fbpx
StartDee: จุดเริ่มต้นการเรียนรู้ดีๆ ที่ทุกคนเข้าถึง  

StartDee: จุดเริ่มต้นการเรียนรู้ดีๆ ที่ทุกคนเข้าถึง  

ณรจญา ตัญจพัฒน์กุล เรื่อง

กมลชนก คัชมาตย์ ภาพ

 

– 0

 

“เราอยากเป็นโรงเรียนหลังที่สองที่เข้าใจนักเรียน และพร้อมช่วยหนุนให้นักเรียนมีโอกาสในชีวิตที่ดีขึ้น”

คุณอาจคุ้นหูกับประโยคที่ว่า ‘โรงเรียนคือบ้านหลังที่สอง’ แต่ ‘โรงเรียนหลังที่สอง’ คงไม่ใช่คำที่ได้ยินแล้วเห็นภาพทันทีว่าหมายความว่าอย่างไร แต่ StartDee อาจพอให้ความหมายใกล้เคียงคำนี้ได้บ้าง

StartDee เป็น เน็ตฟลิกซ์ทางการศึกษา เป็นแพลตฟอร์มรวมบทเรียนออนไลน์ฉบับสนุก เข้าใจง่าย เข้าถึงง่าย และเป็น ‘โรงเรียนหลังที่สอง’ ที่ว่ามานี้

ในวันที่โรงเรียนใกล้บ้านยังไม่ใช่โรงเรียนที่ดีเท่ากับโรงเรียนในเมืองหลวงหรือหัวเมืองใหญ่ ในวันที่คนยังต้องจ่ายเงินจำนวนมากเพื่อเข้าถึงการศึกษาระดับท็อป ในวันที่การศึกษากลับกลายเป็นตะแกรงร่อนสำหรับคนที่ประสบความสำเร็จออกมา ในวันที่การศึกษาดีๆ ที่ทุกคนเอื้อมถึงยังเป็นอุดมคติที่ก้าวไปไม่ถึง สตาร์ตอัปที่ทำเรื่องเทคโนโลยีการศึกษาแห่งนี้รับอาสาเปิดโรงเรียนหลังที่สองบนโลกออนไลน์ สร้างแอปพลิเคชันช่วยพานักเรียนไทย โดยเฉพาะคนที่มีโอกาสน้อยกว่าคนอื่นไปให้ถึงฝันมากยิ่งขึ้น

แต่ทำไมต้องเป็นแอปพลิเคชั่นบนสมาร์ตโฟน เทคโนโลยีจะยกกำลังพลังการเรียนรู้ได้อย่างไร กว่าจะออกมาเป็นบทเรียนแบบฉบับ StartDee ต้องผ่านอะไรบ้าง จะทำให้โลกธุรกิจและโลกการศึกษาไปด้วยกันได้อย่างไร ‘ครูใหญ่’ และ ‘คุณครู’ ที่นี่คิด-ลงมือเพื่อนักเรียนไทยทุกคนอย่างไรบ้าง

ประตูของ ‘โรงเรียนหลังที่สอง’ บนโลกออนไลน์ได้เปิดต้อนรับให้เราเข้าไปทำความรู้จักแล้ว

 

เบื้องหลังการทำงานของ StartDee

 

 1 –

 

“ทำไมถึงตั้งชื่อแอปพลิเคชันว่า StartDee?” เราถามทีมผู้บริหาร StartDee

หลายคนอาจรู้จัก ไอติม-พริษฐ์ วัชรสินธุ ในภาพที่ต่างกันไป บ้างอาจคุ้นเคยกับภาพนักการเมืองรุ่นใหม่ หรือบางคนอาจรู้จักเขาในฐานะแกนนำกลุ่มรัฐธรรมนูญก้าวหน้า (ConLab) ณ ห้วงเวลาที่การร่างรัฐธรรมนูญใหม่เป็นวาระทางการเมืองที่คนเอ่ยถึงอย่างกว้างขวางในสังคม

แต่ไอติมที่อยู่ตรงหน้าเราวันนี้ ไม่ใช่นักการเมืองที่เราคุ้นเคย และไม่ใช่แกนนำกลุ่มรัฐธรรมนูญก้าวหน้า แต่เขาคือ CEO ของ StartDee สตาร์ตอัปน้องใหม่ไฟแรงด้านการศึกษา

“ชื่อนี้คิดนานมากครับ” ไอติมตอบพลางหัวเราะ

“StartDee มาจากคำว่า study ที่แปลว่าเรียน แต่ตอนไปลงพื้นที่ตามโรงเรียนต่างๆ เราถามนักเรียนว่า เวลาได้ยินคำว่า study ความรู้สึกแรกที่เข้ามาในหัวคืออะไร ปรากฏว่าคำตอบที่ได้คือเครียด กังวล กดดัน เราคิดว่ามันเป็นภาพจำเกี่ยวกับการเรียนรู้ที่ไม่ดีเลย เราก็เลยอยากพลิกคำว่า study ที่มีความรู้สึกลบๆ ติดอยู่ ให้กลายเป็น ‘StartDee’ หรือจุดเริ่มต้นของชีวิตที่ดี เพราะเราที่นี่มีความเชื่อว่าโอกาสที่ดีในชีวิต เริ่มต้นจากการศึกษาที่ดี”

 

ไอติม-พริษฐ์ วัชรสินธุ
ไอติม-พริษฐ์ วัชรสินธุ

 

แต่ในวันนี้ ความหวังกับความจริงยังคงต่างกันอย่างสิ้นเชิง

“การศึกษาไทยคือความหนักหน่วง” โจ-จักรพล เบสุวรรณ นักการตลาดหนึ่งในผู้ก่อตั้ง StartDee และ vice president ฝ่ายการตลาดและการขายครุ่นคิดอยู่พักใหญ่ ก่อนกลั่นความรู้สึกที่มีต่อระบบการศึกษาไทยออกมา ทลายความเงียบในห้องลงอย่างฉับพลัน

“เด็กทุกวันนี้ต้องเรียน ’หนัก’ ยิ่งขึ้น ทุกคนต้องวิ่งอยู่ตลอดเวลาเพื่อจะไปให้ถึงเส้นชัย สอบเข้ามหาวิทยาลัยที่ดี ประสบความสำเร็จ และมีอนาคตที่ดีได้ แต่ต่อให้ลงแรงหนัก ก็ยังต้องเจอกับอารมณ์ ‘หน่วง’ ไม่ว่าจะลงแรงหนักไปขนาดไหน แต่เด็กหลายๆ คนก็ยังอยู่ห่างจากโอกาสที่จะเข้าถึงการศึกษาคุณภาพดี ต่อให้ตั้งใจเรียนหนังสือ พยายามทบทวนบทเรียน ทำการบ้าน แต่ก็เหนื่อยโดยที่ได้ความรู้กลับมาได้ไม่ค่อยเต็มเม็ดเต็มหน่วย”

