fbpx
สัญญาณอันตราย : ความรุนแรงเชิงโครงสร้างสู่ความรุนแรงเชิงวัฒนธรรมของสังคมไทย

สัญญาณอันตราย : ความรุนแรงเชิงโครงสร้างสู่ความรุนแรงเชิงวัฒนธรรมของสังคมไทย

ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

 

การเมืองไทยช่วงนี้มีอะไรหลายอย่างเกิดขึ้นที่น่าจับตามอง ทำให้ต้องมาคิดใคร่ครวญด้วยเหตุผลและวิพากษ์วิจารณ์กันเป็นอย่างมาก แต่ในที่สุดแล้วก็หนีไม่พ้นเรื่องการเมืองแห่งความขัดแย้ง ความรุนแรงและการหาทางออกด้วยวิธีการอย่างสันติ

มีประเด็นหลายประเด็นในเรื่องความขัดแย้งและความรุนแรงที่มองเห็นได้ชัด แต่หลายเรื่องก็มองเห็นไม่ชัดหรือบางทีก็แย้งกันได้หลายมุมมอง

เพื่อหาทางออกในเรื่องนี้ก่อนอื่นจำเป็นจะต้องหาคำนิยามหรือหลักคิดอะไรบางอย่างที่มีเหตุผลน่าเชื่อถือได้

สิ่งที่ถกเถียงกันในที่นี้คือประเด็นของการแก้ปัญหาความรุนแรงและความขัดแย้งในแบบสันติวิธี หรือพยายามจะหลีกเลี่ยงความรุนแรงให้ได้

แนวคิดของนักสันติภาพที่มีชื่อเสียงอย่าง Johan Galtung ก็น่าจะเอามาใช้ประโยชน์ในการตีความเรื่องราวและข้อถกเถียงในบ้านเราตอนนี้ได้ดี

ความรุนแรงคืออะไรแสดงออกมากี่แบบ นี่เป็นเรื่องที่ต้องอธิบายกันมากในทางทฤษฎี

Galtung พูดถึงความรุนแรงและความรุนแรงเชิงโครงสร้างมาตั้งแต่ปี 1969 แต่หลายคนยังเห็นว่าความคิดของเขาชัดเจนในการมองความขัดแย้งและความรุนแรงในทุกสังคม

เราจะมาดูว่าเขามองเรื่องนี้อย่างไรและเอามาอธิบายเหตุการณ์ในปัจจุบันนี้ได้อย่างไร

Galtung เริ่มจากการมองเรื่องความรุนแรงและประเภทของความรุนแรงก่อน ความรุนแรงจะปรากฏขึ้นเมื่อมนุษย์ได้รับอิทธิพลที่ทำให้การบรรลุถึงเป้าหมายอย่างแท้จริงทั้งในทางร่างกายและจิตใจต่ำกว่าการบรรลุถึงความสามารถของมนุษย์ที่มีอยู่

จุดสำคัญคือการใช้คำว่า ศักยภาพหรือการบรรลุถึงความสามารถที่มีอยู่ (Potentiality) และสภาพความเป็นจริงที่เกิดขึ้น (Actuality)

ในแง่หนึ่ง ความรุนแรงถูกกำหนดนิยามตรงนี้ว่าเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดความแตกต่างระหว่างศักยภาพหรือความสามารถที่มีอยู่กับความเป็นจริงที่เกิดขึ้น หรือบังเกิดความแตกต่างระหว่างสิ่งที่ควรจะเกิดขึ้นได้อย่างเต็มศักยภาพและสิ่งที่เป็นอยู่จริง

ฉะนั้นความรุนแรงคือการไปเพิ่มระยะห่างระหว่างศักยภาพหรือความสามารถที่มีอยู่ กับความเป็นจริงที่เกิดขึ้น หรือการไปขัดขวางการลดระยะห่างเหล่านั้น

 

Johan Galtung
Johan Galtung ภาพ : www.rightlivelihoodaward.org/laureates/johan-galtung/

 

ความรุนแรงเกิดขึ้นเมื่อไหร่

 

ตัวอย่างเช่น ถ้าคนๆ หนึ่งตายจากวัณโรคในอยุธยาสมัยศตวรรษที่ 17 คงยากที่จะคิดว่าเกิดความรุนแรงขึ้นตอนนั้น เพราะมันเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ในขณะนั้น แต่ถ้าคนๆ นั้นตายจากวัณโรคในปัจจุบัน ทั้งที่ทรัพยากรทางการแพทย์มีอยู่อย่างล้นเกินในโลก ความรุนแรงจึงบังเกิดขึ้นตามคำนิยามนี้

เช่นเดียวกัน ถ้าคนตายจากแผ่นดินไหวในทุกวันนี้ เราไม่สามารถพูดอย่างมั่นใจว่าเกิดความรุนแรงตามนิยามข้างต้น ในเมื่อการเกิดแผ่นดินไหวเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่อนาคตถ้าแผ่นดินไหวเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงได้ในทางวิทยาศาสตร์ การตายจากแผ่นดินไหวก็อาจเป็นเรื่องความรุนแรงได้ตามนิยามนี้เช่นกัน

การระบาดของ COVID-19 ยังเป็นที่น่าสงสัยว่าประเทศจีนใช้ศักยภาพทางเทคนิคหรือวิทยาศาสตร์ได้เท่าทันกับสิ่งที่เกิดขึ้นจริงหรือไม่ แม้ยังไม่รู้ว่ายารักษาโรคนี้จะเป็นอย่างไร แต่การใช้ศักยภาพสูงสุดในการระงับการแพร่ระบาดหรือป้องกันโรคเป็นการหลีกเลี่ยงความรุนแรง

ถ้าประเทศที่อ้างว่ามีศักยภาพทางการแพทย์สูงระดับโลก แต่มาตรการป้องกันและแก้ปัญหาห่วยแตก ก็เรียกได้ว่าเป็นความรุนแรงเชิงโครงสร้างได้เช่นกัน

