fbpx

ทางออกโควิด ฝ่าวิกฤตบ้านเมือง กับ สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์

ในภาวะที่ประเทศไทยกำลังเผชิญภาวะวิกฤตจากโรคระบาด ทั้งปัญหาเรื่องการจัดการวัคซีน ระบบสาธารณสุขที่กำลังถึงขีดจำกัด และผลกระทบทางสังคมที่ต่อเนื่อง ทำให้มีโจทย์หลายด้านที่ต้องขบคิดและหาทางแก้เพื่อฝ่าวิกฤตนี้ไปได้

101 ชวน สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานพรรคไทยสร้างไทยและอดีตรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข มาพูดคุยว่าด้วยประเด็นเหล่านี้ 

โจทย์สาธารณสุขควรแก้อย่างไรและการแก้โจทย์ทางการเมืองแบบไหนที่จะทำให้วิกฤตคลี่คลาย

:: โควิดกับการตัดสินใจที่ผิดพลาดของรัฐบาล ::

ประเมินว่าสถานการณ์ต่อจากนี้จะหนักมากขึ้น เพราะวันนี้รัฐบาลดำเนินการผิดพลาดไปหลายจุด การตัดสินใจล่าสุดที่ส่งผู้ติดเชื้อกลับต่างจังหวัดเป็นการแก้ไขที่ปลายเหตุ ซึ่งเป็นสิ่งที่อันตรายอย่างยิ่งและจะทำให้การควบคุมผู้ติดเชื้อในไทยทำได้ยากขึ้น เพราะตามหลักระบาดวิทยาแล้ว เราจะไม่เคลื่อนย้ายคนติดเชื้อและรีบล็อกดาวน์พื้นที่เพื่อจัดการปัญหาให้จบเร็วที่สุด ฉะนั้นการปล่อยคนกลับบ้านก็เหมือนกับส่งเขาไปตายเอาดาบหน้า เพราะทุกวันนี้หลายจังหวัดมีบุคลากรและเครื่องมือที่ไม่เพียงพอ  ดังนั้นจากการปิดแคมป์คนงานก่อสร้างจนทำให้ตัวเลขของอาการสีแดงที่มีอยู่นิดเดียวเพิ่มขึ้นเป็นหลายจุดเกือบทั่วประเทศ ถือเป็นความผิดพลาดอย่างร้ายแรงของรัฐบาลที่ปล่อยให้เกิดการระบาดไปทั่วประเทศแบบนี้

หากรัฐต้องการแก้สถานการณ์ สิ่งที่ต้องทำในตอนนี้ อย่างแรกคือต้องตรวจให้เร็วขึ้น การตรวจ ณ วันนี้ถือว่ายังทำน้อยเกินไป ต้องเร่งแก้ดีกว่ารอที่จะให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ เพราะคนไทยจะตายอีกเยอะและเศรษฐกิจจะย่อยยับ พอปล่อยคนกระจายไปทั่วประเทศ แทนที่จะล็อกดาวน์แค่ 13 จังหวัดกลายเป็นต้องล็อกดาวน์มากขึ้นทุกวัน ซึ่งการล็อกดาวน์ไม่ได้ช่วยแยกผู้ติดเชื้อเข้าไปสู่ระบบการดูแลรักษาและมีแต่จะทำให้เศรษฐกิจพัง การล็อกดาวน์มากขึ้นและบังคับให้คนหยุดทำมาหากิน แต่ไม่ได้ทำตามหลักระบาดวิทยาในการควบคุมโรคคือหายนะ ขอบอกว่าหลังจากนี้ตัวเลขผู้ติดเชื้อจะมากขึ้นและระยะเวลาจะยาวขึ้น  

