fbpx
เปิดเส้นทางลดโลกร้อน : จากป่าชุมชนสู่เศรษฐกิจฐานชีวภาพ

เปิดเส้นทางลดโลกร้อน : จากป่าชุมชนสู่เศรษฐกิจฐานชีวภาพ

ณัฐชลภัณ หอมแก้ว, สรัลพัชร สรรพคุณ เรื่องและภาพ

กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ

 

ไม่มีใครปฏิเสธว่าอุณหภูมิโลกกำลังสูงขึ้น เป็นเหตุผลทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และกระทบไปทั่วทุกทวีป ทั้งระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้น คลื่นความร้อนสูงที่ยุโรปและอินเดีย ไฟป่ารุนแรงที่ออสเตรเลีย ส่วนประเทศไทยกำลังเผชิญภัยแล้งรุนแรงในรอบ 50 ปี ภาคการเกษตรวิกฤตเป็นวงกว้าง

เยาวชน – นักกิจกรรมสายสิ่งแวดล้อมทั่วโลกจึงเรียกร้องความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาเพื่อหยุดยั้งไม่ให้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกสูงเกินกว่า 1.5 องศาเซลเซียสเนื่องจากรายงานของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) ระบุว่าโลกเหลือเวลาอีกเพียง 10 ปีเท่านั้นที่จะควบคุมอุณหภูมิไม่ให้สูงเกินไปกว่านี้

คำถามคือในภาพใหญ่ของไทยจะมีส่วนแก้ปัญหาดังกล่าวอย่างไรได้บ้าง หลายคนพุ่งประเด็นไปที่ป่าไม้ เพราะถือว่ามีบทบาทสำคัญต่อการป้องกันและแก้ปัญหาโลกร้อนเป็นหลัก แต่ดูเหมือนการทำลายป่าจะรุดหน้าเร็วกว่าอุณหภูมิที่กำลังสูงขึ้น

จากข้อมูลกรมป่าไม้ ระบุว่า ปี 2504 พื้นที่ป่าของไทยมีอยู่ 171.02 ล้านไร่ หรือ 53.33 % ของพื้นที่ทั้งหมด แต่ปี 2557 นั้นเหลือเพียง 102.28 ล้านไร่ หรือ 31.62 % เท่านั้น

เมื่อทรัพยากรมีจำกัด คำถามแสนคลาสสิกคือ “คนกับป่าจะอยู่ร่วมกันอย่างไร”

เพราะข้อเท็จจริงหนึ่งที่ทราบกันดีคือมีการตั้งรกรากถิ่นฐานและใช้ประโยชน์จากป่าโดยชุมชนท้องถิ่นมายาวนาน แต่ในช่วงเวลาอันสั้นที่ผ่านมา อย่างน้อยก็หลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2560 มีการประกาศใช้นโยบาย กฎหมาย และการบริหารจัดการทัพยากรที่ดิน– ป่าไม้หลายฉบับ ย่อมส่งผลกระทบต่อสิทธิและประโยชน์ของชุมชนอย่างเลี่ยงไม่ได้

แล้วจะหาทางออกอย่างไร – ศูนย์วนศาสตร์ชุมชนเพื่อคนกับป่า (Recoftc) เพิ่งจัดเวทีแลกเปลี่ยนสถานการณ์สภาวะโลกร้อนในแต่ละพื้นที่ไปหมาดๆ เพื่อแสวงหาความร่วมมือจากภาครัฐและภาคประชาชน ในการให้ ’ป่า’เปิดรับการใช้ประโยชน์จากคน หรือที่คุ้นหูกันดีในนาม ‘ป่าชุมชน’

 

เปิดเส้นทางลดโลกร้อน : จากป่าชุมชนสู่เศรษฐกิจฐานชีวภาพ

 

คน ป่า เมือง

 

