fbpx

กลับไปอ่าน “มันมากับการเลือกตั้ง” ของ ศรีดาวเรือง อีกครั้งในวาระก่อนการเลือกตั้ง 2566

ผมได้รับโจทย์จากกองบรรณาธิการเว็ปไซต์ the 101 world ว่าในวาระแห่งการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึงในปี 2566 นี้ทางกองบรรณาธิการอยากชวนให้เขียนถึงธีมที่ว่าด้วยการเลือกตั้งโดยเป็นการเขียนที่สอดคล้องกับคอลัมน์ประจำที่ผมรับผิดชอบอยู่

ผมพยายามคิดว่าในรอบปี สองปี สามปี สี่ปี หรือแม้กระทั่งสิบปีที่ผ่านมา มีวรรณกรรมไทยเรื่องไหนที่พูดถึงเรื่องการเลือกตั้งได้อย่างน่าสนใจบ้างหรือไม่ ผมคิดว่าผมยังนึกไม่ออกจนถึงนาทีนี้ – นาทีที่กำลังเขียนต้นฉบับอยู่นี้เอง อันที่จริงอาจจะมีมาก แต่ผมก็นึกไม่ออกจริงๆ ผมนึกออกแต่เรื่องสั้นอยู่เรื่องหนึ่ง เป็นเรื่องสั้นที่เก่าตั้งแต่ปี 2521 แต่ในความเก่านั้นผมคิดว่ามันมีความน่าสนใจไม่น้อยเพราะมันเป็นเรื่องสั้นที่สะท้อนอารมณ์ความรู้สึกของชาวบ้านที่ต้องไปเลือก ‘ผู้แทน’ ของเขา อีกทั้งยังฉายให้เห็นบรรยากาศของการเลือกตั้งที่ไม่ได้อยู่ในกรุงเทพฯ และ/หรือเมืองใหญ่ๆ เมืองชิคๆ คูลๆ ที่เต็มไปด้วยคนมีการศึกษาสูงลิบลิ่วในประเทศนี้อีกด้วย

ก่อนอื่นใด ผมคิดว่าสิ่งที่ควรจะบันทึกเอาไว้ด้วยก่อนที่ผมจะเล่าถึงเรื่องสั้น ‘มันมากับการเลือกตั้ง’ ของศรีดาวเรืองนั้น คือบริบททางสังคมที่บทความชิ้นนี้ถูกเขียนขึ้นและเพื่อเป็นบริบทให้เปรียบเทียบกับตัวเรื่องสั้นที่กำลังจะถูกเขียนถึงในเรื่องนี้ด้วย นั่นคือ ประเทศไทยในปี 2566 กำลังจะมีการเลือกตั้งทั่วไปหลังจากมีรัฐบาลที่มาจากการทำรัฐประหารในปี 2557 จากนั้นคณะรัฐประหารก็ฉวยใช้อำนาจอันฉ้อฉลในการบริหารประเทศอย่างหน้าไม่อายมาสักพัก จึงจัดให้มีการเลือกตั้งขึ้นในปี 2562 ซึ่งเป็นการเลือกตั้งที่ทุกกติกาถูกออกแบบมาให้เอื้อต่อการสืบทอดอำนาจของ คสช. หรือพวกที่ทำรัฐประหาร 2557 นั่นเอง เช่น การให้สมาชิกวุฒิสภาทั้ง 250 คนนั้นมาจากการแต่งตั้งจาก คสช. ทั้งหมดและมีอายุการปฏิบัติงานห้าปี คือมากกว่าอายุการปฏิบัติงานของรัฐบาลอยู่หนึ่งปี เพราะเมื่อรัฐบาลครบเทอมแล้วสมาชิกวุฒิสภาเหล่านี้ที่เคยตบเท้าเลือกประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีก็ยังคงมีอำนาจและบทบาทสำคัญในการเลือกนายกรัฐมนตรีอยู่เช่นเดิม นอกจากนี้มิพักต้องพูดถึงเหตุการณ์ต่างๆ ที่น่ารักน่าเอ็นดู เช่น  การออกแบบบัตรเลือกตั้ง แบ่งเขตเลือกตั้ง การตั้งคูหาเลือกตั้งในค่ายทหาร อีกทั้งยังมีบัตรผี บัตรเขย่ง บัตรมาไม่ทัน บัตรไม่ถูกนับ และอีกสารพัด จากการเลือกตั้งปี 2562 เราได้รัฐบาล ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวคณะรัฐประหารมาเป็นนายกรัฐมนตรี รัฐบาลชุดนี้ก็บริหารประเทศมาอย่างกะปลกกะเปลี้ยประชาชนภายใต้การบริหารของ ฯพณฯ ก็อยู่อย่างกระดักกระเดี้ย เป็นที่น่าเวทนาแก่สาธุชนผู้เจริญแล้วทั้งสิ้น…