เมื่อศักยภาพหรือความสามารถที่มีอยู่ “ระดับสูงกว่า” ความเป็นจริงที่เกิดขึ้น ก็หมายความว่าปัญหาเป็น “สิ่งที่หลีกเลี่ยงได้” ในเมื่อสามารถจะหลีกเลี่ยงได้แต่ปัญหายังคงอยู่ วินาทีนั้นความรุนแรงก็ได้เกิดขึ้นแล้ว

ระดับของการบรรลุตามศักยภาพก็คือความเป็นไปได้ตามระดับความรู้และทรัพยากร ถ้าหากความรู้และ/หรือทรัพยากรถูกผูกขาดโดยกลุ่มหรือชนชั้นหนึ่ง หรือถูกนำมาใช้เพื่อเป้าหมายอื่นๆ ความเป็นจริงที่เกิดขึ้นจึงอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าระดับของศักยภาพ ความรุนแรงก็ปรากฏขึ้นแล้วภายในระบบ

ตัวอย่างเช่น ถ้างบประมาณแผ่นดินถูกนำไปซื้ออาวุธหรือจ่ายให้หน่วยงานความมั่นคงมากเกินควร ในขณะที่คนยากจนข้นแค้นในสังคมมีอยู่มาก หรือถ้ามีความเจริญและพัฒนาทางวัตถุมาก แต่ความเหลื่อมล้ำทางสังคมเราสูงในระดับโลก คนส่วนใหญ่ขาดสวัสดิการรัฐ คุณภาพการศึกษาของเด็กทั่วไปยังต่ำกว่าประเทศอื่น ความรุนแรงก็เกิดขึ้นแล้ว

การใช้อำนาจในคำสั่งหรือคำตัดสินของศาลไปจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนในการดำเนินการทางการเมือง ตามระบอบประชาธิปไตย ทั้งที่หลักสากลของการตีความทางกฎหมายและกระบวนยุติธรรมสามารถแก้ไขปัญหาความขัดแย้งได้ แต่ระบบกลับรักษาสิทธิเสรีภาพของประชาชนไว้ไม่ได้ เราเรียกว่าความรุนแรงเชิงโครงสร้าง ซึ่งเป็นความรุนแรงทางอ้อมนั่นเอง

นอกจาก “ความรุนแรงทางอ้อม” ยังมี “ความรุนแรงทางตรง” ซึ่งในสถานการณ์นั้น เครื่องมือในการบรรลุซึ่งศักยภาพไม่ใช่เพียงแค่ถูกถอดออกไป แต่ยังถูกทำลายโดยตรงด้วย ดังนั้นการฆ่าฟันกันคือความรุนแรงทางตรงในแบบนี้

ยามเมื่อเกิดสงครามสู้รบกัน ความรุนแรงทางตรงเกิดขึ้นเพราะว่าการที่คนถูกฆ่าหรือถูกทำร้ายให้บาดเจ็บนั้น เป็นที่แน่ชัดว่า “ความสามารถทางร่างกายที่บังเกิดขึ้นในสภาพเป็นจริง” ของเขาจะต่ำกว่า “ความสามารถหรือการบรรลุถึงศักยภาพทางร่างกาย” ของเขา

คนที่ตายจากเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ 7,000 กว่าคน บาดเจ็บมากกว่า 10,000 คน ในรอบ 16 ปี พวกเขาถูกทำลายโอกาสพัฒนาชีวิตตัวเองอย่างสิ้นเชิง รวมทั้งคนในครอบครัวด้วย นี่คือความรุนแรงทางตรง แต่ยังคงมีความรุนแรงทางอ้อมเกิดขึ้นด้วย คือตราบใดที่ความรู้และทรัพยากรของรัฐถูกเอาไปใช้ในช่องทางอื่นจนพ้นไปจากความพยายามที่จะพัฒนาและสร้างสันติภาพ กลับเอางบประมาณทุ่มไปใช้กับความมั่นคงจนล้นเกิน เป็นต้น

แต่คำว่าการบรรลุถึงศักยภาพนี้ยังอาจมีปัญหามากในการตีความ โดยเฉพาะเมื่อเราขยับจากเรื่องทางร่างกายไปสู่เรื่องทางจิตใจ ประเด็นจึงอยู่ที่คำถามว่าค่านิยมที่จะบรรลุถึงนั้นมีสาระที่เป็น “ฉันทามติ” หรือไม่ เช่น การอ่านออกเขียนได้นั้นเป็นที่ยึดถือกันโดยทั่วไปว่าดี การมีสุขภาพดีเป็นสิ่งที่ดี การมีสันติภาพ/สันติสุขเป็นสิ่งที่ดี ต่างจากค่านิยมของการเป็นคนดีในหลักทางศาสนาใดศาสนาหนึ่งโดยเฉพาะ เพราะการเป็นคนดียังเป็นที่ถกเถียงกันระหว่างความเชื่อทางศาสนา เป็นต้น

 

วิถีของความรุนแรง

 

เพื่อจะถกเถียงกันในเรื่องนี้ จึงเป็นประโยชน์มากกว่าที่จะคิดถึงความรุนแรงในแง่ของ “อิทธิพล” (Influence) ความสัมพันธ์ที่สมบูรณ์แบบในเรื่องอิทธิพลต้องประกอบด้วย “ผู้กระทำผู้ถูกกระทำและปฏิบัติการ” แต่ถ้าจะพูดแบบนี้อย่างเดียวก็อาจทำให้หลงทางได้เหมือนกัน เพราะจะไปสนใจรูปแบบจำเพาะของความรุนแรงเท่านั้น

การจะเข้าถึงประเด็นนี้ได้ดี เราควรเริ่มต้นจากมิติอันหลากหลายที่กำหนดคุณสมบัติของปฏิบัติการของความรุนแรงหรือวิถีของการใช้อิทธิพล ซึ่งมีลักษณะเด่นอยู่หลายประการที่ต้องพิจารณาในที่นี้

