fbpx

ประชาธิปไตยไร้รัฐ: ณ ที่นี้ ประชาชนออกคำสั่งและรัฐบาลเชื่อฟัง

ภาพนำจาก Matthew T Rader และ Julian Stallabrass

เมื่อเพดานของการเคลื่อนไหวทางสังคมถูกผลักขอบเขตออกไป การจินตนาการถึงขอบฟ้าใหม่ก็เกิดขึ้น การพูดถึงสังคมประชาธิปไตยที่ไปไกลกว่ารูปแบบเดิมจึงเป็นสิ่งที่เห็นได้บ่อยขึ้น ดังเช่นในปัจจุบัน ภาพฝันของสังคมแบบใหม่ที่ถูกยกขึ้นมาอย่างสังคมนิยมประชาธิปไตยหรือประชาธิปไตยที่เท่าเทียมกันทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจ ไปจนถึงสังคมประชาธิปไตยในจินตนาการอย่าง ‘สังคมประชาธิปไตยไร้รัฐ’ หรือแนวคิดแบบอนาธิปไตย (anarchism) ที่ไม่ใช่ถูกพูดถึงแค่ในไทย แต่ยังถูกพูดถึงในขบวนการเคลื่อนไหวในประเทศเพื่อนบ้านเรือนเคียงอย่างประเทศพม่า และในอีกหลายแห่งทั่วโลก

101 จึงชวนทำความเข้าใจสังคมประชาธิปไตยไร้รัฐผ่านการพูดคุยกับ ภัควดี วีระภาสพงษ์ นักแปลผู้สนใจศึกษาแนวคิดอนาธิปไตย และเฮวาล ทาคุชิน (Heval Takujin) สมาชิกฝ่ายการทูตจากเขตปกครองตนเอง AANES ที่รู้จักกันในนาม ‘โรจาวา’

ภัควดี วีระภาสพงษ์: ประชาธิปไตยกับรัฐไปด้วยกันไม่ได้ตั้งแต่ต้น

ผู้คนในซาปาติสตา (ที่มาภาพ)

การพูดถึงสังคมประชาธิปไตยแบบไร้รัฐนั้นไม่ใช่เพียง ‘แนวคิดที่เป็นไปได้’ แต่เป็นสิ่งที่มีอยู่จริงในประวัติศาสตร์ ภัควดี วีระภาสพงษ์ นักแปลผู้สนใจศึกษาแนวคิดอนาธิปไตย แนะนำว่ามีนักมานุษยวิทยาที่ศึกษาเรื่องอนาธิปไตย คือ เดวิด เกรเบอร์ ที่ยืนยันความเป็นไปได้ของประชาธิปไตยแบบไร้รัฐจากตัวอย่างของสังคมบุพกาล ซึ่งเขาไปพบเจอด้วยตัวเองระหว่างการทำวิจัย เช่น ชุมชนในมาดากัสการ์

“ชุมชนโบราณที่ใช้กระบวนการประชาธิปไตยแบบไร้รัฐมีเป็นจำนวนมาก รวมทั้งเป็นต้นแบบของระบอบประชาธิปไตยในตะวันตกด้วย รัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกาที่ได้ชื่อว่ามีความเป็นประชาธิปไตยมากก็ได้ต้นแบบมาจากรูปแบบการปกครองของสหพันธรัฐอีโรควอย (Iroquois Confederacy) และการปกครองของชาวพื้นเมืองอินเดียนแดงอื่นๆ แต่นักประวัติศาสตร์มักอ้างว่าระบอบประชาธิปไตยมาจากกรีก และไม่ยอมรับว่ารูปแบบการปกครองของชุมชนและชนชาติบุพกาลเป็นประชาธิปไตย สาเหตุเพราะชุมชนเหล่านี้มักไม่ได้ใช้การตัดสินใจด้วยคะแนนเสียงส่วนใหญ่ ซึ่งเกรเบอร์บอกว่าการลงมติเสียงส่วนใหญ่จะต้องมีกองกำลังติดอาวุธหนุนหลัง เพื่อบีบบังคับเสียงส่วนน้อยให้ยอมรับมติและไม่ให้แยกตัวออกไป ในชุมชนที่ไม่มีกำลังทหาร การใช้เสียงส่วนใหญ่จะสร้างความแตกแยกแก่ชุมชน ดังนั้น ชุมชนแบบนี้จึงใช้กระบวนการแสวงหาฉันทมติ อาศัยการประชุมถกเถียงจนได้ข้อสรุปที่ดีที่สุดสำหรับทุกคน นักประวัติศาสตร์กลับไม่ยอมรับว่านี่คือระบอบประชาธิปไตย

“ระบอบประชาธิปไตยที่มีรัฐก็คือระบอบประชาธิปไตยแบบผู้แทนและใช้เสียงส่วนใหญ่ตัดสิน ระบอบการปกครองแบบนี้จำเป็นต้องมีกองทัพไว้บังคับเสียงส่วนน้อย มีกลไกอื่นๆ คอยลวงให้ประชาชนลงคะแนนเสียงตามที่ชนชั้นนำต้องการ รัฐที่เราเรียกว่าประชาธิปไตยจึงยังมีการโฆษณาชวนเชื่อและใช้ความรุนแรงกับประชาชน ส่วนประชาธิปไตยแบบไร้รัฐนั้นเป็นไปได้ มีมาแล้วและมีอยู่ในตอนนี้ เช่น ซาปาติสตาในเม็กซิโก โรจาวาในซีเรีย เพียงแต่กระบวนการตัดสินใจจะมีหน้าตาแตกต่างจากกระบวนการประชาธิปไตยที่เราคุ้นเคยกัน ดังนั้น เราอาจต้องเริ่มต้นด้วยการรื้อสร้างนิยามของ ‘ประชาธิปไตย’ เสียก่อน” ภัควดีกล่าว

