สุชาดา​ จักรพิสุทธิ์ : จากบาดแผล​ 6​ ตุลา ถึงคำประกาศ "กูจะเป็นสื่อ"

สุชาดา​ จักรพิสุทธิ์ : จากบาดแผล​ 6​ ตุลา ถึงคำประกาศ “กูจะเป็นสื่อ”

ศุภาวรรณ คงสุวรรณ์ เรื่อง

จัสติน่า สุวรรณวิหค ภาพ

เมื่อความไร้มนุษยธรรมถูกแขวนตระหง่าน ชุมพร ทุมไมย และ วิชัย เกษศรีพงศ์ษา ช่างไฟฟ้า 2 คน ถูกทำร้าย ฆ่า และแขวนคอที่จังหวัดนครปฐม นักศึกษาธรรมศาสตร์ชมรมนาฏศิลป์และการละครในยุคนั้น ตัดสินใจสะท้อนความไม่เป็นธรรม และการกระทำอันอุบาทว์ ด้วยการเล่นละครจำลองเหตุการณ์ทั้งหมด

สิ่งที่นักศึกษาชมรมนาฏศิลป์และการละครตัดสินใจทำ มองผ่านสายตามนุษย์รุ่นใหม่ในวันนี้ ช่างสมเหตุสมผล ไม่น่าแปลกใจ เป็นอะไรที่วัยรุ่นผู้มีความสามารถทางการแสดงอาจเลือกทำเช่นกันในวันนี้ แต่การกระทำด้วยเจตนารักความเป็นธรรมดังกล่าว กลับถูกป้ายสีอย่างน่ารังเกียจ

สื่อบางสำนักกล่าวหาว่านักศึกษาเล่นละครหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ หนังสือพิมพ์ตีพิมพ์ภาพนักแสดงที่มีใบหน้าละม้ายคล้ายองค์รัชทายาท ราวกับจุดไม้ขีดลงบนใจร้อนรุ่มของประชาชนผู้รัก ‘ชาติ’ ในวันเก่า แล้วเหตุการณ์ ‘6 ตุลา’ ก็เกิดขึ้น กลายเป็นประวัติศาสตร์ที่น่าใจหาย และขาดวิ่นซึ่งความจริงจนวันนี้

หนึ่งในนักศึกษาชมรมนาฏศิลป์และการละครในวันนั้น คือ สุชาดา จักรพิสุทธิ์

เธอคือคนสื่อมากความสามารถ เป็นบรรณาธิการบริหารศูนย์ข้อมูลและข่าวสืบสวนเพื่อสิทธิพลเมือง (TCIJ) เป็นอดีตบรรณาธิการนิตยสารสารคดี, หนังสือเยาวชน ‘ไดโนสาร’ และสำนักข่าวทางเลือก ‘ประชาธรรม’

ในรายละเอียดมากมายของ 6 ตุลา สิ่งที่ชัดก้องในใจของสุชาดาอย่างไม่มีวันลบคือความจริงที่ว่า สื่อมีส่วนเกี่ยวข้องอย่างมาก ที่ทำให้เหตุการณ์ 6 ตุลาเกิดขึ้น และลงเอยเช่นนั้น หลังจากผ่านพ้นช่วงเวลาหลบหนีเข้าป่ากับนักศึกษาอีกจำนวนหนึ่ง เธอจึงหมายมั่นว่าจะกลับมาทำสื่อ แม้ว่าความรุนแรงที่เกิดขึ้นจะทำให้เธอเลือกหลบสายตาของอดีต และเป็นหนึ่งในคนเดือนตุลาที่ประสบสภาวะ ‘ลืมไม่ได้ จำไม่ลง’

แต่ 40 ปีผ่านไป เธอได้เขียนบันทึกเกี่ยวกับความทรงจำขึ้นเป็นครั้งแรก เพื่อเล่าเหตุการณ์ และทบทวนความสงสัยมากมายที่ยังมีต่อ 6 ตุลา สามปีต่อมา เธอยกความทรงจำเหล่านั้นมาคุยกับ 101 เพื่อเผยแพร่ในวันนี้ วันครบรอบ 43 ปี 6 ตุลา

อดีตที่สุชาดาไม่จับต้องมาหลายปีมีอะไรเกิดขึ้น สื่อแบบใดที่เธอจำจด จนตั้งใจมาทำงานสื่อด้วยตัวเอง แล้วสื่อในวันใหม่เป็นอย่างที่ควรเป็นหรือไม่ อ่านความจริงที่ปรากฏจากหัวจิตหัวใจของผู้หญิงเดือนตุลาคนนี้ – สุชาดา จักรพิสุทธิ์

สุชาดา จักรพิสุทธิ์

 

ก่อนที่ความความผันผวนของสื่อจะปรากฏและทำให้เกิดเหตุรุนแรงอย่างที่เราทราบกัน ความจริงของวันที่มีการแสดงละครคืออะไร เกิดอะไรขึ้นบ้าง

มันเป็นความต่อเนื่องจากการที่ถนอม (จอมพลถนอม กิตติขจร) กลับเข้ามาในประเทศด้วยการบวชเป็นเณร ซึ่งเป็น Logic ที่ผิดฝาผิดตัว เลยทำให้เกิดการประท้วง ซึ่งจริงๆ ก็มีการประท้วงกันมาทุกวันก่อนวันที่ 5

ตอนนั้น เราเป็นแค่นักศึกษาเฟรชชีปี 1 เท่านั้นเอง เรียนช้ากว่าคนอื่น 3-4 ปี เพราะเป็นลูกเจ๊ก กว่าจะได้เข้าโรงเรียนตามเกณฑ์ตามกฎหมายก็ช้าแล้ว หลัง 14 ตุลาฯ เรายังอยู่มัธยมอยู่เลย แต่ไปร่วมทำกิจกรรม เพราะเมื่อได้ทราบเหตุการณ์ต่างๆ ใจมันก็ไม่อยู่ในห้องเรียน ไม่อยากเรียนหนังสือ เราไปร่วมกิจกรรมกับกลุ่มนักเรียนต่างโรงเรียน มีชมรมไทยทัศน์ ที่เด็กศึกษานารี สวนกุหลาบ สตรีวิทย์ มารวมกัน ส่วนเราอยู่เบญจมราชาลัย เป็นคนเดียวในโรงเรียนที่หลุดไปรวมกลุ่มกับพวกเขา จัดนิทรรศการเคลื่อนที่บ้าง เล่นละครบ้าง พอเข้าธรรมศาสตร์ก็เป็นสมาชิกชมรมนาฏศิลป์และการละคร

ในวันนั้น เป็นวันสอบของธรรมศาสตรพอดี ทางชมรมคุยกันว่า เราต้องกระจายข่าวให้นักศึกษาทั่วไปรับรู้ว่ามีการฆ่าแขวนคอช่างไฟฟ้า 2 คน (ชุมพร ทุมไมย และ วิชัย เกษศรีพงศ์ษา) ที่นครปฐม เพราะเขาไปแจกใบปลิวต่อต้านการกลับมาของถนอมในคราบนักบวช

