fbpx
ทางสองแพร่งปราบปรามหรือรับฟัง ม็อบเดือนตุลา 2563 เมื่อคนรุ่นใหม่ต้องการเปลี่ยนแปลง

ทางสองแพร่งปราบปรามหรือรับฟัง ม็อบเดือนตุลา 2563 เมื่อคนรุ่นใหม่ต้องการเปลี่ยนแปลง

อายุษ ประทีป ณ ถลาง เรื่อง

 

สำหรับผู้กล้าอาจจะถือคติว่า ความกลัวทำให้เสื่อม แต่กับบางคนแล้วความเสื่อมกลับทำให้กลัว

ท่ามกลางความวิปริตผิดเพี้ยนที่เกิดขึ้นบนแผ่นดิน ซึ่งปรากฏให้เห็นอยู่เวลานี้ บ้านเมืองจะสงบสุขได้อย่างไรในเมื่อกฎหมายกบิลเมืองถูกละเมิด กฎเกณฑ์ กติกาต่างๆ ถูกย่ำยี จริยธรรมความถูกต้อง สิ่งดีงามถูกเย้ยหยันท้าทายจากผู้มีอำนาจเหนือประชาชน โดยเหล่าบรรดาคนชั้นนำซึ่งสมประโยชน์ทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม รู้เห็นเป็นใจ ให้การสนับสนุนอย่างแข็งขัน จะด้วยเจตนาหรือจำยอมก็ตามที

ด้วยเพราะต่างต้องพึ่งพาอาศัย แลกเปลี่ยนผลประโยชน์ซึ่งกันและกัน หาใช่ว่าจะรักชาติบ้านเมืองมากกว่าชาวบ้านราษฎรแต่อย่างใดไม่

มีความพยายามที่จะปิดแผ่นฟ้าด้วยฝ่ามือ ปฏิเสธตรรกะ หลักการ เหตุผล ไม่ยอมรับความจริงใดๆ ทั้งสิ้น

ที่ผ่านมา หลายคนอาจจะซาบซึ้งไปกับวาทกรรมว่าด้วยคนดีและคนไม่ดี แต่จะมีใครสักกี่คน สงสัยใคร่ครวญว่า ที่ปกครองบ้าน บริหารเมืองอยู่ทุกวันนี้เป็นคนดีหรือคนไม่ดีกันแน่ บ้านเมืองจึงไม่เป็นปกติสุข ประชาชนทุกข์ยากเดือดร้อนไปทุกหย่อมหญ้า ประเทศชาติมีแต่เรื่องวุ่นวายไม่รู้จักจบสิ้น

แน่ใจหรือว่า ที่ผูกขาดรักชาติบ้านเมือง ข่มขู่คุกคาม เสือกไสไล่ส่งผู้ซึ่งมีความคิดอ่านแตกต่างไปจากตัวเองนั้น ต้องการให้คนดีมาปกครองบ้านเมือง

หลายปีมานี้ มีใครแยแสใส่ใจ ให้ความสำคัญกับเรื่องของทศพิธราชธรรมบ้าง ทั้งๆ ที่ก่อนนั้นมักจะหยิบยกขึ้นมากล่าวอ้าง แสดงความชื่นชมโสมนัสกันอยู่เป็นนิจ ผิดแผกแตกต่างไปจากปัจจุบันทุกวันนี้ที่จริยวัตร 10 ประการ ซึ่งปรากฏอยู่ในพระสูตรขุททกนิกาย ชาดก ดูจะเป็นของแสลง กลัวผิดสำแดงหรืออย่างไรก็ไม่อาจจะทราบได้ จึงต่างพากันเอาหูไปนาเอาตาไปไร่เสีย

ใครจะไปขึ้นช้างลงม้าที่ไหนก็ช่าง

ไม่มีผู้ใดรู้ร้อน รู้หนาว สำเหนียกถึงหลักธรรมประจำตนของผู้ปกครองที่ดี อันประกอบไปด้วย

