fbpx
ฆ่าตัวตาย: ปัญหาส่วนรวม ความรับผิดชอบของรัฐบาล

ฆ่าตัวตาย: ปัญหาส่วนรวม ความรับผิดชอบของรัฐบาล

นิติ ภวัครพันธุ์ เรื่อง

กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ

 

ตั้งแต่หลังปีใหม่เป็นต้นมา มีข่าวใหญ่ที่น่าตื่นตระหนกอย่างน้อย 2 เรื่อง คือเรื่องฝุ่นละอองในอากาศที่มีขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน (PM2.5) และการปรากฏของไวรัสโคโรนา ซึ่งแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วในประเทศจีน แล้วลุกลาม-กระจายไปสู่ประเทศอื่น รวมถึงประเทศไทยด้วย ผมคิดว่าทั้งสองเรื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องไวรัสโคโรนา ยังมีข้อมูลและรายละเอียดต่างๆ ที่เรายังไม่ทราบมากนักในขณะนี้[1] ทว่า ในอนาคตอันใกล้เราคงค้นพบมากขึ้น ช่วยให้เราทำความเข้าใจได้มากขึ้น และมีประเด็นที่น่าสนใจหรือสำคัญที่จะกล่าวถึงได้อีก

เรื่องที่ผมอยากจะเขียนในวันนี้คือเรื่องการฆ่าตัวตายที่เกิดขึ้นในสังคมไทย ซึ่งตั้งแต่ปีที่แล้ว ได้กลายเป็นหนึ่งในข่าวใหญ่ที่สื่อต่างๆ นำเสนอ เพราะดูเหมือนว่าจำนวนคนไทยที่ฆ่าตัวตาย หรือพยายามฆ่าตัวเอง ได้เพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ แต่ผมไม่เห็นว่ามีความพยายามใดๆ จากภาครัฐที่จะแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจังเลย

สำหรับผม การฆ่าตัวตาย (หรือความพยายามในการฆ่าตัวตาย) เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องศึกษา ทำความเข้าใจ เพื่อวางแผนหรือหาแนวทางป้องกัน และต้องพยายามที่จะลดจำนวนการฆ่าตัวตายให้ลดน้อยลง ทั้งนี้ เพราะการฆ่าตัวตายส่งผลกระทบต่างๆ ทั้งในทางสังคม (นับตั้งแต่คนในครอบครัวของผู้ที่ฆ่าตัวตาย ญาติคนอื่นๆ มิตรสหาย รวมไปถึงชุมชนที่กว้างกว่า) เศรษฐกิจ (ด้วยเหตุผลที่ว่ามนุษย์เป็น “ทรัพยากร” ที่มีคุณค่าประเภทหนึ่ง ยิ่งหากเราเห็นด้วยกับข้อเสนอเรื่อง “ทุนมนุษย์” (human capital) ว่ามีศักยภาพสูง และสัมพันธ์กับการพัฒนาด้านเศรษฐกิจแล้ว ก็จะเห็นว่าการฆ่าตัวตายเป็นการสูญเสียด้านทรัพยากรที่มีคุณค่า จึงไม่ควรให้เกิดขึ้น) ทางการเมือง ไปจนถึงการบริหารจัดการ (ที่ระบุถึงความสำคัญของประชากร)

