fbpx
เมื่อนักข่าวต้องเผชิญมวลมหาผรุสวาจา (และกิริยา): การใช้ความรุนแรงต่อสื่อที่สนับสนุนโดยรัฐ

เมื่อนักข่าวต้องเผชิญมวลมหาผรุสวาจา (และกิริยา): การใช้ความรุนแรงต่อสื่อที่สนับสนุนโดยรัฐ

“โง่เง่า” “หุบปาก” “โสเภณี” “ขี้โกหก” “ไปลงนรกซะ”

ข้อความเหล่านี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งจากสารพัดคำด่าทอบนเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ที่ใช้โจมตี มาเรีย เรสซา (Maria Ressa) นักวารสารศาสตร์มือฉมังผู้ก่อตั้งสำนักข่าวแรปเปลอร์ (Rappler) ในฟิลิปปินส์ จากการที่เธอและกองบรรณาธิการติดตามตรวจสอบนโยบายปราบปรามยาเสพติดและการใช้อำนาจโดยมิชอบของประธานาธิบดีโรดริโก ดูแตร์เต มาอย่างต่อเนื่อง

ถ้อยคำเหล่านี้ไม่ได้ปรากฏเพียงครั้งสองครั้ง แต่เกิดขึ้นตลอด 5 ปีที่ผ่านมา ทีมนักวิจัยในโครงการของ UNESCO ซึ่งศึกษาเรื่องความรุนแรงบนพื้นที่ออนไลน์ (online violence) ต่อนักข่าว โดยเฉพาะนักข่าวสตรี วิเคราะห์ข้อความบนทวิตเตอร์เกือบ 4 แสนข้อความและโพสต์บนเฟซบุ๊กกว่า 57,000 โพสต์ที่โจมตีมาเรีย เรสซา ตั้งแต่ปี 2016 ถึง 2021

งานวิจัยพบว่า เรสซาถูกโจมตีทั้งในฐานะนักวารสารศาสตร์และด้วยความที่เป็นผู้หญิง ข้อความที่โจมตีร้อยละ 60 มุ่งทำลายความน่าเชื่อถือของเธอ โดยเนื้อหาส่วนหนึ่งเป็นการใช้ข้อมูลบิดเบือนและข้ออ้างที่เป็นเท็จเพื่อชี้ว่าเธอกุ “ข่าวปลอม” รวมถึงเนื้อหาเกี่ยวกับการเมืองซึ่งกล่าวหาว่าเธอและการรายงานของเธอต่อต้านประธานาธิบดีดูแตร์เต ขณะที่ข้อความอีกร้อยละ 40 มุ่งไปที่เรื่องส่วนตัว ไม่ว่าจะเป็นร่างกาย สีผิว และลักษณะทางเพศ โดยใช้ภาษาที่เหยียดเพศ เกลียดชังผู้หญิง และหยาบคาย ไปจนถึงการขู่ว่าจะข่มขืนและฆ่า

การศึกษาครั้งนี้ยังพบรูปแบบการโจมตีที่มีการจัดการอย่างเป็นระบบโดยใช้บัญชีปลอมและบอต โดยเพจเฟซบุ๊กอย่างเป็นทางการของเธอเป็นพื้นที่ที่พบข้อความโจมตีอย่างแพร่หลาย กล่าวคือ ทุกๆ 1 ความเห็นเชิงบวก จะมีความเห็นที่โจมตีเธอ 14 โพสต์ แม้เฟซบุ๊กจะพบเครือข่ายบัญชีที่มีพฤติกรรมร่วมกันในการสร้างความเข้าใจผิดเกี่ยวกับตัวตน (coordinated inauthentic behavior: CIB) และลบบัญชีเหล่านี้ออกไปบ้าง แต่เรสซาก็บอกว่ายังไม่เพียงพอ จนเธอต้องเลิกใช้เพจเฟซบุ๊กไปและรู้สึกว่าใช้ทวิตเตอร์แล้วปลอดภัยกว่า

