ครั้งแรกที่เห็นภาพ Star Locket ในนิทรรศการ Poetry of Death, we are all alone…how ghosts found us โดยพัชราภา อินทร์ช่าง ใจประหวัดไปถึงผลงานชิ้นดัง The Sleep of Reason Produces Monster ภาพลำดับที่ 43 ในภาพพิมพ์โลหะชุด Los Caprichos (1799) ของศิลปินชาวสเปน Francisco de Goya สำหรับนักประวัติศาสตร์ศิลปะ นี่เป็นอาการปกติ เราสั่งสมคลังภาพในหัวและถูกฝึกให้มองเพื่อจำแนกแยกประเภท เทียบเคียง เปรียบความเหมือนความต่าง มองหาความเป็นไปได้ในการอธิบาย สืบเสาะและสร้างความหมาย (การตีความงานศิลปะไม่ได้เป็นเพียงการ ‘ถอดรหัส’ แต่ยังเป็นการ ‘เข้ารหัส’) ผ่านการเชื่อมโยงสายสัมพันธ์ที่บางครั้งก็…มีอย่างเจือจาง
คำหนึ่งที่พบบ่อยทั้งในตำราและในการกล่าวถึงโดยทั่วไปคือ ‘แรงบันดาลใจ’ ‘ศิลปิน ก ได้แรงบันดาลใจจากศิลปิน ข’ หากประโยคดังกล่าวปรากฏให้เห็นในตำรา ก็หมายความว่าทั้งศิลปิน ก และศิลปิน ข นั้นต่างก็ขึ้นแท่นประวัติศาสตร์ศิลปะ เป็น Old Masters หรือ Great Artists ด้วยกันทั้งคู่ (ไม่ว่าจะได้รับสถานะเช่นนั้นเมื่อครั้งยังมีชีวิตอยู่หรือไม่) กลายเป็น ‘ตัวอ้างอิง’ (reference) เป็นคลังที่สามารถให้ ‘แรงบันดาลใจ’ ต่อไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุดตราบเท่าที่ชื่อเสียงของทั้งผลงานและผู้สร้างยังดำรงอยู่ผ่านงานเขียน การเรียนการสอน พิพิธภัณฑ์ ตลาดศิลปะ สื่อและการเล่าเรื่องหลากประเภท
แต่ทุกอย่างที่มีรูปลักษณ์คล้ายคลึงกันหมายความถึงการได้รับแรงบันดาลใจจริงหรือ? ในเฉดของการเห็นผ่านการมอง โดยเฉพาะในระดับพื้นผิวคือการกวาดตามองภาพรวมของภาพ (แต่บ่อยครั้งก็ลงลึกถึงชั้นความหมาย) คำอธิบายที่เป็นไปได้มีทั้ง ‘แรงบันดาลใจ’ ‘อิทธิพล’ ‘ลอกเลียน’ ‘ล้อเลียน’ ‘ทำเพื่อเป็นการคารวะ’ ไปจนถึง ‘เหมือนโดยบังเอิญ’ เหล่านี้ล้วนต้องพิจารณากันเป็นกรณีไป ไม่มีสูตรสำเร็จหรือ check list สำเร็จรูปให้ติ๊กเครื่องหมายถูกข้างหน้า (หรือตัดสินได้จากการเอาปากกามาวง) เพื่อบอกว่าเป็นอะไรแบบไหนกันแน่ หลายกรณีกลายเป็นข้อถกเถียงที่ไม่สามารถหาข้อสรุปได้โดยง่าย
ประเด็นเรื่องแรงบันดาลใจและอิทธิพลมีความสัมพันธ์อย่างแน่นแฟ้นกับ canon หรือมาตรฐานที่ได้รับการบัญญัติขึ้น สิ่งซึ่งได้รับการพิสูจน์แล้วว่าทรงคุณค่า ยักษ์ใหญ่ที่ยืนยงข้ามกาลเวลา canon ในประวัติศาสตร์ศิลปะก็คือผลงานของเหล่า Old Masters หรือ Great Artists นั่นเอง การเขียนประวัติศาสตร์ศิลปะและงานพิพิธภัณฑ์จึงมีบทบาทสำคัญในกระบวนการ canonization เพราะมันประกอบด้วยขั้นตอนของการจารึกเพื่อสถาปนาอะไรบางอย่างให้ขึ้นแท่นมาตรฐานความงาม (อันมีความแตกต่างกันไปตามยุคสมัยและพื้นที่) เพื่อกลายเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ศิลปะ สุนทรียศาสตร์และรสนิยม