ไม่ว่าจากมุมมองของใครหรืออะไรก็ตาม การฆ่าตัวตายเป็นเรื่องที่ไม่พึงประสงค์

ผมมีเหตุผลที่ทำให้สนใจเรื่องการฆ่าตัวตาย ทั้งในแง่ส่วนตัวและด้านวิชาการที่ได้กลายเป็นวิชาชีพ ใช้เลี้ยงชีพมานานนับปี โดยส่วนตัว ผมมีประสบการณ์กับคนที่พยายามฆ่าตัวตาย แล้วมาบรรลุผลในภายหลัง (จะกล่าวถึงประเด็นนี้อีกครั้งข้างหน้า) เป็นเพื่อนสมัยเรียนมหาวิทยาลัยสองคน ผู้หญิงทั้งคู่ คนหนึ่ง ครั้งแรกที่เธอพยายามฆ่าตัวตายนั้นล้มเหลว ญาติพี่น้องมาพบเข้าเสียก่อน (ไม่แน่ใจว่าญาติส่งตัวเธอไปโรงพยาบาลเพื่อรักษาหรือตรวจดูอาการหรือไม่) หลังจากนั้นอีกนานเพียงใดผมไม่แน่ใจนัก เธอก็พยายามอีกครั้ง คราวนี้สำเร็จ ได้ยินว่าเธอเอาแก๊สเข้าไปรมตัวเองในตู้ใส่เสื้อผ้าเล็กๆ ในห้องนอน เพื่อนผมคนหนึ่งอธิบายว่าแค่เอามือผลักประตูตู้เสื้อผ้าออกมา เธอก็รอดแล้ว แต่ดูเหมือนเธอจะแน่วแน่ในการฆ่าตัวตาย กว่าญาติพี่น้องจะค้นพบว่าเธอนั่งอยู่ในตู้เสื้อผ้าที่มีกลิ่นเหม็นอบอวลของแก๊สหุงต้ม เธอก็จากโลกนี้ไปแล้ว

ส่วนเพื่อนหญิงอีกคนใช้มีดกรีดเส้นเลือดที่ข้อมือตนเอง มีเรื่องเล่าว่าก่อนหน้านั้นเธอพยายามที่จะฆ่าตัวตาย แต่ก็ไม่สำเร็จ ผมไม่แน่ใจว่าเธอพยายามกี่ครั้งจึงทำสิ่งที่ตนประสงค์สำเร็จ ทั้งสองคนเป็นประสบการณ์โดยตรงของผมกับการฆ่าตัวตาย แม้ผมจะไม่ได้สนิทสนมมากนักกับเธอทั้งสอง แต่ก็รู้จักมักคุ้นกันดีพอ ถึงขั้นหยอกล้อเล่นหัวกันได้

นอกจากนี้ ประสบการณ์กับการฆ่าตัวตายที่อาจไม่ใช่โดยตรง แต่ก็มิได้ไกลจากตัวผมมากนักดูจะมีอย่างน้อย 2 ประเภท คือเรื่องราวที่ผมรับรู้จากเพื่อนร่วมงานในมหาวิทยาลัยที่ผมเคยทำงาน เรื่องราวของหนุ่มสาว ซึ่งเรียนในสถาบันแห่งนั้น พยายามฆ่าตัวตายและบางคนก็บรรลุผล สำเร็จตามความตั้งใจ ผมไม่รู้จักผู้ตายเป็นการส่วนตัว แต่ก็รู้สึกเหมือนเราอยู่ในชุมชนเดียวกัน สัมผัสได้ถึงความเศร้าโศกของพ่อแม่ ญาติพี่น้อง และมิตรสหายที่รักใคร่ชอบพอกับผู้ตาย กระทั่งอาจารย์ที่สนิทสนมกับคนที่จากไป

เรื่องราวอีกประเภทหนึ่งมาจากการรับรู้ตั้งแต่ผมยังเรียนในระดับปริญญาตรี การออกฝึกฝนทำวิจัยที่เรียกกันว่า “งานภาคสนาม” เป็นเรื่องที่ท้าทายและน่าตื่นเต้น สำหรับผม การได้พูดคุย ได้สารพัดข้อมูลจากชาวบ้านร้านตลาดเป็นเสมือนการค้นพบแหล่งความรู้อันมหาศาล เป็นการรับรู้ การฟังเรื่องเล่าต่างๆ ที่ช่วยให้หูตาสว่าง ความเขลาลดน้อยลง หนึ่งในเรื่องเล่าที่ผมมักได้ยินคือเรื่องชาวนาฆ่าตัวตาย และบ่อยครั้ง สาเหตุหลักซึ่งนำไปสู่การจบชีวิตตัวเองคือการเป็นหนี้สิน ที่อาจเกิดขึ้นจากเงื่อนไขทางเศรษฐกิจ เช่น ผลผลิตการเกษตรราคาต่ำ ลงทุนสูงแต่รายได้น้อย ขาดทุนจากการทำเกษตรกรรม ฯลฯ