เราเสนอพิมพ์เขียวตั้งแต่ต้นเดือนเมษายนว่า จะต้องเร่งตรวจหาผู้ติดเชื้อให้ได้มากที่สุด ขอยืนยันว่ายังเป็นไปได้ที่จะตรวจต่อ เพราะทุกวันนี้มีเทคโนโลยีอย่าง Rapid Antigen Test รัฐสามารถอบรมอาสาสมัครชุมชนในการนำ Rapid Antigen Test ไปตรวจให้กับผู้คนได้ นอกจากนี้รัฐต้องแจก Rapid Antigen Test  ให้เพียงพอต่อประชากรในพื้นที่กลุ่มเสี่ยงทั้งหมด ยกเลิกกฎระเบียบที่เมื่อตรวจจาก Rapid Antigen Test แล้วต้องไปตรวจ RT-PCR ซ้ำอีกทีถึงจะได้รับการรักษาฟรี เราต้องยกเลิกกฎแบบนี้ เพราะตอนนี้ทำเกินดีกว่าทำขาด  

อีกด้านหนึ่งคือ ต้องเพิ่ม community isolation ต้องยอมรับว่าการระบาดในรอบนี้เกิดขึ้นในชุมชนแออัด ซึ่งบ้านเล็กๆ หนึ่งหลังอาศัยอยู่รวมกันเกือบสิบชีวิต ไม่มีทางแยกกักตัวได้ ฉะนั้นจำเป็นต้องเปลี่ยนสถานที่ที่อยู่ใกล้ชุมชนมากที่สุดเช่น วัด โรงเรียน หน่วยราชการที่ว่าง หรือค่ายทหาร ให้เป็น community isolation และต้องจัดสรรแยกโซนตามสถานะอาการ ถ้าใครมีอาการหนักแล้วก็ต้องรีบส่งโรงพยาบาล หรือถ้ายังอาการไม่หนัก นอกจากจะให้ยารักษาตามอาการแล้วก็ต้องรีบให้ยาฟาวิพิราเวียร์ตั้งแต่ผู้ป่วยอาการสีเขียว รัฐต้องตั้งเป้าให้ชัดและอย่าใช้คำว่าศูนย์พักคอยเตียงจนตอนนี้ระบบสาธารณสุขจะล่มแล้ว หมอ พยาบาลจะเอาชีวิตตัวเองให้รอดยังลำบากมากๆ ดังนั้นต้องตั้งเป้าแจกยาฟาวิพิราเวียร์แก่ผู้ที่มีอาการตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อตัดวงจรไม่ให้เชื้อลงปอด 

:: แผนฉีดวัคซีนต้องจบในหกเดือน ::

ต้องยอมรับความจริงว่าเราจะใช้เวลาอยู่กับโรคโควิดอีกยาว หน้าที่ของรัฐบาลคือจะทำอย่างไรให้คนไทยอยู่ร่วมกับโควิดได้ปลอดภัยมากขึ้น ปัจจัยสำคัญคือต้องสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ เพื่อให้คนไทยอยู่กับโรคได้อย่างปลอดภัยระหว่างรอยา ดังนั้นรัฐต้องเร่งฉีดวัคซีนให้คนไทยและต้องปรับแผนการฉีดวัคซีน

ข้อแรกคือ ตอนนี้เชื้อกลายพันธุ์ไป 5-6 ตัวและแข็งแรงขึ้น ต้องเปลี่ยนการจัดวัคซีนจากเชื้อตายเป็นวัคซีน mRNA เพื่อใช้ควบคู่กับ Astra Zeneca  ดิฉันเสนอให้สั่งวัคซีน mRNA มาเลยหนึ่งร้อยล้านโดส เพราะเราจะได้ฉีดวัคซีนนี้ไปก่อน โดยไม่ต้องรอวัคซีนที่ผลิตจากโรงงานอย่างเดียว ทุกวันนี้ประเทศร่ำรวยหลายประเทศในยุโรปและอเมริกาสั่งวัคซีนมาเกินจำนวนประชากร ทำให้เหลือวัคซีนที่จะบริจาคอยู่ตลอดเวลา อย่างแคนาดามีจำนวนวัคซีนเกินมาห้าเท่าของจำนวนประชากร ซึ่งเราสามารถไปขอบริจาคมาให้คนไทยฉีดก่อนได้