แม้ว่าเด็กไทยจะใช้เวลาในห้องเรียนมากถึง 1,200 ชั่วโมงต่อปีก็ตาม แต่หากเราดูคะแนน PISA ที่วัดทักษะการอ่านและความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ของนักเรียน จะพบว่าคุณภาพการศึกษาไทยยังไล่ตามหลังประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซียและเวียดนาม ซ้ำร้ายอันดับคะแนนยังอยู่เกือบปลายแถวของกลุ่มประเทศที่เข้าร่วมทดสอบทั้งหมด 79 ประเทศ

ยิ่งไปกว่านั้น 1,200 ชั่วโมงที่ว่ามานี้ ยังไม่นับรวมจำนวนชั่วโมงที่หมดไปกับการเรียนพิเศษ

แต่แน่นอนว่าไม่ใช่ทุกบ้านจะมีเงินจ่ายให้กับการศึกษาคุณภาพดีราคาแพง

“การศึกษาควรเป็นสิ่งที่สร้างโอกาสให้กับทุกคน แต่ในโลกการศึกษาในปัจจุบัน การศึกษาคุณภาพดีกลับมีจำกัดจนคนที่เข้าไม่ถึงตรงนี้ คนที่ได้รับประสบการณ์การเรียนรู้ที่ไม่ดี หรือรู้สึกว่าเรียนไม่รู้เรื่องจะยิ่งถูกทิ้งห่างออกไปเรื่อยๆ กลายเป็นว่าแทนที่จะสร้างโอกาส การศึกษากลับกลายเป็นตะแกรงที่คอยร่อนเพียงแต่คนไม่กี่คนที่ประสบความสำเร็จออกมา” ภาพการศึกษาไทยในใจของ บูม-กษม อิทธิสวัสดิ์พันธุ์ อีกหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งและ vice president ฝ่าย product และ content นั้น ไม่ได้ต่างไปจากโจมากนัก

ภาพและความรู้สึกต่อการศึกษาไทยของบูมและโจ ถูกสรุปในคำพูดของไอติมว่า “การศึกษาคุณภาพดีเป็นสิ่งที่เข้าถึงได้ยากมาก”

ความเป็นจริงที่ทั้งสามคนเห็นและความฝันที่ทั้งสามคนใฝ่ฝันถึง คือจุดร่วมที่ร้อยเรียงทั้งความต่างของทั้งสามคนไว้ รวมถึงทุกคนที่ StartDee เช่นกัน

สำหรับไอติม StartDee คือการทำตามความเชื่อว่าการแก้ไขปัญหาการศึกษาต้องมุ่งเป้าไปที่ต้นตอของปัญหาสังคมทั้งหมด หากการศึกษาดี เศรษฐกิจจะเจริญเติบโต หากการศึกษาดี ความเหลื่อมล้ำจะลดลง หากการศึกษาดี สิ่งแวดล้อมจะอยู่อย่างยั่งยืน และนำไปสู่การเปิดประตูทางโอกาสการเรียนรู้ที่ดี เท่าเทียม เท่าทัน และเอื้อมถึงได้ง่ายสำหรับทุกคนมากยิ่งขึ้น

สำหรับอดีตวิศวกรอย่างบูม StartDee คือจุดที่โลกเทคโนโลยีและโลกการศึกษา ซึ่งเป็นโลกสองโลกที่เขาสนใจและเคยเข้าไปคลุกคลีมาบรรจบกันตรงกลาง หลังจากที่เขาเดินทางไปมาอยู่ระหว่างสองโลกนี้มาสักพักใหญ่

สำหรับนักการตลาดอย่างโจ StartDee คือการนำความรู้ด้านการตลาดมาตอบโจทย์ที่มากกว่าโจทย์ทางธุรกิจ เพราะสำหรับที่นี่ โจทย์ทางสังคมและโจทย์ทางธุรกิจต้องเดินไปพร้อมกัน

และนี่ก็คือจุด ‘Start’ ของ StartDee

 

ไอติม-พริษฐ์ วัชรสินธุ, บูม-กษม อิทธิสวัสดิ์พันธุ์, โจ-จักรพล เบสุวรรณ
ไอติม-พริษฐ์ วัชรสินธุ, บูม-กษม อิทธิสวัสดิ์พันธุ์, โจ-จักรพล เบสุวรรณ

 

– 2

 

เมื่อพูดถึงการเรียนหนังสือ ภาพแรกที่ผุดขึ้นมาในหัวของใครหลายคนคงหนีไม่พ้นโลกสี่เหลี่ยมที่มีเพียงครูและนักเรียนอยู่ในนั้น

แต่พอ StartDee ก้าวเข้ามา ก็อดคิดไม่ได้ว่าห้องเรียนจะเปลี่ยนไปมากน้อยเพียงใดเมื่อมีเทคโนโลยีก้าวเข้ามาอยู่ร่วมในห้องเรียน

ในวันที่ทุกคนต่างพูดว่าเทคโนโลยีกำลังเข้ามาพลิกโลกและชีวิตของผู้คน บ้างก็ว่าเทคโนโลยีจะเข้ามาทำงานบางอย่างแทนมนุษย์ ความสงสัยที่ผุดขึ้นมาอย่างเลี่ยงไม่ได้คือ แล้วครูจะหายไปจากห้องเรียนหรือเปล่า?

“เราไม่ได้มองว่า StartDee จะเข้ามาแทนที่โรงเรียนหรือครู ทุกคนที่นี่เชื่อว่าการเรียนรู้ที่ดีที่สุดคือการเรียนรู้ที่ผสมผสานระหว่างการเรียนรู้ที่โรงเรียนจากครูและการเรียนร่วมกับเพื่อนๆ เข้ากับการใช้เทคโนโลยีการศึกษามาช่วยเสริมในห้องเรียน”

“หากเปรียบว่าการศึกษาคือฟุตบอล คุณครูและโรงเรียนคือกองหน้า ส่วน StartDee คือกองหลังช่วงเสริมทีมให้แข็งแกร่งขึ้น” ไอติมเน้นย้ำถึงสิ่งที่ StartDee อยากเป็นด้วยความหนักแน่น

เมื่อถามว่ากองหลังชุดนี้มีความสามารถอะไรบ้าง ไอติมดีไซน์ให้กองหลังนี้เป็น Ed ‘TECH’ ที่จะเข้ามาช่วยทั้งครูและนักเรียนไปพร้อมๆ กัน และ 4 ตัวอักษร T-E-C-H แต่ละตัวอักษรก็แฝงบทบาทที่ StartDee อยากจะลงเล่นในสนามการศึกษาไว้ ซึ่งไม่ได้เข้ามาทดแทนตำแหน่งครูเลยแม้แต่น้อย

บทบาทแรก คือ T – Teaching อุดช่องโหว่เนื้อหาการเรียนที่หล่นหายไปในระบบการศึกษา เพราะทางโรงเรียนอาจไม่ได้มีครูที่เชี่ยวชาญครบทุกวิชา หรือแม้กระทั่งมีครูไม่พอ

