fbpx
สแตรทฟอร์ด อัพพอน เอวอน เมืองแห่งมหากวี

สแตรทฟอร์ด อัพพอน เอวอน เมืองแห่งมหากวี

ธีรภัทร เจริญสุข เรื่องและภาพ

 

ในบรรณพิภพภาษาอังกฤษนั้น นับว่าวิลเลียม เชคสเปียร์ เป็นยอดนักประพันธ์อันดับหนึ่ง

ว่ากันว่า หากไม่มีเชคสเปียร์แล้ว ดิกชันนารีภาษาอังกฤษจะบางลงถึงหนึ่งในสามของเล่ม

แต่ชีวิตประจำวันทั่วไปของเชคสเปียร์ดูเป็นปริศนา ถึงขั้นว่ามีนักทฤษฎีสมคบคิดจำนวนมาก กล่าวหาว่าเชคสเปียร์ไม่มีตัวตนอยู่จริง เป็นนามแฝงของนักประพันธ์ กวีเลื่องชื่อคนอื่นในประวัติศาสตร์ที่ปกปิดไว้ เพราะไม่เชื่อว่าลำพังเด็กบ้านนอกจากเมืองสแตรทฟอร์ดริมแม่น้ำเอวอนห่างไกล จะมีความสามารถทางภาษาโดดเด่นระดับเทียบเคียงขุนนางและนักประพันธ์ชนชั้นสูงแห่งยุคเอลิซาเบแธนอันรุ่งโรจน์ ไม่ว่าจะเป็นฟรานซิส เบคอน, คริสโตเฟอร์ มาร์โลว์ หรือเอิร์ลแห่งออกซ์ฟอร์ด

แต่ภายหลังจากการสืบค้นทางอักษรศาสตร์และประวัติศาสตร์ รวมถึงการพิสูจน์ทางโบราณคดี ก็พบว่าเชคสเปียร์คือเชคสเปียร์ ลูกพ่อค้าธรรมดาที่ได้รับการศึกษาพื้นฐาน หลงรักสาวชาวบ้าน สร้างครอบครัวแล้วรังสรรค์บทกวี บทละครมากมาย ที่ถึงแม้จะไม่ตรงตามประวัติศาสตร์ ขาดข้อมูลสังคมราชสำนักชนชั้นสูง แต่ก็หยั่งลึกลงถึงจิตใจ ความรัก ความแค้น อันเป็นสามัญลักษณะธรรมดาของมนุษย์ ก่อนจะอำลาจากแวดวงละครมาพักผ่อน ทำการค้า อยู่กับลูกหลานและทอดกายฝังร่างลงอย่างสงบสุขในเมืองเล็กๆ แสนงดงามริมแม่น้ำเอวอนทางตอนกลางของอังกฤษ

เพียงแค่ 2 ชั่วโมงทางรถยนต์จากกรุงลอนดอนอันอึกทึก ตัดผ่านทุ่งหญ้าเขียวขจีและท้องนาที่ลดหลั่นเรียงรายของค็อตส์วูลด์ สแตรทฟอร์ด อัพพอน เอวอน บ้านเกิดของมหากวีผู้สร้างเรื่องราวมากมายก็เผยตัวให้เราชื่นชม

เมืองเล็กที่เดินเพียงครึ่งวันก็สำรวจได้ครบแห่งนี้ เป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางที่เหล่าผู้รักวรรณคดีอังกฤษควรมาเยือนสักครั้ง โดยจุดท่องเที่ยวสำคัญที่เกี่ยวข้องกับชีวิตของเชคสเปียร์ในเมืองเกือบทั้งหมด ได้รับการดูแลโดยกองทุนบ้านเกิดเชคสเปียร์ (Shakespeare Birthplace Trust) ทำแผนการเข้าชม เล่าเรื่อง และเรียบเรียงได้ละเอียดตั้งแต่เกิด พบรัก ทำงาน ย้ายไปประสบความสำเร็จในลอนดอน จนกระทั่งกลับมาใช้ชีวิตและหมดลมหายใจลงในเมืองแห่งนี้