เรื่องสั้น ‘มันมากับการเลือกตั้ง’ ตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือ โลกหนังสือฉบับเรื่องสั้น ‘วันเวลาที่ผ่านเลย’ เมื่อ พ.ศ. 2521 และได้รับรางวัลช่อการะเกดจากนิตยสารโลกหนังสือในปีเดียวกันอีกด้วย ในขณะนั้น ศรีดาวเรืองยังคงเป็นนักเขียนปริศนาหลังจากมีเรื่องสั้นเรื่องแรกคือ ‘แก้วหยดเดียว’ ตีพิมพ์ในวารสารสังคมศาสตร์ปริทัศน์ในปี 2518 ที่มี สุชาติ สวัสดิ์ศรี เป็นบรรณาธิการ สร้างความตื่นเต้นให้กับแวดวงวรรณกรรมไทยเป็นอย่างยิ่งในฐานะนักเขียนที่เล่าเรื่องกรรมกรและชะตากรรมของกรรมกรได้อย่างถึงแก่น จากนั้นเป็นต้นมาศรีดาวเรืองมีเรื่องสั้นตีพิมพ์อีกหลายเรื่อง แต่ละเรื่องล้วนแต่เป็นเรื่องสั้นที่กล่าวถึงชีวิตกรรมกร ชาวบ้าน และการต่อสู้ของชนชั้นล่าง เรื่องสั้น ‘ความเงียบที่เริ่มต้น’ ได้รับการคัดเลือกจากกลุ่มวรรณกรรมพินิจให้เป็นวรรณกรรมสร้างสรรค์ประจำปี 2521 อีกด้วย แต่ก็ยังไม่มีใครทราบว่าแท้จริงแล้วศรีดาวเรืองเป็นใครจนกระทั่งนิตยสารโลกหนังสือนำเสนอเรื่องของศรีดาวเรืองเป็นเรื่องประจำปกในเดือนเมษายน 2522 แวดวงวรรณกรรมไทยจึงได้เห็นหน้าค่าตาของศรีดาวเรืองว่าเป็นใคร

‘มันมากับการเลือกตั้ง’ เล่าถึงเหตุการณ์ในหมู่บ้านแห่งหนึ่งในช่วงใกล้เทศกาลเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึง หมู่บ้านเต็มไปด้วยความคึกคักเนื่องจากมี หัวคะแนนของผู้สมัครรับเลือกตั้งและคณะเข้ามา ‘เลี้ยง’ ชาวบ้านตามธรรมเนียม ชาวบ้านบางคนอย่างเช่น ยวง กรรกรสาววัยยี่สิบเศษน้องสาวของทิดโลดที่ต้องกลับบ้านมาเนื่องจากน้องชายคนเล็กจะต้องถูก ‘ไล่ทหาร’ ซึ่งญาติพี่น้องทุกคนกังวลมาก อีกทั้งวันเกณฑ์ทหารหรือจับสลากเกณฑ์ทหารอยู่ในช่วงหลังวันเลือกตั้งพอดี ยวงจึงถือโอกาสมาเยี่ยมบ้านและใช้สิทธิ์เลือกตั้งด้วย แต่ในวันเลือกตั้งกลับไม่มีชื่อยวงแต่มีชื่อ “ใครก็ไม่รู้อยู่สองคน” นอกจากนี้ ชาวบ้านอีกหลายคนก็ไม่มีชื่อเช่นกัน ในขณะเดียวกันบรรดาหัวคะแนนของผู้สมัครต่างก็มาเชื้อเชิญให้ชาวบ้านเลือกผู้สมัครที่ตนเป็นหัวคะแนนให้อยู่หน้าคูหา ยวงจึงถามสุก อดีตกำนันที่เกษียณอายุไปแล้วว่า “หนูได้ยินว่าเขาห้ามไม่ให้หาเสียงในวันเลือกตั้งไม่ใช่เหรอ แต่ทำไมพวกนั้นยังหากันอยู่ล่ะลุง” อดีตกำนันเฒ่าจึงเข้าไปเตือนหัวคะแนนสองคนผัวเมียนั้น ซึ่งทั้งสองคนเป็นหัวคะแนนให้กับผู้ใหญ่บ้าน ผู้ใหญ่บ้านอยากได้ความดีความชอบเพื่อจะได้เลื่อนขั้นเป็นกำนัน ส่วนผัวเมียสองคนนี้เป็นลูกหนี้ผู้ใหญ่หว่าง อยากปลดหนี้ค่าเช่านาและอยากได้สิทธิ์การเช่าที่นาในฤดูทำนาคราวหน้าจึงมาเป็นหัวคะแนน ศรีดาวเรืองทิ้งท้ายเรื่องสั้นเรื่องนี้ได้อย่างน่าสนใจว่า