บทบาทที่สอง คือ E – Experience ยกระดับประสบการณ์การเรียนรู้ด้วยการออกแบบบทเรียนออนไลน์ให้เหมาะกับพฤติกรรมการใช้สมาร์ตโฟน ซึ่งแน่นอนว่าผู้เรียนมีสมาธิจดจ่ออยู่หน้าจอโทรศัพท์ได้ไม่นานเท่ากับเรียนในห้องเรียน คลิปเนื้อหาของ StartDee จึงเป็นคลิปสั้นๆ ไม่เกิน 10 นาที พยายามแบ่งบทเรียนให้ย่อยที่สุด และเรียงลำดับจากเนื้อหาพื้นฐานจนถึงระดับลงลึก

บทบาทที่สาม คือ C – Classroom เล่นบทบาทเป็นผู้ช่วยสอนของครู ช่วยลดเวลาที่ครูต้องอธิบายเนื้อหาในห้องเรียน เพิ่มเวลาที่ครูจะใช้พูดคุย ทำกิจกรรมร่วมกับเด็ก และเปลี่ยนบทบาทครูจากคนป้อนเนื้อหาให้เป็นผู้ชี้นำกระบวนการเรียนรู้และพัฒนาทักษะต่างๆ อย่างที่ตอบโจทย์กับโลกที่หมุนเร็วขึ้นทุกวันนี้

และบทบาทสุดท้าย คือ H – Handmade สร้างประสบการณ์การเรียนรู้ที่เหมาะสมกับความต้องการของนักเรียนแต่ละคน (personalized) เพราะแต่ละคนย่อมมีจังหวะการเรียนรู้และความถนัดที่ต่างกันไป เมื่อผู้เรียนสามารถปรับแต่งการเรียนตามจังหวะของตัวเองได้แล้ว ความรู้สึกว่า ‘เรียนตามไม่ทัน’ ที่อาจเปลี่ยนเป็นความท้อแท้และถอดใจไปในที่สุดนั้น น่าจะกลายเป็นความรู้สึกดีกับการเรียน และช่วยให้วิ่งตามจังหวะในห้องเรียนทัน

แต่แน่นอนว่าในโลกที่เทคโนโลยีก้าวนำไปข้างหน้าจนอาจแทนที่มนุษย์ในโลกแห่งการทำงานได้ ‘เด็กหน้าห้อง’ ที่เปี่ยมไปด้วยความรู้เพียงอย่างเดียวตามแบบอุดมคติเก่าจึงไม่ใช่คำตอบสุดท้ายของระบบการศึกษาที่งอกงามอีกต่อไป

“โรงเรียนหลังที่สองแห่งนี้ไม่ได้ให้ความสำคัญกับการศึกษาเพียงในความหมายว่าเด็กจะต้องสอบได้คะแนนดีหรือสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้เท่านั้น เราอยากให้เด็กรู้สึกว่ากระบวนการเรียนรู้เป็นสิ่งที่สนุกและจำเป็นต่อชีวิต เพราะเมื่อมองสภาพความเป็นจริงของสังคมในปัจจุบัน ต้องยอมรับว่าการเรียนรู้ตลอดชีวิตเพื่อพัฒนาตนเอง เรียนรู้ทักษะใหม่ๆ กลายเป็นสิ่งสำคัญเพื่อให้ปรับตัวท่ามกลางกระแสโลกาภิวัตน์และโลกการทำงานที่เปลี่ยนไปทุกวัน”

“อย่างน้อย StartDee อยากเป็นตัวช่วยในกระบวนการเรียนรู้ ช่วยให้เด็กเข้าใจสิ่งที่เขาเคยไม่เข้าใจได้ และช่วยให้เห็นว่ากระบวนการเรียนรู้ที่ดีมีอยู่จริง” ไอติมกล่าวถึงความหวังที่ซ่อนไว้อยู่ในทุกบทเรียน

 

ไอติม-พริษฐ์ วัชรสินธุ
ไอติม-พริษฐ์ วัชรสินธุ

 

– 3

 

หางเสือหลักที่จะพาธุรกิจหนึ่งเติบโตและเดินหน้าต่อไปได้คือรายได้และผลตอบแทน

แต่ที่นี่ อีกสองหางเสือที่ขาดไม่ได้คือ ชีวิตของเด็กที่ดีขึ้นด้วยการศึกษา และวัฒนธรรมการทำงานที่เป็นมิตรและเปิดโอกาสให้คนทำงานได้เติบโต

โจเล่าให้เราฟังว่า จากประสบการณ์ที่อยู่ในแวดวงสตาร์ตอัปมาตลอด เขามองว่าความท้าทายในการทำธุรกิจสตาร์ตอัปคือ ต้องลงมือทำให้เร็ว ใช้ทรัพยากรที่มีอย่างคุ้มค่าที่สุด และสร้างอิมแพ็กทางธุรกิจให้ได้มากที่สุด

พอสตาร์ตอัปอย่าง StartDee ตั้งมั่นว่าต้องตอบโจทย์เรื่องการศึกษาที่เอื้อมถึงได้ง่ายมากขึ้น น้ำหนักความท้าทายจึงย้ายจากการสร้างรายได้ให้สูงที่สุดและการตอบแทนผลประโยชน์ให้แก่หุ้นส่วน ไปอยู่ที่การทำอย่างไรให้โอกาสทางการศึกษานี้ถึงมือผู้ที่กำลังต้องการมัน

“เราต้องชัดเจนว่ากลุ่มตลาดของเราคือใคร แอปพลิเคชันจะช่วยเด็กกลุ่มไหน เพราะเด็กๆ มีตัวช่วยนอกโรงเรียนหลายตัวมาก ไม่ว่าจะเป็นกวดวิชาใกล้บ้าน กวดวิชาบนแพลตฟอร์มออนไลน์ หรือคลิปวิดีโอที่หาดูได้ฟรีในยูทูป เพราะฉะนั้น เราต้องคิดว่าจะตีราคาอย่างไรเพื่อให้กลุ่มตลาดที่เราต้องการจะเจาะเข้าถึงได้และต้องตีโจทย์ว่ากลุ่มตลาดของเราต้องการคอนเทนต์แบบไหน เพราะแน่นอนว่าเราไม่สามารถเป็นเบอร์หนึ่งของเด็กนักเรียนทุกคนได้”

