fbpx
ความรักของ “สาวน่าน” : หม่อมศรีพรหมา กฤดากร

ความรักของ “สาวน่าน” : หม่อมศรีพรหมา กฤดากร

กษิดิศ อนันทนาธร เรื่อง

กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ

 

เมื่อไม่นานมานี้ ปรากฏการณ์เรื่อง “#สาวน่าน” ได้รับความสนใจจากสื่อสังคมออนไลน์เป็นอย่างมาก ทำให้ผู้เขียนหวนระลึกถึง “สาวน่าน” คนหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์ไทย ชีวิตของเธอมีสีสันอย่างเหลือเชื่อ มีสุขมีทุกข์ตามธรรมดาของโลก กระนั้นก็น่าทึ่งพอที่จะเป็นบทเรียนให้พวกเราได้

“สาวน่าน” ที่จะได้พบในบทความนี้ คือ หม่อมศรีพรหมา กฤดากร  เธอเกิดมาเป็นธิดาของพระเจ้าน่าน ต่อมาเติบโตในราชสำนักสยาม ท่ามกลางเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดินในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และครั้งหนึ่งในชีวิตได้ปฏิเสธรับรักของพระพุทธเจ้าหลวงพระองค์นั้น จนในรัชกาลถัดมาได้มาเป็นชายาของหม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดากร

ครั้นหม่อมเจ้าองค์นี้ลาออกจากราชการไปประกอบกสิกรรม เธอก็มิได้ขัดข้อง ทั้งยังร่วมหัวจมท้ายด้วยกันอย่างเข้าอกเข้าใจ  เมื่อสามีเป็นกบฏ เธอก็ประคับประคองกิจการของฟาร์มต่อไป จนมีชื่อเสียงเป็นตำนาน “ฟาร์มบางเบิด”

ความรักของ “สาวน่าน” กับหม่อมเจ้าองค์นี้ ตราตรึงถึงขนาดว่า แม้หม่อมเจ้าสิทธิพรจะสิ้นชีพิตักษัยไปแล้ว เธอก็ยังรับรู้ได้ว่าท่านองค์นี้กลับมาหาเธอเป็นเนืองนิตย์

จนปัญญาชนสยามอย่าง ส.ศิวรักษ์ ถึงกับยกย่องบุคคลทั้งสองว่าเป็นคู่ชีวิตในอุดมคติเลยก็ว่าได้

 

หม่อมศรีพรหมา กฤดากร (2431-2521) ภาพนี้ฉายที่กรมฝิ่น หลังจากงานเสกสมรส และได้รับพระราชทานตราจุลจอมเกล้ากับเข็มอักษรพระนามสมเด็จพระพันปีหลวง
หม่อมศรีพรหมา กฤดากร (2431-2521) ภาพนี้ฉายที่กรมฝิ่น หลังจากงานเสกสมรส และได้รับพระราชทานตราจุลจอมเกล้ากับเข็มอักษรพระนามสมเด็จพระพันปีหลวง

 

ครอบครัวพระเจ้าน่าน

 

หม่อมศรีพรหมา เดิมคือ เจ้าศรีพรหมา เป็นธิดาของพระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดช เจ้าครองนครน่าน กับแม่เจ้าศรีคำ  เกิดเมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2431

เธอในวัยเด็กเป็นลูกรักของพ่อ  เมื่อจำความได้ อายุเพียง 3 ขวบ เวลาเจ้าหลวงออกขุนนาง เธอก็มักติดตามออกไปด้วยเสมอ

ถึงปี 2435 สยามส่งหลวงชาญภูเบศร์ (สวัสดิ์ ภูมิรัตน์) จากส่วนกลางขึ้นไปเป็นข้าหลวงประจำนครน่าน และปีต่อมาเขาได้เลื่อนเป็น พระพรหมสุรินทร์

คราวหนึ่ง เมื่อเจ้าศรีออกรับขุนนางพร้อมเจ้าหลวง มีเจ้าอุปราช อาของเธอ และพระพรหมสุรินทร์รวมอยู่ด้วย เธอเป็นเด็กซุกซนอยู่ไม่สุข เที่ยวนั่งตักเจ้าหลวงบ้าง เจ้าอุปราชบ้าง เมื่อสังเกตเห็นรองบาทหนังของเจ้าอุปราชไม่มีเชือกผูก ปล่อยอ้าไว้ เธอก็ทักไปว่า รองเท้าทำไมไม่มีเชือกผูก ทำให้ทั้งเจ้าหลวง เจ้าอุปราช และคุณพระ หัวเราะกันขึ้น นี่อาจเป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้ขุนนางสยามสนใจธิดาพระเจ้าน่าน