ผู้โจมตียังใช้แฮชแท็ก มีม และภาพตัดต่อเพื่อเพิ่มปริมาณข้อความที่คุกคาม รวมทั้งใช้เชิญชวนให้คนอื่นๆ มีส่วนร่วมในการโจมตี ขณะเดียวกันก็มีผู้นำข้อมูลส่วนบุคคลและส่วนตัวของเธอมาเปิดเผย (doxxing) เพื่อกระตุ้นให้เกิดการทำร้ายเรสซาในพื้นที่ออฟไลน์ด้วย

ความรุนแรงบนพื้นที่ออนไลน์ต่อเรสซามักจะเกิดขึ้นหลังจากที่เธอปรากฏตัวทางสื่อเมื่อมีเหตุการณ์สำคัญๆ เช่น ได้รับรางวัลระดับนานาชาติ หรือไปขึ้นศาล (เรสซาและอดีตคอลัมนิสต์ของแรปเปลอร์อีกคนถูกศาลตัดสินว่ามีความผิดในข้อหาหมิ่นประมาททางไซเบอร์ไปแล้ว 1 คดีเมื่อกลางปีที่แล้วจากการรายงานเกี่ยวกับธุรกิจยาเสพติดและค้ามนุษย์ของนักธุรกิจคนหนึ่ง ซึ่งมีโทษจำคุก 6  ปี และมีคดีที่ยังรอการพิจารณาอยู่อีกอย่างน้อย 9 คดี) อีกทั้งยังมีการโจมตีเพิ่มขึ้นหลังจากที่แรปเปลอร์เผยแพร่รายงานเชิงสืบสวนเกี่ยวกับรัฐบาล หรือเมื่อเรสซารายงานหรือเขียนบทความแสดงความเห็นเกี่ยวกับข้อมูลบิดเบือนและประธานาธิบดีดูแตร์เต

ทีมนักวิจัยวิเคราะห์ว่า ประธานาธิบดีดูแตร์เตซึ่งประณามเรสซาอย่างเปิดเผยเรื่อยมาเป็นผู้กระตุ้นให้มีการโจมตีนักข่าวผู้นี้ การคุกคามอย่างรุนแรงมักมีลักษณะเป็นการจัดการโดยรัฐ (state-orchestrated) อย่างการจ้างผู้ใช้สื่อออนไลน์ที่มีผู้ติดตามจำนวนมากเพื่อโจมตีเรสซา โดยผลิตซ้ำข้อความจากดูแตร์เตเอง รวมถึงจากบล็อกเกอร์และผู้มีอิทธิพลทางออนไลน์ที่สนับสนุนดูแตร์เตเพื่อกล่าวหาว่าร้ายเธอ

กลยุทธ์การใช้ข้อมูลบิดเบือนเพื่อโจมตีเรสซาและสำนักข่าวแรปเปลอร์สอดคล้องกับผลสำรวจของ UNESCO และ International Center For Journalists (ICFJ) ที่พบว่า นักข่าวสตรีร้อยละ 41 ที่เข้าร่วมการสำรวจบอกว่า เคยได้รับความรุนแรงทางออนไลน์ที่เชื่อว่าเชื่อมโยงกับแคมเปญข้อมูลบิดเบือนที่เป็นการจัดตั้งขึ้น

ทีมนักวิจัยตั้งข้อสังเกตว่า “การโจมตีเรสซาไม่เพียงลดทอนความน่าเชื่อถือของเรสซาและเอื้อต่อการใช้กฎหมายเพื่อคุกคามเธอ แต่ยังกัดกร่อนความเชื่อมั่นของสาธารณะต่องานวารสารศาสตร์ที่เป็นอิสระและข้อเท็จจริงด้วยการปั่นให้เกิดความสับสน ขณะเดียวกันก็ทำลายเสรีภาพสื่อในฟิลิปปินส์ซึ่งเป็นเสาหลักของประชาธิปไตยด้วย”