“ความท้าทายคือ การเสนอขายผลิตภัณฑ์ไม่ได้จบเพียงแค่ให้ตลาดรู้จักว่าเราเป็นใครแล้วซื้อมาขายไปเท่านั้น ในเมื่อกลุ่มตลาดคือนักเรียนที่ครอบครัวมีรายได้ไม่มาก มีโอกาสได้เรียนโรงเรียนดีๆ ไม่มาก เข้าไม่ถึงการเรียนเสริมนอกโรงเรียน หรือไม่ได้มีแรงบันดาลใจในการเรียนมากนัก สิ่งที่เราต้องทำเพิ่มนอกเหนือไปจากการให้ความรู้ตลาดว่าเราคือเน็ตฟลิกซ์ทางการศึกษา ที่สามารถปรับ learning journey ตามจังหวะการเรียนของแต่ละคนเพื่อส่งเสริมประสบการณ์เรียนรู้ที่ดีขึ้นแล้ว เรายังต้องสื่อสารออกไปเพื่อส่งเสริมกลุ่มนักเรียนเหล่านี้ให้ตระหนักว่า ‘การเรียนเป็นเรื่องดีต่อชีวิตนะ อย่าทิ้ง มันช่วยให้ชีวิตดีขึ้นได้’ และเสริมพลังพวกเขาว่า ‘คุณตั้งใจเรียนแล้วกล้าฝันไกลได้นะ มันไม่ได้อยู่ที่โอกาสอย่างเดียว แต่ยังอยู่ที่ความขยันกับความมุ่งมั่นด้วย’ และเราก็คือหนึ่งในทางเลือกที่ช่วยได้”

 

โจ-จักรพล เบสุวรรณ
โจ-จักรพล เบสุวรรณ

 

แต่การหาสมดุลที่ลงตัวที่สุดระหว่างการศึกษาคุณภาพดีที่เอื้อมถึงได้ง่ายกับความอยู่รอดของธุรกิจไม่ใช่เรื่องที่จะหาทางออกได้อย่างง่ายดาย เพราะเม็ดเงินก็ยังเป็นฟันเฟืองสำคัญที่ขับเคลื่อนธุรกิจให้เดินหน้าต่อไปได้

ไอติมเล่าว่า หากจะทำให้การศึกษาซึ่งเป็นสิทธิพื้นฐานที่ทุกคนควรจะได้รับเข้าถึงเด็กจำนวนมาก และให้เด็กเหล่านี้มีชีวิตที่ดีขึ้นได้จริง นอกจากการเลือกจับเนื้อหาเรียนสนุกลงไปอยู่ในแอปพลิเคชันสมาร์ตโฟน ซึ่งเด็กนักเรียนไทยกว่า 86% มีสมาร์ตโฟนอยู่ในมือแล้ว ราคาก็เป็นอีกอย่างที่ไอติมเชื่อว่าไม่อยากให้เป็นอุปสรรรค

“เราจำเป็นต้องมีรายได้เพื่อให้สามารถอยู่รอด พัฒนาเทคโนโลยี พัฒนาเนื้อหาการเรียนการสอน และมีเงินจ่ายเงินเดือนคุณครูต่อไปได้ แต่ในขณะเดียวกัน เวลาคิดเรื่องค่าสมาชิกรายเดือน เราพยายามคิดตลอดว่าจะทำอย่างไรให้ค่าสมาชิกต่ำที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพื่อให้เด็กที่แม้ว่าจะมีกำลังทรัพย์ไม่มากจ่ายได้และให้เด็กเข้าถึงแอปพลิเคชันจำนวนมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้”

ด้วยความตั้งใจเช่นนี้ ค่าราคาสมาชิกต่อเดือนในปัจจุบันจึงอยู่ที่ประมาณ 200-300 บาท ซึ่งเป็นราคาที่ผ่านการทำแบบสำรวจมาแล้ว รวมถึงร่วมมือกับค่ายสัญญาณโทรศัพท์เจ้าหนึ่งเพื่อปลดล็อกค่าอินเทอร์เน็ตให้เรียนผ่านแอปพลิเคชันได้ฟรี

ไม่ว่าจะเป็นระบบแอปพลิเคชันที่ช่วยออกแบบเส้นทางการเรียนรู้ของนักเรียนแต่ละคนได้ บทเรียนที่เต็มเปี่ยมไปด้วยพลัง วิดีโอที่น่าตื่นตาตื่นใจ หรือราคาที่เอื้อมถึงเช่นนี้ จะเกิดขึ้นไม่ได้หากขาดกำลังของคนทำงาน

“อีกสิ่งหนึ่งที่เราให้ความสำคัญคือว่า พนักงานทุกคนตื่นมา แล้วเขารู้สึกเป็นส่วนหนึ่งขององค์กรไหม” ไอติมย้ำถึงอีกหัวใจสำคัญของ StartDee ที่อยากจะเป็นที่ทำงานที่ดีสำหรับคนทำงานทุกคน

“ถ้าจะให้นิยามว่า StartDee เป็นสตาร์ตอัปแบบไหน เราไม่ใช่สตาร์ตอัปเพราะธุรกิจ เราเป็นสตาร์ตอัปเพื่อสังคม และเป็นสตาร์ตอัปเพื่อการพัฒนาของพนักงาน ผมให้ความสำคัญกับสามสิ่งนี้เท่าๆ กัน และผมเชื่อว่า ถ้าไม่ให้ความสำคัญกับสามสิ่งนี้เท่าๆ กัน เราก็ก้าวต่อไม่ได้”

 

– 4

 

เมื่อเปิดเข้าไปในแอปพลิเคชัน StartDee หลังจากเลือกระดับชั้น เลือกวิชาที่อยากเรียนแล้วเรียบร้อย แอปพลิเคชันจะพาเราไปเจอกับไอคอนการ์ตูนสีสันสดใส สื่อถึงชื่อหัวข้อย่อยต่างๆ เรียงรายอยู่ในหน้าหลักของวิชา เมื่อคลิกเข้าไปจะพบกับวิดีโอย่อยๆ อีกหลายคลิป แต่ละคลิปกินเวลาสั้นๆ ไม่เกิน 7 นาทีเท่านั้น แนบมาพร้อมแบบฝึกหัดและสรุปบทเรียนในหัวข้อ

ทุกวิชาถูกออกแบบมาให้การเรียนการสอนมีหน้าตาเช่นนี้

แม้ว่าจะมีคลิปการสอนจำนวนมากกว่า 1,000 คลิป ครอบคลุมตั้งแต่ระดับประถมปลายจนถึงมัธยมปลายทุกสายการเรียน ครอบคลุมทุกวิชาในหลักสูตร และยังไม่นับว่ามีวิชานอกหลักสูตรอย่างทักษะดิจิทัล ทักษะการเงิน หรือทักษะความรู้เรื่องสิ่งแวดล้อม แต่กว่าจะออกมาเป็นคลิปการสอนหนึ่งคลิปได้ ต้องใช้เวลาไปกับการคิดอย่างละเอียดอ่อนและถี่ถ้วนในแต่ละขั้นตอน

บูมเล่าให้ฟังถึงเบื้องหลังของการทำคลิปบทเรียนว่า ในหนึ่งวงจรตั้งแต่เริ่มออกแบบหลักสูตร ถ่ายคลิปสอน ใส่แอนิเมชันประกอบเนื้อหา ต้องผ่านทั้งมือของทีมครูและทีมโปรดักชันร่วมกัน