 

พระยามหิบาลบริรักษ์ (สวัสดิ์ ภูมิรัตน์) และคุณหญิงอุ๊น ภรรยา
พระยามหิบาลบริรักษ์ (สวัสดิ์ ภูมิรัตน์) และคุณหญิงอุ๊น ภรรยา

 

ลูกเลี้ยงของขุนนางสยาม

 

พระพรหมสุรินทร์ มีภรรยาชื่อ อุ๊น (ต่อมาได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ จตุตถจุลจอมเกล้า เป็นคุณหญิงในปี 2439) ซึ่งเป็นสตรีหัวก้าวหน้าอย่างยิ่งในสมัยนั้น เธอเคยไปศึกษาเล่าเรียนในประเทศฝรั่งเศส พูดภาษาอังกฤษและฝรั่งเศสได้คล่อง ทั้งยังเข้านอกออกในพระราชฐานได้อย่างสะดวกเพราะเป็นที่โปรดปรานของสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรีอีกด้วย

แม้เจ้าศรีจะเป็นลูกรักของเจ้าหลวงแห่งเมืองน่าน แต่เมื่อพระพรหมสุรินทร์ขอเจ้าศรีมาเป็นลูกบุญธรรม  พระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชก็ยกให้

ต่อมาเมื่อพระพรหมสุรินทร์ย้ายไปเป็นข้าหลวงพิเศษชำระความเมืองชลบุรีในปี 2439 และได้เลื่อนเป็น พระยาชลบุรานุรักษ์ ผู้ว่าราชการเมืองชลบุรี ในปี 2440  เจ้าศรีก็ย้ายมาอยู่โรงเรียนประจำที่กรุงเทพฯ ณ สุนันทาลัย และโรงเรียนวังหลังของแหม่มโคล ตามลำดับ

ครั้นถึงปี 2441 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมขุนพิษณุโลกประชานาถ เสด็จออกไปทรงศึกษาวิชาการทหาร ณ ประเทศรัสเซีย จึงเลื่อนให้พระยาชลบุรานุรักษ์ เป็นพระยามหิบาลบริรักษ์ เพื่อเป็นพระอภิบาลในสมเด็จเจ้าฟ้าพระองค์นั้น  และได้เป็นอัครราชทูตประจำ ณ กรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก ในปีถัดมา

ในระยะแรก คุณหญิงอุ๊นนำตัวเจ้าศรีพรหมาถวายไว้ในพระอุปการะแห่งสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรีในราชสำนัก เนื่องจากไม่กล้าพาธิดาออกไปด้วย เพราะเกรงจะทนหนาวไม่ไหว ต่อมาอีก 3 ปี เมื่อเจ้าศรีอายุได้ 12 ปี เจ้าคุณและคุณหญิงจึงได้ขอรับตัวออกไปอยู่ที่รัสเซียด้วยกัน  และก่อนกลับเมืองไทยยังพาเจ้าศรีไปศึกษาเพิ่มเติมระหว่างพำนักในอังกฤษเป็นเวลา 6 เดือนด้วย

 

(นั่ง) คุณหญิงอุ๊น, สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ (ยืน) หลวงอภิรักษ์ฯ, นายพุ่ม, กัปตันครูล้อฟ, พระยามหิบาลบริรักษ์ เมื่อครั้งสมเด็จเจ้าฟ้าฯ ทรงศึกษาที่ประเทศรัสเซีย
(นั่ง) คุณหญิงอุ๊น, สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ (ยืน) หลวงอภิรักษ์ฯ, นายพุ่ม, กัปตันครูล้อฟ, พระยามหิบาลบริรักษ์ เมื่อครั้งสมเด็จเจ้าฟ้าฯ ทรงศึกษาที่ประเทศรัสเซีย

 

ผู้ปฏิเสธความรักของในหลวง

 

