fbpx

อบต. – การปกครองท้องถิ่นของคนส่วนใหญ่ของประเทศที่ถูกด้อยค่า

องค์การบริหารส่วนตำบลหรือที่เรียกกันจนติดปากว่า ‘อบต.’ ไม่ใช่การปกครองท้องถิ่นรูปแบบใหม่หลังสุดของไทย หากแต่ถือกำเนิดตั้งแต่ปี 2499 ในช่วงปลายของจอมพล ป.พิบูลสงคราม ไล่หลังสุขาภิบาล (2495) และ อบจ. (2498) แต่ด้วยจอมพล ป. ต้องสิ้นสุดอำนาจลงเมื่อถูกจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์รัฐประหารเสียก่อน อบต. ที่ก่อตั้งขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าวมีเพียง 59 แห่งทั่วประเทศเท่านั้น[1] 

ต่อมาในสมัยจอมพล ถนอม กิตติขจร หลังการทำรัฐประหารตนเองแล้ว เมื่อปี 2515 ได้มีประกาศคณะปฏิวัติออกมายุบเลิก อบต. ให้เหลือเพียง ‘สภาตำบล’ ซึ่งไม่เป็นทั้งนิติบุคคลและไม่มีฐานะเป็นราชการส่วนท้องถิ่น และยึดโครงสร้างการบริหารแบบคณะกรรมการเหมือนสุขาภิบาลในขณะนั้น ที่มิได้แยกฝ่ายสภากับฝ่ายบริหารออกจากกัน ประกอบด้วยกรรมการ 3 ประเภทคือ กลุ่มที่เป็นโดยตำแหน่ง ได้แก่ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และแพทย์ประจำตำบล กลุ่มที่มาจากการเลือกตั้ง หมู่บ้านละ 1 คน และกลุ่มที่มาจากการแต่งตั้งคือ ครูประชาบาล (ในฐานะเลขานุการ) โดยมีปลัดอำเภอหรือพัฒนากรท้องที่เป็นที่ปรึกษา สภาตำบลจึงเป็นเพียงองค์กรที่คอยรับฟังคำบัญชาและรอความช่วยเหลือจากทางราชการฝ่ายเดียว โดยเฉพาะด้านงบประมาณ

อบต. ที่เรารู้จักทุกวันนี้จึงไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกันกับ อบต. ในยุคแรก แต่เป็นผลจากการรอมชอมอีกครั้งสำคัญ ท่ามกลางกระแสปฏิรูปการเมืองหลังเหตุการณ์นองเลือดช่วงเดือนพฤษภาคม 2535 ระหว่างนโยบายของพรรคการเมืองที่ชนะการเลือกตั้ง ซึ่งมีจุดยืนเรื่องการกระจายอำนาจเหมือนกันนั่นคือ เสนอให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ ทุกจังหวัดเหมือนกรุงเทพฯ กับทางออกของกระทรวงมหาดไทยซึ่งไม่เห็นด้วย จึงเบี่ยงเบนเป้าหมายเปลี่ยนไปเป็นการรื้อฟื้น อบต. กลับมา ทั้งด้วยข้อจำกัดของความเป็นรัฐบาลผสม และความแข็งแกร่งของฝ่ายข้าราชการประจำ[2] นำไปสู่การตราพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537 ของรัฐบาลชวน หลีกภัย ระบุให้ยกฐานะสภาตำบลที่มีรายได้เฉลี่ย 3 ปีติดต่อกัน 150,000 บาท ขึ้นเป็น อบต. มีฐานะเป็นหน่วยการปกครองท้องถิ่นและนิติบุคคล

