fbpx
101 One-On-One Ep.179 การเมืองวันวาน สู่การชุมนุมวันนี้ : อ่านม็อบนักศึกษาและพลังโลกออนไลน์ กับ เอม สินเพ็ง

การเมืองวันวาน สู่การชุมนุมวันนี้ : อ่านม็อบนักศึกษาและพลังโลกออนไลน์ กับ เอม สินเพ็ง

 

เหตุการณ์รัฐประหารวันที่ 19 กันยายน 2549 แม้จะไม่ใช่จุดเริ่มต้นของการเมืองแบ่งแยกฝักฝ่าย แต่ก็เป็นอีกหนึ่งหมุดหมายสำคัญอันน่าจดจำ เพราะสิ่งที่ตามมาจากการรัฐประหารในครั้งนั้น คือ บรรยากาศการปะทะกันทางความคิดระหว่างกลุ่มผู้เห็นต่างทางการเมืองที่เข้มข้น ฝังรากลึกในสังคม จนสร้างภาพจำ วาทกรรมเกี่ยวกับการเมืองและการชุมนุมตกทอดมาถึงปัจจุบัน

ขณะเดียวกัน วันที่ 19 กันยายน นี้ อาจกลายเป็นวันสำคัญบนหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทยอีกครั้ง เมื่อ ‘แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม’ ประกาศชุมนุมใหญ่ โดยมีกลุ่มนักศึกษาเป็นแกนนำขับเคลื่อนความเคลื่อนไหว

ณ วินาทีนี้ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า นักเรียนนักศึกษา คือหนึ่งในผู้เล่นทรงอิทธิพลบนสนามการเมืองไทย และเครื่องมือที่ยังคงทรงพลัง สร้างแรงสั่นสะเทือนต่อการเมืองได้เสมอมา คือ โซเชียลมีเดีย คำถามมีอยู่ว่า การชุมนุมของคนรุ่นใหม่แตกต่างจากการชุมนุมรุ่นผู้ใหญ่อย่างไร? ม็อบนกหวีดทิ้งร่องรอยอะไรไว้กับม็อบตอนนี้? ที่ผ่านมา โซเชียลมีเดียถูกใช้สร้างหรือบ่อนทำลายประชาธิปไตยในไทยแบบไหน?

101 สนทนากับ ดร.เอม สินเพ็ง นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยซิดนีย์ ผู้ศึกษาความเคลื่อนไหวของการเมืองและสื่อใหม่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ย้อนมองการชุมนุมและการเมืองไทยในวันวาน ทั้งในโลกจริง และโลกออนไลน์ ที่มีอิทธิพลต่อการชุมนุมของคนรุ่นใหม่ในปัจจุบัน พร้อมวิเคราะห์กระแสการเคลื่อนไหวของนักเรียนนักศึกษา ว่ากำลังพัดพาประเทศไทยไปในทิศทางใด ต้องฝ่าด่านอะไรบ้างถ้าต้องการความเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง

ดำเนินรายการโดย ภาวรรณ ธนาเลิศสมบูรณ์ กองบรรณาธิการ The101.world

หมายเหตุ : บันทึกเทปรายการเมื่อวันที่ 17 กันยายน 2563

 

 

 

 

เอม สินเพ็ง

 

ขณะนี้อาจารย์อาศัยอยู่ที่ซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย แต่ก็มีการติดตามการเมืองไทยมาโดยตลอด รู้สึกอย่างไรกับกระแสการชุมนุมของนักเรียนนักศึกษาในตอนนี้ คนไทยในต่างประเทศพูดคุยถึงเรื่องนี้มากน้อยแค่ไหน

บอกตรงๆ ว่ารู้สึกตื่นเต้น เพราะเราเป็นนักวิชาการที่สนใจและทำงานเกี่ยวกับเรื่องการประท้วง เมื่อมีสิ่งที่เราสนใจเกิดขึ้นหลังเงียบหายไปสักพัก และเป็นปรากฏการณ์ใหม่ในการเมืองไทยทำให้เรารู้สึกดีใจ

การอยู่ที่ซิดนีย์ ซึ่งเป็นเมืองในต่างประเทศที่คนไทยอาศัยอยู่มากเป็นอันดับสามของโลก รองจากแอลเอกับเบอร์ลิน ทำให้ได้เห็นความเคลื่อนไหวของกลุ่มเยาวชนที่นี่ และเมืองอื่นๆ ในออสเตรเลียเกี่ยวกับการชุมนุมครั้งนี้ มีการถ่ายรูปตามสถานที่ต่างๆ ทำป้ายสนับสนุนกลุ่มเยาวชนปลดแอก ประชาชนปลดแอก ถึงจะไม่ใช่ชุมนุมใหญ่เท่าคราวกปปส. หรือสมัยมีเสื้อเหลืองเสื้อแดง และส่วนหนึ่งเป็นเพราะออสเตรเลียยังอยู่ในภาวะไม่ปกติ ทำให้การชุมนุมหลายคนทำไม่ได้ แต่การชุมนุมของเด็กที่นี่ก็มีความครีเอทีฟ เน้นการทำคอนเทนต์ ใช้สื่อต่างๆ ทำให้ส่งสารเรื่องจุดประสงค์ของการชุมนุมของเขาและกลุ่มที่เขาสนับสนุนในไทยได้ชัดเจนอยู่

 

นักวิชาการหลายคนมองว่า ปรากฏการณ์การเคลื่อนไหวของนักเรียนตอนนี้มีความพิเศษไปจากการชุมนุมอื่นๆ ของไทยในอดีต  ในสายตาของอาจารย์มีความเห็นอย่างไร แล้วถ้าเทียบกับการชุมนุมของคนรุ่นใหม่ในต่างประเทศ การชุมนุมในไทยถือว่ามีความพิเศษไหม

ถ้าเทียบกับการชุมนุมทางการเมืองอื่นๆ ของไทยตั้งแต่สมัยพันธมิตร หรือเกือบ 20 ปีมาแล้ว การชุมนุมครั้งนี้มีข้อแตกต่างหลักๆ อยู่ 3 ข้อ

ข้อแรก คือ การมีส่วนร่วมและเป็นผู้นำของกลุ่มเยาวชนในระดับมัธยม ซึ่งแตกต่างจากหลายรอบที่ผ่านมา ปกตินักเรียนมัธยมจะไม่ได้เป็นตัวหลักของการชุมนุม ส่วนมากเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัย

คนที่จุดประกายเรื่องนี้แก่เยาวชน หรือเด็กมัธยมคือพรรคอนาคตใหม่ เขาทำให้เด็กมัธยมตื่นตัว คิดว่าการเมืองไม่ใช่เรื่องไกลตัว และเป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องกับชีวิตโดยตรง นี่เป็นการปลุกให้นักเรียนตื่น หลังจากเติบโตมาโดยที่พ่อแม่ส่วนใหญ่ไม่ได้ปลูกฝังเรื่องการเมือง คิดถึงสิทธิการเมืองที่หลับใหลมานานตั้งแต่มีรัฐประหาร