  1. ทาน (ทานํ) การให้ เสียสละ
  2. ศีล (สีลํ) ความประพฤติดีงาม ทั้ง กาย วาจา ใจ
  3. บริจาค (ปริจาคํ) การเสียสละความสุขส่วนตนเพื่อความสุขส่วนรวม
  4. ซื่อตรง (อาชฺชวํ) การดำรงอยู่ในความสัตย์สุจริต
  5. อ่อนโยน (มัทฺทวํ) ความมีสัมมาคารวะต่อทั้งผู้ซึ่งมีอาวุโส อ่อนโยนต่อบุคคลที่เสมอกันและต่ำกว่า
  6. เพียร (ตปํ) มีความอุตสาหะในการปฏิบัติงานโดยปราศจากความเกียจคร้าน
  7. ไม่โกรธ (อกฺโกธํ) การไม่แสดงความโกรธขึ้งปรากฏให้เห็น
  8. ไม่เบียดเบียน (อวิหิงสา) ไม่บีบคั้น ก่อทุกข์ เบียดเบียนผู้อื่น
  9. อดทน (ขนฺติ) ความอดทนต่อสิ่งทั้งปวง รักษาอาการ กาย วาจา ใจ ให้เรียบร้อย
  10. เที่ยงธรรม (อวิโรรธนํ) หนักแน่น ถือความถูกต้อง เที่ยงธรรมเป็นหลัก ไม่เอนเอียงหวั่นไหวด้วยคำพูด อารมณ์หรือลาภสักการะใดๆ

เพราะมิได้ตั้งมั่นอยู่ในทศพิธราชธรรม บ้านเมืองจึงร้อนรุ่ม หาความสงบสุขไม่ได้สักที

ใช่เพียงแต่คนไม่ดี ระบอบปกครองเองก็แย่

เลือกตั้งมาแล้วไม่รู้กี่ครั้ง รัฐประหารไม่รู้กี่หน ร่างรัฐธรรมนูญโดยไม่แตะต้องข้องแวะหมวดนั้นมาตรานี้มาไม่รู้กี่ฉบับ แต่ก็ไม่สามารถจัดการปัญหาชาติบ้านเมืองได้

ย้อนนับกลับไปตั้งแต่วันที่ 24 มิถุนายน พุทธศักราช 2475 จวบจนบัดนี้ เป็นเวลา 88 ปีแล้วที่คณะราษฎรซึ่งประกอบไปด้วยปัญญาชน ข้าราชการ ทหารและพลเรือน ได้ร่วมกันก่อการปฏิวัติ เปลี่ยนแปลงการปกครองบ้านเมืองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นการปกครองโดยสภา ภายใต้รัฐธรรมนูญ

เจตจำนงทางการเมืองของการอภิวัฒน์ครั้งนั้น ประจักษ์ชัดผ่านประกาศคณะราษฎร ฉบับที่ 1 ดังความว่า “… ราษฎรทั้งหลายพึงรู้เถิดว่า ประเทศของเรานี้เป็นของราษฎร ไม่ใช่ของกษัตริย์ …”

“… เหตุฉะนั้น ราษฎร ข้าราชการ ทหารและพลเรือนที่รู้เท่าถึงการกระทำอันชั่วร้ายของรัฐบาลดังกล่าวแล้ว จึงรวมกำลังตั้งเป็นคณะราษฎรขึ้น และได้ยึดอำนาจของกษัตริย์ไว้ได้แล้ว คณะราษฎรเห็นว่าการที่จะแก้ความชั่วร้ายนี้ได้ก็โดยที่จะต้องจัดการปกครองโดยมีสภา จะได้ช่วยกันปรึกษาหารือหลายๆ ความคิดดีกว่าความคิดเดียว ส่วนผู้เป็นประมุขของประเทศนั้น คณะราษฎรไม่ประสงค์ทำการแย่งชิงราชสมบัติ ฉะนั้น จึงได้อัญเชิญให้กษัตริย์องค์นี้ดำรงตำแหน่งกษัตริย์ต่อไป แต่จะต้องอยู่ใต้กฎหมายธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน จะทำอะไรโดยลำพังไม่ได้ นอกจากความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร…” ฯลฯ

ผ่านมาเกือบร้อยปีหรือศตวรรษหนึ่งแล้ว ประเทศนี้ก็ยังมิได้เป็นของราษฎรอย่างแท้จริงเสียที ประชาธิปไตยไม่ได้รับการสถาปนาเป็นเครื่องมือกลไกในปกครองบ้านบริหารเมืองดังเช่นที่คณะราษฎรมุ่งมาดปรารถนา