เมื่อถามว่าใครจะเป็นคนบริหารจัดการในระบบประชาธิปไตยไร้รัฐ ภัควดีบอกว่า ชุมชนจะบริหารจัดการตัวเอง ส่วนใหญ่จะใช้วิธีแบ่งเป็นเขต แต่ละเขตจะเลือกตั้งผู้แทน ผู้แทนจะเปลี่ยนบ่อยหรือใช้ระบบหมุนเวียนให้ทุกคนได้เป็นผู้แทน ถ้าผู้แทนไม่กระทำตามเจตจำนงของผู้เลือก ผู้แทนจะถูกถอดถอนได้ทันที ชุมชนเป็นผู้มอบอำนาจในการตัดสินใจเรื่องต่างๆ ผู้แทนเป็นเพียงผู้ถือการตัดสินใจนั้นไปที่สภา เขาไม่สามารถตัดสินใจสิ่งใดที่ขัดกับเจตนารมณ์ของชุมชนที่เลือกตั้งเขาขึ้นมาโดยไม่กลับไปปรึกษาก่อน

ตัวอย่างของการบริหารจัดการชุมชนแบบนี้คือ ระบบ Rebel Zapatista Autonomous Municipalities ของซาปาติสตา ซึ่งมีคำขวัญว่า ‘ณ ที่นี้ ประชาชนออกคำสั่งและรัฐบาลเชื่อฟัง’

ไร้รัฐใช่ไร้ระเบียบ

หากถามว่าในสังคมที่ไม่มีรัฐ คนจะทำตามกฎระเบียบหรือไม่ จะมีกฎหมาย ตำรวจ ทหาร หรือไม่ จะแตกต่างจากสังคมที่มีรัฐอย่างไร ภัควดีเปรียบเทียบระหว่างสังคมมีรัฐกับสังคมไร้รัฐว่า รัฐในความหมายของการรวมศูนย์อำนาจและผูกขาดการใช้ความรุนแรง แม้จะมีมานานในอาณาจักรใหญ่ๆ เช่น อียิปต์ จีน อินเดีย อินคา ฯลฯ แต่ในสมัยโบราณ รัฐแบบนี้มีจำนวนน้อยกว่าสังคมแบบไร้รัฐ โลกที่มีรัฐเกือบทั้งโลกเพิ่งเกิดขึ้นไม่กี่ร้อยปีมานี้เอง และหากคิดว่าเมื่อไม่มีรัฐแล้วมนุษย์จะแก่งแย่งฆ่าฟันกันเอง ป่านนี้มนุษยชาติก็คงสูญพันธุ์ไปตั้งแต่หลายหมื่นปีที่แล้ว

สังคมไร้รัฐย่อมมีกฎเกณฑ์เช่นเดียวกับสังคมอื่นๆ แต่สังคมไร้รัฐจะดำรงอยู่แบบไร้รัฐได้ เงื่อนไขสำคัญคือการไม่ใช้อาวุธบังคับสมาชิกในชุมชน (เพราะถ้ามีการผูกขาดการใช้อาวุธและความรุนแรง นั่นก็คือการมีรัฐ) มนุษย์ทั่วไปมักยินยอมกระทำตามกฎเกณฑ์ที่ชุมชนตกลงกันไว้ เพราะมนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่ต้องการสังคม ต้องอยู่รวมกันเป็นหมู่เหล่าเพื่อความอยู่รอด กฎกติกาในสังคมไร้รัฐจะเกิดมาจากข้อตกลงร่วมกันของคนในชุมชน ไม่ใช่กำหนดมาจากใครหรือกลุ่มใด ตัวอย่างเช่นกฎห้ามดื่มสุราในชุมชนซาปาติสตา เกิดมาจากข้อเสนอของฝ่ายผู้หญิงและผ่านการประชุมถกเถียงจนทุกคนยอมรับ เมื่อผ่านการตกลงร่วมกันคนในชุมชนก็จะยึดมั่นตามกติกานั้น

สังคมไร้รัฐไม่ใช่สวรรค์ของลัทธิเสรีนิยมใหม่

หากมองในมุมมองของเสรีนิยมใหม่อาจมีคำถามว่า สังคมที่ไม่มีรัฐจะเป็นสวรรค์สำหรับเสรีนิยมใหม่หรือไม่ เมื่อทุกคน (โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือนายทุุน) มีเสรีภาพทางเศรษฐกิจอย่างเต็มรูปแบบและแต่ละคนต่างรับผิดชอบตัวเอง ภัควดีกล่าวโต้แย้งว่าการไม่มีรัฐไม่มีทางเป็นประโยชน์ต่อนายทุน อันที่จริง ถ้าไม่มีรัฐ ระบบทุนนิยมจะล่มสลายไปโดยปริยาย

“ระบบทุนนิยมดำรงอยู่ได้ก็เพราะมีรัฐ การรวมศูนย์ความมั่งคั่งไว้ที่คนกลุ่มเดียวหรือที่เรียกว่าการสะสมทุน สภาวะนี้ดำรงอยู่ได้ด้วยการมีรัฐคอยสนับสนุน กำเนิดของระบบทุนนิยมก็ต้องอาศัยรัฐ ยกตัวอย่างเช่น ในช่วงกำเนิดทุนนิยมในอังกฤษนั้น กระบวนการหนึ่งที่สำคัญมากก็คือ การล้อมเขตที่ดิน (enclosure) คือการแปรเปลี่ยนที่ดินส่วนรวมที่ชุมชนใช้ร่วมกันให้กลายเป็นกรรมสิทธิ์เอกชน กระบวนการนี้จะทำได้ต้องอาศัยกองกำลังจากรัฐเข้ามาปราบปรามประชาชนที่ไม่พอใจ การล้อมเขตที่ดินเป็นปัจจัยสำคัญในการทำให้เกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรมและระบบทุนนิยม เพราะเป็นการเปลี่ยนรูปแบบการใช้ที่ดินเพื่อตอบสนองต่อการผลิตแบบอุตสาหกรรม เช่น การปลูกฝ้าย การเลี้ยงแกะเพื่อผลิตผ้าขนแกะ การปลูกพืชเชิงเดี่ยว ฯลฯ”