การเขียนประวัติศาสตร์ศิลปะและ canonization เป็นกระบวนการงูกินหาง เพราะถึงแม้ว่า canon จะถูกท้าทายได้ผ่านการล้อเลียนเสียดสีหรือถูกกระทำด้วยความรุนแรงแบบอื่นผ่านปฏิบัติการทางศิลปะของศิลปินผู้มาทีหลัง การท้าทายเหล่านั้นก็จะกลายเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ศิลปะในตัวเองได้หากมันรับการคัดเลือกต่อมาโดยบรรดานักประวัติศาสตร์ศิลปะ ลองนึกถึงโมนาลิซ่า (1503) ของ Leonardo da Vinci ที่กลายเป็นโมนาลิซ่ามีหนวดใน L.H.O.O.Q. (1919) ของ Marcel Duchamp ซึ่งมีพื้นที่ในประวัติศาสตร์ศิลปะทั้งคู่ดูก็จะเข้าใจกระบวนการงูกินหางที่ว่าออก
แม้การเขียนประวัติศาสตร์จะเป็นส่วนหนึ่งของ canonization แต่ประวัติศาสตร์ศิลปะก็ตั้งคำถามกับกระบวนการดังกล่าวด้วย อะไรคือหลักเกณฑ์ในการประเมินว่างานชิ้นไหน ‘ยิ่งใหญ่’? ตลอดเส้นทางของประวัติศาสตร์ศิลปะนับจาก Giorgio Vasari แห่งศตวรรษที่ 16 ประวัติศาสตร์ศิลปะเป็นศาสตร์ที่ตั้งต้นจากคนขาว ทำให้ canon หรือเหล่า Old Masters และ Great Artists เต็มไปด้วยคนขาวโดยปริยาย (ในอีกด้านหนึ่ง งานประวัติศาสตร์ศิลปะที่ผูกพันอยู่กับงานโบราณคดีในโลกนอกตะวันตกที่ขับเคลื่อนไปพร้อมกับการสำรวจเพื่อประโยชน์แห่งการล่าอาณานิคมก็ริเริ่มโดยคนขาวเช่นกัน) เพิ่งจะไม่กี่สิบปีมานี้เองที่ canon ถูกตั้งคำถามบนฐานของเชื้อชาติเผ่าพันธุ์ เพศสถานะ (บทความ Why Have There Been No Great Women Artists? ของ Linda Nochlin ตีพิมพ์ในปี 1971 เป็นตัวอย่างหนึ่ง) ชนชั้น และตำแหน่งทางภูมิศาสตร์ของศิลปิน
กลับมาที่ภาพ Star Locket ของพัชราภา ศิลปินระบุอย่างชัดเจนถึงแรงบันดาลใจจาก Goya ใน The Sleep of Reason Produces Monster ชายผู้นั่งฟุบหน้าหลับอยู่กับโต๊ะคือตัวศิลปิน แวดล้อมไปด้วยสัตว์กลางคืนอย่างนกฮูก ค้างคาว และแมวลิงซ์ที่ตื่นตัวขึ้นเมื่อตระหนักถึงพลังความชั่วร้ายที่ผุดออกมาในยามที่ ‘เหตุผล’ หลับใหล สัตว์ร้ายถือกำเนิดเมื่อเหตุผลถูกละทิ้ง องค์ประกอบของภาพและความหมายดังกล่าวถูกปรับขยาย ต่อเติม กลายร่าง เพื่อเชื่อมโยงเข้ากับการวิพากษ์วิจารณ์รัฐไทยในปัจจุบันในผลงานของพัชราภา เด็กสาวหลับตาพริ้มในภาพเป็นตัวแทนของเด็กไทยในรัฐเผด็จการ ส่วนนกฮูกดวงตาเบิกโพลงจ้องออกมาที่ผู้ชมสื่อถึงความตายและฝันร้าย ภาพต้นตอคือภาพพิมพ์โลหะชิ้นเล็กของ Goya กลายเป็นภาพบนผนังขนาด 6.5 x 3.05 เมตร อันเป็นขนาดของห้องขังสี่เหลี่ยมไม่มีหน้าต่างในเรือนจำที่นักเคลื่อนไหว/เด็กหลายคนถูกกักขังหลังจากที่พวกเขาลุกขึ้นมาตั้งคำถามถึง ‘เหตุผล’ ของความกลัวในสังคมไทย