ทางชมรมคิดว่าต้องทำอะไรตามความถนัด ตามกิจกรรมของชมรมที่มีอยู่แล้ว คือการเล่นละคร เพื่อบอกเล่าเหตุการณ์ โดยเฉพาะกับหมู่นักศึกษาปี 1 ให้รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น เมื่อมีเหตุการณ์แบบนี้ คุณจะสอบด้วยความสบายใจไหม หรือคุณจะเลือกทำอะไรหรือเปล่า เราเลยทำละครจำลองง่ายๆ  พล็อตเรื่องก็แต่งสด ประมาณว่านักศึกษาออกมาประท้วงการกลับมาของถนอมในคราบเณร แล้วมีทหารมาปราบ มีการเข่นฆ่าทำร้าย ก็เป็นพล็อตเรื่องที่เราคาดเดาว่าจะเกิดขึ้น เพราะตอนนั้นเริ่มมีกระทิงแดง มีลูกเสือชาวบ้านมาก่อกวนอยู่เป็นระยะๆ ตลอดการชุมนุมคัดค้าน

พวกเราคิดว่าไฮไลต์ของพล็อตเรื่องคือช่วงแขวนคอ ซึ่งตกลงกันว่า จะแสดงแค่เป็นเชิงสัญลักษณ์ เล่นแขวนคอแค่คนเดียว แล้วก็เลือกกันว่านักแสดงจะต้องเป็นผู้ชายที่ตัวเล็กหน่อย เพราะการจำลองแขวนคอต้องแบกน้ำหนักตัวเอง ก็ใช้วิธีเอาผ้าขาวม้าคาดไปข้างหลัง ผูกเป็นปม มีเสื้อตัวใหญ่โคร่งๆ ปิดไว้ มัดเชือกแบบปมลูกเสือต่อจากผ้าขาวม้าขึ้นมา แล้วก็แบกน้ำหนักตัวเองด้วยรักแร้ พวกเราเลือกนักแสดงขึ้นมา 2 คน คือ เฮียวิโรจน์ ตั้งวาณิชย์ กับ อภินันท์ บัวหภักดี

พอเริ่มลงมือแขวนแต่ละคนก็บอกว่า “เจ็บเว้ย เจ็บจั๊กกะแร้” เพราะมันต้องแบกน้ำหนักตัว ถึงจะเป็นผู้ชายตัวเล็กน้ำหนักประมาณ 50 กิโลก็เถอะ ก็เลยตกลงกันว่าจะต้องผลัดกัน ไม่แขวนทีเดียวสองคน ผลัดกันสักคราวละ 15 นาที

มีพี่ต๊อด อดิศร พวงชมภู แสดงเป็นพระ ใส่หัวล้านปลอม แล้วก็ห่มผ้าผวยสีแดง แค่นี้แหละ การแสดงและการแต่งกายทั้งหมดเป็นเชิงสัญลักษณ์เพื่อให้คนเชื่อมโยงได้เท่านั้นเองว่าเรากำลังพูดถึงเรื่องอะไร พี่ต๊อดก็แสดงโดยการเดินแบบ มีทหารคุมอยู่ข้างๆ สมาชิกชมรมก็ทำเย้วๆ ตะโกนขับไล่ ประท้วง บอกให้รัฐบาลสืบสวนเรื่องนี้ ให้รับผิดชอบอย่างเป็นธรรม สมาชิกบางคนเล่นเป็นทหาร แต่งชุดทหารเอาปืนปลอมไล่ยิง เอาท้ายปืนตี ส่วนเราก็รับบทเป็นหมอเข้าไปดูแล หามคนเจ็บ ทั้งหมดมีแค่นั้นเอง

หลังจากนั้น ก็อย่างที่เราทราบกันว่า เกิดเหตุการณ์ที่เป็น butterfly effect ซึ่งจนบัดนี้ก็ยังไม่มีการค้นหาความจริง

ในบันทึกของคุณสุชาดาเขียนไว้ว่า ตอนนั้นเริ่มสงสัยว่าชายคนที่มาเล่นละครด้วยกันคนหนึ่งจะเป็นสันติบาล

มันเป็นความสงสัยในยุคนั้น เพราะเขาเป็นนักศึกษาปีหนึ่งที่ดูเหมือนอายุเยอะกว่าคนอื่น ไม่นับเรานะ การศึกษาก่อนเข้าธรรมศาสตร์ของเขามันก็ไม่ชัดเจน เขามาเป็นสมาชิกชมรมด้วยความคลุมเครือมาตลอด บุคลิกจะนิ่ง ไม่ค่อยพูด ดูเป็นผู้ใหญ่ มาแบบผลุบๆ โผล่ๆ และหลังเหตุการณ์ 6 ตุลา เขาก็หายไป ไม่มีใครเจอเขาอีกเลย อันนี้เลยเป็นความสงสัยส่วนตัวของเรา

คณะกรรมการตรวจสอบหลายชุดที่ผ่านมา จนถึงโครงการบันทึก 6 ตุลา ก็ไม่มีใครพูดถึงเรื่องนี้ จะมีก็ตอนหลังที่คุณภัทรภร ภู่ทอง (ผู้ประสานงานโครงการบันทึก 6 ตุลา และโครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ 6 ตุลา) เคยมาคุยด้วยอย่างไม่เป็นทางการ เขาก็สนใจ อยากจะตามหา แต่เราพยายามตามหาด้วยตัวเองแล้วก็ไม่พบ ไม่ว่าจะลองสลับชื่อนามสกุล เผื่อว่าจะเจอเฟซบุ๊กเขาบ้าง แต่ก็ไม่พบเลย

ตามบันทึกที่คุณสุชาดาเขียนขึ้น ในวันแสดงละครมีคนเอาปูนขาวไปหยอดประตูห้องสอบที่ธรรมศาสตร์ นักศึกษาจึงเข้าห้องสอบไม่ได้ และนักศึกษาจำนวนมากก็มาร่วมชมการแสดงละคร ตอนนั้นเคยตั้งข้อสังเกตหรือเดาได้ไหมว่าใครเป็นคนหยอดปูน คิดว่าตั้งใจทำเพื่อให้เหตุการณ์ดูรุนแรงขึ้นหรือเปล่า

ถ้าดูจากผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น มองย้อนกลับไป ก็คงเป็นฝ่ายนักศึกษานี่แหละ ไม่ใช่ฝ่ายตรงข้าม เขาคงหวังผลให้คนเข้าห้องสอบไม่ได้ ไม่อยากให้คนเข้าห้องสอบในขณะที่เหตุการณ์มันรุนแรงขนาดนี้ แต่มันก็ไม่มีการค้นหาความจริงแบบชัดๆ ขึ้นมานะ

ถ้าการคาดเดาของเราถูกต้อง เราคิดว่าเขาคงไม่ได้มองยาวไกลขนาดว่า จะจุดประกายความรุนแรง คิดว่าไม่มีใครคาดถึงหรอก แม้แต่ฝ่ายที่สร้างเหตุการณ์ จุดไม้ขีดก้านแรกขึ้นมา ก็อาจจะมาดีดนิ้วเอาวินาทีที่เห็นรูปบนหน้าสื่อก็ได้ (การปลุกปั่นจากภาพ ที่สื่อนำเสนอว่านักศึกษาเล่นละครหมิ่นองค์รัชทายาท) แต่ถ้าพูดถึงความพยายามที่จะค่อยๆ ทำอะไรดิสเครดิตนักศึกษา เช่น บอกว่าเป็นคอมมิวนิสต์ เป็นฝ่ายซ้าย อันนี้มีมาตลอด เป็นสงครามทางวัฒนธรรม (cultural warfare) ที่ทำกับนักศึกษามาตลอดก็ว่าได้ แบบเดียวกับปฏิบัติการสงครามเย็นอะไรพวกนั้น

ตอนมีข่าวชุมพร ทุมไมย และ วิชัย เกษศรีพงศ์ษา ช่างไฟฟ้าถูกแขวนคอ หนังสือพิมพ์ยังทำหน้าที่ตามปกติไหม รายงานเรื่องนี้อย่างไร

