fbpx
ความหวานอันขมขื่น : เมื่อที่ดินชาวบ้านสเรอัมเบลในกัมพูชา ต้องกลายเป็นไร่อ้อยของนายทุนไทย

ความหวานอันขมขื่น : เมื่อที่ดินชาวบ้านสเรอัมเบลในกัมพูชา ต้องกลายเป็นไร่อ้อยของนายทุนไทย

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย เรื่องและภาพ

 

 

เกาะกง, กัมพูชา

 

เรื่องอาจจะง่ายกว่านี้ ถ้ารสหวานให้เราแค่ความสุข แต่โลกไม่ได้ดำเนินไปแบบนั้น อะไรที่มากเกินไปมักขมปร่า แม้ว่าสิ่งนั้นจะเป็นภูเขาน้ำตาลก็ตาม

ที่สเรอัมเบล ชาวบ้านไม่ได้ชอบน้ำตาลเป็นพิเศษ แต่พื้นที่กว่า 18,641.6 เฮกตาร์ (116,510 ไร่) ในอำเภอกลายเป็นไร่อ้อยของบริษัท น้ำตาลขอนแก่น จำกัด (มหาชน) ที่ได้รับสัมปทานจากรัฐบาลกัมพูชาเป็นเวลา 90 ปี – ยาวนานกว่าอายุขัยของหลายคน โชคดีที่วันนี้บริษัทหยุดทำไร่อ้อยและปิดโรงงานไปแล้ว หลังการต่อสู้อย่างยาวนานของชาวบ้านกว่า 13 ปี นับตั้งแต่โดนทุนรุกคืบเข้ามาเมื่อปี 2006 แต่ถึงอย่างนั้นที่ดินมหาศาลที่ชาวบ้านสูญเสียไปก็ยังได้คืนมาไม่หมด

ภาพฉาบหน้าที่เราเห็นคือวิถีชีวิตของชาวบ้านที่ไม่เคยเหมือนเดิม แต่ลึกลงไปใต้ภูเขาน้ำแข็ง คือการตักตวงผลประโยชน์จากกลไกอำนาจที่สลับซับซ้อนของทุนและรัฐในลุ่มแม่น้ำโขงที่คล้ายไม่มีวันอิ่มหนำ

 

สเรอัมเบล ชาวบ้านไม่ได้ชอบน้ำตาลเป็นพิเศษ แต่พื้นที่กว่า 18,641.6 เฮกตาร์ (116,510 ไร่) ในอำเภอกลายเป็นไร่อ้อยของบริษัท น้ำตาลขอนแก่น จำกัด (มหาชน)

 

หมาพันทาง 2 ตัววิ่งเข้าหา เตง กาว ตั้งแต่เห็นเขาเดินตัดร่องสวนแตงโม มันส่งเสียงเห่าและเข้ามาพันแข้งพันขาขณะที่เขาเหยียบหญ้าดังสวบสาบ มุ่งหน้าไปสู่กระท่อมที่ตั้งอยู่โดดเดี่ยวตรงปลายสวน เตง กาว เป็นชาวบ้านจากหมู่บ้านชุก หนึ่งใน 3 หมู่บ้านที่ได้รับผลกระทบจากการยึดที่ดิน

แต่เดิม เตง กาว มีที่ดินทำกินอยู่ 14 เฮกตาร์ (87.5 ไร่) จนกระทั่งกลุ่มทุนเข้ามาไล่ที่ชาวบ้านออกไป เขาก็สูญเสียที่ดินทั้งหมด จนเพิ่งได้ที่คืนมา 1.5 เฮกตาร์ (9.375 ไร่) หลังเจรจากับทางการเสร็จสิ้นในปี 2018 ที่ดินผืนนี้คือเศษเสี้ยวที่เขาได้คืน เหมือนกันกับชาวบ้านคนอื่นๆ อีก 200 ครอบครัว

“เขายึดที่เรา 200 ครอบครัวไป 1,365.77 เฮกตาร์ แล้วตัดคืนให้ 300 เฮกตาร์ เฉลี่ยได้ครอบครัวละ 1.5 เฮกตาร์” เตง กาว เล่าถึงผืนดินที่เรายืนอยู่ แม้จะไม่ใช่ที่ผืนเดิมของเขา แต่เขาก็ยังได้ที่ทำกินคืนมาบ้าง เขาพาเดินไปหลังกระท่อม มองลงไปด้านล่างเห็นผืนดินร้างเงียบเหงาที่เคยเป็นไร่อ้อยของบริษัทน้ำตาลขอนแก่น