ครูที่นี่แบ่งหน้าที่ออกเป็น 3 ส่วนคือ ครูที่ทำหน้าที่ออกแบบหลักสูตรให้ตอบโจทย์วัตถุประสงค์การเรียนรู้และย่อยหลักสูตรให้เหมาะกับการทำคลิป (curriculum) ครูที่ทำหน้าที่เตรียมเนื้อหาการสอนและสอน (pedagogy) และครูที่ดูแลเรื่องการทดสอบว่านักเรียนเข้าใจบทเรียนหรือไม่ (assessment)

“ในกระบวนการทำคอนเทนต์ เราเริ่มจากการออกแบบหลักสูตรว่าจะให้การเรียนการสอนของเราครอบคลุมมากน้อยเท่าไหร่จึงจะเหมาะสม อย่างการออกแบบวิชาวิทยาศาสตร์สำหรับนักเรียนที่ไม่เน้นวิทย์เป็นเรื่องที่ท้าทายมาก เพราะถ้าสอนน้อยไปจะกลายเป็นการท่องจำไป แต่ถ้าสอนมากเกินไปก็ลงลึกเกินกว่าความจำเป็น ต้องวิเคราะห์ขอบเขตของเนื้อหาทั้งหมดให้ดี”

ต่อจากนั้น สิ่งที่ครูผู้รับหน้าที่ดูแลหลักสูตรต้องคิดต่อคือ จะซอยย่อยเนื้อหาที่วางขอบเขตมาแล้วอย่างไรให้คลิปในแต่ละหน่วยการเรียนรู้มีเนื้อหาที่ไม่มากน้อยเกินไป ความยาวเหมาะกับสมาธิ รวมทั้งจะเรียบลำดับวิดีโออย่างไร จากนั้นจึงส่งไม้ต่อให้ครูที่ดูแลเรื่องการสอนเขียนสคริปต์เนื้อหาการสอนและคิดว่าจะมีภาพกราฟฟิกประกอบเนื้อหาอย่างไร แต่ก่อนจะถ่ายทำในสตูดิโอ สคริปต์ต้องผ่านตาครูอีกคนหนึ่งก่อน

“พอเขียนสคริปต์เสร็จแล้ว ต้องผ่าน QC จากครูอีกคนหนึ่ง เพื่อให้แน่ใจว่าวิธีสอนเหมาะสม เนื้อหาถูกต้อง ไม่ตกหล่น หรือควรมีอะไรเพิ่มเติม เพราะบางทีคนเขียนสคริปต์เขียนไว้โดยไม่ได้เน้นประเด็นมาก แต่อาจเป็นประเด็นที่ครูอีกคนคิดว่าควรเน้นให้ชัด ก็เปิดให้อีกครูอีกคนให้ความเห็น ถกเถียงแลกเปลี่ยนกัน”

 

เบื้องหลังการทำงาน StartDee

 

หลังจากถ่ายทำและตัดต่อเสร็จ คนที่รับไม้ต่อในทอดนี้คือฝ่ายโปรดักชัน นำสคริปต์การสอนไปแปลงเป็นสตอรีบอร์ดแล้วค่อยทำภาพกราฟิกเคลื่อนไหวตามที่ครูวาดจินตนาการไว้ในสคริปต์

“เรามองว่าฝ่ายโปรดักชันเป็นส่วนหนึ่งของทีมคอนเทนต์ ไม่ได้แยกคนดูแลสตอรีบอร์ด คนออกแบบกราฟิก หรือคนทำภาพกราฟิกเคลื่อนไหวออกจากทีมคุณครู เราดึงฝ่ายโปรดักชันเข้ามาอยู่กระบวนการพัฒนาเนื้อหาด้วย”

บูมเล่าให้ฟังว่าความเฉพาะตัวของระบบ lesson study ซึ่งเป็นระบบที่ให้ครูนำคลิปการสอนที่ปล่อยออกไปแล้วกลับมาศึกษาและตกผลึกอีกครั้งว่าจะทำอย่างไรให้การสอนในคลิปดีขึ้น หรือเอาคลิปที่ยอด engagement สูงกลับมาดูว่าทำไมการสอนแบบนี้ถึงดึงให้นักเรียนดูได้เยอะ อยู่ตรงที่ฝ่ายโปรดักชันนั้นเข้ามามีส่วนร่วมในการมองผ่านสายตาแบบโปรดักชันว่าต้องออกแบบแอนิเมชันประกอบอย่างไรจึงจะช่วยเสริมเนื้อหาได้ดีขึ้น

 

เบื้องหลังการทำงาน StartDee

 

“จะเห็นว่าวงจรหนึ่งในการทำคลิปการสอนของเรานั้นใช้เวลานาน” บูมคุยให้เราฟังถึงแรงคานงัดระหว่างเวลาที่เดินไปข้างหน้าเรื่อยๆ และการบรรจงสรรสร้างบทเรียนอย่างประณีต “แต่ในฐานะที่เราเป็นสตาร์ตอัป เราต้องวิ่งแข่งกับเวลาตลอด ไม่เหมือนการเรียนการสอนปกติที่คุณครูอาจมีเวลาออกแบบแผนการเรียนการสอนหนึ่งเทอมหรือหนึ่งปี ความท้าทายที่ทุกคนจะต้องเผชิญคือ จะทำคลิปออกมาอย่างไรให้มีคุณภาพสูงที่สุด ด้วยเวลาที่เร็วที่สุด” บูมกล่าว

 

– 5

 

“พอนำการเรียนมาเจอกับเทคโนโลยีแล้ว มันทวีคูณประสบการณ์การเรียนให้ดีขึ้นไปอย่างไรบ้าง” เราขอให้บูมพาเราไปรู้จักโลกเทคโนโลยีการศึกษาซึ่งเป็นดินแดนที่เรายังไม่ค่อยคุ้นเคยดีนัก

“ปัญหาใหญ่ในห้องเรียน หรือแม้กระทั่งการเรียนออนไลน์ที่ให้ทุกคนเรียนจากวิดีโอเดียวกัน มันเป็นปัญหาเรื่องความเร็ว” บูมเล่าเหตุสำคัญที่ทำให้นักเรียนหมดกำลังใจในการเรียน เขาเคยผ่านประสบการณ์เช่นนี้มาเหมือนกัน แต่เกิดขึ้นกับการเล่นเกม

“ผมเป็นคนชอบเล่นเกม แต่เล่นแล้วจะเบื่อเร็วมาก ไม่เกินหนึ่งสัปดาห์ก็เบื่อแล้ว ไม่ใช่ว่าไม่ชอบเล่นเกมเสียทีเดียว แต่พอมาคิดดูดีๆ แล้ว จริงๆ เป็นเพราะว่าเราไม่ได้มีพื้นฐานการเล่นเกมที่ดีมาก ด่านแรกๆ ที่เล่นได้ก็ยังสนุกมากๆ อยู่ แต่พอผ่านด่านแล้วมันยากขึ้นเรื่อยๆ ฝีมือไม่ถึง เราก็เลยเบื่อ”