จากจำนวนสภาตำบลประมาณ 7,000 กว่าแห่งทั่วประเทศ ในปี 2538 ได้รับการจัดตั้งเป็น อบต. 617 แห่ง ปี 2542 เพิ่มเป็น 6,397 แห่ง กระทั่งปี 2547 มีมากที่สุดถึง 6,744 แห่ง ก่อนที่ปี 2560 จะลดลงเหลือ 5,334 แห่ง และปัจจุบันมีทั้งสิ้น 5,300 แห่ง สาเหตุเนื่องจาก อบต. จำนวนหนึ่งตัดสินใจขอยกฐานะขึ้นเป็นเทศบาลเพื่อให้มีศักยภาพที่จะทำอะไรๆ ได้เพิ่มขึ้นนั่นเอง

ลักษณะเชิงพื้นที่ที่เด่นชัดของ อบต. คือ มีความเป็นชนบทสูง และประชากรอาศัยอยู่เบาบาง ซึ่งเดิม อบจ. เคยดูแลเขตเหล่านี้มาก่อน แต่เมื่อ อบต. ทยอยตั้งกินพื้นที่ของ อบจ. ไปเรื่อยๆ อบจ. จึงถูกปรับบทบาทให้เป็น อปท. ขนาดใหญ่ที่รับผิดชอบเต็มพื้นที่จังหวัดซึ่งทับซ้อนกันกับ อปท. ขนาดเล็กระดับพื้นที่อย่างเทศบาลกับ อบต.

จากประชากรทั่วประเทศ 66,186,727 คน มีชื่ออยู่ในเขต อบต. 43,375,396 คน คิดเป็น 65.53% (ข้อมูลจำนวนประชากรจากการทะเบียนปี 2563 ของกรมการปกครอง[3]) โดยในจำนวนนี้เป็นผู้ที่มีสิทธิเลือกตั้งราว 34 ล้านคน เทียบกับการเลือกตั้งเทศบาลช่วงเดือนมีนาคมที่มีประมาณ 24 ล้านคน มากกว่ากันร่วม 10 ล้านคน จึงพูดได้อย่างเต็มปากว่า อบต.คือการปกครองท้องถิ่นของคนส่วนใหญ่ของประเทศ แต่อย่างไรก็ดี เราใช้ประโยคนี้ไม่ได้กับทุกจังหวัด เพราะหลายจังหวัดก็มีสัดส่วนของ อบต. ที่น้อยมาก เช่น ลำพูน ภูเก็ต ชัยนาท (ดูข้อมูลในตาราง[4])

ลำดับจังหวัดอบต.อปท. ทั้งหมด  ไม่รวม อบจ.ร้อยละ
1นครราชสีมา24333372.97
2ศรีสะเกษ17921682.87
2อุบลราชธานี17923875.21
4บุรีรัมย์14520869.71
5สุรินทร์14417283.72
72สมุทรสาคร223757.89
73ชัยนาท205933.89
74ระนอง183060.00
75ลำพูน175729.82
76ภูเก็ต61833.33
รวมทั้งประเทศ5,3007,77268.19

ขณะเดียวกัน อบต. กลับเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ถูกด้อยค่ามาแต่ไหนแต่ไร ดูได้จากคำค่อนขอดไปยัง อบต. ที่มีต่างๆ นานา ไม่ว่า “อมทุกบาททุกสตางค์” “อาจบาดเจ็บถึงตาย” “เอาบ่าแต๊” (ภาษาเหนือหมายถึง “ไม่จริงจัง”)

แน่ละ อบต. มีพัฒนาการมาไม่นานนัก เนื่องจากเพิ่งทยอยจัดตั้งราวปี 2538-2539 รวมแล้วประมาณ 20 ปีเศษ ผ่านจนขณะนี้แล้วบางแห่งยังไม่มีอาคารสำนักงานของตัวเองเสียด้วยซ้ำ

อบต. ใช้โครงสร้างรูปแบบสภา-ผู้บริหารที่ในช่วงแรกๆ มีลักษณะเป็นภาคขยายของส่วนภูมิภาค และการปกครองท้องที่อันมีกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และแพทย์ประจำตำบลเป็นสมาชิกโดยตำแหน่ง และให้กำนันเป็นประธานคณะกรรมการบริหาร (ต่อมาก็คือตำแหน่งนายก อบต.) ไม่ยอมให้สมาชิกประเภทที่ประชาชนเลือกเข้าไปได้แสดงบทบาทมากนัก