ทำหน้าที่ตามปกติในแง่การนำเสนอว่าอะไรเกิดขึ้น แต่เริ่มไม่ปกติในแง่ของการพาดหัวข่าวที่แฝงทัศนคติเห็นดีด้วย เราจำคำที่หนังสือพิมพ์ใช้เป๊ะๆ ไม่ได้นะ แต่ก็เช่น การพาดหัวว่า “ได้เรื่อง” แขวนคอคนแจกใบปลิวต้านพระถนอม เป็นต้น คือแฝงทัศนคติต่อตัวเหตุการณ์ แต่ถามว่าได้ทำหน้าที่สื่อไหม ก็ยังทำ ในแง่ที่บอกว่าอะไรเกิดขึ้น เมื่อไหร่ ที่ไหน (What, When, Where) แต่จะไม่มีการรายงานว่า อย่างไร (How) หรือทำไม (Why) ตามปกติของสื่อยุคนั้นจนถึงยุคนี้

สุชาดา จักรพิสุทธิ์

 

หลังจากแสดงละครแล้ว ได้ยินข่าวที่สื่อพยายามปลุกปั่นครั้งแรกจากที่ไหน ?

พอละครเล่นเสร็จก็กลับบ้าน เพราะว่าบ้านอยู่ใกล้ๆ ธรรมศาสตร์ กลับไปก็ไม่ได้คิดว่าจะต้องออกมาอีก กำลังกล่อมหลานอยู่ แล้วก็ได้ยินวิทยุยานเกราะออกอากาศ เราก็รู้สึกว่า ไม่ใช่อะ ไม่จริง เราอยู่ในเหตุการณ์ ยืนยันได้ว่าไม่ได้มีเจตนาแบบนั้น แล้วด้วย sense ก็รู้สึกว่า มันกำลังจะมีอะไรเกิดขึ้น และเราต้องกลับไปที่ธรรมศาสตร์ เพราะเราคือคนหนึ่งที่อยู่ในข้อเท็จจริงนี้ บอกตัวเองแค่ว่า ต้องไป แล้วก็หนีออกจากบ้านเลยในตอนเย็นวันที่ 5 น่าจะประมาณ 6 โมงได้ ฟ้าเริ่มมืดแล้ว

ตอนนั่งรถกลับมาบ้านมีสันติบาลมาขอคุยด้วย มาตาม เพื่อนคนอื่นๆ ได้เจอเหมือนกันไหม

ใช่ จริงๆ มันเกิดขึ้นก่อนหน้าวันที่ 6 ตุลา เป็นระยะๆ อยู่แล้ว แต่ตอนนั้นนักศึกษาที่ทำกิจกรรมเป็นกระแสสูง เป็นส่วนข้างมาก พวกเราสนุกกับการปั่นหัวคนเหล่านี้ (หัวเราะ) รู้อยู่ว่าพวกนี้เขาก็ทำหน้าที่ของเขา หลายคนก็ยังมาฟังไฮด์ปาร์คบ่อยๆ บางคนก็เห็นใจ หรือแม้แต่แอบมาคุยกับนักศึกษาว่า เฮ้ย พี่เข้าข้างพวกน้องนะ แต่ว่าพี่ต้องทำหน้าที่ของพี่ ก็มี

พอกลับไปที่ธรรมศาสตร์ คุณเขียนเล่าในบันทึกว่าต้องทำลายเอกสาร และหนังสือหลายอย่าง มันเป็นเอกสารอะไร รุนแรงขนาดไหนถึงต้องทำลายทิ้ง

คือข่าวยานเกราะตอนนั้นที่ได้ยินแล้วทำให้ต้องกลับไป ก็พูดว่านักศึกษาเป็นคอมมิวนิสต์ เรารู้ทันทีว่าข้อหานี้มันถึงตายแน่นอน เพราะกระแสคอมมิวนิสต์ตั้งแต่อดีตมาจนถึงวันที่ 6 ตุลา เห็นชัดๆ ว่าจะต้องมีการเข่นฆ่าเกิดขึ้น แล้วเราก็กลัวว่าเอกสารหรือหนังสือจะเป็นชนวนเหตุ ทั้งที่จริงๆ มันไม่มีอะไร

ลองนึกถึงคนหนุ่มสาวอายุ 18-20 มันก็แสวงหา อยากรู้อยากเห็น มันก็อ่าน อาจจะมีหนังสือ “Communist Manifesto”  แล้วก็วรรณกรรมแบบ “การแต่งงานในทัศนะใหม่” “คำตอบอยู่ที่หมู่บ้าน” หรือเป็นบทละครบ้าง แค่นี้แหละ แต่เรารู้สึกว่าเดี๋ยวเขาจะใช้เป็นเหตุบิดเบือน โดยอัตโนมัติเราจึงรู้กัน รวมทั้งพวกรุ่นพี่ที่วิเคราะห์สถานการณ์ได้มากกว่า พวกระดับนายก อมธ. ระดับหัวหน้าชมรมต่างๆ ก็บอกกันว่า ใครมีเอกสารอะไรที่ไม่แน่ใจว่าจะถูกกล่าวหาบิดเบือน ให้ทำลายทิ้ง หนทางเดียวที่จะทำลายก็คือช่วยกันฉีกให้ชิ้นเล็กที่สุด

พอยานเกราะรายงานอย่างนั้น แล้วมันเกี่ยวโดยตรงกับชมรม เพื่อนๆ ในชมรม ได้คุยอะไรกันบ้าง แต่ละคนรู้สึกอย่างไรกับสิ่งที่เกิดขึ้น

เราเป็นลิ่วล้อ เป็นสมาชิกตัวเล็กๆ พวกปีหนึ่งจะไม่ค่อยได้รับรู้อะไรมาก เพราะเพิ่งผ่านการรับน้องมาไม่นาน ยังไม่ชัดเจนว่าใครมีความคิดระดับไหน แต่คนที่เข้าชมรมนาฏศิลป์และการละคร มักถูกพูดถึงเล่นๆ ว่าเป็นพวก “เฮ้าเลี่ยน” ภาษาจีนแปลว่า พวกโชว์ออฟ ชอบแสดงออก “เฮ้าเงี่ย” แปลว่าพวกอยากสวยอยากงาม “เฮ้าเจี้ยะ” พวกชอบกิน พูดง่ายๆ คือคนที่จะเข้าชมรมนี้เป็นพวกสนุกสนาน บันเทิง ไม่ได้เป็นนักทฤษฎีอะไรหนักหนา เขาก็เลยไม่ได้กระจายข้อสรุปหรือข้อวิเคราะห์จากการประชุมให้น้องๆ เฟรชชีในชมรมรับรู้สักเท่าไหร่

แต่ตอนนั้นห้องชมรมนาฏศิลป์และการละครอยู่ข้างล่างห้อง อมธ. เขาก็วิ่งขึ้นลง คุยกันอย่างเคร่งเครียด คนระดับผู้นำนักศึกษาอย่าง ธงชัย วินิจจะกูล, สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล, นายก อมธ. อย่าง พิเชียร อำนาจวรประเสริฐ หรือว่าพวกหัวหน้าชมรม ก็ประชุมกันเคร่งเครียด เข้าใจว่ามีการวิเคราะห์สถานการณ์ วิเคราะห์ได้ความอย่างไรไม่ทราบ อาจวิเคราะห์ว่าจะมีการปราบ มีการกวาดจับเข้าคุกเข้าตารางเหมือนยุคกบฏสันติภาพ แต่ทุกคนคาดไม่ถึงว่ามันจะฆ่าจริงขนาดนี้ แม้แต่ประชาชน หรือนักวิชาการในยุคนั้นก็คาดไม่ถึง

