fbpx
เรื่องเล่าจากรัฐยะไข่

เรื่องเล่าจากรัฐยะไข่

วันดี สันติวุฒิเมธี เรื่อง

ทีมงานสาละวินโพสต์ ภาพ

 

นับตั้งแต่วันที่ 15 กันยายนที่ผ่านมา สถานการณ์ในรัฐยะไข่ทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ จนทำให้มีผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาทยอยอพยพเข้าไปในบังคลาเทศมากถึง 4 แสนคน ทั้งทางบกและทางน้ำ

ภาพที่เห็นสร้างความสะเทือนใจให้กับผู้คนทั่วโลกพร้อมกับคำถามตามมาว่า เกิดอะไรขึ้นกับชาวโรฮิงญา ทำไมข่าวคราวที่เคยได้รับรู้เกี่ยวกับชาวโรฮิงญาจึงมีสองด้านที่เป็นขั้วตรงข้ามกันแบบขาวกับดำ ด้านหนึ่งเรามักรับรู้ในเรื่องราวหดหู่โหดร้าย ไม่ว่าจะเป็นเรือมนุษย์หนีความยากจนไปสู่ประเทศที่สามจนเรือคว่ำมีคนเสียชีวิตมากมาย มาจนถึงการถูกฆ่าล้างเผ่าพันธุ์อย่างโหดเหี้ยม ส่วนอีกด้านหนึ่งชาวโรฮิงญาถูกมองว่าเป็นกองกำลังติดอาวุธที่สร้างความปั่นป่วนให้ประเทศพม่า รวมทั้งถูกเชื่อมโยงไปถึงการก่อการร้ายซึ่งทั่วโลกกำลังหวาดกลัว อันเป็นเหตุให้กองทัพพม่ามีข้ออ้างในการกวาดล้างชาวโรฮิงญาราวกับสงครามฆ่าล้างเผ่าพันธุ์

เมื่อเกือบสิบปีที่ผ่านมา ฉันเคยมีโอกาสเดินทางไปยังเมืองซิตตวย ซึ่งเป็นเมืองหลวงของรัฐยะไข่ ณ วันนั้น ประชาชนในรัฐยะไข่ยังคงอาศัยอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข แม้จะมีความแตกต่างทางศาสนาพุทธและอิสลามอยู่ในใจ แต่ผู้คนทั้งสองศาสนาก็ยังใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันได้ ไม่มีใครแสดงความเกลียดชังกันจนถึงกับต้องฆ่าฟันให้ตายไปข้างหนึ่งเหมือนอย่างในวันนี้

 

ผู้เขียนถ่ายกับชาวมุสลิมโรฮิงญาหน้ามัสยิดจามา อายุกว่า 200 ปีในเมืองซิตตวย รัฐยะไข่ ประเทศพม่า เมื่อเกือบสิบปีที่ผ่านมา

วันวานยังหวานอยู่

 

เมืองซิตตวย (Sittwe) เป็นเมืองหลวงของรัฐยะไข่ หรือ รัฐอาระกัน และเป็นเมืองท่าชายแดนที่สำคัญ เพราะตั้งอยู่บริเวณปากแม่น้ำคาลาดาน ซึ่งไหลลงสู่อ่าวเบงกอลเชื่อมต่อกับประเทศบังกลาเทศ มีประชากรเข้ามาตั้งถิ่นฐานตั้งแต่สองพันปีก่อน แต่เพิ่งได้รับการพัฒนาให้เป็นเมืองท่าที่สำคัญในยุคอาณานิคมอังกฤษเมื่อ ค.ศ. 1826

ในช่วงเวลาดังกล่าว เมืองท่าแห่งนี้เจริญรุ่งเรืองมาก ในแต่ละวันมีเรือกลไฟขนาดใหญ่ขนส่งสินค้าขึ้นล่องระหว่างเมืองกัลกัตตาและเมืองซิตตวยวันละสองรอบ เมืองซิตตวยในวันนี้ยังหลงเหลือร่องรอยของอาณานิคมให้เห็น อาทิ ถนนเลียบชายฝั่งยาวหลายกิโลเมตร มุมพักผ่อนยามเย็นที่จุดชมวิวบริเวณปากแม่น้ำ ลักษณะบ้านเรือนที่มีลายระเบียงเหล็กดัดสวยงาม และหอนาฬิกาเก่าใจกลางเมือง เป็นต้น

