fbpx

นอร์เวย์ สถาบันการจดจำ การจดจำสถาบัน

ผมสนุกสนานกับการได้อ่านบทความ “ย้อนรอย ‘คาร์ล บ็อค’ ลอบย้าย ‘พระพุทธรูปเมืองฝาง’ ไปยุโรป” โดยอ.เพ็ญสุภา สุขตะ ซึ่งทำให้ได้ทราบเกร็ดใหม่ๆ และเห็นแง่มุมซึ่งเป็นประโยชน์ในการทำความเข้าใจเหตุการณ์ที่กว้างขวางยิ่งขึ้นในทางวิพากษ์วิจารณ์

ทั้งนี้ด้วยความทรงจำของผมเกี่ยวกับนักธรรมชาติวิทยาชาวนอร์เวย์ผู้นี้ มีเพียงว่าเขาได้บันทึกช่วงเวลาที่เขาเดินทางในสยาม งานของเขาถูกนำมาใช้โดยทั้งนักศึกษาและนักวิชาการที่ศึกษาเรื่องไทย คือเรื่อง Temples and Elephants: The Narrative of a Journey of Exploration Through Upper Siam and Lao (1884) เขาจดบันทึกสิ่งที่เขาเห็นซึ่งเป็นข้อมูลที่ไม่ได้อยู่ในกองจดหมายเหตุแห่งชาติ เป็นแง่มุมประวัติศาสตร์สังคม วัฒนธรรม จากสายตาคนนอก

คาร์ล บ็อค (1849-1932)

แต่จากบทความ (ซึ่งอาจจะมีใครโต้แย้งก็ตามแต่หลักฐานเถิด) ดูเหมือนว่ามีสิ่งที่บ็อคไม่อยากจดบันทึกอยู่ด้วยแยะทีเดียว และเป็นเรื่องที่รัฐบาลนอร์เวย์ในปัจจุบันควรจะต้องตั้งคณะกรรมการเพื่อสอบสวนเรื่องนี้ ไหนๆ ก็ตั้งตัวเป็น ‘ประเทศคนดี’ แล้ว

ผมเคยเขียนถึงบทบาทของนักนิเวศปรัชญาชายนอร์เวย์ ที่เดินทางไปเทือกเขาของประเทศเนปาล ช่วงทศวรรษที่ 1970 ไปพบกับชาวเศรปา (sherpa) จึงสร้างภาพความแปลก (exoticise) วาดภาพแทนชีวิตของชาวเศรปาในอุดมคติขึ้น เพื่อกลับมาตอบสนองอุดมคติชนชั้นกลางของการรักสิ่งแวดล้อมในประเทศ พร้อมๆ กับชีวิตอันยากจนและความตายของแรงงานลูกหาบชาวเศรปาในโลกความจริง

ผมเคยเขียนถึงสวีเดนที่ประกาศตนเป็นกลางท่ามกลางความขัดแย้งของโลก แต่กลับส่งกองกำลังเข้าร่วมในสงครามในอัฟกานิสถาน

ผมเคยเขียนถึงเดนมาร์ค ที่สร้างความทรงจำว่าตนเองเป็นเจ้าอาณานิคมแบบ ‘ยกเว้น’ ไม่ได้โหดเหี้ยมรุนแรง ไม่ได้ทำการรบสมรภูมิใหญ่แบบมหาอำนาจอยู่โรปอื่นๆ เป็นเจ้าอาณานิคมที่สร้างความทรงจำสาธารณะว่าตนเองมีความกรุณา ทั้งนี้เพื่อให้สอดรับกับภาพลักษณ์ของประเทศในช่วงหลังสงครามเป็นต้นมาในฐานะเป็นผู้ผลักดันกระบวนการสันติภาพ

ดังนั้นดูเหมือนว่า นี่ไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใด ที่ความเข้าใจและความทรงจำว่าด้วยโลกซีกใต้จะถูกปรับแต่งเพื่อให้เข้ากับรสนิยมของชาวสแกนดิเนเวียผู้มีอำนาจบางกลุ่ม (ย้ำ: กระบวนการนี้เป็นทั้งสองทาง มีการสร้างภาพอุดมคติของสแกนดิเนเวียสำหรับชนชั้นกลางและสูงในที่อื่นด้วย แต่เป็นเรื่องที่ต้องอภิปรายแยกไปอีกต่างหาก) ไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใด ที่แรงงานในโลกอาณานิคมจะถูกขูดรีดเพื่อความก้าวหน้าของชนชั้นกลางและชนชั้นสูงในยุโรป ซึ่งในกรณีของบ็อคก็เป็นตัวอย่างหนึ่งท่ามกลางอีกหลายกรณี