แค่การผูกโยงเรื่องหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ การปลุกปั่นของสื่อ วิทยุ และหนังสือพิมพ์ มันทำให้คนเป็นไปได้ขนาดนั้นเลยหรือ คุณมองเรื่องนี้อย่างไร

มันไม่ใช่แค่การดีดนิ้วทีเดียวจากข่าวแขวนคอเท่านั้น แต่มันมีการสร้างมายาคติ สร้างความเกลียดชัง สร้างภาพจำลองแบบเดียวกับที่เราสร้างภาพให้กับคนเสื้อแดง หรือกลุ่มคนล้มเจ้า เหมือนกันเป๊ะ พล็อตเดียวกันเลย

หนึ่ง สร้างความเป็นอื่น ทำให้กลุ่มคนเหล่านี้ที่ลุกขึ้นมาทำกิจกรรมต่อต้าน วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล หรือตรวจสอบโครงการที่มันฉ้อฉลต่างๆ กลายเป็นพวกไม่หวังดีต่อประเทศชาติ

สอง ทำให้เป็นพวกชังชาติ

สาม ทำให้เชื่อว่ามีใครอยู่เบื้องหลัง มี Mastermind ชักจูง ในยุคนั้น Mastermind อาจจะเป็นพวกคอมมิวนิสต์ ประเทศคอมมิวนิสต์สักประเทศหนึ่ง หรืออุดมการณ์คอมมิวนิสต์สักอุดมการณ์หนึ่ง ซึ่งเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของชาติ โดยสังคมตีความว่าความมั่นคงของชาติคือ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ มาตั้งแต่ไหนแต่ไร

สรุปก็คือ นักศึกษาถูก Dehumanize ว่าชังชาติ เป็นภัยต่อความมั่นคง บ่มความเกลียดชังในหมู่ประชาชนทั่วไป ต้องอย่าลืมด้วยว่าหมู่ประชาชนอยู่ในการศึกษาที่ล้มเหลวมาแต่ไหนแต่ไร ไม่ช่วยให้คิดวิเคราะห์อะไรได้ เรายืนยันมาตลอดว่าสื่อเองก็เป็นการศึกษาตลอดชีวิต (Lifelong Education) ยิ่งในยุคก่อน คนไทยอ่านหนังสือน้อยมาก ข้อมูลข่าวสารที่เขารับรู้ ก็ผ่านสื่อทั้งสิ้น ในยุคที่สื่อร้อนยังมีน้อยหรือไม่เรียลไทม์ หนังสือพิมพ์ถือเป็นสื่อมวลชนเสาหลักที่มีความน่าเชื่อถือ พูดอะไรก็เป็นลายลักษณ์อักษร พูดอะไรก็ Quote ได้ ขุดขึ้นมายืนยันใหม่ได้ ได้รับความเชื่อถือสูงมาก ต้องอย่าลืมด้วยว่า คนทำงานสื่อเองก็คือดอกผลการศึกษาเหมือนเรา เหมือนประชาชนส่วนใหญ่ในสมัยก่อนที่ไม่มี Critical Thinking

ธรรมเนียมปฏิบัติของพวกสื่อคือ ทำข่าวสารที่ได้แหล่งข้อมูลหลักจากรัฐ จากหน่วยงานราชการ โดยมีการศึกษาที่ทำให้เขาไม่ตั้งคำถามอะไรเลยร่วมด้วย มันก็กลายเป็นข่าวสารที่ไหลมาทางเดียว สื่อเป็นทั้งผู้รับสาร และเป็นตัวกลางในการปล่อยสารเหล่านั้นมาให้กับผู้บริโภคอีกที

พอจะมองเห็นภาพไหมว่า สื่ออาจไม่ใช่จำเลยหลักจำเลยเดียว เรามีอคติแห่งชาติในเรื่องศัตรูผู้ไม่หวังดีต่อชาติ มีคนที่เป็นอื่น มีคนชังชาติ มีขบวนการที่ไม่รักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ แล้วเราก็เชื่อว่า ระเบียบสังคม (Social Order) เหล่านี้ดีที่สุด จำเป็นที่สุด กลายเป็นอากาศที่หายใจเข้าไปหล่อเลี้ยง ไหลเวียนอยู่ในสังคมไทยมาหลายชั่วอายุ เป็นลมหายใจ เป็นเนื้อตัว เพราะฉะนั้นเพียงแค่ใครจุดไม้ขีดก้านเดียว มันมีเชื้อเพลิงอยู่ มันก็เผาไหม้ กลายเป็นจุด sensitive ที่ทำให้พร้อมจะเชื่อ

คิดว่าสื่อทำไปอย่างรู้ตัวและประเมินความเสียหายแค่ไหน

ถ้าเอาเฉพาะข่าวแขวนคอ สื่อที่รู้ตัวแล้วจงใจสร้าง Fake News ขึ้นมา เป็นการบิดเบือน (Disinformation) ที่หวังผล ก็อาจจะมีอยู่สักสองฉบับ ก็ต้องเอ่ยชื่อนะ อย่าปากว่าตาขยิบอีกต่อไปเลย คือ ‘ดาวสยาม’ กับ ‘บางกอกโพสต์’ เราเชื่อว่าเขาทำโดยรู้ แล้วก็ทำโดยที่มีเจตนาจะยืนข้างรัฐ ยืนข้างแค่ไหนยังไง ได้อะไรบ้าง อันนี้ไม่รู้ ไม่ขอพูดถึง แต่เจตนาจะยืนข้างรัฐ อาจเพราะอคติที่เขามีอยู่ อย่างที่บอกว่า แนวคิดเกลียดชังผู้ไม่หวังดีต่อชาติและต้องทำลายทิ้งเพื่อรักษาระเบียบสังคม มันอยู่ในสังคมไทยมานาน สื่อก็เป็นส่วนหนึ่งที่สูบเอาอากาศเหล่านี้เข้าไปมาตลอด

คำถามที่ว่า เจตนาเล็งเห็นผลหรือเปล่า อาจจะมี และ To be fair ก็อาจจะไม่มี เพราะเหตุการณ์นี้มันก็เป็นข่าวด้วยตัวของมันเอง สื่อก็นำเสนอข่าวไปว่ามีอะไรเกิดขึ้น แต่ข้อน่าสังเกตก็คือ ถ้ามันเป็นข่าวด้วยตัวของมันเอง ทำไมหนังสือพิมพ์ทุกฉบับไม่นำเสนอภาพนั้นเหมือนกัน บางฉบับที่ออกพร้อมๆ กันแล้วใช้ภาพที่ดูไม่เหมือนก็มี แต่จะมีสองฉบับนี้ ที่เลือกเอาภาพของอภินันท์ที่มีรูปหน้ายาวมาลง ส่วนสื่อที่ไม่ได้มีเจตนาเล็งเห็นผล แค่ทำหน้าที่ ก็จะเห็นได้ชัดว่าเป็นภาพข่าวที่ไม่เหมือน

แต่หลังจากนั้น พอมันมีผู้ร้ายชัดเจน สื่อทั้งหมดก็ทำตัวอยู่ข้างเดียวกับพระเอก ถ้าไปดูพาดหัวหลังจากนั้น สื่อเป็นผู้ช่วยพระเอกทำนองเดียวกันหมดเลย