ระบบทุนนิยมในช่วงแรกและในปัจจุบันเติบโตได้โดยอาศัยสิ่งที่ เดวิด ฮาร์วี นักวิชาการสายมาร์กซิสต์ เรียกว่า ‘การสะสมทุนด้วยการปล้นชิง’ โดยเฉพาะการแย่งชิงทรัพยากรที่จะดำเนินไปไม่ได้เลยถ้าไม่มีรัฐคอยหนุนหลัง

ภัควดียังเสริมว่า สังคมที่ไม่มีรัฐก็ยังมีสวัสดิการอยู่ดีถ้าไม่มีรัฐ การใช้ทรัพยากรจะอยู่ในอำนาจของชุมชน ความมั่งคั่งที่จะเกิดขึ้นก็จะตกอยู่กับชุมชน ถ้าชุมชนนั้นปกครองด้วยแนวทางอนาธิปไตย ความมั่งคั่งก็จะกระจายให้แก่ทุกคนในชุมชนตามกติกาที่ตกลงกัน”

‘ซาปาติสตา’ สังคมไร้รัฐในปัจจุบัน

ภัควดีเล่าถึงสังคมไร้รัฐที่ยังมีชีวิตอยู่ คือ เขตปกครองตนเองซาปาติสตา ในเม็กซิโก ซึ่งเกิดขึ้นได้จากการบรรจบกันของหลายเหตุการณ์

เหตุการณ์เส้นแรกคือการตกเป็นอาณานิคมของคนผิวขาวและการกดขี่ชนพื้นเมืองมายาวนาน ทำให้สภาพชีวิตของชาวพื้นเมืองลำบากมาก ชาวพื้นเมืองเม็กซิกันเอาชีวิตรอดมาได้ด้วยระบบ Ejido คือการกำหนดให้ที่ดินเป็นของชุมชน ไม่ใช่กรรมสิทธิ์เอกชน ในสมัยการปฏิวัติเม็กซิกัน (Mexican Revolution 1910-1920) นำไปสู่การเขียนรัฐธรรมนูญปี 1917 ซึ่งรับรอง Ejido ไว้ในรัฐธรรมนูญด้วย

เหตุการณ์เส้นที่ 2 คือการเกิดสำนักเทววิทยาเพื่อการปลดปล่อย (Liberation Theology) ขึ้นมาในศาสนจักรโรมันคาทอลิกช่วงประมาณทศวรรษ 1960  สำนักเทววิทยาเพื่อการปลดปล่อยคือการรับอิทธิพลแนวคิดมาร์กซิสต์เข้ามาผสมผสานกับคำสอนในศาสนาคริสต์ บาทหลวงของสำนักนี้ส่วนใหญ่จะไปเผยแพร่ศาสนาในอเมริกาใต้ สิ่งที่บาทหลวงเหล่านี้ทำคือรวบรวมชาวบ้านที่เดือดร้อนมาตั้งกลุ่มช่วยเหลือกัน ทำให้โบสถ์กลายเป็นสถานที่ปลอดภัยสำหรับผู้ที่ถูกรัฐบาลหรือผู้มีอิทธิพลรังควาน การตั้งกลุ่มโบสถ์แบบนี้ก็คือการจัดตั้งแบบหนึ่ง มีการสอนให้ชาวบ้านรู้หนังสือ รู้กฎหมาย รู้สิทธิของตัวเอง โบสถ์จำนวนมากกลายเป็นศูนย์กลางของขบวนการประชาชนที่ประท้วงนโยบายที่ไม่เป็นธรรมของรัฐ

เหตุการณ์เส้นที่ 3 คือกระแสแนวคิดแบบเหมาอิสต์ที่แพร่หลายในหมู่ปัญญาชนเม็กซิกัน ทำให้ปัญญาชนจำนวนหนึ่งละทิ้งสายอาชีพในมหาวิทยาลัยและออกสู่ชนบทเพื่อจัดตั้งประชาชนเข้าร่วมกับกองทัพปฏิวัติกรรมาชีพ เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในช่วงทศวรรษ 1980  มีอาจารย์มหาวิทยาลัย UNAM เดินทางมาที่รัฐเชียปัสและพยายามเผยแพร่แนวคิดแบบเหมาอิสต์ อย่างไรก็ตาม เมื่อเขาได้คลุกคลีกับชาวบ้านนานๆ เข้า เขากลับถูกชาวบ้าน ‘จัดตั้ง’ เสียเองด้วยแนวคิดที่มีลักษณะคล้ายแนวทางอนาธิปไตย มีการแลกเปลี่ยนผสมผสานแนวคิดกัน กระทั่งฝ่ายซ้ายสามารถ ‘ไฮแจ็ก’ ฐานจัดตั้งของชนพื้นเมืองมาจากโบสถ์ได้โดยละม่อม

เหตุการณ์เส้นที่ 4 คือการขยายตัวของระบบทุนนิยมเสรีนิยมใหม่ เม็กซิโกลงนามกับสหรัฐอเมริกาในข้อตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (NAFTA) ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อระบบการถือครองที่ดินแบบ Ejido รวมทั้งจะนำไปสู่การปล้นชิงทรัพยากรจากชาวพื้นเมืองมากขึ้น ในวันที่ 1 มกราคม 1994 ซึ่งเป็นวันแรกที่ NAFTA จะมีผลบังคับใช้ ชาวพื้นเมืองในพื้นที่ส่วนหนึ่งของรัฐเชียปัสก็ประกาศปฏิวัติในชื่อ กองกำลังปลดปล่อยแห่งชาติซาปาติสตา (EZLN) และประกาศเขตปกครองตัวเอง ซึ่งพื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ในป่าลากันดอน

