fbpx

แลไปข้างหลัง มองพลังการเปลี่ยนแปลงสังคม ผ่าน ‘แลไปข้างหน้า’

แลไปข้างหน้า เป็นนวนิยายของ ‘ศรีบูรพา‘ นายกุหลาบ สายประดิษฐ์ ที่แต่ง ‘ภาคปฐมวัย’ ในปี 2498 ซึ่งเวลานั้นเขาต้องอาศัยอยู่ในเรือนจำ อันเนื่องมาจากเหตุการณ์กบฏสันติภาพในรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม หลังจากนั้นจึงได้แต่ง ‘ภาคมัชฌิมวัย’ ต่อในปี 2500 หากแต่ยังเขียนไว้ไม่จบ ก็มีภารกิจต้องเดินทางไปเยือนประเทศรัสเซียตามคำเชิญของสมาคมวัฒนธรรมแห่งประเทศนั้น

เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2500 จนกระทั่งมีการรัฐประหารอีกครั้งโดยจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2501 ซึ่งมีการจับกุมนักเขียน นักหนังสือพิมพ์เป็นจำนวนมาก นายกุหลาบจึงตัดสินใจลี้ภัยในประเทศจีน ตราบจนลมหายใจสุดท้ายของชีวิต โดยที่มิได้แต่งเรื่องนี้ต่อให้จบ

แลไปข้างหน้า สะท้อนภาพสังคมไทยยุคปลายระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ในสมัยรัชกาลที่ 7 เรื่อยมาจนถึงการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475 และความผันผวนทางการเมืองไทยหลังจากนั้น จนถึงช่วงญี่ปุ่นบุกไทย ในสงครามโลกครั้งที่ 2 ผ่านชีวิตของ จันทา โนนดินแดง ชาวเมืองขุขันธ์ ที่มีโอกาสได้เข้ามาเล่าเรียนในโรงเรียนเทเวศร์รังสฤษดิ์ จากการอุปถัมภ์ของพระยาอภิบาลราชธานี โดยในบทความนี้จะหยิบยกเพียงบางประเด็นขึ้นมาอภิปราย



กาลเวลากับความเปลี่ยนแปลง


ศรีบูรพาเปิดเรื่องขึ้นมาโดยการกล่าวถึงอานุภาพของ ‘กาลเวลา’ ซึ่ง “ความศักดิ์สิทธิ์และอำนาจที่ล่วงมาจากฟ้าของสันตะปาปา และของจักรพรรดิและพระราชาก็แตกดับไป สากลโลกไม่อาจยืนหยัดต่อต้านอำนาจการเปลี่ยนแปลงของมัน  มันกวาดล้างระบบสังคมและสถาบัน ตลอดจนขนบประเพณี ที่อวดอ้างว่าเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้มามากต่อมาก” (หน้า 17)

และตลอดทั้งเรื่องนี้ ศรีบูรพาได้เล่าเรื่องผ่านชีวิตของตัวละครต่างๆ แสดงให้เห็นถึงอานุภาพของกาลเวลา ซึ่งสัมพันธ์กับการกวาดล้างสิ่งที่อวดอ้างว่าเปลี่ยนแปลงไม่ได้ในสังคมไทย


ระบบชนชั้นในบ้านเจ้าขุนมูลนาย


จันทามีโอกาสเข้าเรียนในเทเวศร์รังสฤษดิ์ โรงเรียนเดียวกับที่คุณวัชรินทร์ บุตรชายของท่านเจ้าคุณอภิบาลฯ เรียนก็จริง แต่เมื่ออยู่ที่คฤหาสน์ใหญ่ของท่านเจ้าคุณ จันทามีสถานะเป็นคนใช้ เป็นบ่าว ซึ่งอาศัยอยู่ในห้องเก็บของ ติดกับโรงรถยนต์ของบ้านท่านเจ้าคุณ และคฤหาสน์หลังนี้เองที่ทำให้เด็กบ้านนอกอย่างเขา “ได้รู้จักความอิจฉาริษยาของมนุษย์เป็นครั้งแรก” (หน้า 129)

ก็การที่เด็กบ้านนอกอย่างจันทามีโอกาสได้เรียนโรงเรียนเดียวกับบุตรชายของท่านเจ้าของบ้านนั้น พวกบ่าวในบ้านบางคนเห็นว่า “เป็นโทษที่ไม่อาจอภัยได้…บังอาจกระเสือกกระสนเข้ามาอยู่ในบ้านของท่านผู้มีบุญหนักศักดิ์ใหญ่…การมีเขา (จันทา) มาอยู่ร่วมด้วยทำให้ศักดิ์ศรีของบ่าวในบ้านลดน้อยถอยลง” (หน้า 130)