สุชาดา จักรพิสุทธิ์

หลังจากผ่านเหตุการณ์ 6 ตุลา และหลังเข้าป่า คุณตั้งใจจะทำสื่อ ความตั้งใจนี้เริ่มมาตอนไหน

ตั้งแต่อยู่ในเหตุการณ์ ในขณะที่ยังหน้าสิ่วหน้าขวานด้วยซ้ำ เรารู้สึกว่านี่มันเป็นเพราะสื่อ ตอนนั้นยานเกราะออกอากาศอยู่ตลอดเวลาว่านักศึกษามีอาวุธ นักศึกษาเป็นลูกญวน นักศึกษาเป็นคอมมิวนิสต์ แล้วตั้งแต่เด็กๆ เราเองได้เห็นโปสเตอร์ภาพวาดคอมมิวนิสต์ที่น่าเกลียดน่ากลัว ภาพคอมมิวนิสต์เอาคนไปทำนาแทนควาย เข้าใจว่าคนไทยถูกยัดภาพจำคอมมิวนิสต์ และพวกศัตรูแห่งชาติเอาไว้แบบนี้ เพราะฉะนั้น วาทกรรมของสื่อในยุค 6 ตุลา จึงทำงานได้ผล

ตอนอยู่ในป่า นานๆ ครั้งจะได้เห็นหนังสือพิมพ์หลังเหตุการณ์ 6 ตุลา มันก็รุนแรงอย่างที่เห็น แล้วเราก็จะอ่านกันทั้งกองทัพ เหมือนอ่านหน้าเสาธง บางทีมีวิทยุคลื่นสั้นก็เอามาเล่าข่าว เราก็รู้สึกโกรธแค้นที่สื่อตกเป็นเครื่องมือฝ่ายรัฐซะขนาดนั้น ไม่มีวิจารณญาณซะขนาดนั้น เหมือนเหยียบย่ำซ้ำเติมชะตากรรมของสังคม

วินาทีนั้นรู้สึกว่า “นี่มันอิทธิฤทธิ์ของสื่อ” สิ่งที่เกิดขึ้นสื่อมีส่วนอย่างมาก ตอนเข้าป่าอาจไม่ได้เห็นภาพอนาคตว่าจะออกมาตอนไหน ยังไง เราเชื่อว่านักศึกษาจำนวนมากที่เข้าป่าตอนนั้นก็มีภาพอนาคตชุดเดียวกัน ที่เป็นการปลอบโยนตัวเองว่า เราจะกลับมาเมื่อได้ไปปักธงกลางนคร เมื่อเราได้ชัยชนะ

แต่เมื่อพ้นช่วงเหตุการณ์วิกฤต และคิดอะไรได้มากขึ้น เรามาทำงานใต้ดิน เป็นเมลหรือตัวกลางระหว่างคนที่ยังอยู่ในป่ากับครอบครัวเขา ทำให้ตัวเองติดตามข่าวสารข้อมูลมากขึ้น ความคิดของเราก็เริ่มก่อตัวขึ้นมาว่า “สื่อแม่งไม่เคยเปลี่ยน ไม่เคยเปลี่ยนเลย” และ “กูจะทำงานสื่อ กูจะเป็นสื่อที่ไม่ทำแบบที่พวกมึงทำ” ไม่อยากใช้คำว่าอุดมการณ์หรืออุดมคตินะ แต่เราจะเป็นสื่อที่ควรจะเป็น อารมณ์นั้นมันรุนแรงถึงขั้นสาบานกับตัวเองเลยว่าจะทำงานสื่อ

ยุคนั้นมีสื่อไหนได้รับผลกระทบจากการทำสิ่งที่ควรทำไหม เป็นอย่างไร

ยุคนั้นสื่อไม่ได้ทั่วถึงมากมาย คนได้รับสื่อจากวิทยุ วิทยุอาจมีบทบาทมากกว่าหนังสือพิมพ์ด้วยซ้ำ แต่หนังสือพิมพ์มันได้เห็นภาพ ส่วนทีวี ก็จะช้ากว่าวิทยุ ตามเทคโนโลยีการส่งสัญญาณสมัยก่อน เรานึกถึงอาจารย์สรรพสิริ วิรยศิริ ผู้อำนวยการช่อง 9 ณ ตอนนั้น ช่อง 9 เป็นทีวีช่องเดียวที่เอาเหตุการณ์ 6 ตุลา มาถ่ายทอด แล้วก็ถูกทำให้จอดับกลางอากาศ อาจารย์สรรพสิริต้องหนีภัยไปอยู่ในป่าแถวกาญจนบุรี แต่แกไม่ได้เข้าป่าไปกับ พคท. (พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย) นะ ตอนหลังที่เราได้ทำนิตยสารสารคดีก็ได้เจอกับท่าน กลายเป็นเพื่อนต่างวัยที่กอดคอกันร้องไห้ แกเป็นสื่อมวลชนอาชีพเนอะ แกแค่อยากจะทำงานตามอาชีพ ตามปณิธานของแกว่าสื่อต้องทำความจริงให้ปรากฏเท่านั้นเอง แต่ก็ต้องประสบชะตากรรมแบบนี้

พอจะได้เห็นข่าวหลังเหตุการณ์วันที่ 6 ตุลา บ้างไหม เช่น ภาพความรุนแรงที่มาพร้อมกับข้อความเล็กๆ น้อยๆ แสดงความรู้สึกราวกับสะใจ คุณรู้สึกอย่างไร

ต้องบอกเลยว่าเป็นภาพที่เราปฏิเสธที่จะดูตลอดมา มันเป็นอาการทางร่างกายที่จะคลื่นไส้ อยากจะอาเจียน ดูไม่ได้เลย โดยเฉพาะภาพที่ไม้หน้าสามทะลวงอวัยวะเพศนักศึกษาผู้หญิง หรือภาพที่…พูดแล้วก็ขนลุกทุกที ภาพที่คนยืนรายล้อมกันดูเก้าอี้ฟาดศพแล้วก็หัวเราะ ภาพผูกคอศพแล้วลากไปกลางสนาม มันน่าอาเจียนจริงๆ นะ

เพราะฉะนั้นเราก็ปฏิเสธที่จะดูมันตลอด แม้แต่ภาพยนตร์หรือหนังสือที่มีฉากเหตุการณ์คล้ายคลึงกัน เราก็ดูไม่ได้ เช่น หนังเรื่องคานธี ที่คานธีชูแนวคิดอหิงสา ไปทำนาเกลือแล้วเมื่อทหารมาห้าม คานธีก็ขอให้ทุกคนนั่งอยู่ในความสงบ ทหารก็ตีเอาทุบเอาจนคนล้มลงเลือดสาด หรือว่าเรื่อง ‘The Killing Fields’ หรือ วรรณกรรมเรื่อง ‘6 ปีนรกในเขมร’ ก็อ่านไม่ได้ ดูไม่ได้

มาวิเคราะห์กับตัวเองได้ว่า เป็นอาการทางจิตที่รู้สึกว่าตัวเองถูกกระทำ ท่ามกลางความไม่เป็นธรรมอย่างถึงที่สุด ไม่จริงอย่างถึงที่สุด เลวร้ายอย่างถึงที่สุด มันเป็นอาชญากรรมของรัฐ (State Crime) ซึ่งให้คิดยังไง คิดจนหัวทะลุก็ไม่สามารถจะเข้าใจได้ว่า ทำไม ทำไมมีรัฐที่ฆ่าประชาชน ไม่ว่าประชาชนจะทำผิดแค่ไหน เช่นไม่เสียภาษี หนีรัฐ ไม่ยอมถูกเกณฑ์ส่วยแรงงาน หรืออะไรก็ตามตั้งแต่อดีต ก็ไม่มีรัฐที่จะฆ่าประชาชนได้ มันไม่สามารถจะเข้าใจได้ ไม่ว่าจะคิดด้วยอะไร

