fbpx
ยุทธศาสตร์ชาติ หรือยุทธการขายฝัน? ข้อสังเกตบางประการต่อ ‘ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี’

ยุทธศาสตร์ชาติ หรือยุทธการขายฝัน? ข้อสังเกตบางประการต่อ ‘ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี’

สฤณี อาชวานันทกุล เรื่อง

หลังจากที่หลายคนรอคอยหรือเพ่งเล็งมาหลายปี ‘ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี’ ก็กำลังจะได้ฤกษ์คลอดอย่างเป็นทางการและบังคับใช้ในเดือนกรกฎาคม 2561

(ในการเขียนบทความชิ้นนี้ ผู้เขียนใช้เอกสาร ‘ร่างแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี‘ ฉบับเดือนพฤษภาคม 2561 เผยแพร่บนหน้าเว็บเกี่ยวกับแผนยุทธศาสตร์และการปฏิรูป เว็บไซต์สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) เป็นหลัก)

เป้าหมายของยุทธศาสตร์ชาติดังกล่าว คือ การกำหนดกรอบและแนวทางการพัฒนาให้หน่วยงานของรัฐทุกภาคส่วนต้องทำตาม เพื่อให้บรรลุวิสัยทัศน์ภายในปี 2580 ที่สรุปเป็นสโลแกนสั้นๆ ได้ว่า ‘มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน’ ดังสรุปในแผนภาพด้านล่าง (ร่างแผนยุทธศาสตร์ฯ หน้า 7)

‘ร่างแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี‘ 

นับเป็นครั้งแรกที่ไทยจะมีแผนการพัฒนาประเทศที่วางกรอบนานถึง 20 ปี โดยมีระยะเวลาบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2560-2579 (ปีแรกผ่านไปแล้วก่อนการบังคับใช้ ก็ถือว่าหยวนๆ กันไป)

แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือ รัฐบาล คณะกรรมการ และหน่วยงานราชการทุกแห่งในอนาคตจะต้องทำตามยุทธศาสตร์ชาติ ตั้งแต่ระดับนโยบาย งบประมาณประจำปี และแผนต่างๆ โดย พ.ร.บ. การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ 2560 กำหนดอย่างชัดเจนในมาตรา 5 ว่า “หน่วยงานของรัฐทุกหน่วยมีหน้าที่ดําเนินการเพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามที่กําหนดไว้ในยุทธศาสตร์ชาติ การกําหนดนโยบายการบริหารราชการแผ่นดินของคณะรัฐมนตรีก่อนที่จะเข้าบริหารราชการแผ่นดิน การจัดทําแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติและแผนอื่นใด รวมตลอดทั้งการจัดทํางบประมาณรายจ่ายประจําปีงบประมาณ ต้องสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ” และ “เป็นหน้าที่ของคณะรัฐมนตรีที่จะกํากับดูแลและสนับสนุนให้หน่วยงานของรัฐทุกหน่วยดําเนินการ” ตามยุทธศาสตร์ชาติ

เอกสารร่างยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ณ เดือนพฤษภาคม 2561 มีการแบ่งยุทธศาสตร์ชาติออกเป็น 6 ด้าน ได้แก่

  1. ยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคง
  2. ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน
  3. ยุทธศาสตร์การพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพคน
  4. ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างโอกาสความเสมอภาคและเท่าเทียมกันทางสังคม
  5. ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
  6. ยุทธศาสตร์ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ

รศ.ดร. อภิชาต สถิตนิรามัย คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เคยตั้งข้อสังเกตถึงที่มาของคณะกรรมการจัดทำร่างยุทธศาสตร์ด้านเศรษฐกิจ (การสร้างความสามารถในการแข่งขัน) ว่า