ต่อมาภายหลังประกาศใช้รัฐธรรมนญปี 2540 รัฐธรรมนูญระบุชัดว่าสมาชิกสภาท้องถิ่นต้องมาจากการเลือกตั้ง และให้ผู้บริหารท้องถิ่นมีที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงหรือฝ่ายบริหารมาจากความเห็นชอบของสภา ในช่วงนี้เอง อบต. กลับต้องเผชิญปัญหาการเมืองไร้เสถียรภาพ เนื่องจากสมาชิกที่ได้เลือกตั้งโดยมาเป็นแบบต่างคนต่างมา ไม่ได้มีกลุ่มก้อนทางการเมือง และเงื่อนไขการดำรงอยู่ของฝ่ายบริหารขึ้นอยู่เสียงในสภา ทำให้เกิดปัญหามีความเปลี่ยนแปลงในตัวผู้บริหารบ่อยครั้ง บางแห่งเปลี่ยนมากกว่าปีละคนตลอดวาระ 4 ปีเต็ม กว่าจะเริ่มนิ่งก็ภายหลังให้มีการเลือกตั้งนายก อบต. โดยตรงขึ้นช่วงปี 2547 แต่ไม่วายเกิดการรัฐประหารขึ้นถึง 2 ครั้งในช่วงเวลาห่างกันไม่ถึง 10 ปี ส่งผลให้ทิศทางการกระจายอำนาจสะดุด และชะงักไปอย่างมาก ข้อเสนอให้ยุบ อบต. เป็นเรื่องแรกๆ ที่ คสช. โยนหินถามทาง เพราะมองว่ามีจำนวนมากเกินไป ทำให้สิ้นเปลืองงบประมาณ แต่ไม่สำเร็จ สุดท้ายทำได้เพียงลดจำนวนสมาชิกสภา อบต. จากเคยมีหมู่บ้านละ 2 คนให้เหลือเพียง 1 คน ซึ่งจะนำมาใช้กับการเลือกตั้งในวันที่ 28 พฤศจิกายนนี้เป็นครั้งแรก

ที่ผ่านมา อบต. ยังคงประสบปัญหาอุปสรรคสารพัด อย่างน้อย 5 เรื่อง ซึ่งผมเองไม่ได้อาศัยข้อมูลที่ไหนไกล หากแต่เก็บเกี่ยวมาจากรายงานที่มอบหมายให้นักศึกษาทำเป็นประจำในแต่ละเทอม หัวข้อ ‘ท้องถิ่นของฉัน’ ซึ่งแต่ละคนก็ต้องไปหาข้อมูลพื้นฐานในด้านต่างๆ ของ อปท.ในภูมิลำเนาเดิมมาตามประเด็นที่กำหนด เช่น ตราสัญลักษณ์ จำนวนบุคลากร งบประมาณรายรับ ฯลฯ เพื่อนำมาใช้เป็นฐานในการวิเคราะห์ถึงจุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส และอุปสรรค (SWOT Analysis) ของท้องถิ่นของตนเอง ข้อสังเกตประการหนึ่งคือ นักศึกษาส่วนใหญ่ไม่ได้อาศัยอยู่ในเขต อบต. (สวนทางกับข้อเท็จจริงระดับประเทศ)