หลักฐานหนึ่งที่ทำให้เรารู้ว่าปริมาณประชากรโรฮิงญาในเขตตัวเมืองมีจำนวนไม่น้อย คือ ตลาดสด ซึ่งในตัวเมืองแห่งนี้มี 2 ตลาดใหญ่ คือ ตลาดท่าเรือ (Jetty Market) เป็นตลาดที่อยู่ใกล้กับปากแม่น้ำคาลาดาน ซึ่งเป็นแม่น้ำสายหลักของรัฐยะไข่ ตลาดแห่งนี้มีขนาดใหญ่และมีประชาชนทั้งชาวยะไข่และโรฮิงญาเป็นทั้งพ่อค้าแม่ค้า ส่วนตลาดอีกแห่ง คือ ตลาดมุสลิมโรฮิงญา ซึ่งมีขนาดเล็กกว่า และตั้งอยู่ใกล้กับชุมชนมุสลิมโรฮิงญา

 

เรือรับส่งผู้โดยสารบริเวณตลาดท่าเรือ ซึ่งเป็นตลาดใหญ่ที่สุดในเมืองซิตตวย รัฐยะไข่ ประเทศพม่า

 

ถ้าถามชาวโรฮิงญากับคนยะไข่ว่าใครเข้ามาอยู่ในพื้นที่นี้ก่อนกัน เราก็มักจะได้คำตอบแตกต่างกันเหมือนดูหนังคนละเรื่องเลยก็ว่าได้ ถ้าถามคนยะไข่ก็จะมีเรื่องเล่าในมุมประวัติศาสตร์ที่คนยะไข่มีหลักฐานมาตั้งรกรากก่อนคนโรฮิงญา และคนยะไข่มักจะบอกว่า บ้านเกิดของคนโรฮิงญา คือ บังคลาเทศไม่ใช่พม่า คนโรฮิงญาจึงเป็นแค่คนอาศัย ไม่ใช่คนท้องถิ่นแต่ดั้งเดิม

แต่ถ้าถามคนโรฮิงญาว่าเข้ามาตั้งรกรากในรัฐยะไข่ตั้งแต่เมื่อไหร่ ชาวโรฮิงญาก็จะย้อนอดีตตั้งแต่ศตวรรษที่ 15 ให้ฟังกันเลยทีเดียว และมักจะยกตัวอย่างสถานที่เก่าแก่ในรัฐยะไข่เพื่อเป็นหลักฐานของการอาศัยอยู่ในดินแดนแห่งนี้มานานหลายร้อยปี

หนึ่งในหลักฐานสำคัญ คือ มัสยิดจามา (​Jama) ศาสนสถานเก่าแก่กลางเมืองซิตตวย อายุกว่า 200 ปี บังเอิญวันที่เราเดินทางไปถึงเมืองซิตตวยตรงกับวันศุกร์ ซึ่งถือเป็นวันหยุดของชาวมุสลิมพอดี เราจึงได้เห็นภาพหนุ่มน้อยไปจนถึงผู้อาวุโสชาวมุสลิมเข้าไปประกอบพิธีละหมาดจนเต็มมัสยิด สะท้อนให้เห็นถึงความศรัทธาในศาสนาของชาวมุสลิมที่นี่ได้เป็นอย่างดี

 

ทุกวันศุกร์ชาวโรงฮิงญาจะหยุดงานเพื่อไปร่วมพิธีกรรมที่มัสยิด

 

เด็กชายโรฮิงญาที่เข้าร่วมประกอบพิธีกรรมที่มัสยิดทุกวันศุกร์

 

ชาวโรฮิงญาให้ความสำคัญกับการประกอบพิธีกรรมทางศาสนา เห็นได้จากทุกวันศุกร์จะมีคนมาร่วมกิจกรรมจนแน่นมัสยิด

 

ชาวโรฮิงญามีจำนวนเพิ่มขึ้นในรัฐยะไข่อย่างเห็นได้ชัดในยุคอาณานิคมอังกฤษ โดยประชาชนส่วนหนึ่งอพยพมาจากประเทศบังคลาเทศเพื่อเป็นแรงงาน จากบันทึกตามสำมะโนประชากรของอังกฤษระหว่างปี ค.ศ. 1872 และ ค.ศ. 1911 ระบุว่าจำนวนประชากรมุสลิมในรัฐยะไข่ เพิ่มขึ้นจาก 58,255 คนเป็น 178,646 คน หลังจากนั้นประชากรชาวโรฮิงญาก็เพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ จนสามารถเห็นชาวโรฮิงญาและชาวยะไข่ในเขตตัวเมืองซิตตวยมีปริมาณมากพอๆ กัน เพราะเดินไปไหนมาไหนก็จะเห็นคนโรฮิงญาปะปนกับคนยะไข่เป็นเรื่องปกติ