เมื่ออยู่ในสภาวะเจ็บปวดมานาน อะไรที่ทำให้กลับมาดู มาพูดถึงมันได้อย่างทุกวันนี้

เราพยายามที่จะเป็นนกกระจอกเทศเอาหัวซุกทราย คือไม่ต้องคิด ไม่ต้องดู ไม่ต้องรู้ ไม่ต้องเห็น แต่โชคดีหรือโชคร้ายก็ไม่รู้ที่อายุยืนพอสมควร จนถึงจุดที่โลกมันเปลี่ยน ตัวเราเองก็เปลี่ยน คนอื่นที่ร่วมยุคสมัยกับเราก็เปลี่ยน ยุคสมัยของเรามีคนอย่างธงชัย วินิจจะกูล มีคนอย่าง พวงทอง ภวัครพันธุ์ ที่ลุกขึ้นมาเป็นแนวหน้าในการบันทึกความจริง ทำให้เราฉุกใจคิดว่า แล้วเราจะเอาหัวซุกทรายต่อไปหรือ แค่หันหน้ามาเผชิญกับความจริง นี่มันน้อยที่สุดแล้วนะ ทำไมยังทำไม่ได้ แล้วคุณจะสู้กับความไม่เป็นธรรม การบิดเบือนความจริง คุณจะสู้กับความเท็จขนาดนี้ได้ยังไง เราจึงตัดสินใจเลย ต่อไปนี้จะพูดเมื่อมีโอกาสได้พูด เราจะดูมัน เราจะอาสา

จากที่เคยรู้สึกว่าตัวเองเป็นผู้เล่นในภาพยนตร์เรื่องนี้ พอนานเข้า มันก็เหมือนเราเป็นฝ่ายดูหนัง ไม่ใช่ตัวแสดงที่อยู่ในหนังเรื่องนั้น อารมณ์มันก็ต่างออกไป พูดง่ายๆ ว่าเวลาที่เรารู้สึกว่าเราเป็นผู้แสดงเอง เรามองไม่เห็นคนดู มองไม่เห็นคนอื่นๆ ของหนังเรื่องนั้น นอกจากบทบาทที่เราเล่นอยู่และสิ่งที่เราประสบพบเจอ

แต่พอเวลาผ่านไป วุฒิภาวะมากขึ้น พอเริ่มที่จะเป็นคนดูหนังเรื่องนั้นได้ มันก็เห็นรายละเอียดมากขึ้น คิดได้มากขึ้นทั้งในฐานะที่ตัวเองมีส่วนร่วม และในฐานะที่ตัวเองเป็นคนมองเห็นมัน แล้วรู้ว่ามันเกิดซ้ำยังไง รู้ว่าสาเหตุที่แท้จริงของมันไม่เคยเปลี่ยน อำนาจชนิดไหนที่ไม่เคยเปลี่ยน ปัญหาการศึกษาไทยแบบไหนที่มันล้มเหลวไม่เคยเปลี่ยน สื่อมีปัญหาอะไรที่ไม่เคยเปลี่ยน มันคิดได้มากขึ้น

พาดหัวข่าวที่ว่า “ศูนย์ฯ เหยียบหัวใจคนไทยทั้งชาติ” ภาพจำของสื่อยุค 6 ตุลา เป็นตัวอย่างอันดีที่แสดงว่าสื่อเอนเอียงไปทางไหน หากมองกรณีสื่อยุค 6 ตุลา ไปพร้อมกับปัจจุบัน ‘ความเป็นกลางของสื่อ’ มีจริงไหม สำคัญหรือไม่

มันเป็นข้อถกเถียงมาหลายทศวรรษแล้ว ต้องออกตัวก่อนว่าคำตอบของเรามีทั้งข้อถกเถียงทางวิชาการด้วย และความเห็นส่วนตัวของเราด้วย ข้อถกเถียงทางวิชาการซึ่งยังไม่เป็นที่ยุติก็คือ ยุคปัจจุบันที่สังคมสลับซับซ้อน ข่าวก็สลับซับซ้อนด้วย ปัจจัยของการเกิดข่าวไม่ใช่แค่เมาแล้วขับจนเกิดอุบัติเหตุ แต่มีบริบทอย่างอื่นอีกเยอะมาก เพราะฉะนั้นการที่คุณจะพูดอะไรที่นอกเหนือไปจาก What happened ก็ต้องอาศัย Critical Thinking อาศัยการทำการบ้าน ความขยันหาข้อมูล และการทำงานหนัก ซึ่งฝ่ายหนึ่งก็จะถกเถียงว่า มันไม่ทันการณ์กับอาชีพผู้สื่อข่าวหรอก ดังนั้น ความเป็นกลางของสื่ออย่างง่ายที่สุดที่จะแสดงออกมา ก็คือการให้ทุกฝ่ายได้พูด

ทีนี้ถ้าสมมติว่าผู้สื่อข่าวตื้นเขิน ให้ทุกฝ่ายได้พูด แล้วคิดอยู่เสมอว่าแต่ละเรื่องมีเพียงสองฝ่าย ซึ่งจริงๆ เรื่องราวอาจมี 3 ฝ่าย 10 ฝ่าย แต่คุณไม่ขยันพอที่จะให้ 3-10 ฝ่ายนั้นได้พูด คุณเอาแค่ฝ่ายที่หนึ่ง ฝ่ายที่สอง อาจจะแถมฝ่ายที่สามที่พอดีเดินผ่านมานิดนึง (หัวเราะ) ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นคือข้อมูลนั้นอาจเอียงข้างไปโดยไม่รู้ตัว ไม่รู้ตัวเพราะคุณไม่มี Critical Thinking พอปัญหามันพัวพัน มันก็ฟันฉับๆ ไม่ได้ ข้อมูลเลยไม่เป็นกลางเพราะคุณไม่มีกึ๋น

ข้อถกเถียงก็เลยบอกว่า ความเป็นกลางจริงๆ นี่มันไม่มี เพราะสังคมสลับซับซ้อน ข่าวมีหลายเลเยอร์ เรารู้ได้ไม่หมดหรอกด้วยเวลาอันสั้น ด้วยบทบาทหน้าที่ที่ต้องรวดเร็ว ต้องทำให้คนได้รับรู้ข่าวสารทันท่วงที ด้วยการแข่งขันของสื่อ ยิ่งทุกวันนี้แข่งกับโซเชียลมีเดียอีก มันยิ่งกว่าเรียลไทม์ ไม่มีเวลาที่จะมาเช็คข้อมูลหรอก เพราะฉะนั้นความเป็นกลางจริงๆ ในทางปฏิบัติเลยไม่เกิดขึ้น