เมื่อกลับจากต่างประเทศแล้ว เจ้าศรีพรหมาเข้ารับราชการในพระราชสำนักของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถตามเดิม  ครั้นถึงปลายรัชกาลที่ 5  เธอก็เป็นสาวเต็มตัว งดงามยิ่งนัก มีวิชาความรู้ดี ทั้งที่ไม่ได้เรียนสำเร็จจากสถานศึกษาใด มีความเป็นตัวของตัวเองผิดกับชาววังโดยทั่วไป และมีน้ำใจโอบอ้อมอารี  จึงเป็นที่พอพระราชหฤทัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ถึงกับโปรดจะให้รับราชการเป็นเจ้าจอม

แต่เจ้าศรีก็กราบบังคมทูลปฏิเสธเป็นภาษาอังกฤษไปโดยซื่อว่า เธอเคารพพระองค์ท่านในฐานะพระมหากษัตริย์ มิได้รักใคร่พระองค์ท่านในทางชู้สาว ในหลวงจึงทรงพระเมตตาโปรดให้เป็นไปตามอัธยาศัย นับว่าเป็นความกล้าของเธอ และเป็นพระมหากรุณาของพระเจ้าแผ่นดินโดยแท้

นอกจากนี้ สมเด็จพระปิยมหาราชยังทรงพระเมตตาต่อเธอตลอดรัชกาล ดังทรงฉายรูปเจ้าศรีพรหมาไว้ด้วยฝีพระหัตถ์ และทรงตั้งไว้ที่ห้องพระบรรทมบนพระที่นั่งอัมพรสถานจนสวรรคตในปี 2453

 

รูปฝีพระหัตถ์รัชกาลที่ 5 และทรงตั้งไว้ในห้องพระบรรทม ตราบจนสวรรคต ภาพนี้หม่อมศรีให้หม่อมเสมอ ใน ม.จ.ศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัตน ปัจจุบันเป็นของ ม.ร.ว.สายสวัสดี สวัสดิวัตน
รูปฝีพระหัตถ์รัชกาลที่ 5 และทรงตั้งไว้ในห้องพระบรรทม ตราบจนสวรรคต ภาพนี้หม่อมศรีให้หม่อมเสมอ ใน ม.จ.ศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัตน ปัจจุบันเป็นของ ม.ร.ว.สายสวัสดี สวัสดิวัตน

 

เงาะป่า

 

ภาพของเธอที่ว่านี้ เจ้าศรีเคยฟื้นความหลังไว้ว่า ทรงฉายเมื่อเธอยังอยู่ในวัง อายุ 17 ปี (ราวปี 2448)

นอกจากนี้ เธอยังชื่นชอบพระราชนิพนธ์ เงาะป่า ของสมเด็จพระปิยมหาราชเป็นอย่างมาก เมื่อถึงวัยมีครอบครัวแล้ว ก็ชอบเล่าให้ลูกหลานฟัง ส่วนหนึ่งอาจมาจากการที่เธอได้ถวายงานในขณะที่ทรงพระราชนิพนธ์ ได้เห็นได้ฟัง เมื่อ เงาะป่า พิมพ์ครั้งแรกในปี 2449

ในพระราชนิพนธ์ เงาะป่า นี้เอง เคยมีผู้รู้กรุณาให้ข้อสังเกตกลอนตอนหนึ่งกับผู้เขียนไว้ว่า

แม้นแต่เดิมเริ่มรู้ความตระหนัก                 จะห้ามหักจิตไว้ให้หนักหนา

ไม่ชิงรักหักหาญดวงกานดา                      เพราะความแสนเสน่หาหักอาลัย

ถึงจะยอมออมอดไม่เอิบเอื้อม                   ก็ไม่เสื่อมซาคิดพิสมัย

จะฝังรักสลักรูปไว้ภายใน                          …

แสดงความนัยถึงการปฏิเสธที่จะเป็นเจ้าจอมของเจ้าศรี แต่พระองค์ท่านยังทรงพระเมตตา  “จะฝังรักสลักรูปไว้ภายใน”

 

เจ้าศรีพรหมา ฉายที่เฉลียง พระที่นั่งวิมานเมฆ ในรัชกาลที่ 5
เจ้าศรีพรหมา ฉายที่เฉลียง พระที่นั่งวิมานเมฆ ในรัชกาลที่ 5

 

ชายาของหม่อมเจ้า

 