ลักษณะความสัมพันธ์ระหว่างชาวโรฮิงญาและชาวยะไข่มีการแยกปฏิสัมพันธ์ทางสังคมกันอย่างค่อนข้างชัดเจน ยกตัวอย่างเช่น ร้านน้ำชาของชาวโรฮิงญาก็มักจะมีลูกค้าเป็นชาวโรฮิงญา ส่วนร้านน้ำชาของชาวยะไข่ก็มักจะมีลูกค้าเป็นชาวยะไข่ เพราะคนทั้งสองกลุ่มจะมีเรื่องราวพูดคุยกันในแง่มุมของตนเอง แต่ถึงกระนั้น คนทั้งสองกลุ่มก็ไม่ได้แสดงท่าทีบาดหมางใจต่อกันให้เห็น และยังสามารถทำงานร่วมกันได้ แม้ว่าสถานะของชาวโรฮิงญาอาจดูเป็นพลเมืองชั้นสองก็ตาม

เนื่องจากชาวโรฮิงญาไม่ได้รับการยอมรับให้เป็นพลเมืองเต็มขั้นเหมือนชาวยะไข่ เด็กๆ ชาวโรฮิงญาส่วนใหญ่จึงไม่มีโอกาสได้ไปโรงเรียน และด้วยพ่อแม่มีฐานะยากจน เด็กๆ จึงต้องช่วยทำงานตั้งแต่ยังเล็ก อาทิ รับจ้างหิ้วปิ่นโตไปส่งพ่อค้าแม่ค้าในตลาด รับจ้างขนผัก ขนของให้ลูกค้า รวมไปถึงการเดินขอเงินนักท่องเที่ยว หากมีนักท่องเที่ยวสักคนเอ่ยปากว่ามีขนมแจกแล้วละก็ เด็กๆ จะพากันมายืนต่อคิวยาวเหยียดไปจนถึงท้ายตลาดเลยทีเดียว

 

เด็กๆ ชาวโรฮิงญามักมีปัญหาขาดสารอาหาร

 

เด็กๆ ชาวโรฮิงญามาต่อคิวรับขนมแจกฟรีจากนักท่องเที่ยว

 

เด็กๆ ชาวโรฮิงญาส่วนใหญ่ไม่มีโอกาสได้ไปโรงเรียนเพราะไม่ได้รับการยอมรับเป็นพลเมืองพม่า เด็กๆ จึงต้องช่วยพ่อแม่ทำงานหาเงิน เด็กหญิงในภาพกำลังหิ้วปิ่นโตอาหารกลางวันไปส่งแม่ค้าในตลาด

 

เมื่อเด็กๆ ขาดโอกาสทางการศึกษา โอกาสจะได้งานทำ เงินเดือนดี จึงลดน้อยลงตามไปด้วย ยกตัวอย่างเช่น พนักงานโรงแรมที่เราพัก ถ้าเป็นระดับผู้จัดการจะเป็นชาวยะไข่ ส่วนระดับแรงงานจะเป็นชาวโรฮิงญา หรือแม้แต่ไกด์นำเที่ยวของเราก็เป็นชาวยะไข่ เพราะสามารถพูดภาษาอังกฤษได้ดีกว่าชาวโรฮิงญา เป็นต้น

จากการสอบถามชาวโรฮิงญาที่เปิดกิจการร้านน้ำชาใกล้กับมัสยิดจามา เจ้าของร้านเล่าว่า ชาวโรฮิงญามีจำนวนน้อยมากที่ได้รับการยอมรับเป็นประชาชนพม่า มีบัตรประชาชนเป็นพลเมืองชั้นหนึ่ง และมีสิทธิถือครองที่ดินเช่นเดียวกับชาวยะไข่ แม้ว่าพวกเขาจะเกิดและเติบโตอยู่บนแผ่นดินนี้ตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตายายก็ตาม หลายคนยังไม่มีสิทธิได้รับบัตรประชาชนพม่ามาจนถึงวันนี้ และหากใครมีญาติพี่น้องอยู่ในฝั่งประเทศบังคลาเทศ เดินทางไปๆ มาๆ ระหว่างสองประเทศ คนเหล่านั้นก็จะยิ่งไม่มีโอกาสได้รับสิทธิเป็นพลเมืองพม่าเพราะถือว่ามีญาติพี่น้องอยู่ในอีกประเทศหนึ่ง แม้ว่าจะเกิดและเติบโตอยู่ในแผ่นดินพม่าก็ตาม