แต่มันก็มีอีกฝ่ายหนึ่งที่ถกเถียงว่า ความเป็นกลางไม่มีก็ได้ แต่ความเป็นธรรมต้องมี ถ้าคุณตีโจทย์ว่าความเป็นธรรมกับผู้ตกเป็นข่าว หรือความเป็นธรรมกับ Stakeholder ทั้งหมดในข่าวนั้นจำเป็นต้องมี คุณก็จะใช้จิตใจที่รักความเป็นธรรมในการชั่งน้ำหนักว่า หากคุณสัมภาษณ์แค่หนึ่งกับสอง แต่ฝ่ายที่หนึ่งเสียหายหนักหนาสาหัส ตายทั้งครอบครัว 9 ชีวิต ส่วนฝ่ายที่สองเป็นแค่นักการเมือง มีอิทธิพล คุณต้องให้ฝ่ายที่หนึ่งซึ่งมีคนอีก 9 ชีวิตที่เสียไป ได้พูดมากกว่าฝ่ายที่สอง คนมักจะคิดว่าความเป็นกลางคือคณิตศาสตร์หารสอง แต่ความเป็นธรรมไม่ใช่คณิตศาสตร์ มันคือความครบถ้วน ใจเขาใจเรา มีฝ่ายที่เสียหายมากกว่า สูญเสียมากกว่า ด้วยจำนวนที่เยอะกว่า มีผลกระทบต่อส่วนรวมและต่อประโยชน์สาธารณะที่มากกว่า

สมมติคุณจะทำข่าวคอร์รัปชันสักโครงการ มีนักการเมืองคนเดียวที่ตกเป็นจำเลย แล้วคุณก็ไปถามพวก NGO ที่ขุดคุ้ยเรื่องนี้กับนักการเมือง คุณคิดว่าข่าวนี้พอแล้ว แบบนี้คือหารสอง แต่ถ้าคุณคิดถึงความเป็นธรรม เรื่องนี้มันไปเกี่ยวกับองค์กรปกครองท้องถิ่น เกี่ยวกับเขย สะใภ้ ของผู้มีอำนาจ ไปจนถึงธุรกิจเอกชนอีก 3 เจ้า น้ำหนักมันเอียงมาตรงนี้ คุณก็ต้องลงลึกไปตรงที่มันเอียงมา ถึงจะได้ข้อมูลข้อเท็จจริงที่เป็นธรรมกับประเด็น กับผู้ที่ตกเป็นข่าว กับแหล่งข้อมูล และผู้บริโภค

เมื่อไหร่ที่คุณคิดแทนผู้บริโภคว่าเขาจะเกิดคำถามอะไร แล้วคุณต้องไปหาสิ่งนั้นมา นี่แหละคือความเป็นธรรมในข่าว

แล้วจะทำอย่างไรกับฝั่งที่บอกว่า จะเรียกร้องอะไรจากผู้สื่อข่าวขนาดนี้ มันไม่เยอะหรือลำบากเกินไปหรือ

เอาแค่ว่าคุณเห็นปัญหาของตัวเอง เห็นปัญหาของเพื่อนร่วมอาชีพหรือเปล่า ถ้าเห็นแล้วบอกตัวเองว่ามันเป็นปัญหา คุณก็ต้องแก้ แล้วทุกวันนี้ปัญหามันก็ตีกลับเหมือนกรรมตามสนอง คือสื่อมวลชนเองไม่ได้รับการยอมรับนับถือ เครดิตเสื่อมถอยไปมาก อย่ามาโทษว่าเพราะคอนเทนต์ หรือว่าโซเชียลมีเดีย คุณก็ยังคิดว่าวิชาชีพของคุณมันศักดิ์สิทธิ์ มันคือฐานันดรที่ 4 มันสูงส่งกว่าคนอื่น คนอื่นไม่ใช่มืออาชีพ มีแต่คุณเท่านั้นที่ใช่ แต่มืออาชีพน่ะไม่ได้สำคัญเท่ากับวิธีคิด ไม่สำคัญเท่าการมองเห็นว่าอะไรเป็นข่าว อะไรไม่ใช่  ไม่สำคัญเท่าการบอกตัวเองว่า คุณจะเป็นสื่อไปหาอะไร ถ้าไม่ทำในสิ่งที่ต้องทำ

เราต้องการสื่อที่มีจิตใจอ่อนไหว รู้ทุกข์รู้สุขของคนอื่น ภาษาฝรั่งใช้คำว่า ‘take role’ คือการคิดถึงคนอื่นอย่างเข้าใจ เช่น ถ้าเราเป็นเขาแล้วจะเป็นยังไง ถ้าเขาประสบเหตุ ถูกฆ่า จะเป็นยังไง น้ำท่วม ทุกข์ยากขนาดไม่มีจะกิน มันเป็นยังไง ถ้าเรามีสื่อที่ take role เป็น เข้าใจทุกข์ของคนอื่น สื่อจะ sensitive และวิเคราะห์ปัญหาได้ถูกต้องมากกว่านี้ รู้ว่าควรจะยืนอยู่ข้างไหนได้มากกว่านี้ ซึ่งการศึกษาไทยล้มเหลวอย่างยิ่งในการทำให้เราและคนทุกอาชีพเข้าใจความทุกข์ความสุขของคนอื่น

ถ้าใช้กรอบนี้ สื่อแบบดาวสยามถือว่าสอบตกทุกข้อเลยที่พูดมาไหม

คนที่เคยทำงานดาวสยามที่ยังมีชีวิตอยู่ก็ช่วยให้คะแนนตัวเองด้วย นักวิชาการด้านสื่อสารมวลชน คนที่ยังประกอบอาชีพสื่อ หรือยังอยู่ในองค์กรอาชีพสื่อก็ได้ ช่วยลุกมาให้คะแนนด้วย

สุชาดา จักรพิสุทธิ์

สมมติว่าเกิดเหตุการณ์ที่สื่อทำกิริยาเหมือนตอน 6 ตุลาอีก คิดว่ามันจะยังได้ผลไหม หรือจะเกิดอะไรขึ้น

คือสมัย 6 ตุลาฯ มันมี agent ที่ลงมือกระทำ ไม่ว่าจะเป็นกระทิงแดง หรือลูกเสือชาวบ้าน ที่ชวนเชื่อว่าต้องลงมือฆ่า ลงมือฟาดฟัน ถึงจะกำจัดความเสี่ยงของประเทศชาติได้ ทำให้คนส่วนใหญ่รู้สึกว่า เออ ต้องทำ ต้องเข้าไปมีส่วนร่วม แต่บริบทสังคมมันเปลี่ยนไป ถ้ามันหวนกลับมาอีก แล้วเป็นอีเวนต์ใหญ่ถึงขั้นตีกันตาย เอากันจนตายกลางเมือง โดยชัดว่าเป็นอำนาจรัฐ เช่น กรณีคนในเครื่องแบบตีนักกิจกรรมที่มีชื่อเสียงโด่งดัง แบบจ่านิวเนี่ย ถ้าตายกลางเมือง ก็คงมีนักกิจกรรม มีนักวิชาการ มีผู้รักความเป็นธรรมจำนวนหนึ่ง ตัดสินใจลงถนน ชูป้ายเรียกร้องให้ค้นหาความจริงหรือจัดการกับเรื่องนี้ เอาคนผิดมาลงโทษ แต่เพราะโลกมันเปลี่ยนไป ก็อาจมีคนอีกจํานวนหนึ่งที่บอกว่า กูตามดูจากโซเชียลก็ได้ ไม่ต้องไปเอง (หัวเราะ)

ฉากที่รู้ว่ามีแน่ๆ ก็คือ จะมีสื่อเลือกข้าง นำเสนอข่าวนี้แบบเชียร์ฝ่ายรัฐ หรือผลิต fake news ว่ามีคนอยู่เบื้องหลัง มีมือที่สาม เพื่อหวังให้เกิดความรุนแรงแตกหัก เกิดความเข้าใจผิด มันเดาได้เลยว่าพล็อตจะเป็นแบบนี้