ในช่วงแรกซาปาติสตาปะทะกับรัฐเม็กซิกันด้วยอาวุธ แต่ต่อมาปรับเปลี่ยนมาใช้สันติวิธีมากขึ้น และมีการเจรจาหยุดยิงกับรัฐบาลโดยมีบาทหลวงเป็นตัวกลางไกล่เกลี่ย กองกำลังปลดปล่อยแห่งชาติซาปาติสตาไม่มีผู้นำเดี่ยว แต่ใช้การนำเป็นหมู่คณะ และมีโฆษกคือรองผู้บัญชาการมาร์กอส (ปัจจุบันเปลี่ยนไปใช้ชื่อ กาเลอาโน) ซึ่งสันนิษฐานว่าคืออดีตอาจารย์มหาวิทยาลัย UNAM มาร์กอสใช้การสื่อสารด้วยอินเทอร์เน็ต การเขียนแถลงการณ์ บทกวี นิทาน ฯลฯ สร้างแรงสนับสนุนจากชาวเม็กซิกันในเมืองและประชาชนในต่างประเทศ

ในปี 1996 ซาปาติสตาจัดการประชุมนานาชาติขึ้น มีนักกิจกรรมจากสหรัฐอเมริกาและยุโรปเข้าร่วมจำนวนมาก การประชุมครั้งนั้นเป็นแรงกระตุ้นให้เกิดการประท้วงต่อต้านลัทธิเสรีนิยมใหม่ต่อเนื่องหลายปี โดยเริ่มต้นที่การประท้วงการประชุม WTO ในเมืองซีแอตเทิลเมื่อปี 1999

การเกิดขึ้นของสังคมประชาธิปไตยไร้รัฐนั้นมีความเป็นไปได้ แต่ไม่ใช่เรื่องง่าย เช่นที่ภัควดีบอกว่าการเปลี่ยนแปลงสังคมเกิดขึ้นได้ด้วยวิธีเดียวคือการจัดตั้ง หรือพูดอีกอย่างคือขบวนการประชาชน”

เฮวาล ทาคุชิน: AANES สังคมที่ใช้ ‘เพื่อน’ แทน ‘รัฐ’

กองกำลังหญิง YPG (ที่มาภาพ)

อีกตัวอย่างของขบวนการประชาชนที่นำไปสู่สังคมไร้รัฐคือ ‘โรจาวา’ สังคมประชาธิปไตยไร้รัฐที่อยู่ระหว่างประเทศซีเรีย ตุรกี และอิรัก ดินแดนแห่งนี้เกิดขึ้นมาท่ามกลางความร้อนระอุของสงครามซีเรีย ตั้งแต่การต่อต้านประธานาธิบดีบาชาร์ อัล อัสซาด และการเติบโตของกลุ่มรัฐอิสลาม (IS) เมืองโรจาวาเป็นเมืองที่ปกครองตนเองและมีกองกำลังของตนเองที่ป้องกันภัยจากรัฐหรือขบวนการข้างเคียง โดยผู้คนในโรจาวาที่มาจากหลากหลายชาติพันธุ์ ศาสนา ภาษา อุดมการณ์ ยังอยู่ด้วยกันฉันเพื่อน

เฮวาล ทาคุชิน (Heval Takujin) สมาชิกฝ่ายการทูตจากเขตปกครองตนเอง AANES เล่าว่า เมืองโรจาวาเปลี่ยนชื่อเป็น AANES ซึ่งย่อมาจาก Autonomous Administration of North and East Syria เนื่องจากโรจาวาเป็นชื่อเมืองที่มาจากภาษาเคอร์ดิช แปลว่า เมืองของชาวเคิร์ด แต่ด้วยความเป็นเมืองที่มีผู้คนจากหลากหลายชาติพันธุ์ และมีอุดมการณ์คือการโอบอุ้มคนจากหลากหลายชาติพันธุ์ให้อยู่ร่วมกันแบบที่ไม่มีชาติพันธุ์ไหนเหนือกว่า จึงเปลี่ยนชื่อเป็น AANES

ประชาธิปไตยแบบเพื่อน

ทาคุชินเป็นชาวอังกฤษที่เข้าร่วมขบวนการปฏิวัติในฝ่ายการทูต เขากล่าวถึงประชาธิปไตยแบบไร้รัฐใน AANES ว่า สิ่งที่ AANES แตกต่างจากสังคมรัฐชาติอย่างแรกคือ ประชากรของ AANES มีขนาดเล็กมาก ซึ่งในระบบรัฐชาติที่มีประชากรมากจะมีช่องว่างระหว่างอำนาจของผู้ปกครองกับผู้ที่อยู่ภายใต้การปกครอง นายกฯ นักการเมือง หรือตำรวจกับประชาชนไม่ได้รู้จัก พูดคุย หรือเป็นเพื่อนกัน แต่ใน AANES ทุกคนในเมืองรู้จักกันหมด แม้แต่คนที่ปกครองเมืองก็เป็นเพื่อนกับแทบทุกคนที่อยู่ในเมือง และด้วยชีวิตของคนโรจาวาไม่ใช่ชีวิตที่ต้องตื่นแต่เช้าเพื่อเข้าทำงานและกลับบ้านตอนเย็นจนไม่มีเวลาได้พูดคุยกับใคร ผู้คนในเมืองนี้จึงพูดคุยกันตลอดเวลา

สิ่งที่ AANES สร้างขึ้นคือความสัมพันธ์ของคนธรรมดาที่พูดคุยกันตลอดเวลา เพื่อให้เรารู้ว่าคนรอบข้างและสังคมเป็นอย่างไรบ้าง และเก็บเกี่ยวความคิดเห็นต่างๆ ที่ผุดขึ้นมา เพื่อลงมือทำหรือตัดสินใจร่วมกัน แตกต่างจากประชาธิปไตยแบบรัฐชาติที่ผู้ปกครองเป็นผู้ตัดสินใจแทนประชาชน และประชาชนทำในสิ่งที่ผู้ปกครองบอกให้ทำ