ในยุคที่มีการล้มรูปปั้นของ ซีซิล โรดส์ ในแอฟริกาใต้ เช่นยุคของเรานี้ เวลาได้เรียกร้องให้ประเทศอาณานิคมทั้งหลายทบทวนประวัติศาสตร์ของตนเอง อย่างเช่นในอาฟริกา มีหลายกรณีการเรียกร้องให้คืนโบราณวัตถุที่เจ้าอาณานิคมยึดเอาไป มีตัวอย่างของประเทศเบนินที่ประธานาธิบดีเรียกร้องการคืนโบราณวัตถุจากฝรั่งเศส แต่ได้รับการปฏิเสธ ทั้งๆ ที่ประธานาธิปดีฝรั่งเศสประกาศหนักหนาว่าต้องคืนโบราณวัตถุกลับสู่แหล่งที่มา ไม่ใช่รวมอยู่ที่พิพิธภัณฑ์หรือการสะสมของเอกชน ที่ต่างหล่อเลี้ยงขบวนการโจรกรรมวัตถุโบราณอย่างคึกคัก

รัฐ-ชาติ ผู้สร้างสถาบันการจดจำช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง

กระนั้น สิ่งที่น่าสนใจกว้างออกไปคือ คนเช่นบ็อคนั้นเป็นส่วนหนึ่งของการเป็นสถาบันของการก่อตัวขึ้นของรัฐ-ชาตินอร์เวย์ ในการสถาปนาความทรงจำสาธารณะ อาชีพของเขา ไม่ว่าจะเป็นการทำงานกงสุลในเมืองท่าใหญ่ๆ การเป็นนักสำรวจที่ได้รับการสนับสนุนจากบรรษัทใหญ่ๆ การอยู่ในแวดวงขุนนางและปัญญาชน ทำให้เขาก้าวเข้าไปเป็นสมาชิกของสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งคริสเตียนเนีย (ต่อมาคือราชบัณฑิตยสภานอร์เวย์ – Det Norske Videnskaps-Akademi) และได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นอัศวิน เขาเป็นส่วนสำคัญในความทรงจำของความเป็นชาติ ในฐานะของนักธรรมชาติวิทยาผู้สำรวจตะวันออกไกล

ในช่วงเวลาที่เขากำลังเดินทางอยู่ในสยามนั้น นอร์เวย์ยังไม่ได้แยกตัวออกเป็นประเทศอิสระ แต่ในขณะเดียวกันก็เกิดการก่อตัวขึ้นของกลุ่มทางปัญญาที่มุ่งไปสู่การเป็นรัฐ-ชาติอิสระของตนเอง

Det Norske Videnskaps-Akademi

เมื่อฝรั่งเศสพ่ายแพ้ในสงครามนโปเลียน ขั้วอำนาจก็เกิดการเปลี่ยนแปลง นอร์เวย์ซึ่งอยู่ใต้การปกครองของเดนมาร์คอยู่ก่อนหน้าเข้าร่วมกับฝ่ายฝรั่งเศส เมื่อฝรั่งเศสแพ้สงคราม อำนาจของกษัตริย์เดนมาร์คจึงได้รับผลกระทบอย่างมาก สบโอกาสของผู้ปกครองนอร์เวย์ที่จะสลัดอำนาจของเดนมาร์คเพื่อก้าวเข้าสู่การเป็นรัฐชาติอิสระ หนึ่งในความเคลื่อนไหวสำคัญคือการร่างรัฐธรรมนูญเอดสโวล (Eidsvoll) ซึ่งแทบจะเรียกได้ว่าเป็นการประกาศเอกราชกลายๆ ดังนั้นเมื่อสวีเดนอ้างเอานอร์เวย์ไปจากเดนมาร์ค จึงเป็นการปกครองที่เป็นสหภาพกันเสียมากกว่าครั้งยังอยู่ภายใต้การปกครองของเดนมาร์ค

ต้องไม่ลืมว่าสถาบัน ‘แห่งชาติ’ ต่างๆ ก็เกิดขึ้นในเวลาดังกล่าวนี้ คือกลางศตวรรษที่ 19 เป็นต้นไป และหนึ่งในสถาบันที่ว่านี้ ก็คือ สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งคริสเตียนเนียในปี 1857 นั่นเอง ซึ่งรวบรวมเอาขุนนาง ปัญญาชน พ่อค้าคหบดีกระฎุมพีนอร์เวย์เข้ามาเป็นสมาชิก

นี่คือการสร้างสถาบันให้เกิดความทรงจำแห่งชาตินอร์เวย์ร่วมกัน หลากหลายปัจจัยประสานกันไปสู่การแยกจากสวีเดนในปี 1905

