fbpx

เรื่องเล่าโดยรพินทรนาถ ฐากูร Stories by Rabindranath Tagore

นับตั้งแต่ผมสมัครเป็นสมาชิก Netflix เมื่อ 4 เดือนก่อนเพื่อแก้ปัญหาโรงหนังปิด ไม่มีหนังจะเขียนถึง ผมรู้สึกว่าเงินทุกบาททุกสตางค์ที่จ่ายไปคุ้มค่าสุดๆ เมื่อได้ดู Stories by Rabindranath Tagore

Stories by Rabindranath Tagore เป็นซีรีส์ฤดูกาลเดียวจบจากอินเดีย เผยแพร่เมื่อปี 2015 สร้างสรรค์โดยอนุรัก บาสุ ซึ่งเคยประสบความสำเร็จจากผลงานกำกับหนังตลกโรแมนติกยอดเยี่ยมเรื่อง Barfi! (สร้างและออกฉายในปี 2012)

ว่าแล้วก็ขออนุญาตเฉไฉนอกเรื่อง ทำการป้ายยาตรงนี้เลยนะครับ Barfi! เป็นหนังอีกเรื่องที่ ‘ดีและสนุกมากเป็นพิเศษ’ นักดูหนังไม่ควรพลาดด้วยประการทั้งปวง

ส่วน Stories by Rabindranath Tagore ดัดแปลงจากนิยาย นิยายขนาดสั้น และเรื่องสั้นของรพินทรนาถ ฐากูร รวมทั้งหมด 20 เรื่อง 26 ตอน

ยกเว้นเรื่องแรก Choker Bali ซึ่งมี 3 ตอน และอีก 4 เรื่องประกอบไปด้วย The Broken Nest, Samapti, Two Sisters และ Dhai Aakhar Prem Ka ซึ่งมี 2 ตอนแล้ว ที่เหลือทั้งหมดเป็นเรื่องเล่าตอนเดียวจบ

จุดเด่นแรกสุดของซีรีส์ชุดนี้คือ ‘ตัวเรื่อง’ นอกจากเป็นโอกาสอันดียิ่งในการทำความรู้จัก (แบบอ้อมๆ) กับผลงานของนักเขียนรางวัลโนเบลคนแรกของเอเชีย (รพินทรนาถ ฐากูรได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมในปี 1913) แล้ว ทุกเรื่องยังโดดเด่นในฐานะเรื่องเล่าชั้นยอด ครบครันทั้งความบันเทิง ชั้นเชิงทางศิลปะ และเนื้อหาสาระ

ผมควรต้องออกตัวไว้ก่อนนะครับว่า การพูดถึงผลงานนิยายและเรื่องสั้นของรพินทรนาถ ฐากูร ผ่านการดัดแปลงเป็นสื่อต่างแขนง ซึ่งแน่นอนว่าจะต้องมีการปรับเปลี่ยน ตัดทอน เพิ่มเติม ร้อยเรียงลำดับวิธีการดำเนินเรื่องใหม่ กระทั่งว่า ‘ผ่านการตีความ’ ของคนทำหนังอีกทอดหนึ่ง โดยไม่มีโอกาสอ่านตัวบทดั้งเดิม ความเห็นของผมจึงมีสภาพใกล้เคียงกับการเดาสุ่มอยู่มาก และเป็นไปได้สูงยิ่งที่ผมจะเข้าใจผิดพลาดคลาดเคลื่อนไปไกลสุดกู่จากความเป็นจริง

หากเป็นเช่นนั้นก็ขออภัยล่วงหน้า 5 ปี 10 เดือนไว้ก่อนเลยนะครับ

ด้วยความที่ซีรีส์ชุดนี้มีจำนวนมากถึง 20 เรื่อง จึงเหลือวิสัยที่จะแจกแจงได้หมดครบถ้วน จำเป็นต้องใช้วิธีกล่าวถึงกว้างๆ รวมๆ