“ใน AANES ผู้ปกครองเป็นคนที่ไร้อำนาจมากเมื่อเทียบกับประชาชน พวกเขารับตำแหน่งเพียงแค่ 2 ปีครึ่งเท่านั้น และเพราะเขาเป็นส่วนหนึ่งของสังคม แนวคิดและความรู้ในการปกครองก็เป็นสิ่งที่แยกไม่ขาดจากสังคมด้วย ทำให้เขาไม่สามารถตัดสินใจในสิ่งที่แยกขาดออกจากสังคมได้”

ระบบการเลือกตั้งใน AANES แตกต่างจากระบบการเลือกตั้งประชาธิปไตยตัวแทนของรัฐชาติ เพราะใน AANES การตัดสินใจดำเนินนโยบายของคณะกรรมการปกครองล้วนตัดสินใจมาจากประชาชน ไม่ใช่ผู้แทนที่แยกขาดจากประชาชน ทาคุชินยังเล่าให้ฟังว่า “เมื่อไม่นานมานี้ คณะผู้ปกครองตัดสินใจว่าจะขึ้นราคาน้ำมันสูงถึง 4 เท่าโดยไม่ผ่านการตัดสินใจร่วมกันของประชาชน วันต่อมาผู้คนออกมาประท้วง ซึ่งทางผู้ปกครองก็เห็นว่าเป็นการตัดสินใจที่ไม่ควรเกิดขึ้นจริงๆ และวันต่อมาราคาน้ำมันก็กลับไปเป็นเหมือนเดิม”

ประชาธิปไตยแบบเพื่อนไม่ได้อยู่แค่ในระบบการปกครอง แต่ยังอยู่ในระดับวัฒนธรรม ทาคุชินเล่าให้ฟังอีกว่า คณะปฏิวัติจะมีบริการขับรถตู้พาคนในเมืองไปเยี่ยมบ้านกันและกัน เพื่อให้คนในเมืองทำความรู้จัก ผูกมิตร ดื่มชา และพูดคุยว่าสำหรับพวกเขาแล้วประชาธิปไตยหรือความเท่าเทียมทางเพศมีความหมายอย่างไร และคุยกันถึงสังคมแบบที่เขาอยากเห็น เหมือนการไปบ้านเพื่อน

“ไม่มีการแบ่งแยกทางสังคมระหว่างชนชั้นปกครองและคนธรรมดา เพราะความเป็นเพื่อนเหนียวแน่นกว่าชนชั้น และความเป็นเพื่อนนำไปสู่การช่วยเหลือเกื้อกูลกัน และนี่คือสิ่งประชาธิปไตยแบบล่างขึ้นบนที่ควรจะเป็น” ทาคุชินกล่าว

ความเป็นเพื่อนคือรากฐานของการปฏิวัติ

ก่อนจะมี AANES ในทุกวันนี้ การปฏิวัติของขบวนการภาคประชาชนเป็นสิ่งสำคัญ PKK หรือ พรรคแรงงานแห่งเคอร์ดิสถาน (Kurdistan Workers’ Party) เป็นพรรคที่ตั้งขึ้นมาในปี 1978 ซึ่งมีเป้าหมายในการสร้างรัฐสังคมนิยมที่เป็นอิสระจากรัฐชาติ ภายหลังจากการตั้งพรรคก็เกิดการรัฐประหารในประเทศตุรกี นำมาซึ่งสงครามระหว่างรัฐบาลทหารกับพรรคแรงงาน ซึ่งนำไปสู่ความรุนแรงของรัฐในการเข่นฆ่าชาวเคิร์ด และความรุนแรงจากพรรคแรงงานเองเช่นกัน

จนกระทั่งในช่วง 1990s อับดุลลาห์ โอชาลัน (Abdullah Öcalan) ผู้นำพรรคแรงงานได้เปลี่ยนกลยุทธ์จากการใช้การทหารไปสู่การเผยแพร่ทฤษฎีการเมือง เช่น แนวคิดสหพันธ์ประชาธิปไตยและสตรีนิยม ซึ่งมาจากการที่เขาถูกจับ ทบทวนตนเอง และศึกษาแนวคิดวิชาการมากมาย หนึ่งในผู้ที่มีอิทธิพลทางความคิดต่อโอชาลัน คือกองกำลังปกครองตนเองหญิงในชนบท ในช่วงปี 1980s ขณะที่เขากำลังจัดตั้งกองกำลังในชนบท กองกำลังหญิงเหล่านี้ได้ร่วมรบกับพรรคแรงงาน และยังสานต่อการปฏิวัติหลังจากเขาถูกจับ ประสบการณ์เหล่านี้ทำให้เขามีแนวคิดแบบสตรีนิยมที่สนับสนุนการปลดแอกสตรี และตั้งคำถามกับลำดับชั้นที่สูงกว่าของผู้ชายในขบวนการ[1]

ต่อมาในปี 2011 ประเทศเพื่อนบ้านของตุรกีอย่างซีเรียเกิดการประท้วงขับไล่ผู้นำ และตามมาด้วยกองกำลังรัฐอิสลามในซีเรีย (ISIS) กองกำลังอิสระ YPG (People’s Protection Units) และ YPJ (Women’s Defense Forces) ก็ได้ต่อสู้กับ IS จนกระทั่งในปี 2014 พวกเขาได้ตั้งชุมชนปกครองตัวเอง และในปี 2015 พวกเขารบชนะ ISIS

ขบวนการปฏิวัติต่อสู้จนได้มาซึ่งสังคมประชาธิปไตยไร้รัฐของ AANES ไปจนถึงการก่อสร้างสังคมใหม่ร่วมกัน หรือที่ทาคุชินเรียกว่า ‘การปฏิวัติในระยะยาว’ ความเป็นเพื่อนคืออุดมการณ์หลักของการปฏิวัติ

“แม้ว่าคนอื่นจะมองว่าความเป็นเพื่อนนั้นไม่สำคัญ แต่ AANES มองว่าความเป็นเพื่อนสำคัญกับการปฏิวัติมาก ภายในคณะปฏิวัติ การบอกว่าใครสักคนไม่เป็นมิตรนั้นเป็นอะไรที่หยาบคายมาก และคนในคณะปฏิวัติจะพยายามหาสาเหตุว่าทำไมคนนั้นถึงไม่เป็นมิตร” เขาเล่าให้ฟังว่าคน AANES เป็นคนเป็นกันเอง ไม่ถือตัว ไม่หยิ่งผยอง