“เมื่อฤดูกาลเลือกตั้งผ่านไป มนุษย์แบบไหนกันเล่าที่ได้เป็นผู้แทนของราษฎร”

ประเด็นที่น่าสนใจของเรื่องสั้นเรื่องนี้คือความคึกคักของเทศกาลเลือกตั้งในหมู่บ้านนั้นแสดงออกผ่านตัวละครจำนวนมากที่เดินเรียงรายขวักไขว่ไปมาอยู่ในตัวเรื่อง เช่น ทิดโลด ผู้ขะมักเขม้นอยู่กับการหั่นข้าวหมู เจ้าลาด หลานชายของทิดโลด นายแสวงหรือน้าแหวงภารโรงอำเภอที่กำลังขอแรงชาวบ้านด้วยกันไปปลูกบ้าน ต่อมาน้าแหวงได้ให้ ‘พวกหัวคะแนน’ มาใช้พื้นที่บ้านในการ ‘เลี้ยง’ ข้าวเพื่อหาเสียงกับชาวบ้าน น้าแหวงจึงไม่ต้องเสียค่าข้าวในวันนี้ นอกจากนี้ยังมียายครอบ นางดำ นางจิต เจ้าศักดิ์  ทิดเฮง อีเรียน เจ๊คิ้ม ตัวละครทั้งหมดนี้ทำให้เราเห็นถึงความคึกคักภายในหมู่บ้านและยังทำให้ผู้อ่านเห็นถึงสิ่งที่เรียกว่า ‘โครงข่ายควาสัมพันธ์’ ที่เกือบทั้งหมดนั้นเป็นเครือญาติกันซึ่งเป็นความสัมพันธ์ที่ยึดโยงทุกเข้าไว้ด้วยกันในชุมชนนั้นๆ

ดูเหมือนว่า ความสัมพันธ์ระหว่างชาวบ้านกับพวก ‘หัวคะแนน’ นั้นจะเป็นความสัมพันธ์ที่แยกขาดกันอย่างชัดเจน แน่นอนว่า บรรดาของเลี้ยงของพวกหัวคะแนนที่เอามาเลี้ยงชาวบ้านนั้น ไม่ว่าจะเป็นเบอร์สิบหกหรือเบอร์ยี่สิบนั้นชาวบ้านต่างก็ไม่ปฏิเสธทั้งสิ้น แต่การไม่ปฏิเสธนั้นตัวเรื่องสั้นก็ไม่ได้ชี้ให้เห็นว่าชาวบ้านจะเลือกหรือไม่เลือกเบอร์ใดเบอร์หนึ่ง จะว่าเป็นเพราะชาวบ้านนั้นเห็นแก่ของเลี้ยง ของฟรี ก็อาจจะเป็นการดูถูกชาวบ้านกันเกินไป ดังเราจะเห็นได้ว่าบ้านของนายแสวงที่กำลังสร้างและขอแรงคนอื่นๆ ไปช่วยนั้น นายแสวงเองก็ต้องเลี้ยงข้าวทุกคนเช่นเดียวกัน ดังนั้นการเลี้ยงข้าว เลี้ยงน้ำ เลี้ยงขนมนั้นในแง่หนึ่งเราอาจพิจารณาได้ไหมว่าเป็นธรรมเนียมปฏิบัติเมื่อต้องมีการขอความช่วยเหลือกัน แต่มันไม่ได้หมายถึงการที่เราต้องมีพันธะผูกพันว่าเราต้องตอบแทนต่อผู้ที่มา ‘เลี้ยง’ เรา ตัวเรื่องสั้นเองก็ไม่ได้บอกว่าชาวบ้านเลือกเบอร์ไหนกัน หรือเบอร์ไหนชนะการเลือกตั้ง