ประเมินเอาจากเท่าที่ได้ดูผ่านซีรีส์ ‘เรื่องเล่า’ ของรพินทรนาถ ฐากูรนั้นโดดเด่นมากในการคิดพล็อตแบบบันเทิงคดี เรื่องราวส่วนใหญ่เป็นพิมพ์เดียวกับละครโทรทัศน์หลังข่าวบ้านเรา และนิยายประโลมโลกย์ที่นักอ่าน-ผู้ชมคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี เป็นเรื่องราวชิงรักหักสวาทพัวพันกันหลายเส้า, ความขัดแย้งไม่ลงรอยระหว่างแม่ผัวกับลูกสะใภ้, เรื่องรักกระจุ๋มกระจิ๋มจำพวกพ่อแง่แม่งอน, ความรักต้องห้าม (ทั้งโดยสถานะทางสังคมของตัวละครและความถูกต้องในทางศีลธรรม), การแต่งงานมีคู่ครอง และชีวิตสมรสที่ล้มเหลวกลายเป็นรักขม

โดยรวมส่วนใหญ่ เนื้อเรื่องอยู่ในเทือกแถวแนวนี้ พูดในแง่ลบ ทั้งหมดเป็นพล็อตเก่าคร่ำคร่าโบร่ำโบราณ รวมถึงวิธีการเล่าเรื่อง ซึ่งยังคงมีความจงใจในลักษณะ ‘เรื่องแต่ง’ ค่อนข้างสูง ไม่ว่าจะเป็นการสร้างเงื่อนไขให้ตัวละครเข้าใจผิดต่อกันจนนำไปสู่เหตุการณ์บานปลาย หรือการขับเคลื่อนเรื่องราวไปข้างหน้าด้วยความบังเอิญประจวบเหมาะอยู่บ่อยครั้ง กระทั่งขาดแคลนความสมจริงในเชิงเหตุผล รวมทั้งวิธีจบแบบหักมุมตามความนิยมของเรื่องสั้นในห้วงขณะที่งานเขียนเหล่านี้สร้างสรรค์ออกมา

คำแก้ต่างให้กับข้อกล่าวหาข้างต้นก็คือ ผลงานเหล่านี้เขียนขึ้นเมื่อประมาณร้อยกว่าปีที่แล้ว จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะปรากฏร่องรอยความเก่าอันเกิดจากความยาวนานของกาลเวลา

พ้นจากนี้แล้วก็พูดได้เต็มปากนะครับ ว่าทั้ง 20 เรื่องที่นำมาดัดแปลงเป็นซีรีส์ชุดนี้ มีความ ‘ล้ำ’ และมาก่อนกาล กระทั่งในปัจจุบันก็ยังคงเฉียบคมและทันสมัยอยู่

สิ่งหนึ่งซึ่งมาก่อนกาลก็คือ ขณะที่พล็อตเหตุการณ์มีความเป็นเรื่องแต่งเพื่อความบันเทิงเต็มเปี่ยม การสร้างตัวละคร (ในทุกๆ เรื่อง) กลับมีความลึกและสมจริง เป็นมนุษย์ปุถุชนอย่างหลากมิติ และที่เข้าขั้นสุดยอดมหาเทพเอามากๆ คือ การสร้างปมความขัดแย้งภายในใจของตัวละคร การคลี่คลาย และการเรียนรู้ชีวิตในบทสรุปบั้นปลาย ที่ปรากฏอยู่ในทุกเรื่อง ดีงามถึงขั้นต้องยกมือไหว้เคารพกันเลยทีเดียว

ถัดมาคือ ท่ามกลางพล็อตแบบประโลมโลกย์พาฝัน ทั้ง 20 เรื่องล้วนมี ‘แก่นเรื่อง’ ที่แจ่มชัดและแหลมคม แต่ละเรื่องเล่าใน Stories by Rabindranath Tagore เสนอประเด็นแง่มุมแตกต่างกันไป มีตั้งแต่ความแค้นและการให้อภัย ความละโมบ สันติภาพ อิสรภาพ ความระแวงแคลงใจ ชนชั้นวรรณะ การเสียสละ ความอ่อนแอ ความขลาดเขลา ความเห็นแก่ตัว การเปิดกว้างยอมรับต่อผู้คนต่างเชื้อชาติศาสนา ความอิจฉาริษยา ฯลฯ

