fbpx

พรรคเลเบอร์ใจกล้าเสนอยุบสภาขุนนาง ลบภาพสนิมค้างเก่าของระบบอำมาตย์ให้สิ้นไป

เซอร์ เคียร์ สตาร์เมอร์ (Sir Keir Starmer) ผู้นำพรรคเลเบอร์ (Labour Party) ซึ่งเป็นฝ่ายค้านในสภาเวสมินสเตอร์ (Palace of Westminster) ประกาศนโยบายหาเสียงประเด็นใหญ่เมื่อต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมาว่า หากพรรคเลเบอร์ชนะเลือกตั้งทั่วไปอีก 2 ปีข้างหน้า และได้ขึ้นเป็นรัฐบาล ตนจะเริ่มกระบวนการยุบสภาขุนนาง (House of Lords) ในวาระแรกของการเป็นรัฐบาล ซึ่งนับว่าเป็นการปฏิรูปการเมืองสหราชอาณาจักรครั้งสำคัญที่สุดในรอบกว่าร้อยปี นับตั้งแต่มีการออกกฎหมาย The Parliament Act 1911

ประเด็นหาเสียงที่ใจกล้าๆ นี้สร้างกระแสฮือฮาได้พอสมควร เพราะการเมืองในสหราชอาณาจักรตอนนี้กำลังเข้าสู่บรรยากาศของการหยั่งเชิงอารมณ์ของประชาชน หลังจากความโกลาหลเนื่องจากการเปลี่ยนตัวหัวหน้าพรรครัฐบาล (นายกรัฐมนตรี) ถึง 3 คนภายในหนึ่งปี และข่าวคราวความเสื่อมเสียของบรรดาสมาชิกอาวุโสพรรคคอนเซอร์เวทีฟ (Conservative Party) ทั้งในสภาสามัญชน (สภาผู้แทนราษฎร) และสภาขุนนางที่ทำให้เกิดคำถามหนาหูว่า “สภาขุนนางมีไว้ทำไม”

ข่าวฉาวล่าสุดนี้เกิดขึ้นเมื่อ The Guardian รายงานผลการทำข่าวสืบสวนสอบสวน (investigative Journalism) เปิดโปงสมาชิกสภาขุนนาง บารอนเนส มิเชล โมเน (Michelle Mone) สังกัดพรรคคอนเซอร์เวทีฟ เนื่องจากเธอและสามีรับผลประโยชน์หลาย 10 ล้านปอนด์ในการวิ่งเต้นช่วยให้บริษัท PPE Medpro ได้สัญญาขาย PPE (อุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคล) ให้กับสาธารณสุขแห่งชาติ (NHS) หลายโครงการ แต่ปรากฏว่าแพทย์-พยาบาลจำนวนมาก ไม่ยอมใช้เครื่องมือ PPE ดังกล่าว เนื่องจากผลิตในประเทศจีนและมีคุณภาพต่ำ จึงตั้งคำถามฝ่ายบริหารว่าผ่านกระบวนการจัดซี้อมาได้อย่างไร 

หลังจาก The Guardian เปิดข่าวนี้ออกมาสื่อมวลชนรายอื่นๆ ก็เริ่มขุดคุ้ยโครงการจัดซื้อต่างๆ ในช่วงเวลาที่โควิดเริ่มระบาดอีกหลายโครงการ ซึ่งอยู่ในยุคของนายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสัน ทำให้ได้เปิดแผลเก่ากรณีที่จอห์นสันแต่งตั้งเศรษฐีรัสเซียที่แปลงสัญชาติเป็นอังกฤษให้เป็นสมาชิกของสภาขุนนาง ทั้งๆ ที่ฝ่ายความมั่นคงได้ตั้งคำถามถึงความเหมาะสม เพราะบิดาของเศรษฐีผู้นี้เคยเป็นสายลับเคจีบี (Komitet Gosudarstvennoy Bezopasnosti หน่วยสืบราชการลับในยุคสหภาพโซเวียต) แต่จอห์นสันไม่สนใจคำทักท้วง ยังคงใช้อภิสิทธิ์ความเป็นนายกรัฐมนตรีแต่งตั้งให้เศรษฐีเข้าไปนั่งในสภาขุนนาง เพื่อตอบแทนที่เขาบริจาคเงินก้อนใหญ่ช่วยหาเสียงของพรรคคอนเซอร์เวทีฟ 