ผศ.ดร.สมศักดิ์ สุขวงศ์ ผู้ก่อตั้งศูนย์วนศาสตร์ชุมชนเพื่อคนกับป่า พูดถึงปัญหาป่าไม้ไทยว่า การจัดสรรพื้นที่ป่าว่า 20 – 30 ปีที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่จากสถานทูตสวีเดนคนหนึ่งเคยบอกเขาว่า พื้นที่ป่าของไทยจากจากพื้นที่ทั้งหมด ถือว่าเป็นประเทศที่มีป่าค่อนข้างมาก แต่สิ่งที่แย่คือการบริหารจัดการป่าของไทย

นักวิชาการอาวุโสด้านสิ่งแวดล้อม ยังยกตัวอย่างการจัดสรรพื้นที่ป่าในเมืองอังกฤษว่า ป่าในเมืองของอังกฤษถือเป็นป่าชุมชนที่ประชาชนสามารถใช้ประโยชน์ร่วมกันได้ คนในชุมชนสามารถวางแผนการจัดการที่ดินสาธารณะได้

“คนอังกฤษเขาสามารถมีสิทธิ์เรียกร้องทำป่าชุมชนเพื่อให้ได้ใช้ประโยชน์ ทุกวันนี้ป่าชุมชนของคนอังกฤษถูกใช้เป็นสถานที่ออกกำลังกาย ปั่นจักรยาน”

นอกจากนี้ ‘บอล’ ทายาท เดชเสถียร พิธีกรรายการหนังพาไปได้ยกตัวอย่างการจัดสรรพื้นที่ป่าจากกรุงไทเป ประเทศไต้หวัน ว่า “ผมไปเจอภูเขาลูกหนึ่งอยู่ในเมืองซึ่งเป็นเขตอนุรักษ์ เราคิดว่าคนเข้าไปไม่ได้แน่ๆ แต่พอเดินเข้าไปใกล้ๆ ก็ได้ยินเสียงเหมือนคนร้องเพลงคาราโอเกะอยู่บนเขา

“ผมตกใจว่ามีเสียงเพลงมาได้อย่างไร พอลองเดินขึ้นเขาไปประมาณ 400 เมตร ปรากฏว่ามีซุ้มคาราโอเกะของผู้เฒ่าผู้แก่ ไม่แค่นั้น รถไฟฟ้าก็เข้าถึงใกล้มาก มีรถจักรยานสาธารณะให้ใช้ มีรถเมล์วิ่งผ่าน พร้อมตลาดของกินก็อยู่ใกล้ ผมคิดว่านี่คือการบริหารจัดการพื้นที่ป่ากับเมืองที่ดี”

นอกจากมุมมองคนเมืองที่ใช้ชีวิตร่วมกับป่า คนที่ใช้ป่าเป็นที่ทำมาหากินอย่าง สุดา กองแก กลุ่มสตรีชนเผ่าบ้านห้วยหินดำ จ.สุพรรณบุรี อธิบายว่า ความที่เธออยู่ใกล้ชิดกับธรรมชาติ ทำให้รู้จักคุณค่าของธรรมชาติ เช่น การปลูกข้าวและอื่นๆ ก็จะไม่ใช้สารเคมี เพราะเป็นเรื่องการ “ทำกิน” แต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนให้คนหันมา “ทำขาย” มากขึ้น สภาพป่าก็เปลี่ยนไป

“คนห้วยหินดำหันมาปลูกข้าวโพดมากขึ้น ใช้สารเคมีมากขึ้น เพราะมีปัญหาของความไม่มั่นคงในที่ดินทำกิน ทำให้คนส่วนใหญ่ต้องปลูกพืชที่มีอายุสั้น”

แต่โจทย์ในการเรียกคืนความมั่นคงในที่ดินทำกินสำหรับสุดา คือ การที่ชุมชนเป็นกำลังสำคัญในการดูแลป่า แต่ชุมชนจะมีศักยภาพก็ต่อเมื่อชุมชนได้รับสิทธิทางกฎหมายที่ชัดเจนและเป็นธรรม การบังคับใช้กฎหมายต้องเสมอภาค