การฆ่าตัวตายจึงดูใกล้ชิดและเกี่ยวข้องกับผมมากกว่าที่ผมตระหนัก ที่ผ่านมาผมมิได้ให้ความสนใจกับเรื่องนี้เท่าที่ควร – คงถึงเวลาที่ผมจะต้องคิดและทำความเข้าใจกับเรื่องนี้แล้ว

เท่าที่ทราบ การฆ่าตัวตายเป็นเรื่องไม่พึงปรารถนาในหลายศาสนา เช่น ศาสนายิว (judaism) ระบุว่าการฆ่าตัวตายเป็นบาปอันหนักหนาสาหัส ในพระคัมภีร์กุรอานก็มีข้อห้ามคนมุสลิมฆ่าตัวตาย คริสต์ศาสนานิกายแคทอลิกไม่อนุญาตให้เกิดการฆ่าตัวตายเช่นกัน แม้แต่ในศาสนาฮินดูก็มีการตีความว่าการฆ่าตัวตายเป็นบาป

ในทางวิชาการที่ผมร่ำเรียนมา ปรมาจารย์ผู้โด่งดังกับข้อเสนอเรื่องการฆ่าตัวตายคงไม่มีใครเกิน เอมิล เดอร์ไคม์ (Émile Durkheim) นักสังคมวิทยาฝรั่งเศสที่นักเรียนสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาต้องรู้จัก (เพราะถูกอาจารย์บังคับให้อ่านงานเขียน) ผมจะขอละเว้น ไม่กล่าวถึงแนวคิดของปรมาจารย์ผู้นี้ในเรื่องการฆ่าตัวตาย (suicide)[2] แต่ผมอยากจะพาดพิงถึงเรื่อง “สำนึกร่วม”[3] (collective consciousness) ตามความคิดของเดอร์ไคม์ ว่าหมายถึงชุดความเชื่อ ความคิดเห็น ทัศนคติเชิงศีลธรรม ที่ผู้คนในสังคมเดียวกันมีร่วมกัน ดังนั้น หากศาสนา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสำนึกร่วม ประกาศห้ามการฆ่าตัวตาย พร่ำสอนเราว่าเป็นบาป เป็นสิ่งที่ผิด เราก็คงตีความได้ว่าการฆ่าตัวตายมีความสำคัญอย่างยิ่งยวดจน

ประการแรก สำนึกร่วมของสังคม (ผ่านศาสนา) ต้องประกาศห้าม ระบุว่าเป็นความผิด และประการที่สอง เมื่อเป็นสำนึกร่วม การฆ่าตัวตายจึงเป็นเรื่องของ “ส่วนรวม” ของทุกคนที่อยู่ร่วมกัน ไม่ใช่แค่เรื่องของปัจเจกบุคคลหรือแค่ครอบครัว ญาติพี่น้อง

ดังนั้น จะเที่ยวบอกว่าการฆ่าตัวตายเป็นเรื่องของปัจเจกบุคคลเท่านั้นไม่ได้ ตรงกันข้าม เป็นเรื่องที่สังคม ในแง่ที่มีสำนึกร่วม(เดียวกัน) จะต้องให้ความสนใจและเข้าไปเกี่ยวข้อง หรืออาจต้องเข้าแทรกแซงด้วย (ผมจะอภิปรายประเด็นนี้เพิ่มเติมข้างหน้า)

ทอม วิดเกอร์ นักมานุษยวิทยาอังกฤษ ทำวิจัยเกี่ยวกับการฆ่าตัวตายในประเทศศรีลังกา เขาคิดว่าการฆ่าตัวตายเป็นเรื่องสำคัญที่ยังไม่สามารถหาข้อสรุปเกี่ยวกับสาเหตุที่แท้จริงได้ อีกทั้งยังเป็นเรื่องที่น่าห่วงใย น่าตระหนกมากทีเดียว เมื่อพิจารณาถึงสถิติขององค์การอนามัยโลก (WHO) ที่เปิดเผยในปี 2012 ว่ามีผู้คนทั่วโลกเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายเกือบหนึ่งล้านคน และภายในปี 2020 อาจเพิ่มขึ้นถึง 1.53 ล้านคนต่อปี

