพับลิกันและทรัมป์ไม่ยอมรับ ยิ่งนำไปสู่การออกกฎหมายทำลายหลักการประชาธิปไตยในรัฐต่างๆ ที่ผู้ว่าการมลรัฐและรัฐสภามลรัฐอยู่ในมือเสียงข้างมากของรีพับลิกัน พวกนี้พากันออกกฏหมายระดับรัฐในการกีดกันและทำให้การเลือกตั้งเป็นเรื่องยากลำบากมากสำหรับคนผิวสี เปลี่ยนเจ้าหน้าที่ผู้กำกับการเลือกตั้งให้เป็นคนของรีพับลิกันเท่านั้น แม้สมาชิกเดโมแครตพยายามสู้ด้วยการฟ้องร้องต่อศาลสหพันธ์ แต่ปัจจุบันนี้แม้บรรดาผู้พิพากษาส่วนใหญ่ก็กลายเป็นรีพับลิกันไปหมดแล้ว ทำให้โอกาสในการระงับและยกเลิกกฎหมายที่ไม่เป็นประชาธิปไตยเหล่านี้เลือนรางกว่าแต่ก่อนมาก

ตอนที่ประธานาธิบดีไบเดนประกาศการประชุมสุดยอดประชาธิปไตยนี้ออกมาในเดือนสิงหาคม จุดหมายก็คือต้องการสถาปนาฐานะของอเมริกาในโลกอีกครั้งหลังจากโดนัลด์ ทรัมป์ทำลายจุดยืนเหล่านั้นลงไปหมดสิ้น ตอนนั้นอเมริกาย้ำแค่การปกป้องสิทธิมนุษยชนและการปฏิบัติประชาธิปไตย ไบเดนกล่าวว่า “ประชาธิปไตยไม่ได้เกิดขึ้นจากอุบัติเหตุ เราต้องปกป้องรักษามัน ต่อสู้เพื่อให้ได้มันมา สร้างความเข้มแข็งและสร้างชีวิตใหม่ให้มัน” หลังจากนั้นไม่นาน สภาผู้แทนราษฎรผ่านร่างกฎหมายเรียกว่า ‘เพื่อประชาชน’ เป็นกฎหมายที่ครอบคลุมการปฏิรูประบบประชาธิปไตยทั้งกระบวนการ ได้แก่ ขยายสิทธิในการเลือกตั้งให้มากขึ้น เปลี่ยนกฎหมายการใช้เงินในการหาเสียง กำจัดการขีดเส้นแบ่งเขตเลือกตั้งแบบพวกใครพวกมัน เพิ่มความมั่นคงในการเลือกตั้ง และพนักงานรัฐบาลกลางให้มีจริยธรรมในการทำหน้าที่ แต่กฎหมายเพื่อประชาชนของพรรคเดโมแครตก็ไปค้างเติ่งในวุฒิสภาที่พรรครีพับลิกันมีเสียงข้างมากในรัฐบาลก่อนและเสมอกันในรัฐบาลไบเดน หมายความว่าอนาคตของการปฏิรูปกฎหมายให้เป็นประชาธิปไตยในอเมริกาขณะนี้ก็ไม่คืบหน้า รวมความแล้วสถานะของประชาธิปไตยในอเมริกาก็กำลังมีปัญหาเหมือนกัน

ไม่มีใครรู้ว่าการประชุมสุดยอดประชาธิปไตยนี้จะบรรลุเป้าหมายอะไรสำหรับอเมริกาเอง ที่ปรึกษาทำเนียบขาวและกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ก็ไม่ออกมาแถลงชี้แจงอะไร ทั้งหมดดูคลุมเครือและไม่แน่นอนว่า มันเป็นวาระของใคร เพื่ออะไร แม้จะมีข้อมูลจำนวนหนี่งปรากฏในหน้าเว็บของกระทรวงการต่างประเทศ บอกให้รู้ว่าต้องการแสดงให้เห็นว่าประชาธิปไตยสามารถให้ในสิ่งที่มีผลกระทบมากต่อประชาชน ทำให้มีธรรมาภิบาลในการปกครอง ขยายโอกาสทางเศรษฐกิจ ปกป้องสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐาน และส่งเสริมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ รัฐบาลอเมริกันจะประกาศความผูกพันในเรื่องหล่านี้เช่น ส่งเสริมสื่อสารที่เสรีและเป็นธรรม ส่งเสริมการเป็นผู้นำของสตรีและคนชายขอบ แต่ประเด็นที่ยากคือนอกจากการพูดแล้ว ต้องมีมาตรการรูปธรรมที่นำไปปฏิบัติได้ ตรงนี้จะเรียกร้องประเทศต่างๆ ให้มาร่วมในการปฏิบัติเพื่อประชาธิปไตยได้มากน้อยเพียงไร ซึ่งทำให้ต้องมีการคัดเลือกบางประเทศออกไป เพราะเอาเข้ามาก็รู้ๆ อยู่ว่า เขาคงรับพันธะผูกพันในการสร้างประชาธิปไตยในประเทศของตนไม่ได้แน่ๆ เสียเวลาเชิญมา

การประชุมนี้คิดว่าคงได้ฟังวาทะและการวิพากษ์วิจารณ์ประเทศเจ้าภาพไม่มากก็น้อย จะเป็นการประชุมนานาชาติที่มีสีสันมากอันหนึ่งในยุคโควิดนี้

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save