ประการที่ 1 – เราต้องแยกระหว่างความรุนแรงเชิงกายภาพและความรุนแรงทางจิตใจ (Physical and Psychological Violence) ภายใต้เงื่อนไขของความรุนแรงเชิงกายภาพ มนุษย์ถูกทำให้เจ็บปวดทางร่างกายจนถึงระดับการฆ่าให้ตาย นอกจากนี้ยังควรมีการแยกแยะระหว่างความรุนแรงเชิงชีววิทยาซึ่งไปลดความสามารถทางกายให้ต่ำกว่าระดับศักยภาพเท่าที่อาจจะเป็นไปได้

ความรุนแรงเชิงกายภาพโดยตัวมันเองคือการไปเพิ่มข้อจำกัดทางกายภาพในการเคลื่อนไหวของมนุษย์ เช่น ถูกคุมขัง ล่ามโซ่ และรวมไปถึงโอกาสและความเท่าเทียมในการเข้าถึงการคมนาคมด้วย เช่น คนส่วนใหญ่ถูกจำกัดการเคลื่อนที่ เนื่องจากถูกผูกขาดอยู่ที่คนส่วนน้อย เป็นต้น

แต่การแยกแยะตรงนี้ยังมีความสำคัญน้อยกว่าการแยกแยะระหว่างความรุนแรงที่กระทำต่อร่างกายและความรุนแรงที่กระทำต่อจิตวิญญาณ ซึ่งในแบบหลังนี้รวมถึงการโกหก การล้างสมอง การยัดเยียด ปลูกฝังอุดมการณ์ด้านเดียว การข่มขู่คุกคาม ฯลฯ ทำให้คนส่วนใหญ่ถูกลดศักยภาพในทางจิตใจ เช่น การหลอกลวงด้วยการสร้าง fake news หรือการใช้ปฏิบัติการข้อมูลข่าวสาร (IO) เพื่อโจมตีใส่ร้ายผู้เห็นต่าง หรือการที่รัฐสร้างความจริงเพียงฝ่ายเดียว โดยกดทับข้อเท็จจริง อื่นๆ ในสังคม รวมถึงโอกาสในการได้รับสิทธิทางกฎหมายอย่างเท่าเทียมกัน ไม่สองมาตรฐานแบบที่คนบางกลุ่มทำอะไรก็ผิดเสมอ แต่คนบางกลุ่มถูกยกเว้นให้ผิดกฎหมาย เป็นต้น แบบนี้ก็เรียกว่าความรุนแรงด้วย

ประการที่ 2 – ความแตกต่างระหว่างแนวทางการใช้อิทธิพลที่เป็นบวกและแนวทางที่เป็นลบ คนเราถูกทำให้ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของคนอื่นมิใช่เพียงแค่ถูกลงโทษเมื่อคนเราทำอะไรที่ผู้ใช้อิทธิพลมองว่าเป็นสิ่งผิด แต่ยังหมายถึงการได้รับอิทธิพลเป็นรางวัลเมื่อคนเรายอมกระทำสิ่งที่ผู้ใช้อิทธิพลมองว่าถูกต้อง ในสภาพแบบนี้ แทนที่จะไปเพิ่มข้อจำกัดต่อการเคลื่อนไหวของคนเรา ข้อจำกัดอาจจะถูกลดลงและความสามารถทางกายถูกทำให้ขยายออกไป การกระทำแบบนี้ (การหลอกลวง) อาจจะเป็นไปโดยความยินยอมเสียด้วย

แต่นี่เป็นความรุนแรงไหม คำตอบคือเป็น เพราะผลลัพธ์โดยสุทธิอาจจะทำให้มนุษย์ถูกกีดกั้นไม่ให้ตระหนักถึงศักยภาพของตนเอง เพราะคนที่ถูกหลอกไม่มีทางพัฒนาตัวเองได้อย่างแท้จริง

ดังนั้นนักคิดร่วมสมัยหลายคนเน้นย้ำว่าการที่สังคมบริโภคให้รางวัลก็เพียงพอแล้วต่อการดึงคนให้มาเป็นผู้บริโภค ขณะเดียวกันก็ไม่ลงโทษต่อผู้ที่ไม่ยอมรับ ระบบแบบนี้ให้รางวัลบนพื้นฐานของการให้คำมั่นสัญญาต่อความพึงพอใจของคน

แต่การกระทำเช่นนั้นก็ทำให้ขอบเขตในการปฏิบัติการของมนุษย์คนอื่นจำกัดลง เราอาจคิดว่าวิธีนี้เป็นการดีกว่าเพราะมันทำให้คนเกิดความพึงพอใจ แทนที่จะไปทำให้คนเจ็บปวด แต่ก็แย่ในแง่ที่ว่ามีการล่อหลอก ไม่จริงใจ โดยเจตนาไม่เปิดเผย เช่น ปรากฏการณ์ ส.ส.งูเห่าหรือแจกกล้วยในรัฐสภา แม้คนที่ถูกกระทำจะชอบก็ตาม

ประการที่ 3 – เป็นเรื่องของความแตกต่างระหว่างผู้ถูกกระทำหรือเป้าของการกระทำ ในปฏิบัติการนั้นมีผู้ถูกกระทำที่ได้รับความเจ็บปวดหรือไม่ เราจะพูดถึงความรุนแรงได้ไหมถ้าหากไม่มีการสร้างความเจ็บปวดต่อเป้าของการกระทำทั้งในแง่วัตถุและจิตใจ นี่คือสิ่งที่เรียกว่าการเกิดความรุนแรงอย่างย่นย่อตัดตอน (Truncated Violence)

