fbpx
สปิริตสื่อไทยใต้ท็อปบูท บทเรียนจาก “ฐปณีย์-อิศรา-ประชาไท”

สปิริตสื่อไทยใต้ท็อปบูท บทเรียนจาก “ฐปณีย์-อิศรา-ประชาไท”

ธิติ มีแต้ม เรื่องและภาพ

ตั้งแต่รัฐประหาร 22 พ.ค. 2557 จนถึงปัจจุบัน แม้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยังไม่ได้ทุ่มโพเดียมใส่นักข่าว และปิดสื่อหรือจับนักข่าวไปยิงเป้าแบบที่เคยขู่ไว้ แต่สื่อมวลชนไทยก็ต้องเผชิญกับการถูกกดดันและคุกคามจากอำนาจรัฐที่ควบคุมโดย คสช. ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ครั้งล่าสุด เมื่อวันที่ 9 พ.ค. 2561 ช่อง PEACE TV ถูก กสทช. อาศัยคำสั่งคสช. ที่ 97/2557 และฉบับที่ 103/2557 สั่งพักใช้ใบอนุญาตเป็นเวลา 30 วัน เนื่องจากเห็นว่ามีเนื้อหารายการอันเป็นการส่อให้เกิดความสับสน ยั่วยุ ปลุกปั่นให้เกิดความขัดแย้ง หรือสร้างให้เกิดความแตกแยกในราชอาณาจักร ซึ่งไม่ใช่ครั้งแรกที่ช่อง PEACE TV จอดำ

ในการรวบรวมข้อมูลของ iLaw (โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน) ตั้งแต่วันที่ 22 พ.ค. 2557 – 10 เม.ย. 2561 พบว่า กสทช. มีการออกมติลงโทษสื่อมวลชนจากการนำเสนอเนื้อหาในประเด็นทางการเมือง โดยอาศัยหลักเกณฑ์ตามประกาศและคำสั่ง คสช. ที่เกี่ยวข้อง, บันทึกข้อตกลงระหว่างสื่อและกสทช. และมาตรา 37 ของพ.ร.บ.ประกอบกิจการฯ ไปแล้วอย่างน้อย 52 ครั้ง สถานีที่ถูกสั่งลงโทษมากที่สุดคือ VOICE TV 19 ครั้ง PEACE TV 12 ครั้ง และในจำนวนการปิดกั้นทั้งหมด มีไม่น้อยกว่า 34 ครั้งที่ กสทช. พิจารณาลงโทษสื่อตามเงื่อนไขของประกาศและคำสั่งของ คสช.

ขณะที่ผู้สื่อข่าวต่างถูกขอความร่วมมือ ถูกปรับทัศนคติ และถูกดำเนินคดีจาก คสช. ในรายงานของ iLaw มีผู้สื่อข่าวถูกเรียกไปรายงานตัวเพื่อปรับทัศนคติอย่างน้อย 35 คน ยังไม่นับกรณีเจ้าหน้าที่ไปหาที่บ้านโดยไม่เป็นข่าว

มีผู้สื่อข่าวที่ถูกดำเนินคดีอย่างน้อย 14 คน แบ่งเป็นคดีกฎหมายอาญา มาตรา 112 อย่างน้อย 4 คน มีคดีกฎหมายอาญา มาตรา 116 อย่างน้อย 7 คน เช่น ชัด ราชวงษ์ นักข่าวอิสระในจังหวัดลำพูน ถูกกล่าวหาว่าเผยแพร่ภาพข่าวการชุมนุมต่อต้านรัฐประหาร บนเว็บไซต์ manager online อันอาจเป็นการปลุกปั่นยั่วยุ ซึ่งศาลทหารมีคำพิพากษาให้ยกฟ้องไปแล้ว

แม้แต่สถานีวิทยุโทรทัศน์ ฟ้าให้ทีวี (Fah Hai TV) ที่มีพรทิพา หรือ ดีเจฟ้า ผู้เคยร่วมเคลื่อนไหวกับกลุ่ม กปปส. เป็นเจ้าของ ก็ยังถูกเจ้าหน้าที่เข้าตรวจค้นและยึดอุปกรณ์ของทางสถานี และคุมตัวบุคคลในสถานี 5 คนไปสอบสวนและแจ้งข้อหาตาม มาตรา 116 ต่อมาอัยการทหารมีคำสั่งไม่ฟ้องคดี

หรือกรณีประวิตร โรจนพฤกษ์ ผู้สื่อข่าวอาวุโสข่าวสดอิงลิช นอกจากจะถูกเรียกไปปรับทัศนคติแล้ว ยังถูกแจ้งข้อหา มาตรา 116 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากการโพสต์เฟซบุ๊กวิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญ 2560 และวิจารณ์พล.อ.ประยุทธ์ด้วย