ข้อจำกัดร่วมของ อบต. โดยทั่วไปสรุปได้ดังนี้

(1) อบต. มีพื้นที่รับผิดชอบดูแลขนาดใหญ่ เป็นเขตชนบท หลายแห่งมีพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นเขตป่าหรืออุทยาน (โดยเฉพาะทางภาคเหนือ) บางแห่งก็ทับซ้อนกับที่ราชพัสดุของกองทัพบก บางแห่งมีเขตปลอดภัยในการเดินอากาศของสนามบินภายในพื้นที่ ฯลฯ ไม่สามารถเข้าไปแก้ไขปัญหาของตนที่ต้นตอได้ เช่น ไฟป่า/หมอกควัน ทั้งยังมีความต้องการพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐานอีกมาก ไม่ว่าถนนหนทาง ไฟฟ้า ประปา สาธารณูปโภคอื่น แต่เกินศักยภาพในทุกด้าน (งาน/เงิน/คน)

อย่างแม่ฮ่องสอนมีขนาดพื้นที่ 12,681 ตร.กม. (อันดับ 8 ของประเทศ) แต่กลับมีจำนวน อปท. น้อย รวมแล้วเพียง 50 แห่ง เฉลี่ยแล้วแห่งหนึ่งดูแลอาณาบริเวณกว้างขวางถึง 259 ตารางกิโลเมตร หรืออาจเจาะจงดูบางแห่งก็ได้ เช่น อบต.ห้วยโป่ง อ.เมือง มีเนื้อที่ 651 ตร.กม., อบต.ห้วยผา อ.เมือง ขนาดพื้นที่ดูแล 615 ตร.กม., อบต.ปางหมู อ.เมือง ที่รับผิดชอบเนื้อที่ 300 ตร.กม. ลองเอาพื้นที่ อบต. สามแห่งนี้รวมกันเกือบเท่าพื้นที่ทั้งหมดซึ่งกรุงเทพมหานครมี 1,568 ตร.กม.

(2) ภารกิจหลักของ อบต. กลับกลายเป็นงานฝากตามนโยบายรัฐบาล และมาตามเงินอุดหนุนต่างๆ อาทิ นมโรงเรียน, เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ฯลฯ ขณะที่การจัดองค์กรไม่สอดคล้องกับภารกิจที่ได้รับมอบหมายให้ทำ เช่น รัฐบาล คสช. มีนโยบายจังหวัดสะอาดสั่งให้ อปท. ดำเนินงานด้านการบริหารจัดการขยะมูลฝอยชุมชน แต่ อบต. ทั่วๆ ไปไม่มีกองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อมที่รับผิดชอบงานจัดการขยะโดยตรง อีกทั้งหลายพื้นที่มีวิธีกำจัดขยะตามแบบภูมิปัญญาชาวบ้านที่ใช้มาช้านาน แต่ไม่ถูกสุขลักษณะในสายตารัฐส่วนกลาง เช่น การเผา อบต. จึงต้องเข้าไปดำเนินการ ทั้งที่หลายแห่งไม่เต็มใจ

(3) อบต. มีงบประมาณน้อย เนื่องจากรัฐบาลจัดสรรโดยยึดเกณฑ์จำนวนประชากร ประกอบกับดูความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นหลัก ยิ่งไปกว่านั้น ประเภทของรายได้ที่จัดเก็บเองก็ไม่สอดคล้องกับบริบทพื้นที่ เช่น ภาษีป้าย ภาษีบำรุงท้องที่ ภาษีโรงเรือนและที่ดิน เมื่อนำไปเทียบกับท้องถิ่นรูปแบบอื่นยิ่งเห็นว่าสัดส่วนรายได้จัดเก็บเองของ อบต. มีน้อยมากชนิดต่ำเตี้ยเรี่ยดิน อบต. โดยส่วนใหญ่ (เท่าที่ปรากฏในรายงานของนักศึกษา) มีรายรับรวมเงินอุดหนุนเฉลี่ยแล้วตกปีละ 30-40 ล้านบาท ไม่สมดุลกับภารกิจที่กำหนดให้มีรอบด้าน จึงควรต้องเอาเรื่องของขนาดพื้นที่มาคิดคำนึงประกอบการจัดสรรงบประมาณด้วย

