fbpx
เข้า Stanford มันง่ายขนาดนี้เลยเหรอ?

เข้า Stanford มันง่ายขนาดนี้เลยเหรอ?

ในสังคมไทย พอถึงช่วงระยะเวลาหนึ่ง เด็กไทยจำนวนหนึ่งจะเริ่มเข้าสู่เทศกาลที่เรียกว่า ‘การสอบเข้ามหาวิทยาลัย’ ซึ่งหลายคนคิดว่ามหาวิทยาลัยที่จะได้ไปเรียน จะเป็นตัวกำหนดชะตากรรมของเขาไปตลอดชีวิต

 

ก็เลยต้องแข่งขันอ่านหนังสือและติวเพื่อสอบเข้ามหาวิทยาลัยและคณะที่ใฝ่ฝันอย่างเอาเป็นเอาตาย มหาวิทยาลัยส่วนใหญ่ที่เด็กไทยวาดหวังมักเป็นมหาวิทยาลัยรัฐ ส่วนหนึ่งคงเป็นเพราะมหาวิทยาลัยรัฐส่วนมากมักก่อตั้งมานาน จนมีรากฐานทางวิชาการและคอนเนกชั่น (ที่หมายถึงโอกาสการทำงานในอนาคตที่มากขึ้น) ที่เข้มแข็ง

ต่างจากสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมอเมริกัน เด็กวัยรุ่นส่วนใหญ่มักอยากเข้าไปเรียนในมหาวิทยาลัยเอกชน โดยเฉพาะกลุ่มมหาวิทยาลัยเอกชนชั้นนำ เช่น มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard University) มหาวิทยาลัยเยล (Yale University) มหาวิทยาลัยแสตนฟอร์ด (Stanford University) มหาวิทยาลัยปรินซ์ตัน (Princeton University) มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย (Columbia University) หรือมหาวิทยาลัยบราวน์ (Brown University)

ส่วนหนึ่งเพราะมหาวิทยาลัยเหล่านี้ตั้งมาตั้งแต่ยุคที่สหรัฐอเมริกาเริ่มก่อตั้งเป็นประเทศใหม่ๆ จึงทำให้มีเวลาพัฒนาความเป็นเลิศทางวิชาการมายาวนาน ประกอบกับสถาบันการศึกษาเหล่านี้ได้สร้างกลุ่มศิษย์เก่าที่มีชื่อเสียงเอาไว้มากมาย (เหตุผลคล้ายไทยอยู่นา)

การแข่งขันเพื่อให้ได้เป็นนักศึกษาของมหาวิทยาลัยเหล่านี้โหดหินมาก มีเพียงหัวกะทิเท่านั้นที่จะสามารถฝ่าด่านเข้าไปได้ โดยขั้นตอนการสมัครเข้ามหาวิทยาลัย ความยากไม่ได้อยู่ที่การสอบสัมภาษณ์เท่านั้น แต่ความเป็นความตายในการสอบเข้า เริ่มขึ้นตั้งแต่ตอนที่ผู้สมัครคิดว่าจะใส่ ‘ข้อมูล’ หรือ ‘เรื่องราว’ อะไรลงในใบสมัครและจดหมายแนะนำตัวแล้ว โดยเฉพาะการเขียนจดหมายแนะนำตัว มหาวิทยาลัยเหล่านี้สนใจอย่างมากว่าผู้สมัครจะ ‘ปล่อยของ’ ออกมาให้ผู้คัดเลือกได้ประทับใจและจดจำอย่างไร

ด้วยเหตุนี้ ผู้สมัครจึงต้องพิถีพิถันกับการเขียนจดหมายแนะนำตัวเพื่อทำให้มหาวิทยาลัยรับรู้ ‘Passion’ ของตัวเองอย่างมาก ผู้สมัครบางรายใช้เวลาเกือบปีเพื่อเขียนจดหมาย version ที่น่าพอใจ หรือบางคนถึงขนาดที่ต้องออกเดินทางเพื่อไปเปิดโลกเปิดประสบการณ์ และกลับมาเขียนเรื่องเล่าให้สุดแสนประทับใจกันเลยทีเดียว

แต่เมื่อเร็วๆ นี้ มีข่าวเกี่ยวกับความสำเร็จในการสอบเข้ามหาวิทยาลัยแสตนฟอร์ดของวัยรุ่นอายุ 18 ปีผู้หนึ่งนามว่า Ziad Ahmed ข่าวนี้ไม่ได้น่าสนใจตรงที่เขาสอบเข้าได้ แต่อยู่ที่ ‘วิธีการในการได้มาซึ่งที่นั่งในมหาวิทยาลัย’ ต่างหากเล่า

จากรายงานข่าวของ The Independent Ahmed ได้ออกมาเปิดเผยว่าตอนที่เขาสมัครนั้น ใบสมัครได้กำหนดให้ผู้สมัครต้องเขียนจดหมายหรือเรียงความแนะนำตัวเองซึ่งต้องสะท้อนถึงคำตอบสำหรับคำถามที่ว่า “อะไรบ้างที่สำคัญกับคุณ และทำไม?” (What matters to you, and why?) พออ่านเสร็จปุ๊ป อาห์เม็ดไม่รีรอที่จะเขียนคำตอบ โดยเขาเขียนว่า “#BlackLivesMatter” (ชีวิตของคนผิวดำก็สำคัญ – ซึ่งเป็นข้อความขนาดสั้นที่ใช้เพื่อรณรงค์ต่อต้านการแบ่งแยกคนผิวดำในสหรัฐอเมริกา) เรียงกันไปกว่า 100 ประโยค โดยไม่ได้เขียนอะไรอย่างอื่นเพื่ออธิบายประกอบเลย

เขาบอกว่าที่เขียนส่งไปตอนแรก ไม่คิดว่าจะติดเสียด้วยซ้ำ เพราะคิดว่าเป็นการเขียนแบบเกรียนๆ แต่พอมาเปิดดูผลการสมัคร ปรากฎว่าหน้าจอเขียนว่า ‘ผ่าน’ เขาแทบไม่เชื่อสายตา ต้อง F5 อยู่หลายครั้ง สุดท้ายถึงมั่นใจว่า “เออ ข้าพเจ้าสอบติดแสตนฟอร์ดแล้ว!”

