fbpx

หลงคนร้าย

พฤติกรรมมนุษย์เรานี่แปลกพิลึกสิ้นดีและเข้าใจได้ยากมาก ไม่เชื่อลองดูตัวอย่างต่อไปนี้

ในปี 1977 คอลลีน สแตน (Colleen Stan) อายุ 20 ปี โบกรถเพื่อที่จะไปหาเพื่อนแถวแคลิฟอร์เนียใต้ ก่อนจะถูกลักพาตัวโดยคู่สามีภรรยา คาเมรอน ฮูเกอร์ และเจนิส พวกเขาบังคับให้เธอต้องซ่อนตัวอยู่ในกล่องไม้ใต้เตียงและโดนทารุณรวมทั้งบังคับข่มขืนใจซ้ำๆ นานถึง 7 ปี 

แม้ว่าคอลลีนจะพูดคุยกับเจนิส และยังสามารถออกไปเยี่ยมแม่ของเธอได้ด้วยก็ตาม แต่คอลลีนกลับไม่เคยคิดจะหนี และยังคงยอมโดนขังในกล่องไม้ต่อไป! 

ภายหลังที่เจนิสปล่อยตัวคอลลีนเป็นอิสระ เธอขอร้องคอลลีนว่าอย่าเล่าเรื่องที่โดนทำร้ายให้ใครฟัง ซึ่งคอลลีนก็ไม่บอกใครจริงๆ ขณะที่สุดท้ายแล้วกลายเป็นเจนิสเสียเองที่โทรแจ้งตำรวจให้มาจับคาเมรอน หลังจากที่เธอพยายามทำให้เขากลับเนื้อกลับตัว แต่ก็ไม่สำเร็จ

น่าสนใจว่าอะไรทำให้คอลลีนไม่ต่อสู้ดิ้นรน หนี หรือแจ้งตำรวจ ? 

อีกตัวอย่างยิ่งน่างุนงงหนักขึ้นไปอีก

แมรี แมกเอลรอย (Mary McElroy) โดนลักพาตัวจากบ้านโดยชาย 4 คนที่มีอาวุธปืนในปี 1933 ขณะอายุ 25 ปี จากนั้นกลุ่มชายดังกล่าวนำเธอไปกักขังไว้ในฟาร์มแห่งหนึ่ง โดยล่ามโซ่เธอไว้กับกำแพงบ้านและเรียกค่าไถ่ตัวเธอ พ่อของเธอยอมจ่ายค่าไถ่ 30,000 เหรียญตามข้อเรียกร้อง ท้ายที่สุดแมรีก็ได้รับการปล่อยตัวโดยไม่ได้บาดเจ็บแต่อย่างใด ซึ่งต่อมาคนร้ายทั้ง 4 คน ก็โดนไล่ตามจับตัวได้ทั้งหมด

เรื่องน่าประหลาดใจคือ นอกจากแมรีจะไม่โกรธคนลักพาตัวเธอแล้ว แมรียังแก้ตัวแทนและไปเยี่ยมพวกเขาในคุกอีกต่างหาก ที่แปลกประหลาดที่สุดคือ ในท้ายที่สุดแมรีตัดสินใจฆ่าตัวตายโดยทิ้งจดหมายลาตายไว้ว่า 

“ทั้ง 4 คนที่ลักพาตัวฉันอาจจะเป็นคนกลุ่มเดียวในโลกที่ไม่มองว่าฉันเป็นคนโง่เง่า ฉันยอมรับคำตัดสินประหารชีวิตแทนพวกเขาแล้ว ดังนั้นกรุณาให้อภัยและให้โอกาสพวกเขาด้วย”

อะไรคือสาเหตุที่ทำให้คนถูกลักพาตัวรู้สึกผูกพันกับคนลักพาตัว แม้ระยะเวลาเพียงสั้นๆ ได้มากถึงเพียงนั้น จนทำสิ่งที่คนทั่วไปมองว่าขัดแย้งกับสามัญสำนึกอย่างที่สุด

ยังมีตัวอย่างที่ยกขึ้นมาให้อ่านได้อีกเยอะนะครับ แม้ว่าเอฟบีไอของสหรัฐฯ จะระบุว่า กรณีเช่นนี้เป็นเรื่องหายาก แต่ก็อาจจะมีมากถึง 5% ของคนถูกลักพาตัวที่แสดงออกถึงความผูกพันอย่างน่าประหลาดใจเช่นนี้