ล่าสุดสำนักข่าว Sky News เปิดโปงว่าสมาชิกสภาขุนนางอีกท่านหนึ่งรับเงินเกือบ 60,000 ปอนด์ เป็นค่าแรงในการทำงานเป็นล็อบบี้ยิสต์วิ่งเต้นรัฐมนตรีเพื่อให้บริษัทขายยาแห่งหนึ่งได้โครงการจัดซื้อเจลล้างมือของระบบสาธารณสุข ซึ่งมีหลักฐานว่ารัฐมนตรีสาธารณสุขในขณะนั้นได้ทำหนังสือสั่งให้ข้าราชการในกระทรวงเปิดการหารือกับบริษัทดังกล่าว 

สภาขุนนาง (House of Lords)
ภาพ: @UKHouseofLords

สภาขุนนางอังกฤษต่างกับวุฒิสภาของสหรัฐฯ เนื่องจากเป็นสภาที่สมาชิกมิได้มาจากการเลือกตั้ง รัฐธรรมนูญจึงจำกัดอำนาจให้เป็นเพียงสภาที่ปรึกษาเท่านั้น ไม่มีอำนาจยับยั้งร่างกฎหมายจากรัฐบาล หรือรับรองการแต่งตั้งบุคคลสำคัญในทางการเมืองหรือหน่วยงานอิสระใดๆ 

แม้ว่าสภาขุนนางของสหราชอาณาจักรจะถูกลดทอนอำนาจทางการเมืองมาตามลำดับ จำนวนสมาชิกที่ได้ตำแหน่งสืบทอดตามสายเลือดขุนนางจะลดลงไปมาก จนปัจจุบันเปรียบเสมือนเป็นเพียงสภาที่ปรึกษาและช่วยกรองร่างกฎหมายของสภาสามัญชน ไม่มีอำนาจขัดขวางนโยบายของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง แต่สมาชิกสภาขุนนางหลายคนยังมีอิทธิพลในการเข้าถึงศูนย์แห่งอำนาจและการตัดสินใจของรัฐมนตรีบางคนในบางโอกาส

โดยธรรมเนียมที่ปฏิบัติกันมาคือให้หัวหน้ารัฐบาลและหัวหน้าพรรคการเมืองจะเสนอชื่อบุคคลเข้ารับการแต่งตั้งตามสัดส่วนของสมาชิกสภาสามัญชนที่พรรคตนได้รับเลือกตั้งเข้าไปทดแทนสมาชิกที่หมดวาระกันไป เพื่อให้สัดส่วนของเสียงในสภาขุนนางล้อไปกับจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนที่มาจากการเลือกตั้ง เป็นการยึดโยงกับน้ำหนักเสียงของแต่ละฝ่ายตามอาณัติ (electoral mandate) ที่มาจากประชาชน

ส่วนใหญ่แล้วสมาชิกสภาขุนนางที่ได้รับการเสนอชื่อเข้าไปก็มักจะเป็นอดีตรัฐมนตรี อดีต ส.ส. ที่มีอายุงานในสภามานาน หลายท่านเป็นอดีตปลัดกระทรวง อดีตผู้พิพากษา ดารา ศิลปิน นักเขียน ผู้นำชุมชน ตัวแทนคนกลุ่มน้อย นักรณรงค์ชื่อดังจาก civic society ที่มีผลงานอันเป็นที่ประจักษ์ ทั้งนี้เพื่อให้สภาขุนนางเป็นตัวแทนสังคมที่มีความหลากหลายในระดับหนึ่งที่สามารถให้คำปรึกษาแก่รัฐบาลได้อย่างสมดุล

แม้กระนั้น ก็มักจะมีข่าวเปิดโปงกันมาเป็นระยะๆ ว่านักการเมืองใช้สิทธิแต่งตั้งเครือข่ายผลประโยชน์ (crony) ของพวกตนเข้าไปนั่งในสภาอันทรงเกียรติเป็นการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ หรือแสวงหาผลประโยชน์จากตำแหน่งหน้าที่ และความใกล้ชิดกับศูนย์อำนาจเพื่อตัดสินใจโยบายสาธารณะ 