 

เตง กาว ชาวบ้านหมู่บ้านชุก ในอำเภอสเรอัมเบล จังหวัดเกาะกง ที่ได้รับผลกระทบจากการไล่รื้อที่ดิน
เตง กาว ชาวบ้านหมู่บ้านชุก ในอำเภอสเรอัมเบล จังหวัดเกาะกง ที่ได้รับผลกระทบจากการไล่รื้อที่ดิน

 

“ช่วง 3 ปี 8 เดือน ที่ดินเป็นของรัฐหมดเลย” เตง กาว เริ่มย้อนอดีตให้ฟัง

‘3 ปี 8 เดือน’ ที่เขาพูดถึง หมายถึงช่วงที่เขมรแดงเรืองอำนาจในกัมพูชาตั้งแต่ปี 1975-1979 ทุกผลผลิตทางการเกษตรจะตกเป็นของส่วนรวม ไม่มีใครถือกรรมสิทธิ์ที่ดินได้ ในช่วงนั้นชาวบ้านมีทั้งทำนา ปลูกมะม่วง มะพร้าว พริก หรือพืชล้มลุกระยะสั้น เขาบอกว่าโชคดีที่ช่วงนั้นครอบครัวเขาไม่ต้องโยกย้ายไปที่อื่น ยังทำนาทำสวนที่สเรอัมเบลได้อยู่ จนกระทั่งสิ้นสุดยุคเขมรแดง ชาวบ้านก็เริ่มขยายอาณาเขตสวนของตัวเองออกไป พร้อมๆ กับขายพืชผลที่ปลูกได้ไปนอกพื้นที่

“หลังหมดช่วงเขมรแดง พอได้ที่ทาง ปลูกอะไรก็ขึ้น เราก็เริ่มคิดว่าถ้ามีรถสักคัน น่าจะส่งผลผลิตไปให้พี่น้องบ้านอื่นได้ น่าจะทำให้ชุมชนสบายขึ้น สมัยก่อน ความอุดมสมบูรณ์ยังเต็มที่นะ มีที่ว่างจับจองได้ มีที่สาธารณะสำหรับเลี้ยงวัว นี่คือความสุข แต่พอถึงปี 2006 บริษัทเข้ามา เราก็เศร้าเลย ที่อยากทำทั้งหมดก็ต้องจบ”

หลังจาก ฮุน เซน ขึ้นครองอำนาจหลังยุคเขมรแดง ปัญหาสำคัญในประเด็นเรื่องที่ดินของกัมพูชาคือสิทธิในที่ดินของประชาชนไม่ชัดเจน ถึงแม้ว่าชาวบ้านจะมีสิทธิในการใช้ที่ดิน แต่ที่ดินยังเป็นสิทธิของรัฐอยู่ แม้ว่าชาวบ้านจะอาศัยบนที่ดินนั้นมากว่า 50-60 ปีก็ตาม

พูดให้เห็นภาพ หลังจาก เตง กาว และชาวบ้านอีกหลายคนปักเขตแดนทำไร่นาของตัวเองเมื่อได้รับการปลดปล่อยจากยุคเขมรแดง หลังจากนั้นไม่กี่ปีก็เริ่มมีระบบจัดตั้งโครงสร้างหมู่บ้าน มีกำนัน ผู้ใหญ่บ้านขึ้นมา จึงเริ่มมีการออกใบเหยียบย่ำให้ชาวบ้านที่ถือครองที่ดินมาตั้งแต่ก่อนยุคเขมรแดง แต่ก็ยังไม่มีกรรมสิทธิ์ตามกฎหมายของรัฐ ถึงอย่างนั้น วิถีชีวิตของชาวบ้านยังดำเนินมาอย่างปกติ ป่ายังเป็นซูเปอร์มาเก็ต ช้างยังเป็นเพื่อนและคู่ปรับ ที่ดินยังเป็นขุมทรัพย์ล้ำค่าที่หล่อเลี้ยงชีวิตคนมาอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งการเข้ามาของทุนจากไทยในปี 2006 ในนามของผู้ผลิตความหวาน

