fbpx
States after Crisis: มองอนาคต ‘รัฐ’ 10 แบบหลังวิกฤต

States after Crisis: มองอนาคต ‘รัฐ’ 10 แบบหลังวิกฤต

กานต์ธีรา ภูริวิกรัย เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

 

หากย้อนดูในหน้าประวัติศาสตร์ เมื่อเกิดวิกฤตใหญ่คราใด ‘รัฐ’ คือกุญแจสำคัญ ทั้งในการรับมือและจัดการกับวิกฤต รวมไปถึงการฟื้นฟูประเทศที่บอบช้ำให้กลับมาเหมือนเดิมเมื่อวิกฤตผ่านพ้นไป

เช่นเดียวกับวิกฤตโควิด-19 ในครั้งนี้ เราเห็นบทบาทของรัฐเด่นชัดขึ้น และกลายเป็น ‘พระเอก’ ในการแก้วิกฤต หลายประเทศต่างใช้มาตรการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นยาแรงอย่างการปิดเมือง ล็อกดาวน์ และจำกัดการเคลื่อนไหวของผู้คนอย่างเข้มงวด ไปจนถึงการมุ่งฟื้นฟูวิกฤตเศรษฐกิจที่ตามมา

การกระทำดังกล่าว มองมุมหนึ่งก็เข้าใจได้เป็นอย่างดี เพราะในยามวิกฤตเช่นนี้ เราจำเป็นต้องมีอำนาจอยู่ในมือเพื่อที่จะจัดการเรื่องต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และรัฐเป็นกลไกที่ทรงอำนาจที่สุดที่จะจัดการวิกฤตได้

แต่คำถามที่น่าสนใจคือ เมื่อโรคระบาดเริ่มคลายความรุนแรงหรือคลี่คลายลงไปหมดแล้ว ระบบหรือระบอบที่เกิดขึ้นมาในช่วงนี้ ไม่ว่าจะเป็นระบบการตรวจสอบและติดตาม รวมไปถึงอำนาจฉุกเฉินต่างๆ ที่รัฐถือไว้ในช่วงโรคระบาดจะเป็นอย่างไรต่อไป – รัฐ (ซึ่งในหลายประเทศหมายรวมถึงผู้นำ หรือเครือข่ายชนชั้นนำ) จะยังถือครองอำนาจไว้ หรือจะยอมคืนอำนาจดังกล่าวกลับไปดังเดิม และระบบเศรษฐกิจจะมีหน้าตาแบบไหน ทุนนิยม-เสรีนิยมยังเป็นคำตอบอยู่หรือไม่หลังวิกฤตครั้งนี้

นิตยสาร Foreign Policy ชวนนักคิดชั้นนำ 10 คน มาตอบคำถามและร่วมคาดการณ์หน้าตาการปกครองและรัฐหลังโรคระบาด – แม้นักคิดส่วนใหญ่จะทำนายหน้าตาของรัฐในโลกตะวันตกเป็นหลัก แต่หน้าตาของรัฐ 10 แบบหลังวิกฤตก็ชวนให้เราตั้งคำถามถึง ‘รัฐไทย’ ในอนาคต

อะไรคือประเด็นที่สังคมจะต้องถกเถียงกัน  ชวนหาคำตอบได้ด้านล่างนี้

 

หลังจากโรคระบาด ‘พี่เบิ้ม’ จะจับตาดูคุณ – Stephen M. Walt

 

เมื่อพูดถึงนวนิยายชื่อดังของจอร์จ ออร์เวล (George Orwell) อย่าง 1984 หลายคนคงนึกถึงพี่เบิ้ม (Big Brother) ผู้นำที่ปกครองด้วยอำนาจเผด็จการแบบพรรคการเมืองเดียว เป็นสัญลักษณ์ของอำนาจรัฐที่คอย ‘จับตาดู’ พลเมืองอยู่ตลอดเวลา นั่นทำให้ความเป็นส่วนตัวไม่มีอยู่จริงในโลกของ 1984

ขยับมาที่ปี 2020 ที่โลกต้องเผชิญกับโควิด-19 Stephen M. Walt ศาสตราจารย์ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เปรียบเปรยว่า “หลังจากโรคระบาดครั้งใหญ่นี้ เราจะมี ‘พี่เบิ้ม’ ที่คอยจับตาดูเราอยู่ตลอดเวลา”