วันเวลาผ่านเลย โดยปราศจากพัฒนาการทางการเมืองใดๆ ในเชิงคุณภาพ เวียนวนอยู่ภายใต้กะลาครอบ โดยไม่เคยหลุดพ้นไปจากวัฏจักร วงจรของการเลือกตั้งสลับกับการทำรัฐประหารของกองทัพ ล้มล้างรัฐธรรมนูญแล้วร่างขึ้นมาใหม่ ไม่ยอมแตะต้องข้องแวะบางหมวดบางมาตราอยู่ร่ำไป

ยิ่งนานวันก็ยิ่งถอยหลังเข้ารกเข้าพง จากปฏิวัติโค่นล้มระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เมื่อปี พ.ศ. 2475 เป็นประชาธิปไตยได้ประเดี๋ยวประด๋าว ก่อนจะถูกกองทัพทำรัฐประหารล้มล้างรัฐบาลพลเรือน อาศัยกระบอกปืนปกครองประชาชน อยู่ภายใต้ระบอบเผด็จการทหารมายาวนาน สลับกับการเลือกตั้ง แซมด้วยประชาธิปไตยครึ่งใบบ้างค่อนใบบ้างชั่วครู่ชั่วยาม

เลวร้ายที่สุดเมื่อคณะรักษาความสงบแห่งชาตินำพาประเทศชาติเข้าสู่ระบอบปกครองกึ่งเผด็จการทหารกึ่งสมบูรณาญาสิทธิราชย์

ล้มเหลวในการจัดการปัญหาให้กับแผ่นดินไม่พอ ยังผูกขาดสืบทอดอำนาจ กอบโกยประโยชน์แบ่งปันกันในหมู่ผู้ปกครองและชนชั้นนำ สร้างอาณาจักรแห่งความกลัวขึ้นมาควบคุมประชาชน ปราบปรามผู้มีความคิดแตกต่างไปจากตัวเองด้วยวิธีการอันป่าเถื่อน โหดเหี้ยม อำมหิต ผิดวิสัยมนุษย์ปุถุชนคนปกติเขาทำกัน

ดังนั้นจึงไม่แปลกอะไรเลยที่นักเรียน นักศึกษา ยุวชนลูกหลานคนรุ่นหลัง ตลอดจนประชาขนผู้รักความเป็นธรรมจะอดรนทนไม่ไหว ลุกฮือขึ้นเรียกร้องต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลงประเทศ

ถ้าหากบ้านเมืองเป็นประชาธิปไตย ผู้คนอยู่ดีมีสุขในสังคมที่มีความเสมอภาค เป็นธรรม ใครเขาจะออกไปประท้วงเรียกร้อง ตากแดดตากฝน กินนอนกลางถนนให้เป็นที่ทุกข์ทรมาน เคราะห์หามยามร้ายอาจจะบาดเจ็บล้มตายจากการปลุกม็อบชนม็อบ หรือล้อมปราบโดยกองกำลังติดอาวุธ

จากม็อบเยาวชนปลดแอกเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2563 เรื่อยมาจนกระทั่งถึงม็อบคณะราษฎร 2563 เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2563 มีข้อเรียกร้อง 3 ประการประกอบด้วย

1. ให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

2. เปิดประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญเพื่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน และ

3. ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์

ถึงแม้ว่ายากจะคาดเดาได้ว่า ม็อบปลดแอก-คณะราษฎร 2563 จะจบลงอย่างไร เพราะโดยทั่วไปแล้ว ลำพังการชุมนุมของประชาชนโดยสงบและสันติ ม็อบไม่สามารถสั่นคลอนอำนาจรัฐได้มากมายถึงขนาดที่จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใดๆ โดยทำได้แค่เพียงทำลายความชอบธรรมทางการเมืองลงเท่านั้นเอง

ที่มีอันเป็นไปล้วนมาจากอุบัติการณ์คาดไม่ถึงเสียเป็นส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นการสูญสิ้นความชอบธรรมจากความรุนแรงที่เกิดขึ้น หรือการฉวยโอกาสทำรัฐประหารของกองทัพ

