“ถึงที่สุดแล้ว เมื่อเราพูดกันถึงนายปรีดี พนมยงค์ เราต้องมองให้ชัดเจนว่า บทบาทของนายปรีดีมีแค่ไหน บทบาทของนายปรีดียังเป็นปัจจุบันและอนาคตอยู่ ถ้าเป็นอดีตไปแล้ว คงไม่มีใครเกลียด ไม่มีใครกลัว...
“แต่นายปรีดี พนมยงค์ ยังไม่ได้เป็นอดีต นายปรีดียังเป็นทั้งปัจจุบันและอนาคต เพราะนายปรีดีพูดถึงสัจจะ พูดถึงความเป็นธรรมในสังคม พูดถึงประชาธิปไตย พูดถึงความเป็นกลาง พูดถึงความเป็นตัวของตัวเอง ซึ่งในเวลานี้เราไม่มีเลย และเราไม่เป็น เราถึงกลัว”
ทัศนะของนายสุลักษณ์ ศิวรักษ์ หรือที่รู้จักกันในนามปากกา ‘ส.ศิวรักษ์’ ต่อนายปรีดี พนมยงค์ ข้างต้นนี้นับว่าเป็นข้อสังเกตที่น่าฟัง ดังเราเห็นได้อยู่เป็นระยะว่ามีการเผยแพร่ข้อความหรือคลิปต่างๆ ในทำนองใส่ร้ายป้ายสีนายปรีดีให้มีมลทินมัวหมองอยู่เสมอ ทั้งๆ ที่นายปรีดีถึงแก่อสัญกรรมไปแล้ว 40 ปี (2 พฤษภาคม 2526-2566) แต่นายปรีดีก็ยังคงเป็น ‘ปีศาจ’ ที่กาลเวลาได้สร้างขึ้นมาหลอกหลอนคนที่ (อยาก) อยู่ในโลกเก่าตลอดมา
แต่ก่อนที่นายสุลักษณ์จะมายกย่องเชิดชูนายปรีดีเช่นทุกวันนี้ นายสุลักษณ์เคยเป็นทั้งคนที่เกลียดและกลัวนายปรีดีมาก่อน จนถึงขนาดได้รับเกียรติจากนายปรีดีมอบฉายา ‘สวะสังคม‘ ให้มาแล้ว โดยจุดพลิกผันเกิดขึ้นเมื่อปี 2523 ที่นายสุลักษณ์สามารถเขี่ยเส้นผมที่บังออกไปจนเห็นภูเขาได้ สำหรับรายละเอียดของเส้นทางจะเป็นอย่างไร บทความนี้จะลอกคราบ ส.ศิวรักษ์ ผ่านเรื่องเล่าจากเขาเอง

“เมื่อนายสุภา ศิริมานนท์ ไปพบท่าน (ปรีดี) ในเดือนเมษายนนั้น (2526) ข้าพเจ้าได้ขอรูปที่นายไสว สุทธิพิทักษ์ ถ่ายมาอย่างงาม ขอความกรุณาให้ท่านเซ็นมอบให้ ท่านได้มีแก่ใจเขียนมาให้ โดยบอกว่าไม่เคยเขียนให้ใครยาวถึงเพียงนี้ นับว่าเป็นที่จับใจข้าพเจ้ายิ่งนัก…เสียดายแต่ที่ข้าพเจ้าได้รับทราบความข้อนี้ ตลอดจนเอกสารต่างๆ และรูปที่ท่านเซ็นมาให้ เมื่อท่านล่วงลับไปเสียแล้วอย่างกะทันหัน” – ส.ศิวรักษ์
มิจฉาทิฐิ
แต่เล็กจนโต กว่าที่จะตาสว่างในวัยเกือบ 50 ปีนั้น สุลักษณ์มีมิจฉาทิฐิอย่างฉกรรจ์เกี่ยวกับปรีดีอยู่ 2 ข้อ คือเรื่องการสถาปนาระบอบประชาธิปไตย และเรื่องกรณีสวรรคต ซึ่งบดบังสัมมาทิฐิซึ่งเขายอมรับอยู่เสมอในเรื่องการเป็นผู้นำขบวนการเสรีไทยในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ดังที่สุลักษณ์เขียนไว้ว่า