“เราอาจจะคาดการณ์ได้ว่า รัฐบาลทั่วโลกจะควบคุมชีวิตประจำวันของประชาชนอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อนเพราะโควิด-19 ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลเผด็จการหรือประชาธิปไตย เส้นแบ่งการควบคุมจะใกล้กันมาก” โดย Walt ได้ยกตัวอย่างการใช้มาตรการกักตัว (quarantine) หรือการปิดเมือง (shut down) หรือการใช้มาตรการต่างๆ เพื่อทดสอบ ตามรอย และตรวจตราสอดส่องเพื่อควบคุมโรค

ทั้งนี้ ผู้นำที่ใช้มาตรการต่างๆ อย่างเข้มงวดและรวดเร็วจะประสบความสำเร็จในการควบคุมโรค แต่ผู้นำที่ปฏิเสธการใช้มาตรการเหล่านี้ หรือจัดการเรื่องต่างๆ อย่างเชื่องช้าจะต้องรับผิดชอบต่อความตายของคนเป็นล้าน ซึ่งเป็นความตายที่ล้วนป้องกันได้ทั้งนั้น

เมื่อมองต่อไปในอนาคต ตอนที่อัตราผู้ติดเชื้อเริ่มลดลงและมีการค้นพบวิธีการรักษาที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น Walt มองว่า รัฐบาลในหลายประเทศจะค่อยๆ ผ่อนคลายมาตรการเข้มงวดที่ใช้อยู่ ผู้นำจำนวนหนึ่งจะยอมสละอำนาจที่พวกเขาได้มาในช่วงวิกฤต แต่ Walt เตือนว่า เราก็ต้องพร้อมรับ new normal ที่อาจจะเกิดขึ้นด้วย

ถ้าพูดให้ชัดขึ้น Walt ฉายภาพโลกที่รัฐบาลอาศัยโอกาสทางการเมืองและความกลัวต่อโรคระบาด เพื่อคงอำนาจบางส่วนที่ตนเองมีในช่วงวิกฤตไว้ ต่อไปนี้ เราอาจจะต้องอยู่ในโลกที่ทุกคนต้องถูกวัดอุณหภูมิและตรวจหาเชื้อโรคเวลาเดินทางไปท่องเที่ยว ถูกตรวจโทรศัพท์ ถูกถ่ายรูป หรือถูกแกะรอยตำแหน่งที่อยู่ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้อาจจะไม่ได้ถูกใช้เพื่อประโยชน์ด้านสาธารณสุขเพียงอย่างเดียว

“ในโลกหลังโรคระบาด ‘พี่เบิ้ม’ จะจับตาดูคุณ”

 

วิกฤตกลายเป็นประโยชน์สำหรับรัฐบาล – Alexandra Wrage

 

“ข่าวร้ายก็คือ ขณะที่โลกทุ่มเงินจำนวนมหาศาลไปกับโปรแกรมกระตุ้นเศรษฐกิจและการแพทย์ นี่ก็กลายเป็นโอกาสที่เอื้อให้เกิดการคอร์รัปชันและการรับสินบนแบบไม่รู้จบด้วย”

ข้างต้นคือการคาดการณ์ของ Alexandra Wrage ประธานของ TRACE องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อสนับสนุนความโปร่งใสทางการค้าทั่วโลก

“ส่วนข่าวดีคือ ทรัพยากรที่ถูกใช้จ่ายไปมากมายจะทำให้โรคระบาดกลายเป็นประโยชน์สำหรับรัฐบาลที่ดี และเพิ่มความโปร่งใส ตรวจสอบได้ (accountability) ให้พวกเขามากขึ้น”

สำหรับ Wrage เหตุการณ์อาหรับสปริงและการเคลื่อนไหวต่างๆ ที่เกิดขึ้นตามมาทำให้พวกเราเห็นว่า เมื่อประชาชนต้องทุกข์ทรมาน สังคมจะมีความอดทนต่อการคอร์รัปชันน้อยลง โดยเฉพาะกับรัฐบาลแบบอำนาจนิยม (authoritarian) ที่ต้องเผชิญหน้ากับการโต้กลับอย่างรุนแรงจากการที่พวกเขาปกปิดความรุนแรงของปัญหา และอนุญาตให้เจ้าหน้าที่เก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากโรคระบาด

ขณะเดียวกัน รัฐบาลที่ตอบสนองรวดเร็ว ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล และมีความสร้างสรรค์ ก็สามารถพิสูจน์ตัวเองได้ว่า พวกเขาสามารถนำพาสังคมรอดพ้นจากไวรัสโควิด-19 และผลกระทบทางเศรษฐกิจได้ ซึ่งจะทำให้รัฐบาลแข็งแรงและได้รับความไว้วางใจจากสาธารณชนมากขึ้นในอนาคต

 

อนาคตรูปแบบใหม่จะเกิดขึ้นในเอเชีย – James Crabtree

 

ปฏิเสธไม่ได้ว่า โรคระบาดจะทำให้เราเข้าสู่ยุคที่รัฐบาลมีขนาดใหญ่ขึ้น และล่วงล้ำความเป็นส่วนตัวมากขึ้น โดยเฉพาะในสังคมที่มีเศรษฐกิจก้าวหน้า แต่สำหรับ James Crabtree ผู้ช่วยศาสตราจารย์ที่วิทยาลัยนโยบายสาธารณะลี กวน ยู มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ การเปลี่ยนแปลงที่ว่าดูจะรุนแรงมากขึ้นในประเทศแถบเอเชีย

“ประเทศที่ร่ำรวย เช่น สหรัฐอเมริกาและเยอรมนี ใช้จ่ายเงินจำนวนมากไปกับการปกป้องพลเมืองและธุรกิจ ผ่านทางการจ่ายเงินและแผนสนับสนุนเรื่องรายได้ แต่กับประเทศแถบเอเชียอย่างสิงคโปร์และมาเลเซีย ผู้นำของพวกเขาดูเหมือนจะระมัดระวังการดำเนินนโยบายการคลังแบบขยายตัว (fiscal expansion)”

Crabtree ฉายภาพว่า ในอนาคต การจัดการโรคระบาดจะต้องการรัฐบาลที่มีขนาดใหญ่ พร้อมไปกับการที่รัฐเร่งสร้างเครื่องมือราคาแพงเพื่อควบคุมโรค จัดการที่ทำงาน และสอดส่องตรวจตราสังคมในช่วงที่เราทุกคนหวังให้วัคซีนถูกพัฒนาขึ้นได้สำเร็จ เขายังเน้นย้ำอีกว่า นี่คือจังหวะที่ประเทศเอเชียอย่างเกาหลีใต้หรือญี่ปุ่นมีโอกาสจะขึ้นมาเป็นผู้นำ เพราะรัฐเหล่านี้มีศักยภาพสูง มีความรู้ด้านเทคโนโลยี และใช้มาตรการเกี่ยวกับความเป็นส่วนตัวที่ผ่อนคลายกว่า

“กล่าวโดยสรุป ยุคของรัฐบาลที่มีขนาดใหญ่กำลังจะกลับมา แต่เป็นรัฐบาลที่มีรูปแบบค่อนข้างแตกต่างจากในทศวรรษที่ 1960 และ 1970 และรูปแบบเหล่านี้จะไม่ได้เกิดขึ้นในตะวันตก แต่จะเกิดขึ้นในตะวันออกแทน”

 

การกลับมาของนโยบายอุตสาหกรรม – Shannon K. O’Neil

 

สำหรับ Shannon K. O’Neil นักวิชาการอาวุโส (Senior Fellow) สาขาลาตินอเมริกาศึกษา สภาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (Council on Foreign Relations) ‘นโยบายอุตสาหกรรม’ (industrial policy) กำลังจะกลับมาในช่วงที่หลายประเทศและหลายองค์กรกำลังดิ้นรนเอาตัวรอดจากโควิด-19

“หลังจากทศวรรษของตลาดเสรี รัฐบาลในประเทศพัฒนาแล้วและกลุ่มตลาดเกิดใหม่มีแนวโน้มที่จะเข้าไปมีบทบาทขั้นพื้นฐานในการทำงานในระบบเศรษฐกิจของพวกเขา”

