fbpx
ฟื้นความหลัง เรื่อง 'เสฐียรโกเศศ'

ฟื้นความหลัง เรื่อง ‘เสฐียรโกเศศ’

กษิดิศ อนันทนาธร เรื่อง

ย้อนไปกว่า 60 ปีก่อน มีนักเรียนอัสสัมชัญคนหนึ่งเป็นนักอ่านตัวยง สนใจประวัติศาสตร์ ภาษา และเรื่องเก่าๆ และเป็นแฟนหนังสือของ ‘เสฐียรโกเศศ’ นักเขียนมีชื่อในยุคนั้น  เขาไปเดินดูหนังสือที่ร้านของหอสมุดแห่งชาติ ถามหาหนังสือของเสฐียรโกเศศจากคนขาย เมื่อคนที่ร้านหยิบหนังสือที่หน้าปกเขียนชื่อพระยาอนุมานราชธนมาให้ดู  เด็กหนุ่มกลับปฏิเสธ บอกว่าเขาต้องการหนังสือของ ‘เสฐียรโกเศศ’ ไม่ใช่หนังสือ ‘พระยาอนุมานราชธน’

จำเนียรกาลผ่านมาถึงปัจจุบัน ก็คงมีคนจำนวนไม่น้อยที่ไม่รู้ว่า ‘เสฐียรโกเศศ’ เป็นนามปากกาของ ‘พระยาอนุมานราชธน’  ยิ่งในยุคนี้ด้วยแล้ว ไม่สู้จะแน่ใจว่าชื่อใดจะเป็นที่รู้จักมากกว่ากัน หรืออาจจะไม่เป็นที่รู้จักแล้วทั้งสองนามเลยก็ได้

นี่นับว่าน่าเสียดาย เพราะพระยาอนุมานราชธนมีชีวิตหลายมิติหลายแง่มุมที่น่าสนใจ รับราชการไต่เต้าในกรมศุลกากร จนหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองได้มาทำงานในกรมศิลปากรจนได้เป็นอธิบดี มีส่วนในสถานศึกษาหลายแห่ง โดยเฉพาะที่มหาวิทยาลัยศิลปากร ซึ่งได้เป็นผู้อำนวยการคนแรก ฯลฯ มีผลงานหนังสือหลายร้อยเล่ม และเมื่อมีชาตกาลครบศตวรรษ องค์การ UNESCO ยังได้ประกาศยกย่องให้เป็นบุคคลสำคัญของโลก ซึ่งนับเป็นสามัญชนไทยคนแรกที่ได้รับเกียรติเช่นนี้

ในโอกาสที่พระยาอนุมานราชธน มีอายุครบ 13 ทศวรรษ ในวันที่ 14 ธันวาคม ที่ผ่านมา  ผมได้รับเชิญจากหอสมุดแห่งชาติ ให้ไปชวน ‘ส. ศิวรักษ์’ มาร่วมงานเสวนา อัสสัมนิกคนนั้น ผู้ซึ่งเคยปฏิเสธไม่ซื้อหนังสือของพระยาอนุมานราชธน เพราะต้องการอ่านแต่ของ ‘เสฐียรโกเศศ’ ซึ่งในเวลาต่อมาได้เป็นลูกศิษย์ใกล้ชิด และขับเคลื่อนมูลนิธิเสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป มาตราบจนทุกวันนี้

เนื้อหาต่อไปนี้เรียบเรียงจากการเสวนาในงาน 130 ปี พระยาอนุมานราชธน และวาระครบรอบ 50 ปีของห้องสมุดอนุมานราชธน

พระยาอนุมานราชธน
พระยาอนุมานราชธน (14 ธันวาคม 2431 – 1 กรกฎาคม 2512) ภาพจาก https://th.wikipedia.org/

กษิดิศ: ผมรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้รับเชิญจากสำนักหอสมุดแห่งชาติ มาร่วมอภิปรายในงาน 130 ปี พระยาอนุมานราชธน รวมถึงเป็นวาระครบรอบ 50 ปีของห้องสมุดอนุมานราชธน ที่นี่ด้วย

ในฐานะคนรุ่นหลัง ผมรู้สึกว่าพระยาอนุมานราชธนค่อนข้างห่างไกลจากชีวิตพวกเรามาก  สมัยเด็กๆ ผมจำได้ว่าเรื่อง กามนิต หรือ วาสิฏฐี  เราไม่ได้เรียนกันแล้ว  สำหรับพวกเรา พระยาอนุมานราชธนเป็นใครก็ไม่รู้ เป็นชื่อขุนนางโบราณๆ อะไรสักอย่างในความทรงจำ

ครั้งแรกที่ผมรู้จักท่าน รู้จักในฐานะนักเขียนชื่อ เสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป เพราะเห็นหนังสือ อาหรับราตรี ที่พี่สาวซื้อมา รู้สึกว่าชื่อคนเขียนเท่ดี ชื่อ เสฐียรโกเศศ นามสกุล นาคะประทีป  โดยไม่รู้เลยว่าเป็นคนสองคน จนกระทั่งเมื่อเข้ามหาวิทยาลัยถึงได้รู้จักจากการอ่านหนังสือต่างๆ

ทีนี้ อยากถามอาจารย์สุลักษณ์ว่า ใครคือ ‘เสฐียรโกเศศ’ หรือพระยาอนุมานราชธน

สุลักษณ์: เมื่อพระยาอนุมานราชธนถึงแก่อนิจกรรมครบ 1 เดือน อาจารย์แม้นมาส ชวลิต ซึ่งเวลานั้นเป็นบรรณารักษ์หอสมุดแห่งชาติ เชิญผมมาพูดที่นี่ ผมตั้งหัวข้อว่า ‘พระยาอนุมานราชธน สามัญชนหรืออัจฉริยะ’ ต้องขอชมว่าปาฐกถานั้นดีมาก (ชมตัวเองครับ ฮา)

ผมอยากจะตอบคำถามของกษิดิศ โดยใช้คำของวิลเลียม เก็ตนีย์ ที่ผมแปลมาตั้งแต่แสดงปาฐกถาชิ้นนั้น