เฉพาะในศรีลังกา ช่วงเวลาสิบปีระหว่างปี 1983 ถึง 1993 จำนวนคนที่พยายามฆ่าตัวตายและฆ่าตัวตายสำเร็จสูงถึงเก้าหมื่นคน นำไปสู่การขนานนามว่าเป็นฆ่าตัวตายระบาด (suicide epidemic) วิดเกอร์ศึกษาชุมชนในระดับหมู่บ้านสองแห่งเพื่อทำการเปรียบเทียบกัน เขาสนใจ (และสงสัย) ว่าทำไมคนจึงทำร้ายตัวเอง ทำให้วัตถุประสงค์ในการศึกษาของเขามุ่งที่ประเด็นที่เขาเรียกว่า “การทำร้ายตัวเอง” (self-harm) ซึ่งอาจทำให้บาดเจ็บแต่ไม่ถึงกับเสียชีวิต และ “การลงโทษตัวเองถึงตาย” (Self-inflicted death) ที่มีนัยของการฆ่าตัวตายนั่นเอง เขาไม่เห็นด้วยกับแนวคิดเรื่องการฆ่าตัวตายของนักวิชาการรุ่นก่อนๆ และคิดว่าการฆ่าตัวตายเป็นเรื่องที่ซับซ้อนและมีเหตุผลที่แฝงอยู่ในหลายระดับ เช่น สัมพันธ์กับเรื่องเพศภาวะ (Gender) (เขาอ้างอิงถึงการศึกษาอีกชิ้นหนึ่ง) อายุ เป็นต้น

งานเขียนและการศึกษาของวิดเกอร์มีเรื่องที่น่าสนใจหลายประการ แต่ผมจะขอกล่าวถึงประเด็นสำคัญบางประการเท่านั้น ประการแรก เขาเสนอว่าวัยรุ่นและหนุ่มสาวมีแนวโน้มที่จะทำร้ายตัวเองหรือพยายามฆ่าตัวตายสูงกว่าคนกลุ่มอื่น

ประการที่สอง เขาแยกการทำร้ายตัวเองออกจากการฆ่าตัวตายเนื่องจากเห็นว่าการกระทำเหล่านี้มีกระบวนการ ซึ่งเริ่มจากสาเหตุ อันนำไปสู่การทำร้ายตัวเองหรือการฆ่าตัวตาย และผลกระทบที่เกิดจากการกระทำ (เขาสนใจในประการหลัง เพราะเห็นว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นทำให้เราเข้าใจเรื่องการทำร้ายตัวเองและฆ่าตัวตายมากขึ้น)

ประการที่สาม ด้วยเหตุนี้ เขาจึงเห็นว่าการฆ่าตัวตายมิได้เกิดขึ้นจากสาเหตุที่เกี่ยวข้องกับความเปลี่ยนแปลงทางสังคม เช่น โลกาภิวัตน์ และเงื่อนไขอื่นๆ ซึ่งนำไปสู่ความรู้สึกสับสน แปลกแยกของปัจเจกบุคคล หรือเป็นความผิดปกติทางสังคม เช่นที่ปรมาจารย์หลายคนได้เสนอไว้แต่อย่างใด โดยเขาพาดพิงถึงเรื่องเล่าในงานเขียนของโบรนิสลอร์ มาลิเนาสกี้ (Bronisław Malinowski) เกี่ยวกับชายหนุ่มผู้หนึ่งที่ฆ่าตัวตายด้วยการกระโดดจากต้นมะพร้าวที่สูงราว 60 ฟุต โดยคำอธิบายหรือเหตุผลที่ชาวบ้านคนอื่นร่ำลือกันก็คือ หนุ่มผู้ตายอกหัก หลงรักสาวผู้งดงามแต่เธอไม่มีเยื่อใย