คนของพรรคอนาคตใหม่ได้เปลี่ยนวัฒนธรรมการเมืองที่สำคัญ คือ ทำให้เด็กกล้าแสดงออก กล้าพูดในสิ่งที่เขาคิด และผู้ใหญ่ควรจะฟัง เป็นการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม (cultural shift) ที่สำคัญของไทยซึ่งเพิ่งมามีในการเลือกตั้งรอบนี้ เด็กส่วนใหญ่ได้ฟังสิ่งที่พรรคอนาคตใหม่พูดก็รู้สึกได้กำลังใจว่า ต่อให้เราเป็นเด็กอายุน้อยกว่า แต่ความคิดของเราก็มีค่าเท่ากับคนที่อายุเยอะกว่า

อาจารย์จำได้ว่ามีโอกาสสัมภาษณ์ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ที่ชนะการเลือกตั้งในต่างจังหวัด ว่าทำไมถึงโฟกัสในการหาเสียงกับกกลุ่มเยาวชนที่อายุไม่ถึงเกณฑ์การเลือกตั้ง เขาตอบว่ากลุ่มเด็กนี้สามารถไปโน้มน้าว (influence) พ่อแม่ได้ นี่เป็นแนวคิดใหม่ ซึ่งมันก็เวิร์ก เมื่อได้คุยกับผู้ใหญ่ เขาก็บอกว่าลูกหลานบอกให้เลือกพรรคนี้ และเขาก็เชื่อ เพราะลูกหลานมีการศึกษามากกว่าพวกเขา บางคนไปเรียนถึงกรุงเทพฯ กลับมาก็ดูฉลาด เข้าใจโลกมากกว่า นี่คือตัวอย่างของการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมทางการเมืองที่สำคัญ การที่เด็กและเยาวชนออกมามีบทบาททางการเมืองอย่างเด่นชัดตอนนี้เป็นการต่อยอดกระแสที่พรรคอนาคตใหม่ได้จุดไฟไว้ และเมื่อเห็นตัวอย่างจากรุ่นพี่นักศึกษามหาวิทยาลัย ก็มีแรงบันดาลใจให้เขาก้าวออกมา ทำกิจกรรมการเมืองเอง

ข้อสอง คือ การใช้ทวิตเตอร์เป็นสื่อโซเชียลหลัก ทั้งที่ก่อนหน้านี้ การชุมนุมหลายรอบที่ผ่านมา โดยเฉพาะรอบกปปส.จะใช้เฟซบุ๊กเป็นหลัก จริงๆ ก็ไม่น่าแปลกใจเลย เพราะช่วงสามปีที่ผ่านมา ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีคนเปิดแอคเคาต์ทวิตเตอร์มากที่สุดเมื่อเทียบกับประเทศในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ใช้ที่เป็นเยาวชนอายุ 16-24 ปี เลยไม่น่าแปลกใจที่ทวิตเตอร์ได้แซงเฟซบุ๊กขึ้นมาเป็นสื่อโซเชียลหลักของเยาวชน

ข้อที่สาม คือ เป็นการชุมนุมแบบแนวราบ ยังไม่มี influencer นักการเมือง สื่อ หรือคนที่มีชื่อเสียงมาเป็นตัวนำ ถ้าจำกันได้ การประท้วงทางการเมืองครั้งใหญ่ๆ ที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ตั้งแต่สมัยพันธมิตร ส่วนมากจะมีผู้นำเป็นหลัก ซึ่งอาจเป็นเพราะเพิ่งชุมนุมในช่วงเริ่มต้น ทำให้การชุมนุมครั้งนี้ยังเป็นแนวราบ แต่ก็เป็นเรื่องดีสำหรับการประสานงานระหว่างกลุ่มชุมชนระดับล่าง

ถ้าเทียบกับการชุมนุมในต่างประเทศ คิดว่าเรามีการเรียนรู้พอสมควร เช่น เรียนรู้จากเคสของฮ่องกง ซึ่งพยายามสร้างมวลชนโดยไม่มีผู้นำ ไม่มีการจัดระเบียบแบบ Top-down ทำให้มวลชนมีความยืดหยุ่นสูง สามารถเปลี่ยนหรือเพิ่มหัวข้อความสนใจ ของคนขึ้นมาพูดได้ ไม่จำกัดว่าต้องพูดแค่เรื่องใดเรื่องหนึ่ง และมีประโยชน์ในการสร้างมวลชนให้มากขึ้น แต่อาจมีปัญหาในภายภาคหน้า เวลาที่ต้องตัดสินใจเรื่องสำคัญๆ เช่น เราจะประสานกับกลุ่มไหนเพิ่มเติม จะมีข้อเรียกร้องที่สำคัญที่สุดคืออะไร การตัดสินใจเหล่านี้ต้องใช้คนที่เป็นแกนนำของกลุ่มย่อยๆ เข้ามาทำ เพราะถ้าทุกคนมีเสียงพูดได้เท่ากัน มันจะเคลื่อนไหวยาก

 

สื่อโซเชียลกลายเป็นเครื่องมือระดมมวลชนที่สำคัญของการชุมนุมช่วงที่ผ่านมา อาจารย์มองว่าการใช้สื่อขับเคลื่อนแบบนี้มีข้อดีและข้อเสียอย่างไร

การใช้สื่อโซเชียลเป็นหลักในการประสานงานมีทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อดีคือใครก็ได้เข้ามารับรู้ข่าวสาร สามารถกระจายข่าวได้เร็ว ลงมือทำได้เร็ว แต่ข้อเสียคือเวลาคนเข้ามาร่วมออกความเห็นเยอะ ขับเคลื่อนเยอะ อย่างไรก็ต้องมีคนคอยจัดระเบียบ ทำให้ไม่สามารถ crowdsource ทุกอย่างได้ นอกจากอาจจะใช้แอปพลิเคชันเข้ามาช่วย

นอกจากนี้ มันทำให้การตัดสินใจสำคัญทำลำบาก และการใช้สื่อโซเชียลจัดการกิจกรรมเคลื่อนไหวทางการเมืองก็มีลิมิต คือเมื่อถึงจุดที่จัดการชุมนุมรอบใหญ่บนท้องถนน ก็จำเป็นต้องใช้ทรัพยากร ใช้เงิน ต้องมีคนคอยดูแลรักษาความปลอดภัย ซึ่งบางทีต้องประสานงานกับองค์กรต่างๆ เพิ่มขึ้น แต่การประสานงานทุกอย่างผ่านโซเชียลมีเดียอย่างเดียวค่อนข้างลำบาก อย่างน้อยจึงควรมีคนเบื้องหลังมาเจอกัน คุยกันแบบเจอหน้าว่าจะเอาอย่างไร ใครตัดสินใจ