เซอร์ เคียร์ สตาร์เมอร์ จึงแถลงว่ารัฐบาลพรรคเลเบอร์จะยกเลิกสภาขุนนางแล้วทดแทนด้วยสภาสูงที่สมาชิกผ่านกระบวนการจากการเลือกตั้งระดับภูมิภาค โดยเลิกระบบการแต่งตั้งเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับการเมืองของสหราชอาณาจักร และเป็นการสืบทอดแนวคิดกระจายอำนาจที่ต่อเนื่องจากรัฐบาลโทนี แบลร์ (Tony Blair)

วิธีการนี้จะเป็นการแก้ปัญหาที่ผู้นำรัฐบาลคอนเซอร์เวทีฟหลายสมัยใช้อำนาจในการแต่งตั้งสมาชิกสภาขุนนางให้กับเครือข่ายผลประโยชน์และเศรษฐีที่บริจาคเงินหาเสียงให้พรรคคอนเซอร์เวทีฟจนก่อเรื่องทุจริตอื้อฉาว ทำให้ประชาชนเบื่อหน่ายนักการเมืองและหมดศรัทธาต่อสถาบันทางการเมืองที่มีประวัติยาวนานอย่างสภาขุนนาง

เซอร์ เคียร์ สตาร์เมอร์ในการประชุมพรรคเลเบอร์
ภาพ: @Keir_Starmer

สภาสูงใหม่ที่จะมาทดแทนสภาขุนนาง จะเป็นตัวแทนของประชาชนโดยแท้จริงของ 4 อาณาจักรอันประกอบด้วย อังกฤษ เวลล์ สก็อตแลนด์ ไอร์แลนด์เหนือ โดยผู้นำพรรคเลเบอร์ถือว่าเป็นการสืบทอดแนวคิดการกระจายอำนาจ (devolution) ออกจากเวสมินสเตอร์สู่ภูมิภาค ซึ่งริเริ่มมาตั้งแต่สมัยรัฐบาลเลเบอร์ของโทนี แบลร์ ที่ชนะการเลือกตั้งถล่มทลายเมื่อปี 1997 จนมีการออกกฎหมายเปิดทางให้เวลส์ สกอตแลนด์ และไอร์แลนด์เหนือ มีการเลือกตั้งสภาบริหารอาณาจักรของตน มีอำนาจปกครองตัวเองได้ในระดับหนึ่ง 

อย่างไรก็ตาม นโยบายการปฏิรูปสภาสูงคราวนี้จะไม่เป็นการเพิ่มอำนาจทางการเมืองให้กับสภาแห่งใหม่เกินกว่าสภาขุนนางในปัจจุบัน เพื่อป้องกันความขัดแย้งทางอำนาจของสภาทั้งสอง โดยสภาสามัญชนจะยังคงมีอำนาจในการออกกฎหมาย ตั้งหรือปลดรัฐบาลแบบเดิม แต่สภาสูงใหม่นี้จะมีกลไกช่วยสนับสนุนการกระจายอำนาจจากเวสมินสเตอร์ไปสู่สกอตแลนด์ เวลส์ และไอร์แลนด์เหนือให้ปกครองตัวเองได้มากขึ้น เพื่อบรรเทากระแสชาตินิยมที่อยากแยกเป็นอิสระในดินแดนแหล่านั้น

สภาขุนนาง (House of Lords)
ภาพ: @UKHouseofLords

ถ้าหากพรรคเลเบอร์ชนะการเลือกตั้งทั่วไปในอีกสองปีข้างหน้า แล้วเซอร์ เคียร์ได้ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสามารถสานฝันตามที่ประกาศเป็นนโยบายหาเสียงไว้คราวนี้ การยุบสภาขุนนางเพื่อตั้งสภาสูงรูปแบบใหม่จะถือว่าเป็นการปฏิรูปการเมืองครั้งสำคัญที่สุดนับตั้งแต่การผ่านกฎหมาย Parliament Act of 1911 เพราะกฎหมายฉบับนี้ยกเลิกอำนาจของสภาขุนนางที่เคยมีสิทธิยับยั้ง (veto) ร่างกฎหมายที่สภาสามัญชนส่งมาให้พิจารณา เท่ากับลดสถานะทางการเมืองให้ต่ำกว่าสภาสามัญชน หลังจากมีการต่อสู้กันในสภาที่ยาวนานและต้องผ่านการเลือกตั้งทั่วไปสองสมัย 