“ส่วนใหญ่เป็นข้าราชการ อดีตข้าราชการ บุคคลในเครื่องแบบ ส่วนตัวแทนภาคเอกชนก็มาจากห้างค้าปลีกสองคน ด้านการเงินสองคน และมีอดีตนายธนาคารอีกหนึ่งคน ส่วนกรรมการยุทธศาสตร์ชาติทั้ง 28 คน มีตัวแทนเอกชนห้าคนมาจากธุรกิจธนาคาร สองคนมาจากธุรกิจคมนาคม และสองคนมาจากปูนซีเมนต์ไทย …จะเห็นได้ว่า ตัวแทนภาคเอกชนเน้นด้านการตลาดและการเงิน ไม่ได้เน้นด้านวิศวกรที่มีความรู้เกี่ยวกับอุตสาหกรรม ตัวแทนจากภาคส่วนอื่นที่ไม่ใช่ภาคธุรกิจ เช่น ภาคแรงงาน ธุรกิจรายเล็ก ชุมชน ฯลฯ ไม่มีที่อยู่ทั้งในกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ กรรมการจัดทำ และกระบวนการรับฟังความเห็น”

เป้าหมายแบบ ‘พูดอีกก็ถูกอีก’

แน่นอนว่ายุทธศาสตร์ชาติ โดยเฉพาะในเมื่อจะใช้บังคับยาวถึง 20 ปี จำเป็นจะต้องมีลักษณะ ‘นามธรรม’ ค่อนข้างสูง เพื่อให้การปฏิบัติมีความยืดหยุ่น อีกทั้งกฎหมายการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติเองก็ระบุไว้ว่า คณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติแต่ละด้านจะต้องไปทำแผนแม่บท “เพื่อบรรลุเป้าหมายตามที่กำหนดไว้ในยุทธศาสตร์ชาติ” เสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป

อย่างไรก็ดี การเขียนแบบนามธรรมกว้างๆ เป็นการเปิดโอกาสค่อนข้างมากในการตีความเพื่อกลั่นแกล้งรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในอนาคต (ว่าไม่ทำตามยุทธศาสตร์ชาติ) แต่อันที่จริง ผู้เขียนคิดว่าเรื่องนี้เป็นปัญหาเขาควาย กลืนไม่เข้าคายไม่ออก เพราะถ้าหากเขียนยุทธศาสตร์ชาติแบบตรงกันข้าม คือเขียนอย่างรัดกุมเป็นรูปธรรม แบบนั้นอาจปิดโอกาสที่จะตีความกลั่นแกล้ง แต่ก็เท่ากับว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในอนาคตก็ยิ่งถูก ‘มัดมือชก’ ไร้ซึ่งอิสรภาพในการออกแบบนโยบายมากกว่าเดิม

ฉะนั้น ผู้เขียนคิดว่ารากของปัญหาที่แท้จริงก็คือ การเขียนรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่กำหนดให้ยุทธศาสตร์ชาติยาวถึง 20 ปี และมีผลผูกพันรัฐบาลและหน่วยงานราชการทุกแห่ง แถมทำในสมัยเผด็จการทหารที่ไร้ซึ่งความชอบธรรมตั้งแต่ต้น!

เนื้อหายุทธศาสตร์ชาติสรุปสั้นๆ ได้ว่า “พูดอีกก็ถูกอีก” เพราะคงไม่มีใครปฏิเสธเป้าหมายหลัก ‘มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน’ ดังสรุปในแผนภาพข้างต้นว่า เป็นเป้าหมายที่พึงประสงค์สำหรับสังคมไทย

คล้ายกับสมมุติถ้าเราตั้งเป้า ‘รักษาสุขภาพ’ หรือบริษัทใดบริษัทหนึ่งตั้งเป้า ‘เป็นที่ยอมรับชื่นชมของผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย’ คงไม่มีใครปฏิเสธว่าเป็นสิ่งที่ ‘ควรทำ’

ปัญหาก็คือ เป้าหมายโลกสวย ‘มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน’ นั้น เมื่อแยกส่วนออกมาดูแล้วอาจจะขัดแย้งกันก็ได้ ขึ้นอยู่กับการกำหนดนิยาม และยุทธศาสตร์ที่จะไปให้ถึงเป้าหมาย

หลังจากที่ได้อ่านร่างยุทธศาสตร์ทั้ง 6 ด้าน ผู้เขียนมีข้อสังเกตสั้นๆ ว่ายุทธศาสตร์ฉบับนี้มีลักษณะเด่นสามประการ ดังต่อไปนี้