อย่างไรก็ตาม มันสะท้อนให้เห็นว่าเราไม่สามารถทำให้ผู้เข้าร่วมชุมนุมทุกคนครั้งนี้มีความเท่าเทียมกันได้ ต้องมีจุดหนึ่งที่คนบางคนกลายมาเป็นผู้นำของกลุ่ม ทำหน้าที่ตัดสินใจแทนคนจำนวนมากว่าจะประสานงานอย่างไร จะใช้เงินอย่างไร เราเรียกว่า unintentional leader หรือผู้นำแบบไม่ได้ตั้งใจ ไม่ได้อยากมี แต่มันจำเป็น นี่อาจทำให้ฝ่ายรัฐบาลโฟกัสกับกลุ่มคนเหล่านี้ มองว่าเขาเป็นผู้นำ ทั้งที่ความจริงแล้วมวลชนไม่ได้อยากมีผู้นำ

 

การที่มีกลุ่มผู้จัดการชุมนุมเป็นนักศึกษา นักเรียน อาจารย์คิดว่าเป็นจุดอ่อนหรือไม่ในสังคมที่ค่อนข้างให้ความสำคัญกับระบบเคารพอาวุโส

ไม่นะ ถือเป็นการเพิ่ม Social Capital ของเราที่ดีด้วยซ้ำ เพราะการจัดชุมนุมเหล่านี้ต้องใช้ประสบการณ์ ถ้าลองดูกลุ่มผู้นำม็อบการเมืองต่างๆ ในเมืองไทย คนเหล่านี้มักเป็นผู้นำชุมชน ผู้นำแรงงาน ผู้นำสื่อ หรือนักการเมือง เรียกว่าเป็นผู้ที่มีประสบการณ์จัดชุมนุมหรือระดมคนด้วยกันทั้งนั้น การจัดชุมนุมต้องใช้ทักษะ ไม่ใช่ใครที่พูดเก่งก็สามารถจัดชุมนุมได้ การที่เยาวชนเหล่านี้มีโอกาสได้ลงมือทำภาคสนามจะช่วยเสริมสร้างทักษะให้เขา จะได้มีประสบการณ์และพัฒนาการเคลื่อนไหวต่อไปได้ ไม่ต้องพึ่งพาผู้ใหญ่ เด็กทำเองสื่อสารเองก็เวิร์กได้เหมือนกัน

 

จริงหรือไม่ว่าเมื่อแกนนำเป็นนักเรียน นักศึกษา ทำให้รัฐจัดการกับม็อบได้ยากขึ้น

จริง และไม่ใช่แค่เพราะอายุน้อย แต่แกนนำก็เป็นคนที่รัฐไม่รู้จักด้วย ก่อนหน้านี้ม็อบมักจะมีแกนนำเป็นผู้นำแรงงาน เป็นผู้ใหญ่ที่เคลื่อนไหวบ่อยๆ หรือช่วงแฟลชม็อบที่ผ่านมาก็มีนักการเมืองพรรคอนาคตใหม่ หรือนักศึกษาที่เคลื่อนไหวอยู่แล้วเป็นผู้นำ แต่พอเป็นเด็กมัธยม เด็กรุ่นใหม่ รัฐก็ไม่อยากถูกมองว่ารังแกเด็ก อีกอย่างคือจัดการผ่านโรงเรียน ผ่านมหาวิทยาลัยดีกว่า จัดการแบบ indirect ผ่านคนกลางแบบผู้ใหญ่ในครอบครัวหรือในมหาวิทยาลัยคงจะดีกว่า

จุดนี้คิดว่าเป็นทั้งข้อดีและข้อเสียสำหรับรัฐ ข้อดีคือรัฐไม่ต้องดีลกับเด็กโดยตรง ภาพพจน์อาจจะดูไม่แย่นัก แต่ข้อเสีย คือไม่รู้ว่ากดดันได้แค่ไหน เพราะไม่ใช่อาจารย์ทุกคนหรือทุกโรงเรียนที่เห็นด้วยกับรัฐ

 

การชุมนุมของนักศึกษาตอนนี้มีการยกระดับมากขึ้นเรื่อยๆ สำหรับม็อบวันที่ 19 กันยายน ได้เปลี่ยนจากแฟลชม็อบ ไปเช้าเย็นกลับ เป็นม็อบค้างคืน อาจารย์มองว่ามีความท้าทายอะไรบ้างสำหรับแกนนำนักศึกษา มีอะไรที่น่ากังวลบ้างไหม

มีจุดสำคัญ 2 จุด จุดแรกคือการยกระดับจากเยาวชนเป็นประชาชน ซึ่งการชุมนุมครั้งนี้อาจเป็น turning point ว่าจะกระจายกลุ่มผู้สนับสนุนให้ใหญ่ขึ้นได้หรือเปล่า เพราะตอนนี้ยังมีเยาวชนเป็นกำลังหลักอยู่ ทำให้การสื่อสาร แคมเปญต่างๆ มีม แฮชแท็ก ค่อนข้างโฟกัสกลุ่มคนอายุน้อย ซึ่งทำให้คนอายุเยอะกว่าหรือคนรุ่นพ่อรุ่นแม่ลังเลที่จะมีส่วนร่วม เนื่องจากไม่เก็ต culture นี่เป็นความท้าทายหลักในการเพิ่มมวลชนระดับล่าง

สิ่งที่สำคัญอีกอย่างคือโลจิสติกส์ว่าจะจัดการกันได้ไหม นอกจากเรื่องการใช้เงิน ใช้ทรัพยากรสำหรับการชุมนุมใหญ่อย่างที่พูดไปแล้ว การชุมนุมแบบค้างคืนต้องใช้ทักษะเยอะ ซึ่งข้อดีก็คือกลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัยได้ฝึกใช้ทักษะว่าจะจัดการการชุมนุมและบริหารเงินที่ได้รับบริจาคได้ไหม เพราะอาจมีเหตุฉุกเฉินเยอะ ไหนจะส้วม ไหนจะอาหาร มันต้องประสานงานกับกลุ่มย่อยๆ หลายกลุ่ม

ถ้าเราย้อนกลับไปดูตอนชุมนุมกปปส. จะเห็นว่ากลุ่มที่ออแกไนซ์เก่งที่สุด มีระเบียบวินัยสูงมาก คือกลุ่มของคุณจำลอง ศรีเมือง เพราะเขาฝึกมาแบบนี้ รู้หน้าที่เป๊ะๆ ทำงานแทบไม่ต้องคุยกัน มีตารางจัดหน้าที่กันเรียบร้อย ทุกอย่างมีเงินทุน ห้องน้ำสะอาดตลอดเวลา ฉะนั้น เรื่องอะไรที่ดูเหมือนจะเป็นเรื่องเล็ก มันอาจจะเป็นเรื่องสำคัญ นอกจากนี้ต้องลดระดับความเสี่ยงว่าจะเกิดม็อบอื่นเข้ามาสร้างความวุ่นวาย หรือมีปัญหาทางความปลอดภัยด้วย การชุมนุมครั้งนี้มี learning curve สูง ซึ่งนี่ก็ตั้งใจดูอยู่ว่าจะทำได้ไหม คนจัดจะได้ประสบการณ์อะไรบ้าง