แต่ประเด็นนี้มีความหมายเป็นอย่างมาก เมื่อปัจเจกบุคคล กลุ่ม หรือชาติหนึ่งๆ กำลังส่อให้เห็นวิธีการใช้ความรุนแรงในทางกายภาพ ไม่ว่าจะโดยการขว้างก้อนหินเตือนไปจนถึงทดสอบอาวุธนิวเคลียร์ หรือการเรียกไปคุยปรับทัศนคติอย่างนุ่มนวลแกมบังคับ การขู่กันในทางการเมือง การทุบตีหุ่นหรือสัญลักษณ์ทางการเมืองของฝ่ายตรงข้ามในที่สาธารณะ เป็นต้น

การกระทำดังกล่าวอาจจะไม่มีความรุนแรงในแง่ที่ไม่มีใครได้รับบาดเจ็บ แต่การข่มขู่ว่าจะใช้ความรุนแรงทางกายภาพและคุกคามทางอ้อม ย่อมถือเป็นความรุนแรงในทางจิตวิทยา เพราะเป็นการจำกัดการกระทำของมนุษย์เช่นเดียวกับการใช้ความรุนแรงทางจิตวิทยาที่ไม่มีผลต่อเป้าหมาย ก็คือการโกหกที่ไม่กลายเป็นจริง เพราะไม่มีใครเชื่อการโกหก แต่การสร้างเรื่องไม่จริง เป็นความรุนแรงแบบหนึ่งซึ่งไม่ทำให้ความเลวร้ายน้อยลง

การทำลายสิ่งของต่างๆ เป็นความรุนแรงหรือไม่ มันไม่เป็นความรุนแรงตามนิยามข้างต้น แต่เป็นรูปแบบบางอย่างของการทำให้เกิดความเสื่อมหรือตกต่ำ แต่อาจจะเป็นความรุนแรงในทางจิตวิทยาในสองความหมาย ได้แก่ 1.การทำลายวัตถุเพื่อข่มขู่ว่าจะทำร้ายบุคคล และการทำลายวัตถุสิ่งของอันเป็นที่รักของบุคคลที่เป็นเจ้าของ เช่น ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ขบวนการที่ใช้ความรุนแรงในบางครั้งเลือกทำลายข้าวของสาธารณะหรือตัดต้นไม้ในสวนยางของกลุ่มเป้าหมาย และ 2. การชุมนุมทางการเมืองที่มีการทุบตีสิ่งของที่เป็นสัญลักษณ์ทางการเมืองของฝ่ายตรงข้าม

ประการที่ 4 – การพิจารณาในแง่ผู้กระทำความรุนแรง ในเหตุการณ์นั้นมีบุคคลทำความรุนแรงหรือไม่ คำถามคือเราจะพูดว่ามีความรุนแรงไหมถ้าไม่มีตัวบุคคลที่กระทำความรุนแรงโดยตรง หรือไม่มีใครแสดงเป็น“ผู้ร้าย”ให้เห็น

นี่คือสิ่งที่เรียกว่าการเกิดความรุนแรงอย่างย่นย่อตัดตอน (Truncated Violence) แต่เรื่องแบบนี้มีความหมายมาก เราควรจะกล่าวอ้างถึงชนิดของความรุนแรงที่มี“ผู้กระทำการความรุนแรง”ว่าเป็นความรุนแรงโดยบุคคลหรือความรุนแรงโดยตรงและเรียกความรุนแรงที่“ไม่มีผู้กระทำ” เป็นตัวบุคคลว่าความรุนแรงเชิงโครงสร้าง หรือความรุนแรงทางอ้อม

ทั้งสองกรณีนี้ปัจเจกบุคคลอาจถูกฆ่าหรือหั่นเป็นชิ้นๆ ถูกทุบตีหรืออาจจะถูกหลอกลวงด้วยการใช้วิธีให้รางวัล ถูกหลอกใช้งาน และปราบปรามทางความคิดก็ได้ แต่ในกรณีที่ใช้ความรุนแรงทางตรง ผลที่ตามมาอาจโยงกลับไปที่บุคคลในฐานะตัวแสดงความรุนแรง

ในกรณีที่สองไม่มีความหมายแบบนี้ ไม่มีบุคคลใดที่ทำร้ายใครโดยตรงภายในโครงสร้างของความรุนแรง ทว่า“ความรุนแรงถูกประดิษฐ์ขึ้นภายในโครงสร้าง” และ “แสดงออกมาในรูปของอำนาจที่ไม่เท่ากัน” ผลที่ตามมาก็คือความไม่เสมอภาคในโอกาสชีวิตของมนุษย์

ประเด็นนี้เราเห็นตัวอย่างชัดเจนในการยุบพรรคการเมือง แม้จะด้วยข้ออ้างว่าทำตามกฎหมาย แต่มีข้อโต้แย้งว่าเป็นคำตัดสินที่มีเหตุผลน่าเคลือบแคลง ไม่เป็นไปตามหลักนิติศาสตร์ ทำให้พรรคการเมืองที่มีคนลงคะแนนเสียงถึงหกล้านเสียงถูกยุบ ย่อมถือเป็นความรุนแรงต่อคนจำนวนมากในสังคมที่ลงคะแนนให้พรรคนี้

อีกแง่หนึ่ง เมื่อทรัพยากรถูกแจกจ่ายไม่เท่าเทียมกัน การกระจายรายได้ถูกบิดให้ผิดรูปอย่างรุนแรง ทำให้คนรวยที่สุดของประเทศมีไม่กี่ตระกูลซึ่งสมคบคิดกับผู้กุมอำนาจทางการเมืองกลุ่มเล็กๆ การรู้หนังสือและได้รับการศึกษาถูกกระจายอย่างไม่เท่าเทียมกัน การบริการทางสาธารณสุขที่มีคุณภาพสูงถูกจำกัดไว้เพื่อคนบางกลุ่มเท่านั้น