ข้อเสนอแนะส่วนหนึ่งในการแก้ไขปัญหานี้คือ ผู้แสดงทางการเมืองต้องแสดงความรับผิดรับชอบต่อการยุยงให้เกิดความรุนแรงต่อนักข่าวสตรี ขณะที่องค์กรข่าวก็ควรจัดฝึกอบรมหรือมีแนวปฏิบัติเรื่องความไหวรู้ต่อเพศสภาพสำหรับคนทำงาน รวมถึงให้การสนับสนุนด้านความปลอดภัยทางดิจิทัลและกายภาพแบบบูรณาการ (digital and physical security) และการสนับสนุนด้านจิตใจต่อนักข่าวหญิงที่ถูกโจมตี นอกจากนี้ สื่อก็ควรรายงานประเด็นนี้อย่างต่อเนื่องเพื่อให้ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มแสดงความรับผิดรับชอบหรือมีนโยบายเพื่อป้องกันความรุนแรงเหล่านี้

จากความรุนแรงต่อนักข่าวในฟิลิปปินส์ สู่การคุกคามเสรีภาพสื่อและการแสดงความคิดเห็นในไทย

เหตุที่ผู้เขียนนำเรื่องนี้มาเล่าเพราะเห็นว่าสังคมไทยมีเหตุการณ์ที่คล้ายกันอยู่ 2 เรื่อง และข้อสรุปของคณะนักวิจัยที่ชี้ว่าการใช้ความรุนแรงต่อสื่อและผู้วิจารณ์รัฐเป็นอันตรายต่อประชาธิปไตย น่าจะเป็นสิ่งที่บ่งบอกว่าเหตุการณ์เหล่านี้ไม่ปกติและต้องได้รับการแก้ไข

กรณีความรุนแรงทางออนไลน์ต่อมาเรีย เรสซา ไม่ต่างจากการใช้แคมเปญข้อมูลบิดเบือนในไทยเพื่อให้ร้ายและคุกคามนักสิทธิมนุษยชนหญิง นักกิจกรรมทางการเมือง นักการเมืองฝ่ายค้าน สื่อมวลชน และผู้วิจารณ์รัฐ ซึ่ง ส.ส. วิโรจน์ ลักขณาอดิศรจากพรรคก้าวไกล อภิปรายในสภาเมื่อปีที่แล้วว่าเป็นปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารที่ได้รับงบประมาณจากหน่วยงานรัฐ ทั้งยังสอดคล้องกับรายงานของทวิตเตอร์และเฟซบุ๊กเมื่อเร็วๆ นี้ที่พบบัญชีที่เชื่อมโยงกับปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารของรัฐ และต้องลบบัญชีเหล่านี้ออกเนื่องจากเป็นพฤติกรรมที่หลอกลวงและละเมิดมาตรฐานการใช้แพลตฟอร์มของชุมชน

นักสิทธิมนุษยชนและอินฟลูเอนเซอร์ทางออนไลน์ได้ตอบโต้การใช้ความรุนแรงที่จัดการโดยรัฐด้วยการฟ้องกองทัพและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้รัฐยุติและแสดงความรับผิดรับชอบต่อปฏิบัติการที่ไม่ชอบธรรม เพราะผลเสียไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะต่อตัวผู้ถูกโจมตี แต่ยังบั่นทอนการสนทนาที่มีอารยะบนพื้นที่ออนไลน์และสั่นคลอนกระบวนการประชาธิปไตยด้วย