“การปฏิวัติที่ยิ่งใหญ่เริ่มต้นจากความเป็นเพื่อน ถ้าเราพูดคุยกับเพื่อนเรื่องการปฏิวัติ และเพื่อนของเราก็คุยกับเพื่อนเรื่องการปฏิวัติ เราก็จะได้เพื่อนร่วมการปฏิวัติมากขึ้นและความสามารถที่หลากหลายขึ้น การจะปฏิวัตินั้น เราไม่เพียงแค่ก่อตั้งขบวนการ แต่เราต้องเปลี่ยนแปลงนิสัยของคนด้วย เพราะด้วยการปฏิวัติของโรจาวาไม่ได้มีโครงสร้างแบบบนลงล่างที่หัวหน้าสามารถสั่งการลูกน้องได้ แต่เป็นความสัมพันธ์แบบเพื่อน หากคนในขบวนการไม่มีความเป็นมิตร ไม่พยายามเข้าใจคนอื่น เอาความคิดของตนเองเป็นหลัก ความเป็นเพื่อนในการปฏิวัติก็จะไม่เกิดขึ้น”

ใน AANES จะมี cadre ของคณะปฏิวัติ ซึ่งทำหน้าที่ศึกษาและให้ความรู้กับผู้คนเรื่องอุดมการณ์ ทั้งประชาธิปไตย สตรีนิยม สังคมนิยม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งทาคุชินมองว่าพวกเขามีความเป็นมิตรมาก “นี่คืออุดมการณ์ของเขา เขาทำงานหนัก เขาต่อสู้ มีกองทัพ อ่านหนังสือ เข้าใจอุดมการณ์ สามารถคุยกับคนได้ นี่คือการปฏิวัติ เวลาเขาให้ความรู้กับผู้คนเรื่องอุดมการณ์ พวกเขาไม่ได้บังคับให้ทุกคนเชื่อ ในทางกลับกันเขาต้องการฟังทุกคน หากมีใครพยายามบังคับให้คุณเชื่อ การปฏิวัติจะไม่เกิดขึ้น แต่ถ้าเพื่อนสักคนแนะนำหนังสือให้คุณอ่าน คุณก็จะมีแต่ความรู้สึกตื่นเต้นที่ได้ความรู้ใหม่ และคุณอาจแนะนำหนังสือใหม่ให้เขาอ่านเช่นกัน”

ด้วยลักษณะเช่นนี้ทำให้ขบวนการมีความหลากหลายทางอุดมการณ์ ทาคุชินมองว่าเพราะหลังจากที่ส่วนกลางถูกทำลาย อับดุลลาห์ โอชาลัน ผู้นำการปฏิวัติ เปลี่ยนแนวคิดใหม่ที่ไม่ใช่มาร์กซิสต์-เลนินนิสต์เหมือนเดิม เขาก็เขียนหนังสือเล่มใหม่ที่แตกต่างไปจากเดิมมากๆ ขณะที่หลายคนในคณะปฏิวัติเรียกตัวเองว่าเป็นมาร์กซิสต์ แต่การยึดกับการนิยามตนเองว่าเป็นมาร์กซิสต์หรืออนาคิสต์ และจะคิดว่าตนเองเป็นผู้ที่ถูกต้องแล้วบังคับให้คนอื่นเชื่อตามนั้นเป็นไปไม่ได้ ดังนั้นแนวคิดของขบวนการปฏิวัติจึงค่อนข้างยืดหยุ่น

อุดมการณ์หนึ่งในการปฏิวัติของ AANES คือ Jineology (ศาสตร์ว่าด้วยผู้หญิงหรือแนวคิดสตรีนิยม) เมื่อ AANES มองว่าผู้หญิงคือผู้ถูกกดขี่จากสังคมชายเป็นใหญ่ จึงพยายามนำพาผู้หญิงเข้าร่วมและเป็นแนวหน้าของการปฏิวัติมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

“ศาสตร์หนึ่งที่เราเรียนรู้จากผู้หญิงคือการแก้ปัญหาด้วยอารมณ์ ความรู้สึก และความเป็นเพื่อน มากกว่าการแก้ปัญหาด้วยกฎระเบียบและความรุนแรง เพราะผู้หญิงเป็นผู้ที่ถูกกดขี่ พวกเขาจึงสามารถเข้าใจการกดขี่ได้มากกว่า ไม่ใช่ว่าผู้ชายไม่สามารถแก้ปัญหาด้วยอารมณ์และความรู้สึกได้ แต่ผู้ชายถูก (สังคมชายเป็นใหญ่) ดึงไปอยู่ในบทบาทที่ต้องใช้แต่ความเป็นเหตุเป็นผลและระบบระเบียบ จนทำลายการใช้อารมณ์และความรู้สึกของพวกเขา ในปัจจุบัน ผู้หญิงและผู้ชายร่วมกันสู้ในขบวนการปฏิวัติ พยายามเข้าใจการกดขี่ และพยายามเรียนรู้การแก้ปัญหาด้วยอารมณ์ความรู้สึกทีละเล็กทีละน้อย” ทาคุชินกล่าว

ในภาพปัจจุบัน สังคมหลังการปฏิวัติไม่ได้เกิดขึ้นจากการออกแบบของคณะปฏิวัติอย่างเดียว แต่เป็นสิ่งที่ทุกคนในเมืองร่วมกันสร้างขึ้นมา

