fbpx

Still Walking ความระทมแสนสงบของครอบครัว

วจนา วรรลยางกูร เรื่อง

หากใครก็ตามที่ชอบหนังของ ฮิโรคาสุ โคเรเอดะ สักเรื่องแล้ว มักหลงรักหนังเรื่องอื่นๆ ของเขาไปโดยปริยาย เช่นฉันที่ยกให้เขาเป็นยอดผู้กำกับหนังญี่ปุ่นในใจ ด้วยท่าทีการพูดถึงชีวิตอย่างละเอียดถี่ถ้วนที่ทำให้ผลงานแต่ละเรื่องของเขาฝังแน่นในหัวใจ

หนังของโคเรเอดะวนเวียนอยู่กับการพูดถึงเรื่องความเป็นมนุษย์ ธรรมชาติของชีวิต ครอบครัวและความสัมพันธ์ ผ่านชีวิตของคนธรรมดาและโศกนาฏกรรมเล็กๆ ในความเรียบง่ายที่บาดลึก

งานส่วนมากของเขาพูดถึงความตายโดยไม่ได้สัมผัสมันโดยตรง แต่เป็นการพูดผ่านแต่ละชีวิตที่รายล้อมความตายนั้น ด้วยน้ำเสียงเรียบง่ายไม่คร่ำครวญ ไม่ใช่การพรรณนาถึงความเศร้าโศก แต่ฉายภาพการใช้ชีวิตต่อไปหลังความตาย หลายเรื่องพูดถึงการเดินทางต่อของชีวิตคนที่ยังอยู่ และบางเรื่องพูดถึงการเดินทางต่อของคนที่จากไป เช่น After Life (1998)

ฉันรักผู้กำกับคนนี้เพราะหนังครอบครัวของเขา จึงเลือกหยิบ Still Walking (2008) กลับมาดูซ้ำ เมื่อดูจบรอบนี้แล้วก็ตัดใจไม่ลงว่ารักมากหรือน้อยกว่า After the Storm (2016) ที่นอกจากจะใช้นักแสดงหลักสองคนเหมือนกันคือ ฮิโรชิ อาเบะ และ คิริน คิกิ แล้ว ยังเป็นสองเรื่องที่พูดผ่านสายตาชายวัยกลางคนที่อยู่ในสถานะลูกชาย สามี และพ่อที่ไม่ประสบความสำเร็จในชีวิตการงานเหมือนกัน ซึ่งโคเรเอดะใส่ความทรงจำและความเป็นตัวเองของเขาลงไปอย่างชัดเจนทั้งสองเรื่อง

Still walking เล่าถึงช่วงเวลา 2 วันของครอบครัวชนชั้นกลางที่นัดมาเจอกันในวันครบรอบวันตายของลูกชายคนโต เรื่องเล่าผ่านมุมมองของ ริวตะ (ฮิโรชิ อาเบะ) ลูกชายคนเล็กของบ้าน นักบูรณะภาพวาดตกงานที่แต่งงานกับแม่ม่ายลูกติด เขาหลีกเลี่ยงการกลับมาบ้านที่ต้องเผชิญหน้ากับ พ่อ หมอเกษียณทิฐิสูง และแม่ แม่บ้านขี้บ่นที่ไม่เคยลืมการตายของลูกชายคนโต

Still walking

การพาภรรยาและลูกกลับมาบ้านเป็นความกังวลของริวตะ ทั้งจากการเป็นคนตกงาน แต่งงานกับม่ายลูกติด และการถูกเปรียบเทียบกับพี่ชายเสมอ นั่นเป็นเหตุผลที่เขาหนีหายไปจากบ้านเนิ่นนาน

ฉากเกือบทั้งหมดของเรื่องดำเนินอยู่ในบ้านที่เต็มไปด้วยข้าวของของลูกชายที่เสียชีวิต แม้ว่าเขาจะจากไปแล้วถึง 15 ปี รายละเอียดของเรื่องราวค่อยๆ เผยตัวผ่านบทสนทนาธรรมดาในครัวและบนโต๊ะอาหารท่ามกลางอากาศร้อนอบอ้าว