1. ‘มั่นคง’ นิยามกว้าง แต่ไม่แตะปัญหากองทัพ

เป็นที่น่าสังเกตว่า ยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคงตั้งอยู่บนนิยาม ‘ความมั่นคง’ ที่กว้างขวางอย่างยิ่ง โดยระบุว่าเป็น “กรอบแนวคิดใหม่ที่เรียกว่าความมั่นคงแบบองค์รวม ยุทธศาสตร์ชาติด้านความมั่นคงจึงมีเป้าหมายสำคัญเพื่อบริหารจัดการสภาวะแวดล้อมของประเทศให้มีความมั่นคง ปลอดภัย และมีความสงบ เรียบร้อยในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับชาติ สังคม ชุมชน ไปจนถึงระดับความมั่นคงของมนุษย์ และทุกมิติการ พัฒนา” (หน้า 11)

โดยมีตัวชี้วัดหลักได้แก่

  • ดัชนีชี้วัดความสุขของประชากรสำหรับประเทศประเทศไทย อยู่ใน 10 อันดับแรกของโลก ภายในปี พ.ศ. 2580
  • ระดับความมั่นคงปลอดภัยภายในประเทศและศักยภาพตำรวจระดับสากล อยู่ใน 20 ลำดับแรกของโลก ภายในปี พ.ศ. 2580
  • กองทัพและหน่วยงานด้านความมั่นคงมีความพร้อมด้านบุคลากร เทคโนโลยี ยุทโธปกรณ์ แผน ระบบการแก้ไขปัญหา และการมีส่วนร่วมของภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนในการแก้ไข ปัญหา ที่ครอบคลุมทุกมิติและทุกระดับความรุนแรง รวมถึงมีการฝึกอบรมที่มีประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่อง
  • การนำเสนอแนวความคิดริเริ่มและหนทางแก้ไขปัญหาระหว่างประเทศตามโอกาสที่เหมาะสมของประเทศไทย
  • การพัฒนากลไก (คนและเครื่องมือ) รวมถึงระบบการบริหารจัดการความมั่นคงแบบองค์รวม ให้เกิดขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพ

วิธีการที่ยุทธศาสตร์ด้านนี้เสนอ ส่วนใหญ่เป็นการ ‘พัฒนาและเสริมสร้าง’ ศักยภาพของหน่วยงานด้านความมั่นคง และ ‘คนในทุกภาคส่วน’ ให้มีความเข้มแข็ง และมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา

น่าติตดามต่อไปว่า ‘ภัยคุกคาม’ ที่ระบุในยุทธศาสตร์นี้ จะถูกตีความอย่างคลุมเครือกว้างขวางไปปิดกั้นเสรีภาพการแสดงออกของประชาชน เช่น กล่าวหาว่าคนที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลทหาร ‘จงใจทำให้ประชาชนตื่นตระหนก’ หรือ ‘มุ่งปลุกระดม’ ดังที่พบเห็นในหลายกรณีตลอดสี่ปีที่ผ่านมาหรือไม่

น่าสังเกตว่าไม่มีเนื้อหาใดๆ ในยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคง ที่พูดถึงการแก้ปัญหาและพัฒนากองทัพ โดยเฉพาะการยกระดับ ‘ความโปร่งใส’ (transparency) เช่น ความโปร่งใสในการจัดซื้อจัดจ้าง, การยกระดับ ‘ประสิทธิภาพ’ ในการใช้ทรัพยากร (resource efficiency) เช่น จำนวนนายพล หรือการยกระดับกลไก “ความรับผิด” (accountability) เป็นต้น

ประเด็นเหล่านี้ล้วนจำเป็นต่อการสร้าง ‘ความมั่นคง’ โดยเฉพาะความรู้สึกมั่นคงปลอดภัยของประชาชนในชาติ ว่าจะไม่ถูกบุคลากรของกองทัพกลั่นแกล้งหรือคุกคาม ดังที่สังคมไทยได้ประจักษ์ตลอดมาหลังรัฐประหารปี 2557