หม่อมสุภาพ ในกรมพระนเรศวรฤทธิ์ หม่อมมารดาของ ม.จ.สิทธิพร กฤดากร เคยมาขอหม่อมศรีจากคุณหญิงอุ๊น ตั้งแต่หม่อมศรีอายุราว 15 ปีแล้ว (พ.ศ. 2446) แต่คุณหญิงเกี่ยงว่า ถ้าท่านสิทธิพรจะมาเป็นเขย ต้องทำมาหากินตั้งเนื้อตั้งตัวให้ได้ก่อน จึงจะเลี้ยงลูกสาวท่านได้  ท่านชายก็อุตส่าห์ไปทำมาค้าขายกับหม่อมมารดา แต่ปรากฏว่าไม่ประสบความสำเร็จ จึงเข้ารับราชการ จนเจริญก้าวหน้าในรัชกาลที่ 6 ได้เป็นอธิบดีกรมกษาปณ์สิทธิการ และกรมฝิ่น

ระหว่างนั้นเอง ในปี 2447 ท่านสิทธิพรไปมีหม่อมคนหนึ่ง คือหม่อมทิพ และมีบุตรชาย คือ ม.ร.ว.อำนวยพร แต่หม่อมคนนี้ถึงแก่กรรมไปก่อน ท่านจึงเป็นพ่อหม้ายแต่ยังหนุ่ม

ถึงรัชสมัยต่อมา พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาตรัสขอเจ้าศรีพรหมาจากสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เพื่อเสกสมรสกับ ม.จ.สิทธิพร เพราะทรงคุ้นเคยกับท่านสิทธิพรมาแต่ทรงพระเยาว์ ทรงศึกษาร่วมสมัยกันที่อังกฤษ และทรงเล่นละครร่วมกันมา

หม่อมศรีเล่าเรื่องนี้ไว้บางตอนว่า “รัชกาลที่ 6 เสวยราชย์แล้ว ถึงได้โจ๋งจ๊ะโจ๋งชิงกันจริงๆ ก็ขอกันไปขอกันมา ยายไม่รู้เขา จนกระทั่งในหลวงรัชกาลที่ 6 ไปขอแม่ท่าน ถ้าไม่ได้ขอแม่ท่านนะ ไม่มีวันได้ ท่านไม่ปล่อยไป”  กว่าจะได้แต่งงานกัน เธอก็อายุ 27 ปีแล้ว (พ.ศ. 2458) ซึ่งนับว่ามากสำหรับผู้หญิงในสมัยนั้น

ทั้งคู่มีทายาท 2 คน คือ ม.ร.ว.เพ็ญศรี และ ม.ร.ว.อนุพร

 

ภาพครอบครัว เมื่อ ม.ร.ว.อนุพร จะไปเรียนที่อังกฤษ
ภาพครอบครัว เมื่อ ม.ร.ว.อนุพร จะไปเรียนที่อังกฤษ

 

เบื่อกรุงเทพฯ

 

เธอยังเล่าต่อไปว่า “ตอนแต่งงานกัน ท่านรับราชการอยู่ด้วยกัน ก็ทำราชการอยู่อีก 2 หรือ 3 ปี ท่านเบื่อท่าน ต่างคนต่างเบื่อ เบื่อกรุงเทพฯ เราไม่ชอบ ไอเราก็เคยอยู่ในวัง ขี้เกียจ มันๆ ฝารอบขอบชิด มันไม่ฟรี เป็นข้าราชการก็เป็นแบบนั้น … เราเตรียมตัวพร้อมละ พอราชการอนุญาตก็แจวเลย อยากเต็มที ไม่อยากอยู่เลยกรุงเทพฯ”

ก่อนที่จะขยายความต่อไปว่า “มันไม่สนุกนี่ในวัง มันไม่สนุกจ้ะ มันซ้ำๆ ซากๆ … มันไม่สนุก สู้ไปอยู่ในป่าไม่ได้ว่างั้นเถอะ ไม่ชอบอยู่ในบ้านในเมืองกับคนทั้งหลาย อยู่มาพอแล้ว” กล่าวคือเธออยู่ในวังตั้งแต่ 9 ขวบ และเข้าๆ ออกๆ อีกหลายครั้ง