แต่เดี๋ยวนี้ คนก็ไม่รู้สึกแล้วว่า วิลเลียม เก็ตนีย์ เป็นใคร  เก็ตนีย์เป็นอเมริกันรุ่นแรกที่เข้ามาศึกษาเรื่องเมืองไทยหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 และเป็นฝรั่งอเมริกันคนเดียวที่รู้เรื่องวัฒนธรรมไทยลึกซึ้งที่สุดในเวลานั้น โดยเขาได้ศึกษาภาษาไทถิ่นต่างๆ เพื่อแสวงหาว่าภาษาไทมีรากเหง้าต้นตออยู่ที่ใด เขาต้องการจะมีชื่อเสียงในทางนี้ แต่เขาปรารภกับผมว่า เกรงว่าเขาจะเป็นที่รู้จักในเมืองไทย เพียงเพราะเป็นพ่อเลี้ยงของ จิตร ภูมิศักดิ์ เท่านั้น  เมื่อเรียนหนังสือที่ Yale University เก็ตนีย์ทำวิจัยเกี่ยวกับอิทธิพลของภาษาสันสกฤตมาสู่ภาษาไทย เสร็จแล้วไม่ยอมกลับ แม้ว่าทางมหาวิทยาลัยเลิกให้ทุน เกตนีย์ก็อยู่ศึกษาหาความรู้ต่อ จนมารู้จักพระยาอนุมานราชธน ม.จ.พูนพิศมัย และ ม.จ.พิไลยเลขา ดิศกุล ฯลฯ  เกตนีย์แม่นยำในเรื่องวัฒนธรรมไทยไม่มีใครสู้ ซึ่งเขาได้พูดถึงพระยาอนุมานราชธนไว้อย่างจับใจผมมาก ดังนี้

“พระยาอนุมานราชธนอยู่ในสถานะ หรือที่ถูก ได้สร้างตัวเองขึ้นมาจนอยู่ในสถานะที่ไม่เหมือนใคร โดยเฉพาะในด้านวิชาศิลปวิทยาการของไทย ทั้งนี้ก็เพราะท่านไม่ได้รับการศึกษาขั้นมหาวิทยาลัย แต่วิชาความรู้ของท่านทำให้อาจารย์รุ่นหลังและนิสิตนักศึกษาต้องสยบแทบเท้าของท่าน และยกย่องท่านว่าเป็นศาสตราจารย์ชั้นยอดเยี่ยมคนหนึ่ง อันพึงได้รับความเคารพสักการะ  

“ในด้านวิชามานุษยวิทยา ท่านก็หาได้รับคำสั่งสอนมาจากผู้ใดไม่ แต่ก็ไม่มีใครอื่นที่ให้ความรู้เกี่ยวกับขนบธรรมเนียมประเพณีดีไปยิ่งกว่าท่าน  

“ในทางด้านภาษาและวรรณคดี ท่านก็มิได้ศึกษาเล่าเรียนมาโดยเฉพาะ แต่ใครก็ตามที่ประสงค์จะเอาจริงเอาจังกับวิชานิรุกติศาสตร์และวรรณกรรมไทย ย่อมจะศึกษาไปได้ไม่ไกล เว้นไว้แต่จะได้พึ่งผลงานของพระยาอนุมานราชธนในด้านนี้  

“ท่านเองมิได้รับการศึกษามาจากอัสดงคตประเทศ แต่จะมีใครนำความรู้ของตะวันตกมาเผยแพร่ความรู้อย่างกว้างขวางในหมู่คนไทยยิ่งไปกว่าพระยาอนุมานราชธนก็หามีไม่  

“ทั้งๆ ที่งานเขียนของท่านก็มิได้ระดับประเภทตลาด แต่จะหานักเขียนอาชีพที่แสวงหาคนอ่านปริมาณมากๆ คนใดที่เขียนได้เช่นท่านก็เห็นจะยาก ไม่ว่าจะในทางลีลาการเขียน หรือการแสวงหาคำคมอันแทรกไปด้วยอารมณ์ขัน  

“และที่น่าอัศจรรย์ยิ่งไปกว่านั้น ก็ตรงที่ถ้าสืบสาวกันขึ้นไปแล้ว  ท่านผู้นี้ก็มิได้มีโคตรตระกูลเป็นไทยแท้ แต่จะมีใครอีกเล่าที่อุทิศตนให้แก่ประเพณีไทย ประวัติศาสตร์ไทย วรรณคดีและภาษาไทยยิ่งไปกว่าพระยาอนุมานราชธน[1]

ที่เกตนีย์สรุปสำคัญมาก เขาเป็นคนตามีแวว อ่อนน้อมถ่อมตน และเห็นความเป็นเลิศของพระยาอนุมานราชธนอย่างที่ไม่มีใครเปรียบเทียบได้

พระยาอนุมานราชธน อายุได้ 3 เดือน โดยมีนางเฮียะ มารดา เป็นผู้อุ้ม
ภาพแรกในชีวิต ถ่ายเมื่อพระยาอนุมานราชธน อายุได้ 3 เดือน โดยมีนางเฮียะ มารดา เป็นผู้อุ้ม ภาพจาก เสฐียรโกเศศ. อัตชีวประวัติของพระยาอนุมานราชธน. พิมพ์ครั้งที่ 7 (กรุงเทพฯ: ศยาม, 2547).