เมื่อเหตุผลหลับใหลเพราะคำตัดสินของศาลไร้เหตุผล เพราะความกลัวกลายเป็นเหตุผลของคำตัดสินที่ไร้เหตุผล และเพราะการตั้งคำถามคือเหตุแห่งความกลัวอันเป็นต้นเหตุที่ทำให้เกิดคำตัดสินไร้เหตุผล ดวงดาวก็ถูกขังอยู่ในกล่อง — Star Locket
Star Locket ไม่ใช่การผลิตซ้ำหรือเป็นส่วนขยายของภาพของ Goya ผลงานทั้งสองชิ้นมีตัวตนร่วมกันในฐานะศิลปะที่เสนอการวิพากษ์วิจารณ์สังคมที่ศิลปินอาศัยอยู่ ภาพเก่ากว่าเป็นต้นตอของงานชิ้นใหม่ สถานะในประวัติศาสตร์ศิลปะของ The Sleep of Reason Produces Monster ทำให้ผลงานเป็นส่วนหนึ่งของ ‘คลังภาพ’ ที่ศิลปินจากต่างพื้นที่และยุคสมัยสามารถหยิบฉวยมาทำงานต่อได้ ความหมายของงานชิ้นใหม่มีนัยบางอย่างที่ยึดโยงกับงานเดิม แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าขึ้นต่อกันโดยตรง อันที่จริงแล้ว ผู้ชมในบริบทใหม่นี้ไม่จำเป็นต้องรู้จักงานของ Goya ก็สามารถเข้าใจความหมายที่ศิลปินต้องการสื่อได้จากกลไกภายในตัวภาพชิ้นใหม่เอง
ในแง่หนึ่ง ความผูกพันที่เป็นอิสระต่อกันนี้บ่งชี้การแทรกแซงสถานะงานบรมครูในศิลปะตะวันตกโดยฝีมือของ “ศิลปินหญิงในโลกนอกตะวันตกที่ไม่ได้ผ่านการศึกษาด้านวิจิตรศิลป์ในสถาบัน” (พัชราภา ผู้ประกอบอาชีพเป็นกราฟิกดีไซเนอร์และครูสอนโยคะ ให้สัมภาษณ์ว่าเรียนคอร์สสีน้ำมันบนไม้จากเว็บไซต์ที่เปิดสอนศิลปะออนไลน์โดยใช้เวลาสองเดือน)
ภาพที่ผู้ชมเห็นในแกลเลอรีไม่ใช่ผลเสร็จสมบูรณ์จากการวาด เพราะศิลปินใช้กระบวนการวาดภาพเป็นส่วนหนึ่งของงานที่จัดแสดง เป็น performative painting ภาพเปลี่ยนไปทีละน้อยทุกวันตลอดช่วงระยะเวลาแสดงงาน ผู้ชมได้เห็นการเคลื่อนไหวของร่างกายบนพื้นที่สองมิติขนาดเท่ากับห้องขัง ดวงดาวถูกขังอยู่ในกล่อง… แต่ยังไม่หยุดเคลื่อนไหว
Star Locket คือการแทรกแซงและรบกวนทั้งทางสุนทรียศาสตร์และการเมือง คือการสร้างสรรค์ภายใต้แรงบันดาลใจจากวาทกรรมเชิงประวัติศาสตร์ศิลปะและโลกศิลปะแบบยูโร-อเมริกัน แต่ไม่ใช่การศิโรราบ คือพลังในการวิพากษ์สภาพผิดประหลาดและสัตว์ร้ายที่ครอบงำสังคมไทย ความเป็นการเมืองของภาพจึงดำเนินไปทั้งในและนอกขอบรั้วสุนทรียศาสตร์
เด็กๆ อาจถูกบังคับให้หลับใหลในกรงขัง แต่ทว่านกฮูกไม่ได้เป็นเพียงตัวแทนของความตายและฝันร้ายเท่านั้น หากยังหมายถึง ‘สติปัญญา’ อีกด้วย
หมายเหตุ
นิทรรศการ Poetry of Death, we are all alone…how ghosts found us โดยพัชราภา อินทร์ช่าง จัดแสดงที่ Cartel Artspace ระหว่างวันที่ 15 พฤศจิกายน-5 ธันวาคม 2564