เรื่องของการจัดหาวัคซีนที่ล่าช้าขอตั้งข้อสังเกตว่า ประเทศที่ผลิตวัคซีนแบบ mRNA ค่อนข้างเข้มงวดในเรื่องกฎหมายที่บังคับบริษัทต้องเปิดเผยข้อมูล (Sunshine Law) โดยเฉพาะเรื่องค่าคอมมิชชันที่จะตรวจเข้มข้นมากและจะดำเนินคดีหากพบว่ามีค่านายหน้าเกิน อย่างเมื่อก่อนรัฐจะซื้อยุทโธปกรณ์จากอเมริกาและยุโรปบ่อยครั้ง แต่ทุกวันนี้รัฐสั่งซื้อจากประเทศในโซนนี้น้อยลง ไม่รู้ว่าเป็นเรื่องบังเอิญหรือไม่ และทำให้น่าสงสัยว่าการที่รัฐสั่งวัคซีน mRNA น้อยมากเกิดจากสาเหตุอะไร

ข้อที่สองในการปรับแผนวัคซีนคือต้องสร้างภูมิคุ้มกันหมู่และทำให้คนติดเชื้อน้อยลง ตอนนี้เราหวังแค่ว่าให้ประชาชนสามารถอยู่ได้อย่างปลอดภัยและสามารถกลับมาเปิดธุรกิจได้ก่อนในระยะแรก ดังนั้นเราต้องฉีดวัคซีนให้จบก่อนภายในหกเดือน เพราะ WHO แจ้งมาแล้วว่าวัคซีนแต่ละตัวให้ภูมิคุ้มกันไม่เท่ากัน การจะสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ขึ้นมาจำเป็นต้องทำให้คนจำนวนมากมีภูมิคุ้มกันพร้อมๆ กัน ซึ่งเวลาที่สำคัญที่สุดคือช่วงหกเดือนจากนี้ 

ดิฉันเสนอว่านอกจากจะต้องปรับแผนวัคซีนหลักของชาติแล้ว เราต้องตั้งเป้าเร่งฉีดวัคซีนให้จบภายในหกเดือน ถามว่าตอนนี้ช้าไปไหม จริงๆ เรายังทำทันอยู่ โดยตั้งเป้าฉีดวันละ 5 แสนโดสเพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่และเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจโดยให้คนได้กลับมาทำงาน ถ้ารัฐมีการปรับแผน ภายในเดือนธันวาคมของปีนี้ประชากร 50 ล้านคนจะได้รับวัคซีนเข็มแรก และได้รับเข็มที่สองในเดือนมกราคมของปีหน้าซึ่งเป็นของขวัญปีใหม่ให้คนไทย แต่ถ้าไม่ปรับแผน เราต้องใช้ระยะเวลาถึงเดือนกรกฎาคมของปีหน้าถึงจะฉีดได้ครบ ถ้าปล่อยนานเกินไป เราจะเจอปัญหาจากเชื้อตัวใหม่ ดังนั้นเราต้องตัดสินใจทุ่มเทหาวัคซีนเพื่อให้ฉีดได้วันละ 5 แสนโดส คนไทยจึงจะสามารถกลับมาใช้ชีวิตในแบบนิวนอร์มอล (new normal) ได้ 

:: มองระบบสาธารณสุขไทยผ่านอดีตรัฐมนตรีว่าการสาธารณสุข ::

ขอยืนยันในฐานะที่เคยเป็นอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขที่เคยรับมือกับโรคซาร์สและโรคไข้หวัดนกมาแล้ว  จริงๆ การควบคุมในตอนนั้นทำได้ยากกว่าเพราะเชื้อมากับนก เราเลยต้องทำงานเร็ว รีบควบคุมพื้นที่และเร่งตรวจหาเพื่อแยกผู้ติดเชื้อและไม่ใช้ระยะเวลาที่นานเกินไป 

ดังนั้นในฐานะที่เคยรับมือโรคระบาดมาแล้ว ขอยืนยันว่าศักยภาพของระบบสาธารณสุขไทยดีติดระดับโลก แต่ตอนนี้ล่มสลายเพราะการตัดสินใจของผู้บริหาร ทั้งหมดขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการในการแก้ปัญหา เราควรวิ่งเข้าไปดักปัญหา เพราะทำเกินดีกว่าทำขาด การตรวจโดย Rapid Antigen Test หรือการแจกยาฟาวิพิราเวียร์คือการดักปัญหาข้างหน้า ถ้าเราแก้ไขปัญหาแบบวิ่งตามปัญหา เราจะไม่มีทางตามทัน แต่ถ้าเราดักปัญหา เรายังพอควบคุมโรคได้  