พระยาอนุมานราชธน เรียนหนังสือจบเพียงมัธยม 4 โรงเรียนอัสสัมชัญ ตอนนั้นทางบ้านมีปัญหาด้านทุนทรัพย์ ต้องให้ท่านออกมาทำงาน ท่านทำงานครั้งแรกเป็นเสมียนโรงแรมโอเรียลเต็ล  แปลกที่โรงแรมโอเรียลเต็ลชอบยกย่องฝรั่งต่างๆ ที่เคยมาอาศัย แต่กลับไม่ยกย่องพระยาอนุมานราชธน

ต่อมาเมื่อมีพระราชบัญญัติเกณฑ์ทหารขึ้นในรัชกาลที่ 5  ถ้าไม่ถูกเกณฑ์ทหารก็ต้องรับราชการ ท่านจึงสมัครเป็นราชการที่กรมศุลกากร เพื่อเลี่ยงการเป็นทหาร มาทำงานเป็นเสมียน อาศัยที่รู้ภาษาอังกฤษดี ได้ตำแหน่งช่วยงานที่ปรึกษากรมศุลกากรชาวอังกฤษ

ต้องไม่ลืมว่า เมืองไทยตอนนั้นถึงแม้จะไม่เสียอิสรภาพกับฝรั่ง แต่เราเสียสิทธิสภาพนอกอาณาเขต ยกตัวอย่างคนที่ถือสัญชาติอังกฤษ ฝรั่งเศส ไม่ต้องขึ้นศาลไทย รวมไปถึงคนอินเดีย ประเทศเมืองขึ้นของอังกฤษ อีกทั้งจีน ฮ่องกง พม่า มาเลย์ ญวน เขมร ไม่ต้องขึ้นศาลไทย  เราเป็นเหมือนลูกเมียน้อย เก็บภาษีก็ได้เพียงร้อยชักสาม

ราชการที่เกี่ยวข้องกับต่างประเทศในสมัยนั้น อธิบดีเป็นคนไทย แต่ก็ต้องมีที่ปรึกษาเป็นฝรั่ง  ที่ปรึกษาสำคัญของกรมศุลกากรคือนอแมน แม็กซ์เวล เขาเห็นพระยาอนุมานราชธนมีแวว แม้จบเพียงมัธยม 4  ก็เลยสอนภาษาอังกฤษเพิ่มให้จนท่านแตกฉาน  แม็กซ์เวลอยู่เมืองไทยนาน เมื่อเกษียณกลับไปอังกฤษ มีคนถามว่าในบรรดาคนไทยทั้งหมดที่รู้จักมา เห็นว่าใครที่ฉลาดปราดเปรื่องที่สุด นายแม็กซ์เวลบอก “นายยง เสฐียรโกเศศ” คนตามีแววก็จะเห็นแววซึ่งกันและกัน

ใบพระราชทานนามสกุล 'เสฐียรโกเศศ'
ใบพระราชทานนามสกุล ‘เสฐียรโกเศศ’ แก่ขุนอนุมานราชธน (ยง) ภาพจาก เสฐียรโกเศศ. ฟื้นความหลัง เล่ม 2. พิมพ์ครั้งที่ 2 (พระนคร: ศึกษิตสยาม, 2515)

และที่ปรึกษาอีกคน วิลเลียม นันท์ ตอนท้ายกลับอังกฤษสมัครเป็น ส.ส. ก็บอกอีกว่านายยงเป็นคนมีแวว เขาพยายามสอนนายยงเรื่องการบ้านการเมือง นายยงไม่เอาเลย เขาเสียใจมาก แต่หารู้ไม่ว่า พระยาอนุมานราชธนสนใจการเมืองมาก แต่ท่านรู้ว่าสมัยนั้นเป็นสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ออกความเห็นเรื่องการเมืองไม่ได้  แม้วิชาเศรษฐศาสตร์ก็ห้ามสอน

ในสมัยรัชกาลที่ 6  พระยาสุริยานุวัตร (เกิด บุนนาค) ซึ่งเป็นหลานสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ (ทัต) เป็นนักเรียนอังกฤษ อดีตราชทูตที่ฝรั่งเศส อดีตเสนาบดีกระทรวงพระคลัง แต่งหนังสือ ทรัพยศาสตร์ ขึ้น อธิบายเศรษฐศาสตร์เบื้องต้น  รัชกาลที่ 6 กริ้วมาก ถึงกับสั่งห้ามเรียนเศรษฐศาสตร์ เพราะวิชานี้สอนว่าคนรวยเอาเปรียบคนจนอย่างไรบ้าง

แต่พระยาอนุมานราชธนท่านแอบเรียนเศรษฐศาสตร์ ความข้อนี้ คุณบุญชนะ อัตถากร เล่าให้ผมฟัง ท่านเจ้าคุณเห็นคุณชนะมีแวว จึงสอนเศรษฐศาสตร์ให้ พร้อมกำชับว่าอย่านำไปแพร่หลาย เพราะอาจจะถูกจับได้ง่ายๆ

จุดเด่นจุดด้อยของท่านคือ ท่านต้องการรู้ความจริง แต่ท่านมีความจำเป็นในการเอาตัวรอดสูงมาก  หากเมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 แล้ว ท่านก็ถูกให้ออกจากราชการ เป็นเหตุให้ท่านเสียใจมาก  หลังจากมีกรมศิลปากรเกิดขึ้นตามแนวคิดของหลวงวิจิตรวาทการ ท่านจึงกลับมารับราชการที่กรมนี้ ซึ่งเป็นกรมใหม่ในเวลานั้น กล่าวคือหลวงวิจิตรฯ ต้องการจะสร้างวัฒนธรรมใหม่เพื่อจะโจมตีวัฒนธรรมเก่า

หลวงวิจิตรวาทการบวชที่วัดมหาธาตุ ก็รังเกียจพวกธรรมยุต รังเกียจพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  หลวงวิจิตรฯ เลยเกิดไอเดีย ให้เลิกใช้คำว่า ‘สยาม’ เพราะสยามเป็นคำที่พระจอมเกล้าฯ คิดขึ้นมา  คำว่า ‘ไทย’ ที่เราใช้ทุกวันนี้ หลวงวิจิตรวาทการก็เป็นคนคิด