2. ‘มั่งคั่ง’ รัฐนำการส่งเสริมอุตสาหกรรม ไม่เอื้อเป้าลดเหลื่อมล้ำ

เนื่องจากเป้าหมาย ‘มั่งคั่ง’ ในแผนยุทธศาสตร์ชาติ ครอบคลุมทั้งการพัฒนาเศรษฐกิจ และการลดความเหลื่อมล้ำ เนื้อหาส่วนใหญ่จึงกระจายอยู่ในยุทธศาสตร์ชาติสองด้าน คือ ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน และยุทธศาสตร์ด้านการสร้างโอกาส ความเสมอภาค และเท่าเทียมกันทางสังคม

ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขันกำหนดให้รัฐมี ‘บทบาทนำ’ ในการสร้างหรือยกระดับอุตสาหกรรมและธุรกิจหลากหลายประเภท เป็นนโยบายเน้นอุตสาหกรรม (industrial policy) อย่างชัดเจน ตั้งแต่ เกษตรอัตลักษณ์พื้นถิ่น เกษตรปลอดภัย เกษตรชีวภาพ เกษตรแปรรูป เกษตรอัจฉริยะ อุตสาหกรรมชีวภาพ อุตสาหกรรมและบริการการแพทย์ครบวงจร อุตสาหกรรมและบริการดิจิทัล ข้อมูล และปัญญาประดิษฐ์ อุตสาหกรรมและบริการขนส่งและโลจิสติกส์ อุตสาหกรรมความมั่นคงของประเทศ ท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์และวัฒนธรรม ท่องเที่ยวเชิงธุรกิจ ท่องเที่ยวเชื่อมโยงภูมิภาค

ด้านกลไกสนับสนุนต่างๆ แผนนี้พูดถึงการสร้างโครงข่ายคมนาคมไร้รอยต่อ เพิ่มพื้นที่และเมืองเศรษฐกิจ พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยีสมัยใหม่ รักษาและเสริมสร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจมหภาค สร้างผู้ประกอบการอัจฉริยะ สร้างโอกาสการเข้าถึงบริการทางการเงิน สร้างโอกาสเข้าถึงตลาด และการปรับบทบาทและโอกาสการเข้าถึงบริการภาครัฐ

ในแผนยังไม่ชัดเจนว่า คณะกรรมการจัดทำแผนฯ ให้ ‘น้ำหนัก’ ระหว่างภาคอุตสาหกรรมหรือธุรกิจเหล่านี้อย่างไร ไม่มีการจัดอันดับความสำคัญ และไม่ชัดเจนว่าการส่งเสริมอุตสาหกรรมเหล่านี้จะช่วยบรรลุเป้าหมายหลักของยุทธศาสตร์นี้ตามตัวชี้วัดด้านล่างได้อย่างไร

  • รายได้เฉลี่ยต่อหัวมากกว่า 15,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อคนต่อปี ในระยะ 20 ปี
  • อัตราการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ เฉลี่ยไม่ต่ำกว่าร้อยละ 5 ต่อปี ในระยะ 20 ปี
  • ตัวชี้วัดผลิตภาพการผลิตรวม เฉลี่ยไม่ต่ำกว่าร้อยละ 3 ต่อปี ในระยะ 20 ปี
  • อันดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดย International Institute for Management Development (IMD) อยู่ในอันดับ 1 ใน 20 ของประเทศที่ได้รับการจัดอันดับทั้งหมด

น่าสังเกตด้วยว่า แผนนี้มิได้พูดถึงการสร้างและคุ้มครอง ‘สนามแข่งขันที่เท่าเทียม’ (level playing field) อาทิ การปรับปรุงกฎหมายแข่งขันทางการค้าให้ได้มาตรฐานสากล และมิได้พูดถึงแนวทางการขจัดหรือลดทอน “ความล้มเหลวของภาครัฐ” (government failures) โดยเฉพาะการทุจริตคอร์รัปชั่นมากมายในขั้นตอนการริเริ่มและประกอบธุรกิจ ไปจนถึงคอร์รัปชั่นเชิงนโยบายที่ ‘เลือก’ เอื้อประโยชน์แก่บริษัทผู้ครองตลาดรายใหญ่ ซึ่งที่ผ่านมาหลายสิบปี ประเด็นเหล่านี้เป็นปัจจัยสำคัญในการเพิ่มอำนาจเหนือตลาดของบริษัทรายใหญ่ บั่นทอนโอกาสของผู้ประกอบการหน้าใหม่ ฉุดรั้งนวัตกรรม และทำให้ความเจริญทางเศรษฐกิจกระจุกตัว