 

ประเทศไทยอยู่ในวังวนของการเมืองแบ่งแยกฝักฝ่ายอย่างชัดเจนมาหลายปี สำหรับตอนนี้บรรยากาศการเมืองเช่นนี้ยังคงหลงเหลืออยู่หรือไม่

ถ้าเป็นการชุมนุมตอนนี้ค่อนข้างจะแบ่งจากอุดมการณ์และจุดยืนได้ค่อนข้างชัด ว่าใครต่อต้านเผด็จการหรือไม่ต่อต้าน แต่สิ่งที่น่าสังเกต คือ การแบ่งแยกทางการเมืองของเสื้อเหลืองเสื้อแดงยังมีอยู่อย่างชัดเจน แต่เปลี่ยนเวอร์ชันใหม่ มีเจเนอเรชันใหม่เข้ามา และมีประเด็นเพิ่มขึ้น เห็นได้จากการดึงวาทกรรมของความขัดแย้งในยุคสมัยนั้นมาใช้ เช่น สลิ่ม การที่ดึงมาใช้แล้วยังมีคนเข้าใจ โดยเฉพาะเด็ก แสดงว่าถึงแม้การต่อสู้เสื้อเหลืองเสื้อแดงจะผ่านไปเป็นสิบปีแล้ว แต่ไม่มีอะไรคลี่คลาย ความขัดแย้งก็ยังคงเหมือนเดิม

ประเด็นนี้น่าสนใจติดตามต่อว่าทำไมบางวาทกรรมถูกนำมาใช้ แต่บางวาทกรรมอย่างอำมาตย์ไม่ได้ถูกใช้ แล้วถ้ายกระดับการชุมนุม มีคนอายุมากขึ้นจากรุ่นที่สู้กันระหว่างเสื้อเหลืองเสื้อแดงมาเข้าร่วม จะมีการหยิบยกวาทกรรมเก่าๆ ขึ้นมาใช้เพิ่มขึ้นหรือเปล่า หรือจะเกิดวาทกรรม วัฒนธรรมอะไรใหม่ๆ ขึ้นมาอีก อย่างม็อบแฮมทาโร่ ศัพท์ K-Pop ในการเมืองมีหลายคนไม่เข้าใจ ซึ่งเราไม่ได้คิดว่ามันเป็น Generation divide นะ เราคิดว่าเป็น Political Divide

สิ่งที่ดีอย่างหนึ่งในการชุมนุมคราวนี้ คือ ไม่มีการใช้สี มันทำให้ดู inclusive มากขึ้น คือมีกลุ่มก้อน มีจุดยืนชัด แต่ไม่พูดเรื่องสี ไปคิดกันเอาเอง ทำให้ไม่ลิมิตการชุมนุม ตอนนี้ที่กังวลอยู่คือมีกลุ่มรอยัลลิสต์มาชุมนุมแล้วใส่เสื้อเหลือง หรืออดีตคนเสื้อแดงบางคนก็เลือกใส่เสื้อแดง ใช้สัญลักษณ์บางอย่างของคนเสื้อแดง มันอาจไปผลิตซ้ำเรื่องความขัดแย้งที่เคยเกิดขึ้น ใช้สีเข้ามาร่วมเหมือนเดิม ก็ต้องดูกันต่อว่าจะมีคนทำตามหรือว่าต่อต้านอะไรไหม เราไม่อยากให้กลับไปหลุมเดิม แพทเทิร์นเดิมอีก อยากให้การชุมนุมครั้งนี้หลากหลายกว่านั้น เพราะการเมืองไทยดูจะไม่ไปไหนเลยเป็นเวลากว่าสิบปีมาแล้ว

 

อาจารย์ตั้งข้อสังเกตว่ามีการหยิบยกวาทกรรมเก่าสมัยม็อบเหลืองแดงมาใช้ ความหมายและการใช้วาทกรรมเหล่านั้นมีความเปลี่ยนแปลงไปบ้างไหม

รอบนี้วาทกรรมความรุนแรงยังไม่เยอะ ออกแนวเป็นวาทกรรมน่ารักๆ มากกว่า ถึงจะใช้คำว่าสลิ่ม บอกว่าแม่ฉันเป็นสลิ่ม แต่ก็ไม่ใช่การด่าเสียทีเดียว เป็นแค่การพูดเชิงประชดแบบขำๆ ไม่เหมือนสมัยเสื้อเหลืองเสื้อแดงที่มีการใช้วาทกรรมค่อนข้างรุนแรง ถ้าเธอไม่เห็นด้วยกับฉัน ต้องอยู่อีกฝั่งแน่ นี่ยังน่ารักอยู่ เป็น critical but cute แต่ไม่แน่ใจว่าวาทกรรมเหล่านี้จะมีความหมายรุนแรงขึ้นไหมถ้ามีความรุนแรงบนท้องถนนเกิดขึ้น

 

โซเชียลมีเดีย โดยเฉพาะทวิตเตอร์ กลายเป็นอีกพื้นที่สนามทางการเมืองอีกแห่งหนึ่งไปแล้วในตอนนี้ แต่ถ้ามองดูให้ดี พื้นที่ทวิตเตอร์มีคนรุ่นใหม่ยึดครองเป็นส่วนมาก พอมีคนอีกฝั่งไปโต้แย้ง หรือพยายามมีตัวตนก็ยังไม่ป๊อบเท่า อาจารย์คิดว่านอกจากจำนวนผู้ใช้ที่เป็นคนรุ่นใหม่จำนวนมากแล้ว มีปัจจัยอะไรอีกไหมที่ทำให้ผู้ใหญ่อีกฝั่งไม่สามารถสู้บนสนามทวิตเตอร์ได้

ผู้ใหญ่ไม่ได้เล่นทวิตเตอร์มาก ยกเว้นนักการเมืองกับผู้สื่อข่าว และนักวิชาการบางคน ผู้ใหญ่ส่วนมากอยู่บนเฟซบุ๊กกับไลน์ และวัฒนธรรมของทวิตเตอร์ไทยค่อนข้างเอนไปทาง K-Pop อนิเมะ ซึ่งเป็นความสนใจของคนรุ่นใหม่ ถ้าลองดูแฮชแท็กที่ติด Trending ถ้าไม่เกี่ยวกับการเมืองก็จะเป็น Pop culture ละคร K-Pop รูปโปรไฟล์ของผู้ร่วมชุมนุมหรือกระทั่งแกนนำในรอบนี้เป็นรูปดารานักร้องเกาหลีก็มี