และที่สำคัญที่สุดคืออำนาจในการตัดสินใจเรื่องการกระจายทรัพยากรไม่มีความเสมอภาค เช่น การวางแผนงานแบบบูรณาการของรัฐที่ไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนในท้องถิ่นได้มีส่วนร่วม ไม่มีการกระจายอำนาจการปกครอง การวางแผนและการจัดสรรงบประมาณถูกผูกขาดไว้ที่คนกลุ่มเดียวและสถาบันเดียว ด้วยข้ออ้างว่าเพื่อสร้างเอกภาพและประสิทธิภาพ เพื่อการประสานสอดคล้องไร้รอยต่อ

สถานการณ์จะยิ่งเลวร้ายลง ถ้ามีบุคคลรายได้ต่ำ ระดับการศึกษาต่ำ สุขภาพต่ำ และมีอำนาจน้อย เพราะมิติที่ไม่เท่าเทียมกันเหล่านี้มักจะมีสหสัมพันธ์กับการเกาะกลุ่มในโครงสร้างทางสังคมด้วย

พวกมาร์กซิสต์วิจารณ์ทุนนิยมเรื่องอำนาจว่าอยู่ในมือของผู้กุมอำนาจทางปัจจัยการผลิต แต่ฝ่ายเสรีนิยมวิจารณ์สังคมนิยมว่าอำนาจในสังคมตกอยู่ในมือคนกลุ่มน้อยที่ผูกขาดอำนาจและเปลี่ยนอำนาจจากสนามหนึ่งไปสนามอื่นๆ อย่างง่ายดาย เพราะว่าไม่มีฝ่ายค้านที่แสดงความเห็นที่แตกต่าง

แต่ในสังคมการเมืองแบบอำนาจนิยม เรามักจะเห็นคนกลุ่มเดียวผูกขาดอำนาจ ใช้อภิสิทธิ์ทำร้ายรังแกคนกลุ่มอื่นอย่างไม่เป็นธรรมอยู่ตลอดเวลา โดยมีกฎหมายสูงสุดเป็นเครื่องมือและมีกลไกต่างๆ สนับสนุนทุกทาง แม้กระทั่งการตีความกฎหมายยังเข้าข้างพวกเดียวกันตลอด

คนไทย 1% ถือครองความมั่นคั่งหรือมีทรัพย์สินทั้งประเทศรวมกัน 66.9% ทำให้คนไทย 99% ถือครองทรัพย์สินทั้งประเทศเพียง 33.1% ถ้าประชาชนกำลังอดอยาก แต่หนี้สินครัวเรือนสูงขึ้นมากกว่าเดิม ความเหลื่อมล้ำยิ่งมากขึ้น ความรุนแรงก็ถูกทำให้เกิดขึ้นแล้ว ไม่ว่าความสัมพันธ์ระหว่างผู้กระทำความรุนแรงปฏิบัติการความรุนแรงและเป้าหมายของการถูกกระทำความรุนแรงจะโจ่งแจ้งหรือไม่ก็ตามเช่น แผนงานบูรณาการขับเคลื่อนการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ในปัจจุบัน ที่อ้างว่าลดความรุนแรง แต่อาจกระทำความรุนแรงอีกด้านหนึ่งอย่างไม่เปิดเผยในทางโครงสร้างด้วย

เราได้จัดการแยกแยะการใช้ความรุนแรงเป็นสองแบบ โดยใช้ถ้อยคำจับคู่ว่า ปัจเจกบุคคล/โครงสร้างและความรุนแรง ทางตรง/ทางอ้อม

ความรุนแรงที่มีความสัมพันธ์อันชัดเจนระหว่างผู้กระทำความรุนแรงปฏิบัติการความรุนแรงเป้าหมายของการถูกกระทำความรุนแรง อันเป็นการใช้ความรุนแรงที่เปิดเผย เพราะมองเห็นกับตาว่ามีปฏิบัติการ ความหมายตรงนี้สอดคล้องกันกับแนวความคิดของเราว่าเป็นเรื่องดราม่าหรือเป็นเรื่องปัจเจกบุคคล เพราะว่าเป็นเรื่องที่จับต้องและแสดงออกทางคำพูดได้ง่าย สอดคล้องกับโครงสร้างประโยคในภาษาที่ประกอบไปด้วยประธานกิริยากรรม

ความรุนแรงที่ไม่ใช่ความสัมพันธ์ในแบบนี้ เราจะเรียกว่าเป็น “เรื่องเชิงโครงสร้าง” ซึ่งเป็นสิ่งที่ถูกประดิษฐ์มาให้อยู่ในโครงสร้าง ดังนั้นเมื่อมีกรณีสามีทุบตีภรรยา จึงเป็นเรื่องความรุนแรงของปัจเจกบุคคล แต่ถ้าสามีนับล้านบีบบังคับให้ภรรยาโง่งมก็ถือเป็นความรุนแรงเชิงโครงสร้าง

ในสังคมที่อายุของคนรวยซึ่งมีจำนวนน้อยสูงกว่าคนจนเป็นเท่าตัว ก็ถือว่าความรุนแรงที่เกิดขึ้นแล้วโดยไม่ต้องมีตัวแสดงความรุนแรงที่เป็นรูปธรรมต่อคนอื่น เหมือนกรณีที่มีการฆ่ากันตาย เราอาจจะเรียกเงื่อนไขความรุนแรงเชิงโครงสร้างว่าความไม่ยุติธรรมทางสังคมก็ได้

ประการที่ 5 – ความแตกต่างระหว่างการตั้งใจและการไม่ตั้งใจ ลักษณะนี้มีความสำคัญมากเมื่อจะต้องตัดสินว่า“ใครมีความผิด” เพราะแนวคิดเรื่องความผิดในภาษาทางกฎหมายจะดูที่เจตนาในการกระทำ ขณะที่คำนิยามความรุนแรงในปัจจุบันส่วนมากมักจะดูด้านผลลัพธ์ของความรุนแรง

