fbpx
ความหลากหลายของการเล่าเรื่องการกุศล

ความหลากหลายของการเล่าเรื่องการกุศล

อิสระ ชูศรี เรื่อง

ปทิตตา วาสนาส่งชูสกุล ภาพประกอบ

 

เนื่องจากปัญหาการระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ตั้งแต่ปลายปีที่แล้วต่อต้นปีปัจจุบัน ทำให้กิจกรรมวันเด็ก 2564 กลายเป็นความจืดชืดอย่างที่ไม่เคยเป็นมาในปีก่อนๆ แต่ปรากฏว่าในโลกออนไลน์มีการถ่ายทอดวิดีโอเกี่ยวกับวันเด็กที่มีชื่อว่า “สุขสันต์วันเด็ก พิมรี่พายจัดใหญ่ให้น้องบนดอยสูง”  (7 มกราคม 2564) ซึ่งก่อให้เกิดระลอกคลื่นความคิดเห็นกระจายออกไปในสังคมอย่างกว้างขวาง ตามติดมาด้วยการวิพากษ์วิจารณ์โต้ตอบกันไปมาผ่านมุมมองที่แตกต่างหลากหลาย

วิดีโอนี้ถ่ายทำการเดินทางไปทำกิจอันเป็นกุศลของเน็ตไอดอลชื่อ “พิมรี่พาย” ซึ่งเดิมตั้งใจจะไปบริจาคของให้เด็กในหมู่บ้านบนดอยแห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่ แต่เมื่อได้ไปเห็นสภาพความแร้นแค้นในหมู่บ้าน พิมรี่พายก็ตัดสินใจขยายการช่วยเหลือไปเป็นการบริจาคระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ โทรทัศน์จอกว้าง โรงเรือนปลูกผักสลัด รองเท้าผ้าใบ ไฟฉายคาดศีรษะ เป็นต้น โดยมีมูลค่ารวมกันกว่าห้าแสนบาท

 

 

ผู้ที่ชื่นชมพิมรี่พายบางส่วนมองว่าเธอยอมสละเงินทองส่วนตัวที่หามาได้จากการขายสินค้าออนไลน์ไปเพื่อประโยชน์สำหรับเด็กๆ ที่ควรจะได้รับการดูแลโดยรัฐ บางคนมองว่าสิ่งที่พิมรี่พายทำเป็นการเปิดโปงให้เห็นความล้มเหลวในการพัฒนาชนบทของรัฐและสถาบันทางสังคมวัฒนธรรมต่างๆ ตลอดหลายทศวรรษ

สำหรับนักวิจารณ์ที่มองต่างมุมเห็นว่าสิ่งที่พิมรี่พายทำเป็นการตอกย้ำและผลิตซ้ำมายาคติอย่างน้อยสองเรื่อง คือ คุณค่าของบทบาทในการบำเพ็ญทานบารมีโดยคนเมืองจิตอาสาผู้มีโอกาส และความเป็นผู้ด้อยโอกาสขาดแคลนในฐานะเนื้อนาของการบำเพ็ญทานทางสังคม

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าใครจะมองทางบวกหรือทางลบ สิ่งที่น่าจะไม่พลาดสายตาของผู้ที่ชมวิดีโอของขวัญวันเด็กของพิมรี่พายก็คือ ความเป็นเรื่องเล่าที่แนบอยู่กับเหตุการณ์ของการบริจาคเพื่อเด็กในครั้งนี้ ซึ่งเกิดขึ้นจริง ความเป็นเรื่องที่มีลำดับการเล่าและการถ่ายทำอย่างดีคือสิ่งที่ทำให้กุศลทานของพิมรี่พายในครั้งนี้มีผลกระทบมากกว่าการบริจาคทุนทรัพย์หรือข้าวของเพื่อคนยากจนแบบที่เราคุ้นชิน

สำหรับท่านที่ยังไม่เคยชมวิดีโอที่เป็นประเด็นข่าวข้างต้น ผมแนะนำให้เปิดดูรายละเอียดตามลิงค์ที่แนบไว้กับชื่อวิดีโอในย่อหน้าแรกของบทความ เพราะเนื้อหาต่อจากนี้ไปจะเป็นการวิเคราะห์ลักษณะความเป็นเรื่องเล่าตามองค์ประกอบโดยสังเขปของวิดีโอเรื่องนั้น เมื่อได้ดูแล้วก็จะทราบว่าวิดีโอของพิมรี่พายไม่ได้พยายามอำพรางว่ามันเป็น “เรื่องจริงล้วน” ตามธรรมชาติ ปราศจากการแต่งสีแต่งกลิ่นใดๆ