มีชื่อเรียกอาการประหลาดๆ นี้ด้วยนะครับ เรียกว่า ‘สต็อกโฮล์มซินโดรม’ (Stockholm syndrome) โดยที่มาของชื่อมาจากเหตุการณ์การจับตัวประกันในการปล้นธนาคารครั้งหนึ่งที่เกิดขึ้นในสต็อกโฮล์ม ประเทศสวีเดนในปี 1973 เมื่อโจรปล้นธนาคารชื่อ ยาน-เอริก โอลส์สัน (Jan-Erik Olsson) และเพื่อนได้จับตัวประกัน 4 คนเอาไว้ในธนาคารเครดิตแบ็งเคน (Kreditbanken) ในวันที่ 23 สิงหาคม ปี 1973 เมื่อเหตุการณ์จบลงในอีก 6 วันต่อมา เหยื่อกลับมีพฤติกรรมให้ความร่วมมือกับผู้จับตัวมากกว่าตำรวจ! 

บุคคลแรกที่น่าจะนำชื่อเรียกอาการดังกล่าวมาใช้ได้แก่ นักอาชญากรรมวิทยาและนักจิตเวช นิลส์ บีเจรอต (Nils Bejerot) ก่อนที่สื่อมวลชนจะนำชื่อดังกล่าวมาใช้เรียกจนกลายมาเป็นคำฮิตติดหูกันต่อมา

ดร.แฟรงก์ อุชเบิร์ก นักจิตเวชที่ทำงานให้กับเอฟบีไอและสก็อตแลนด์ยาร์ดในช่วงทศวรรษ 1970 ให้ข้อสังเกตไว้ว่าการจะเกิด ‘สต็อกโฮล์มซินโดรม’ ได้นั้น ต้องมีสถานการณ์เรียงลำดับดังนี้

แรกสุด คนเหล่านี้จะต้องพบเจอประสบการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างไม่มีปี่มีขลุ่ย ซึ่งชวนให้ตระหนกตกใจและเชื่อแน่ว่าพวกเขาจะต้องตายอย่างไม่มีทางหลีกเลี่ยงได้ จากนั้นจะต้องผ่านความรู้สึกคล้ายกลับไปเป็นเด็กเล็กๆ ที่ไม่ว่าจะกิน พูด หรือไปห้องน้ำ ก็ต้องขออนุญาตผู้ใหญ่เสียก่อน 

ดังนั้น ความเอื้อเฟื้อเล็กๆ น้อยๆ เช่น การหยิบยื่นอาหารหรือน้ำให้ย่อมไปกระตุ้นให้เกิดความรู้สึกพื้นฐานที่ทำให้รู้สึกบวกอย่างรุนแรงและขอบคุณต่อผู้จับกุมตัวเอง จนเกิดความรู้สึกขัดแย้งในใจ ปฏิเสธความจริงที่ว่าคนพวกนี้เป็นคนทำให้พวกเขาต้องตกอยู่ในสถานการณ์ลำบากเช่นนั้น

แต่กลับรู้สึกเป็นหนี้บุญคุณที่คนเหล่านี้ยอมไว้ชีวิตพวกเขาแทน

สิ่งที่เกิดขึ้นจริงๆ ในการปล้นธนาคารครั้งนั้นคือ ในการโทรศัพท์ต่อรองครั้งหนึ่งระหว่างคนร้ายกับนายกรัฐมนตรีโอลอฟ พาลเม มีตัวประกันรายหนึ่งคือ คริสติน เอห์นมาร์ก (Kristin Ehnmark) ถึงกับเสนอตัวจะไปกับแก๊งคนร้าย หากมีการจัดหารถเพื่อหลบหนีให้ แต่ก็ได้รับการปฏิเสธ 

เอห์นมาร์ก เคยให้สัมภาษณ์ไว้คราวหนึ่งว่า เธอรู้สึก ‘ผิดหวังเป็นอย่างยิ่ง’ ที่นายกฯ เอาแต่ใช้ชีวิตของพวกเธอเป็นตัวต่อรอง เธอเองเชื่อใจคนในแก๊งดังกล่าวและไม่ได้สิ้นหวังแต่อย่างใด พวกทางการต่างหากที่ไม่ได้ทำอะไรให้กับพวกเธอที่เป็นตัวประกัน 4 คนเลย ขณะที่พวกปล้นธนาคารดีกับพวกเธอมาก และเธอกลัวมากว่าพวกตำรวจจะบุกจู่โจมและทำให้พวกเธอตายหมด

อันที่จริงมีการสัมภาษณ์อีกหลายครั้งที่ทำให้รับรู้กันว่า ตัวประกันต่างรู้สึกว่าตนเองเป็นหนี้ชีวิตเหล่าโจรปล้นธนาคารด้วยซ้ำไป