แต่มันจะบานปลายจนถึงขั้นที่ทุกคนต้องออกมาจากบ้านไหม ก็ไม่ ถึงจุดหนึ่งที่คนระบายความโกรธ อาจเป็นจุดสะเทือนใจ จากน้ำผึ้งหยดเดียว แต่จะถึงขั้นใส่เครื่องแบบยิงปืนแบบเมื่อตอน 6 ตุลาไหม ก็คงไม่ได้ กล้องเอย สื่อพลเมืองเอย มือถือเอย มันมีทุกที่ทุกทาง มันฟ้องร้องกับสาธารณะได้ตลอด

 

ถ้าให้เลือกคำสักคำในการบอกความเป็นไปของสื่อจนทุกวันนี้ จะใช้คำว่า “ไม่เปลี่ยน” ไหม

เอาเป็นว่าสื่อ “ไม่รู้เท่าทัน” ดีกว่า อยากใช้คำนี้ เวลาเราพูดถึงเรื่องการรู้เท่าทันสื่อ พูดถึงผู้บริโภคสื่อ พูดถึงสังคม พูดถึงเด็กเยาวชน พูดถึงอะไรเยอะแยะไปหมด แต่เราไม่ได้พูดถึงตัวสื่อเอง สื่อเองไม่รู้เท่าทันสื่อ ไม่รู้ว่าตัวเองสามารถสร้างภาพจำ สร้างมายาคติส่งเสริมรัฐตรงส่วนไหน สร้างความเท็จให้กลายเป็นความจริงได้ยังไง

สื่อไม่รู้ตัวเองกระทั่งว่า ข่าวหลายๆ ข่าวที่คุณเสนอไป มันให้ผลยังไงกับคนอ่านที่หลากหลาย สื่อไม่รู้ตัวแม้กระทั่งว่า เวลาที่คุณออกทีวีแล้วถือไมค์พูดกับชาวบ้าน สัมภาษณ์ชาวบ้านว่า “แล้วเราไม่ทำอะไรกับเรื่องนี้หรอ” นี่ยกตัวอย่างอย่างเล็กๆ แล้วนะ สื่อไม่เห็นตัวเองเท่าเทียมกับคนที่ตกเป็นข่าว สื่อไม่รู้ตัวเองว่า take role ไม่เป็น ไม่มี critical thinking ไม่รู้ตัวว่าความเป็นกลางกับความเป็นธรรมไม่เหมือนกัน และสื่อก็ไม่รู้ตัวว่า ไม่รู้ตัว

คุณรับใช้อำนาจมาแล้วขนาดไหน และยังคงรับใช้อยู่ แต่คิดว่าตัวเองเป็นอาชีพพิเศษ เราจะอ้วกนะ กับไอ้สื่อทำเนียบที่แต่งชุดนักเรียนอนุบาลไปประจบหัวหน้าคณะรัฐประหาร แสดงว่าแยกไม่ออกเลยว่าอำนาจที่ได้มาจากการรัฐประหาร มันเรียกว่าชอบธรรมหรือไม่ ต้องประจบขนาดนี้เลยหรือ แล้วพอมีสื่ออื่นเกิดขึ้นจำนวนมาก ก็ไปดูถูกเขาอีก นี่ไง คุณไม่เคยเห็นว่าต้องเท่าเทียมกับคนอื่น เมื่อไหร่สื่อจะรู้ตัว เมื่อไหร่สื่อจะรู้เท่าทัน

หลังออกจากป่าและกลับไปเรียนในคณะวารสารศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ก่อนจะมาเป็นสุชาดาที่เป็นสื่ออย่างทุกวันนี้ คุณเขียนกวีขึ้นบทหนึ่งเกี่ยวกับชีวิตหลังจากเหตุการณ์ เล่าให้ฟังได้ไหม

มันก็เป็นความเศร้า ความเหงา ไม่ใช่เศร้าแบบคนอกหักอะไรอย่างนั้น แต่มันเศร้าแบบไม่เห็นมีใครสนใจ ไม่เห็นมีใครรับรู้ หรือรู้สึกรู้สากับสิ่งที่เคยเกิดขึ้นที่นี่เลย เหมือนกับไม่เคยมีสิ่งนี้เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ของธรรมศาสตร์ ในสังคมไทย สื่อก็ไม่มีอีกแล้ว

บางคนเขาว่า 14 ตุลา เหมือนเป็นชัยชนะของขบวนการคนหนุ่มสาว แต่ 6 ตุลาคือความพ่ายแพ้สูญเสีย มันก็ทำนองนั้น คือเหมือนเราเป็นผู้แพ้ คนเขาก็ระมัดระวัง ไม่อยากมาใกล้เรา รักษาระยะห่างกับเรา เพราะเราเป็นพวกผู้แพ้ อาจจะมีน้อยคนที่อยากรู้ อยากเห็น อยากให้เราเล่าให้ฟัง เพราะฉะนั้นความเศร้าอันนี้มันเป็นความเศร้าต่อ Ignorance ของสังคม ต่อ Ignorance ของประชาคมธรรมศาสตร์ เราก็เขียนกวีอยู่เรื่อยๆ ได้ตีพิมพ์ในยุคนั้นด้วย เขาเรียกกันว่าเป็นกวีบาดแผล วรรณกรรมบาดแผล เราก็ได้ชื่อว่าเป็นพวกกวีบาดแผลคนหนึ่ง (หัวเราะ)

ยังเก็บเอาไว้อยู่นะ เป็นลายมือที่เขียน ท่อนสุดท้ายคือ “เดินเงียบๆ เหยียบรอยเลือด ใจเผือดเศร้า แดดทอดเงาตามตนบนทางผ่าน แต่ละก้าวร้าวรันทดทรมาน ในวิญญาณกลับตระหนักรักการเดิน”

การเดินของเราเป็นนัยยะว่า มันหยุดไม่ได้ เรายังรักที่จะอยู่บนเส้นทางนี้ เส้นทางที่คิดว่า คนเราเกิดมาต้องทำประโยชน์ให้ส่วนรวม

MOST READ

Politics

11 Mar 2019

‘ฝ่ายประชาธิปไตย-ฝ่ายเผด็จการ’ ‘คนรุ่นเก่า-รุ่นใหม่’: ขั้วความขัดแย้งในการเมืองไทยหลังคสช.

จันจิรา สมบัติพูนศิริ ตั้งข้อสังเกตถึงการสร้าง ‘ความปรองดองแบบคสช.’ ที่ไม่ได้ช่วยสลายความขัดแย้ง แต่ได้เปลี่ยนรูปร่างหน้าตาขั้วความขัดแย้ง ‘เสื้อเหลือง-เสื้อแดง’ ให้แบ่งฝ่ายความขัดแย้งใหม่เป็น ‘คนรุ่นเก่า-คนรุ่นใหม่’ อันมีใจความอยู่ที่โลกทัศน์มากกว่าเรื่องอายุ

จันจิรา สมบัติพูนศิริ

11 Mar 2019

Politics

21 May 2021

โรคร้ายในแดนสนธยา : คุยกับ สมยศ พฤกษาเกษมสุข เมื่อเรือนจำติดเชื้อ

คุยกับ สมยศ พฤกษาเกษมสุข นักกิจกรรมการเมือง ถึงปัญหาโรคระบาดในเรือนจำ ในฐานะที่เขาเพิ่งก้าวออกจากเรือนจำในช่วงเดือนที่ผ่านมา

วจนา วรรลยางกูร

21 May 2021

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save