 

 

การไม่พยายามปิดบังอำพรางว่าวิดีโอนี้เป็นเรื่องเล่า (พิมรี่พายดำเนินเรื่องโดยการพูดกับกล้อง) กลับทำให้ผู้ชมยอมรับได้ในค่าความจริงของมัน (เมื่อเราตระหนักว่ามี ‘กล้อง’ อยู่ตรงนั้นเราก็รับได้ว่ามันมี ‘มุมมองของผู้เล่า’) แถมยังก่อให้เกิดผลกระทบที่น่าสนใจคือ ทำให้ ‘ผู้ชม’ ตระหนักได้ว่าการรับรู้เกี่ยวกับการพัฒนาแบบการกุศลสำหรับผู้ด้อยโอกาสที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา จนกระทั่งกลายเป็นวัฒนธรรมการกุศลของไทย ล้วนแต่เป็นการกล่อมเกลาทางสังคมผ่านการเล่าเรื่องด้วยกันทั้งสิ้น (ไม่ว่า ‘ภาพ’ จะมีความเป็นสัจนิยมขนาดไหน แต่มันก็มี ‘กล้อง’ อยู่ตรงนั้นเสมอ)

เท่าที่ผ่านมา การเล่าเรื่องการพัฒนาแบบ ‘สัจนิยม’ มักจะไม่มีการพูดกับกล้อง แต่จะทำเสมือนว่าการพัฒนานั้นเป็นการบำเพ็ญการกุศลที่เกิดขึ้นในดินแดนอื่นไกลแสนไกลจากผู้ชม ‘กล้อง’ ที่อำพรางตัวเองจะทำหน้าที่เหมือนหน้าต่างที่ทำให้ ‘ผู้ชม ได้มองเห็นการทำความดีที่ยากจะมีใครเห็น หากไม่มีกล้องแอบตามไปจับภาพอย่างไม่ให้คนในภาพรู้ตัว

เฉกเช่นเดียวกับการที่วรรณกรรมหลังสมัยใหม่ได้ทำลายมายาคติว่าวรรณกรรมสะท้อนความจริงอย่างตรงไปตรงมา (ความจริงที่จริงกว่าคือวรรณกรรมเป็นศิลปะที่มีขนบและวิธีการในการประกอบสร้าง) การเล่าเรื่องร่วมสมัยมักจะไม่พยายามอำพรางมุมมองและองค์ประกอบของความเป็นเรื่องเล่า แต่จะเผยมันออกมาเป็นครั้งคราว เพื่อให้ผู้ชมรู้ตัวและพยายามใช้วิจารณญาณกรองในการรับชมเอาเอง

หลังจากที่วิดีโอของพิมรี่พายกลายเป็นกระแสที่ทำให้ใครต่อใครพูดถึง ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนอำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ ก็ได้ออกหนังสือราชการออกมาฉบับหนึ่งประกาศให้ครูและบุคลากรของสำนักงาน (1) ห้ามโพสต์ข้อความเกี่ยวกับการรับบริจาคผ่านโซเชียลหรือช่องทางอื่นๆ ทุกช่องทาง (2) ห้ามโต้ตอบหรือแสดงความคิดเห็นในแง่ลบผ่านสื่อโซเชียล (3) การงดรับบริจาคทุกประเภทจากหน่วยงานภาคีเครือข่ายอื่นๆ “เพื่อมิก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการ” (9 มกราคม 2564)

สะท้อนให้เห็นว่าการบริจาคของเอกชนที่ถูกนำไปสร้างเป็นเรื่องเล่าในลักษณะที่พิมรี่พายเล่า ชี้ให้เห็นความไร้ประสิทธิผลของการพัฒนาชนบทของภาครัฐที่มีการดำเนินการมาอย่างยาวนาน รวมทั้งการกุศลเพื่อสังคมของหน่วยงานและสถาบันอื่นๆ ที่ยึดโยงกับรัฐด้วย

ถัดจากนั้นมาอีกสองวัน ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนอำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ ก็ได้ออกหนังสือราชการออกมาอีกฉบับหนึ่งเพื่อยกเลิกประกาศข้างบน (11 มกราคม 2564) โดยให้เหตุผลว่า “เนื่องจากมีการสื่อสารคลาดเคลื่อน” สะท้อนให้เห็นว่าการพยายามปิดกั้นการพูดถึงปัญหาในการพัฒนาชนบทของภาครัฐและเครือข่ายของภาครัฐ เป็นสิ่งที่ไม่มีใครยอมรับได้อีกแล้วในปัจจุบัน