อีกเหตุการณ์ที่ผู้เขียนเห็นว่าเป็นการใช้ความรุนแรงต่อสื่อ แม้จะ (ดู) ไม่ใช่ความรุนแรงระดับเดียวกับที่มาเรีย เรสซาประสบ แต่ก็เป็นสัญญาณที่น่าวิตก คือกรณีเมื่อเร็วๆ นี้ ที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาไม่พอใจคำถามเรื่องการแต่งตั้งตำแหน่งตำรวจแล้วนำสเปรย์แอลกอฮอล์มาฉีดใส่นักข่าวจนสื่อต่างประเทศนำไปรายงานต่อ หรือการที่พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ย้อนนักข่าวเรื่องวุฒิการศึกษาโดยมีนัยยะว่าด้อยกว่าคนที่จะมาเป็นรัฐมนตรีใหม่

ดูเผินๆ นี่ไม่ใช่เรื่องใหญ่โต ไม่มีใครได้รับอันตรายถึงชีวิตหรือรู้สึกถูกคุกคาม บางคนอาจบอกว่าไปขยายความให้เป็น “ดราม่า” ทำไม ก็เขาเป็นทหาร หยอกแรงๆ แค่นี้ ทำไมต้องมองว่าเป็นความรุนแรง คิดมากไปหรือเปล่า

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่บุคคลที่เป็นระดับหัวหน้าคณะรัฐมนตรีและพรรคการเมืองปฏิบัติต่อนักข่าวเหมือนเป็น ‘เด็ก’ แทนที่จะเห็นเป็นตัวแทนประชาชนที่ต้องการทราบข้อเท็จจริงและความเห็นในประเด็นที่ส่งผลกระทบต่อสาธารณะ ก่อนหน้านี้ก็มีการโยนสิ่งของใส่ (แกล้ง) ชกท้อง ชี้หน้า ตวาด ส่งสายตาอาฆาต ทำหน้าหงิกหน้างอ หรือตอบเพียงว่าไม่รู้ไม่เห็นแบบเหวี่ยงๆ นับครั้งไม่ถ้วน (ถ้าลองเก็บสถิติจริงจัง นี่ก็อาจจะเป็น data journalism หรือหัวข้อวิจัยที่น่าสนใจดีเหมือนกัน) แต่ไม่ว่าครั้งไหน นักข่าวก็ช่างอดทน เห็นเป็นการล้อเล่นและไม่ถือสา โดยให้เหตุผลว่าเกรงว่าถ้าโต้แรงๆ ไป คนเหล่านี้จะไม่ให้สัมภาษณ์ แล้วก็เลยพาลไม่ได้ ‘ข่าว’ กันไปหมด

นี่ยังไม่รวมประเด็นที่ว่าผู้สื่อข่าวจำนวนไม่น้อยเป็นผู้หญิง การใช้ท่าทีข่มขู่คุกคามหรือหยอกล้อแบบไร้วุฒิภาวะของบุคคลผู้มีอำนาจยังสะท้อนวิธีคิดแบบชายเป็นใหญ่ ที่อยากทำอะไรก็ทำโดยไม่ได้ให้เกียรติคนที่ต้องปฏิสัมพันธ์ด้วยหรือเห็นว่าสวนทางกับคุณค่าสากลอย่างไร

เมื่อเปรียบเทียบกับพฤติกรรมคล้ายๆ กันในรัฐบาลก่อนหน้านี้ ไม่ว่าจะเป็นกรณีอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตรชูป้ายคำถามสร้างสรรค์-ไม่สร้างสรรค์เพื่อตอบโต้การตั้งคำถามของสื่อ หรืออดีตนายกฯ สมัคร สุนทรเวชปะทะคารมกับสื่ออย่างดุเดือดบ่อยครั้ง เมื่อได้รับการปฏิบัติเช่นนี้ ทั้งองค์กรสื่อ องค์กรวิชาชีพ และคนในสังคมก็มักจะวิจารณ์ทันทีว่าไม่เหมาะสม กระทั่งมีการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการกระทำเหล่านี้ด้วยซ้ำ