“ถึงเวลานั้น ใบเหยียบย่ำที่ออกโดยผู้ใหญ่บ้านก็ไม่มีความหมายอะไร” เตง กาว ว่า “เรารวมกัน 200 ครอบครัวไปยื่นใบเหยียบย่ำที่อำเภอ ทางการเขายันกลับมาว่า ที่ดินเป็นของรัฐ ถ้ารัฐต้องการใช้  ชาวบ้านก็ต้องออก”

ลักษณะการใช้อำนาจรัฐในการตัดสินใจหยิบที่ดินมาใช้ สอดคล้องกับนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจของกัมพูชา ที่อ้าแขนรับนายทุนต่างชาติ เส้นทางการเข้ามาสัมปทานที่ดินของบริษัทน้ำตาลขอนแก่น เริ่มต้นในปี 2005 เมื่อกัมพูชาประกาศใช้กฤษฎีกาว่าด้วยสัมปทานที่ดินทางเศรษฐกิจ พ.ศ.2548 (Sub-decree on Economic Land Concessions)

หลังจากนั้นบริษัทน้ำตาลขอนแก่นก็ได้เข้าสำรวจพื้นที่เพื่อเตรียมเพาะปลูกอ้อยและจัดตั้งโรงงานน้ำตาล ก่อนจะแตกย่อยออกมาเป็น 2 บริษัทเพื่อสัมปทานได้อย่างถูกกฎหมาย คือ บริษัท เกาะกงการเกษตร จำกัด (Koh Kong Plantation Company Limited : KPT) และ บริษัท น้ำตาลเกาะกง จำกัด (Koh Kong Sugar Industry Company Limited : KSI) เพราะรัฐบาลกัมพูชาจำกัดให้สัมปทานได้บริษัทละไม่เกิน 10,000 เฮกตาร์ โดยมีสัดส่วนการถือหุ้นแบ่งเป็น 3 ส่วน คือ 1) บริษัทน้ำตาลขอนแก่น จำกัด (มหาชน) ถือหุ้นร้อยละ 50 2) บริษัท Ve Wong บริษัทสัญชาติไต้หวัน ถือหุ้นร้อยละ 30 3) นาย ลี ยง พัท วุฒิสมาชิกพรรคประชาชนกัมพูชา ถือหุ้นร้อยละ 20

ที่เกาะกง ไม่มีใครไม่รู้จัก ลี ยง พัท ผู้มีอิทธิพลที่มีชื่อสะพานเป็นของตัวเอง บนสะพานข้ามแม่น้ำครางครืนเชื่อมเกาะกงกับจังหวัดตราด เป็นทั้งเจ้าของธุรกิจรีสอร์ต คาสิโน ขุดทราย ตัวแทนจำหน่ายไฟฟ้า และธุรกิจน้ำตาลร่วมกับนายทุนจากไทย นอกจากนี้เขายังขึ้นเป็นที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจให้รัฐบาล ฮุน เซน อีกด้วย การเกาะเกี่ยวกันระหว่างทุนและรัฐในกัมพูชาดำเนินไปอย่างโจ่งแจ้ง ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ และข้อเรียกร้องของชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ

“ช่วงที่บริษัทเข้ามา เขาเข้ามาชี้ว่าจะเอาตรงไหนบ้าง กี่พันกี่หมื่นไร่ พอลงมาวัดที่จริงๆ ปรากฏว่าชาวบ้านอยู่เต็มเลย คนวัดก็ปวดหัวเลย จะทำยังไง เพราะหัวหน้าใหญ่ให้ผ่านแล้ว รัฐต้องการใช้แล้ว” เตง กาว เล่าถึงเหตุการณ์ครั้งสำคัญที่เป็นจุดเปลี่ยนของชาวบ้านในอำเภอสเรอัมเบล

“ตอนนั้นยังไม่รู้ว่าเป็นรัฐหรือบริษัท เห็นรถไถลิบๆ ก็เดินไปดู อ้าว นี่ที่ของผม เขาก็ไม่หยุดไถสักที พอเดินไปบอกเขาก็ไม่เชื่อ บอกว่านายให้ทำ ก็ทำ