ส. ศิวรักษ์ เคยอธิบายการออกจากราชการของ ม.จ.สิทธิพร ไว้ได้อย่างน่าสนใจว่า ท่านเห็นว่าระบบราชการเริ่มอิ่มตัวแล้วในสมัยของท่าน อนาคตของประเทศไม่ได้อยู่ที่ขุนนาง แต่อยู่ที่กสิกรรม เพราะคนไทยเป็นชาวไร่ชาวนามาช้านาน และมีผลผลิตเลี้ยงชีพได้  ทั้งในสมัยนั้นการเกษตรแนววิชาการสมัยใหม่เริ่มปรากฏขึ้นแล้วในต่างประเทศ แต่คนไทยยังไม่ตื่นตัวกัน  ท่านทั้งสองจึงเห็นว่า ถ้าชนชั้นสูงออกไปประกอบอาชีพเป็นกสิกร ก็น่าจะเป็นประโยชน์ต่อวงกว้างมากขึ้น

ด้วยเหตุนี้เอง เมื่อ ม.จ.สิทธิพร ลาออกจากราชการแล้ว จึงไปทำไร่ทำนากันที่ฟาร์มบางเบิด ในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งเป็นที่ดินมรดกจากเจ้าคุณและคุณหญิงมหิบาลบริรักษ์  อนึ่ง พระองค์เจ้าบวรเดช เจ้าพี่ของท่านสิทธิพร ถึงกับเคยรับสั่งถึงที่บางเบิดนี้ว่า “อยู่นอกฟ้าป่าหิมพานต์” เลยทีเดียว

อย่างไรก็ดี ในรัชสมัยถัดมา ปี 2470 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็โปรดให้ ม.จ.สิทธิพร เข้ารับราชการอีกครั้งในตำแหน่งอธิบดีกรมตรวจกสิกรรมที่ตั้งขึ้นใหม่ และออกจากราชการอีกครั้งเมื่อคณะราษฎรเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475

 

ข้อเขียนเรื่องการถนอมและรักษาอาหาร ของหม่อมศรีพรหมา คัดจากหนังสือพิมพ์ กสิกร ของ ม.จ.สิทธิพร [http://www.openbase.in.th/files/sitthiporn007.pdf]
ข้อเขียนเรื่องการถนอมและรักษาอาหาร ของหม่อมศรีพรหมา คัดจากหนังสือพิมพ์ กสิกร ของ ม.จ.สิทธิพร [http://www.openbase.in.th/files/sitthiporn007.pdf]

เมียกบฏ

 

หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองได้ปีเศษ พระองค์เจ้าบวรเดชได้ก่อกบฏขึ้นในสมัยรัฐบาลพระยาพหลพลพยุหเสนา จนถูกปราบปรามราบคาบลงในที่สุด  ม.จ.สิทธิพร ร่วมในขบวนการนี้ด้วย จึงถูกศาลพิพากษาจำคุกตลอดชีวิต ติดอยู่ที่คุกบางขวาง เกาะตะรุเตา และเกาะเต่า รวม 11 ปี ก่อนได้รับพระราชทานอภัยโทษ และนิรโทษกรรมในปี 2487 และ 2488 ตามลำดับ

หม่อมศรีเล่าถึงเรื่องตอนนี้ไว้ว่า “เมื่อพระองค์เจ้าบวรเดชมาทรงชวนให้ท่านร่วมงานด้วยนั้น ท่านทรงปรึกษาฉัน  ฉันทูลท่านว่า ถ้าท่านจะทำอะไรให้เป็นประโยชน์แก่บ้านเมืองแล้ว แม้จะเสี่ยงเพียงไร ฉันก็เห็นด้วยและสนับสนุนท่านเต็มที่

11 ปีที่ถูกจองจำ หม่อมศรีต้องประคับประคองกิจการของฟาร์มตามลำพัง  สืบสาน รักษา และต่อยอดงานฟาร์มบางเบิดแต่เพียงผู้เดียว

 

หม่อมศรีพรหมา กับ ม.จ.สิทธิพร ในช่วงบั้นปลายชีวิต
หม่อมศรีพรหมา กับ ม.จ.สิทธิพร ในช่วงบั้นปลายชีวิต

 

บั้นปลายชีวิต

 

ชีวิตทางการเมืองของท่านสิทธิพรขึ้นสูงอีกครั้งหลังการรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490 ได้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรในปี 2490-2491 รวม 7 เดือน