ตัวอย่างก็มีให้เห็น ปิดล้อมยึดทำเนียบกินนอนเป็นแรมเดือนอย่างไร รัฐบาลก็ยังลอยหน้าลอยตาปกครองบ้านเมืองได้โดยไม่สะทกสะท้าน

จะอย่างไรก็ตาม ถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของประเทศไทย ที่การชุมนุมประท้วงของประชาชนได้มีการหยิบยกเอาประเด็นเกี่ยวด้วยสถาบันพระมหากษัตริย์ขึ้นมาเป็นหนึ่งในข้อเรียกร้อง มีการอภิปรายพูดถึงกลางม็อบในที่สาธารณะ ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในอดีต

จากเดิมแต่ไหนแต่ไรมาที่ม็อบต้องมีพระบรมฉายาลักษณ์นำหน้า ขณะที่คราวนี้กลับมีเพียงมือสองข้างชูสามนิ้วเป็นสัญลักษณ์แสดงการต่อต้าน ขัดขืน ไม่ยอมรับการกดขี่ พร้อมกับเสียงกู่ก้องร้องตะโกน

น่าเสียดายที่ข้อเสนอไม่ได้รับการพิจารณาแม้แต่น้อย รวบรัดตัดบทกล่าวหาว่าจาบจ้วง ล่วงละเมิด โดยไม่คำนึงถึงเหตุผล หรือข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น

ขณะที่สื่อต่างประเทศรายงานข่าวกันเอิกเกริกครึกโครม ล่าสุด ส.ส.เยอรมันได้หยิบยกนำเอาประเด็นกษัตริย์ของไทยไปพำนักพักอาศัยอยู่ในประเทศของเขา ตั้งกระทู้ถามอภิปรายในสภา แต่คนไทยกลับพูดจา แสดงความคิดเห็นอะไรไม่ได้เลย

ทั้งที่ผู้ชุมนุมยืนยันว่าปรารถนาเพียงแค่ให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์มาอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญเท่านั้นเอง แต่อีกฝ่ายกลับยืนกระต่ายขาเดียว กล่าวหาว่าต้องการล้มล้างสถาบันกษัตริย์อยู่นั่นแหละ

ทำราวกับสื่อสารกันคนละภาษา หรือมีความผิดปกติอะไรสักอย่าง ไม่เช่นนั้นคงไม่แลเห็นแมวเป็นเสือ

นอกจากจะไม่รับฟังเหตุผลแล้ว ยังมีความพยายามยุยงสร้างความเกลียดชัง ปลุกปั่นให้เกิดการเผชิญหน้าระหว่างประชาชนสองฝ่ายซึ่งมีความแตกต่างทางความคิด

หลายฝ่ายแสดงความเคลือบแคลงสงสัยถึงการปล่อยให้รถขบวนเสด็จใช้เส้นทางผ่านกลุ่มผู้ชุมนุม นำไปสู่การแสดงท่าทีแข็งกร้าวของนายกรัฐมนตรี ประกาศดำเนินคดีกับผู้ขัดขวางขบวนเสด็จและหมิ่นสถาบันกษัตริย์อย่างเฉียบขาด ตามมาด้วยการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุมโดยปราศจากความสูญเสีย จับกุมแกนนำไปควบคุมตัวเอาไว้

ใครเป็นใคร เปิดเผยโฉมหน้าค่าตาออกมาชัดเจน

ปรากฏการณ์ที่แกนนำการเคลื่อนไหวไม่ได้รับอนุญาตปล่อยชั่วคราว สะท้อนให้เห็นว่าไม่ง่ายเลยที่จะเอาชนะผู้ปกครองซึ่งกุมอำนาจรัฐเบ็ดเสร็จเด็ดขาด บงการองค์กรต่างๆ อยู่เบื้องหลัง เจ้าเล่ห์เพทุบายทั้งขู่ทั้งปลอบบ่อนเซาะความเข้มแข็งขบวนการเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาล สร้างความระส่ำระสายให้กับมวลชน ทำทุกอย่างเพื่อจัดการฝ่ายตรงกันข้าม

กระนั้นก็ตามแต่ท่านว่า สงครามยังไม่จบ อย่าเพิ่งนับศพทหาร นี่เพิ่งเริ่มต้นเท่านั้นเอง

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save