“สัมมาทิฐิเกี่ยวกับท่านนั้น คือ การกอบกู้เอกราชของท่านในฐานผู้นำขบวนการเสรีไทย ซึ่งถึงอย่างไรข้าพเจ้าก็ให้คะแนนท่านเต็มอยู่ตลอดเวลา และรำลึกนึกถึงบุญคุณของท่านอยู่เสมอ แต่มิจฉาทิฐิสองข้อแรกทำให้เกิดอคติบดบังความเห็นผิดเป็นชอบในข้อสุดท้ายอันสำคัญยิ่งนี้เสียมิใช่น้อย”
มูลเหตุแห่งอคติ
สุลักษณ์ ศิวรักษ์ เกิดในครอบครัวชนชั้นกลางชาวไทยเชื้อสายจีน เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2475 (ตามปฏิทินเก่า) ในตระกูลซึ่งไม่สนใจงานภาครัฐ เท่ากับสนใจรักษาสถานะเดิมของบ้านเมืองไว้ ผู้หลักผู้ใหญ่ในตระกูลก็เคยได้รับพระมหากรุณาจากพระเจ้าแผ่นดินและเจ้านายหลายพระองค์ จนเป็นเหตุให้ชื่นชมพระบารมี มากกว่าที่จะเข้าใจความทุกข์ยากเดือดร้อนของอาณาราษฎรโดยทั่วไป ทั้งยังไม่เข้าใจถึงโครงสร้างอันอยุติธรรมของสังคม แม้ในยามที่ประสบปัญหาทางเศรษฐกิจแล้ว เช่นข้อความที่เขาเขียนว่า
“เมื่อถึงคราวที่เราเสื่อมลาภลง จนถึงกับแทบต้องล้มละลาย เราก็ไม่เคยโทษระบบเศรษฐกิจและการเมือง หากเห็นเป็นความอับโชควาสนาและความฉ้อฉล ตลอดจนความไร้สมรรถนะของชนชั้นนำในวงศ์สกุลของเรากันเองต่างหาก เมื่อเราเป็นเศรษฐีมีทรัพย์ เรามีของถวายเจ้านายอย่างไม่อั้น ครั้นเรายอบแยบลงไปขอพึ่งพระบารมี ก็ทรงเรียกดอกเบี้ยอย่างแรง หาไม่ก็ปฏิเสธการกู้ยืมไปเลย แต่เรากลับไม่เห็นเป็นการแปลกประหลาดที่ทรงประพฤติปฏิบัติกันเช่นนั้น”
แม้เฉลิม บิดาของสุลักษณ์ จะมีเพื่อนเป็นผู้ก่อการบางนาย เช่น ดิเรก ชัยนาม และซิม วีระไวทยะ เป็นต้น แต่บิดาของเขาก็รังเกียจ ‘พวกก่อการแจวเรือจ้าง’ บางคนอาศัยคณะราษฎรเข้าไปได้ดิบได้ดีทางการเมือง บางคนกอบโกยอย่างทุจริตก็มี นอกเหนือไปจากนี้แล้วลูกพี่ลูกน้องของบิดาเขายังถูกกล่าวหาว่าอยู่ในพวกกบฏบวรเดชอีกด้วย เหตุผลเช่นนี้ทำให้สุลักษณ์ในวัยเด็กไม่เห็นค่าของคณะราษฎรแต่ประการใด
ที่สำคัญคือไม่รู้สึกถึงความเปลี่ยนแปลงของระบอบรัฐธรรมนูญที่ต่างไปจากระบอบเดิม เช่นที่ว่า “ประชาธิปไตยที่ว่าย่อมไม่ใช่พาหะที่จะเกื้อหนุนชนชั้นกลางในเมืองกรุงอย่างพวกเราแต่ประการใด ถึงจะมีงานด้านเทศบาลเกิดขึ้นเป็นของใหม่ เราก็เห็นคนเก่าๆ อันมีชื่อเสียงมาแต่รัชกาลที่ 6 มาเป็นนายกเทศมนตรี และยังไม่เห็นว่าจะมีอะไรดีขึ้นได้ทันใจเรา”