กรมศิลปากรมีหน้าที่ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงเพื่อเสนอแนวชาตินิยมแบบใหม่ทั้งสิ้น โขนละครถูกปรับปรุง ปู้ยี่ปู้ยำหมด แต่เมื่อพระยาอนุมานฯ ถูกไล่ออกจากราชการ หลวงวิจิตรฯ ชวนมาทำงานด้วย  เราต้องไม่ลืมว่า พระยาอนุมานฯ เคยเป็นผู้ช่วยอธิบดีมาแล้ว หลวงวิจิตรฯ ชวนมาเป็นหัวหน้ากองหอสมุด  ท่านทำงานอยู่สักพัก สุดท้ายหลวงวิจิตรฯ ก็จะให้ท่านออก เพราะอิจฉาท่าน

แต่ท่านมีเพื่อนเยอะ เพื่อนท่านคนหนึ่งใกล้ชิดจอมพล ป. คือ พระราชธรรมนิเทศ (เพียร) ผู้ซึ่งเป็นคนที่สอนราชธรรม เป็นหัวหน้ากองอนุศาสนาจารย์ของกรมการศาสนา พระราชธรรมฯ เก่งภาษาอังกฤษ เคยเป็นเลขานุการสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ต่อมาเป็นเลขาคนโปรดของ จอมพล ป. พระราชธรรมฯ บอกจอมพล ป. เรื่องพระยาอนุมานฯ จอมพล ป. จึงให้พระยาอนุมานฯ มาทำงานที่สำนักนายกรัฐมนตรี เป็นที่ปรึกษานายกฯ กินชั้นพิเศษเลย

อัตชีวประวัติของพระยาอนุมานราชธน
ที่โต๊ะทำงาน กองรายงาน กรมศุลกากร ภาพจาก เสฐียรโกเศศ. อัตชีวประวัติของพระยาอนุมานราชธน. พิมพ์ครั้งที่ 7 (กรุงเทพฯ: ศยาม, 2547).

กษิดิศ: จุดแบ่งระหว่างพระยาอนุมานราชธนกับหลวงวิจิตรวาทการคืออะไร แม้ว่าทั้งคู่จะทำงานกับจอมพล ป. เหมือนๆ กัน ทำไมอาจารย์สุลักษณ์คิดว่าคนหนึ่งเป็นคนเคารพนับถือได้ อีกคนเป็นคนกะล่อน

สุลักษณ์: หลวงวิจิตรวาทการมีความคิดมักใหญ่ใฝ่สูง เห็นว่าความสำเร็จในชีวิตเป็นของดี อะไรก็ตามต้องให้มีความสำเร็จ ความสำเร็จของหลวงวิจิตรฯ หมายถึงความทะเยอทะยาน ชีวิตเขาเต็มไปด้วยความทะเยอะทะยาน ตั้งแต่บวชอยู่วัดมหาธาตุแล้ว กระทั่งได้มาทำงานอยู่กระทรวงการต่างประเทศ ไปฝรั่งเศส ได้เมียฝรั่ง เพื่อจะได้มีความรู้การเขียน ประวัติศาสตร์สากล เล่มต่างๆ เป็นความคิดของมาดามวิจิตรฯ พอเสร็จกิจได้ดิบได้ดีแล้วก็ทิ้งเมีย มาอยู่กรมศิลปากรได้นางละครสวยๆ เป็นคุณหญิงวิจิตรวาทการนั้นแล

หลวงวิจิตรฯ ประจบจอมพล ป. เจอหน้าถึงกับก้มลงกราบ เรื่องนี้ผมไม่ได้ปรักปรำ อาจารย์ปรีดี พนมยงค์เล่าให้ผมฟังเองเลย เจอแบบนี้จอมพล ป. ก็หลงคำประจบ เปลี่ยนชื่อ ‘สยาม’ เป็น ‘ไทย’ ก็เพราะหลวงวิจิตรฯ เป็นตัวตั้งตัวตีทั้งนั้น พอสิ้นจอมพล ป. หลวงวิจิตรฯ ก็มาอยู่กับ จอมพลสฤษดิ์ ถึงขั้นยกลูกสาวให้ เพราะสฤษดิ์ชอบมีเมียเยอะๆ  คิดว่าคนแบบนี้คบได้หรือไม่

คนสมัยนี้อาจไม่เห็นความเลวร้ายก็ได้ คนที่เขียนหนังสือเก่ง มอมเมาคนได้ง่าย (1) ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมทช  (2) หลวงวิจิตรวาทการ ซึ่งเป็นคนที่มอมเมาคนไม่เห็นคุณธรรม  คึกฤทธิ์ก็มอมเมาคนให้เห็นว่าศักดินาสูงส่ง ชาวบ้านไม่มีความหมาย ไอ้เรื่อง สี่แผ่นดิน ก็เป็นนวนิยายที่มอมเมาคนอย่างเลวร้ายสุดๆ แต่คนก็พากันติดงอมแงม เพราะเขาเขียนเก่ง

พระยาอนุมานฯ ไม่เคยเขียนหนังสือมอมเมาใครเลย เขียนหนังสือในทางวิชาการเท่านั้นเอง แม้สมัยอยู่กับจอมพล ป. แล้วบังคับไม่ให้กินหมาก บังคับให้ท่านออกวิทยุ ตอนนั้นท่านมีชื่อมาก ท่านพยายามพูดเลี่ยงเรื่องการกินหมาก ในทางอักษรศาสตร์คือความเอาตัวรอดของท่าน ท่านไม่มีความชั่วร้าย พยายามหลีกเลี่ยงความชั่วร้าย

อัตชีวประวัติของพระยาอนุมานราชธน
พระยาอนุมานราชธน ฉายหน้ากรมศุลกากร ขณะเขียน ฟื้นความหลัง ภาพจาก เสฐียรโกเศศ. ฟื้นความหลัง เล่ม 2. พิมพ์ครั้งที่ 2 (พระนคร: ศึกษิตสยาม, 2515)

กษิดิศ: การหลีกเลี่ยงความชั่วร้าย เพื่อรักษาเอาตัวรอดของพระยาอนุมานราชธน แบ่งเส้นยังไงกับการกลิ้งแบบไม่มีจุดยืน