 

ภาพขอทานชาวโรฮิงญาในตลาดเป็นภาพที่เห็นได้ทั่วไป เพราะชาวโรฮิงญาส่วนใหญ่ไม่ได้รับการยอมรับให้เป็นพลเมืองของประเทศพม่า จึงไม่มีโอกาสได้เรียนหนังสือและได้ทำงานเงินเดือนดี

 

ก่อนพระอาทิตย์ตกดินวันนั้น ฉันมีโอกาสไปเดินเล่นริมชายหาดอันยาวเหยียดซึ่งเป็นจุดบรรจบของแม่น้ำคาลาดานและท้องทะเลอ่าวเบงกอลอันกว้างใหญ่ บรรยากาศเย็นวันนั้นเต็มไปด้วยความสงบ สดชื่น มองเห็นท้องทะเลทอดยาวไกลสุดลูกหูลูกตา

ในวันนั้น ฉันมิอาจล่วงรู้เลยว่าอีกไม่ถึงสิบปีต่อมา ท้องทะเลแห่งนี้จะนำพาคลื่นมนุษย์จำนวนมากเดินทางหนีตายเข้าสู่ประเทศบังคลาเทศ และความสงบสุขในรัฐยะไข่จะกลับกลายเป็นสงครามกลางเมืองอันโหดร้ายทารุณที่คนทั่วโลกไม่อาจนิ่งเฉยอีกต่อไป

 

ชายฝั่งทะเลอ่าวเบงกอลในวันที่ชาวยะไข่และชาวโรฮิงญาอยู่ด้วยกันอย่างสงบสุข

 

สาวน้อยชาวยะไข่ทาแป้งตะนาคาในรัฐยะไข่

สู่สงครามฆ่าล้างเผ่าพันธุ์

 

ปลายเดือนกันยายน 2560

ผู้ลี้ภัยมากกว่าสี่แสนคนหลั่งไหลเข้าสู่บังคลาเทศ เนื่องจากกองทัพปลดปล่อยอาระกันโรฮิงญา (อาร์ซา) ได้เข้าโจมตีค่ายทหาร สถานีตำรวจ 30 แห่ง ทางการพม่าจึงโต้กลับด้วยการกวาดล้างอย่างรุนแรงจนมียอดผู้เสียชีวิตประมาณ 400 คน เหตุการณ์ความรุนแรงเริ่มลุกลามบานปลายจนถูกนำไปเชื่อมโยงกับกลุ่มก่อการร้ายสากลที่ทั่วโลกกำลังหวาดกลัว

ฉันเฝ้าติดตามเหตุการณ์จากสำนักข่าวต่างๆ แล้วอดตั้งคำถามไม่ได้ว่า

ใครกันทำให้ “สงครามในใจ” ระหว่างชาวยะไข่และชาวโรฮิงญาลุกลามบานปลายเป็น “สงครามฆ่าล้างเผ่าพันธุ์”

ใครกันทำให้ “ความขัดแย้งระหว่างประชาชน” ยกระดับสู่ความขัดแย้งระหว่างกองทัพพม่าและกองกำลังติดอาวุธชาวอาระกัน

ใครกันทำให้สถานะของชาวโรฮิงญา จาก “พลเมืองชั้นสอง” ของพม่ากลายเป็น “ผู้ลี้ภัย” ในบังคลาเทศ ซึ่งยังไม่ใครยืนยันได้ว่า พวกเขาจะได้รับการยอมรับให้คืนกลับสู่แผ่นดินพม่าอีกหรือไม่

……….