การมีบทบาทที่ว่ารวมถึงการเพิ่มการจัดการทางการค้าโดยใช้ภาษี ใบอนุญาต โควตา มาตรฐานผลิตภัณฑ์ หรือแม้แต่การแบนการส่งออกอย่างตรงไปตรงมา โดยเฉพาะในกลุ่มอุปกรณ์ทางการแพทย์และอาหาร รวมไปถึงการให้เงินจูงใจและสิทธิประโยชน์สำหรับธุรกิจต่างๆ ที่นำธุรกิจของตนเองที่เคยลงทุนในต่างประเทศกลับเข้ามาลงทุนในบ้านเกิด เช่น ประเทศญี่ปุ่น ที่จ่ายเงินให้กลุ่มธุรกิจกว่า 2.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อย้ายออกจากประเทศจีน

ในโลกที่องค์การการค้าโลก (WTO) มีความไม่เที่ยงเช่นนี้ O’Neil มองว่า นี่เป็นเหมือนกับจุดเริ่มต้นของการให้เงินอุดหนุนสาธารณะ การลดหย่อนภาษี หรือแผนการต่างๆ ที่รัฐจะใช้เพื่อควบคุมรูปแบบการผลิต และการเข้าถึงสินค้าและบริการที่พวกเขารู้สึกว่า จำเป็นต่อพื้นฐานความมั่นคงของชาติ ที่น่าสนใจคือ O’ Neil มองว่า ถ้าเรานิยามเรื่องความมั่นคงให้กว้างขึ้น ความมั่นคงที่ว่าจะรวมถึงความเสี่ยงต่อการดิสรัปต์หรือการเข้ามามีอิทธิพลของจีน รวมไปถึงการจัดหางานด้วย

“แม้ความพยายามในการรักษาหรือขยายการค้าเสรีออกไปจะยังไม่สิ้นสุดลง แต่รัฐบาลก็จะเข้ามาแทรกแซงทางตรงในตลาดมากขึ้น” O’Neil สรุป

 

ยุคใหม่ของรัฐบาลที่ ‘เอาแต่ใจ’ – Robert D. Kaplan

 

“มีแนวโน้มว่า โควิด-19 จะเป็นตัวเร่งให้เกิดการปกป้องรัฐบาลที่มีขนาดใหญ่มากขึ้น เช่นเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2” คือการคาดการณ์ของ Robert D. Kaplan ผู้เขียนหนังสือ The Good American: The Epic Life of Bob Gersony, the U.S. Government’s Greatest Humanitarian และหนังสือเกี่ยวกับการต่างประเทศอีกหลายเล่ม

“ช่วงเวลาสามทศวรรษที่ผ่านมาเป็นช่วงเวลาแห่งการสร้างความมั่งคั่ง (wealth) ในระดับที่คาดไม่ถึง ตอนนี้ เราเปลี่ยนมาอยู่ในช่วงเวลาของการแจกจ่ายความมั่งคั่งเหล่านั้นในรูปแบบของภาษีที่สูงขึ้น เพื่อสนับสนุนการขยายตัวของบริการด้านสุขภาพและบริการอื่นๆ”

Kaplan ยังมีความเห็นสอดคล้องกับแนวคิดที่ว่า การสอดส่องตรวจตราบุคคลในหลายๆ ประเทศดูจะเป็นวิธีการที่ประสบความสำเร็จในการต่อสู้กับโรคระบาด อย่างไรก็ดี การตรวจตราดังกล่าวมีแนวโน้มจะดำเนินต่อไปในอนาคต ทำให้ความเป็นส่วนตัว (privacy) จะกลายเป็นประเด็นสำคัญในยุคใหม่ของรัฐบาลที่ ‘เอาแต่ใจ’ เช่นเดียวกับหนี้ของรัฐบาลที่งอกออกมาไม่หยุดไม่หย่อน

ขณะเดียวกัน โรคระบาดจะยิ่งเพิ่มความร้อนแรงในการแข่งขันกันระหว่างสหรัฐฯ กับจีน ทำให้สหรัฐฯ ใช้งบประมาณไปกับเรื่องความมั่นคงมากขึ้น และคำถามสำคัญคือ “เราจะจ่ายเงินทั้งหมดนี้ได้อย่างไร?”