ในตำบลที่มีทั้งเทศบาลกับ อบต. อยู่ด้วยกัน ยิ่งสะท้อนปัญหาความเหลื่อมล้ำชัดเจน เทศบาลที่ยกฐานะมาจากสุขาภิบาลมีพัฒนาการมาก่อนยาวนาน มีพื้นฐานด้านต่างๆ รองรับ และมีรายได้สูง ขณะที่ อบต. ที่เกิดขึ้นภายหลังยังคงต้องการการพัฒนาอีกมาก แต่รายได้ต่ำ บางแห่งมีลักษณะคล้ายกับไข่แดง-ไข่ขาวของไข่ดาวอย่างชัดเจน นั่นคือเทศบาลคือไข่แดง ส่วน อบต. เป็นไข่ขาว

ยกตัวอย่างตำบลช้างเผือก อ.เมือง จ.เชียงใหม่ที่ผมมีชื่ออยู่ ส่วนที่อยู่นอกเขตเทศบาลนครมี อปท. 2 แห่งคือ เทศบาลตำบลช้างเผือกกับ อบต.ช้างเผือก เป็น อบต.แห่งเดียวที่หลงเหลืออยู่ของทั้งอำเภอเมือง เทศบาลมีขนาดพื้นที่ 6 ตร.กม. ประชากร 9 พันคน รายรับ 100 ล้านบาท ส่วน อบต.มีพื้นที่ 23ตร.กม. ประชากร 2 พันคน รายรับ 20 ล้านบาท ทั้งๆ ที่อยู่ในตำบลเดียวกัน

ในอนาคตหากไม่พูดถึงเรื่องของการควบรวมทัองถิ่นขนาดเล็กเข้าด้วยกัน (อีกครั้ง) คงไม่ได้ โดยหวังว่าจะเกิดขึ้นในบรรยากาศที่บ้านเมืองเปิดกว้างขึ้น และสามารถถกเถียงกันได้อย่างเต็มที่

(4) จำนวนบุคลากรของ อบต. ไม่นับรวมฝ่ายการเมืองค่อนข้างน้อย อยู่ที่ไม่ถึง 50 คน/แห่ง และยังขาดบุคลากรตามกรอบอัตรากำลัง โดยมากไม่ใช่คนในพื้นที่ ทำให้ต้องย้ายกลับภูมิลำเนาเดิม ตลอดจนเพื่อโยกไปดำรงตำแหน่งที่สูงขึ้นในเทศบาลอื่น เราจึงเห็น อบต. บางส่วนที่รองปลัดต้องรักษาราชการแทนปลัด ยังหาปลัดตัวจริงไม่ได้ หรือเห็นโอกาสก้าวหน้าในหน่วยงานอื่นมากกว่าก็ลาออก รวมทั้งไม่มีกรอบอัตรารองรับตำแหน่งที่ต้องการ โดยเฉพาะในบริบทปัจจุบันที่ประเด็นเรื่องโรคระบาดอย่างโควิด-19 กับสิ่งแวดล้อมอย่างมลพิษต่างๆ ทวีความสำคัญขึ้นมา นักวิชาการส่งเสริมสุขภาพ นักวิชาการสาธารณสุข และนักวิชาการสิ่งแวดล้อมย่อมมีความจำเป็น ทุกวันนี้ อบต. โดยส่วนใหญ่ไม่มีตำแหน่งเหล่านี้แต่อย่างใด

การขาดบุคลากรบางตำแหน่งไปย่อมส่งผลเสียหายต่อองค์กร เช่นที่เคยมีงานวิจัยสำรวจการทิ้งงานโครงการก่อสร้างของท้องถิ่นพบผู้รับเหมาทิ้งงาน อบต. มากที่สุด[5] เรื่องนี้อาจเกี่ยวกับความไม่รัดกุมในการทำสัญญาของ อบต. ที่ปราศจากนิติกรก็เป็นได้