วิดเกอร์อธิบายว่าเราอาจตีความการฆ่าตัวตายได้ 2 ระดับ ในระดับย่อยหรือในสังคมเล็กๆ การฆ่าตัวตายไม่ได้มีสาเหตุมาจากการที่ปัจเจกบุคคลเกิดความขัดแย้งกับบูรณาการทางสังคม (social integration) หรือกฏเกณฑ์เชิงศีลธรรม (moral regulation) ตรงกันข้าม นี่คือการประท้วง (protest) ของปัจเจกบุคคลต่อสังคม หรือหากตีความตามแนวคิดหน้าที่นิยม (functionalism) การพยายามฆ่าตัวตายมี “หน้าที่” บางประการภายใต้ขอบเขตที่สถาบันทางสังคมกำหนดไว้ – เป็นการประท้วงของปัจเจกบุคคล แสดงให้เห็นถึงความไม่พอใจหรือขัดเคือง แต่มีนัยทางสังคมที่บ่งบอกถึงความตึงเครียดทางสังคม (social tension) ที่นำไปสู่การพยายามฆ่าตัวตายของปัจเจกบุคคล ผลกระทบหรือผลลัพธ์ที่ตามมาคือคนอื่นในสังคมจะต้องหันหน้าเข้าหากัน เจรจา ตกลงกันว่าจะอยู่กันต่อไปอย่างไร หลังจากที่การพยายามฆ่าตัวตายได้ส่งผลกระทบต่อทุกคนแล้ว[4]

ข้อเสนอของวิดเกอร์อาจไม่ถูกต้องทั้งหมด แต่ผมคิดว่าน่าสนใจ และอาจช่วยให้เราตีความ-วิเคราะห์การฆ่าตัวตายในบางประเด็นได้ และทำให้ผมหวนกลับไปคิดทบทวนในเรื่องการกระทำของเพื่อนเก่าทั้งสองของผม และของนักศึกษาวัยหนุ่มสาวในมหาวิทยาลัยที่ผมได้ยิน ซึ่งอาจมีนัยที่จะประท้วง แสดงความไม่พอใจ ความอึดอัดใจ หรือแม้แต่ความโกรธเกรี้ยวของปัจเจกบุคคลเหล่านี้ต่อความไม่ชอบมาพากลหรือความไม่สมประกอบของสังคมก็ได้ อาจมิได้เกี่ยวข้องกับประเด็นเรื่องการเปลี่ยนแปลงที่นำไปสู่ความสับสน วุ่นวาย หรือความแปลกแยก หรือเรื่องสภาวะด้านจิตใจก็ได้

มีกรณีที่น่าสนใจ – และน่าตกใจ – อย่างยิ่งเกี่ยวกับการฆ่าตัวตาย ผู้เชี่ยวชาญในด้านนี้หลายคนระบุว่าชนพื้นเมืองอินูอิ (Inuit) ในประเทศแคนาดามีอัตราการฆ่าตัวตายที่สูงที่สุดในโลก นอกจากนี้ ในสังคมอินูอิกลุ่มคนที่มีสถิติฆ่าตัวตายสูงที่สุดคือกลุ่มวัยรุ่นหนุ่มสาว ซึ่งประมาณกันว่า มีอัตราของผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงฆ่าตัวตายหรือพยายามฆ่าถึง 24.3 รายต่อจำนวนประชากร 100,000 คน/ปี สูงเป็นสามเท่าของกลุ่มเสี่ยงฯ ที่ไม่ใช่ชนพื้นเมืองที่มีเพียง 8 รายต่อประชากร 100,000 คน/ปี[5]

แม้ว่าจะยังไม่มีข้อสรุปเกี่ยวกับสาเหตุที่ทำให้ชาวอินูอิฆ่าตัวตาย แต่ก็มีข้อเสนอว่าปัจจัยเสี่ยงที่นำไปสู่การกระทำเช่นนี้ ได้แก่ โรคซึมเศร้า (depression) การเผชิญกับความรุนแรง (ที่เกิดขึ้นในครอบครัว) การดื่มแอลกอฮอล์ การมีเพื่อนที่ฆ่าตัวตาย ความผิดปกติในครอบครัว (family dysfunction) ความผิดปกติทางพฤติกรรม (conduct disorders) หรือความผิดปกติทางจิตเวช (psychiatric disorders) นอกจากนี้ มีผู้เสนอว่าอาจเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับความพยายามในการเปลี่ยนวัฒนธรรมชนพื้นเมืองให้กลายเป็นวัฒนธรรมคนส่วนใหญ่[6] ซึ่งทำให้ชนพื้นเมืองรู้สึกแปลกแยก โดดเดี่ยว เกิดความรู้สึกไร้ราก (dispossession) การสูญเสียวัฒนธรรม (culture loss) และความรู้สึกไม่เชื่อมโยงทางสังคม (social disconnection)