เรื่องเรียนก็เช่นกัน พอรู้สึกว่าเรียนยากขึ้นแล้วทำไม่ได้ อาการเบื่อ อาการท้อแท้ก็มักจะตามมา

“อย่างวิชาที่ผมคิดว่าสะท้อนปัญหานี้ชัดคือวิชาคณิตศาสตร์ เพราะเป็นวิชาที่ต้องอาศัยการต่อยอดตั้งแต่ประถมไปจนมัธยม แน่นอนว่าคนที่มีพื้นฐานดีจะต่อยอดได้ไว แต่สำหรับนักเรียนที่พื้นฐานไม่พร้อมมาก เขาต้องการกระบวนการการเรียนรู้ที่ค่อยเป็นค่อยไป”

เมื่อ StartDee ตั้งโจทย์ว่าความเร็วที่เลือกไม่ได้คือปัญหา และโจทย์ที่ต้องตีให้แตกคือให้นักเรียนมีประสบการณ์เรียนรู้ที่ดี การนำเทคโนโลยีมาช่วยในการปรับแต่งกระบวนการการเรียนรู้ให้ทั้งนักเรียนที่ชอบเรียนแบบติดจรวด ทั้งนักเรียนที่อยากค่อยๆ ไต่บันไดทีละขั้นมีทางเลือกที่เหมาะกับตัวเอง จึงเป็นเอกลักษณ์ของห้องเรียนแห่งนี้ที่ไม่มีที่ไหนเหมือน

 

แอปพลิเคชั่น StartDee

 

ที่จริงแล้ว การทำ personalization มีหลายระดับ เริ่มได้ตั้งแต่ระดับที่ไม่ได้นำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเลยคือ การออกแบบโครงสร้างเนื้อหาให้เป็นหัวข้อย่อยๆ เพื่อให้นักเรียนสามารถเลือกเรียนได้ตามความต้องการและเวลาที่มีของแต่ละวัน แต่ในระดับต่อมา ต้องนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วย

“ที่เราใช้อยู่ตอนนี้คือระบบแบบทดสอบ ใช้คลังข้อสอบเป็นตัววัดความเข้าใจในบทเรียนของนักเรียน เราจะผูกข้อสอบแต่ละข้อไว้กับวิดีโอหัวข้อต่างๆ สมมติว่านักเรียนทำแบบทดสอบถูก 60% ระบบจะรู้ว่าข้อที่ผิดคือหัวข้ออะไร ผูกไว้กับวิดีโอหัวข้อไหน แล้วจะมีวิดีโอแนะนำขึ้นมา”

แต่เทคโนโลยีที่นำมาช่วยอยู่ตอนนี้ ยังจัดว่าเป็นการ personalization ระดับพื้นฐานอยู่ ระดับของการ personalize บทเรียนยังก้าวต่อไปข้างหน้าได้อีก

สิ่งที่บูมอยากให้เทคโนโลยีทำได้คือ ให้แบบทดสอบข้อที่ทำผิดพานักเรียนไปเจอคลิปวิดีโอที่ช่วยให้เข้าใจเนื้อหาส่วนที่ตอบไม่ได้อย่างตรงเป้าและตอบโจทย์มากขึ้น

“เวลาเรียนเรื่องเรื่องหนึ่ง มันจะมีลำดับหัวข้อในเส้นทางการเรียนอยู่ว่าจะต้องเรียงจากหัวข้อที่ 1-2-3-4-5 สมมติว่าตอนทำแบบทดสอบ นักเรียนทำข้อที่เกี่ยวกับหัวข้อที่ 3 ผิด แต่การที่ทำข้อสอบหัวข้อที่ 3 ผิดอาจเป็นได้ทั้งเพราะไม่เข้าใจแค่หัวข้อที่ 3 หัวข้อเดียว แต่เข้าใจ 2 หัวข้อก่อนหน้านี้แล้ว หรืออาจเป็นเพราะไม่เข้าใจหัวข้อที่ 1 หรือ 2 เลยทำหัวข้อที่ 3 ไม่ได้” บูมแจกแจงให้เห็นว่าการวัดประเมินผลมีความซับซ้อนอยู่ “นี่คือสิ่งที่อยากให้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยมากขึ้น”

“อย่างน้อยถ้าเทคโนโลยีเลือกจังหวะการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับนักเรียนน่าจะช่วยดึงให้นักเรียนสนใจได้ดีขึ้น”

 

บูม-กษม อิทธิสวัสดิ์พันธุ์
บูม-กษม อิทธิสวัสดิ์พันธุ์

 

– 6

 

ห้องสี่เหลี่ยมกว้าง กระดานดำที่เปื้อนไปด้วยฝุ่นชอล์กพร้อมร่องรอยการเขียนนับครั้งไม่ถ้วน นักเรียนที่นั่งฟังบทเรียนจากครูอย่างตั้งใจบ้าง ไม่เข้าใจบ้าง สงสัยบ้าง อาจเป็นภาพห้องเรียนที่คุ้นเคยสำหรับครูหลายคน – หรือหากไม่ใช่ภาพนี้ ก็อาจเป็นภาพที่ไม่ต่างไปจากนี้มากนัก ห้องเรียนที่ว่าอาจเป็นเพียงโต๊ะเล็กขนาดพอนั่งเรียนเป็นกลุ่ม พร้อมหนังสือ สมุด ชีทสรุป ตัวอย่างข้อสอบ และนักเรียนที่นั่งอยู่รายรอบ

เช่นกันกับส่วนหนึ่งของทีมคุณครู StartDee อย่าง ครูแตงโม-ชนากานต์, ครูขิม-ลภัสวีณ์, ครูเจิน-ฐาปนี และครูหนึ่ง-ธีรศักดิ์ แม้ว่าไม่ใช่ทุกคนที่เดินอยู่บนเส้นทางสายอาชีพครูแต่แรกเริ่ม แต่ทุกคนต่างเคยโลดแล่นในโลกแห่งการสอน และค้นพบว่านี่คืองานที่มีความหมายต่อชีวิตและสังคม

 

ครูหนึ่ง-ธีรศักดิ์, ครูเจิน-ฐาปนี, ครูขิม-ลภัสวีณ์ และครูแตงโม-ชนากานต์
ครูหนึ่ง-ธีรศักดิ์, ครูเจิน-ฐาปนี, ครูขิม-ลภัสวีณ์ และครูแตงโม-ชนากานต์

 

ด้วยหลากหลายเหตุผล ไม่ว่าจะเพราะอยากส่งต่อโอกาสทางการศึกษาอย่างที่ตนเคยได้รับมาให้ไปให้ถือมือนักเรียนมากกว่าเดิม หรือเพราะว่านี่คือโอกาสที่จะนำแรงผลักดันในการสอนมาช่วยเปลี่ยนแปลงชีวิตและเปิดโลกของนักเรียน ทุกคนตัดสินใจเข้ามาสอนที่นี่ด้วยความหวังที่จะเห็นอนาคตการศึกษาไทยที่ดีขึ้น แม้ว่าห้องสี่เหลี่ยมในวันนี้จะไม่มีกระดาน ไม่มีบรรดานักเรียนที่คุณครูทั้ง 4 คนคิดถึงอย่างมาก มีแต่เพียงฉากเขียว กล้องวิดีโอหนึ่งตัว และครูอีกคนที่นั่งอยู่หลังกล้อง คอยช่วยเช็คสคริปต์ระหว่างอัดวิดีโอสอน