 

บ้านเกิดเชคสเปียร์

Shakespeare’s Birthplace

 

บ้านเกิดเชคสเปียร์

 

“All the world’s stage, and all men and women merely players” – As you like it  Act II Scene VII

“โลกคือละครโรงใหญ่ ชายหญิงไซร้เปรียบตัวละครนั่น”

ตามใจท่าน องค์ที่ 2 ฉากที่ 7, พระราชนิพนธ์แปลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

 

จุดเริ่มต้นของยอดกวีแห่งโลก บ้านเกิดของเชคสเปียร์ได้รับการรักษาไว้อย่างดีตั้งแต่ศตวรรษที่ 16 เนื่องจากบ้านหลังนี้เป็นที่อยู่ของจอห์น เชคสเปียร์ บิดาของเขาซึ่งดำรงตำแหน่งเป็นนายกเทศมนตรีของเมือง เขาเกิดในบ้านหลังนี้เมื่อ 26 เมษายน 1564 และเติบโตมาในครอบครัวใหญ่ที่อบอุ่น ก่อนจะเริ่มเรียนเขียนอ่านและใฝ่ฝันด้านงานเขียนและบทละคร

เมื่อจอห์นผู้เป็นพ่อเสียชีวิตในปี 1601 วิลเลียม เชคสเปียร์ รับมรดกบ้านที่เขาเกิดมาแล้วปล่อยเช่า กลายเป็นร้านอาหารและโรงเตี๊ยมในชื่อ Maidenhead และกลายเป็นแหล่งแสวงบุญของนักเขียนและผู้หลงใหลในผลงานของเชคสเปียร์มาโดยตลอดกว่า 400 ปี กองทุนบ้านเกิดเชคสเปียร์ได้ซื้อโรงเตี๊ยมแห่งนี้ในปี 1847 แล้วปรับปรุงให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวและพิพิธภัณฑ์ที่เล่าเรื่องชีวิตในวัยเยาว์และผลงานชั้นยอดของเชคสเปียร์อย่างมีสีสัน โดยมีนักแสดงมือสมัครเล่นรวมถึงนักแสดงฝึกหัดมาอ่านบทกวีของเช็คสเปียร์ท่ามกลางสวนดอกไม้ และเล่นละครสั้นด้วยความรื่นเริง เมื่อเดินเข้าไปในบ้านก็จะพบกับสภาพจำลองการอยู่อาศัยของครอบครัวเชคสเปียร์ในสมัยทิวดอร์ ห้องนอนและเสื้อผ้า รวมถึงครัวและอาหารย้อนยุคโดยมีผู้แสดงสวมชุดย้อนยุคคอยบรรยาย

 

กระท่อมของแอนน์ ฮาธาเวย์

Anne Hathaway’s Cottage

 

กระท่อมของแอนน์ ฮาธาเวย์

 

Tell me where is fancy bred,

Or in the heart, or in the head?

How begot, how nourished?

Reply, reply.

– The Merchant of Venice

 

ความเอยความรัก

เริ่มสมัครชั้นต้น ณ หนไหน

เริ่มเพาะเหมาะกลางหว่างหัวใจ

หรือเริ่มในสมองตรองจงดี

แรกจะเกิดเป็นไฉนใครรู้บ้าง        อย่าอำพรางตอบสำนวนให้ควรที่

ใครถนอมกล่อมเกลี้ยงเลี้ยงรตี     ผู้ใดมีคำตอบขอบใจเอย

– เวนิสวาณิช, พระราชนิพนธ์แปลในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

 