ด้วยความที่เป็นแหล่งรวมกลุ่ม sub culture ที่เป็นความสนใจของคนรุ่นใหม่ ทำให้คนรุ่นใหม่ไป dominate ในทวิตเตอร์ จริงๆ แล้ว ทวิตเตอร์เองก็เป็นสื่อที่ดีในการจัดชุมนุมหรือสร้างแคมเปญ เพราะมีการใช้แฮชแท็กจัดตั้งหัวข้อความสนใจ กระจายไปได้เร็วเมื่อเทียบกับเฟซบุ๊ก มันเหมาะกับคนที่เล่นตลอด แต่แพลตฟอร์มอาจไม่เอื้อให้มีการสร้างกลุ่มก้อนที่แน่นอน อย่างเฟซบุ๊กสามารถสร้างคอมมูนิตี้เพจ สร้างกลุ่มได้ง่าย เมื่อเข้าร่วมแล้วก็เหมือนเป็นสมาชิก มีกลุ่มก้อนชัดเจน แต่ทวิตเตอร์จะเห็นว่าประเด็นไหลไปได้ตลอด มีคนเข้าออกตลอด ซึ่งก็อาจจะดีคนรุ่นใหม่ที่อยากพูดเรื่องบางอย่าง แบบไม่อยากให้มีคนเฝ้ามองอย่างชัดเจน และเหมาะกับการชุมนุมที่ไม่มีผู้นำเป็นเรื่องเป็นราว เป็นตัวเป็นตน ในต่างประเทศ กลุ่มที่ต้องการจัดการชุมนุมแบบไม่มีผู้นำก็จะใช้ทวิตเตอร์เป็นหลัก และใช้วิธีสร้างแอคเคาต์ขององค์กร แทนจะเป็นตัวบุคคลผู้นำ การสื่อสารก็จะทำในนามขององค์กร

อาจารย์ไม่คิดว่าเมื่อผู้ใหญ่เข้ามาใช้ทวิตเตอร์มากขึ้นมันจะเปลี่ยนแปลงได้ แต่เดิมก็ไม่คิดว่าผู้ใหญ่จะหันมาใช้อยู่แล้ว ทวิตเตอร์ไม่สามารถจัดระเบียบคนได้ง่ายเท่าเฟซบุ๊ก อย่างไรก็ตาม ถ้ากลุ่มผู้ใหญ่ใช้เฟซบุ๊กตอบโต้หรือมีส่วนร่วมกับม็อบเยาวชนมากขึ้น มีการใช้สองแพลตฟอร์มมากขึ้น ก็อาจจะมีการเปลี่ยนรูปแบบการจัดการของการชุมนุมรอบนี้ เพราะการ mobilize คนผ่านเฟซบุ๊กทำได้ง่าย ผ่านการตั้งเพจผู้นำหลักให้กลายเป็นคอมมูนิตี้  ขณะเดียวกัน ทวิตเตอร์แม้จะจัดการชุมนุมได้ดี แต่ก็ทำต่อเนื่องยาวนานไม่ได้ สุดท้ายต้องทำอย่างไรก็ได้ให้ดึงคนกลับไปที่ตัวองค์กรกับบุคคลที่สามารถจัดกลุ่มชุมนุมคนได้ในระยะยาว

 

ทราบมาว่าอาจารย์เคยทำงงานวิจัยเรื่องการใช้สื่อออนไลน์เพื่อบั่นทอนความเป็นประชาธิปไตยในช่วงที่มีการชุมนุมกปปส. อยากให้อาจารย์เล่าให้ฟังสักเล็กน้อย

อาจารย์เริ่มทำงานวิจัยตั้งแต่สมัยที่มีกลุ่มพันธมิตร ช่วงที่คุณทักษิณเป็นนายกฯ รอบแรก มีสื่อหลัก คือเคเบิลทีวี ส่งข่าวผ่าน SMS ทางมือถือ จนกระทั่งมีความเปลี่ยนผ่านทางด้านการใช้สื่อมาเป็นเฟซบุ๊กตอนเป็นกปปส.

ช่วงนั้นทุกคนตื่นเต้นมากว่าสื่อโซเชียลอย่างเฟซบุ๊กจะสามารถช่วยให้หลายๆ ประเทศที่ไม่มีความเป็นประชาธิปไตยหรือมีน้อยจะเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น สามารถล้มรัฐบาลทรราชได้ โดยเฉพาะเมื่อมีการใช้เฟซบุ๊กกับทวิตเตอร์ล้มรัฐบาลในประเทศฝั่งอาหรับอย่างอียิปต์หรือตูนิเซีย เป็นมุมมองที่แตกต่างจากตอนนี้ทุกคนเข้าใจว่าสื่อโซเชียลเป็นดาบสองคม

อาจารย์จึงไปค้นคว้าการใช้เฟซบุ๊กของกปปส.ตั้งแต่เริ่มต้นตอนที่ยังไม่เป็นกลุ่มก้อน จนกระทั่งมีคุณสุเทพมาเป็นผู้นำ เห็นชัดว่าเฟซบุ๊กไม่ได้เป็นสื่อที่ส่งเสริมประชาธิปไตยอย่างเดียว แต่ยังโปรโมตความคิดต่อต้านประชาธิปไตยด้วย คนมักคิดว่าสื่อโซเชียลจะทำให้คนมีความเท่าเทียมทางการเมืองมากขึ้น เพราะใครก็ได้สามารถใช้สื่อพูดสิ่งที่ต้องการในแบบที่ก่อนหน้านี้ไม่มีโอกาส มันควรจะเพิ่มความเป็นประชาธิปไตยไม่ใช่ลดน้อยลง แต่งานวิจัยของกปปส.ของอาจารย์เมื่อดูการใช้เฟซบุ๊กของคุณสุเทพ ของกปปส. ตั้งแต่ก่อตั้งจนมีรัฐประหาร ทำให้เห็นว่าการสื่อสารทางเฟซบุ๊กสามารถใช้ล้มประชาธิปไตยได้

นอกจากนี้ สื่อโซเชียลอย่างเฟซบุ๊กไม่สามารถลดการใช้ hate speech หรือคำพูดสร้างความรุนแรง ความเกลียดชังลงได้ เพราะไม่ว่าใครจะเขียนอะไร ก็สามารถโพสต์ลงได้โดยไม่ถูกบล็อกหรือเซนเซอร์ แม้แต่เรื่องกษัตริย์ ในตอนนั้นยังไม่เกิดปัญหา cambridge analytica กับเฟซบุ๊ก ทำให้เขาไม่ได้แคร์เรื่อง hate speech หรือ fake news การใช้คำพูดรุนแรงบนเฟซบุ๊กจึงเห็นได้ทุกวัน จำนวนเยอะมาก ตอนนี้เข้าใจว่าคงไม่สามารถพูดแบบนั้นได้โดยไม่ถูกปิดคอมเมนต์

โดยสรุป ผลลัพธ์ของงานวิจัยแสดงให้เห็นว่า หนึ่ง เฟซบุ๊กใช้ต่อต้านประชาธิปไตยได้โดยชัดเจน สอง เฟซบุ๊กไม่ได้เซนเซอร์การใช้ความรุนแรงทางคำพูดเลย เป็น maximum freedom of speech ที่ดันไปทำลายประชาธิปไตย สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นตั้งแต่การใช้โซเชียลมีเดียยุคแรกในไทย จนมาถึงตอนนี้ก็ไม่คิดว่ามันจะเปลี่ยนไปมากในเรื่องที่ว่าโซเชียลมีเดียสามารถใช้ต่อต้านและสนับสนุนประชาธิปไตยในเวลาเดียวกัน