จะเรียกว่าเป็นนิทานแฝงคติธรรมสอนใจก็ได้เหมือนกัน ทุกเรื่องเล่าแสดงท่าทีเช่นนี้ออกมาชัดเจน แต่ด้วยกลวิธีและชั้นเชิงทางศิลปะ (น่าจะเป็นความดีความชอบร่วมกันระหว่างเจ้าของเรื่องเดิมและคนที่นำมาดัดแปลงเป็นหนัง) ทำให้ผลงานที่ออกมามีความแนบเนียน เนื้อหากลมกลืนสอดคล้องกับเรื่องราว ปลอดพ้นจากทีท่าน้ำเสียงเทศนาสั่งสอน

ที่น่าสนใจกว่านั้นก็คือ แต่ละเรื่องแยกต่างหากจากกันเป็นเอกเทศ มีเนื้อหาแง่คิดที่สมบูรณ์ครบถ้วนในตัว แต่เมื่อมองดูภาพรวมทั้งหมด ประเด็นสาระในแต่ละตอนก็เหมือนชิ้นส่วนย่อยๆ สามารถประกอบรวมกันเป็นอีกหนึ่งใจความใหญ่ (ในแง่นี้ ผมคิดว่าการเลือกเรื่องมาทำเป็นซีรีส์ของทีมผู้สร้างน่าจะมีเป้าประสงค์ให้เป็นดังเช่นว่า) ซึ่งเชื่อมร้อยทุกเรื่องราวให้เป็นเอกภาพ มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

ผมคิดว่ามี 2 ประเด็นใหญ่ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของซีรีส์ชุดนี้ แง่มุมแรกคือ การสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำไม่เป็นธรรม และสิทธิเสรีอันจำกัดของสตรีเพศในสังคมชายเป็นใหญ่ สภาพดังกล่าวในอินเดียดูจะเข้มข้นหนักหน่วงจากค่านิยม จารีตประเพณีที่ฝังรากลึกสืบเนื่องมาแต่โบราณกาลจนถึงปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นโอกาสเรื่องการศึกษาที่ส่งเสริมให้ลูกชายได้เรียน แต่ไม่จำเป็นสำหรับลูกสาว การแต่งงานแบบคลุมถุงชน จับคู่โดยผู้หลักผู้ใหญ่ โดยฝ่ายชายมีสิทธิตัดสินใจว่าจะแต่งหรือไม่แต่งจากการนัดพบดูตัว ส่วนฝ่ายหญิงทำได้เพียงแค่รอรับการถูกเลือกหรือโดนปฏิเสธ นี่ยังไม่นับรวมเรื่องสินสอดซึ่งฝ่ายหญิงต้องจ่าย การเป็นภรรยาที่มีสถานะเสมือนคนรับใช้ กระทั่งว่าเมื่อกลายเป็นม่าย สถานภาพทางสังคมก็ยิ่งเต็มไปด้วยกฎเกณฑ์ข้อห้ามมากมาย ตั้งแต่การแต่งกายซึ่งสวมได้เฉพาะสีขาว หรือรายละเอียดจุกจิกปลีกย่อยอย่างเช่นห้ามพบปะเจอะเจอเจ้าบ่าวเจ้าสาวเมื่อเข้าร่วมพิธีวิวาห์ ไปจนกระทั่งถึงเรื่องราวใหญ่โตอย่างเช่นความชิงชังรังเกียจและคำครหาว่าร้ายจากสังคมรอบข้าง หากมีความคิดที่จะแต่งงานใหม่ (มีข้อน่าสังเกตผ่านการดูซีรีส์นี้ว่า บรรดาผู้โจมตีแม่ม่ายที่คิดหรือประพฤตินอกลู่นอกทางอย่างหนักหน่วงสุด มักจะเป็นผู้หญิงด้วยกันที่เผชิญกับการถูกกดขี่เอารัดเอาเปรียบ)

เรื่องเล่าทั้ง 20 เหตุการณ์ใน Stories by Rabindranath Tagore สะท้อนปัญหาต่างๆ ข้างต้นอย่างละเอียดถี่ถ้วน และสิ่งที่ทำให้รพินทรนาถ ฐากูรได้รับการยกย่องชื่นชมมากก็คือ การสร้างตัวเอกฝ่ายหญิงจำนวนหนึ่งขึ้นมาเผชิญหน้ารับมือกับปัญหาดังกล่าวด้วยวิธีการและพฤติกรรมต่างๆ กัน ไม่ว่าจะเป็นการต่อต้านขัดขืนตรงไปตรงมา (และพ่ายแพ้ไปในที่สุด) การตัดสินใจเลือกที่จะทำตามความปรารถนาและยืนหยัดเป็นตัวของตัวเอง การค่อยๆ เติบโตทางความคิดและเกิดการเรียนรู้จนเปลี่ยนแปลงตนเองเป็นคนใหม่ ฯลฯ