ความเชื่อมโยงอันนี้สำคัญมาก เพราะมันนำไปสู่การเน้นที่อคติในด้านความรุนแรง สันติภาพและความคิดอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ระบบจริยธรรมที่เน้นไปที่ความรุนแรงโดยเจตนาจะทำให้ไม่สามารถมองเห็นความรุนแรงเชิงโครงสร้างในแง่ผลรวมสุทธิของมัน ทำให้จับได้แต่ปลาตัวเล็กและโดยปล่อยปลาตัวใหญ่ไป แต่ก็ไม่ใช่จะต้องหันไปดูที่ความรุนแรงเชิงโครงสร้างเพียงอย่างเดียวเช่นกัน ซึ่งก็จะเป็นตรรกะวิบัติอีก

ถ้าความสนใจอยู่ที่ความหมายว่าสันติภาพ/สันติสุขคือการไร้ซึ่งความรุนแรง เพราะฉะนั้นปฏิบัติการก็ควรมุ่งตรงไปที่การต่อต้านทั้งความรุนแรงต่อบุคคลและความรุนแรงเชิงโครงสร้างด้วย

ประการที่ 6 – มีประเพณีที่มักจะแยกระหว่างความรุนแรงในสองระดับคือความรุนแรงที่เปิดเผยและความรุนแรงที่แฝงเร้น ความรุนแรงโดยเปิดเผยไม่ว่าจะเกิดกับบุคคลหรือโครงสร้าง เป็นสิ่งที่เห็นได้ชัดแม้ว่าจะไม่เป็นความรุนแรงทางตรง เพราะมีทฤษฎีว่าด้วย“การบรรลุถึงศักยภาพ” มาอธิบาย

ส่วนความรุนแรงแฝงเร้นเป็นบางสิ่งบางอย่างที่ไม่ปรากฏให้เห็น แต่อาจจะเกิดขึ้นได้โดยง่าย เพราะความรุนแรงโดยคำนิยามก็คือสาเหตุของความแตกต่าง หรือสาเหตุที่ทำให้ความแตกต่างไม่ลดลง ระหว่างการบรรลุศักยภาพหรือความสามารถที่มีอยู่และสภาพความเป็นจริงที่เกิดขึ้น ดังที่อธิบายในตอนต้น การเพิ่มความรุนแรงอาจจะมาจากการเพิ่มระดับหรือการไปลดระดับการบรรลุศักยภาพหรือความสามารถที่มีอยู่และการไปลดระดับความเป็นจริงที่เกิดขึ้น

เมื่อเรามีความรุนแรงแฝงเร้นดำรงอยู่ หากสถานการณ์เกิดความไม่แน่นอนมากจนกระทั่งการบรรลุศักยภาพที่เป็นจริงลดลงไปอีก สถานการณ์ก็จะยิ่งแย่ลง

กล่าวสำหรับความรุนแรงในระดับปัจเจกบุคคล นี่ย่อมหมายความว่าเมื่อเกิดปัญหาที่ท้าทายแต่เพียงเล็กน้อยในระดับปัจเจก บุคคลก็สามารถจุดชนวนความรุนแรงถึงขนาดเกิดการฆ่าหรือทำลายให้เกิดหายนะได้อย่างใหญ่หลวง

ถ้าไม่ระวังข้อนี้ กรณีความพยายามฆ่าตัวตายถึงสองครั้งของ ‘ผู้พิพากษา’ เป็นการแสดงออกถึงความรุนแรงแบบแฝงเร้นที่ซ่อนปัญหาไว้มากเสียจนกระทั่งปะทุเป็นการฆ่าตัวตายที่สะเทือนความรู้สึกของสังคม เพราะความพยายามฆ่าตัวตายครั้งแรกสะท้อนว่าคนในระบบยุติธรรมเองยังไม่ยอมรับความรุนแรงที่แฝงเร้นที่อยู่ภายในกลไกของตัวเอง จนกระทั่งเกิดเหตุโศกนาฏกรรมครั้งที่สอง

กรณีดังกล่าวเราควรจะอธิบายด้วยว่าความรุนแรงในระดับปัจเจกบุคคล “ที่ไม่เปิดเผย” นั้นอาจจะมีอยู่อย่างต่อเนื่องเป็นวัน เป็นชั่วโมง เป็นนาทีหรือวินาทีก่อนหน้ามีการจุดระเบิด การลั่นไก การชกต่อยหรือการกรีดร้องจะบังเกิดขึ้น นี่คือสิ่งที่แนวคิดเรื่องความรุนแรงระดับบุคคลที่ซ่อนเร้นถูกนำมาใช้อธิบายให้เห็นภาพรวมของการขาดความสมดุลไร้เสถียรภาพ

ในสภาพเช่นนี้การบรรลุศักยภาพในความเป็นจริงมีอยู่ในระดับที่ไม่เพียงพอที่จะปกป้องสถานการณ์ที่เสื่อมทรุดลงโดยการใช้กลไกในการแก้ปัญหา เช่น การกดขี่รังแก การปิดกั้นเสรีภาพ ความไม่เป็นธรรมในกระบวนการยุติธรรมการละเมิดสิทธิมนุษยชน การกีดกันสิทธิทางการเมืองต่อคนบางกลุ่มบางพรรค การทำให้ประชาชนติดแบล็กลิสต์โดยรัฐอำนาจนิยม

ถ้าความอยุติธรรมทั้งอย่างโจ่งแจ้งและซ่อนเร้นเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีก ความเสี่ยงก็จะสูงขึ้น ทำให้เกิดกรณีน้ำผึ้งหยดเดียวแล้วพังไปทั้งระบบ เช่นกรณีการยิงกราดที่โคราช เป็นต้น

นี่คือการสรุปลักษณะเด่นในมิติที่แสดงเป็นคู่ๆ ของความรุนแรง ปัญหาคือการผสมผสานกันของลักษณะหกประการนี้จะมีความเป็นไปได้หรือไม่