เมื่อการสอนย้ายจากหน้าห้องมาสู่หน้ากล้อง แน่นอนว่าการสอนในโลกออนไลน์เต็มไปด้วยความท้าทาย

“ถ้าเราสอนหน้าห้อง เราเห็นว่านักเรียนเป็นใคร ต้องการอะไร แต่ละคนในห้องเรียนรู้แตกต่างกันอย่างไร แต่พอเราสอนออนไลน์ เราไม่มีทางรู้เลยว่านักเรียนตอบสนองต่อสิ่งที่เราสอนออกไปอย่างไร” ครูแตงโมเล่าความท้าทายจากสายตาของคนดูแลและออกแบบหลักสูตร “เพราะฉะนั้นในการดีไซน์หลักสูตร เราพยายามคิดเสมอว่าวิดีโอการสอนจะท้าทายสำหรับเด็กเก่งไหม หรือจะยากเกินไปสำหรับเด็กที่พื้นฐานยังไม่แน่นหรือเปล่า”

“สิ่งที่รู้สึกว่าต่างไปจากการสอนในห้องเรียนและคิดว่าต้องคำนึงถึงมากที่สุดคือการวางแผนการสอน” ครูเจิน-ครูวิชาวิทยาศาสตร์เล่าต่อผ่านมุมของคนสอน “เวลาสอนในโรงเรียน เราวางแผน วาง outline การสอนคร่าวๆ ได้ ไม่ต้องละเอียดเป๊ะ แต่พอมาสอนออนไลน์ ต้องคิดเรื่องแผนการสอนเยอะมาก สคริปต์การสอนต้องแม่นยำถูกต้อง 100% เพราะสิ่งที่เราสอนบันทึกไว้เป็นวิดีโอออนไลน์ และไม่ใช่แค่เฉพาะนักเรียนในห้องเท่านั้นที่จะได้รับสิ่งที่เราถ่ายทอด”

“อีกอย่างหนึ่งคือ เวลาวางเนื้อหาในสคริปต์สำหรับคลิปหนึ่ง ต้องคิดให้ครอบคลุม ต้องคิดเผื่อว่าเด็กจะสงสัยอะไรบ้างในหัวข้อที่สอน แต่ในเวลาเดียวกันก็ต้องทำให้กระชับ สนุก จำง่าย และน่าติดตามด้วยบางทีครูก็อยากจะถ่ายทอดความรู้เยอะๆ แต่ก็ต้องทำให้พอดีกับสมาธิของเด็ก และเด็กต้องนำไปใช้ได้จริง” ครูขิม-ครูวิชาภาษาอังกฤษเสริม

 

ครูขิม-ลภัสวีณ์
ครูขิม-ลภัสวีณ์

 

– 7

 

อีกหนึ่งความท้าทายที่ห้องเรียนโลกออนไลน์ยังก้าวข้ามขีดจำกัดไม่ได้คือ การเรียนแบบ active learning ที่ต้องมีการสอดแทรกการสอนทักษะและการโต้ตอบระหว่างครู-นักเรียน

ครูหนึ่ง-คุณครูวิชาภาษาไทยเล่าให้ฟังว่า ธรรมชาติของทุกวิชาจะแบ่งได้เป็น 3 ส่วนคือ เนื้อหา ทักษะ และทัศนคติที่มองว่าวิชานั้นๆ สำคัญต่อชีวิต ในบรรดาสามส่วนนี้ ส่วนที่ StartDee ได้เปรียบคือส่วนเนื้อหาที่ครูมีอิสระในการ ‘ใส่พลัง’ ออกแบบเนื้อหาได้เต็มที่ แต่จอแก้วที่กั้นระหว่างครูและนักเรียนทำให้การเรียนแบบ ‘learning by doing’ นั้นทำได้ยาก

ถ้าจะให้เรียนวิชาภาษาอย่างภาษาไทยและภาษาอังกฤษได้ดี ก็ต้องอาศัยการฝึกเขียน ฝึกพูด หรืออย่างวิชาวิทยาศาสตร์ ความรู้ที่ได้มาก็มาจากการลงมือทดลอง

“แต่อุปสรรคเหล่านี้ก็กลายมาเป็นโอกาสเหมือนกัน เพราะพอรู้ว่ามีข้อจำกัด เราก็พยายามใช้อิสระที่มีในคิดออกแบบการสอนอย่างพิถีพิถันเพื่อลดข้อจำกัดให้ได้มากที่สุดเท่าที่ทำได้ พยายามหาวิธีแทรกทักษะเล็กๆ น้อยๆ ลงไป”

 

ครูหนึ่ง-ธีรศักดิ์
ครูหนึ่ง-ธีรศักดิ์

 

ครูหนึ่งเล่าสิ่งที่ทีมภาษาไทยกำลังลองคิดให้ฟังว่า อยากให้ทีมคุณครูลองมาลองหัดคัดลายมือตามแชมป์คัดลายมือระดับประเทศให้นักเรียนดู แล้วทำเป็นคลิปสอนคัดลายมือระดับประถมเพื่อให้เห็นว่าการคัดลายมือเป็นเรื่องไม่ง่าย ต้องอาศัยเวลาในการฝึก ส่วนครูขิมเล่าให้ฟังว่าทีมภาษาอังกฤษพยายามสอดแทรกเทคนิคออกเสียงเพื่อช่วยให้นักเรียนอ่านออกเสียงตามเองที่บ้านได้ง่ายขึ้น หรือย้ำว่าคำศัพท์คำนี้ออกเสียงแบบไหน

เมื่อถามว่า แล้วคุณครูที่นี่พยายามทลายกำแพงโลกออนไลน์ที่ขวางกั้นการโต้ตอบอย่างไร คำตอบที่เราได้รับจากครูแตงโมคือ “คุณครูทุกคนพยายามคิดเสมอว่า จะสอนอย่างไรให้นักเรียนรู้สึกเหมือนเรียนในห้องเรียน ทำอย่างไรให้เขารู้สึกสนุก สนใจและโต้ตอบกับสิ่งที่กำลังสอน”

“บทเรียนที่นี่เน้นการทำให้นักเรียนสงสัยใคร่รู้ กระตุ้นนักเรียนรู้สึกสงสัยว่าทำไมต้องเรียนเรื่องนี้ เรื่องนี้เกี่ยวกับชีวิตประจำวันอย่างไร และจะนำสิ่งที่เรียนไปใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวันอย่างไร เราเลยพยายามทำเนื้อหาให้เชื่อมโยงกับสิ่งที่เขาต้องเจอจริงๆ ในชีวิต”