โคเรเอดะใส่ความทรงจำบางส่วนของเขาไว้ในภาพยนตร์เรื่องนี้ ผ่านมุมมองของ ริวตะ ที่ทำให้เห็นถึงความทรงจำเจ็บปวดและความเย็นชาที่ได้รับจากครอบครัว แต่อีกแง่หนึ่งคือเรื่องราวหอมหวานในวัยเด็ก เช่น การบรรยายถึงกลิ่นหอมฟุ้งและเสียงปะทุของเทมปุระข้าวโพดที่แตกกระจายในกระทะ

เพลงสำคัญของเรื่องคือ Blue Light Yokohama โคเรเอดะหยิบมาจากความทรงจำส่วนตัวของเขากับแม่ และมีส่วนพ้องกับชื่อเรื่องเมื่อเนื้อเพลงบางส่วนพูดถึงการก้าวเดินต่อไป เป็นส่วนหนึ่งของภาพขยายจากภาพยนตร์ที่ดำเนินเรื่องในช่วงเวลาเพียง 2 วัน แต่ยังมีส่วนขยายอีกมากมายที่ผู้ชมจะไม่มีทางรู้ว่าแท้ที่จริงแล้วเรื่องราวที่เหลือของตัวละครเป็นอย่างไรกันแน่ เช่น ความสัมพันธ์ระหว่างพ่อกับแม่ของริวตะ เบื้องหลังเพลง Blue Light Yokohama ที่แม่ยกขึ้นมาเป็นเพลงโรแมนติก, ช่อดอกไม้ปริศนาบนหลุมศพ, บทสนทนาของลูกเลี้ยงของริวตะที่คุยกับพ่อที่เสียชีวิตไปแล้ว

เขากำกับภาพยนตร์เรื่องนี้หลังแม่เสียชีวิต และเป็นความตั้งใจของเขาเองที่จะไม่พูดถึงความตายอย่างเศร้าโศก แต่ต้องการบรรจุความทรงจำของครอบครัว โดยเฉพาะเรื่องราวของแม่ ตัวละครหญิงในเรื่องนี้จึงมีความสำคัญมาก โดยเฉพาะบทบาท ‘ความเป็นแม่’ ที่แตกต่างกันของตัวละครทั้งสาม คือ โทชิโกะ (คิริน คิกิ) แม่ของริวตะที่เอาแต่คิดคำนึงถึงลูกชายที่จากไป ซึ่งมีภาพจำความเป็นแม่เต็มเปี่ยม ทั้งขี้บ่น ทำอาหารเก่ง ใจดี ช่างเป็นห่วงคนในครอบครัว, ชินามิ (ยูคิโกะ เอฮาระ) ลูกสาวคนเดียวของครอบครัวซึ่งแต่งงานกับเซลล์ขายรถที่ดูไม่เอาไหน และพยายามให้ลูกๆ มาเอาใจตายายเพราะหวังจะย้ายมาอยู่ด้วย และ ยูคาริ (ยูอิ นัตสึคาวะ) สะใภ้คนใหม่ของบ้านที่สามีเก่าเพิ่งตายไปไม่กี่ปี ซึ่งต้องหาทางปกป้องลูกชายและยิ้มรับทุกคำพูดที่ครอบครัวสามีใหม่ดูถูก

Still walking

เมื่อพี่ชายเสียชีวิตลง ความคาดหวังทั้งหมดถูกโยนมาที่ ริวตะ ในฐานะลูกชายคนเดียวที่เหลืออยู่ เขาทำให้พ่อแม่ผิดหวังที่ไม่สืบทอดคลินิกของพ่ออย่างที่พี่ชายเคยมุ่งหมายก่อนเสียชีวิต เขาไม่มีการงานที่มั่นคง เขาแต่งงานกับหญิงม่ายที่พ่อแม่เขามองว่าเป็น ‘ของที่ไม่มีใครเอา’ ขณะที่พี่สาวของเขาที่ดูไม่เป็นโล้เป็นพาย กลับไม่ต้องเผชิญกับการบีบคั้นของพ่อแม่ที่ให้ความสำคัญกับลูกชายมากกว่า และมองว่าเป็นเรื่องธรรมดาที่ผู้หญิงต้องเป็นแม่บ้านในครอบครัว