โครงการพัฒนาชนบทของรัฐที่ใช้งบประมาณจากภาษีอากร หรือที่ใช้เงินบริจาคสนับสนุนจากประชาชนและองค์กรภาคเอกชนผ่านเข้าสู้หน่วยงานรัฐหรือเทียมรัฐ ถูกตั้งคำถามมากขึ้นเรื่อยๆ ถึงประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการยกระดับความเป็นอยู่ของชุมชนเป้าหมายของการพัฒนา และยิ่งไปกว่านั้นคือคำถามว่าด้วยความคุ้มค่าของการใช้งบประมาณเพื่อการพัฒนาชนบท

ตลอดเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา หน่วยงานรัฐและเทียมรัฐพยายามทำให้การพัฒนาชนบทมีกลิ่นอายของการสงเคราะห์ผู้ตกทุกข์ได้ยาก เป็นการกุศลมากกว่าจะเป็นการสร้างความเท่าเทียมกันตามสิทธิอันพึงมีพึงได้ ยกตัวอย่างเช่น การศึกษาที่มีคุณภาพเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานสำหรับเด็กไทย หากมีเงื่อนไขทางกายภาพใดๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงสิทธินั้น ย่อมเป็นหน้าที่ของรัฐที่จะขจัดอุปสรรคเพื่อให้เด็กไทยเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐาน การจัดให้มีไฟฟ้าหรือถนนหนทาง-รถรับส่งให้เด็กเดินทางไปเรียนได้จึงเป็นส่วนหนึ่งของสิทธิขั้นพื้นฐาน ไม่ใช่การสงเคราะห์ให้เป็นพิเศษ

แม้ว่าวิดีโอเรื่อง “สุขสันต์วันเด็ก พิมรี่พายจัดใหญ่ให้น้องบนดอยสูง” จะไม่ได้ทำการรื้อสร้างมายาคติของการพัฒนาชนบทไทยหรืออะไรทำนองนั้นอย่างที่ใครหลายๆ คนอยากเห็น เพราะตัวมันเองก็เป็นเรื่องเล่าอีกเรื่องหนึ่งไม่ใช่บทวิจารณ์ แต่ในทัศนะของผม มันทำหน้าที่ของมันเองในฐานะเรื่องเล่าได้อย่างสมบูรณ์ คือช่วยทำให้เห็นความเป็นไปได้ที่หลากหลายในการเล่าเรื่องการพัฒนา

พูดด้วยสปิริตแบบหลังสมัยใหม่ การเล่าเรื่องที่เผยให้เห็นสถานะความเป็นเรื่องเล่าของตัวมันเองมีความสำคัญพอๆ กับการเผยเรื่องราวอันเป็นสาระภายในเรื่องเล่านั้น เพราะช่วยเสริมสร้างอำนาจของผู้ชมให้ต้องใช้วิจารณญาณในการรับชม

ในช่วงท้ายของวิดีโอเรื่อง “สุขสันต์วันเด็ก พิมรี่พายจัดใหญ่ให้น้องบนดอยสูง” พิมรี่พายผายมือไปทางโทรทัศน์ที่กำลังเปิดอยู่ แล้วพูดกับเด็กๆ ว่าหากอยากจะเป็นอะไรก็ดูเอาในโทรทัศน์นั่นแหละ เธอไม่ได้บอกว่าสิ่งที่อยู่ในโทรทัศน์มันดี แต่เธอบอกว่าให้ ‘เลือก’

สิ่งที่ผมชอบในเรื่องที่เกี่ยวกับวิดีโอของพิมรี่พายไม่ใช่เนื้อหาของตัววิดีโอ แต่เป็นคำพูดที่เธอตอบคำถามของคนที่มาถามว่า รู้ได้อย่างไรว่าสิ่งที่เธอจัดหาไปให้นั้นเป็นสิ่งที่เด็กๆ ต้องการ เธอว่า

“เสือกอีสัส เขาไม่เอาก็ทิ้งเองอีเหี้ย เขาไม่เอาเขาโยนทิ้งค่าาา”

มันใช่ อะไรที่เราไม่เอา เราก็ทิ้ง

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save