ตัวเอกฝ่ายหญิงในซีรีส์ชุดนี้มีความโดดเด่นมาก เป็นเฟมินิสต์โดยธรรมชาติและเป็นปุถุชน ไม่รู้จักแนวความคิดการต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิสตรีมาก่อน แต่เป็นไปโดยจิตสำนัก และที่สำคัญกว่านั้น การต่อสู้ของพวกเธอ มีทั้งที่ประสบความสำเร็จและล้มเหลว มีทั้งที่ทวนกระแสสังคม คล้อยตามพร้อมทั้งยืนสู้อย่างชาญฉลาด มีบ้างที่กลายเป็นการกระทำที่ผิดพลาด ทำไปด้วยแรงริษยาเคืองแค้นที่โลกไม่ยุติธรรมกับเธอ และทำในสิ่งที่เลวร้ายระคนปนกันกับการเลือกทำในสิ่งที่ดีงาม

พูดง่ายๆ ว่าตัวละครเหล่านี้เปี่ยมด้วยมิติของความเป็นมนุษย์

ที่น่าสนใจควบคู่ไปกับการสร้างนางเอกที่มีจิตสำนึกขบถ คือซีรีส์ชุดนี้ก็เต็มไปด้วยผู้หญิงที่ยอมรับสภาพในโลกเก่า และเป็นฝ่ายกดขี่ผู้หญิงด้วยกันเสียเอง รวมถึงบางเรื่องที่มีนางเอกเป็นหญิงร้าย (เป็นหญิงสาวที่หลงใหลเครื่องประดับจนถึงขั้นคลั่งไคล้ และกลายเป็นคนละโมบในทรัพย์ไม่รู้จักอิ่มเอม จนกระทั่งพานพบบทสรุปที่เศร้าสลด แต่ที่น่าสนใจก็คือ เหตุการณ์ช่วงหนึ่งซึ่งตัวละครบอกเล่าสาเหตุที่บ้าสร้อยแหวนกำไลจนเกินพอดีว่า มันเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวทางใจเพียงอย่างเดียว สำหรับวัยเด็กตลอดมาและการแต่งงานที่ต้องแลกและสูญเสียอะไรต่อมิอะไรไปมากมาย อันน่าจะหมายถึง ‘โอกาสในการใช้ชีวิต’)

สาระอันเป็นหัวใจสำคัญประการที่ 2 ของซีรีส์ชุดนี้ก็คือ การพูดถึง ‘ความรัก’ ในบทความชื่อ ‘จากราตรีลี้ลับ สู่ทิวาอันเร้นลับยิ่งกว่าในนามของ รพินทรนาถ ฐากุร’ ทางเว็บไซต์ sarakadeelite กล่าวไว้ว่า “นอกจากธรรมชาติแล้ว สิ่งที่มักปรากฏในงานของ รพินทรนาถ ฐากุร เสมอคือ ความรักหรือ เปรม ซึ่งเป็นหนึ่งในแนวคิดที่จะเชื่อมโยงความสัมพันธ์ของสิ่งต่างๆ ไว้ด้วยกัน เช่น ระหว่างปัจเจกบุคคลเข้ากับธรรมขาติและโลกมนุษย์ เขาเชื่อว่าเมื่อเชื่อมโยงสิ่งต่างๆ เข้าด้วยกันจะเกิดสิ่งที่เรียกว่า ความรัก อันจะทำให้อัตตาของมนุษย์สิ้นไปกลายเป็นหนึ่งเดียวกับโลกผูกพันซึ่งกันและกันเห็นอกเห็นใจกันดั่งอักษรธรรมดาที่รวมเป็นบทกวีที่สวยงามในหนังสือที่เรียบนิ่งสงบ และสันติ”