ข้อเสนอเรื่องปัจจัยเสี่ยงที่กล่าวมานี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องความรู้สึกไร้ราก การสูญเสียตัวตนเชิงวัฒนธรรม (คือจะเป็นคนอินูอิก็ไม่ได้ จะเป็นคนขาวก็ไม่ใช่) ทำให้รู้สึกโดดเดี่ยว ไม่เชื่อมโยงกับผู้อื่น ดูมีผู้เห็นด้วยมากทีเดียว[7] ช่วยให้เราเข้าใจว่าวัยรุ่นหนุ่มสาวเปราะบางต่อการฆ่าตัวตายมากเพียงใด ไม่ได้เป็นความผิดปกติใดๆ ของพวกเขา

และแน่นอน มิใช่เป็นความผิดของพวกเขาเลย

ทว่า สถิติของความพยายามฆ่าตัวเองหรือฆ่าตัวตายไม่ได้สูงขึ้นในหมู่ชนพื้นเมืองอินูอิเท่านั้น หากสูงขึ้นในหลายประเทศ และในอัตราที่น่าเป็นห่วง เช่น ในสหรัฐอเมริกามีข้อมูลระบุว่าอัตราการฆ่าตัวตายทั่วประเทศสูงขึ้นถึง 25.4% นับตั้งแต่ปี 1999 ถึงปี 2016 สูงขึ้นในทุกรัฐยกเว้นรัฐเนวาดา เฉพาะปี 2017 ประมาณกันว่ามีความพยายามฆ่าตัวตายถึง 1.4 ล้านราย และมากกว่า 47,000 ของคนที่ตายเกิดจากการฆ่าตัวตาย ครึ่งหนึ่งของจำนวนนี้เกิดขึ้นจากการใช้อาวุธปืน นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลชี้ให้เห็นอีกว่าคนที่มีอัตราฆ่าตัวตายสูง – ไล่ตามอัตราที่สูงที่สุด – ได้แก่ผู้ชาย (เมื่อเปรียบเทียบกับผู้หญิง) ชนพื้นเมืองอเมริกันอินเดียน ชนพื้นเมืองอลาสก้า ทั้งเพศชายและหญิง และคนกลุ่มอื่น[8] ปัญหาการฆ่าตัวตายในสหรัฐฯ ดูจะเป็นที่สนใจของสาธารณชนเป็นอย่างยิ่ง จนทำให้สื่อมวลชนอย่าง CNN ต้องทำรายการพิเศษเกี่ยวกับเรื่องนี้[9]

แม้แต่ประเทศเล็กๆ เช่น นิวซีแลนด์ ก็ประสบกับปัญหานี้เช่นกัน มีรายงานว่าสถิติประชากรที่ฆ่าตัวตายสูงที่สุดอยู่ในช่วงอายุ 10 ถึง 24 ปี โดยมีอัตราส่วนอยู่ที่ 35 รายต่อจำนวนประชากร 100,000 คน[10] ซึ่งอาจดูไม่มากนัก แต่หากพิจารณาว่าประเทศนี้มีจำนวนประชากรทั้งสิ้นราว 4.8 ล้านคน คงต้องยอมรับว่าสูงมาก สูงจนนายกรัฐมนตรี Jacinda Ardern ต้องออกมาแถลงข่าว แสดงความกังวลและห่วงใยอย่างมากต่อปัญหานี้ เธอกล่าวว่า ปฏิเสธไม่ได้ว่าอัตราการฆ่าตัวตายสูงเกินไป ปฏิเสธไม่ได้ว่ารัฐบาลต้องพยายามทุกวิถีทางที่จะลดอัตราการฆ่าตัวตายให้ลดลงให้ได้ นี่เป็นความท้าทายในระยะยาวที่รัฐบาลต้องทำ รัฐบาลในฐานะที่เป็นคนใน “ชาติ” เดียวกัน ไม่ใช่แค่รัฐบาลชุดใดชุดหนึ่งเท่านั้น[11]