สุลักษณ์: ทางศาสนาพุทธมีคำว่า ‘อุปายโกศล’ คุณต้องเลือกเดินให้ถูกทาง เมื่อพลังคุณธรรมของเราไม่สูง ก็ต้องรู้จักบันยะบันยังไว้ พระยาอนุมานฯ รู้จักบันยะบันยัง ไม่เอาหัวชนฝา ไม่กราบกรานสวามิภักดิ์พวกอธรรม อยู่กลางๆ ผิดกับพระสารประเสริฐ (ตรี นาคะประทีป) ที่อ่อนกว่าพระยาอนุมานแค่ปีเดียว แต่คนละขั้วกันเลย พระสารประเสริฐด่าจอมพล ป. เสียไม่มีดี ด่าทุกเม็ด ผลก็คือ พระสารประเสริฐถูกไล่ออก จอมพล ป. จับขังคุก พระยาอนุมานฯ ไปขอร้องจอมพล ป. บอกว่า “พระสารประเสริฐท่านเป็นคนไม่มีอะไรหรอก เมาแล้วก็พูดเลอะเทอะไปเท่านั้นเอง” เรื่องนี้พระสารประเสริฐนับถือพระยาอนุมานฯ เอามากๆ อ่อนกว่ากันปีเดียว แต่เคารพนับถือยิ่งกว่าพี่ในไส้ ความเป็นมิตรของทั้งสองคนเป็นตัวอย่างมิตรอันประเสริฐเลย

กษิดิศ: คนจะรู้จักพระยาอนุมานจากงานเขียนเป็นหลัก เหมือนผมรู้จัก เสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป อาจารย์สุลักษณ์บอกว่าพระยาอนุมานราชธน (เสฐียรโกเศศ) กับพระสารประเสริฐ (นาคะประทีป) ต่างกันมาก อะไรเป็นจุดให้ทั้งคู่ทำงานด้วยกัน ทั้งๆ ที่มีพื้นนิสัยต่างกัน

สุลักษณ์: เจ้าคุณอนุมานฯ ถือว่ามิตรภาพสำคัญที่สุด ท่านไม่ตัดสินเพื่อน พระสารประเสริฐขี้เมามาก พระยาอนุมานฯ ไม่ดื่มสุราเลย แต่ท่านไม่เคยโจมตีพระสารประเสริฐ เพื่อนท่านหลายคนกินเหล้าเมายาเที่ยวผู้หญิง ท่านไปกับเพื่อน แต่ท่านไม่เที่ยวผู้หญิง เพราะท่านกลัวโรคสำหรับบุรุษ สมัยก่อนยังไม่มีอุปกรณ์ป้องกัน ท่านกลัว และเห็นโทษมาแล้ว ใครจะเที่ยวผู้หญิง กินเหล้า เล่นการพนัน ท่านวางตัวด้วยความเคารพทุกคน

พระสารประเสริฐ (ตรี นาคะประทีป)
พระสารประเสริฐ (ตรี นาคะประทีป) ภาพจาก กรมศิลปากร

กษิดิศ: อาจารย์สุลักษณ์เล่าให้เห็นภาพพระยาอนุมานราชธนในหลายแง่มุม การทำงาน การเมือง งานเขียน มีเกร็ดอันหนึ่งที่น่าสนใจมาก หนังสือเล่มแรกที่อาจารย์สุลักษณ์ซื้อเมื่อเป็นนักเรียนอัสสัมชัญ ชื่อ ลัทธิของเพื่อน ของเสฐียรโกเศศ ตอนนั้นนึกยังไงถึงเก็บเงินซื้อหนังสือเล่มนั้นเป็นสมบัติส่วนตัว มันดูไม่น่าสนุกเลย

สุลักษณ์: สมัยผมเป็นเด็ก ไม่มีโทรทัศน์ วิทยุก็มีสถานีเดียว (ถ้าใครยึดได้ รัฐประหารก็สำเร็จ) พระยาอนุมานฯ ออกวิทยุประจำ ที่ออกเสมอๆ ก็ หิโตปเทศ  พูดถึงการสร้างมิตร ผลงานชิ้นแรกที่ทำงานร่วมกับพระสารประเสริฐ สองคนนี้รู้จักกันเพราะพระยาอนุมานฯ มีความรู้ภาษาอังกฤษ ความรู้บาลีสันสกฤตน้อย ในขณะที่พระสารประเสริฐบาลีแตกฉาน แต่อยากเรียนภาษาอังกฤษ สองคนนี้มารู้จักกันแต่ไม่ได้เรียนภาษาด้วยกัน มาช่วยกันแปลหนังสือ ทั้งสองคนเอื้อเฟื้อเกื้อกูลซึ่งกันและกัน ไม่มีอิจฉาริษยากันเลย

ยกตัวอย่าง กามนิต เป็นหนังสือที่ทั้งสองท่านแปลร่วมกัน เขียนครั้งแรกโดยนักเขียนชาวเดนิช Karl Adolph Gjellerup เขียนเป็นภาษาเยอรมัน ได้รับรางวัลโนเบลด้านวรรณคดี  ในเมืองไทย กามนิต ถือเป็นวรรณคดีหลัก ผมพยายามแสวงหาฉบับภาษาอังกฤษอ่าน เมื่อผมไปอยู่อังกฤษ (หนีรัฐบาลหอยไป) ไปเจอ กามนิต ฉบับภาษาอังกฤษที่พุทธสมาคม กรุงลอนดอน ดีใจมาก ทีหลังผมไปสอนหนังสือที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอเนีย เบิร์กเลย์ ก็ไปได้ต้นฉบับภาษาอังกฤษที่นั่นอีก ผมให้สำนักพิมพ์ศึกษิตสยามตีพิมพ์ภาษาไทยและอังกฤษ พระฝรั่งเผอิญมาอ่านพอดี ท่านถึงกับเอ่ยว่าเป็นนวนิยายพุทธที่ดีที่สุด บัดนี้ลูกหลานพระยาอนุมานฯ กำลังตีพิมพ์ต้นฉบับภาษาเยอรมันกับไทย จะออกสู่บรรณพิภพเร็วๆ นี้