นูรุลอิสลาม บินอุมัร ฮัมซะห์ ประธานองค์กรโรฮิงญาอาระกันแห่งชาติ ซึ่งลี้ภัยอยู่ในอินโดนีเซีย ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอัลญะซีเราะห์ จากมุมมองของชาวโรฮิงญาด้วยกันว่า

“การรณรงค์ให้เกลียดชังโรฮิงญาเกิดขึ้นมานานแล้วนับแต่ปี ค.ศ. 1962 หลังจากทหารปกครองประเทศ วิธีการนี้ได้ผลดีสำหรับรัฐบาล เพราะทำให้โรฮิงญาราว 3 แสนคนอพยพหนีตายไปบังคลาเทศ จะได้หมดไปจากรัฐยะไข่สักที”

นอกจากนี้ ประธานองค์กรมุสลิมฯ ยังกล่าวถึงสถานะของชาวโรฮิงญาในสังคมพม่าว่า ไม่มีใครยอมรับชาวโรฮิงญาให้อยู่ในสถานะเดียวกัน แม้กระทั่งกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ซึ่งอยู่ในสถานะ “คนชายขอบ” ของสังคมพม่าก็ยังหลีกเลี่ยงในการยอมรับชาวโรฮิงญาเป็นสมาชิกในกลุ่มตนเองเช่นกัน

“ไม่มีกลุ่มไหนรับเรา ทั้งองค์กรชมรมรณรงค์ประชาธิปไตยต่อต้านรัฐบาลที่เป็นชาวกะฉิ่น แม้ว่าชาวกะเหรี่ยงจะมีทั้งชาวคริสต์และพุทธ เขายอมรับความเป็นโรฮิงญาได้ก็จริง แต่เขาไม่อยากมีปัญหากับชาวยะไข่ที่นับถือพุทธ”

และเมื่อชาวโรฮิงญาต้องลี้ภัยไปอยู่ประเทศที่สาม ชาวโรฮิงญาเพียงบางส่วนเท่านั้นที่มีโอกาสได้รับการรับรองเป็นผู้ลี้ภัย ส่วนที่เหลือยังต้องใช้ชีวิตหลบซ่อนอย่างผิดกฎหมาย หรืออยู่อย่างไร้ตัวตนเช่นเดิม

“ชาวโรฮิงญากระจายอยู่นอกประเทศกว่า 1.5 ล้านคน ทั้งบังคลาเทศ ปากีสถาน ซาอุฯ รวมทั้งไทย มาเลเซีย อินโดฯ แต่สถานะคนที่ได้รับการรับรองเป็นผู้ลี้ภัยอย่างเป็นทางการของสหประชาชาติมีเพียง 3 หมื่นคนเท่านั้น ที่เหลือถูกเจ้าหน้าที่รัฐในประเทศต่างๆ กดขี่ เช่น บังคลาเทศ ซาอุฯ ก็ไม่อนุญาตให้ส่งลูกหลานเรียนในโรงเรียนรัฐบาล”

ด้วยเหตุนี้ สิ่งที่ประธานสมาคมโรฮิงญาฯ ต้องการเรียกร้องต่อประชาคมโลกให้เข้ามาช่วยเหลือก็คือ

“โรฮิงญาอยากอยู่ในแผ่นดินเกิด คือพม่า ไม่อยากเร่ร่อนอยู่นอกประเทศ สิ่งแรกที่ต้องการ คือ อยากให้พื้นที่กลับสู่ภาวะปกติ มีความปลอดภัย มั่นคง เคารพหลักมนุษยชน มีเจ้าหน้าที่ความมั่นคงคุ้มครองพลเมืองของเรา และตัวแทนจากสหประชาชาติเปิดช่องทางการช่วยเหลือตามหลักสิทธิมนุษยชน”

จากสถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ประชาคมโลกพุ่งเป้าไปที่ออง ซาน ซู จี ซึ่งเป็นผู้นำคนสำคัญของรัฐบาลพม่าโดยทันที เพราะเธอเป็นผู้นำคนสำคัญของรัฐบาลในเวลานี้ และยังเคยได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพด้วยเช่นกัน

ทว่า ซู จี กลับไม่ได้ออกมาแสดงจุดยืนใดๆ ที่ชัดเจน จนประชาคมโลกพากันออกมาประณามเธออย่างรุนแรง ส่งผลให้เธอกลายร่างจาก ‘นางฟ้า’ เป็น ‘ปีศาจ’ ในสายตาประชาคมโลกภายเวลาไม่ถึงปี รวมทั้งมีการล่ารายชื่อเรียกร้องให้ยึดรางวัลโนเบลกลับคืนเพื่อสร้างแรงกดดันเธออีกทางหนึ่ง