ในเมื่อแผนความสามารถในการแข่งขันเน้นนโยบายสนับสนุนอุตสาหกรรม (industrial policy) อย่างเฉพาะเจาะจง (แต่ก็หลากหลายกว่าที่ควรจะเป็นไปมาก) มากกว่าการวางกลไกพัฒนาสนามแข่งขัน และลดทอนความล้มเหลวของรัฐ ผู้เขียนจึงไม่เห็นว่ายุทธศาสตร์ในแผนนี้จะสอดรับสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายด้าน “ลดความเหลื่อมล้ำ” ดังระบุในยุทธศาสตร์ด้านการสร้างโอกาส ความเสมอภาค และเท่าเทียมกันทางสังคม โดยดัชนีชี้วัดหลักในแผนหลังได้แก่

  • ความแตกต่างของรายได้ระหว่างประชากรร้อยละ 10 ที่รวยที่สุดต่อประชากรร้อยละ 10 ที่จนที่สุดไม่เกิน 15 เท่า
  • ดัชนีความก้าวหน้าของคนทุกจังหวัดไม่ต่ำกว่า 60
  • พัฒนาจังหวัดศูนย์กลางความเจริญทางเศรษฐกิจ สังคม และเทคโนโลยี บนพื้นฐานศักยภาพทุนทรัพยากรและวัฒนธรรมที่แตกต่างกันของแต่ละพื้นที่ และการมีส่วนร่วมในการกำหนดทิศ ทางการพัฒนาของประชาชนในพื้นที่ ไม่น้อยกว่า 15 จังหวัด
  • ดัชนีคุณภาพภาวะประชากรสูงอายุ ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 70

3. ‘ยั่งยืน’ แบบโลกสวยและไม่ชัดเรื่องกระจายอำนาจ

‘ยั่งยืน’ ตามแนวคิด ‘การพัฒนาที่ยั่งยืน’ หรือ sustainable development ซึ่งมีองค์ประกอบสำคัญคือการมีส่วนร่วมของประชาชน ถูกชูเป็นเป้าหมายสำคัญของยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี โดยเนื้อหาที่เกี่ยวข้องส่วนใหญ่อยู่ในยุทธศาสตร์ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยมีตัวชี้วัดดังต่อไปนี้

  • พื้นที่สีเขียวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมไม่น้อยกว่าร้อยละ 55 ของพื้นที่ประเทศ ได้แก่ ป่าธรรมชาติร้อยละ 35 พื้นที่สวนป่าใช้ประโยชน์ร้อยละ 15 และพื้นที่สาธารณะเพื่อการพักผ่อนหย่อนใจร้อยละ 5
  • พื้นที่เขาหัวโล้น หาดท่องเที่ยวและแนวปะการัง แม่น้ำลำคลองและแหล่งน้ำธรรมชาติได้รับการฟื้นฟูดูแลรักษา น้ำเสียได้รับการบำบัด และขยะมูลฝอยได้รับการกำจัดอย่างถูกสุขอนามัย ปริมาณฝนขนาดเล็กในบรรยากาศอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานสากล
  • ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยลดลงอย่างน้อย ร้อยละ 20 จากกรณีปกติ มูลค่าเศรษฐกิจฐานชีวภาพเพิ่มขึ้น ระบบการจัดการเชิงคุณภาพของภาคการท่องเที่ยว ระบบจัดการน้ำเชิงลุ่มน้ำ ความมั่นคงน้ำในทุกมิติเพิ่มขึ้นให้ได้ร้อยละ 80
  • กระบวนทัศน์ แนวคิด และพฤติกรรมเกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่สนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืน องค์ความรู้และศักยภาพที่พึงประสงค์ของทุกภาคส่วนพัฒนาดีขึ้น การกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่น ระบบธรรมาภิบาลและการมีส่วนร่วมเกิดขึ้น โครงการสำคัญที่สะท้อนการเปลี่ยนแปลงในการกำหนดอนาคตประเทศ