แม้ Kaplan จะพูดถึงรัฐในบริบทที่เป็นอเมริกันอย่างยิ่ง แต่ในฐานะที่ยังเป็นประเทศมหาอำนาจอันดับหนึ่งของโลก การเปลี่ยนแปลงในสหรัฐฯ ย่อมกลายเป็นโจทย์ใหม่ให้กับรัฐอื่นๆ ด้วย

ในตอนท้าย Kaplan สรุปว่า เรากำลังจะมีรัฐบาลที่ใหญ่ขึ้นและมีบทบาทมากขึ้น โดยเฉพาะในแง่ของการสาธารณสุข พร้อมไปกับการเกิดขึ้นของกลุ่มประชานิยมที่ต่อต้านเรื่องนี้ และดังที่เราจะเห็นว่า สหรัฐฯ และประเทศอื่นๆ ไม่ได้ร่วมมือกันจัดการโรคระบาดสักเท่าไหร่ จึงมีแนวโน้มที่รัฐบาลในแต่ละประเทศจะมีบทบาทเข้มแข็งมากขึ้นในโลกหลังโควิด

“และด้วยเหตุนี้เอง ชีวิตของพวกเราก็จะถูกควบคุมมากกว่าที่เคยเป็นมา”

 

ผู้นำบางคนใช้วิกฤตเพื่อปิดปากผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์ตน – Kenneth Roth

 

“ตราบใดที่สาธารณชนตื่นตัว วิกฤตก็ไม่จำเป็นต้องนำไปสู่การแผ่ขยายอำนาจถาวรของรัฐบาลแต่อย่างใด”

สำหรับ Kenneth Roth ผู้อำนวยการบริหาร Human Watch ช่วงเวลาวิกฤตเช่นนี้เป็นช่วงที่กฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศอนุญาตให้รัฐบาลจำกัดสิทธิของประชาชนเป็นการชั่วคราว เช่น สามารถจำกัดการเดินทางและเว้นระยะห่างทางสังคมได้เท่าที่จำเป็น อย่างไรก็ดี ผู้นำบางคนกลับพยายามใช้วิกฤตเพื่อปิดปากผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์ตน เพิ่มกฎเกณฑ์ต่างๆ และแผ่ขยายการตรวจตราออกไป ซึ่งพวกเขาจะประสบความสำเร็จหรือไม่ก็ขึ้นกับความเข้าใจของสาธารณชนด้วย

Roth อธิบายว่า การเซนเซอร์ (censorship) จะเป็นตัวจำกัดการไหลเวียนอย่างเสรีของข้อมูล ซึ่งจริงๆ แล้ว การไหลเวียนอย่างเสรีของข้อมูลเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งในการสร้างความตระหนักและตอบสนองต่อภัยคุกคามด้านสุขภาพอย่างมีประสิทธิภาพ ขณะเดียวกัน การสอดส่องตรวจตราที่ล้มเหลวในการปกป้องความเป็นส่วนตัวของบุคคลก็จะยิ่งบั่นทอนความมีจิตอาสาของประชาชนที่อยากจะเข้ามามีส่วนร่วมในการทำงาน ซึ่งจำเป็นต่อการริเริ่มด้านสาธารณสุข

“การตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจบริหาร นิติบัญญัติ ศาล สื่อ และภาคประชาสังคมที่เป็นอิสระ จะช่วยรับประกันว่า รัฐบาลจะทำงานเพื่อผลประโยชน์สาธารณะมากกว่าจะทำเพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองของตนเอง”

ถ้ากล่าวโดยสรุป โรคระบาดยิ่งแสดงให้เห็นชัดเจนว่า สิทธิมนุษยชนควรจะได้รับการสนับสนุนและส่งเสริมไม่ว่าในกรณีใดก็ตาม ซึ่งถ้าสาธารณชนตระหนักถึงเรื่องนี้ ก็จะสร้างแรงกดดันเพียงพอที่จะทำให้รัฐบาลไม่แสวงหาผลประโยชน์จากวิกฤตครั้งนี้ แต่ถ้าพวกเขาไม่ได้ตระหนักถึงเรื่องนี้แล้ว Roth สรุปว่า “พวกเราจะพบว่าตนเองอยู่ในโลกที่เสี่ยงต่อทั้งโรคระบาด และโลกที่เคารพสิทธิมนุษยชนน้อยลง”

 

รัฐบาลท้องถิ่นจะเข้มแข็งมากขึ้น – Robert Muggah

 