คงต้องชมเชยว่านายกฯ หญิงคนนี้เป็นผู้นำที่น่าทึ่ง นอกจากเป็นคนอ่อนโยน มีเมตตา เห็นอกเห็นใจและพร้อมที่จะช่วยเหลือผู้อื่น ดังจะเห็นได้จากกรณีที่คนร้ายกวาดยิงคนในมัสยิดสองแห่งในเมืองไครสต์เชิร์ชเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2562 เธอรีบเดินทางไปแสดงความเสียใจและให้กำลังใจกับคนมุสลิมที่เสียชีวิตและบาดเจ็บที่มัสยิดทั้งสองแห่ง อีกทั้งยังให้คำสัญญาว่ารัฐบาลจะให้ความช่วยเหลือผู้ประสบเหตุร้ายทุกคน ในอีกด้านหนึ่ง เธอก็มีความเฉลียวฉลาด รู้จักใช้ถ้อยคำที่เหมาะสม ถูกกาลเทศะ ไม่ทำให้ผู้ฟัง ไม่ว่าฝ่ายใดก็ตาม รู้สึกขุ่นเคือง โดนรุกรานหรือโดนละเมิด มีไหวพริบปฏิภาณและความแน่วแน่ที่จะพยายามแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมนิวซีแลนด์

ตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิงกับนักการเมืองไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนระดับรัฐมนตรีที่มีหน้าที่เกี่ยวข้อง ไม่โดยตรงก็โดยอ้อม กับเรื่องการฆ่าตัวตาย นอกจากจะปัดความรับผิดชอบของตนแล้ว ยังโยนความผิดไปเรื่องอื่น ดังจะเห็นได้จากถ้อยคำต่างๆ ที่แถลงต่อสื่อมวลชน เช่น กล่าวว่าเป็นการเกิดภาวะอุปทานหมู่ ซึ่งนำไปสู่การฆ่าตัวตาย[12] หรือจากการ “อ่านโซเชียล (มิเดีย)”[13] หรืออ้างว่าเป็นปัญหาทางจิตบ้าง ปัญหาส่วนตัว (ประเด็นเรื่องความสัมพันธ์) บ้าง และย้ำให้แก้ไขที่ตัวบุคคลด้วยการปฐมพยาบาลจิตใจ[14]

ในขณะที่รัฐบาลในหลายประเทศแสดงความกังวลต่อการฆ่าตัวตาย และมีความพยายามที่จะทำความเข้าใจและแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจัง รัฐบาลไทยกลับแสดงท่าทีไม่แยแส ไม่สนใจที่จะทำความเข้าใจถึงสาเหตุ และไม่มีความตั้งใจที่จะแก้ไขปัญหานี้เลย ซ้ำร้าย ยังกลับโยนความผิดไปที่ปัจเจกบุคคล และย้ำว่าปัจเจกบุคคลต้องรับผิดชอบและแก้ไขปัญหาด้วยตนเอง

ผมสงสัยว่าเราจะมีรัฐบาลไว้ทำไม?

 

…………………………

เชิงอรรถ

[1] สำหรับประเด็นเรื่องฝุ่นละอองในอากาศขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน (PM2.5) ซึ่งเกินค่ามาตรฐานที่กำหนดไว้และเป็นอันตรายต่อสุขภาพ แม้ว่าจะเป็นปัญหาใหญ่และเคยเกิดขึ้นในหลายจังหวัด รวมทั้งกรุงเทพมหานคร แต่รัฐบาลก็ดูไม่อนาทรร้อนใจ ไม่สนใจที่จะคิดวางแผนแก้ไขปัญหา ทั้งในระยะสั้นและยาวเลย!! ส่วนเรื่องไวรัสโคโรนา” ซึ่งแพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว เฉพาะในประเทศจีนมีผู้ติดเชื้อแล้ว 17,205 คน เสียชีวิตแล้ว 361 คน (มติชนออนไลน์, 3 กุมภาพันธ์ 2563) แต่ก็มีรัฐมนตรีไทย ผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องโดยตรง ออกมาแสดงความเห็นว่าเป็นเพียง “โรคหวัดโรคหนึ่ง” เท่านั้น ในขณะที่รัฐบาลจีนและอีกหลายประเทศ และองค์การอนามัยโลกแสดงความห่วงใย วิตกกังวลอย่างยิ่งกับการแพร่กระจายของไวรัสตัวใหม่นี้