น่าสังเกตว่าตัวชี้วัดข้างต้นส่วนใหญ่ (ไม่นับเป้าหมายพื้นที่สีเขียว และการลดก๊าซเรือนกระจก) ยังมีความเป็นนามธรรมสูง ไม่ชัดเจนเพียงพอที่จะใช้เป็น “ดัชนีชี้วัด” แต่อย่างใด

เนื้อหายุทธศาสตร์นี้ส่วนใหญ่พูดถึงการสนับสนุนส่งเสริมในด้านต่างๆ อย่างกว้างๆ โดยใช้กลไกเชิงบวกหรือ ‘โลกสวย’ อาทิ “ส่งเสริมการบริโภคและการผลิตที่ยั่งยืน” หรือ  “มุ่งเป้าสู่การลงทุนที่เป็นมิตรต่อสภาพภูมิอากาศในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐและภาคเอกชน” โดยแทบไม่พูดถึงกลไกเชิงบังคับ เช่น การยกเลิกการสนับสนุนเชื้อเพลิงฟอสซิล การนำร่องใช้ภาษีคาร์บอน การตั้งเป้าเลิกสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน ฯลฯ ซึ่งจำเป็นต่อการปรับเปลี่ยนเศรษฐกิจและสังคมตามแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืน

น่าสังเกตด้วยว่า ดัชนีชี้วัด (ซึ่งยัง ‘หลวม’ เกินกว่าจะใช้เป็นดัชนีชี้วัดจริงได้) ข้อสุดท้ายของแผนนี้ พูดถึง “การกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่น ระบบธรรมาภิบาลและการมีส่วนร่วมเกิดขึ้น” แต่ยังมิได้ระบุยุทธศาสตร์ใดๆ ที่ชัดเจนเป็นรูปธรรม อีกทั้งยังมิได้สะท้อนรูปธรรมของ ‘การมีส่วนร่วม’ ในการดูแลสิ่งแวดล้อมซึ่งมีตัวอย่างและกรณีศึกษามากมายแล้วในประเทศไทย ยกตัวอย่างเช่น การให้ชุมชนดั้งเดิมในพื้นที่ป่าอนุรักษ์สามารถหาเลี้ยงชีพได้โดยที่อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมควบคู่กันไป ซึ่งตอบโจทย์เรื่องการกระจายอำนาจและธรรมาภิบาลด้วย

ด้วยเหตุผลทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้น ซึ่งคงต้องรอดูความชัดเจนจาก ‘แผนแม่บท’ ในอนาคตอันใกล้ ประกอบกับการดูสภาพความเป็นจริงในสังคม โดยเฉพาะการออกคำสั่งและประกาศ คสช. หลายฉบับที่มีเนื้อหาขัดแย้งกับยุทธศาสตร์หลายฉบับอย่างชัดเจน โดยเฉพาะคำสั่งต่างๆ ที่ยกเว้นการใช้บังคับกลไกซึ่งจำเป็นสำหรับการลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างการพัฒนาที่ยั่งยืน อาทิ ผังเมือง และรายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรืออีไอเอ

ยังไม่นับนโยบาย คณะกรรมการ และมาตรการในยุค คสช. อีกจำนวนนับไม่ถ้วนที่ให้ข้าราชการมีส่วนร่วมมากกว่าประชาชน และดึงอำนาจกลับคืนสู่ส่วนกลาง มากกว่าจะมุ่งกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น อันเป็นประเด็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ

เห็นแบบนี้แล้ว ผู้เขียนก็สรุปได้แต่เพียงสั้นๆ ว่า

“แผนยุทธศาสตร์คือมายา มาตรา 44 สิของจริง”

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save