 

ความรุนแรงเชิงโครงสร้าง

 

ความรุนแรงเชิงโครงสร้างที่ไม่มีวัตถุเป้าหมายก็มีความหมาย การทำให้เกิดความรุนแรงแบบย่นย่ออาจจะเลยเถิดไปถึงขั้นกำจัดทั้งผู้กระทำการและผู้เป็นเป้าหมายในการใช้ความรุนแรง ความรุนแรงระดับปัจเจกบุคคลมีความหมายในแง่การคุกคาม การเดินขบวนแม้ไม่มีใครถูกตีแต่ก็รุนแรง และความรุนแรงเชิงโครงสร้างยังมีความหมายในแง่ที่เป็นตัวแบบในแง่รูปแบบนามธรรมเพื่อข่มขู่คุกคามคนให้ยอมอยู่ใต้อำนาจ เช่น บอกว่า “ถ้าคุณไม่ทำตัวให้ดี เราอาจจะเอาโครงสร้างแบบเก่ามาใช้ใหม่(ทหารขู่จะยึดอำนาจล้มกติกาประชาธิปไตย) หรือขู่ว่าถ้าไม่ทำผิดก็อย่ากลัวกฎหมาย (ทั้งที่กฎหมายนั้นออกมาอย่างมีอคติ) เป็นต้น

ถ้าสันติภาพถูกมองว่าเป็นการไร้ซึ่งความรุนแรง ฉะนั้นการคิดถึงสันติภาพก็ควรจะเป็นแบบเดียวกับการคิดถึงความรุนแรงด้วย สันติภาพเป็นสิ่งตรงข้ามกันกับความรุนแรงและรวมทั้งความรุนแรงที่เปิดเผยและซ่อนเร้นด้วย

จารีตประเพณีมักจะทำให้เราคิดว่าความรุนแรงเป็นเรื่องของความรุนแรงต่อบุคคลเท่านั้น ด้วยการแยกแยะให้เห็นว่าเป็นเรื่องระหว่าง “ความรุนแรงกับการข่มขู่คุกคามว่าจะใช้ความรุนแรง” หรือใช้คำในอีกแง่หนึ่งว่า เป็นเรื่องระหว่าง “สงครามเชิงกายภาพกับสงครามทางจิตวิทยา” หรือ “ความรุนแรงโดยเจตนากับความรุนแรงโดยไม่เจตนา”

แต่ไม่เพียงแค่นี้ทางเลือกในการแก้ปัญหาในที่นี้ก็คือการแยกให้ชัดถึงความแตกต่างระหว่างความรุนแรงต่อปัจเจกบุคคลกับความรุนแรงเชิงโครงสร้างซึ่งเป็นเรื่องพื้นฐาน แต่ก็ยังถือว่าเป็นรุนแรงพอกัน และเหตุผลที่ควรพิจารณา ได้แก่

1) เราควรเข้าใจร่วมกันว่าอะไรคือสาเหตุของความแตกต่าง ระหว่างศักยภาพหรือการบรรลุถึงความสามารถที่มีอยู่กับสภาพความเป็นจริงที่เกิดขึ้น (potential and actual realization)

2) เราต้องชี้ให้เห็นว่าไม่มีเหตุผลพอที่จะเชื่อว่าความรุนแรงเชิงโครงสร้างทำให้เกิดความสูญเสียน้อยกว่าความรุนแรงต่อบุคคล

ไม่ใช่เรื่องแปลกที่คนจะให้ความสนใจในเรื่องความรุนแรงต่อบุคคลมากกว่าความรุนแรงเชิงโครงสร้าง ความรุนแรงต่อบุคคลมักเป็นตัวแทนการเปลี่ยนแปลงและมีพลวัต เห็นเป็นยอดคลื่นขณะที่ความรุนแรงเชิงโครงสร้างนั้นเหมือนกับน้ำนิ่งไม่แสดงตัว

สังคมที่อยู่ในสภาวะนิ่งและมีเสถียรภาพจะให้ความสนใจกับปัญหาความรุนแรงต่อบุคคล ในขณะที่สังคมที่มีพลวัตการเปลี่ยนแปลงสูงมักจะให้ความสำคัญกับความรุนแรงเชิงโครงสร้าง

ในอีกแง่หนึ่ง เมื่อเราคิดถึงความรุนแรงเชิงโครงสร้างในแง่สิ่งที่แสดงออกมาซึ่งมีเสถียรภาพ แต่ความรุนแรงต่อบุคคล (วัดจากจำนวนการบาดเจ็บล้มตายในความรุนแรง) สะท้อนให้เห็นความแปรปรวนของสถานการณ์อย่างมากในห้วงเวลาหนึ่ง

คำอธิบายข้างต้นนี้เหมือนการกล่าววกวนกลับไปกลับมา ความรุนแรงที่ฝังตัวในโครงสร้างสังคมมักจะแสดงออกมาให้เห็นเหมือนกับการมีเสถียรภาพบางอย่าง โครงสร้างสังคมอาจจะเปลี่ยนในบางครั้งเพียงชั่วข้ามคืน แต่การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วนั้นไม่เกิดขึ้นบ่อย ความรุนแรงต่อบุคคลซึ่งกล่าวกันว่าขึ้นอยู่กับอารมณ์ที่แปรปรวนของปัจเจกบุคคลจะแสดงออกซึ่งความไร้เสถียรภาพมากกว่า ดังนั้นความรุนแรงระดับปัจเจกบุคคลอาจจะสังเกตเห็นง่าย ถึงแม้ว่าจะมีสภาวะเหมือนกับน้ำนิ่งไหลลึก แต่ต้องไม่ลืมว่าความรุนแรงเชิงโครงสร้างอาจจะแฝงไว้ซึ่งความรุนแรงที่มีมากกว่า