หากพูดถึง ลัทธิของเพื่อน ตามลักษณะของพระยาอนุมานฯ ถ้าสนใจอะไรแล้วจะต้องหาความรู้ให้แตกฉาน ท่านรู้ว่าตัวเองจบเพียง ม.4 ท่านก็รู้ว่าพวกบาทหลวงคริสตัง (คาทอลิก) อยู่โรงเรียนอัสสัมชัญสอนอย่างไรบ้าง ไปจนถึงคริสเตียน (โปรเตสแตนท์) เอามาเปรียบเทียบกับพุทธ และศึกษากับพุทธ ลัทธิของเพื่อน ท่านเขียนเป็นตอนๆ อะไรที่ท่านไม่รู้ก็ขอให้คนช่วยแปล เช่นเรื่อง จับโป๊ยหล่อฮั่น  แล้วก็มีคนขอให้ท่านพิมพ์แจกตามงานต่างๆ ผมอ่านแล้วรู้สึกสนุก จะว่าไปหนังสือเล่มนี้ทำให้ผมเปิดกว้างเกี่ยวกับศาสนาอื่นๆ เป็นอิทธิพลทางอ้อม

อาจารย์พุทธทาสสอนให้เรานับถือศาสนาของเพื่อน อย่าไปดูถูกศาสนาอื่น ผมว่า ลัทธิของเพื่อน มีหลัก ท่านตั้งใจใช้คำว่า ‘ลัทธิ’ ไม่ใช่ ‘ศาสนา’ ศาสนาคือตัวหัวใจของคำสอน ครั้งแรกผมไปเห็นหนังสือขายอยู่ที่ 50 บาท ผมบอกคนขายเลยว่าจะเอาเล่มนี้ ให้เก็บไว้ให้ก่อน แล้วไปเก็บเงินมาซื้อ

อัตชีวประวัติ พระยาอุนมานราชธน
พ่อกอลัมเบต์ นั่งเก้าอี้คนที่ 4 จากซ้าย ภราดาฮีแลร์ยืนแถวหน้าซ้ายมือสุด และถัดไปคนที่ 5 คือพระยาอนุมานราชธน ภาพจาก เสฐียรโกเศศ. ฟื้นความหลัง เล่ม 1. พิมพ์ครั้งที่ 2 (พระนคร: ศึกษิตสยาม, 2513)

กษิดิศ: ตอนนั้นอาจารย์สุลักษณ์รู้จักพระยาอนุมานราชธนแล้วหรือยัง

สุลักษณ์: ยังไม่รู้จัก ไม่รู้ด้วยว่าท่านเป็นใคร ตอนไปซื้อหนังสือเล่มนี้ ผมไม่รู้ใครคือพระยาอนุมานฯ  คราวหนึ่งผมมาซื้อหนังสือที่หอสมุดแห่งชาติ บอกว่าจะซื้อหนังสือของเสฐียรโกเศศ คนขายหยิบหนังสือพระยาอนุมานฯ มาให้ ผมบอกไม่เอา จะเอาหนังสือเสฐียรโกเศศ (ฮา)

ต่อมาโรงเรียนอัสสัมชัญเลือกให้ผมเป็นบรรณาธิการ พิมพ์วารสารฉบับแรกของโรงเรียนชื่อว่า อุโฆษสาร[2] ทำให้ผมรู้จักอัสสัมชันนิกรุ่นเก่าๆ ก็เลยทราบว่าพระยาอนุมานฯ เป็นอัสสัมชันนิก เคยเป็นกรรมการสมาคม ตอนนั้นผมอยู่ ม.8 ผมไปกราบท่านที่บ้านเลย ไปฝากตัวเป็นศิษย์

กษิดิศ: อาจารย์สุลักษณ์รู้จักพระยาอนุมานราชธนครั้งแรก สมัยเป็นนักเรียน ม.8 ตอนทำ อุโฆษสาร หลังจากนั้นทำอย่างไรถึงมาใกล้ชิดกันได้

สุลักษณ์: หลังจากนั้นไม่นานผมไปอังกฤษ ลองเขียนจดหมายถึงพระยาอนุมานฯ ไม่นึกว่าท่านจะตอบผมนะ ผมเรียนอังกฤษปีแรก ท่านตอบจดหมายผม พอฉบับที่ 2 ท่านไม่ได้ตอบด้วยลายมือ แต่ให้คนพิมพ์จดหมายตอบ ท่านก็เอ็นดูผมตลอดเรื่อยมา  ทีหลังผมเอามาพิมพ์รวมเล่มในชื่อ จดหมายโต้ตอบระหว่าง เสฐียรโกเศศ กับ ส. ศิวรักษ์ 

ลูกศิษย์รุ่นหลังๆ ของท่าน ผมสนิทกับท่านมากที่สุด ส่วนหนึ่งเพราะบ้านอยู่ใกล้กัน เดินถึงกัน 10 นาทีเท่านั้น มีอะไรผมก็ไปถามท่าน แต่ท่านเป็นคนแก่ก็เหงา ผมตื๊อให้ท่านเขียนอัตชีวประวัติ ก็ไม่ยอมเขียน เลยเสนอด้วยการอัดเสียงถามเรื่องราวของท่าน จนท่านรำคาญเลยยอมเขียน ต่อมาจึงออกมาเป็น ฟื้นความหลัง 

ส. ศิวรักษ์ ในห้องสมุดอนุมานราชธน
ส. ศิวรักษ์ ในห้องสมุดอนุมานราชธน หอสมุดแห่งชาติ เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2561
ส. ศิวรักษ์ ในห้องสมุดอนุมานราชธน
ส. ศิวรักษ์ ในห้องสมุดอนุมานราชธน หอสมุดแห่งชาติ เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2561

กษิดิศ: ในโอกาสที่ปีนี้ ครบ 50 ปีของการเปิดห้องสมุดอนุมานราชธน จึงอยากทราบว่าหลังจากสนิทกันแล้วอาจารย์สุลักษณ์ผลักดันให้เกิดห้องสมุดนี้ขึ้นได้อย่างไร