สุลักษณ์เติบโตมาในบรรยากาศที่รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม เริ่มใช้อำนาจอย่างเผด็จการรังแกผู้เห็นต่างทางการเมือง และหวนนึกถึงระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์อันล่มสลายไปแล้วนับแต่เขาปฏิสนธิในครรภ์มารดานั่นเอง
“มีเสียงครหานินทากันหนาหูว่า ถ้าไม่มีนายปรีดี พนมยงค์ เสียแล้ว เราคงกินอยู่กันอย่างผาสุกในระบบเดิม ภายใต้การปกครองในระบอบราชาธิปไตย ถึงเจ้านายจะทรงไว้ซึ่งพระเดช ก็ทรงพระคุณ ถึงในหลวงจะอยู่เหนือราษฎร ก็บริสุทธิ์ยุติธรรม…อดเสียมิได้ที่จะสงสารเจ้านายและข้าราชการเก่าที่ถูกออกจากราชการ โดนอดเสียมิได้ที่จะหมั่นไส้ผู้มีบุญหนักศักดิ์ใหญ่สมัยใหม่ อันได้แก่พวกคณะราษฎรนั่นเอง”
ไม่เพียงแต่ครอบครัวเท่านั้น แม้ในวัดทองนพคุณ ซึ่งสร้างความตื่นรู้ทางปัญญาอย่างสำคัญให้กับเด็กชายสุลักษณ์ ก็ยังทำให้เขาซึมซับความเป็นอนุรักษนิยมยิ่งกว่าสมัยอยู่ที่บ้านเสียอีก เนื่องจากการบวชเณรอยู่กับพระภัทรมุนี (อิ๋น ภัทรมุนี) ผู้เป็นโหรมีชื่อ ทำให้เขาได้พบกับเจ้านายและข้าราชการชั้นสูงในระบอบเก่า จึงไม่แปลกที่เขาจะได้บรรยากาศแห่งศักดินานิยมและอนุรักษนิยมมาชนิดที่หาความดีนิยมชมชอบให้แก่ปรีดี พนมยงค์ ไม่ได้
ความคิดทางประชาธิปไตย
การไปเรียนที่อังกฤษในชั้นอุดมศึกษาก็มิได้ช่วยให้สุลักษณ์นิยมชมชอบระบอบประชาธิปไตยขึ้นมา ทั้งมหาวิทยาลัยและเนติบัณฑิตยสภาซึ่งเขาสำเร็จการศึกษามานั้น ล้วนอยู่ในรูปแบบศักดินาราชาธิปไตยยิ่งกว่าที่จะให้เข้าถึงสาระของประชาธิปไตย โดยเฉพาะอาจารย์ที่ปรึกษาของเขาถึงกับสั่งสอนลูกศิษย์ว่า
“ที่อังกฤษยิ่งใหญ่ได้เพราะพวกอภิชนปกครองต่างหาก เมื่ออังกฤษเป็นประชาธิปไตยยิ่งขึ้นเพียงใด อาณานิคมก็ทรุดเซลงเพียงนั้น ทั้งนี้เพราะอภิสิทธิ์ชน (aristocrats) เท่านั้นที่รู้จักให้ความยุติธรรม เพราะมีศักดิ์ศรีของคนชั้นสูง โดยได้รับการศึกษามาในเรื่องของความชอบธรรม”
ภายหลังเมื่อกลับมาทำงานที่เมืองไทยแล้ว สุลักษณ์ก็คบหาสมาคมกับเจ้านายและขุนนางในระบอบเก่า รวมถึงพวกที่เป็นอนุรักษนิยมแทบทั้งสิ้น กว่าที่สุลักษณ์จะคิดได้ ก็โดยประสบการณ์ตรงในชีวิตของตนเอง ดังที่เขาเล่าไว้ว่า