สิ่งที่น่าสนใจคือ ไม่เพียงแต่ผู้ถูกจับจะรู้สึกเปลี่ยนไปเมื่อเกิดสต็อกโฮล์มซินโดรม แต่พวกที่จับตัวประกันก็เกิดการเปลี่ยนแปลงความรู้สึกไปด้วยเช่นกัน โอลส์สันตั้งข้อสังเกตว่า ในตอนแรกที่เริ่มจับตัวประกัน คนร้ายสามารถฆ่าตัวประกัน ‘ได้ง่ายๆ’ แต่เขาค่อยๆ เปลี่ยนความรู้สึกไปเมื่อเวลาเปลี่ยนไปและทำให้ลงมือยากขึ้น

ประเด็นหลังนี้สำคัญ จนถึงกับระบุไว้ในบทความชิ้นหนึ่งของวารสารของเอฟบีไอว่า ลักษณะเช่นนี้มีประโยชน์กับผู้เจรจาต่อรองที่จะใช้ช่วยชีวิตตัวประกันได้ 

แม้นิยามของสต็อกโฮล์มซินโดรมจะยังคลุมเครือไม่ชัดเจน และเข้าใจไม่ตรงกันอยู่บ้าง แต่มีความพยายามจะสรุปองค์ประกอบสำคัญไว้ว่าต้องมีส่วนประกอบ 4 แบบคือ [1]

ข้อแรก ตัวประกันต้องเกิดความรู้สึกดีๆ หรือความรู้สึกด้านบวกกับพวกที่จับตัวเองเป็นตัวประกัน

ข้อต่อมา ต้องไม่มีความสัมพันธ์ใดๆ อยู่แต่เดิมระหว่างตัวประกันกับผู้จับ 

ข้อสาม ฝ่ายตัวประกันต้องมีการแสดงออกในแบบปฏิเสธให้ความร่วมมือกับทางตำรวจหรือหน่วยงานรัฐอื่นๆ แต่ประเด็นนี้มีข้อยกเว้นคือ กรณีที่ตำรวจหรือเจ้าหน้าที่รัฐกลายมาเป็นคนร้ายเสียเอง

ข้อสุดท้าย พวกตัวประกันต้องเชื่อในมนุษยธรรมของพวกจับตัวประกัน และหยุดมองพวกจับตัวประกันว่าเป็นภัยคุกคาม พร้อมทั้งเริ่มโอนอ่อนหรือหันไปมีมุมมองคล้ายกับพวกที่จับตัวเองเป็นตัวประกัน 

สำหรับตัวประกัน นอกจากจะรู้สึกดีกับพวกจับตัวประกันและรู้สึกแย่กับตำรวจและเจ้าหน้าที่รัฐแล้ว ยังเต็มไปด้วยอารมณ์ความรู้สึกต่างๆ มากมาย เช่น ในแง่ของความจำจะเกิดความสับสน ความจำผิดเพี้ยน เกิดภาพลวงฝังในหัว และอาจมีภาพเหตุการณ์ปรากฏกลับมาให้เห็นเรื่อยๆ ราวกับฝันร้าย  

ในทางอารมณ์ความรู้สึก อาจจะรู้สึกกลัว ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ โกรธแค้น ซึมเศร้า รู้สึกผิด และเกิดอาการป่วยหลังเหตุการณ์กระเทือนใจร้ายแรงที่เรียกว่า ‘พีทีเอสดี’ (Post-Traumatic Stress Syndrome) ขณะที่ในทางสังคม อาจจะรู้สึกกระวนกระวายใจ แปลกแยก รำคาญหรือเคืองใจ หรือไม่ก็หวาดระแวงคนอื่น

ในทางร่างกาย หากป่วยอะไรอยู่ก็อาจจะหนักขึ้น มีการกิน นอน หรือความต้องการออกนอกสถานที่ที่ผิดเพี้ยนไปจากที่เคยทำหรือเคยเป็น

ผมอดสงสัยไม่ได้ว่าคนที่เห็นดีเห็นงามกับการใช้กำลังเข้าควบคุมประเทศ แล้วทำให้ประเทศถดถอยลงในทุกทางเป็นเวลานานหลายๆ ปีนี่ จะถือว่ามีอาการแบบ ‘สต็อกโฮล์มซินโดรม’ ได้ด้วยหรือไม่ 

เพราะดูปัจจัยและอาการหลายอย่างในระดับปัจเจกบุคคลแล้ว… ก็เข้าเค้าอยู่ไม่น้อย!

References
1 Sundaram CS (2013). “Stockholm Syndrome”. Salem Press Encyclopedia – via Research Starters

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save