สุลักษณ์: ปีนี้ไม่เพียงครบ 50 ปี ของห้องสมุดอนุมานราชธนเท่านั้น หากยังครบ 50 ปีของมูลนิธิเสฐียรโกเศศ-นาคะประทีปด้วย จึงขอพูดถึงมูลนิธิไปพร้อมกัน  มูลนิธินี้เกิดขึ้นโดยคุณยศ วัชรเสถียร ที่มาช่วยผมทำงาน คุณยศรู้จักนักเขียนเยอะ เป็นคนรุ่นเดียวกับกุหลาบ สายประดิษฐ์  บอกผมว่ามีนักเขียนหลายคนที่ตกยากตอนอายุมาก คุณยศให้ผมช่วยติดต่อคนต่างประเทศ ก็ตอบไปว่าต่างประเทศจะช่วยก็ต่อเมื่อมีผลทางการเมือง เขาไม่ช่วยนักเขียนตกยากหรอก… เราต้องทำกันเอง

ผมไปหาคุณอาจินต์ ปัญจพรรค์ เขาดีใจมาก พวกเรานักเขียนรวมตัวกัน หาเงินเพื่อตั้งกองทุนช่วยนักเขียนตกยาก คุณอาจินต์ทำงานอยู่ สยามรัฐ  พอไปเอ่ยชื่อผมให้ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ฟังเท่านั้น เจ้าของหนังสือพิมพ์ก็บอกว่า “ถ้าไปคบกับสุลักษณ์ ให้เลิกเขียนลงสยามรัฐ” คุณอาจินต์จึงถอนตัว ผมจึงชวนคุณยศไปพบพระยาอนุมานฯ ผมก็พูดกับท่านว่า

“อาจารย์เป็นนักเขียนตั้งแต่หนุ่มจนแก่ แต่อาจารย์ไม่เคยตกยาก เพราะอาจารย์เป็นขุนนาง เป็นอธิบดี มีเงินบำนาญกิน ตอนนี้อาจารย์เป็นนายกราชบัณฑิตยสถาน มีนักเขียนตกยาก อาจารย์พอช่วยได้ไหม”

“จะให้ช่วยอย่างไร” ท่านเอ่ยถาม

“มอบลิขสิทธิ์ของอาจารย์ และตั้งเป็นมูลนิธิ ผมจะเอาชื่ออาจารย์เป็นชื่อมูลนิธิ” ผมตอบท่านไปแบบนี้

“ลิขสิทธิ์ผมเนี่ยจะขายได้กี่ตังค์ เอาเถอะ จะช่วยสุลักษณ์ก็แล้วกัน พรุ่งนี้ไปเอาหมอความมา”

คำตอบของท่านทำให้ผมต้องถามว่า “อาจารย์ต้องไปถามคุณหญิงและลูกๆ ก่อนนะ”

ได้ยินดังนั้นท่านก็ตอบทันควัน “ไม่ต้อง ของผม ผมจะให้คุณ” ท่านตัดสินใจทันทีเลย

พอท่านอายุ 80 ผมมาคิดดู หนังสือของท่านเป็นของวิเศษทั้งนั้น น่าจะอยู่ระดับชาติได้เลย ผมได้พบคุณธนิต อยู่โพธิ์ ซึ่งก็เป็นไม้เบื่อไม้เมากับผมในหลายๆ เรื่อง ก็เสนอแนะว่า

“ปีนี้ท่านอธิบดีจะเกษียณแล้ว ก็ทำอะไรต่ออะไรไว้เยอะแยะ แต่คนก็จะลืมกันหมด ถ้าคุณธนิตตั้งหอสมุดอนุมานราชธน คนจะไม่ลืมท่านอธิบดี”  ผมจึงไปบอกพระยาอนุมานฯ ลูกๆ ท่านโกรธผมหมด พ่อยังไม่ทันตายก็ขนหนังสือไปหมดแล้ว

วันเปิดห้องสมุด กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์เสด็จมาเป็นประธาน หม่อมเจ้าจงจิตรถนอม หม่อมเจ้าพิไลยเลขา ดิศกุล ก็เสด็จมา  ท่านหญิงพิไลยฯ พูดน่ารักมาก ท่านว่า “เจ้าคุณ ฉันอิจฉาเจ้าคุณนะ หอดำรงน่ะ พวกเราทำถวายเสด็จพ่อเมื่อท่านสิ้นพระชนม์แล้ว แต่เจ้าคุณได้เห็นหออนุมานราชธน ตอนที่เจ้าคุณยังมีชีวิตอยู่ ฉันอิจฉาเจ้าคุณนะ” พระยาอนุมานฯ ยิ้มย่องผ่องใสตอบกลับไป อีกทั้งท่านยังยกสมบัติให้ให้หอสมุดหมด อาทิ ไม้ตะพด โต๊ะทำงาน ม้านั่ง รูปภาพ ของจิปาถะ ฯลฯ และในปีนั้นเอง ท่านก็จากไป ตอนอายุ 80 ปี

พระยาอนุมานราชธน
ภาพพระยาอนุมานราชธนในงานทำบุญอายุครบ 80 ปี ที่วัดหัวลำโพง จัดแสดงในห้องสมุดอนุมานราชธน หอสมุดแห่งชาติ

กษิดิศ: คำถามสุดท้าย หากต่อไปเราจัดงานรำลึกพระยาอนุมานราชธนครบ 200 ปี ซึ่งจะไม่มีอาจารย์อยู่ในงานนั้นแล้ว อยากให้อาจารย์พูดถึงอนาคต ถ้าเราฉลอง 200 ปีพระยาอนุมานราชธน อะไรเป็นสิ่งที่อาจารย์อยากจะพูดกับเด็กรุ่นหลัง จะบอกเด็กรุ่นนั้นเรื่องพระยาอนุมานราชธนว่าอย่างไร