“ข้าพเจ้ามีความคิดทางด้านประชาธิปไตยที่พัฒนามาช้า…ประสบการณ์สอนให้ตัวเองมา หลังจากที่ได้ประสบพบเห็นราษฎรตาดำๆ เห็นความยากแค้นของเขา เห็นความสามารถของเขา ยิ่งรู้ซึ้งถึงวัฒนธรรมพื้นบ้าน นิทานพื้นบ้าน เข้าใจรูปแบบการปกครองของชาวบ้าน โดยโยงไปหาสมัยโบราณ โยงไปหาพุทธปรัชญาว่าด้วยธรรมาธิปไตย และเข้าใจถึงความสำคัญของที่ตัวแก่น จึงเห็นคุณค่าของประชาธิปไตยที่แท้จริงมากขึ้น โดยที่ได้เผชิญกับรสอันร้อนและเผ็ดมากับเผด็จการด้วยตนเอง…ยิ่งเห็นว่าการแก้ปัญหาของบ้านเมืองด้วยการแต่งตั้ง โดยเลือกอภิสิทธิ์ชนขึ้นมาบริหารงานแผ่นดิน โดยเชื่อความสามารถและความบริสุทธิ์ยุติธรรมของบุคคลนั้นเป็นไปไม่ได้เสียแล้ว”
เมื่อตระหนักได้ดังนี้แล้ว สุลักษณ์จึงเริ่มเห็นคุณค่าของปรีดีมากขึ้น เช่นที่เขียนไว้ว่า “ท่านเป็นคนแรกที่ปลุกให้ราษฎรตื่นขึ้นด้วยแถลงการณ์ฉบับแรกของคณะราษฎร ที่ประกาศก้องขึ้นในเช้าตรู่ของวันที่ 24 มิถุนายน 2475”
กรณีสวรรคต ร.8
สุลักษณ์เล่าว่า การที่อดีตผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์อย่างปรีดี มาเป็นนายกรัฐมนตรีภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ในปี 2489 นั้น “นี่เป็นครั้งแรกที่นายปรีดีเสียคะแนนนิยมจากคนอย่างเราๆ ที่เข้าใจบทบาทของนายปรีดีในการนำประเทศไทยให้หลุดพ้นจากความเป็นเมืองขึ้น พวกเราเห็นกันว่าท่านขึ้นไปสูงแล้ว ไม่น่าจะลดตนลงมาต่ำ และเมื่อท่านเป็นนายกรัฐมนตรี เราก็ไม่เห็นว่า ท่านทำได้ดีกว่าคนอื่น”
และเมื่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดสวรรคตอย่างเป็นปริศนาในสมัยที่ปรีดีเป็นนายกรัฐมนตรี ก็ทำให้ศัตรูทางการเมืองของปรีดีอาศัยโอกาสนี้โจมตีเขาอย่างเต็มที่ สุลักษณ์เขียนเอาไว้ว่า “พรรคประชาธิปัตย์ได้ใช้กรณีสวรรคตเป็นสื่อในการทำลายนายปรีดีโดยตรง”
เช่นเดิม แม้ในวัดทองนพคุณเอง ญาติโยมก็โจมตีปรีดีให้พระฟัง ดังประสบการณ์ตรงของสุลักษณ์ว่า “คุณหญิงคุณนายมาใส่ไคล้นายปรีดีว่า จงใจลอบปลงพระชนม์…เมื่อคนใหญ่คนโตพูดกับผู้ทรงศีลเช่นนี้ ข้าพเจ้าเป็นเด็ก ไปได้ยินมา จะไม่เชื่อกระไรได้ โดยที่เขาพวกนี้เป็นญาติของราชองครักษ์ที่ตายไปแล้วเสียด้วย”