สอดคล้องตรงกันกับที่ผมเคยอ่านผ่านตาจากที่ไหนสักแห่งเมื่อนานมาแล้วว่า เคยมีคนตั้งคำถามกับท่านว่า “ในโลกนี้สิ่งใดยิ่งใหญ่ที่สุด?” คำตอบจากผู้ได้รับการขนานนามด้วยความยกย่องว่า ‘คุรุเทพ’ ก็คือ “ความรักยิ่งใหญ่ที่สุด”

อาจกล่าวได้ว่า เรื่องเล่าทั้งหมดใน Stories by Rabindranath Tagore เป็นการเชิดชูความยิ่งใหญ่ของความรัก พ้นจากความเป็นเรื่องรักโดยพล็อตและเหตุการณ์ในหลายๆ ตอนแล้ว ความรักยังเป็นบทสรุปแง่คิดที่ตัวละครส่วนใหญ่ได้เรียนรู้ค้นพบในบั้นปลายท้ายสุด เป็นความรักครอบคลุมทั้งความสัมพันธ์ระหว่างชาย-หญิง พ่อแม่ลูก พี่กับน้อง เพื่อนกับเพื่อน ความรักต่อศัตรูคู่อริ ความรักข้ามเขตเชื้อชาติและศาสนาที่แตกต่าง

หากจะระบุว่าซีรีส์ชุดนี้เป็นงานในแบบ feel good หยิบยื่นส่งมอบความรู้สึกที่ดีให้แก่ผู้ชม ก็คงจะไม่ผิดจากความเป็นจริงนัก แต่ควรต้องระบุเพิ่มเติมเล็กน้อยว่า มันเป็นงาน feel good ในแบบฉบับเฉพาะตัวของรพินทรนาถ ฐากูร เปี่ยมด้วยวุฒิภาวะ ความเข้าใจโลก ความเข้าใจชีวิต และเต็มพร้อมไปด้วยความรักความปรารถนาดีต่อเพื่อนมนุษย์

ที่ผมกล่าวถึงประเด็นสิทธิสตรีและความรัก อาจทำให้ผู้อ่านเข้าใจไขว้เขวไปว่า ทั้ง 20 เรื่องดูคล้ายใกล้เคียงกันไปหมด (ตอนที่ search หาภาพนิ่งจากหนัง ซึ่งมีฉากแต่งงานเยอะแยะมากมายในหลายๆ ตอน ผมก็รู้สึกสับสนปนเปจำแนกไม่ออก บอกไม่ได้ว่าภาพไหนมาจากเรื่องราวตอนใด)

โดยเนื้อเรื่องและตัวเหตุการณ์ในหลายๆ เรื่องอาจคล้ายคลึงกันมาก แต่ความเป็นจริงแล้ว ซีรีส์ชุดนี้เป็นงานรวมเรื่องหลากรส และจะเกิดความหลากหลายขึ้นมาทันทีหากจำแนกตามการแบ่งประเภทของหนัง ซึ่งประกอบไปด้วยหนังรัก หนังชีวิตเศร้าสะเทือนใจ หนังสืบสวนสอบสวน หนังผี หนังตลก หนังเพลง หนังอาชญากรรม

ด้วยความหลากหลายและส่วนใหญ่แล้วเรื่องจบลงในตอนเดียว Stories by Rabindranath Tagore ควรจะเป็นซีรีส์ที่ค่อยๆ ติดตามไปวันละตอนสองตอน สบายๆ ไม่ต้องรีบเร่ง แต่ทันทีที่เริ่มต้นดู ผมก็เกิดอาการติดหนึบจนแกะไม่ออก

ส่วนหนึ่งเป็นความประทับใจจากเรื่องที่เพิ่งดูจบ กระตุ้นเร้าให้เกิดความอยากรู้อยากเห็นว่าเรื่องต่อไปจะเป็นเช่นไร และบอกเล่าสิ่งใด

อีกสาเหตุมาจากลูกเล่นของคนทำซีรีส์ ด้วยการจบเรื่องหนึ่งแบบเชื่อมต่อกับอีกเรื่องในตอนเดียวกัน เหมือนการวิ่งผลัด ส่งไม้-รับไม้กันเป็นทอดๆ ทำให้เกิดตอนจบที่ให้ความรู้สึกคล้ายๆ ซีรีส์ที่ดำเนินเหตุการณ์อย่างต่อเนื่อง