ในจดหมายตอบรับของทางมหาวิทยาลัย เขียนว่า “ผู้คัดเลือกทุกคนที่ได้รับจดหมายการสมัครของคุณรู้สึกประทับใจในความมุ่งมาด ความตั้งอกตั้งใจ ความสำเร็จ และหัวใจของคุณเอามากๆ … คุณช่างเรียบง่ายแต่ก็น่ามหัศจรรย์ซึ่งเหมาะสมกับแสตนฟอร์ด ด้วยเหตุนี้ คุณจึงสามารถนำสิ่งที่เป็นต้นฉบับและไม่เหมือนใครมาสู่มหาวิทยาลัยของเราได้ – สถานที่ที่คุณจะได้เรียนรู้และเติบโตต่อไป”

แต่ว่า แค่เขียนแฮชแท็กแค่นี้ จะทำให้ทุกคนสอบติดสแตนฟอร์ดกันหมดเลยกระนั้นหรือ

ไม่หรอกคุณ!

เพราะถ้าไปตามดูหน้าเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ของอาห์เม็ด ต้องบอกเลยว่าเขาเป็นนักเรียนปีสุดท้ายของโรงเรียน Princeton Day School ที่มีโปรไฟล์ไม่ธรรมดาเลยจริงๆ นั่นคือ เขาเป็นวัยรุ่นมุสลิมที่เป็นนักกิจกรรมทางสังคม เคยเข้าร่วมกิจกรรมชุมนุมกับชุมชนมุสลิมและคนผิวสีหลายครั้ง นอกจากนี้ ยังมีความคิดริเริ่มอย่างมาก โดยได้ไปรวมกลุ่มกับเพื่อนกันจัดตั้งบริษัท โดยมีลักษณะเป็นธุรกิจเพื่อสังคม (social enterprise) ชื่อว่า ‘Redefy’ ซึ่งถูกจัดตั้งขึ้นมาเพื่อเป็นพื้นที่สำหรับวัยรุ่นในการเคลื่อนไหวในประเด็นเกี่ยวกับความไม่เป็นธรรม รวมถึงการถูกเอารัดเอาเปรียบในสังคมด้วย

เขาทำกิจกรรมจนได้รับเชิญไปพูดเกี่ยวกับเยาวชนและการมีส่วนร่วมทางการเมืองในงาน TEDx ที่เมืองปานามา หรือแม้กระทั่งที่ทำเนียบขาว ก็เคยไปมาแล้ว แถมยังเคยมีโอกาสได้หารือกับอดีตประธานาธิบดีโอบามาอยู่หลายครั้งเกี่ยวกับการทำกิจกรรมของเยาวชน

ในการแข่งขันชิงตำแหน่งประธานาธิบดีรอบล่าสุด เขาก็เข้าไปช่วยนางฮิลลารี คลินตัน หาเสียงด้วย พูดได้ว่าเขาเป็นคนที่มีชื่อเสียงในสังคมอเมริกันพอตัวอยู่แล้ว

จะเห็นได้ว่า ประวัติการทำงานของเยาวชนคนนี้ช่างน่าโดดเด่นอย่างยิ่ง จึงทำให้มีความเป็นไปได้ว่าที่อาห์เม็ดสอบติดแสตนฟอร์ดนั้น อาจไม่ใช่เพราะข้อความ #BlackLivesMatter เท่านั้น แต่น่าเป็นเพราะต้นทุนในตัวเขามากกว่า

เรื่องราวที่เขาได้สร้างขึ้นมาอย่างต่อเนื่องและน่าสนใจต่างหากคือ สิ่งที่มหาวิทยาลัยให้ความสนใจ (และแน่นอน ความกล้าของเขาในการทำกิจกรรมเรียกร้องผ่านการพิมพ์ #BlackLivesMatter ร้อยครั้งในจดหมาย ก็เป็นสิ่งที่มหาวิทาลัยสนใจและประทับใจเช่นกัน)

อาห์เม็ดยังสอบติดมหาวิทยาลัยชั้นนำอีก 2 แห่งนั่นคือ เยลและพรินซ์ตัน ด้วย

นี่จึงเป็นเครื่องยืนยันว่า คนที่จะได้เข้าไปเรีบนในสถาบันชั้นสูงเหล่านี้จะต้อง ‘มีของ’ จริงๆ เท่านั้น

 

และ #BlackLivesMatter ก็เป็นแค่ปลายยอดของภูเขาน้ำแข็ง!

 

อ้างอิง

ข่าวเรื่อง Muslim teenager repeats #Blacklivesmatter 100 times on Stanford application and is accepted ของ Rachael Revesz จาก Independent, April 4 ,2017

ติดตามประวัติของอาห์เม็ดได้ที่นี่ 

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save