คุณครูหลายวิชาจึงนำเรื่องธรรมดาในชีวิตที่เด็กเจอเข้ามาตั้งคำถาม กระตุ้นต่อมสงสัยของนักเรียนเพื่อไม่ให้บทเรียนเต็มไปด้วยการบอกกล่าวให้ท่องจำ แต่เต็มไปด้วยการขบคิด “อย่างตอนที่สอนเรื่องสารละลาย เราก็ถือยาแก้ไอมาให้นักเรียนสงสัยก่อนว่ามันคืออะไร ทำไมต้องถือยาแก้ไอมา เกี่ยวอะไรกับเรื่องสารละลาย แล้วค่อยๆ อธิบายว่าสารละลายคืออะไร พอแยกได้แล้วว่าอะไร ใช่หรือไม่ใช่สาระละลาย ก็ให้ทำแบบฝึกหัด แต่พยายามทำให้เหมือนรายการตอบคำถามเกมโชว์ที่คนดูทางบ้านนั่งตอบไปด้วยพร้อมๆ กัน” ครูเจินเล่าว่าเธอพยายามดึงให้วิทยาศาสตร์เป็นเรื่องสนุกใกล้ตัวได้อย่างไร

“อย่างวิชาภาษาอังกฤษก็ใช้วิธีคล้ายๆ กัน มีให้ลองทำแบบทดสอบเล็กๆ ก่อนสรุปจบท้ายบทเรียน ถ้าเป็นคลิปฝึกออกเสียง ครูก็จะเว้นช่วงไว้ให้นักเรียนออกเสียงตามแล้วชมว่าออกเสียงเก่งมาก ให้คล้ายกับเวลามีครูอยู่ในห้องเรียนที่สุด” ครูขิมเล่า “หรือเวลาสอนเรื่อง tense เราอยากให้นักเรียนเข้าใจว่า present continuous tense ใช้กับเหตุการณ์แบบไหน ก็ให้ครูวิ่ง หรือชวนให้เด็กวิ่งด้วย แล้วใช้ tense อธิบายว่าครูกำลังวิ่งอยู่”

ครูแตงโมเสริมอีกว่าการนำบทเรียนมาร้อยเรียงเป็นเรื่องราวจบภายในคลิปก็ช่วยดึงให้นักเรียนสนใจ รู้สึกสนุก และอยากโต้ตอบกับบทเรียน อย่างสิ่งที่ทีมภาษาอังกฤษทำคือ ผสมเรื่องนักสืบตามจับโจรซึ่งเป็นเรื่องแต่ง แล้วสอดแทรกการสอนเรื่อง tense เข้าไปในเนื้อเรื่อง เด็กก็จะรู้สึกว่าต้องเข้าใจเรื่อง tense เพื่อที่จะตามจับให้ได้ว่าใครขโมยรูปปั้นไป ไม่ใช่แค่สอนให้จำโครงสร้างไวยากรณ์ภาษาอังกฤษอย่างเดียว

“บทเรียนของเราไม่ได้สอนแต่เนื้อหาอย่างเดียว แต่เราพยายามให้นักเรียนหาคำตอบด้วยตัวเองด้วย”

 

ครูแตงโม-ชนากานต์
ครูแตงโม-ชนากานต์

 

– 8

 

“อะไรคือเสน่ห์ของบทเรียนที่นี่” เราอดสงสัยไม่ได้

คุณครูแต่ละคนต่างให้คำตอบต่างมุม ครูหนึ่งคิดว่าเป็นเรื่องการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยประเมินการเรียนรู้ของนักเรียนว่าขาดเหลือตรงไหน ครูแตงโมคิดว่าคือการที่แอปพลิเคชันให้นักเรียนเลือกเรียนตามความต้องการและความสนใจ ไม่ได้บังคับเรียนตามที่แอปพลิเคชันจัดไว้ให้ ส่วนครูขิมกับครูเจินมองว่าเป็นเรื่อง visualization

“พอบทเรียนอยู่ในรูปของวิดีโอ เวลาเราคิดสคริปต์การสอน ต้องใช้จินตนาการว่าอยากให้ฝ่ายโปรดักชันช่วยทำแอนิเมชันแบบไหนให้นักเรียนเห็นภาพ” ครูขิมเล่า “อย่างเวลาเรียนเรื่องระบบสุริยะ ถ้าแค่สอนไป เขียนกระดาษไป ให้ดูรูปในหนังสือ มันไม่ค่อยมีชีวิตชีวา แต่พอมีแอนิเมชัน มีภาพ นักเรียนก็ตื่นตาตื่นใจมากขึ้น เข้าใจได้ดีขึ้นเพราะเห็นภาพตามที่เราสอน” ครูเจินเสริม

 

ครูเจิน-ฐาปนี

 

แต่เรื่องที่ครูทุกคนเห็นตรงกันคือเรื่องความสนุกของบทเรียน

“ครูทุกคนที่นี่มีแพชชันมากๆ ที่จะถ่ายทอดความรู้ ขนาดเราสอนเอง เรายังรู้สึกสนุกเลย ถ้านักเรียนได้เรียน ก็น่าจะรับรู้ว่าพวกเราสนุกมากๆ ที่ได้สอน” เราเริ่มเห็นประกายจากนัยตาของครูขิมเมื่อเริ่มพูดถึงการได้ทำสิ่งที่รัก

เห็นได้ว่าเสน่ห์ของบทเรียนที่ StartDee นั้น ขาดความสุขและความรักในการสอนของครูไปไม่ได้เสียเลย

เพราะที่นี่ คือพื้นที่ที่เปิดให้ครูได้มีอิสระ ใช้ความคิดใหม่ๆ ใช้ความคิดสร้างสรรค์ออกแบบบทเรียนเพื่อให้ตอบโจทย์ ‘การเรียนรู้ที่ดีที่สุด’ อย่างเต็มที่โดยที่ไม่มีพันธนาการจากระบบการศึกษากักขังไว้ และมีเทคโนโลยีเป็นลมใต้ปีก ไปพร้อมกับเพื่อนร่วมทางที่อยากเห็นเด็กไทยเข้าถึงการศึกษาคุณภาพอย่างเท่าเทียม และเห็นการศึกษาไทยพัฒนาไปข้างหน้ายิ่งขึ้น

 

เบื้องหลังการทำงานแอปพลิเคชั่น StartDee

 


ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือระหว่าง กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และ The101.world

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Education

20 Jul 2023

คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ในวิกฤต (?)

ข่าวการปรับหลักสูตรของอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ชวนให้คิดถึงอนาคตของการเรียนการสอนสายมนุษยศาสตร์ เมื่อตลาดแรงงานเรียกร้องทักษะสำหรับการทำงานจริง จนมีการลดความสำคัญวิชาพื้นฐานอันเป็นการฝึกฝนการวิเคราะห์วิพากษ์เพื่อทำความเข้าใจโลกอันซับซ้อน

เสียงเล็กๆ จากประชาคมอักษร

20 Jul 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save