ซู จี จึงตกอยู่ในสถานะกลืนไม่เข้าคายไม่ออก เพราะหากเธอออกมาประณามกองทัพพม่าในการใช้ความรุนแรงต่อชาวโรฮิงญา นั่นหมายความว่า เธอกำลังสร้างศัตรูกับกองทัพพม่า ซึ่งมีปืนอยู่ในมือ และพร้อมจะกักขังเสรีภาพเธออีกครั้งได้ไม่ยาก และหากเธอออกมาแสดงท่าทีเห็นใจชาวโรฮิงญามากเกินไป เธอก็จะถูกประชาชนพม่าที่นับถือศาสนาพุทธไม่พอใจ เพราะขณะนี้ประเด็นเรื่องโรฮิงญาถูกนำไปเชื่อมโยงกับประเด็นก่อการร้ายข้ามชาติ ไม่ใช่ปมขัดแย้งทางศาสนาที่อยู่ในใจชาวยะไข่และชาวโรฮิงญาเหมือนในอดีตที่ผ่านมา การออกมาแสดงความเห็นใจชาวโรฮิงญามากเกินไปจึงมีความเสี่ยงต่อคะแนนนิยมในพรรคเอ็นแอลดีลดลงด้วยเช่นกัน

ดังนั้น ไม่ว่าเธอจะแสดงจุดยืนทางไหน เธอก็มีความเสี่ยงต่อการถูกประณามจากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอย่างแน่นอน ด้วยเหตุนี้ เธอจึงเลือกปฏิเสธไม่ไปร่วมประชุมยูเอ็นในปีนี้ รวมทั้งออกแถลงการณ์เกี่ยวกับสถานการณ์สงครามกลางเมืองที่เกิดขึ้นแบบกลางๆ เพื่อสร้าง “จุดยืนที่ปลอดภัย” ให้ตนเองเอาไว้ก่อน

ทว่า ยิ่งสถานการณ์เลวร้ายลงมากขึ้นเมื่อไหร่ จุดยืนที่ปลอดภัยของเธอก็ยิ่งถูกสั่งคลอนหนักมากขึ้นเท่านั้น จนในที่สุดเธอคงเลือกก้าวมาจากจุดยืนที่ปลอดภัยสักที แต่ไม่ว่าเธอจะก้าวไปทางไหน ล้วนแล้วแต่เป็นจุดเสี่ยงต่อการหกล้มทั้งสิ้น เธอจึงต้องเลือกให้ดีว่า อยากจะล้มไปทางไหนเพื่อให้คนฝ่ายนั้นช่วยประคับประคองให้เธอยืนขึ้นได้อีกครั้งหนึ่งโดยไม่เจ็บตัวมากนัก

……….

ณ ริมฝั่งทะเลบังคลาเทศ ภาพผู้คนอพยพหนีตายมากับเรือประมงเป็นภาพที่ดูแล้วเศร้าสลดใจยิ่งนัก

ยิ่งเมื่อคิดถึงวันวานยังหวานอยู่บนริมฝั่งทะเลรัฐยะไข่ ประเทศพม่า เมื่อเกือบสิบปีก่อนแล้ว ฉันยิ่งใจหาย เพราะไม่รู้ว่า ในอนาคตประชาชนชาวยะไข่และชาวโรฮิงญาจะได้กลับใช้ชีวิตบนแผ่นดินเดียวกันอย่างสงบสุขอีกหรือไม่

ภาพเด็กน้อยชาวโรฮิงญาหน้าตามอมแมมหนีภัยสงครามในข่าวทำให้ฉันอดคิดไม่ได้ว่า ถ้าเด็กๆ เหล่านี้เลือกเกิดได้ พวกเขาคงไม่อยากเกิดเป็นชาวโรฮิงญา เพราะดูเหมือนไม่มีประเทศไหนยินดีจะแบ่งปันพื้นที่ ให้พวกเขาได้มีลมหายใจโดยปราศจากความหวาดกลัว หรือได้ใส่ชุดนักเรียนเดินไปเรียนหนังสืออย่างมีความสุขเฉกเช่นเด็กน้อยทั่วไปในโลกใบนี้เลย

 

รอยยิ้มของเด็กชายโรฮิงญาในอดีต

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

17 Jul 2020

ร่วมรากแต่ขัดแย้ง ความบาดหมางระหว่างอินโดนีเซียและมาเลเซีย

อรอนงค์ ทิพย์พิมล เขียนถึงความขัดแย้งระหว่างประเทศมาเลเซียและอินโดนีเซีย ที่ทั้งสองประเทศมีรากเหง้าทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมร่วมกันหลายอย่าง จนนำไปสู่ความขัดแย้งในการช่วงชิงความเป็นเจ้าของภาษาและวัฒนธรรมมลายู

อรอนงค์ ทิพย์พิมล

17 Jul 2020