ส่วนการทำงานของรัฐมนตรีสาธารณสุข อย่างแรกควรให้ประชาชนเป็นคนประเมิน และคนที่ถูกประเมินไม่ใช่แค่คนเดียว อย่าลืมว่านายกรัฐมนตรีรวบรวมอำนาจทั้งหมดไว้ ดังนั้นถ้าจะประเมินต้องประเมินทั้งชุด แต่ถ้าให้พูดตาม หลักการจัดการวิกฤต (crisis management) ดิฉันขอแบ่งเป็นสามอย่าง

1. รู้จริงก่อนทำการตัดสินใจ 2. ขั้นตอนการออกคำสั่งต้องสั้น แต่วันนี้กลับมีการตั้งศูนย์ซ้ำซ้อนกับหน่วยงานที่ทำอยู่แล้ว 3. การสื่อสารต้องชัดเจน อย่างการฉีดวัคซีนในตอนนี้ มีหลายแอปพลิเคชันทำให้เกิดความสับสนไปหมด การมีสามอย่างนี้จะพาประเทศและประชาชนเดินต่อไปได้อย่างถูกทิศทาง ดังนั้นต้องตัดหน่วยงานที่ไม่จำเป็นและเป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงการตรวจรักษาของประชาชน เราต้องเลิกคิดแบบรัฐราชการในการตั้งรับปัญหาและต้องเปลี่ยนวิธีคิดของผู้บริหาร 

:: ‘พรรคไทยสร้างไทย’ ผลงานชิ้นสุดท้ายทางการเมือง ::

ทางออกทางการเมืองในตอนนี้อาจแบ่งเป็นสองทาง 1. นายกฯ ลาออก ซึ่งก็แยกเป็นอีกสองทาง ขั้นแรกคือต้องเลือกแคนดิเดตในตะกร้าที่มีเหลืออยู่ 5 คน ถ้าตัดนายกฯ ประยุทธ์กับคุณธนาธร เราจะเหลือ 5 คนให้โหวตตามหลักการประชาธิปไตย แต่หากยังไม่ได้ ส.ว. และ ส.ส. อีก 500 คนก็จะมาโหวตเลือกนายกฯ คนนอก 2. นายกฯ ยุบสภาและกลับไปเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ซึ่งก็เหมือนกับการพายเรือในอ่าง

ดังนั้น วันนี้เราต้องแก้ที่ระบบอำนาจนิยมที่ใหญ่โต ไทยสร้างไทยจึงยืนยันว่าจะเอารัฐธรรมนูญฉบับประชาชนและพูดตรงๆ ว่าเราผิดหวังในเพื่อนส.ส. ที่ไปยอมเดินตามพรรคพลังประชารัฐ โดยยอมแก้รัฐธรรมนูญตามรายมาตราและไม่คิดจะยกสิ่งที่กดทับประชาชนออกไป

เมื่อก่อนเวลาพูดการเมืองกับใคร เขาอาจรังเกียจเพราะมองว่านักการเมืองชั่วร้าย แต่ 7 ปีที่ผ่านมาทำให้เราเห็นว่าระบบนิเวศทางการเมืองย่ำแย่แค่ไหน ดังนั้นเราต้องเปลี่ยนระบบนิเวศนี้โดยการเข้ามาเป็นนักการเมือง ทำงานในพรรคการเมือง หรือ think tank เพื่อสร้างสรรค์นโยบาย ดิฉันอยากใช้ประสบการณ์ที่สั่งสมมา 30ปี เพื่อเป็นฐานให้คนใหม่ๆ ที่มีความรู้ทางเทคโนโลยี เอาความรู้ในแต่ละด้านมาสร้างประเทศไทยให้ดีที่สุด ฉะนั้นนโยบายของพรรคไทยสร้างไทยจะพุ่งไปที่สองเรื่อง คือ 1. สร้างพลังให้ประชาชน โดยพรรคเราจะสู้เพื่อประชาชนคนตัวเล็ก 2. ปลดปล่อยประชาชนจากกฎเกณฑ์ข้อบังคับที่ไร้สาระและเป็นอุปสรรคต่อการทำมาหากิน