 

การใช้เฟซบุ๊กเพื่อลดความเป็นประชาธิปไตยทำกันอย่างไร

เราใช้วิธี topic modeling หรือดึงหัวข้อที่คนพูดคุยกันออกมาดูว่ากลุ่มกปปส.พูดเรื่องอะไร และทำไมคนโพสต์จึงสนับสนุนกปปส. เป็นเพราะนโยบายหรือรักทหาร รักเจ้าหรือชอบลุง ซึ่งการดูข้อมูลบนเฟซบุ๊กมีคุณค่าอย่างสูงเลยนะ เพราะเวลาไปชุมนุม เราจะได้ฟังแต่ผู้นำ อย่างมากอาจจะคุยกับคนข้างๆ บ้าง แต่ไม่เห็นภาพรวมว่าคนที่ไปหรือคนที่สนับสนุนคิดอย่างไร

เมื่อดูเฟซบุ๊กโพสต์ของกปปส.และคุณสุเทพ ตั้งแต่ปี 2013 จนถึงรัฐประหาร สามารถแบ่งหัวข้อออกมาได้เลยว่าเรื่องที่กปปส.พูดกันมีอะไรบ้างในรอบ 2 ปีที่เขาสนับสนุนทหารให้มีบทบาททางการเมือง และสนับสนุนการไล่นายกฯ ยิ่งลักษณ์ เท่าที่อาจารย์วิจัยดูก็พบว่า ภายในกลุ่มกปปส.ส่วนใหญ่แบ่งออกเป็นกลุ่มรักเจ้ากับกลุ่มที่เคยสนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์ ขณะเดียวกัน กลุ่มสนับสนุนการรัฐประหารกลับเป็นกลุ่มเล็กมาก แต่พูดเยอะ พูดบ่อย active มาก ทำให้ volume การสื่อสารของพวกเขาดูเยอะ และมีพลังโน้มน้าวสูง แสดงให้เห็นว่าสื่อโซเชียลสามารถทำให้กลุ่มคนเล็กๆ มีพลังมากกว่าจำนวนคนที่เขามี ขอแค่โพสต์บ่อยๆ

บางครั้ง ถ้ามวลชนปล่อยให้คนกลุ่มเล็กแต่ active เหล่านี้ขึ้นมาเป็นผู้นำการถกเถียง (discussion) มันจะผลักดันการเคลื่อนไหวเป็นไปตามที่เขาต้องการและทำให้เสียงคนส่วนใหญ่ในกลุ่มจมหายไป เพราะเวลาเกิด discussion กันในเฟซบุ๊ก คนที่คอมเมนต์คนแรกจะสามารถกำกับการพูดของคนถัดมาได้ ยิ่งถ้าเป็น most active comment ยิ่งมีพลังโน้มน้าวคนที่ตามมาถกเถียงทั้งหมดในประเด็นนั้น ที่สำคัญคือไม่จำเป็นต้องเป็นคนที่มีชื่อเสียง เป็นที่รู้จัก จะเป็นใครก็ได้ นี่เป็นสาเหตุว่าทำไมเรามักเห็น กปปส.พูดเรื่องเจ้ากับรัฐประหารตลอด ทั้งๆ ที่กลุ่มคนรักเจ้ารักทหารมีน้อยมาก นั่นเพราะคนที่สนับสนุนกปปส.ด้วยเรื่องนโยบาย ไม่พอใจคนเสื้อแดง ไม่ชอบความวุ่นวายนั้นเงียบ หรือพูดอะไรไม่ค่อยเป็นเรื่องเป็นราวบนโซเชียล ขณะที่อีกฝ่ายพูดเยอะ และพูดเป็นสาระ

 

นอกจากการทำให้เสียงของคนกลุ่มเล็กมีพลังกลบมวลชนส่วนใหญ่ สื่อโซเชียลยังส่งผลต่อการเมืองอย่างไรอีกบ้าง

อัลกอริทึมของสื่อโซเชียลในแพลตฟอร์มต่างๆ มีผลอย่างมาก ตัวอย่างที่สำคัญที่สุดคือเฟซบุ๊ก ตั้งแต่มีปัญหา cambridge analytica เฟซบุ๊กสูญเสียแอคเคาต์ไปเยอะ โดยเฉพาะในยุโรปมีคนเลิกเล่นเฟซมากถึงสามล้านกว่าแอคเคาต์ เขาเลยสำรวจว่าคนเล่นเฟซบุ๊กเพื่ออะไร และพบว่าคนส่วนใหญ่ใช้เพราะอยากติดต่อกับพ่อแม่ เพื่อนพี่น้อง เขาจึงเปลี่ยนอัลกอริทึมครั้งใหญ่

เมื่อก่อนจะสังเกตได้ว่าถ้าเรามีเพื่อน 800 คน หน้าฟีดของเราจะเห็นโพสต์ของเพื่อนทั้งหมด 800 คน แต่ตอนนี้จะเห็นแค่ 30-40 คนที่สนิทที่สุด โดยอัลกอริทึมคำนวณว่า คนที่เรา active ทางเฟซบุ๊กมากที่สุด ตอบโต้กัน คุยกันบนเฟซบุ๊ก ไปเมนต์ ไลก์ แชร์โพสต์ คือคนที่เราใกล้ชิดที่สุด และ personalize user experience ดึงแต่โพสต์คนสนิทมาให้เห็น ทำให้เรารู้สึกอยากใช้เฟซมากขึ้น นานขึ้น จุดนี้เองที่มีความสำคัญทางการเมือง เพราะส่วนใหญ่คนที่เรา active ด้วยมักเป็นคนที่คิดเห็นตรงกันตลอดเวลา เรามักไม่ไปเมนต์ ไลก์ เพื่อนที่เราไม่เห็นด้วย จนทำให้เพื่อนเหล่านั้นหายไปจากฟีดในที่สุด โลกทัศน์ของเราก็จะแคบลง การสื่อสารกับคนเห็นต่างทางการเมืองที่ต่ำอยู่แล้วก็จะยิ่งต่ำลงเรื่อยๆ

ขณะเดียวกัน ถ้าเราอ่านแต่ข่าวในสื่อที่เราชอบ เฟซบุ๊กจะไม่แนะนำสื่ออื่นๆ การพยายามอ่านข่าวจากสื่อที่เห็นแตกต่างจากเราก็ต้องใช้ความพยายามมากขึ้น เรียกได้ว่าการจะเป็นคนที่ critical ได้ต้องใช้ความพยายามยิ่งกว่าเดิม นี่เป็นการเปลี่ยนแปลงอัลกอริทึมที่ส่งผลต่อการเมืองโดยที่เราควบคุมไม่ได้ นอกจากจะมีความรู้เพิ่มเติมมากขึ้น และพยายามคุยกับเพื่อนที่เราเห็นต่าง