เมื่ออายุ 18 ปี พ่อหนุ่มเชคสเปียร์ลูกนายกเทศมนตรีที่ร่ำเรียนวิชาจากโรงเรียน King’s New School พบกับหญิงสาวที่แก่กว่าถึง 8 ปีอย่างแอนน์ ฮาธาเวย์ ลูกสาวค้างเรือนของครอบครัวคหบดีที่มีไร่นาสวนขนาดใหญ่อยู่นอกเมือง หนุ่มน้อยเชคสเปียร์อุตส่าห์เดินจากกลางเมืองสแตรทฟอร์ดกว่าสองไมล์เพื่อไปหาแอนน์ที่บ้านไร่แทบทุกวัน และด้วยความรักนี้เองที่ผลักดันให้เชคสเปียร์หนุ่มต้องรีบเร่งหางานสร้างตัว เพื่อแต่งงานและเลี้ยงดูลูกที่เผลอทำแอนน์ท้องก่อนแต่ง

แม้ว่าวิลเลียมจะเป็นลูกของนายกเทศมนตรี แต่ฐานะก็ไม่ได้ดีมากนัก และการแต่งงานแยกครอบครัวออกจากบ้านเดิมก็ต้องใช้เงินมาก วิลเลียมจึงต้องเข้าสู่กรุงลอนดอนเพื่อตามความฝันเป็นนักเขียนบทละคร เลี้ยงภรรยาและลูกสาวอีกสามคน จนประสบความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่ในฐานะนักเขียนบทละครของสมเด็จพระราชินีอลิซาเบธ สร้างโรงละครและคณะละครของตัวเองมีชื่อเสียงโด่งดังล้ำหน้ากว่าใครในยุคเดียวกัน และสืบต่อมาให้เราเรียนจนถึงปัจจุบันนี้

กระท่อมชาวไร่ของแอนน์ ฮาธาเวย์ ถูกซื้อและบำรุงรักษาไว้อย่างดี เป็นตัวอย่างของสถาปัตยกรรมกระท่อมชาวไร่ยุคทิวดอร์ที่สมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่ง โดยจำกัดนักท่องเที่ยวเข้าชมต่อรอบรอบละไม่เกินสิบคน หากนักท่องเที่ยวมีมากต้องเดินชมสวนสมุนไพรและสวนแอปเปิ้ลที่ปลูกรักษาไว้เหมือนสมัยศตวรรษที่ 16 ถ้าหากไปเที่ยวชมในฤดูใบไม้ผลิ ดอกแอปเปิลสีขาวอมชมพูจะเบ่งบานงดงามท่ามกลางสวนส่งกลิ่นหอมหวาน หากเดินทางไปในฤดูใบไม้ร่วง ผลแอปเปิลจะสุกปลั่งสีส้มแดงเต็มสวนน่ากัดกิน และยังมีแอปเปิลอบแห้งและน้ำแอปเปิล รวมถึงน้ำผึ้งดอกแอปเปิลขายในร้านสินค้าที่ระลึกของกระท่อมนี้ด้วย

 

บ้านใหม่ของเชคสเปียร์

Shakespeare’s New Place

 

บ้านใหม่ของเชคสเปียร์

 

Cowards die many times before their deaths; the valiant never taste of death but once

– Julius Caesar, Act II Scene II

 

คนเขลาสิ้นชีพหลายก่อนตายจริง

คนกล้าทิ้งชีพได้ตายครั้งเดียว

– จูเลียส ซีซาร์ องก์ที่ 2 ฉากที่ 2

 

ปลายศตวรรรษที่ 16 วิลเลียม เชคสเปียร์ที่ประสบความสำเร็จมากมายจากงานละคร ถึงขั้นสร้างโรงละคร Globe Theatre ที่โดดเด่นริมแม่น้ำเทมส์ของกรุงลอนดอนได้ ก็หอบเงินบางส่วนกลับมาซื้อบ้านหลังใหญ่ที่สแตรทฟอร์ด จากที่ดินของคณะนักบวช Blackfriars บ้านใหม่ของเชคสเปียร์ตั้งอยู่ข้างโบสถ์ประจำกิลด์ของเมืองและโรงเรียนที่เขาเคยเรียนในวัยเด็กเพื่อเป็นที่อยู่ให้กับภรรยาและบุตรสาวที่เหลือ 2 คนและหลานด้วย