ผมคิดว่าธรรมเนียมบางอย่างที่ดูแล้วอาจไม่ต้องตาต้องต้องใจหรือต้องตำราของผู้มีการศึกษาอันสูงลิบลิ่วในเมืองนั้นเป็นสิ่งที่มีรากลึกอยู่ในสังคมไทย ชาวบ้านที่ไปกินเลี้ยงหรือรับของเลี้ยงจากหัวคะแนนก็ไม่ได้จำเป็นว่าพวกเขาจะต้องตอบแทนหัวคะแนนเหล่านั้นด้วยการไปกาเบอร์นั้นเบอร์นี้ตามที่หัวคะแนนเสนอ ผมคิดว่าในเรื่องนี้ ชาวบ้านก็ไปกินของเลี้ยงทุกเบอร์นั่นแหละ เช่น บทสนทนาระหว่างยายครอบและนางดำที่ยายครอบถามว่า ทั้งเหล้าขาว ต้มยำไก่ ผัดเปรี้ยวหวานและสารพัดกับแกล้มที่หัวคะแนนยกกันมาปรนเปรอนั้นเป็นหัวคะแนนของเบอร์อะไร นางดำบอกว่า “เบอร์สิบหก แหม…แกนี่แย่จริง กินของเขาเข้าไปแล้วยังไม่รู้อีกว่าเบอร์อะไร… แต่ข้าบอกเสียก่อนนะโว้ย ถึงจะกินของเบอร์สิบหก แต่คืนนี้ข้าจะไปดูลิเกของเบอร์ยี่สิบว่ะ”

นี่อาจเป็นสิ่งที่คนมีการศึกษาสูงๆ เข้าใจได้ยาก โดยเฉพาะคนมีการศึกษาในเมืองที่รังเกียจการคอร์รับชั่น รังเกียจการทุจริต พวกเขามีแนวโน้มจะเข้าใจสถานการณ์ดังกล่าวว่า ชาวบ้านนั้นเห็นแก่ได้ ใครเอาอะไรมาให้ก็รับไว้และเชื่อกันเหลือเกินว่าชาวบ้านเหล่านั้นจะต้องตอบแทนคนที่ให้ประโยชน์เสมอ เรื่องนี้คงไม่ต้องการหลักฐานอะไรมาพิสูจน์เพราะมันเห็นมาทนโท่หลายสิบปีแล้ว -ก็ยังไม่เปลี่ยน ไม่คิดจะเปลี่ยน- นอกจากนี้ พวกเขาเห็นว่าเพราะธรรมเนียมเช่นนี้แหละ วัฒนธรรมเช่นนี้แหละ ทำให้ระบอบประชาธิปไตยของไทยนั้นไม่พัฒนา ต้วมเตี้ยมเพราะคนไม่มีการศึกษา ชาวบ้านไม่มีคุณธรรมอันสูงส่ง เห็นแก่พวกพ้องและอามิสสินจ้างอันน้อยนิด ไม่มีจิตใจประชาธิปไตยแบบตะวันตก ยิ่งไปกว่านั้น มีแต่พวกเขาเท่านั้นแหละที่พร้อมสำหรับประชาธิปไตย มีแต่พวกเขาเท่านั้นแหละที่พร้อมสำหรับความศิวิไลซ์ (หากไม่เชื่อ ลองนึกถึงคำพูดของอาจารย์สักคนที่พูดว่าเสียงคนกรุงเทพฯ นั้นมีคุณภาพ เสียงคนต่างจังหวัดไม่มีคุณภาพ เสิร์ชกูเกิ้ลเดี๋ยวก็เจอ)