 

กฎหมายและความมั่นคง

 

เป็นที่ทราบกันว่าช่วงปีที่ผ่านมามีกฎหมายใหม่หลายฉบับเกี่ยวกับการจัดการทรัพยากรที่ดินและป่าไม้ที่ส่งผลกระทบต่อสิทธิและประโยชน์ของชุมชน กฎหมายหลายฉบับไม่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง โดยเฉพาะในพื้นที่อนุรักษ์ซึ่งยังขาดการรับรองสิทธิชุมชนดั้งเดิม

แม้ชุมชนสามารถแสดงเจตจำนงในการอยู่ร่วมกับป่า แต่กลับต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ และคณะกรรมการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า เพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรี ทำให้เกิดคำถามว่าชุมชนจะมั่นใจว่ากระบวนการดังกล่าวจะสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนได้อย่างไร

ประทีป มีคติธรรม ตัวแทนองค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) มองประเด็นนี้ว่า“การสูญเสียพื้นที่ป่าจนกลายเป็นความขัดแย้งถูกผลักให้เป็นภาระของชุมชน โดยเฉพาะกลุ่มชาติพันธ์ที่ต้องแบก

เขายกสมมติฐาน 3 ข้อเกี่ยวกับการแก้ปัญหาพื้นที่ป่าไม้ซึ่งมีความซับซ้อน ได้แก่ 1. การกระจุกตัวของที่ดินทำกินทำให้เกิดปัญหาขาดแคลนที่ดินทำกิน 2. ความขัดแย้งของคนกับป่าเป็นข้อถกเถียงเรื่องคนอยู่กับป่าได้หรือไม่ ซึ่งมีแนวโน้มเชิงบวกว่าคนสามารถอยู่กับป่าได้ 3. จะทำอย่างไรให้มีพื้นที่สีเขียวเพิ่มขึ้น”

ประทีปบอกว่า 3 ประเด็นดังกล่าวมีกฎหมายหลายฉบับที่เกี่ยวข้อง อาทิ 1. พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ มาตรา 64, 65 ว่าด้วยการกันแนวเขตที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยของชุมชน เขตการใช้ประโยชน์ทรัพยากรที่ทดแทนได้และเขตหาของป่า 2. พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า มาตรา 121 เรื่องการกันแนวเขตที่ดินทำกิน 3. พ.ร.บ.ป่าไม้ มาตรา 7 ที่เปิดโอกาสให้การปลูกต้นไม้เป็นกรรมสิทธิ์ครอบครองตามกฎหมายที่ดิน ไม่ถือว่าเป็นไม้หวงห้ามอีกต่อไป และยังเปิดช่องทางอีกว่าถ้าเป็นที่ดินประเภทอื่นที่รัฐอนุญาต ก็สามารถให้รัฐมนตรีออกกฎกระทรวงได้

“ในภาพรวมของเรื่องที่ดินทำกิน มีแนวโน้มเชิงบวก แต่ต้องคาดหวังว่าหากมีการแก้ไขปัญหาเรื่องแนวเขตที่ดินให้ชัดเจน ประชาชนจะรู้สึกมีความมั่นคงในการถือครองที่ดิน ไม่ใช่รู้สึกหวาดระแวงว่าจะมีความผิดหรือจะถูกให้ออกจากพื้นที่เมื่อไหร่อย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ และเมื่อปัญหาที่ดินทำกินมีความชัดเจน ระบบการเกษตรมีความเปลี่ยนแปลง ป่าไม้ที่อยากได้เพิ่มก็จะกลับคืนมา”