ด้วยเหตุผลเช่นนี้ เราจึงควรสนใจความรุนแรงระดับปัจเจกบุคคลในห้วงเวลาหลังการเกิดสงครามหรือระหว่างสงคราม และถ้าความขัดแย้งทางการเมืองหรือสงครามมีความยึดเยื้อ เราก็ควรจะหันมาสนใจความรุนแรงเชิงโครงสร้างด้วย

 

A Typology of Violence

 

ความรุนแรงเชิงวัฒนธรรม

 

นอกจากความรุนแรงเชิงโครงสร้าง เราควรเข้าใจความหมายของ “ความรุนแรงเชิงวัฒนธรรม” ด้วย หลังจากการวิเคราะห์ในบทความชิ้นแรกผ่านมา 20 ปี Galtung ก็เขียนเรื่อง “ความรุนแรงเชิงวัฒนธรรม” (Cultural Violence) ขึ้นในปี 1990 เพื่อขยายความเรื่องเดิมให้ชัดเจนขึ้น

เขาอธิบายว่าความรุนแรงเชิงวัฒนธรรมคือปรากฏการณ์ในบางแง่มุมของวัฒนธรรมหรือพื้นที่เชิงสัญลักษณ์ ไม่ว่าจะเป็นในด้านศาสนา อุดมการณ์ ภาษาและศิลปะ หรือแม้แต่วิชาการสาขาใดก็ตาม รวมทั้งวิทยาศาสตร์ด้วยที่ถูกนำมาใช้เพื่อเป็น เหตุผลหรืออ้างความชอบธรรมต่อปฏิบัติการความรุนแรงทั้งทางตรงและความรุนแรงเชิงโครงสร้าง

ดังนั้นไม่ว่าเหรียญตราติดหน้าอกจะเป็นดาวหรือสัญลักษณ์อะไร ไม้กางเขน รูปวงเดือน กงจักร ธง เพลงชาติ การตรวจพลสวนสนามของทหาร รูปภาพใหญ่ของผู้นำที่ติดกันอย่างแพร่หลาย การกล่าวปราศรัยที่ยั่วยุความรุนแรงหรือป้ายโปสเตอร์ ทุกอย่างอาจจะถือเป็นสัญลักษณ์ที่สร้างความรุนแรงเชิงวัฒนธรรมได้ทั้งนั้น (แม้จะไม่ใช่ทั้งหมด)

กล่าวให้ชัดคือความรุนแรงเชิงวัฒนธรรมเป็นตัวทำให้ความรุนแรงทั้งทางตรงและความรุนแรงเชิงโครงสร้างดูเหมือนว่าถูกต้อง หรือทำให้เรารู้สึกว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้องอย่างน้อยที่สุดก็ไม่ใช่สิ่งที่ผิด

คำถามคือเรากำลังอยู่ในสังคมที่มีความรุนแรงเชิงวัฒนธรรมหรือวัฒนธรรมแห่งความรุนแรงกันแน่

ตรงนี้ต้องเข้าใจให้ดี ความรุนแรงเชิงวัฒนธรรมหมายถึง “ปรากฏการณ์ในบางแง่มุมของวัฒนธรรมหรือพื้นที่เชิงสัญลักษณ์” เท่านั้น ที่ถูกอ้างความชอบธรรมต่อปฏิบัติการความรุนแรงทั้งทางตรงและเชิงโครงสร้าง

ในกรณีนี้ พื้นที่วัฒนธรรมทั้งหมดหรือส่วนใหญ่อาจไม่เป็นการยอมรับความรุนแรง แต่บางทีเราก็อยู่ในสภาวะจำต้องเผชิญหน้ากับปรากฏการณ์ทางวัฒนธรรมที่ไม่ใช่บางแง่มุมเท่านั้น แต่เป็นรูปแบบที่หลากหลายทางวัฒนธรรมที่มีความรุนแรงมาก ซึ่งกระจายไปในวงกว้างจนครอบคลุมวัฒนธรรมทั้งหมด มากเสียจนกระทั่งเราสมควรจะเปลี่ยนจากการเรียก “ความรุนแรงเชิงวัฒนธรรม” (Cultural Violence) เป็น “วัฒนธรรมแห่งความรุนแรง” (Violent Culture)

ตอนนี้สังคมไทยเราอยู่ในสภาวะแบบไหนกัน เรามีความรุนแรงเชิงโครงสร้างและเชิงวัฒนธรรม หรือมันเปลี่ยนไปสู่วัฒนธรรมแห่งความรุนแรงไปแล้วอย่างเป็นระบบ

นี่เป็นปัญหาที่ต้องขบคิดให้ดี เราจะแก้ปัญหาด้วยการสร้างสันติภาพเชิงวัฒนธรรม และทำให้สังคมไทยเป็นวัฒนธรรมแห่งสันติภาพได้หรือไม่ นี่เป็นคำถามที่ต้องการหาคำตอบกันต่อไป

 

____________________________
อ้างอิง

Johan Galtung, “Violence, Peace, and Peace Research,” Journal of Peace Research, Vol. 6, No. 3 (1969), pp. 167-191.

Johan Galtung, “Cultural Violence,” Journal of Peace Research, Vol. 27, No. 3. (Aug., 1990), pp. 291-305.

 

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

Thai Politics

20 Jan 2023

“ฉันนี่แหละรอยัลลิสต์ตัวจริง” ความหวังดีจาก ‘ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์’ ถึงสถาบันกษัตริย์ไทย ในยุคสมัยการเมืองไร้เพดาน

101 คุยกับ ‘ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์’ ถึงภูมิทัศน์การเมืองไทย การเลือกตั้งหลังผ่านปรากฏการณ์ ‘ทะลุเพดาน’ และอนาคตของสถาบันกษัตริย์ไทยในสายตา ‘รอยัลลิสต์ตัวจริง’

ภาวรรณ ธนาเลิศสมบูรณ์

20 Jan 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save