“แน่นอนว่าคณะปฏิวัติเป็นกองกำลังทหารและเป็นคนที่ให้ความรู้กับคนเรื่องอุดมการณ์ แต่ทหารไม่ใช่คนที่สร้างเมืองนี้ เพราะหากเป็นเช่นนั้น เราจะมองคนที่อยู่ในเมืองเป็นแค่ object ที่คณะปฏิวัติควบคุม สั่งการ ทำให้ยอมรับกับสังคมแบบใหม่ แต่การปฏิวัตินี้มองคนเป็น subject เราเชื่อในผู้คนว่า ทุกคนมีความสามารถ มีการเรียนรู้ พัฒนาได้ และเขาสามารถสร้างสังคมได้ด้วยตัวของพวกเขาเอง ดังนั้นผู้คนคือคนที่สร้างสังคม ไม่ใช่คณะปฏิวัติ” ทาคุชินกล่าว

ระบบ ‘ตลาดเสรี’ แบบเพื่อนช่วยเพื่อน

AANES เป็นสังคมที่เกือบจะ ‘ไร้เงินสด’ คือคนในเมืองไม่ค่อยใช้เงินในการจับจ่ายใช้สอย ซึ่งทาคุชินบอกว่าเกิดจากการที่ผู้คนที่ใช้ความเชื่อใจและการแบ่งปันแทนเงิน แต่แน่นอนว่ายังใช้เงินในบางพื้นที่ เช่น การนำเข้า

“การแก้ปัญหาของสังคมมีอยู่สองแบบ แบบแรกคือการแก้ปัญหาเชิงกายภาพ หากคุณมองว่าเงินมีปัญหา คุณอาจจะออกกฎหมายไม่ให้ใช้เงิน และริบเงินไป แต่ถ้าคุณแก้ปัญหาแบบหยั่งราก คุณจะรู้ว่าเงินเป็นตัวแทนของความเชื่อมั่น ดังนั้นถ้าคุณอยากสร้างสิ่งที่ใช้แทนการแลกเปลี่ยนด้วยเงิน คุณต้องสร้างความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนและชุมชน เพื่อสร้างระบบการแลกเปลี่ยนที่ผู้ผลิตกับผู้บริโภคไม่แยกขาดจากกัน ทำให้เงินนั้นค่อยๆ หายไปเอง”

ระบบเศรษฐกิจในเมืองนี้เป็น ‘ระบบตลาด-เสรี’ ทาคุชินขยายความว่า คำว่าตลาด-เสรีในที่นี้ หมายถึง ใครอยากผลิตแจกจ่าย ซื้อขายก็ได้ ใครอยากเป็นนายทุนก็ได้ ดังนั้นระบบเศรษฐกิจในเมืองนี้จึงค่อนข้างผสมผสาน แต่สิ่งหนึ่งที่ทำให้ AANES แตกต่างจากประเทศทุนนิยมอื่นๆ คือคนในสังคมของเขาไม่ชอบคนรวย ด้วยวิธีคิดที่ว่าเราจะรวยไปทำไมหากมีคนส่วนหนึ่งยังนอนอยู่ข้างถนน ซึ่งไม่ใช่ความสัมพันธ์แบบเพื่อนที่ควรจะเป็น ดังนั้นคนรวยส่วนใหญ่มักจะหาทางช่วยเหลือ หรือกระจายทรัพย์สินของตนให้กับผู้อื่นจนเขาไม่รวย

ไม่เพียงแต่การจับจ่ายใช้สอย การผลิตสินค้าใน AANES ยังวางอยู่บนฐานของความเป็นเพื่อน

“วัฒนธรรมของ AANES คือการช่วยเหลือคนที่อยู่รอบตัวคุณไม่ว่าจะรู้จักหรือไม่ก็ตาม หากคุณต้องการจะซื้อหรือผลิตอะไร เช่น คุณต้องการซื้อรถ ก็ไปที่ตลาดและบอกคนที่เดินผ่านไปผ่านมาได้ แล้วเขาก็จะไปถามเพื่อนๆ ของเขาอีกทีว่าจะซื้อได้จากที่ไหนบ้าง แปลว่าผมจะซื้อของจากเพื่อนของผม การสื่อสารแบบนี้สร้างการผลิตและแลกเปลี่ยนแบบใหม่ เพราะทุกคนต่างต้องการซื้อของจากคนที่ตัวเองรู้จักและเชื่อใจกัน”

อย่างไรก็ตาม ระบบเศรษฐกิจใน AANES ก็ยังมีข้อจำกัด คือ การกักกันการส่งออกสินค้าบางชนิด (embargo) จากประเทศข้างเคียง เนื่องจาก AANES ไม่มีการผลิตขนาดใหญ่และต้องพึ่งพาสินค้าและบริการบางอย่างจากประเทศข้างเคียง เช่น สัญญานโทรศัพท์จากประเทศตุรกี แต่สินค้าบางชนิดก็ถูกซีเรียกักกันไม่ให้เข้ามา โดยเฉพาะสินค้าประเภทเทคโนโลยี ทำให้ AANES ไม่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีบางประเภทที่ต้องการใช้ในการพึ่งพาตนเองได้ เช่น เทคโนโลยีสำหรับผลิตพลังงานสะอาด แต่ก็มีการพยายามหาวิธีการในการพึ่งพาตัวเอง เช่น สร้างบ่อกักเก็บน้ำ

การผลิตของ AANES จึงเต็มไปด้วยการผลิตและธุรกิจขนาดย่อม เป็นการผลิตแบบร่วมมือกัน (co-operations) มีสหกรณ์ และสหภาพแรงงาน แต่หน่วยการผลิตทุกแบบมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน

การจัดการความขัดแย้งผ่านการพูดคุย

การจัดการความขัดแย้งระหว่างบุคคลใน AANES ต้องอาศัยการพูดคุย โดยมองเชิงอารมณ์และความรู้สึกด้วย ทาคุชินยกตัวอย่างกรณีคนขับรถยนต์เมาแล้วชนรถมอเตอร์ไซค์ ทั้งสองครอบครัวจะมาคุยกันว่าต้นตอของปัญหาคืออะไร ซึ่งการเมาไม่ใช่ต้นตอ แต่เป็นผลลัพธ์ของปัญหา ต้นตอของปัญหาอาจเพราะคนที่ขับรถเพิ่งกลับมาจากสงคราม ทำให้เกิดอาการซึมเศร้าและเสพติดแอลกอฮอลล์ จนไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ ดังนั้นการแก้ปัญหาคือการช่วยกันทำให้คนนั้นเลิกติดแอลกอฮอลล์และกลับมาสู่สังคม คนใน AANES จึงต้องคอยติดตามดูความเป็นไปทั้งทางชีวิตและทางอารมณ์ของเขาคนนั้น