“เราก็กลับมาคุยกันในหมู่บ้านว่ามีวิธีเดียวคือไปรออยู่ตรงที่ดินเลย เขาคงไม่กล้ามาไถหรอก กลางวันก็เลยเงียบ ไม่มีรถมาทำ ก็คิดว่าเขาคงจะหยุดแล้ว เลยกลับมานอนที่บ้าน ปรากฏว่าตอนกลางคืน เขาไถเลย ข้าวกำลังงาม ก็ได้เรียนรู้กันว่าอย่าไปไว้ใจเพราะเขาจะมาตอนกลางคืน เลยไปนอนเฝ้ากัน ถ้าไม่มาเฝ้าน่าจะโดนไถไปมากกว่าเดิม ก็เกิดการแตกฮือ ปกป้องทรัพย์สินของตัวเอง” พอยิ่งเล่า ยิ่งเสียงดัง เตง กาว พูดให้เห็นภาพว่า กระท่อมหรือบ้านถูกไถจนพังหมด โดยไม่สนใจว่าจะมีข้าวของอยู่ข้างบนหรือไม่

“ถ้าเราไปขอให้เขาหยุด หรือขอขึ้นไปเอาหม้อหุงข้าวก่อนได้มั้ย ก็เหมือนยินยอมให้เขาทำแล้ว เพราะฉะนั้นทุกคนห้ามเด็ดขาด ไม่ต้องทำอะไร ยอมเสียให้หมดเลย นี่คือการไม่ยอม

“เหตุการณ์รุนแรงขึ้นในปี 2007 มีการใช้กองกำลังทหาร มีอาวุธ ทั้งยิงใส่คนและยิงขึ้นฟ้า ชาวบ้านก็หลบอยู่แถวนั้น ไม่รู้จะทำยังไงเลยไปคุยกับ อบต. เขาก็บอกว่า ไม่รู้จะทำยังไง จะตายเหมือนกัน”

เมื่อหมดหนทางสู้ ชาวบ้านจึงรวมกลุ่มกันกว่า 120 คน เดินทางไปยังกรุงพนมเปญ หอบลูกเด็กเล็กแดงเดินเท้าไปกว่า 1 วัน จนเจอรถบรรทุกรับขึ้นระหว่างทางจนถึงจุดหมาย เพื่อยื่นข้อเรียกร้องต่อหน่วยงานราชการ เจ้าหน้าที่กระทรวงมหาดไทยตอบกลับมาว่าขอให้มั่นใจว่าพวกเขาจะแก้ปัญหาได้

 

ภาพจากแฟ้มของชาวบ้าน ช่วงที่ชาวบ้านเดินทางไปเรียกร้องปัญหาที่ดินที่พนมเปญ
ภาพจากแฟ้มของชาวบ้าน ช่วงที่ชาวบ้านเดินทางไปเรียกร้องปัญหาที่ดินที่พนมเปญ

 

ต่อมามีการประชุมกันหลายฝ่ายระหว่างบริษัท ตัวแทนชาวบ้าน และศูนย์การศึกษากฎหมาย โดยมีข้อสรุปว่าให้บริษัทหยุดแผ้วทางที่ดินและหยุดขับไล่ชาวบ้านออกจากพื้นที่ แต่ท้ายที่สุด ข้อสรุปเหล่านี้ก็ไม่เคยเกิดขึ้นจริง การไถที่ดินและไล่รื้อชาวบ้านยังดำเนินต่อ ชาวบ้านหลายคนต้องเข้าไปทำงานในโรงงานที่ยึดที่ดินของพวกเขา บางคนต้องไปตัดอ้อยบนที่ดินที่เคยเป็นของตัวเอง

จนในที่สุด หลังจากเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้น ก็มีการออกรายงานสถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนในเกาะกง ในรายงานชื่อ Economic Land Concessions in Cambodia: A Human Rights Perspectives ของสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งองค์การสหประชาชาติ จนปัญหาดูท่าทางจะคลี่คลายขึ้น

ตลอด 13 ปีที่ผ่านมา มีการฟ้องร้องกันหลายต่อหลายครั้ง มีการเปลี่ยนมือผู้ถือหุ้นของ KSI โดย ลี ยง พัท ขายหุ้นให้บริษัทน้ำตาลขอนแก่น และต่อมาก็เปลี่ยนบริษัทที่เข้ามาดูแลพื้นที่สัมปทานและโรงงาน องค์การสิทธิมนุษยชนหลายแห่งเข้ามาจับตาและช่วยเหลืออย่างใกล้ชิด มีการนัดยุติกรณีพิพาท จนในปี 2018 กระทรวงการจัดการที่ดินของกัมพูชาจัดสรรที่ดินกว่า 300 เฮกตาร์ให้ชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบ 200 ครอบครัวเป็นค่าชดเชย แต่ชาวบ้านก็ยังไม่ได้รับค่าชดเชยเป็นเงินตามที่เคยมีการสัญญาไว้ก่อนหน้านี้