“ไวรัสโควิด-19 ช่วยเปิดเผยคุณภาพของรัฐบาลทั่วโลก ซึ่งผู้นำระดับชาติจำนวนมากล้มเหลวในบททดสอบครั้งนี้ ตรงกันข้ามกับผู้นำทางศาสนาหรือผู้นำท้องถิ่นที่โชว์ศักยภาพของตนเองออกมาได้มากกว่า รวมถึงได้รับความไว้วางใจมากกว่า”

“ถ้าพูดให้ชัดขึ้น ไวรัสแสดงให้เห็นถึงการแบ่งอำนาจระหว่างรัฐบาลที่มีระดับแตกต่างกัน และยิ่งเพิ่มความเข้มแข็งให้ผู้นำศาสนาและผู้นำเมือง”

เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนขึ้น Robert Muggah ผู้ก่อตั้ง Igarapé Institute องค์กรคลังสมองที่ศึกษาเรื่องความมั่นคงและการพัฒนา และ SecDev Group ฉายภาพว่า โฟกัสหลักของกลุ่มผู้ว่าการเมือง (governor) และนายกเทศมนตรี (mayor) อยู่ที่การรักษาชีวิตคน ให้บริการที่จำเป็น รักษากฎหมายและกฎระเบียบ รวมถึงสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

อย่างไรก็ดี “ผู้นำท้องถิ่นมองไกลไปกว่าโรคระบาดแล้ว พวกเขาเริ่มจินตนาการถึงชีวิตในชุมชนอีกครั้ง อีกทั้งภาวะการเงินที่จำกัดยังทำให้คนมุ่งหน้าไปหานโยบายต้นทุน-ประสิทธิภาพ (cost-effective policy) ที่จะก่อให้เกิดประโยชน์หลากหลาย รวมถึงมองหาหนทางที่ดีกว่าในการให้บริการด้านสุขภาพกับกลุ่มเปราะบาง และสนับสนุนธุรกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม (greener) มากขึ้น”

นี่นำมาสู่ข้อสรุปของ Muggah ว่า บริการของรัฐบาลในอนาคตจะต้องมีความเป็นดิจิทัลมากขึ้น ลดความสูญเปล่ากับเรื่องที่ไม่จำเป็น และเข้าถึงประชาชนได้มากขึ้น อย่างไรก็ตาม ควรกล่าวด้วยว่า Muggah เป็นนักวิชาการชาวแคนาดา ประเทศซึ่งได้รับการยอมรับว่ามีสมดุลระหว่างรัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่นในแบบของตัวเอง และมีการกระจายอำนาจที่ค่อนข้างสูง เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของประเทศส่วนใหญ่ในโลก

แม้ในมุมมองของ Muggah โควิด-19 จะทำให้รัฐบาลท้องถิ่นเข้มแข็งมากขึ้น แต่ถ้าย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์ การเกิดขึ้นของโรคระบาดมักจะก่อให้เกิดผลทางบวกแก่การปกครองท้องถิ่นอยู่แล้ว เช่น กาฬโรคต่อมน้ำเหลืองที่เกิดขึ้นในศตวรรษที่ 14 นำไปสู่การคิดเรื่องพื้นที่แออัดในเมือง หรืออหิวาตกโรคที่เกิดขึ้นในศตวรรษที่ 19 ก็กระตุ้นให้เกิดแผนการพัฒนาเมืองและการสร้างระบบน้ำเสียเช่นกัน

ในครั้งนี้ก็ไม่ต่างกัน Muggah มองว่า วิกฤตครั้งนี้จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเรื่องการกำกับดูแลและการปกครอง กล่าวคือ รูปแบบจะเปลี่ยนจากเทคโนโลยีการตรวจตราที่รุกล้ำความเป็นส่วนตัวเพื่อติดตามโรคระบาด และการบังคับใช้มาตรการกักตัว ไปสู่การใช้จ่ายด้านสุขภาพจำนวนมหาศาลเพื่อควบคุมให้โรคระบาดที่เกิดตอนนี้ และอาจจะเกิดขึ้นในอนาคต อยู่ภายใต้การควบคุมได้

 

กลุ่มเทคโนแครตจะขยายพื้นที่ทำงานมากขึ้น – Adam Posen

 