สงครามโลกครั้งที่สองและความทรงจำของสงคราม

แต่ความท้าทายของการสร้างความทรงจำแห่งชาติใหม่อย่างนอร์เวย์ ไม่มีอะไรจะมากเท่ากับในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองเมื่อกองทัพนาซีเข้าบุก ในวันที่ 9 เมษายน 1940 มีการพยายามต่อต้านจากกองทัพนอร์เวย์บางจุด กษัตริย์และคณะรัฐมนตรีหนีทัน หากแต่มีนักการเมืองผู้หนึ่งคือ วิดกึน ควิสลิง (Vidkun Quisling) พยายามทำรัฐประหารและเปลี่ยนนอร์เวย์ให้อยู่ภายใต้ระบอบนาซี เขาได้รับการแต่งตั้งจากเยอรมนีให้เป็นนายกรัฐมนตรีของนอร์เวย์ในปี 1942 ตั้งคณะรัฐมนตรีขึ้นปกครองท่ามกลางแรงต้านระบอบเขาจากคนนอร์เวย์

หลังสงคราม ความทรงจำของเหตุการณ์ดังกล่าวจึงปรากฏขึ้นในสาธารณะของนอร์เวย์ในเรื่องเล่าแบบตำนาน เดวิดและโกไลแอธ (David and Goliath) เป็นราวกับตำนานกำเนิดชาตินอร์เวย์สมัยใหม่ ระหว่างประชาชนชาวนอร์เวย์ที่เรียกตนเองว่า jøssinger กับระบอบของควิสลิงและผู้สนับสนุนคือ quislinger ซึ่งเรื่องเล่าของเหตุการณ์นี้ปรากฏออกเป็นทั้งหนังสือ การจัดงานรำลึก วรรณกรรม กวี เพลง พิพิธภัณฑ์ การจัดแสดง แผนที่ สำมะโนประชากร ฯลฯ และได้รับการสนับสนุนส่งเสริมโดยรัฐบาลนอร์เวย์หลังสงครามเองด้วย ทั้งนี้เพราะว่า ‘เรื่องเล่าของชาตินอร์เวย์ที่หันเหออกไปจากเรื่องของการต่อต้านระบอบนาซีนั้นเป็นภัยอย่างยิ่ง’

การจดจำสถาบัน

Kongebjørka

ที่ขาดไม่ได้ ยังต้องมีเรื่องเล่าของวีรกรรมของกษัตริย์นอร์เวย์เรื่องเล่าว่าด้วยความกล้าหาญของพระองค์ที่จะไม่ยอมสละบัลลังก์และไม่ยอมสั่งการให้กองทัพนอร์เวย์ยอมแพ้นั้นสำคัญอย่างยิ่ง

ตัวอย่างที่สำคัญสองตัวอย่างที่สะท้อนเรื่องเล่านี้ คือภาพถ่ายของกษัตริย์ฮาคอนที่ 7 พร้อมด้วยมกุฏราชกุมารโอลาฟกับต้นเบิร์ชพระราชทาน (Kongebjørka) ซึ่งเป็นภาพของความทรงจำแห่งชาติ เป็นภาพที่ถ่ายช่วงที่กองทัพกำลังทิ้งระเบิดในช่วงปลายเดือนพฤษภาคม 1940 ภาพนี้ตกทอดอยู่ในความทรงจำ (ของอย่างน้อยคนรุ่นเกิดทันยุคสงคราม)

อีกตัวอย่างคือภาพยนตร์ Kongens nei (2016) ที่สร้างจากเหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งกวาดทั้งรายได้และรางวัลจากสาธารณชนนอร์เวย์ เป็นเรื่องเล่าที่ตอกย้ำความทรงจำแห่งชาตินี้

เพราะรัฐ-ชาติย่อมต้องมีความทรงจำร่วมบางประการ อะไรที่หันเหไปจากนั้นย่อมเป็นภัยอย่างยิ่ง

Kongens nei (2016)

อ้างอิง

  • เพ็ญสุภา สุขตะ, “ย้อนรอย ‘คาร์ล บ็อค’ ลอบย้าย ‘พระพุทธรูปเมืองฝาง’ ไปยุโรป”, มติชนสุดสัปดาห์ 11-17 ก.พ. 2565, 66
  • Philippe Baqué, “Europe stripped Africa of its artefacts; Sending the art home” Le Monde Diplomatique Aug. 2020
  • Henning Siverts, “Diplomat, Naturforsker og Oppdagelsesreisende
    Carl Bock”, Norsk Biografisk Leksikon, [https://nbl.snl.no/Carl_Bock], 13. februar 2009.
  • Clemens Maier, Making Memories: The Politics of Remembrance in Postwar Norway and Denmark. PhD Thesis, European University Institute, 2007.

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save