แน่นอนว่าควรพิจารณาด้วยว่าทั้งประเด็นและวิธีการตั้งคำถามของผู้สื่อข่าวนั้นดูเป็นเหตุเป็นผลหรือชี้นำจนชวนโมโหหรือไม่อย่างไร แต่เรื่องนี้ประชาชนต้องเป็นผู้ตัดสิน ไม่ใช่ผู้บริหาร และไม่ว่าจะอย่างไร เมื่อเป็นประเด็นเกี่ยวกับประโยชน์สาธารณะ ผู้กำหนดนโยบายก็ไม่มีข้ออ้างใดๆ ที่จะเลี่ยงการตอบคำถามและคุกคามสื่อมวลชนกลับ

การแสดงพฤติกรรมอันน่ารังเกียจสะท้อนการแสดงอำนาจอย่างไม่ชอบธรรมของสถาบันที่ต้องรับใช้ประชาชน การมองว่าการกระทำที่คุกคามผู้อื่นเป็นเรื่องปกติ เป็นเรื่องล้อเล่นขำๆ ก็เท่ากับยอมรับการใช้ความรุนแรงและอำนาจของรัฐต่อประชาชน

หากนักข่าวเห็นว่าพฤติกรรมเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งในวิธีการต่อรองความสัมพันธ์กับแหล่งข่าว (ระดับสูง) ซึ่งท้ายที่สุดก็ไม่ได้โกรธเคืองกันจริงจัง ก็เข้าใจได้ แต่สำหรับคนในสังคมที่อยากได้สื่อวารสารศาสตร์ที่ทำหน้าที่ตรวจสอบสถาบันที่มีอำนาจมากกว่าการถูกปฏิบัติเหมือนเป็นผู้น้อยที่ด้อยกว่า อย่ามองว่านี่เป็นเรื่องของ ‘ลิ้นกับฟัน’ ที่กระทบกระทั่งกันเป็นธรรมดา หรือเป็นเพียงความไร้มารยาทของปัจเจก แต่ต้องเห็นว่านี่เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมพ้นผิดลอยนวลเพื่อปัดความรับผิดรับชอบของผู้บริหารประเทศ ทั้งยังเป็นการคุกคามและปิดกั้นสื่อรูปแบบหนึ่งเพื่อไม่ให้สาธารณะเข้าถึงข้อเท็จจริง ไม่ต่างจากการใช้ความรุนแรงแบบอื่นๆ

การที่ผู้บริหารประเทศปฏิบัติต่อนักข่าวอย่างไม่ให้เกียรติและมองสื่ออย่างเป็นปฏิปักษ์ โดยเฉพาะเมื่อรู้ทั้งรู้ว่ามีกล้องจับตลอดเวลา​ ก็เท่ากับไม่ใส่ใจและไม่ให้เกียรติต่อเสียงของประชาชนที่ (ตัวเองอ้างว่า) เลือกเข้ามาบริหารประเทศ รวมถึงประชาชนคนอื่นๆ ด้วย

ดังนั้น ประชาชนจึงต้องช่วยกันวิพากษ์วิจารณ์ และสร้างวัฒนธรรมให้ผู้กำหนดนโยบายต้องรับผิดรับชอบเพื่อไม่ให้รัฐใช้ความรุนแรงเพื่อคุกคามและปิดกั้นสื่อ ทั้งแบบปกปิดแนบเนียนเช่นที่เกิดขึ้นกับคุณมาเรีย เรสซา ภาคประชาสังคม และผู้วิจารณ์รัฐ ไปจนถึงแบบที่อ้างความเป็น ‘ผู้ใหญ่’ เข้าข่มลูกเดียวโดยไม่ใช้วุฒิภาวะหรือสติปัญญาใดๆ ไตร่ตรอง เพื่อให้ผู้สื่อข่าวรุ่นใหม่ได้ทำหน้าที่เป็นตัวแทนประชาชนได้อย่างปลอดภัยและมีศักดิ์ศรีเท่าเทียมกัน แทนที่จะต้องยอมจำนนต่ออำนาจเหมือนไม่มีทางเลือกเช่นที่ผ่านมา.

อ้างอิง

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save