[2] นักเรียนสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาทั้งหลายคงคุ้นเคยกับแนวคิดของเดอร์ไคม์ในเรื่องนี้ ซึ่งทอม วิดเกอร์วิจารณ์ว่าการตีความของเดอร์ไคม์เกี่ยวข้องกับสภาพสังคมยุโรปในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ที่กำลังวุ่นวาย/สับสนทีเดียว นำไปสู่ข้อเสนอของเขาที่ว่าการฆ่าตัวตายสัมพันธ์กับประเด็นเรื่อง “egoism” และ “anomic society” ซึ่งวิดเกอร์โต้แย้งว่าไม่อาจใช้วิเคราะห์ในการศึกษาของเขาได้ (ดู Tom Widger, Suicide in Sri Lanka: The anthropology of an epidemic (London and New York: Routledge, 2015 – จะกล่าวถึงงานเขียนชิ้นนี้อีกครั้งข้างหน้า)

[3] คำแปลของสำนักงานราชบัณฑิตยสภา คือ “มโนธรรมร่วม”

[4] ดูรายละเอียดใน Tom Widger, อ้างแล้ว

[5] ดูรายละเอียดและข้อมูล/สถิติได้ใน Mohan B. Kumar and Michael Tjepkema, Suicide among First Nations people, Métis and Inuit (2011-2016): Findings from the 2011 Canadian Census Health and Environment Cohort (CanCHEC)”, National Household Survey: Aboriginal Peoples, 28 June 2019

[6] ผู้เขียนใช้คำว่า “Colonization” และ “Colonial effects” ซึ่งผมคิดว่าหากแปลว่าการล่าอาณานิคมอาจทำให้คนอ่านเข้าใจไขว่เขวก็ได้ จึงมิได้ใช้คำนี้ – ดู Michael J. Kral, “Suicide and Suicide Prevention among Inuit in Canada”, The Canada Journal of Psychiatry, 2016 Nov; 61(11): 688–695

[7] ตัวอย่างเช่น บทวิจารณ์หนังสือของ Helen Epstein, “The Highest Suicide Rate in the World”, The New York Review of Books, 10 October 2019  ซึ่งวิจารณ์หนังสือ 2 เล่มที่เขียนถึงการฆ่าตัวตายของวัยรุ่นอินูอิ ก็ระบุปัจจัยที่พาดพิงถึงข้างบนเช่นกัน

[8] America’s Health Rankings, “Annual Report. Public Health Impact: Suicide

[9] Jacqueline Howard, “The US suicide rate is up 33% since 1999, research says”, 21 June 2019

[10] Kerre McIvor Mornings, “NZ has highest death rate for teenagers in developed world”, Newstalk ZB, NZ Herald, 26 February 2019

[11] nzherald.co.nz, “New Zealand suicides highest since records began”, 26 August 2019

[12] Dailynews, “เตือนตีข่าวฆ่าตัวตายเซ่นปัญหาเศรษฐกิจ หวั่นอุปทานหมู่”, 3 มกราคม 2563 และ MGR online, ““เสี่ยหนู” ยันไม่นิ่งนอนใจแก้ปัญหา-ปัดพิษเศรษฐกิจ ส่งผลประชาชนฆ่าตัวตาย เตือนระมัดระวังตีข่าวคิดสั้น หวั่นอุปทานหมู่”, 3 ม.ค. 2563

[13] พลวุฒิ สงสกุล, “ปมพิษเศรษฐกิจคนฆ่าตัวตาย สมคิดแนะอ่านโซเชียลให้น้อย มั่นใจเศรษฐกิจไทยรับมือได้หลังสหรัฐฯ-อิหร่านตึงเครียด”, The Standard, 6/1/2020

[14] Posttoday, “สาธิต เปิดข้อมูลยันเหตุหลักคนไทยฆ่าตัวตาย ไม่ใช่พิษเศรษฐกิจ”, 22 ก.ย. 2562

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save