หลังจากนั้น เมื่ออายุมากขึ้นทุกที ไม่อาจรักษากิจการไว้ได้ ทั้งสองท่านจึงขายฟาร์มบางเบิดให้จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ แล้วย้ายไปมีสวนเล็กๆ ที่หัวหิน ใกล้กับสวนเสมาของ ม.จ.ศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัตน

ถึงปี 2506 ม.จ.สิทธิพร มีพระชนม์ครบ 80 ปี ได้มีงานเลี้ยงกันย่อมๆ ในวงพระญาติสนิทและมิตรสหายจำนวนน้อย  ท่านรับสั่งว่า ถ้าทรงเป็นอะไรไป ขอให้ ม.จ.จงจิตรถนอม ดิศกุล ทรงช่วยรับจัดการพระศพ และทรงขอร้องว่า “ถึงอย่างไรๆ ก็อย่าให้แม่ศรีได้ตายไปก่อนฉัน

ส. ศิวรักษ์ ตั้งข้อสังเกตว่า คงเป็นเพราะตั้งแต่สมรสอยู่ด้วยกันมา หม่อมศรีปรนนิบัติวัตถากถวายความสุขในทุกสถาน ทั้งการงาน การครัว ไปจนถึงเป็นเพื่อนคู่คิดที่คอยเกื้อกูลสนับสนุน ไม่ว่าในยามสุขหรือยามทุกข์ ก็เข้าใจกัน อยู่ด้วยกันอย่างมีความสุข จนอาจกล่าวได้ว่าเป็น “ตัวอย่างของคู่สามีภรรยาในอุดมคติ” ก็ว่าได้

หลังจากได้รับรางวัลแมกไซไซ สาขาบริการสาธารณะในปี 2510  ครั้นถึงวันที่ 22 มิถุนายน 2514 ม.จ.สิทธิพร กฤดากร ก็สิ้นชีพิตักษัยด้วยชันษา 88 ปี

 

ม.จ.สิทธิพร กฤดากร ในงานรับรางวัลแมกไซไซ พ.ศ. 2510 [https://www.rmaward.asia/awardees/kridakara-sithiporn/]
ม.จ.สิทธิพร กฤดากร ในงานรับรางวัลแมกไซไซ พ.ศ. 2510 [https://www.rmaward.asia/awardees/kridakara-sithiporn/]

เกือบจะได้ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์

 

เมื่อมีการสำรวจประชากรทำทะเบียนสำมะโนครัว มีผู้มาขอให้กรอกลงไปในใบสำคัญว่า หม่อมศรีจบการศึกษาชั้นใด  เธอบอกว่าไม่เคยได้ปริญญา เขาก็ซักต่อไปว่าให้กรอกวิทยฐานะว่าจบเทียบชั้นมัธยมใด  เธอตอบว่า “ประถมสี่ฉันยังไม่จบเลย”

ความข้อนี้ทราบถึงนายป๋วย อึ๊งภากรณ์ ซึ่งเคารพนับถือ ม.จ.สิทธิพร และชายาเป็นอันมาก  เมื่อเขาได้เป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จึงปรารภถึงคุณความดีของหม่อมศรีพรหมาว่า ลำพังท่านชาย ถ้าไม่ได้สตรีพิเศษเช่นนี้เป็นชายา ย่อมยากที่จะบำเพ็ญประโยชน์แก่วงการกสิกรรมไทยได้กว้างขวางเพียงนี้ ทั้งตัวหม่อมศรีเองก็ทำคุณประโยชน์แก่สตรีไทยในทางสังคมสงเคราะห์เป็นอเนกปริยาย และได้ขอให้มีการเตรียมประวัติของหม่อมศรีไว้อย่างไม่เป็นทางการ เพื่อขอรับพระราชทานปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ในสาขาวิชาสังคมสงเคราะห์ศาสตร์  แต่แล้วก็เกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 จนนายป๋วยจำต้องพ้นจากแผ่นดินนี้ไป

 