ครั้นเจริญวัยศึกษาเล่าเรียนมากขึ้น ทั้งยังได้ไปเรียนกฎหมายที่อังกฤษ สุลักษณ์ก็เริ่มคิดได้มากขึ้น เป็นต้นว่า “ข้าพเจ้าหาเหตุผลมาอธิบายไม่ได้เสียแล้วว่า นายปรีดีมีจิตคิดประทุษร้ายองค์พระมหากษัตริย์” แม้กระนั้น ก็ยังปักใจในมิจฉาทิฐิต่อปรีดีเรื่อยมา มีหมุดหมายที่แสดงความเป็นศัตรูอย่างสำคัญ เช่น การเขียนวิจารณ์หนังสือ ‘The Devil’s Discus’ ใน สังคมศาสตร์ปริทัศน์ เมื่อ พ.ศ.2507 และการเขียนวิจารณ์บทความของปรีดีเรื่อง ‘บางเรื่องเกี่ยวกับพระบรมวงศานุวงศ์ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2’ เมื่อ พ.ศ.2515
การวิจารณ์คราวแรกนั้น ทำให้ดิเรก ชัยนาม ผู้ใหญ่ที่สุลักษณ์นับถือ เขียนจดหมายมาทักท้วงให้สติอย่างสุภาพฉันใด การวิจารณ์ครั้งหลัง ก็ทำให้ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ผู้ใหญ่ที่ไม่กะล่อน ต้องพูดเตือนสติเขาฉันนั้น ป๋วยพูดกับสุลักษณ์ว่า “สำหรับผม อาจารย์ปรีดีเป็นผู้บริสุทธิ์ในกรณีสวรรคต แต่สำหรับคุณสุลักษณ์จะเชื่ออย่างไรก็ได้ นั่นเป็นสิทธิ์ของคุณ แม้เราจะเห็นต่างกัน เราก็เป็นเพื่อนกันได้ ที่จริงคุณกับผมยังมีความเห็นต่างกันอีกมาก เป็นแต่เรามักไม่ได้จาระไนข้อแตกต่างของเราสู่กันเท่านั้น”
ในสมัยต่อมา เมื่อทั้งป๋วยและสุลักษณ์ต้องลี้ภัยการเมืองภายหลัง 6 ตุลาคม 2519 ไปพำนักในอังกฤษแล้ว ป๋วยเคยชวนสุลักษณ์ไปพบปรีดีที่ปารีสด้วย แต่สุลักษณ์ปฏิเสธ เพราะ “ข้าพเจ้าเป็นคนเจ้าทิฐิ หายอมไปไม่ และลึกๆ ลงไปก็กลัวนายปรีดีไล่ออกจากบ้านด้วย แม้จะมีคนเคยบอกมาก่อนหน้านี้แล้วว่า ถ้าไปหาท่าน ท่านจะดีด้วยอย่างแน่นอน”
เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ทำให้สุลักษณ์เริ่มคิดได้มากขึ้น ดังที่เขาแสดงความรู้สึกออกมาว่า “ถ้าข้าพเจ้าเองไม่เผชิญมากับตัวเอง ที่ต้องพลัดที่นาคาที่อยู่ ที่หนังสือถูกเผาเป็นเรือนแสน ที่ภรรยาเกือบถูกเอาเข้าคุกตะรางและชื่อเสียงเกียรติคุณต้องมัวหมอง ข้าพเจ้าจะเข้าใจนายปรีดีและท่านผู้หญิงพูนศุขได้หรือไม่ สงสัยอยู่”
ตั้งแต่ พ.ศ.2521 เป็นต้นมา สุลักษณ์เริ่มเปิดใจอ่านเอกสารต่างๆ ของปรีดีมากขึ้น จนอคติที่มีนั้นค่อยๆ ปลาสนาการไป ถึงที่สุดเมื่อปรีดีอายุครบ 80 ปี (พ.ศ.2523) ได้จัดพิมพ์หนังสือ ‘คำตัดสินใหม่ กรณีสวรรคต ร.8’ เผยแพร่ หลังสุลักษณ์ได้อ่านเล่มนี้ชนิดรวดเดียวจบ ตนเองก็ยอมศิโรราบรับผิดว่าที่ผ่านมานั้นตนเข้าใจผิดไปแล้ว จึงได้เขียนขอขมาโทษส่งไปหาปรีดีโดยไม่ชักช้า