ด้านอัลกอริทึมของทวิตเตอร์จะแตกต่างกับเฟซบุ๊กพอสมควร แต่ก็มีความเสี่ยงเหมือนกัน ถ้าอยู่ในแฮชแท็กเดิม อยู่ในกลุ่มที่มี conversation แบบเดิมๆ ตลอดเวลา ไม่ได้ไปยุ่งกับแฮชแท็กอื่นๆ มันก็ไม่ต่างกัน อย่างไรก็ตาม เรารู้สึกว่าทวิตเตอร์ใช้ความพยายามน้อยกว่าในการเข้าหาคนเห็นต่าง แค่เราไปอ่านแฮชแท็กอื่นที่คิดต่างจากเราก็สามารถออกจาก echo chamber นี้ได้ ถึงแม้คนใช้ทวิตเตอร์จะทวิตเร็ว ตอบเร็ว รีทวิตเร็วตลอดเวลา จนอาจจะถูกดูดอยู่ในแฮชแท็กเดิม 2-3 ชั่วโมง แต่เทียบกับเฟซบุ๊กแล้ว เราออกไปได้ง่ายกว่า เพราะเฟซบุ๊กเป็นเรื่องของ network เราต้องรู้จักกันและกันถึงจะเป็นเฟรนด์กันได้ เราคงไม่อยากเป็นเฟรนด์กับคนที่ไม่เห็นด้วยกับเรา แต่ทวิตเตอร์ เราติดตามใครก็ได้โดยไม่ต้องเขาติดตามกลับ

อีกเรื่องหนึ่งคือเฟซบุ๊กมีแอคเคาต์ปลอมยาก เพื่อป้องกัน fake news และมักระบุตัวตนของเราให้เกี่ยวข้องกับคนในครอบครัวหรือเพื่อน บอกว่าเรารู้จักใคร ทำให้ปิดบังตัวตนค่อนข้างยาก แต่ทวิตเตอร์เปิดแอคเคาต์ใหม่ได้ง่าย ใช้ตัวการ์ตูนในอนิเมะเป็นรูปโปรไฟล์ก็ได้ ทำให้ทวิตเตอร์ดูเปิดกว้างมากกว่า เราสามารถติดตามคนที่เราไม่เห็นด้วยโดยที่เขาหรือคนอื่นๆ รอบตัวไม่รู้ว่าเราเป็นใครได้

 

เมื่อโลกโซเชียลมีบทบาทสำคัญต่อการเมือง คนจึงเป็นกังวลเรื่อง IO ของรัฐ อาจารย์มีความเห็นเรื่องนี้ว่าอย่างไร

มันพิสูจน์ยากเหมือนกันนะว่าใครเป็น IO หรือไม่เป็น ซึ่งคำถามเกี่ยวกับ IO ก็มีหลายระดับ ว่าคนที่เห็นต่างจากเรานั้น เห็นต่างจากเราจริงๆ หรือถูกจ้างมา ถ้าถูกจ้างมา จ้างมาโดยรัฐบาลหรือเปล่า หรือเป็นคนอื่นที่มีผลประโยชน์ร่วมกัน ในช่วงเลือกตั้ง ผู้สมัครหลายคนก็ถูกกล่าวหาว่าจ้างคนมาเมนต์ตัวเอง ซึ่งที่จริงอาจไม่ใช่เขาก็ได้ อาจเป็นคนอื่นที่ชอบเขาไปจ้าง หรืออย่างในประเทศฟิลิปปินส์ที่อาจารย์เคยทำวิจัย คุณดูเตอร์เต ประธานาธิบดีตอนนี้ถูกกล่าวหาว่าจ้างคนมาคอมเมนต์สนับสนุน เราก็บอกไม่ได้ว่าคอมเมนต์นี้มาจากคนที่เขาจ้าง หรือคนอื่นจ้างให้เขา ฉะนั้นเรื่องนี้มันพิสูจน์ยากจริงๆ

เท่าที่อาจารย์ทำวิจัยมาดูได้แค่ว่าคอมเมนต์มาจากแอคเคาต์ปลอมหรือเปล่า ดูได้แค่ใช้คำพูดแบบเดียวกันในหลายๆ ที่ เวลาใกล้เคียงกันเท่านั้น จะติดตามไปมากกว่านั้นคือยากแล้ว และถ้าเป็นรัฐบาลที่ฉลาดจริงๆ เขาคงไม่ใช้คนของรัฐทำเองหรอก คงไปจ้างบริษัท โดยเฉพาะในต่างประเทศมาทำให้ จะได้ไม่ดูเหมือนใกล้ตัวเขามาก

ถ้าพูดถึง IO บางทีเราใช้วิธีดูที่องค์กรไซเบอร์ของรัฐดีกว่า เช่น ไปดูซิว่าศูนย์แจ้งข่าวปลอม anti fake news ของไทยไปแก้ข่าวอะไรบ้าง ถ้าเขาแก้แต่ข่าวรัฐบาล ไม่ได้แก้ข่าวอื่น ก็สามารถวิเคราะห์ได้ว่ามีจุดประสงค์ทางการเมืองบางอย่างที่ตั้งองค์กรเหล่านี้ขึ้นมา ไปดูแบบนี้ดีกว่า อย่างน้อยๆ เราก็สามารถวิเคราะห์ได้ชัดเจน ดูข้อมูลได้ชัดเจน

อย่างไรก็ตาม ปัญหาของการพูดเรื่อง IO ในประเทศที่มีความขัดแย้งสูงอย่างประเทศของเรา ทำให้คนฝั่งหนึ่งกล่าวหาว่าฝั่งตรงข้ามถูกจ้างมาตลอดเวลา กลายเป็นวาทกรรมที่พูดได้ง่ายๆ แต่พิสูจน์ความจริงไม่ได้ และบางทีก็ไม่ได้มีประโยชน์มากนัก เพราะถ้าเขาถูกจ้างแล้วอย่างไรต่อ มันแก้ไขอะไรไม่ได้ สุดท้ายก็นำไปสู่ความขัดแย้งเหมือนเดิม

ที่เรายังคงพูดเรื่อง IO อยู่แบบนี้สะท้อนให้เห็นว่าประเทศเราเป็นประเทศที่มีภาวะความน่าเชื่อถือต่ำ ทั้งความเชื่อในผู้นำ ความเชื่อในระบบ ความเชื่อในสื่อ ทุกอย่างจึงดูมีนอกมีในตลอดเวลา คำถามที่เราควรถามคือทำอย่างไรให้ความเชื่อในสิ่งเหล่านี้มันดีขึ้น ทำให้คนมีความมั่นใจมากขึ้นในข้อมูล ผู้นำ องค์กร หรือระบบ มากกว่ามาเถียงว่าใครเป็น IO

 

ในยุคที่โซเชียลมีเดียแพร่หลายแบบนี้ หากย้อนมองการเมืองหลายประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จะเห็นว่ามีลักษณะเป็นรัฐอำนาจนิยมที่ค่อนข้างเข้มแข็ง อะไรคือสิ่งที่ทำให้ความเป็นอำนาจนิยมนี้ยังคงดำรงอยู่ได้ 