ช่วงใกล้เคียงกันนั้น สหภาพยุโรปประกาศเตือนไปยังกัมพูชาว่าจะตัดสิทธิเศษทางการค้าในมาตรการ EBA (Everything but Arms) หรือ ‘ทุกอย่างยกเว้นอาวุธ’ เนื่องจากเกิดความไม่โปร่งใสในการเลือกตั้งทั่วประเทศ และมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง

ช่วงที่ข้อพิพาทดำเนินมาถึงจุดสำคัญนี้ ทางบริษัทก็ยุติการทำไร่อ้อยและโรงงานน้ำตาล เครื่องจักรทั้งหมดหยุดนิ่ง วันที่เราเดินทางไปสเรอัมเบล มองเห็นพื้นที่ที่เคยเป็นสำนักงานและบ้านพักเจ้าหน้าที่ปิดเงียบ มีเพียงหญ้าขึ้นรกร้างไร้คนดูแล การถอยทัพของนายทุนครั้งนี้ นับเป็นชัยชนะครั้งสำคัญของชาวบ้าน แม้ว่าพวกเขาจะสูญเสียอะไรไปมากมาย และยังรอท่าว่าจะได้คืนอย่างเป็นธรรม

ชาวบ้านคนอื่นๆ นอกจากเตง กาว ก็ได้รับผลกระทบไม่แพ้กัน หลายคนมีหนี้สินจากการกู้เงินนอกระบบดอกเบี้ยสูง เพราะไม่มีที่ดินทำกิน สุดท้ายลูกหลานต้องเข้าไปทำงานในเขตเมืองเกาะกง เพื่อส่งเงินเดือนอันน้อยนิดที่แม้แต่จ่ายดอกเบี้ยก็ยังไม่พอ ในขณะที่คนร่ำรวยในกัมพูชายังมีเงินจับจ่ายมือเติบ พร้อมๆ กับได้รับผลประโยชน์จากการเอื้อของรัฐ

 

อำเภอสเรอัมเบล จังหวัดเกาะกง ที่ได้รับผลกระทบจากการไล่รื้อที่ดิน

อำเภอสเรอัมเบล จังหวัดเกาะกง ที่ได้รับผลกระทบจากการไล่รื้อที่ดิน

 

เปรมฤดี ดาวเรือง ผู้ประสานงานโปรเจ็กต์เสวนาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ทำงานประเด็นเรื่องที่ดินในสเรอัมเบลตั้งแต่ปี 2010 ให้ความเห็นว่าปัญหาเรื่องที่ดินนั้นเกี่ยวข้องโดยตรงกับเรื่องการเมือง

“ถ้าเราดูประวัติศาสตร์กฎหมาย หรือกฎระเบียบเรื่องที่ดินในกัมพูชา เราจะเห็นว่ามันมาพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในกัมพูชา คือหลังจากระบบกษัตริย์ กัมพูชาผ่านช่วงเขมรแดงมา และออกจากเขมรแดงด้วยการเข้ามาแทรกแซงของหน่วยงานสหประชาชาติ ซึ่งมาบอกว่าให้มีการเลือกตั้งทั่วไป หลังจากเลือกตั้งทั่วไปก็มีการทำกฎหมาย เพราะฉะนั้นการเขียนกฎหมายก็มาจากกลุ่มนานาชาติข้างนอกทั้งหมด รัฐบาลกัมพูชาและประชาชนไม่ได้มีส่วนร่วมในการเขียนกฎหมาย เพราะฉะนั้นปัญหาใหญ่ที่สุดที่เกิดขึ้นในกัมพูชา ก็คือกัมพูชามีกฎหมายที่ดีก็จริง แต่บังคับใช้ไม่ได้จริง

“พอบังคับใช้ไม่ได้จริง เมื่อรัฐบาลสมาทานแนวคิดการใช้ที่ดินขนาดใหญ่เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจด้วยการเปิดให้สัมปทานขนาดใหญ่ ก็ถูกนำมาใช้เอื้อผลประโยชน์นายทุนเลย คือบริษัทหนึ่งเอาไปได้เลย 10,000 เฮกตาร์ หรือ 60,000 ไร่ในทีเดียว ถ้าแตกเป็น 3 บริษัทก็ได้ไป 180,000 ไร่ นี่คือปัญหาที่เห็น