(5) อบจ. ดำรงอยู่ได้ด้วยการพึ่งพาหน่วยงานอื่นสูง โดยเฉพาะจาก อบจ. ในด้านโครงการ/กิจกรรม โดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานสำคัญคือถนน ซึ่งก็จำเป็นต้องมีเครือข่ายทางการเมืองที่เชื่อมโยงกัน ขณะเดียวกันก็ถูกกำกับดูแลอย่างใกล้ชิดโดยส่วนภูมิภาค และโดนควบคุมตรวจสอบโดยเข้มงวดจากองค์กรอิสระ เช่น สตง., ปปช. ขาดอิสระในความเป็นตัวของตัวเอง เช่นที่เป็นข่าวดังกรณีฉีดยาป้องกันพิษสุนัขบ้า ไปจนถึงคำสั่งเรียกเงินคืนจากการเบิกจ่ายค่าใช้จ่ายในการจัดงานต่างๆ เช่น การแข่งขันกีฬา งานวันเด็ก พิธีรดน้ำดำหัวผู้สูงอายุในประเพณีสงกรานต์[6]

แม้เต็มไปด้วยข้อจำกัด แต่ก็มี อบต. ที่พยายามจะไต่เพดานให้เห็น เช่น อบต.แม่ทา อ.แม่ออน จ.เชียงใหม่ ผลักดันข้อบัญญัติการจัดการป่าชุมชนตำบลแม่ทา พ.ศ. 2550 ออกมา (ซึ่งเรื่องต้องผ่านนายอำเภอ) หลังร่าง พ.ร.บ.ป่าชุมชนที่เข้าชื่อโดยประชาชนไม่ได้รับการสนองตอบจากสภาระดับชาติ, อบต.หัวง้ม อ.พาน จ.เชียงราย ทำโรงเรียนผู้สูงอายุจนประสบความสำเร็จก่อนกาล ตั้งแต่ปี 2553 เพราะเผชิญปัญหาสังคมผู้สูงอายุ เริ่มพบการฆ่าตัวตายในคนกลุ่มนี้ สาเหตุจากความเหงาเป็นโรคซึมเศร้า ขณะเดียวกัน อบต. อีกบางส่วนถูกเฝ้าจับตามองเรื่องความรุนแรงฆ่าแกงกัน เช่น อบต.เกาะหมาก อ.ปากพะยูน จ.พัทลุง ช่วงปี 2549-2550 เพียง 2 ปี เฉพาะนายก อบต. ถูกคนร้ายลอบยิงเสียชีวิต 3 คน ยังไม่พูดถึงคนใกล้ชิดอีกหลายราย โดยปมขัดแย้งหลักมาจากการจัดเก็บภาษีสัมปทานรังนกนางแอ่น หรือเรื่องการทุจริตคอร์รัปชัน เช่น อบต.ราชาเทวะ อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ จากกรณีการก่อสร้างเสาไฟฟ้ากินรีบานปลายไปสู่การที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.มีมติชี้มูลความผิดนายก อบต. ฐานทุจริตจัดซื้อรถยนต์ดับเพลิงกู้ภัยแบบกระเช้าบันไดราคาสูงเกินจริง เหตุเก่าตั้งแต่ปี 2555

การว่างเว้นการเลือกตั้งไปนาน 8-9 ปีของ อบต. ทำให้ประชาชนในชนบทเสียโอกาสการพัฒนา สภาวะที่ปราศจากการแข่งขันทำให้นักการเมือง อบต. ถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของกลไกรัฐราชการยิ่งขึ้น การเลือกตั้ง อบต. ครั้งใหญ่ที่สุดคราวนี้จึงเป็นการพิสูจน์ตัวเองครั้งสำคัญของคน อบต. เพราะยังไม่เคยมีครั้งไหนที่ อบต. ได้เลือกตั้งพร้อมกันทุกแห่งทั่วประเทศเหมือนครั้งนี้ ครั้งหลังสุดจัดช่วงเดือนตุลาคม 2556 รวมกันประมาณ 2,900 แห่งเท่านั้น แต่คราวนี้มากถึง 5,300 แห่ง