ที่สำคัญคือการจบทิ้งท้ายนั้น เลือกจังหวะและภาพได้เด็ดขาด ชวนติดตามเหลือเกิน

อย่างไรก็ตาม ลักษณะการเชื่อมร้อยหลากเรื่องให้ลื่นไหลต่อเนื่องนี้มีเพียงแค่ 13 ตอนแรกเท่านั้น พ้นเลยจากนั้นก็จบเรื่องจบตอนตามปกติ ไม่เกี่ยวโยงสัมพันธ์กัน แต่นั่นก็ไม่เป็นปัญหา เพราะลองติดตามดูไปครึ่งทาง ผู้ชมก็ตกอยู่ในอาการ ‘ติดงอมแงม’ ไปเรียบร้อยแล้ว

ว่ากันถึงฝีมือการกำกับและเขียนบท รวมถึงงานสร้างบ้างนะครับ Stories by Rabindranath Tagore มีงานด้านภาพที่สวยจับอกจับใจ โดยเฉพาะการจัดองค์ประกอบภาพที่เน้นให้เห็นตัวละครในกระจกเงา เรื่องราวทั้งหมดยกเว้นตอนสุดท้ายที่ย้อนยุคเป็นเรื่องโบราณ ได้รับการปรับเปลี่ยนยุคสมัยให้เป็นเหตุการณ์ในช่วงต้นทศวรรษ 1920 และงานกำกับศิลป์ ฉากหลัง เสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย ก็ปล่อยของแสดงฝีมือกันอย่างน่าตื่นตาตื่นใจ

การกำหนดยุคสมัยเป็นต้นทศวรรษ 1920 ยังมีส่วนทำให้ซีรีส์ชุดนี้เกิดแง่มุมสะท้อนภาพสังคมติดตามาด้วย ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนผ่านของยุคสมัย ความเจริญทันสมัยตามอย่างโลกตะวันตกเริ่มแผ่ขยายเข้ามาในกัลกัตตา (ซึ่งเป็นฉากหลังของเหตุการณ์ส่วนใหญ่) และกำลังแทนที่กลืนกินวิถีชีวิตในโลกเก่าไปทีละน้อย หรือการสะท้อนให้เห็นถึงวันเวลาที่อินเดียยังเป็นอาณานิคมภายใต้การปกครองของอังกฤษ

ผมเคยทราบมาบ้าง ว่ารพินทรนาถ ฐากูรเป็นศิลปินหลายแขนง มีผลงานมากมหาศาล ทั้งเรื่องสั้น นิยาย บทกวี บทละคร งานจิตรกรรม รวมถึงเป็นคีตกวีที่มีผลงานแต่งเพลงทั้งเนื้อร้องและทำนองจำนวนมาก

ในบรรดาผลงานสารพัดแขนง ผมเคยผ่านตามาบ้างอย่างละนิดอย่างละหน่อย ยกเว้นผลงานเพลงซึ่งไม่รู้จัก ไม่เคยได้ยินได้ฟังมาก่อนเลย

ดังนั้น ความแยบยลอีกอย่างของ Stories by Rabindranath Tagore ก็คือการเลือกผลงานเพลงซึ่งรพินทรนาถ ฐากูร ประพันธ์ไว้ต่างกรรมต่างวาระ และไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องสั้นหรือนิยายทั้ง 20 เรื่องนี้เลย มาใช้เป็นเพลงประกอบได้อย่างเหมาะเจาะสอดคล้องกับเนื้อหาเรื่องราวเหลือเกิน

ทุกเพลงไพเราะมากและมีความหมายสละสลวยกินใจ จนทำให้ดูซีรีส์จบแล้วต้องไปค้นหาเพลงมาฟังต่อ

ผมลงรายชื่อเพลงที่ค้นเจอ เผื่อว่าท่านผู้อ่านสนใจอยากลอง search หามาฟังดู (มีใน youtube นะครับ) ประกอบไปด้วย Amaro Porano Jaha Chay, Phule Phule Dhole Dhole และ Mera Maan Bhulaya Re

ประการสุดท้ายเรื่องเด่นสุดในซีรีส์ชุดนี้ Choker Bali เคยมีนิยายฉบับแปลภาษาไทย ชื่อเรื่อง “เล่ห์เสน่หา” แปลได้งดงามมากโดย “พงษ์เทพ”

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save