ศรีบูรพาตั้งข้อสังเกตได้อย่างแหลมคมว่า “ทั้งที่เป็นบ่าวอยู่ บ่าวบางคนยังเหยียดหยามพวกบ่าวด้วยกันเองยิ่งกว่านายจริง ๆ ของเขาเสียอีก และบางคนก็แสดงกิริยาวาจายิ่งกว่านายจริง ๆ ของเขาเสียอีก” (หน้า 130-131)

ถ้าใช้ศัพท์วิชาการชนิดที่นายปรีดี พนมยงค์ มักใช้คงต้องกล่าวว่า บ่าวในบ้านของพระยาอภิบาลราชธานีตั้งตนเป็น ‘เจ้าบ้านยิ่งกว่าเจ้าบ้าน’ เพราะขนาดคุณวัชรินทร์เอง เมื่อคุณลมัยกล่าวเตือนเขาว่า “อ้ายจันมันเป็นบ่าวของคุณ” แม้เขาไม่ได้เถียง แต่ก็พูดไปตามสัตย์ว่า “จันทาเขาก็เรียนหนังสือได้เท่าฉันเหมือนกันนะ” (หน้า 287)


“ศรีบูรพา” นายกุหลาบ สายประดิษฐ์ ผู้ประพันธ์ แลไปข้างหน้า
ซึ่งได้รับยกย่องให้เป็น 1 ใน 100 เล่มหนังสือดีที่คนไทยควรอ่าน


ประเพณีอันดีงาม


เหตุการณ์หนึ่งที่สะท้อนภาพ ‘ประเพณีอันดีงาม’ ที่บ่าวในคฤหาสน์หลังนี้หวงแหน คือฉากที่จันทาเป็นไข้ แต่ไม่กล้าไปขอยาจากคุณลมัย ผู้ดูแลสิ่งของในบ้าน คนสนิทของคุณหญิงอภิบาลราชธานี เพราะเคยไปขอยาแก้ปวดท้องมาจาก ปราง คนของคุณลมัย แล้วปรางถูกตำหนิว่า เด็กบ้านนอกอย่างจันทาเคยอยู่อย่างขาดแคลนมาแล้ว ไม่จำเป็นต้องได้รับการดูแลที่ดีอะไร

แม่สาย ภรรยาของนายแจ้ง คนขับรถของท่านเจ้าคุณ ซึ่งเธอเสียลูกชายคนเล็กไปเพราะไข้หวัดใหญ่เมื่อปีกลาย จึงสงสารจันทาและขอยามาให้ ไม่เพียงเท่านั้นยังไปเชิญนายแพทย์ผู้เคยรักษาคุณวัชรินทร์ บุตรชายของท่านเจ้าคุณมาด้วย

การกระทำนี้เองที่คุณลมัยเห็นว่าขัดต่อประเพณีอันดีงามของคฤหาสน์นี้ เพราะ “เมื่อมันถึงที่ ก็ต้องปล่อยให้มันตายไป…มันไม่มีธรรมเนียมแม่สาย ที่บ่าวจะใช้นายแพทย์ร่วมกับนาย ฉันรู้สึกว่า การที่จะไปเอานายแพทย์ของคุณวัชรินทร์มารักษาอ้ายจันนั้น จะเป็นการกระทำที่ผิดร้ายแรงเสียยิ่งกว่าจะปล่อยให้อ้ายจันมันตายไป” (หน้า 136-137)

เหตุการณ์นี้เองที่ศรีบูรพาสะท้อนความรู้สึกของบ่าวผู้ใกล้ชิดกับเจ้านายของหล่อนอย่างคุณลมัยนั้นว่า “คุณลมัยถือว่า ‘ประเพณีอันดีงาม’ ของ ‘ปราสาท’ หลังนี้ ได้ถูกลบล้างไปอย่างน่าเจ็บใจและน่าอับอาย การอดตายของเด็กชายจันทาก็ไม่อาจชดเชยกับ ‘ประเพณีอันดีงาม’ ที่ได้สูญเสียไปแล้ว” พร้อมกันนั้นศรีบูรพายังตั้งคำถามไว้อย่างแยบคายว่า “ไม่มีใครได้ซักถามคุณลมัยว่า ‘ประเพณีอันดีงาม’ นั้น มันก่อรูปขึ้นมาได้อย่างไร และมีใครบ้างที่ต้องการเชิดชูมันไว้ให้อยู่ค้ำฟ้า” (หน้า 138)

ศรีบูรพายังกล่าวถึงประเด็นนี้ต่อไปอีกว่า ในเวลาต่อมาเมื่อจันทาเจริญวัยขึ้น เขาจึงได้เรียนรู้ว่า “สิ่งที่คุณลมัยและบางคนเรียกว่า ‘ประเพณีอันดีงาม’ ซึ่งจะต้องช่วยกันเชิดชูไว้ชั่วฟ้าและดินนั้น บางส่วนมันก็ตรงกับที่วิทยาศาสตร์สังคมอธิบายว่า การที่คนจำพวกหนึ่งมีแต่พันธะหน้าที่ แต่ไม่มีสิทธินั่นเอง” (หน้า 142)