จดหมายจากนายสุลักษณ์ ศิวรักษ์ ถึงนายเสน่ห์ จามริก เพื่อเสนออธิการบดี เรื่องเสนอให้หม่อมศรีพรหมา กฤดากร ณ อยุธยาได้รับการพิจารณาเพื่อรับพระราชทานปริญญาบัตรดุษฎีบัณฑิตกิติมศักดิ์ ลงวันที่ 29 กรกฎาคม 2519 (นายสุดใจ เจิมศิริวัฒน์ ลงนามแทน ส. ศิวรักษ์) [https://digital.library.tu.ac.th/tu_dc/frontend/Info/item/dc:131939]
จดหมายจากนายสุลักษณ์ ศิวรักษ์ ถึงนายเสน่ห์ จามริก เพื่อเสนออธิการบดี เรื่องเสนอให้หม่อมศรีพรหมา กฤดากร ณ อยุธยาได้รับการพิจารณาเพื่อรับพระราชทานปริญญาบัตรดุษฎีบัณฑิตกิติมศักดิ์ ลงวันที่ 29 กรกฎาคม 2519 (นายสุดใจ เจิมศิริวัฒน์ ลงนามแทน ส. ศิวรักษ์) [https://digital.library.tu.ac.th/tu_dc/frontend/Info/item/dc:131939]

ความรักที่ความตายมิอาจพราก

 

แม้ ม.จ.สิทธิพร และหม่อมศรีพรหมา จะมิได้สนใจในเรื่องโลกหน้าหรือเรื่องของการเวียนว่ายตายเกิด แต่เมื่อท่านสิทธิพรสิ้นชีพิตักษัยไปแล้วนั้น หม่อมศรียืนยันว่าท่านชายเสด็จกลับมาเยี่ยมแทบทุกคืน แม้จะไม่เห็นร่าง แต่ก็ได้ไออุ่น และท่านทรงหมุนนาฬิกาปลุก ดังเช่นที่ทรงทำมาเสมอ ถึงกับเพ้อทำท่าไขลานนาฬิกาเมื่อยามประชวรหนัก  เรื่องนี้หม่อมศรีจดบันทึกเป็นหลักฐานไว้ทุกครั้งที่เกิดเหตุการณ์แบบนี้เลยทีเดียว

ม.ร.ว.เพ็ญศรี ธิดาของหม่อมศรี เล่าว่า “ตามบันทึกของแม่ ส่วนใหญ่พ่อจะมาไขลานนาฬิกาเรือนนั้นเกือบทุกคืน บางครั้งก็มาจับแขน เขย่าเท้า … บางคืนก็มาเข้าฝันว่าให้ช่วยหน่อย แม่ถามว่าช่วยอะไร ท่านตอบว่าช่วยภารกิจ แต่ก็ไม่ทราบว่าภารกิจอะไร ดวงวิญญาณของท่านก็คงจะพะวงอยู่กับเรื่องชาวไร่ชาวนานั่นเอง

หม่อมศรีพรหมา กฤดากร จากโลกนี้ไปเมื่อวันที่ 25 กันยายน 2521 สิริอายุได้ 90 ปี  หลังจากพระราชทานเพลิงศพแล้ว อัฐิของเธอได้บรรจุอยู่เคียงข้างพระอัฐิของ ม.จ.สิทธิพร คู่ชีวิตของเธอที่วัดชนะสงคราม ตราบจนถึงปัจจุบัน

 

 

ที่บรรจุอัฐิของหม่อมศรีพรหมาที่เจดีย์วัดชนะสงคราม กรุงเทพฯ

 

บรรณานุกรม

  • จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ, บทละครเรื่องเงาะป่า, พิมพ์ครั้งที่ 2, กรุงเทพฯ: ซี.พี.ออลล์, 2559, หน้า 162.
  • มหิบาลรำลึก. อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ มหาอำมาตย์ตรี พระยามหิบาลบริรักษ์(สวัสดิ์ ภูมิรัตน์) ณ เมรุวัดเทพศิรินทราวาส วันที่ 22 ตุลาคม พ.ศ.
  • ศรีพรหมา กฤดากร ณ อยุธยา, หม่อม. อัตชีวประวัติ หม่อมศรีพรหมา กฤดากร. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: สารคดี, 2550.
  • ส. ศิวรักษ์ (แปลและเรียบเรียง). เตรียมตัวตายอย่างมีสติ. พิมพ์ครั้งที่ 4. กรุงเทพฯ: ศูนย์ไทย-ธิเบต, 2560.
  • ส. ศิวรักษ์. หกชีวประวัติ. กรุงเทพฯ: มูลนิธิโกมลคีมทอง, 2527.

 

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save