ความขัดแย้งระหว่างสองสภาในยุคนั้นเกิดขึ้นเพราะสภาขุนนางพยายามยับยั้งร่างกฎหมายเก็บภาษีเพิ่มจากเจ้าของที่ดินที่กลไกตลาดทำให้อสังหาริมทรัพย์ราคาแพงขึ้นโดยเจ้าของที่ดินไม่ได้ลงทุนลงแรงแต่อย่างไร ชัยชนะของรัฐบาลพรรคลิเบอรัลเมื่อร้อยปีก่อน ทำให้สภาสามัญชนที่มาจากการเลือกตั้งมีอำนาจเหนือสภาขุนนางที่มาจากการแต่งตั้ง ซึ่งนักประวัติศาสตร์ถือว่าเป็นอีกขั้นตอนหนึ่งของการปฏิรูปรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น 

สภาขุนนางเป็นสภาสูงในระบบรัฐสภาสหราชอาณาจักร มีจุดเริ่มต้นมาตั้งแต่คริสตศตวรรษที่ 11 เมื่อกษัตริย์แองโกล-แซกซอน (Anglo Saxon) ใช้วิธีปกครองด้วยการตั้งสภาที่ปรึกษาประกอบด้วยผู้นำศาสนาและขุนนางอำมาตย์รอบๆ ตัว และมีพัฒนาการต่อเนื่องกันมาตามยุคสมัย จนกระทั่งศตวรรษที่ 13-14 จึงเริ่มก่อรูปร่างเป็นระบบรัฐสภา (Parliament) เมื่อมีการก่อตั้งสภาสามัญชนในยุคนั้น ยังไม่ใช่ระบบตัวแทนผ่านการเลือกตั้งแบบปัจจุบัน แต่เป็นตัวแทนของพ่อค้าและชุมชนเมืองที่เข้าไปนั่งในสภาเพื่อเจรจาต่อรองเรื่องนโยบายการเก็บภาษีของกษัตริย์ 

พัฒนาการของระบอบประชาธิปไตยในสหราชอาณาจักรขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่องมาหลายร้อยปีจนมาถึงรูปแบบที่เห็นในปัจจุบัน แต่พลังการปฏิรูปไม่เคยหยุดนิ่ง และแผนการปฏิรูปสภาสูงของผู้นำฝ่ายค้านประเด็นนี้สร้างความแตกต่างอย่างเห็นได้ชัดระหว่างพรรคเลเบอร์และพรรคคอนเซอร์เวทีฟ เหมือนเมื่อครั้งที่โทนี แบลร์เสนอนโยบายกระจายอำนาจการปกครองออกจากเวสมินสเตอร์ไปสู่ภูมิภาคเวลส์ สกอตแลนด์ และไอร์แลนด์เหนือ ซึ่งนำไปสู่ชัยชนะในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปี 1997

เมื่อปีที่แล้วเซอร์ เคียร์ ได้ขอร้องให้กอร์ดอน บราวน์ (Gordon Brown) อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งได้รับยกย่องว่าเคยเป็นหัวสมองให้กับโทนี แบลร์วางแผนจนชนะเลือกตั้งหลายสมัย ทำการศึกษาและเสนอนโยบายปฏิรูปการเมืองเพื่อมาใช้หาเสียงของพรรคเลเบอร์สำหรับการเลือกตั้งครั้งต่อไป 

นี่คงเป็นที่มาของความกล้าหาญที่จะยกเลิกสภาขุนนาง เพื่อลบล้างคราบสนิมค้างเก่าๆ ของระบอบอำมาตย์ให้หมดสิ้นไปจากการเมืองสหราชอาณาจักรเสียที

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save