เขาเดินทางไปกลับระหว่างสแตรทฟอร์ดกับลอนดอน เขียนบทละครน้อยลง เนื่องจากธุรกิจโรงละครเสื่อมลงท่ามกลางยุคโรคระบาดระหว่างปี 1606-1610 และนำเงินไปลงทุนในธุรกิจต่างๆ รวมถึงช่วยอุดหนุนกิจการโรงหมอของนายแพทย์จอห์น ฮอลล์ บุตรเขย ก่อนจะเกษียณตัวเองจากงานที่วุ่นวายในกรุงลอนดอน และสิ้นใจลงอย่างสงบในวัย 52 ปีซึ่งถือว่าเป็นคนอายุยืนพอสมควรในยุคแห่งสงครามและโรคระบาด เชคสเปียร์ทิ้งมรดกไว้ให้ลูกสาวทั้งสองซึ่งแต่งงานกับสามีที่ดี ทำงานอย่างซื่อตรง และรักษาสมบัติของตระกูลมาได้ยาวนานจนกระทั่งกองทุนบ้านเกิดเชคสเปียร์ซื้อมาปรับปรุงเป็นแหล่งท่องเที่ยวประจำเมือง

บ้านเรือนตายของเชคสเปียร์นี้ถูกทำลายลงในปี 1759 ก่อนจะถูกซื้อและสร้างใหม่บางส่วนเพื่อเป็นสถานที่ท่องเที่ยว พื้นที่กว้างด้านหลังบ้านจัดเป็นสวนประติมากรรมเล่าเรื่องบทละครและกวีของเชคสเปียร์ โดยสลักลงบนประติมากรรมเหล็ก มีลำโพงบันทึกเสียงอ่านบทกวี เราสามารถเดินชมประติมากรรมที่ได้รับแรงบันดาลใจจากละครของเชคสเปียร์ ฟังกวีใต้ร่มไม้และนั่งเล่นกลางสนามหญ้า รับรสบทกวีและดอกไม้ในสวนที่เชคสเปียร์เคยชม

 

คฤหาสน์ของฮอลล์

Hall’s Croft

 

คฤหาสน์ของฮอลล์

 

To be, or not to be, that is the question.

– Hamlet

 

จะอยู่หรือจะตาย นั่นหมายคือคำถาม

– แฮมเล็ต

 

ในช่วงบั้นปลายชีวิตของวิลเลียม เชคสเปียร์ เขาใกล้ชิดกับบุตรสาวคนโต ซูซานนา และบุตรเขย จอห์น ฮอลล์ ซึ่งเป็นแพทย์มากเป็นพิเศษ โดยนักวรรณคดีศึกษาสันนิษฐานว่า ความรู้เรื่องพิษ โรค และกายวิภาคต่างๆ ของเนื้อเรื่องในบทละครของเชคสเปียร์ ได้สอบถามมาจากบุตรเขยของเขาเอง ทำให้มีความแม่นยำและรายละเอียดตามความรู้ทางการแพทย์ในสมัยนั้นมากกว่านักเขียนรายอื่น รวมถึงช่วยให้เขามีสุขภาพที่ค่อนข้างแข็งแรง ไม่มีโรคภัยหรือความวิตกกังวลกราดเกรี้ยวแบบนักเขียนร่วมสมัยอย่างคริสโตเฟอร์ มาร์โลว์ หรือไมเคิล เดรย์ตัน

คฤหาสน์ของตระกูลฮอลล์ซึ่งเป็นคลินิกทำงานรักษาชาวเมืองสแตรทฟอร์ดในยุคนั้น อยู่ไม่ไกลจากบ้านใหม่ของเชคสเปียร์ เพียงเดินไม่ถึง 5 นาที และใกล้กับโบสถ์พระตรีเอกานุภาพอันเป็นสถานที่ทำพิธีศพและสุสานของเมืองเพียงเล็กน้อย กองทุนบ้านเกิดเชคสเปียร์จัดให้คฤหาสน์ฮอลล์แสดงวิถีชีวิตของแพทย์ในยุคทิวดอร์ และโรคภัยไข้เจ็บรวมถึงสุขภาพจิต และโรคทางประสาทที่ปรากฏในผลงานกวีและบทละครของเชคสเปียร์

 

โบสถ์พระตรีเอกานุภาพ


โบสถ์พระตรีเอกานุภาพ

Holy Trinity Church 

 

Good friend for Jesus sake forbeare,

To dig the dust enclosed here.