สุลักษณ์: สิ่งสำคัญที่พระยาอนุมานฯ มอบให้เราคือคำเตือนว่า วัฒนธรรมเหมือนกระแสน้ำ กระแสน้ำไหลมาต้องไหลต่อไป พวกเราเองอยู่ได้วันนี้เพราะมีปู่ย่าตายายทำให้เราเกิดมา เราต้องเห็นคุณค่าของปู่ย่าตายาย ยุคสมัยของท่านไม่เหมือนยุคสมัยของเรา ท่านพูดเองเลยว่า จะเอาไม้บรรทัดของปัจจุบันไปตัดสินอดีตไม่ได้  ต้องเคารพปู่ย่าตายาย แต่การเคารพ ไม่ใช่หลับหูหลับตาเชื่ออย่างเดียว ต้องรู้จักวิเคราะห์วิพากษ์วิจารณ์ด้วยความเคารพ เราเองก็ควรจะเป็นสายน้ำ ซึ่งจะพัดพาต่อไปถึงลูกถึงหลาน ลูกหลานเขาก็คิดไม่เหมือนเรา ต้องเป็นตัวเขาเอง ยิ่งเราเปิดโอกาสให้เป็นตัวของเขาเองมากเท่าไร เขาก็จะมีอิสรภาพ และความเป็นไทมากเท่านั้น

ตรงนี้เป็นคุณค่าสำคัญของพระยาอนุมานฯ ที่ท่านเตือนสติเรา สติอันนี้น่าจะมีประโยชน์กับสังคมไทยเวลานี้ เราลืมกำพืดของเราเสียโดยมาก ที่เปลี่ยนชื่อประเทศจาก ‘สยาม’ เป็น ‘ไทย’ บังคับไม่ให้กินหมาก ไม่ให้กินข้าวด้วยมือ อะไรที่เป็นไทยดั้งเดิม เราอายคนอื่นหมด ยกตัวอย่างง่ายๆ ประเทศเพื่อนบ้านอย่างพม่า แม้แต่นายพล นายทหารเขายังเคี้ยวหมากอยู่  การเคี้ยวหมากเป็นหัวใจของวัฒนธรรมเรา เวลาไปขอผู้หญิงก็ต้องมีขบวนขันหมาก หมากพลูเป็นหัวใจของวัฒนธรรมเรา  เมื่ออิเหนาจีบบุษบา ก็ขอชานหมากมาเคี้ยว  ขุนแผนกับนางพิมพ์ ก็มีท่อนหนึ่งว่า “พี่เคี้ยวหมากเจ้าอยากพี่ยังคาย แขนซ้ายคอดแล้วเพราะหนุนนอน” มันอยู่ในหัวใจเราทั้งหมดเลย ตอนนี้พวกเราทำลายหัวใจดั้งเดิมของเราทั้งหมด ถูกทุนนิยม บริโภคนิยมมอมเมา คนสมัยนี้มีใครเห็นโทษของโทรศัพท์มือถือบ้าง เราปฏิเสธของใหม่ไม่ได้ แต่เราควรจะรู้เท่าทันของใหม่

สมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว มีคุณูปการมหาศาล มีพระราชดำรัสว่า “การศึกสงครามข้างญวน ข้างพม่า ก็เห็นจะไม่มีแล้ว จะมีอยู่ก็แต่พวกฝรั่ง ให้ระวังให้ดีอย่าให้เสียทีแก่เขาได้  การงานสิ่งใดของเขาที่คิดควรจะเรียนเอาไว้ ก็เอาอย่างเขา แต่อย่าให้นับถือเลื่อมใสไปทีเดียว” พระยาอนุมานฯ เรียนภาษาฝรั่ง เป็นลูกน้องฝรั่ง แต่ไม่เคารพเลื่อมใสฝรั่งเสียทีเดียว ท่านเอาความเป็นฝรั่งมาใช้ให้เข้ากับความเป็นไทย ให้คงไว้ซึ่งวัฒนธรรมไทยอย่างสมศักดิ์ศรี ซึ่งพวกเราควรจะยินดีปรีดา ลูกหลานของเราจะได้เดินตามรอยตรงนี้ต่อไปชั่วกาลนาน เอวัง ก็มีด้วยประการฉะนี้ฯ

พระยาอนุมานราชธน
พระยาอนุมานราชธน ในวันเปิดห้องสมุดอนุมานราชธน ซึ่ง ส. ศิวรักษ์ กล่าวว่าผ้าผืนที่ท่านนุ่งในภาพนี้ เขาซื้อให้ท่านเป็นของขวัญ ภาพจาก สัมภาษณ์เสฐียรโกเศศ (พระนคร: ไทยวัฒนาพานิช, 2512)

หมายเหตุ

เป็นบทสนทนาที่ปรับปรุงจากการเสวนาในวาระ 130 ปีชาตกาล พระยาอนุมานราชธน ณ ห้องวชิรญาณ 3 หอสมุดแห่งชาติ เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2561 เวลา 13.00 – 15.00 น.

อ้างอิง

[1] คำนำในหนังสือ Life and Ritual in of Old Siam (HRAF Press, 1961) ของพระยาอนุมานราชธน คำแปลคัดมาจาก ส. ศิวรักษ์, เสฐียรโกเศศ ตามทัศนะ ส. ศิวรักษ์ (กรุงเทพฯ: มูลนิธิเสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป, 2531), น. 40 – 41.

[2] ใน อุโฆษสาร ฉบับที่ 1 (15 สิงหาคม 2495)  “เสฐียรโกเศศ” ส่งบทความเรื่อง “สยามมาตาเทวี” มาตีพิมพ์ (หน้า 38 – 42)

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

22 Feb 2022

คราฟต์เบียร์และความเหลื่อมล้ำ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เขียนถึงอุตสาหกรรมเบียร์ไทย ที่ผู้ประกอบการคราฟต์เบียร์รายเล็กไม่อาจเติบโตได้ เพราะติดล็อกข้อกฎหมาย และกลุ่มทุนที่ผูกขาด ทั้งที่มีศักยภาพ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

22 Feb 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save