“การออกนโยบายด้านเศรษฐศาสตร์มหภาคที่ผ่านมาจะเน้นไปที่ปัจจัยไม่กี่ข้อ เช่น การเจริญเติบโต เงินเฟ้อ อัตราการว่างงาน และหนี้” Adam Posen ประธาน Peterson Institute for International Economics กล่าวนำ “และนี่ทำให้พวกธนาคารกลางบอกตัวเองและสาธารณชนว่า พวกเขาดูแลแค่เรื่องสวัสดิการทั่วไป ไม่ได้มีหน้าที่มาแจกจ่ายตัวเลือกอะไร”

แต่เมื่อโควิด-19 เกิดขึ้น ตามมาด้วยวิกฤตในระบบเศรษฐกิจครั้งใหญ่ Posen มองว่า กลุ่มเทคโนแครตจะขยายพื้นที่ทำงานมากขึ้น โดยเฉพาะในการตัดสินใจเรื่องการจัดสรรงบประมาณ – องค์กรไหนควรได้รับเงินกู้ระยะสั้น หรืองานใดที่ควรได้รับเงินอุดหนุน – ในบริบทของประเทศตะวันตก การกระทำเช่นนี้จะทำให้นโยบายรับมือวิกฤตมีประสิทธิภาพและตรวจสอบได้มากขึ้น

เมื่อเป็นเช่นนี้ หลังจากวิกฤต กลุ่มธนาคารกลาง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง หรือผู้ควบคุมกฎระเบียบในภาคการเงิน จะเข้าไปแทรกแซงตลาดโดยตรงมากขึ้น ซึ่ง Posen สรุปว่า ในช่วงที่ตลาดถูกดิสรัปต์จากวิกฤตเช่นนี้ สิ่งที่จำเป็นที่สุดคือมือที่แข็งแรงที่จะเข้าไปดูแลตลาด ไม่ใช่เศรษฐกิจแบบทุนนิยมหรือเสรีนิยม (laissez faire)

“เส้นแบ่งระหว่างนโยบายการคลังและการเงินจะเบลอเข้าหากันมากขึ้น ซึ่งนี่เป็นเรื่องที่ดีมากกว่าการที่เรามีเส้นแบ่งนโยบายที่ชัดเจน” Posen ทิ้งท้าย “และแนวปฏิบัติเดิมๆ ที่ทำให้หน่วยงานในภาครัฐไม่ร่วมมือกันจะเปลี่ยนไป เพื่อตอบสนองต่อสภาพจริงทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นด้วย”

 

เมื่อเราจัดการกับโรคระบาดได้แล้ว เราจะต้องมารักษาภาวะบริโภคนิยมต่อ – Kumi Naidoo

 

ในมุมมองของ Kumi Naidoo ประธานผู้ก่อตั้ง African Rising for Justice, Peace, and Dignity และอดีตเลขาธิการองค์การนิรโทษกรรมสากล (Amnesty International) การมองภาพโลกหลังโรคระบาดจะต้องเริ่มจากการตระหนักว่า “พวกเราทุกคนติดเชื้อภาวะบริโภคนิยม (affluenza) เข้าให้แล้ว”

ถ้าพูดให้ชัดเจนกว่านั้น Naidoo มองว่า พวกเรา ‘บริโภค’ มากเกินไป และคิดว่าการบริโภคมากเกินไปเท่ากับการมีความสุขและการประสบความสำเร็จในชีวิต และการที่เศรษฐกิจมุ่งเน้นแต่เรื่อง GDP ก็กลายเป็นความล้มเหลวอย่างหนึ่งที่เราควรพูดถึง ถ้าอยากสร้างโลกที่มีความเสมอภาคกันมากกว่านี้

“โควิด-19 ทำให้เราต้องกลับมาคิดหนักๆ เกี่ยวกับการผลิตและแจกจ่ายอาหาร รวมถึงสินค้าอื่นๆ ที่จำเป็นสำหรับทุกคนในสังคม เพื่อที่เราจะได้มีสุขภาพแข็งแรง มีความสงบสุข และมั่งคั่ง”

“ตอนนี้ เราจึงควรจะสนับสนุนท้องถิ่นมากขึ้น โดยกระจายความเป็นเจ้าของ (ownership) และให้ท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการสร้างสินค้าและบริการทางสังคมด้วย”