Blessed be the man that spares these stones,

And cursed be he that moves my bones.

– Shakespeare’s Gravestone Curse

 

เห็นแก่พระเจ้าเถิด                ปิยมิตร

อย่าขุดโกศซึ่งปิด                   ศพไว้

คงไว้ซึ่งหินอิฐ             รักรุ่ง เรืองแฮ

ใครขุดกระดูกเราไซร้   แช่งให้ฉิบหาย

จารึกบนแผ่นศิลาหลุมศพ วิลเลียม เชคสเปียร์

 

โบสถ์พระตรีเอกานุภาพ

 

โบสถ์พระตรีเอกานุภาพ Holy Trinity Church เป็นโบสถ์เชิร์ชออฟอิงแลนด์ประจำเมืองสแตรทฟอร์ด อัพพอน เอวอน ซึ่งเป็นที่ชุมนุมชนและประกอบพิธีกรรมต่างๆ ของชาวเมือง รวมถึงเป็นที่ฝังร่างยามวายชนม์มายาวนาน

ในโบสถ์มีอ่างน้ำบัพติสมาที่มีบันทึกว่าใช้ประกอบศีลจุ่มเชคสเปียร์ในยามแรกเกิด และหลุมศพของเชคสเปียร์และครอบครัว โดยกั้นพื้นที่มุขทางทิศเหนือ มีป้ายนิทรรศการบรรยายอุทิศให้แก่เชคสเปียร์โดยเฉพาะและเก็บค่าบำรุงโบสถ์ 5 ปอนด์ โบสถ์อยู่ค่อนมาทางนอกเมืองท่ามกลางแมกไม้ที่สงบเงียบร่มรื่น ริมฝั่งแม่น้ำเอวอนชื่นเย็นที่มีหงส์ขาวว่ายวนลอยไปมา เพียงแค่นั่งพักอธิษฐานหน้าแท่นบูชาของโบสถ์ ก็อาจรำพึงถึงชีวิตอันโลดโผนแต่จบลงด้วยความสุข ไม่ต่างจากบทละครสุขนาฏกรรมของเชคสเปียร์

 

 

นอกจากนี้ ในเมืองสแตรทฟอร์ด อัพพอน เอวอน ยังมีโรงละคร Royal Shakespeare Company จัดแสดงละครเป็นประจำทุกวันผลัดเปลี่ยนกัน โดยมีทั้งละครแบบดั้งเดิม และละครสมัยใหม่ดัดแปลงที่ใช้บทของเชคสเปียร์มาเล่าในฉากสมัยใหม่ บ้านเรือนปูนปลาสเตอร์ขาวตีฝาไม้ประดับสีน้ำตาลเข้มที่ยังรักษากลิ่นอายของยุคทิวดอร์เหมือนกันทั้งเมือง โรงแรมตกแต่งย้อนยุคทิวดอร์ ร้านเหล้าและผับที่มีอายุยาวนานก่อนสมัยเชคสเปียร์มีชีวิต อาหารอังกฤษในร้านค้าท้องถิ่นสแตรทฟอร์ด อัพพอน เอวอน รสชาติอร่อยแตกต่างจากอาหารเย็นชืดมาอุ่นร้อนจากซูเปอร์มาร์เก็ตของลอนดอน ทำให้รู้สึกถึงรากเหง้าของภาษา ความเป็นอังกฤษ และชนบทอันงดงามซึ่งก่อให้เกิดชีวิตของมหากวีที่โลกจดจำ

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save