“กฎหมายเขียนอยู่แล้วว่าประชาชนควรจะมีสิทธิ์ใช้ โดยเฉพาะคุณอยู่ในที่ดินในช่วงเวลาหนึ่งแล้ว ก็ควรจะสามารถเป็นเจ้าของที่ดินในแง่ของการใช้ได้แล้ว แต่รัฐบาลก็ไม่ยอมรับ จะมีช่องว่างอยู่ตลอดเวลา เพราะฉะนั้นไม่ว่าเราจะทำกฎหมายใดก็ตาม ตัวรัฐกับประชาชนจะต้องทำงานร่วมกัน จริงๆ แล้วนักลงทุนเป็นบุคคลที่สาม ไม่ใช่คนในประเทศ หากเกิดอะไรกับประชาชน ประชาชนสูญเสียวิถีชีวิต คนที่จะต้องแก้ไข สุดท้ายเป็นรัฐบาล ควรจะเป็นปัญหาของประเทศ ในขณะที่คุณยอมให้พวกข้างนอกมาลงทุน ทุนก็ย่อมเป็นทุน ทุนต้องการแค่ผลกำไร ไม่ได้ต้องการจะมาแก้ปัญหาในประเทศให้ เรื่องนี้คือเรื่องที่รัฐบาลกัมพูชาต้องคิดให้ชัดเจน” เปรมฤดี กล่าวสรุป

 

เปรมฤดี ดาวเรือง ผู้ประสานงานโปรเจ็กต์เสวนาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เปรมฤดี ดาวเรือง ผู้ประสานงานโปรเจ็กต์เสวนาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 

ท่ามกลางแดดร้อนจ้า เตง กาว และชาวบ้านคนอื่นๆ พาเราเดินทางไปดูที่ดินที่เคยโดนกวาดไปเป็นไร่อ้อย บัดนี้เป็นเพียงดินสีส้มที่น่าจะให้รสขมมากกว่ารสหวาน ส่วนที่ดินของชาวบ้านที่ได้คืนมากลายเป็นสีเขียว อุดมด้วยพืชและผลไม้หลากหลายตามแต่จะเลือกปลูก ทั้งแตงโม ตำลึง แตงกวา กล้วย ฯลฯ

ที่บ้านใต้ถุนสูงหลังหนึ่ง อารีดา เด็กหญิงวัยสิบขวบหลบอยู่หลังพ่อตลอดการเดินดูสวน แต่ก่อนจากกัน เธอวิ่งเอาดอกไม้สีเหลืองสดมาให้ด้วยแววตาเขินอาย ก้มหน้างุดแต่มือยื่นให้อย่างมุ่งมั่น เมื่อถามว่านี่คือดอกอะไรเธอตอบเสียงเบาว่า “อองเกียบซัล”

แม้ตัวคนไม่ได้กลับมาด้วย แต่ดอกไม้ยังเดินทางมาแทน

วิถีชีวิตของชาวบ้านยังดำเนินต่อ แม้จะต้องเผชิญเหตุการณ์อันตรายหลายต่อหลายครั้ง เด็กๆ ยังคงเติบโต หนุ่มสาวยังเติบใหญ่ และผู้ใหญ่บางคนโรยราแค่ร่างกาย แต่ชีวิตย่อมเป็นชีวิต

หลังจากเรากลับมาไม่นาน สหภาพยุโรปก็ประกาศลงดาบกัมพูชา ด้วยการตัดสิทธิพิเศษทางการค้า EBA ส่งผลกระทบต่อผลิตภัณฑ์เสื้อผ้ารองเท้า การท่องเที่ยว และน้ำตาลทั้งหมด

ท่ามกลางโลกที่หมุนไป กับผลประโยชน์ที่ไหลเวียนในสังคม บางเรื่องก็ทำให้เรารู้ว่า น้ำตาลขมได้กับทุกคน

 

ความหวานอันขมขื่น : เมื่อที่ดินชาวบ้านสเรอัมเบลในกัมพูชา ต้องกลายเป็นไร่อ้อยของนายทุนไทย

 

ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการลงพื้นที่ทำข่าว สนับสนุนโดยชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

 

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save