ประเทศที่มีความเป็นประชาธิปไตยต่ำหรือไม่มีความเป็นประชาธิปไตยไม่ได้ใช้ความกดดัน ปิดกั้นสิทธิเสรีภาพทางไซเบอร์เพียงอย่างเดียว ยังมีเรื่องอื่นๆ ด้วย ยกตัวอย่างเช่น กัมพูชา ที่มีคุณฮุนเซนเป็นผู้นำอยู่ 30 กว่าปี แต่แกไม่เคยเล่นเฟซบุ๊กจนกระทั่งเกือบแพ้เลือกตั้งในปี 2013 เพราะว่าพรรคฝ่ายค้านสามารถชนะใจคนในเมืองพนมเปญ คนชนชั้นกลางไปถึงชนชั้นบนที่ใช้อินเทอร์เน็ต เล่นเฟซบุ๊ก

ต่อมาคุณฮุนเซนจึงเริ่มใช้เฟซบุ๊ก และมีข่าวว่าจ้างคนมาไลก์เต็มไปหมด ถึงขั้นว่าเป็นนักการเมืองที่ป๊อบปูล่าที่สุดในฝั่งเอเชียอาคเนย์ (หัวเราะ) และห้ามคนพูดวิจารณ์แก แต่การใช้โซเชียลมีเดียสร้างความชอบธรรมให้ตัวเองมันไม่พอ สุดท้าย แกต้องใช้วิธีกดดันทางอื่นด้วย ตั้งแต่การเกือบแพ้เลือกตั้งรอบนั้น แกก็กดดันนักการเมืองฝ่ายค้านมากขึ้น ยุบพรรคเขา จับนักข่าวเข้าคุก ไปเพิ่มความรุนแรงของรัฐด้านอื่นที่ไม่ใช่ไซเบอร์ จนกระทั่งเลือกตั้งปี 2018 ที่ผ่านมา ปรากฏว่าไม่มีพรรคฝ่ายค้านเหลือมากพอจะต่อต้าน แสดงให้เห็นว่าการใช้เครื่องมือไซเบอร์เพื่อลดเสรีภาพเป็นแค่วิธีหนึ่ง และไม่ได้ลดระดับความรุนแรงด้านอื่นๆ ที่ผู้นำกระทำอยู่ได้

ประเทศเราเคยผ่านการต่อสู้นองเลือดมา มีรัฐบาลทหาร มีการใช้ความรุนแรงสูง พอเปลี่ยนมาสู้กันในโลกออนไลน์ เริ่มใช้เทคนิคทางไซเบอร์เพื่อเปลี่ยนแปลงข้อมูล ปล่อยข่าวปลอม คนก็อาจจะคิดว่าสนามการเมืองเปลี่ยนไป ความรุนแรงน่าจะลดลง ความจริงคืออย่าไปคิดว่าถ้าประเทศเราหันมาสู้กันโดยปล่อยข่าวปลอม จ้างคนมาคอมเมนต์ หรือออกกฎหมายใหม่ทางคอมพิวเตอร์ ทำให้คนไม่มีเสรีภาพทางออนไลน์แล้วจะลดความรุนแรงปกติลง มันไม่ลด รัฐยังคงใช้วิธีการเหมือนเดิมอยู่ และสามารถใช้ร่วมกับเครื่องมือไซเบอร์ไปด้วยกันได้ นี่เป็นเหตุผลว่าทำไมประเทศอย่างเวียดนามที่มีคนใช้อินเทอร์เน็ต 80 เปอร์เซ็นต์ยังเป็นประเทศที่มีพรรคเดียว

ยิ่งไปกว่านั้น บางครั้งการใช้เครื่องมือไซเบอร์ยังทำให้รัฐบาลสามารถระบุตัวตนคนที่ต่อต้านรัฐได้ง่ายขึ้น อินเทอร์เน็ตทำให้คนถูกตามตัวได้ง่าย รัฐมอนิเตอร์ได้ว่ามีแกนนำใหม่ มีองค์กรชื่ออะไร กลายเป็นว่าเป็นเครื่องมือให้รัฐบาลค้นหาเป้าหมายใหม่ได้ง่ายขึ้น

 

ถ้าเราใช้โซเชียลมีเดียเรียกสื่อต่างประเทศมาจับจ้อง สร้างกระแสสังคมให้กดดันรัฐในประเทศ จะเปลี่ยนแปลงอะไรได้ไหม

ใช้ได้ มีพลังอยู่ เพราะสื่อโซเชียลเป็นเทคโนโลยีแนวราบ สามารถทำให้คนหลายคนที่ไม่มีทรัพยากรทางการเมือง หรือเป็นที่รู้จักสามารถเป็นผู้นำทางความคิดเปลี่ยนแปลงประเทศได้ มี democratizing effect ที่ยังสำคัญ ขอแค่คุณเก่ง แคมเปญดี active บ่อย สามารถใช้โซเชียลมีเดียดึงเพื่อนหรือคนรู้จักมาได้ แม้ไม่ได้มีทรัพยากรทางการเงินสูงก็สามารถเป็นผู้เปิดประเด็นได้ นี่เป็นสิ่งสำคัญที่สื่อโซเชียลให้แก่สังคม แต่อย่าลืมว่าจะใช้แค่โซเชียลมีเดียอย่างเดียวมาเปลี่ยนประเทศไม่ได้ ต้องใช้วิธีการอย่างอื่นด้วย

 

สุดท้าย เมื่อมองพลังนักเรียนนักศึกษาที่เคลื่อนไหวเรื่องการเมืองในตอนนี้ ถือว่ามีความหวังในการเปลี่ยนแปลงประเทศบ้างไหม มีอะไรที่อาจารย์คิดว่าต้องฝ่าฟันอีก

ตอนนี้เรายังอยู่ในช่วงเริ่มต้น ยังมองปลายทางยากมาก เพราะกลุ่มก้อนมวลชนยังน้อย อยู่ในฐานที่แคบ พอดึงเรื่องกษัตริย์ขึ้นมาก็อาจถูกเบี่ยงเบนประเด็น และจุดชนวนให้กลุ่มรักเจ้าทั้งหลายออกมาต่อต้าน ทั้งที่ประเด็นสำคัญของเราคือต้องการประชาธิปไตย

สิ่งที่เราต้องฝ่าฟันคือจะดึงประเด็นเรื่องประชาธิปไตยกลับมาได้มากน้อยแค่ไหน หนักแน่นแค่ไหน และขยายฐานได้มากขึ้นแค่ไหน นี่ยังเป็นจุดสตาร์ท ต้องใช้เวลานานกว่านี้ ต้องมีกลุ่มผู้ใหญ่อย่างชนชั้นกลางที่เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศเข้ามาร่วมมากขึ้น รวมถึงมีองค์กรอื่นนอกจากกลุ่มนักศึกษาเข้ามาประสานงานด้วย

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save