ในมุมของ พงศา ชูแนม ประธานมูลนิธิธนาคารต้นไม้ เปรียบเปรยกฎหมายป่าไม้ขณะนี้ว่า “กฎหมายใหม่เหมือนมีแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ แต่ปรากฏว่าอุโมงค์นั้นประชาชนไม่สามารถเข้าได้ ส่วนรัฐบอกให้ประชาชนตัดแขนตัดขาตัวเองและลอดออกไป เหมือนหลอกให้ประชาชนพิการหากอยากพบกับแสงสว่าง”

การประกาศเขตอุทยานที่ทับที่ของชุมชน ทำให้ชุมชนต้องไปทำเรื่องขออนุญาต ทั้งๆ ที่ชุมชนอยู่มาก่อนกรมอุทยานฯ จะประกาศเขตอุทยาน สำหรับประธานมูลนิธิธนาคารต้นไม้ มองว่าภาครัฐไม่ได้ฟังเสียงประชาชน กฎหมายที่ออกมาเหมือนมองประชาชนดื้อ ภาครัฐจึงต้องควบคุมไว้ก่อน

ขณะที่มุมของ นันทนา บุณยานันต์ ผู้อำนวยการสำนักจัดการป่าชุมชน กรมป่าไม้ พูดถึงการทำงานของกรมป่าไม้ ว่า ภาครัฐเองมีภาพจำว่าถ้าพื้นที่ป่าหายไปก็ต้องใช้กฎหมายบังคับ เพราะคิดว่ารัฐมีหน้าที่ดูแลทรัพยากร ส่วนประชาชนก็มีภาพจำว่าป่าไม้เป็นที่อยู่ของตนก่อนกฎหมายจะบังคับใช้

“สิ่งที่รัฐทำอาจจะไม่ตอบโจทย์คนทั้งหมด แต่ตอบโจทย์คนส่วนใหญ่ เช่น ในอดีตชาวบ้านอยู่ในเขตอุทยานฯ ไม่ได้ แต่วันนี้มาตรา 64 ของ พ.ร.บ.อุทยานฯ สามารถให้อยู่ได้ ส่วนมาตรา 65 ของ พ.ร.บ.อุทยานฯ ก็เปิดให้คนสามารถใช้ประโยชน์ของอุทยานฯ ได้”

“อย่างเช่นที่ป่าชุมชนแม่ทา จ.เชียงใหม่ แต่ก่อนชาวบ้านไม่มีความมั่นคงในที่ดิน พอได้รับความช่วยเหลือจาก คทช. (คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ) ก็ทำให้ป่าแม่ทามีไม้ยืนต้น ชาวบ้านทำการเกษตรที่มั่นคง เลิกทำการเกษตรแบบปลูกไปวิ่งหนีไป”

 

ยกระดับผลประโยชน์จากป่า

 

พ้นไปจากข้อพิพาททางกฎหมาย สิ่งหนึ่งที่ภาครัฐต้องการให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนช่วยเหลือป่าไม้ คือการทำ CSR หรือการรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมเพื่อนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

ผู้อำนวยการสำนักจัดการป่าชุมชนมองว่านอกจากการใช้ประโยชน์จากป่าไม้ของชุมชน ยังมีอีกกลไกหนึ่งคือคาร์บอนเครดิต ซึ่งภาคเอกชนเข้ามามีบทบาทได้

“งานวิจัยที่ร่วมกับองค์การบริหารก๊าซเรือนกระจก (อบก.) จากป่าชุมชนแห่งหนึ่งในการประเมินคาร์บอนไดออกไซด์เพื่อนำไปสู่คาร์บอนเครดิตในมาตรฐาน T-VER (Thailand Voluntary Emission Reduction Program : T-VER) ซึ่งนำร่องที่ป่าโค้งตาบาง จ.เพชรบุรี พบว่าคาร์บอนฐานหรือคาร์บอนสต็อกในป่านี้มีจำนวน 20,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์