ในสิ่งที่พวกหัวคะแนนมาเสียงนั้น ผมก็คิดว่า สิ่งที่น่าสนใจก็คือ ‘ผลประโยชน์’ ที่หัวคะแนนและผู้สมัครเสนอกับชาวบ้านถ้าหากเลือกผู้สมัครของเขานั้นเป็นสิ่งที่สอดคล้องกับชีวิตประจำวันของชาวบ้านหรือแม้กระทั่งคนในเมืองก็ตาม เช่น “เลือกหรือยัง ฝากเบอร์ยี่สิบนะ ลูกทุ่งจริงๆ เชื่อได้แน่ ถ้าไปเลือกคนอื่น เราจะใช้เขาได้หรือ จริงไหม มีเรื่องมีราวขึ้นโรงขึ้นศาล ฝากเด็กเข้าโรงเรียน เบอร์นี้รับรองใช้คล่อง เชื่อสิ… คนของเราซะอย่าง อย่าลืมเบอร์ยี่สิบนะ” ผมคิดว่าการเสนอผลประโยชน์แบบนี้ดูเป็นเรื่องตรงไปตรงมาและเป็นเรื่องที่ปฏิบัติได้จริงๆ สำหรับชาวบ้านมากๆ และที่สำคัญการเป็นผู้แทนนั้นก็คือการเป็นตัวแทนจัดการให้กับเราในเรื่องต่างๆ ได้มิใช่หรือ เบอร์ไหนใช้ง่ายใช้คล่องก็น่าจะเป็นตัวแทนของเราได้มิใช่หรือ

แต่การเสนออะไรเช่นนี้ ผู้มีการศึกษาอันสูงลิบลิ่วอาจไม่พึงใจและระคายหูเป็นอย่างยิ่ง เพราะพวกเขาต้องการสิ่งที่เรียกว่า ‘นโยบาย’ มากกว่า ลองตัวละครในเรื่องมีคำว่า ‘นโยบาย’ มาสักนิด เรื่องสั้นเรื่องนี้อาจได้รับการปรบมือต้อนรับจากผู้มีการศึกษามากๆ อาจเป็นเพราะคำว่า ‘นโยบาย’ มันดูมีการศึกษา มันดูยั่งยืนกว่าคำว่า “คนของเราซะอย่าง” กระมัง

ผมคิดว่าการเลือกตั้งมันไม่ได้เป็นสูตรสำเร็จแบบทื่อๆ ว่า เอานาย ก. นาย ข. มาแข่งว่าใครออกนโยบายที่ดีได้มากกว่ากันเราก็เลือกคนนั้น โลกนี้ไม่ได้มีอะไรตรงไปตรงมาเหมือนสูตรทางคณิตศาสตร์ การจะเลือกใครสักคนเป็นผู้แทนไม่ใช่เขาและพรรคมี ‘นโยบาย’ ที่ดีอย่างเดียว แต่มันอาจหมายถึงการที่ผู้แทนคนนั้นสามารถ ‘ช่วยเหลือ’ คนของพวกเขาได้อย่างถึงที่สุดต่างหาก ก็มีแต่คนการศึกษาสูงๆ นั่นแหละครับ อาจจะเชื่อในเรื่องพวกนี้น้อยไปเสียหน่อย หรืออาจไม่เชื่อเลย มิเช่นนั้นแล้วผู้สมัครไม่ลงพื้นที่ก่อนการยุบสภาเป็นปีๆ เพื่อทำความรู้จักประชาชนกันหรอกครับ จะเดินทำไมให้เมื่อยถ้าในเมื่อเราเชื่อเรื่องการประกวดประชันนโยบายกัน ไม่ต้องมีรู้จักผู้สมัครก็ได้ มีแค่ตัวเลขเอาไปแปะเสาไฟฟ้าพร้อมแสดงนโยบายผ่านคิวอาร์โค้ด ก็จบแล้ว แต่โลกนี้ไม่ได้มักง่ายขนาดนั้น…จริงไหมครับ