ความขัดแย้งระหว่างชินามิกับพ่อแม่แทบจะไม่มี แต่กลับเข้ากันเป็นปี่เป็นขลุ่ยกับแม่โดยเฉพาะเวลาเข้าครัว ขณะที่ริวตะกับพ่อแทบไม่มองหน้ากัน การวางบทบาทชายเป็นใหญ่ของพ่อยิ่งทำให้ทิฐิของหัวหน้าครอบครัวพุ่งสูงและไม่ยอมลดรา แม้เมื่อเกษียณแล้วพ่อก็ยังทำตัวยุ่งตลอดเวลาในคลินิกอันทรงเกียรติที่ไม่ได้เปิดรักษาคนแล้ว

ริวตะต้องรับมือกับสภาพ ‘ลูกที่พ่อแม่ไม่โปรดปราน’ กระทั่งเรื่องดีๆ ที่เขาเคยทำในวัยเด็ก ก็ถูกพ่อแม่เล่าใหม่โดยใส่ชื่อพี่ชายแทนที่ชื่อของริวตะ ด้วยความรู้สึกที่ว่าลูกคนโตมีแต่เรื่องให้พ่อแม่ชื่นใจ ส่วนเรื่องเล่าของริวตะที่พ่อแม่จำได้มีเพียงเรื่องขายหน้าชวนตลกขบขัน

ความทรงจำ-ความคาดหวัง-ความเป็นจริง คือสิ่งที่อัดแน่นอยู่ในเรื่องนี้ และเป็นสิ่งที่ไม่เคยไปด้วยกันได้ อยู่ที่ว่ามนุษย์แต่ละคนจะเลือกให้น้ำหนักสิ่งใดมากกว่ากัน

ถ้าเลือกผิดก็มีแต่จะทำลายตัวเองและคนรอบข้าง

ความทรงจำมนุษย์เป็นสิ่งประหลาด เช่นที่พ่อแม่ของริวตะพึงพอใจที่จะโอบกอดความทรงจำอันบิดเบี้ยวเพื่อความสบายใจของตัวเอง กระทั่งเมื่อริวตะท้วงติงว่าความทรงจำนั้นผิดไปจากข้อเท็จจริง เขาก็ได้รับคำตอบว่า “มันสำคัญด้วยเหรอ”

ใช่ ความทรงจำเป็นเรื่องส่วนตัว แต่ความทรงจำที่บิดเบี้ยวก็สามารถสร้างประสบการณ์เลวร้ายให้ชีวิตคนคนหนึ่งเปลี่ยนแปลงได้

Still walking

Still Walking สะท้อนภาพความเป็นครอบครัวอย่างเป็นธรรมชาติ ไม่ใช่ ‘ครอบครัว’ อย่างที่เราอยากเห็น ประเภทที่ว่าทุกคนอยู่ด้วยความรักความอบอุ่น หรือในทางตรงกันข้ามคือครอบครัวแหลกเหลวดึงดราม่าสุดทางน้ำตาท่วมจอ แต่เป็นครอบครัวที่มีปัญหาซ่อนอยู่ในทุกตัวละคร มีรอยร้าวฉานที่ทุกคนอยากหลีกเลี่ยงและกลบเกลื่อนด้วยบทสนทนาธรรมดาบนโต๊ะกับข้าว ปกปิดเรื่องที่เจ็บปวดที่สุดในชีวิตด้วยการทำให้มันกลายเป็นสิ่งธรรมดาในประโยคสนทนาระหว่างช่วยกันทำอาหาร

เพราะไม่อยากขยายรอยร้าว การพูดคุยถึงปัญหาอย่างตรงไปตรงมาจึงไม่เกิดขึ้น แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีที่ทางให้ได้ปลดปล่อยความอัดอั้นตันใจ เมื่อปัญหาจะถูกระบายกับบุคคลที่ 3 และส่งต่อข้อความกันไปจนกลายเป็นเสียงกระซิบกระซาบสะท้อนไปมาในครอบครัว