ยังสรุปไม่ได้ว่าการเลือกตั้ง อบต. 2564 มีการแข่งขันสูงกว่าครั้งก่อนๆ จากจำนวนผู้สมัครทั้งหมดกว่า 1.3 แสนคน (ในจำนวนนี้เป็นตำแหน่งนายก อบต. 12,309 คน[7]) เพราะเกิดขึ้นบนฐานของจำนวน อบต. ที่ไม่เท่ากัน และมีความเปลี่ยนแปลงจำนวน ส.อบต. เหลือหมู่บ้านละ 1 คน แต่พูดได้ว่าคึกคักไม่แพ้การเลือกตั้งเทศบาลเมื่อตอนต้นปี ค่าเฉลี่ยทั้งประเทศ อบต. แห่งหนึ่งมีคนลงสมัครรับเลือกตั้งนายกฯ 2.3 คน ตัวเลขนี้พอๆ กับนายกเทศมนตรีตอนนั้น

แต่ผู้สมัครก็คงรู้ดีว่าการเลือกตั้ง อบต. จุดชี้ขาดสำคัญอยู่ที่ ‘ความเป็นญาติพี่น้อง’ รู้จักคุ้นเคยกันมากกว่าปัจจัยอื่น ดังนั้น วิธีการที่นิยมใช้หาเสียงจึงไม่เหมือนที่เราเคยเห็นจากการเลือกตั้ง อบจ. หรือเทศบาลที่มีกระแสพรรคเข้ามาเกี่ยว มีนโยบายเป็นจุดขาย อาศัยโซเชียลมีเดียเป็นช่องทางสื่อสารหลัก เป็นต้น ผมก็คงยืนยันไม่ได้ว่าข้อสังเกตนี้ใช้อธิบายพฤติกรรมการเลือกตั้ง อบต. ได้ทั้งหมดไหม เพราะย่อมไม่มีใครรู้เรื่องท้องถิ่นดีเท่ากับคนในท้องถิ่นนั้นๆ เอง


[1] อลงกรณ์ อรรคแสง, สารานุกรมการปกครองท้องถิ่นไทย เรื่อง การจัดรูปแบบและโครงสร้างภายใน, (กรุงเทพฯ: สถาบันพระปกเกล้า, 2547), หน้า 67.

[2] ดู ธเนศวร์ เจริญเมือง, 100 ปี การปกครองท้องถิ่นไทย พ.ศ. 2440-2540 (พิมพ์ครั้งที่ 2), (กรุงเทพฯ: โครงการจัดพิมพ์คบไฟ, 2542), หน้า 167-168.

[3] ที่มาของข้อมูล: http://statbbi.nso.go.th/staticreport/Page/sector/TH/report/sector_01_11203_TH_.xlsx

[4] ที่มาของข้อมูล: http://www.dla.go.th/work/abt/download/tesaban_25630909.xls

[5] “งานวิจัยพบผู้รับเหมาทิ้งงาน อบต. มากที่สุด รายเล็กไม่ถึง 1 ล้าน ครองแชมป์,” TCIJ (28 ตุลาคม 2561), จาก  https://www.tcijthai.com/news/2018/10/scoop/8439

[6] “เปิดแฟ้มตัวอย่างข้อทักท้วงจาก ‘สตง.’ Checklist ‘อปท.’ ทำได้-ทำไม่ได้,” TCIJ (27 พฤศจิกายน 2559), จาก  https://www.tcijthai.com/news/2016/27/scoop/6563

[7] “สมัคร อบต.เพียบ 76จว.1.3แสนคน สั่งทลายซุ้มมือปืน,” ไทยโพสต์ (19 ตุลาคม 2564), จาก  https://www.thaipost.net/main/detail/120134

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save