นอกจากป๋วย อึ๊งภากรณ์แล้ว สุภา ศิริมานนท์ และกรุณา กุศลาสัย ก็เป็นกัลยาณมิตรคนสำคัญที่พยายามเชื่อมให้สุลักษณ์เข้าใจปรีดีอย่างถูกต้อง สุลักษณ์กล่าวถึงบุคคลเหล่านี้ไว้ว่า “ท่านเหล่านี้มีบุญคุณ เพราะท่านไม่เคยยัดเยียดให้ข้าพเจ้าเปลี่ยนทัศนคติและไม่เคยลบหลู่ดูถูกความคิดความอ่านของข้าพเจ้า บางท่านเพียงพูดว่า ข้าพเจ้าเป็นคนมีสติปัญญา แต่บางทีบางอย่างอาจบดบังอยู่ก็ได้ ดังที่เขาเรียกกันว่า เส้นผมบังภูเขา เมื่อเขี่ยผมเสียแล้ว ย่อมเห็นภูเขาได้เอง”
ต่อมาในวันที่ 21-22 สิงหาคม 2525 สุลักษณ์มีโอกาสไปพบปรีดีที่บ้านอองโตนี เพื่อปรับความเข้าใจ และสนทนากันถึงเรื่องโครงการ ‘ปรีดี พนมยงค์ กับสังคมไทย’ อีกด้วย น่าเสียดายที่หลังจากนั้นไม่ถึงปี ปรีดีก็ถึงแก่อสัญกรรมบนโต๊ะทำงานในบ้านอองโตนี เพียงไม่กี่วันก่อนมีอายุครบ 84 ปี

จากหน้ามือเป็นหลังมือ
สุลักษณ์สรุปเรื่องการเปลี่ยนทัศนคติต่อปรีดี พนมยงค์ ไว้ว่า “ข้าพเจ้าเอง แม้จะมีทัศนคติเกี่ยวกับบุคคลนั้นๆ อย่างเปลี่ยนแปลงไปตามกาล แต่ก็ไม่เคยถึงขนาดเปลี่ยนอย่างขั้นพื้นฐาน ดังกรณีที่เกี่ยวกับนายปรีดี พนมยงค์ ซึ่งเกือบจะเรียกได้ว่าเป็นการเปลี่ยนทัศนคติจากหน้ามือเป็นหลังมือ หรือจากของที่คว่ำเป็นหงาย โดยการเปลี่ยนความเห็นเช่นนี้ใช่ว่าจะทำได้ง่าย”
ถึงที่สุดแล้วหนังสือ ‘เรื่องนายปรีดี พนมยงค์ ตามทัศนะ ส. ศิวรักษ์’ จึงเป็นเสมือนหนังสือสารภาพบาปที่ ‘ปัญญาชนสยาม’ ผู้นี้เคยกระทำต่อ ‘รัฐบุรุษอาวุโส’ ผู้นั้น ดังที่สุลักษณ์เขียนว่า “เป็นภาระหน้าที่ของข้าพเจ้าในอันที่จะต้องเผยแผ่ข้อเท็จจริง ถึงทัศนคติของตนเองที่มีเกี่ยวกับท่าน ตั้งแต่เริ่มรับอิทธิพลทางด้านลบจนกลายมาเป็นบวก ตลอดจนการแหวกว่ายออกจากกระแสธารแห่งความมืดบอด มาสู่แสงสว่างทางปัญญา ทั้งนี้เพื่อประกอบการพิจารณาของสาธุชน”
หรืออีกนัยหนึ่ง เมื่อสุลักษณ์เขี่ยเส้นผมที่บังภูเขาออกไปแล้ว จึงเข้าใจความจริงมากขึ้น และพยายามเผยแพร่เรื่องเหล่านี้โดยใช้เรื่องเล่าของตนเองเป็นบทเรียนนั่งเอง
“บัดนี้ข้าพเจ้าเห็นแล้วว่า นายปรีดี พนมยงค์ เป็นขุนเขาอันยิ่งใหญ่ ที่แม้หมู่มารเอาเส้นผมและขวากหนามมาปิดกั้น ก็หาทำได้ตลอดไปไม่ ข้าพเจ้าถือเป็นภาระหน้าที่ที่จะต้องสนองคุณท่าน ด้วยการประกาศสัจจะให้แพร่หลายออกไปให้เป็นที่รับทราบกันในวงกว้างให้จงได้”

บรรณานุกรม
ส. ศิวรักษ์. เรื่องนายปรีดี พนมยงค์ ตามทัศนะ ส. ศิวรักษ์. พิมพ์ครั้งที่ 7. กรุงเทพฯ : สืบสาส์น, 2564.