อาจมองได้ว่าเป็นทั้งข้อดีและข้อเสีย เมื่อคำว่า ‘ครอบครัว’ ทำให้เราพร้อมจะไกล่เกลี่ยกัน ประนีประนอมเพื่อให้ความสัมพันธ์คงอยู่อย่างราบรื่น แต่บางครั้งกลับทำให้ปัญหาถูกเก็บซ่อน ไม่ถูกหยิบมาพูดถึง และผู้ที่ถูกกระทำในครอบครัวก็ต้องกล้ำกลืนยอมแบกความทุกข์ไว้ เพียงเพราะไม่อยากทำให้ความสัมพันธ์พังทลาย หรือไม่ก็ต้องปลีกตัวหนีหายไปจากสภาวะกล้ำกลืนนี้ พร้อมถูกต่อว่าเรื่องการเป็นคนทำให้ครอบครัวไม่สามารถ ‘อยู่พร้อมหน้า’ ได้

ริวตะเป็นผู้รับบทบาทนี้ ในฐานะ ‘ลูกผู้ชาย’ ที่ไม่ประสบความสำเร็จอย่างที่พ่อแม่หวัง

Still walking

คล้ายว่าริวตะเป็นเพียงคนเดียวในบ้านที่ดำเนินชีวิตผิดพลาด แต่เปล่าเลย ทุกคนมีจุดบอดและความผิดพลาดกันทั้งสิ้น

“เราเป็นมนุษย์ธรรมดา”

ประโยคที่ริวตะพูดแย้งพ่อ เมื่อพ่อคิดว่าคนที่สมควรตายควรจะเป็นเจ้าเด็กอ้วนที่ใช้ชีวิตแบบ ‘ขยะ’ ที่ลูกชายคนโตของเขาไปช่วยชีวิตไว้และเป็นเหตุการณ์ที่ทำให้ชายหนุ่มจบชีวิต

ประโยคแสนเรียบง่ายกะเทาะทุกปัญหาที่โอบรัดครอบครัวไว้

เราเป็นมนุษย์ธรรมดา ไม่อาจควบคุมชีวิตคนอื่น

เราเป็นมนุษย์ธรรมดา ที่ทำผิดพลาดได้ง่ายดาย

เราเป็นมนุษย์ธรรมดา ที่มีความทรงจำทั้งดีและเลว

เราเป็นมนุษย์ธรรมดา ที่อยากมีความสุข

เราเป็นมนุษย์ธรรมดา ที่ต้องเดินต่อไปข้างหน้าไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น

ความหมายของ ‘ความเข้มแข็ง’ ในการใช้ชีวิตอาจไม่ใช่เรื่องราวการฝ่าฟันอุปสรรคใหญ่โตอะไร แต่คือการเดินหน้าใช้ชีวิตต่อไปโดยไม่หยุดจมอยู่กับเรื่องราวที่ผ่านไปแล้ว เพราะทั้งความทรงจำที่ดีและเลวก็ฉุดขาเราไม่ให้เดินสู่ฉากต่อไปของชีวิตได้ไม่ต่างกัน

แต่ก็นั่นแหละ เพราะเราเป็นมนุษย์ธรรมดา เปราะบางและผิดพลาดได้ง่ายดาย ไม่ใช่ทุกคนที่จะก้าวเท้าเป็นจังหวะสม่ำเสมอได้ตลอดทาง

เหนื่อยก็หยุดพัก ไหวก็ไปต่อ

Still Walking ฉายภาพหมู่บ้านริมทะเลแสนเงียบสงบที่มีปัญหานานาซ่อนอยู่ เมื่อดูเรื่องนี้จบแล้วทำให้รู้สึกสงบอย่างประหลาด แม้จะเต็มไปด้วยความทรงจำร้าวระทม การปะทะ ความขัดแย้ง แต่ที่สุดแล้วเมื่อขมวดปมถึงธรรมชาติของชีวิต การผลัดเปลี่ยนรุ่นคน และการก้าวเดินต่อ ทุกอย่างก็คลี่คลายเหมือนหนึ่งวันธรรมดาในชีวิต

ถึงอย่างไรก็ต้องเดินต่อไป

Still walking

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

22 Feb 2022

คราฟต์เบียร์และความเหลื่อมล้ำ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เขียนถึงอุตสาหกรรมเบียร์ไทย ที่ผู้ประกอบการคราฟต์เบียร์รายเล็กไม่อาจเติบโตได้ เพราะติดล็อกข้อกฎหมาย และกลุ่มทุนที่ผูกขาด ทั้งที่มีศักยภาพ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

22 Feb 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save