ผมคิดว่าเรื่องสั้นเรื่องนี้หากจะมีประเด็นเกี่ยวกับการวิพากษ์วิจารณ์อะไรสักอย่างที่น่าสนใจอาจเป็นเรื่องระบบการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐนี่แหละครับ ดังจะเห็นได้ว่า การจัดทำสำมะโนประชากรของรัฐนั้นเป็นไปอย่างน่าเวทนามากๆ เช่นตอนที่ยวงไม่พบชื่อตัวเองในบัญชีหน้าคูหา ทั้งๆ ที่อำเภอก็มีชื่อของยวง บัตรประชาชนก็มี อดีตกำนันสุกจึงเล่าให้ฟังว่า “อุวะ กูจะไปรู้เรอะ คราวที่อำเภอเขาสำรวจทะเบียนน่ะ เขาใช้เด็กนักเรียนมาเขียน กูเห็นกับตา มันทำกันส่งเดชไปยังงั้นเอง ชื่อกูเองในสำมะโนครัวยังหายนี่หว่า กูเลยบอกมันว่า ถ้าชื่อกูไม่มีแล้วจะให้กูเป็นกำนันได้ยังไง มันถึงเติมชื่อให้กู” สิ่งที่ปฏิเสธได้ยากก็คือการระบบราชการและการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐไทยนั้นภินท์พังทุกภาคส่วนอย่างบูรณาการตั้งแต่วิธีคิดไปถึงวิธีการลามไปถึงเครื่องมือ แม้ทุกวันนี้จะมีเทคโนโลยีที่ทันสมัยมากขึ้นแต่หลักการ หลักคิดนั้นก็แทบจะไม่ได้มีอะไรเปลี่ยนแปลง นั่นคือ เรามีเครื่องมือที่ทันสมัยมากๆ ในการรองรับความล้าสมัยของระบบการบริหารราชการแผ่นดินนั่นเอง

ในปี 2522 ที่นิตยสารโลกหนังสือเอาศรีดาวเรืองขึ้นปกและมีสกู๊ปใหญ่เป็นบทวิจารณ์งานของศรีดาวเรืองอย่างละเอียดนั้น มีการวิจารณ์เรื่องสั้น ‘มันมากับการเลือกตั้ง’ ที่ผมคิดว่าน่าสนใจ นั่นก็คือ

“ให้บรรยากาศคึกคักในชุมชนบ้านนอกแห่งหนึ่งระหว่างมีการหาเสียงเลือกตั้ง คึกคักมิใช่เพราะตื่นตัวในสิทธิ แต่เพราะผู้สมัครคนโน้นบ้างคนนี้บ้าง ต่างส่งหัวคะแนนมากแจกมาเลี้ยงกันตามธรรมเนียม ศรีดาวเรืองเขียนถึงชาวบ้านด้วยสำนวนที่สร้างบรรยากาศลูกทุ่งแท้ ราวกับได้มานั่งอยู่กลางวงชาวบ้านที่คึกครื้นอยู่กับการรับเลี้ยง ต่างฝ่ายต่างตักตวงผลประโยชน์จากกันและกัน พวกชาวบ้านนานทีปีหนมีคนมาเลี้ยงก็ปรีดิ์เปรม แต่ผลประโยชน์ของชาวบ้านนั้นแค่อิ่มข้าวชั่วมื้อเดียว ฝ่ายพวกผู้แทนสิ หากประสบความสำเร็จก็จะได้ผลตอบแทนคืนมากมาย ในระยะเวลายาวเสียด้วย

“เรื่องนี้สะท้อนระบบประชาธิปไตยแบบไทยๆ ได้โดยอาศัยชาวบ้านเป็นภาพสะท้อน ชี้ให้เห็นความล้มเหลวของการสร้างระบบขึ้นมาอย่างไม่มีพื้นฐาน ปล่อยให้คนรู้มากมีช่องทางในการเอาเปรียบคนรู้น้อยอยู่ได้เรื่อยๆ คนจนบางคนจำต้องเลือกผู้แทนเบอร์นั้นเพราะไปรับเงินหรือรับเลี้ยงเขามูลค่าไม่กี่บาท บางคนเลือกเพราะความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ความยากจนและขาดการศึกษาเป็นตัวการทำให้ระชาธิปไตยมีแต่โฉมหน้าสวยหรู หากข้างในกลวงยิ่งกว่าอะไรทั้งหมด” (หน้า 41-42)

ผมคิดว่า ทั้งหมดทั้งมวลที่ผมอยากจะมีบทสนทนาต่อบทวิจารณ์นี้ ผมได้อธิบายไปเกือบทั้งหมดแล้วก่อนหน้านี้ แต่ผมก็มีสิ่งที่อยากทิ้งท้ายจบบทความอย่างดื้อๆ ก็คือ

อย่าได้ดูแคลนชาวบ้านชาวช่องเขานักเลย”

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save