ในโลกหลังโควิดเราต้องเปลี่ยนรัฐราชการ อย่างนายกฯ ใช้วิธีคิดแบบรัฐราชการในการจัดการโควิด สาเหตุที่เราเข้า COVAX ไม่ได้ ก็เพราะเรื่องระเบียบและกฎเกณฑ์ ดังนั้นต้อง think out of box ไม่ใช่ทำตามระบบราชการ แต่เราต้องเปลี่ยนรัฐราชการจากที่เป็นตัวถ่วงความเจริญให้เป็นผู้สนับสนุน ไม่ใช่เป็นผู้คุมกฎและมองประชาชนเป็นผู้ร้าย 

การทำพรรคไทยสร้างไทยจะเป็นผลงานชิ้นสุดท้ายทางการเมืองของดิฉัน และขอยืนยันว่าเราจะยืนกับประชาธิปไตยและไม่ยอมจบชีวิตทางการเมืองเพื่อให้เผด็จการเหยียบหัว เพราะดิฉันคงทำใจไม่ได้ที่จะไปร่วมและทรยศประชาชน 

:: ความฝันของสุดารัตน์ ::

ตอนหาเสียงเลือกตั้งปี 2562 เรารู้ตั้งแต่ตอนที่พรรคพวกมาขอร้องแล้วว่าไม่อาจเป็นนายกฯ ได้ เพราะยังไงเราก็ไม่ชนะ 250 เสียงจาก ส.ว. และตอนนั้นมีข่าวลือว่าดิฉันจะไปลง ส.ส.เขต เพราะตามกฎแล้วถ้าพรรคใหญ่ได้ที่นั่ง ส.ส.เขตมาก ก็จะไม่ได้ปาร์ตี้ลิสต์ ตอนนั้นเราขาดทุนอยู่เกือบสองล้านเสียง เท่ากับเราต้องทำให้ ส.ส.เขต สอบตก 40 คนถึงจะได้เป็น ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ 

ในพรรคก็มีความเห็นแตกต่างกันไป เพื่อนๆ ที่หวังดีก็แนะนำให้ไปลง ส.ส.เขต เพราะไม่งั้นก็เข้าสภาไม่ได้ จนท้ายที่สุดจะมีปัญหาและอาจต้องออกจากพรรค แต่วันนั้นดิฉันรับปากแล้วว่าจะเป็นแม่ทัพ ซึ่งแม่ทัพจะต้องเดินก่อนเพื่อนำทัพ จึงตัดสินใจไม่ลง ส.ส.เขต ที่เล่าเรื่องความหลังก็เพราะอยากบอกว่าตำแหน่งไม่ได้สำคัญสำหรับดิฉันอีกแล้ว

สิ่งที่ดิฉันอยากเห็น คืออยากเห็นพรรคการเมืองดีๆ พรรคหนึ่ง อยากเห็นคนเก่งๆ มาทำงานเพื่อช่วยประเทศ ดิฉันอยากส่งมอบสิ่งนี้ให้ลูกหลาน แต่ถ้าประเทศยังเป็นแบบนี้ เรายังมองเห็นอนาคตไหมว่าจะเป็นอย่างไร ดิฉันอยากทำเครื่องมือชิ้นนี้ให้เป็นพรรคของทุกคน ทุกวัย ทุกสาขาอาชีพ ให้มาร่วมกันใช้สิ่งนี้ขับเคลื่อนประเทศให้ได้มากที่สุด และดิฉันจะมีความสุข ถ้าพรรคนี้ประสบความสำเร็จและสามารถทำนโยบายที่จะทำให้เกษตรกรตลอดจน SME แข็งแรงขึ้นมาได้ นี่คือความฝันของดิฉัน

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save