“ศรีบูรพา” นายกุหลาบ สายประดิษฐ์


อคติของคนมีการศึกษาสูง


เมื่อจันทาสำเร็จการศึกษาชั้นมัธยม 6 แล้ว เจ้าคุณอภิบาลราชธานีจัดแจงให้เขาได้เข้ารับราชการเป็นเสมียนกระทรวงมหาดไทย ดังนั้นมูลนายของจันทาจึงทั้งให้โอกาสในการศึกษาและโอกาสเข้าทำงานเป็นข้าราชการ ซึ่งบรรดาบ่าวในบ้านที่เป็นพรรคพวกของจันทานั้นรู้สึกว่า “การได้รับราชการนั้นนับว่าเป็นมหาสิริมงคล การเรียนต่อไปจนจบชั้นสูงสุดไม่มีความหมายเลย เมื่อเทียบกับการเข้ารับราชการโดยมีเจ้าคุณเป็นเจ้านายเป็นผู้สนับสนุน” (หน้า 289)

จึงไม่น่าแปลกใจนัก เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองขึ้นเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ขึ้น แล้วจันทาจะกลัวความเปลี่ยนแปลงซึ่งจะกระทบมาถึงตน เพราะเหตุการณ์นี้ทำให้เจ้าคุณอภิบาลฯ ต้องออกจากราชการ

ความทุกข์ใจข้อนี้ของจันทา ทำให้เขาเขียนจดหมายไปเล่าให้พระภิกษุผู้เป็นบิดาของตนฟัง และจดหมายที่พ่อของเขาตอบกลับมานั้น ได้ให้สติทางการเมืองแก่เขาว่า

คำทบทวนของพ่อถึงความกดขี่อาธรรมที่พ่อได้ประสบมาเองจากเจ้าหน้าที่ของบ้านเมือง รวมทั้งที่พ่อและตัวเขาได้รู้เห็นการกระทำชั่วร้ายเหล่านั้น อันได้บังเกิดแก่พวกพ้องชาวนาของเขา ตลอดจนความเป็นอยู่อย่างอดอยากยากแค้นที่พวกพ้องชาวนาของเขาได้ผจญกันมาหลายชั่วคนแล้ว ได้เป็นข้อเตือนใจอย่างสำคัญให้จันทาสำรวจดูความคิดของเขาที่มีต่อการเปลี่ยนแปลงจากวิถีเก่าไปสู่วิถีใหม่…

“เขารู้สึกละอายใจอย่างยิ่ง เมื่อเขาระลึกได้ถึงความรู้สึกนึกคิดของเขาในระยะหนึ่งที่เอนเอียงไปในทางไม่พึงพอใจต่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เพราะเหตุว่าการเปลี่ยนแปลงนั้นก่อความวิบัติแก่ผู้มีพระคุณของเขา เพราะเหตุว่าการเปลี่ยนแปลงนั้นทำให้เขาสูญเสียมูลนายที่จะค้ำชูเขาให้มีความเจริญในราชการ ซึ่งเขาถือว่าเป็นงานที่เชิดหน้าชูตาเขาอย่างที่สุด

“เขาละอายใจว่า ด้วยการคิดถึงเหตุการณ์บ้านเมืองโดยการมองไปจากผลประโยชน์ส่วนตัวของเขา ซึ่งก็หมายถึงว่า ด้วยความคิดเห็นแก่ตัวล้วน ๆ นั่นเอง ที่เกือบจะขับต้อนเขาให้ไปรวมอยู่ในกลุ่มชนส่วนน้อยนิด ซึ่งมีความเป็นอยู่แตกต่างกับพวกพ้องชาวนาของเขาดังฟ้ากับดิน ด้วยการคิดไปจากผลประโยชน์ส่วนตัวของเขา เขาแทบจะคัดตัวเองออกไปอยู่ในฝ่ายที่เป็นปรปักษ์ต่อสวัสดิภาพของพวกพ้องชาวนาของเขา โดยที่เขาไม่มีความสำนึกเลย

“เขาละอายใจว่า ตัวเขาได้มีโอกาสเข้ามาเรียนในเมืองหลวง จนถึงได้เข้าเรียนในโรงเรียนกฎหมาย ทั้งได้อยู่กินในบ้านของท่านอำมาตย์ผู้ใหญ่มาหลายปี ส่วนพ่อของเขาสิได้หมกตัวอยู่แต่ในท้องทุ่งอันกันดาร แต่พ่อของเขากลับมีความคิดที่ถูกต้อง…” (หน้า 368-369)