Naidoo ทิ้งท้ายว่า รัฐบาลกำลังใช้กลุ่มอุตสาหกรรมทหาร (military-industrial complex) ในการลดการมีส่วนร่วมของพลเมืองในกระบวนการประชาธิปไตย ซึ่งเป็นเหมือนการ ‘ย้อนกลับ’ ของสิทธิพลเมือง “เราจึงต้องทำอย่างไรก็ได้ให้มั่นใจว่า นี่จะไม่กลายเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นถาวรในชีวิตของพวกเรา”

 

สินค้าสาธารณะจะต้องการข้อมูลส่วนบุคคล – Bruce Schneier

 

หนึ่งประเด็นที่มีการถกเถียงกันในสังคมตะวันตกคือเรื่องการใช้ข้อมูลส่วนบุคคล ว่าเราจะรักษาสิทธิของปัจเจกบุคคลในเรื่องความเป็นส่วนตัว หรือเราจะเห็นแก่คุณค่าของข้อมูลและนำมาใช้ประโยชน์เพื่อส่วนรวม

จนถึงปัจจุบันนี้ การอภิปรายถกเถียงเรื่องดังกล่าวเริ่มหันไปหาเรื่อง ‘ทุนนิยมแบบสอดแนม’ (surveillance capitalism) ถ้าให้พูดชัดเจนกว่านั้น ลองนึกภาพการใช้ Google Map ที่จะแสดงเส้นทางและสภาพการจราจร ณ ขณะนั้นแบบเรียลไทม์ แต่ขณะเดียวกัน ทุกคนที่ใช้บริการแอปพลิเคชันนี้ก็จะถูกเก็บข้อมูลไปพร้อมกัน

“โควิด-19 เพิ่มความจำเป็นเร่งด่วนเข้าไปในการดีเบตนี้ และยังนำตัวแสดงใหม่ๆ เช่น ผู้มีอำนาจในทางสาธารณสุขหรือทางการแพทย์ เข้ามาร่วมด้วย” Bruce Schneier นักวิชาการและอาจารย์ที่ Harvard Kennedy School ฉายภาพให้เห็น “ซึ่งนี่ไม่ใช่แค่เรื่องแอปพลิเคชันในสมาร์ตโฟนที่จะติดตามผู้ติดเชื้อไวรัสเท่านั้น”

Schneier ชี้ว่า ชุมชนทางการแพทย์อาจจะฉวยโรคระบาดครั้งนี้เป็นโอกาสในการสนับสนุนให้มีการเข้าถึงรายละเอียดข้อมูลด้านสุขภาพมากขึ้นเพื่อทำงานวิจัย ส่วนฝั่งผู้ที่มีอำนาจด้านสาธารณสุขก็จะผลักดันให้เกิดการตรวจตรามากขึ้น เพื่อจะได้รู้ตัวอย่างทันท่วงทีหากเกิดโรคระบาดอีกในอนาคต

“นี่เป็นสิ่งที่เรา ‘ต้องแลก’ (trade-off) สำหรับปัจเจกบุคคล ข้อมูลของพวกเขาเป็นอะไรที่ส่วนตัวมากๆ แต่ถ้ามองในมุมของส่วนรวม ข้อมูลส่วนบุคคลจะมีค่ามหาศาลต่อทุกคนเช่นกัน”

เพื่อหาทางแก้ปัญหาทางแพร่งที่เกิดขึ้น Schneier ชี้ว่า เราจะต้องคิดเกี่ยวกับแต่ละเคสอย่างระมัดระวังที่สุด และทำการวิเคราะห์ในเชิงศีลธรรม (moral analysis) ว่า ประเด็นที่เกี่ยวข้องจะกระทบกับคุณค่าหลักของเราอย่างไร ซึ่งคำตอบที่ได้จะแตกต่างกันออกไปในแต่ละกลุ่ม

“ระหว่างที่เรากำลังมุ่งไปสู่การตรวจตราที่มากขึ้น เราก็จำเป็นจะต้องหาทางที่ดีที่สุดสำหรับทั้งสองฝ่าย” Schneier กล่าว พร้อมทั้งทิ้งท้ายประเด็นที่แหลมคมและน่าขบคิดไว้ว่า

“ถ้าพูดให้ชัดเจนกว่านั้น ประเด็นอยู่ที่ว่าเราจะออกแบบระบบที่จะใช้ข้อมูลส่วนบุคคล เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์แก่สังคมส่วนรวม พร้อมๆ ไปกับการปกป้องปัจเจกบุคคลได้อย่างไร”

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save