“มีการประเมินในอีก 20 ปีข้างหน้าว่า ป่าโค้งตาบางจะมีคาร์บอนเครดิตเพิ่มขึ้นอีก 743 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ ถือว่าเป็นการทดลองให้รู้ว่าป่าของเราจะดูดซับได้เท่าไหร่”

นันทนา เสริมว่ากลไกหนึ่งที่กรมป่าไม้ต้องพูดถึงคือการแบ่งปันผลประโยชน์ ถ้าเราอยากให้ประชาชนช่วยกันดูแลโดยใช้กลไกของคาร์บอนเครดิต ต้องคิดว่าประชาชนที่ช่วยดูแลนั้นควรจะได้รับประโยชน์เท่าไหร่ และหากภาคเอกชนมีส่วนร่วมเขาควรได้รับประโยชน์เท่าไหร่ นี่เป็นอีกกลไกหนึ่งที่ช่วยโลกได้

ด้าน อภิสิทธิ์ เสนาวงศ์ จากองค์การบริการจัดการก๊าซเรือนกระจก มองว่าหน้าที่ของคาร์บอนเครดิตไม่ได้มีเพียงด้านป่าไม้เท่านั้น แต่มีทั้งด้านพลังงาน เช่น ลดการใช้ไฟฟ้า ลดการใช้น้ำมัน เป็นต้น

“ที่ผ่านมาคนที่มาซื้อคาร์บอนเครดิตมักเป็นภาคเอกชน ไม่ว่าจะเป็นทางรถ เครื่องบิน ฯลฯ ที่มีการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ แต่ทิศทางอนาคตของคาร์บอนเครดิต คนที่ปลูกป่าอย่ามองแค่ว่าจะปลูกต้นไม้เพื่อคาร์บอนเครดิต แต่ให้มองเป็นการปลูกต้นไม้เพื่อใช้เนื้อไม้ด้วย ส่วนเรื่องคาร์บอนเครดิตเป็นเพียงรายได้เสริม

แม้เราปลูกไม้สักอายุ 30 ปี ก็คงมีการดูดซับไม่เกิน 1 ตัน ซึ่งมีราคาประเมินเพียงตันละ 200 บาท รายได้หลักจะเกิดขึ้นจากมูลค่าของเนื้อไม้อยู่แล้ว”

ในมุมของผู้ประกอบการธุรกิจค้าไม้อย่าง คมวิทย์ บุญทำรงกิจ อุปนายกสมาคมธุรกิจไม้ มองว่าธุรกิจไม้ในมุมมองของคนส่วนใหญ่เป็นธุรกิจสีเทา เป็นพวกตัดไม้ทำลายป่า แต่ปัจจุบันสมาคมธุรกิจไม้เป็นอุตสาหกรรมประเภท zero waste

“ถ้าเราเข้าใจห่วงโซ่ของคุณค่าไม้ทั้งหมด เราสามารถใช้ประโยชน์ตั้งแต่ปลูกให้ร่มเงา จนเอามาทำเป็นบ้าน เศษไม้เอามาทำเยื่อกระดาษไปจนถึงเสื้อผ้า และแปรรูปพลังงานได้ด้วย”

แนวคิดการชะลออุณหภูมิโลกไม่ให้สูงขึ้นสำหรับภาคธุรกิจไม้ของคมวิทย์ ไม่ได้หยุดอยู่แค่การปลุกป่า แต่กำลังสร้างเศรษฐกิจที่เรียกว่า ‘Forest Bio Economy’ หรือ ‘เศรษฐกิจฐานชีวภาพ’

เพราะฉะนั้นในกระบวนการลดโลกร้อนดังกล่าว ไม่ได้มีเพียงมิติการอนุรักษ์ป่าเท่านั้น แต่ย่อมหมายถึงการตระหนักในการผลิตและการบริโภคไปในเวลาเดียวกัน

 

เปิดเส้นทางลดโลกร้อน : จากป่าชุมชนสู่เศรษฐกิจฐานชีวภาพ

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save