“ศรีบูรพา” นายกุหลาบ สายประดิษฐ์


ศรีบูรพาตั้งประเด็นได้อย่างน่าสนใจและเป็นอมตะผ่านปากของจันทาว่า “จันทาพิศวงว่า เหตุไฉนการสมาคมอันกว้างขวาง และความรู้อันสูงของเขา เมื่อเทียบกับระดับการสมาคมและความรู้ของพวกพี่น้องชาวนา จึงกลับนำไปสู่ความคิดที่ผิดเล่า” (หน้า 369)

ครูหนุ่มของจันทา ที่เป็นส่วนหนึ่งของคณะราษฎรตามเนื้อหาสมมติในเรื่อง ได้อธิบายข้อสงสัยของจันทาอย่างกระจ่างแจ้งว่า

วิชาความรู้ที่บุคคลมีอยู่นั้น ไม่ว่าจะมากมายสักเท่าใด จะไม่ทำให้เขามีความคิดที่ถูกต้องขึ้นมาได้ และก็จะไม่ทำให้เขาเป็นประโยชน์แก่ชนส่วนมากได้ หากเขาพิจารณาการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในชุมนุมชน โดยถือเอาการได้เสียเป็นส่วนตัว และความรู้สึกส่วนตัวของเขาซึ่งขัดแย้งกับผลประโยชน์ของชนส่วนมากเป็นหลักในการพิจารณา  ความคิดที่ถูกต้องและมีคุณค่าต่อชุมนุมชนนั้น จะต้องเป็นความคิดที่สอดคล้องกับผลประโยชน์ของชนส่วนมาก เพราะฉะนั้น คนขอทาน หรือกรรมกรที่อดโซ จึงอาจมีความคิดที่วิเศษยิ่งกว่าผู้มีอำนาจวาสนาซึ่งคำนึงถึงแต่ผลประโยชน์ส่วนตัวของเขา”(หน้า 369-370)


“ศรีบูรพา” นายกุหลาบ สายประดิษฐ์


ส่งท้าย : คนหมดศรัทธาเพราะอะไร


ตอนหนึ่งในจดหมายจากพระภิกษุผู้บิดาของจันทานั้น ได้กล่าวถึงสภาพปัญหาทางการเมืองการปกครองที่ตนเองได้พบจากชีวิตจริงตามท้องเรื่องว่า “จากชีวิตของพ่อได้ผ่านมา พ่อก็มีความเคารพนับถือพระเจ้าแผ่นดินท่านอยู่เป็นนิจ แต่พวกพนักงานเจ้าหน้าที่ ผู้เป็นหูเป็นตา เป็นมือเป็นตีนของท่าน มาทำให้พ่อหมดศรัทธา คนเหล่านั้นไม่ได้ทำตนให้เป็นมิตรของเราเลย มีแต่จะคอยกดขี่ข่มเหงคะเนงร้ายเอาท่าเดียว” (หน้า 367)

ระบบการปกครองที่พ่อของจันทากล่าวถึงนี้ คือยุคก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครองที่พระมหากษัตริย์ทรงสมบูรณาญาสิทธิ์ ทรงบริหารราชการแผ่นดินโดยพระองค์เอง โดยนัยนี้จึงแสดงให้เห็นได้เป็นอย่างดีว่า ระบอบประชาธิปไตยภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองที่เทิดทูนพระมหากษัตริย์ไว้ในฐานะประมุขของชาติ ให้ทรงปกเกล้าฯ โดยไม่ปกครองนั้น เป็นการรักษาสถาบันพระมหากษัตริย์ไว้ได้เป็นอย่างดี เพื่อให้คนนับถือพระเจ้าแผ่นดินอยู่เป็นนิจนั่นเอง


บรรณานุกรม

  • ศรีบูรพา. แลไปข้างหน้า. พิมพ์ครั้งที่ 4. นนทบุรี : ศรีปัญญา, 2565.
  • จินตนา ดำรงเลิศ. “แลไปข้างหน้า กับศรีบูรพา” ใน วารสารราชบัณฑิตยสถานปีที่ 30 ฉบับที่ 2 เมษายน-มิถุนายน 2548, หน้า 493-494.
  • ขอขอบคุณภาพศรีบูรพา จากบ้านศรีบูรพา เอื้อเฟื้อโดย กนกวรรณ เปี่ยมสุวรรณศิริ


หมายเหตุ

บทความนี้พัฒนามาจากการบรรยายพิเศษ หัวข้อ “แลไปข้างหลัง ผ่าน แลไปข้างหน้า” ในโครงการ “อ่าน เขียน เรียนรู้ สู่งานวิจารณ์” ปีที่ 8 ณ อาศรมวงศ์สนิท จังหวัดนครนายก เมื่อวันที่ 28 และ 29 ตุลาคม 2565

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save