ปัญหา 2 ใน 3 ของสังคมแก้ด้วยวิธีทางนี้ แต่ปัญหาที่มีความรุนแรงยิ่งขึ้นต้องใช้กระบวนการยุติธรรมอีกรูปแบบ โดยจะมีคณะกรรมการด้านยุติธรรมที่ได้รับการเลือกตั้งมาจากประชาชนเข้ามาพูดคุย ให้ความรู้ และเกลี้ยกล่อมจนกว่าเขาจะเปลี่ยนมุมมอง

ส่วนความขัดแย้งระหว่างหมู่บ้าน ทาคุชินยกตัวอย่างหมู่บ้านหนึ่งที่เคยถูกยึดครองโดย ISIS ผู้หญิงที่ออกมาเดินนอกบ้านต้องมีผู้ชายมาด้วย ซึ่งถือเป็นวัฒนธรรมที่ชายเป็นใหญ่มากๆ ในกรณีนี้กองกำลังทหารหญิงไม่เลือกแก้ปัญหาโดยใช้กำลังในการปกป้องผู้หญิงจากผู้ชาย แม้ว่าตัวเองจะมีอาวุธอยู่ในมือก็ตาม เพราะมีแต่จะนำไปสู่สงครามกลางเมือง และหากแพ้ ผู้หญิงก็จะกลับไปอยู่ในสถานะที่แย่กว่าเดิม ดังนั้นเขาจึงเชื่อในการแก้ปัญหาอย่างมีความฉลาดทางอารมณ์ เช่น การให้ความรู้และการพูดคุยมากกว่า

ชุมชนจินตกรรม และชุมชนที่ไม่ได้มีอยู่แค่ในจินตนาการ

เมื่อถามทำไมผู้คนที่ต่างชาติพันธุ์ ต่างศาสนา จึงอยู่ร่วมกันอย่างใกล้ชิดใน AANES ได้ ทาคุชินเล่าว่าเกิดจากที่แต่ละชนเผ่าแต่ละกลุ่มต้องร่วมมือกันต่อสู้กับ ISIS แม้ว่าในการต่อสู้จะมีคนบาดเจ็บล้มตายเป็นจำนวนมาก แต่ก็สร้างความสามัคคีและความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันระหว่างชาติพันธุ์ เมื่อการต่อสู้สำเร็จและเกิดเป็นสังคมโรจาวา ความเป็นเพื่อนกับคนที่มีชาติพันธุ์และศาสนาต่างจากตนจึงกลายเป็นอุดมการณ์ของสังคมโรจาวาตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

“ผมเคยไปนั่งดื่มชากับคนมุสลิม อีกคนเป็นคนอาร์เมเนียนและเป็นคริสเตียน อยู่ดีๆ คนมุสลิมก็ชักมีดขึ้นมาจ่อคอหอยตัวเองแล้วบอกว่า ‘ทำไมกัน ทำไมผมต้องอยากทำร้ายเพื่อนเพราะเพื่อนของผมเป็นคริสเตียนด้วย’ ผมตกใจมาก แต่หลังจากนั้นเขาก็เป็นเพื่อนกับผมตลอดมา” ทาคุชินเล่า

ใน AANES ที่มีความหลากหลายทางอุดมการณ์ก็มีวิธีการที่จะทำให้คนอยู่ร่วมกันได้ “เรารู้ตัวเมื่อมีสิ่งผิดปกติเกิดขึ้น คนแต่ละคนมีความคิดเกี่ยวกับเรื่องความถูกต้องแตกต่างกัน ความคิดของคนเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ทำให้คนมีความเชื่อหรืออุดมการณ์ที่แตกต่างกันได้ และไม่พยายามโจมตีความเชื่อหรืออุดมการณ์ของคนอื่น แนวคิดนี้ทำให้คนต่างเชื้อชาติและศาสนาอยู่ร่วมกันได้” ทาคุชินกล่าว

ช่วงท้ายของบทสนทนา ทาคุชินยกคำพูดของโอชาลัน อดีตผู้นำการปฏิวัติของโรจาวาว่า “ความเป็นชาติสร้างปัญหามากกว่าศาสนาดั้งเดิมเสียอีก” เขามองว่าวิธีคิดเช่นนี้คือการมองว่าความเป็นชาติเปรียบเสมือน ‘ศาสนาสมัยใหม่’ รัฐชาติและแนวคิดชาตินิยมทำให้เกิดการเข่นฆ่าและกระทำความรุนแรงต่อชาติพันธุ์กลุ่มน้อย ดังนั้นเขาจึงไม่ต้องการรัฐชาติ

“ในประเทศใกล้เคียง ทหารข่มขืนผู้หญิง (กลุ่มชาติพันธุ์) เป็นเรื่องยอมรับได้ ดูสิว่าความรุนแรงต่อชนกลุ่มน้อยนั้นอยู่ในอุดมการณ์ของเขาเลย” ทาคุชินยังเปรียบเทียบกับสถานการณ์ในพม่าที่รัฐชาติพยายามกระทำความรุนแรงต่อชาติพันธุ์กลุ่มน้อย แนวคิดดังกล่าวมาจากการที่รัฐชาติเปรียบเสมือน ‘ชุมชนจินตกรรม’ ที่คนชนชาติหนึ่งสร้างขึ้นมาและพยายามจะยึดครองหรือครอบงำชนชาติอื่นๆ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นใน AANES คือการที่คนหลากหลายชาติพันธุ์สร้าง ‘ชุมชนจินตกรรม’ ร่วมกัน


[1] Dissent Magazine. “The Revolution in Rojava.” 22 April 2015.

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save