สำหรับการทำข่าวการทำกิจกรรมรณรงค์ทางการเมืองในบรรยากาศที่ คสช. มีอำนาจควบคุมสถานการณ์ ยังมีผู้สื่อข่าวที่ถูกดำเนินคดีไปพร้อมๆ กับประชาชนด้วยถึง 3 คน คนแรกคือทวีศักดิ์ เกิดโภคา ผู้สื่อข่าวประชาไท ถูกดำเนินคดีตาม พ.ร.บ.ประชามติฯ เมื่อปี 2559 ระหว่างทำข่าวนักกิจกรรม 4 คนที่กำลังรณรงค์ในประเด็นการออกเสียงประชามติในพื้นที่อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี พวกเขาทั้ง 5 คนถูกคุมขังไว้ที่ สภ.บ้านโป่ง 1 คืน และต้องใช้เงินประกันตัวออกมาถึงคนละ 140,000 บาท ปัจจุบันศาลชั้นต้นตัดสินยกฟ้องไปแล้ว

อีกสองคน คือ สงวน คุ้มรุ่งโรจน์ ผู้สื่อข่าวอิสระ และนพเก้า คงสุวรรณ ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ข่าวสด ที่ถูกแจ้งข้อหาฝ่าฝืนประกาศ คสช. ฉบับที่ 7/2557 ชุมนุมเกิน 5 คน และคำสั่ง คสช. ฉบับที่ 3/2558 เมื่อเดือน ก.พ. 2561 ระหว่างทำข่าวกิจกรรมเรียกร้องการเลือกตั้งที่หัวหน้า คสช. เคยพูดไว้ว่าจะจัดให้มีการเมืองตั้งในปี 2561 ปัจจุบันคดีอยู่ระหว่างที่ศาลยกคำร้องขอฝากขังและปล่อยตัวโดยไม่มีเงื่อนไข

“ถ้าตระหนักในหน้าที่สื่อ ต้องไม่ปิดตัวเอง”

บทเรียนจากการที่สื่อไทยถูกคุกคามจาก คสช. ในรอบ 4 ปีที่ผ่านมาคืออะไร คงเป็นคำถามที่สื่อมวลชนต้องทบทวนตัวเอง แต่ในสายตาของนักข่าวชื่อดังแห่ง ‘ข่าว 3 มิติ’ สถานีโทรทัศน์ช่อง 3 อย่าง ฐปณีย์ เอียดศรีไชย ที่อยู่ในสนามข่าวมา 18 ปี สรุปบทบาทของตัวเองว่า “คนเป็นสื่อต้องตระหนักในหน้าที่สื่อมวลชนมากกว่าตระหนักในองค์กร เมื่อองค์กรถูกปิดในช่วงเหตุการณ์รัฐประหาร ถ้าตระหนักในหน้าที่สื่อ ต้องไม่ปิดตัวเอง”

ฐปณีย์ เอียดศรีไชย
ฐปณีย์ เอียดศรีไชย

ฐปณีย์เป็นคนสงขลา เติบโตขึ้นท่ามกลางประวัติศาสตร์การเมืองบนท้องถนน เธอเล่าให้ 101 ฟังว่าเริ่มงานข่าวครั้งแรกในชีวิตด้วยการเกาะติดการชุมนุมของสมัชชาคนจนประท้วงรัฐบาลชวน หลีกภัย

นักข่าวชื่อดังวิเคราะห์ถึงการรัฐประหารที่มีผลกระทบกับสื่อมวลชนว่า การทำข่าวเมื่อตอนรัฐประหาร 2549 เป็นการทำข่าวที่ Propaganda ให้ความชอบธรรมแก่การยึดอำนาจของทหาร เธอรู้สึกแปลกประหลาด เพราะสื่อมวลชนไม่ได้รู้สึกว่าถูกลิดรอนสิทธิเสรีภาพแต่อย่างใด “ดูเหมือนคณะรัฐประหารพอใจมากที่สื่อมวลชนทำข่าวประชาชนนำดอกไม้มามอบให้ทหาร”

แต่ฐปณีย์เปรียบถึงรัฐประหาร 2557 ว่า สื่อมวลชนน่าจะได้รับบทเรียนแล้วว่าสิทธิเสรีภาพไม่อาจฝากไว้กับกลุ่มอำนาจทหารที่เข้ามาอย่างไม่เคารพกติกาได้ จากประสบการณ์เธอกล่าวถึงภาวะการปิดกั้นสื่อจากรัฐบาลนายทุนกับรัฐบาลเผด็จการว่า “ตั้งแต่ทำงานข่าวมา ยังไม่เคยได้รับโทรศัพท์ส่วนตัวหรือถูกเรียกตัวจากรัฐบาลนายทุน เหมือนกับรัฐบาลเผด็จการ”

เย็นวันที่ 22 พ.ค. 2557 ฐปณีย์ทำข่าวอยู่หน้าสโมสรกองทัพบก ถนนวิภาวดี-รังสิต เป็นครั้งแรกที่เธอบอกว่าได้เห็นการยึดอำนาจซึ่งๆ หน้า ต่างจากปี 2549 ที่ทักษิณ ชินวัตร ถูกยึดอำนาจในขณะที่อยู่ต่างประเทศ

วินาทีรัฐประหาร เธอรู้ทันทีว่าช่องที่ตัวเองสังกัดไม่สามารถรายงานข่าวได้ตามปกติ โทรทัศน์ทุกช่องถูกเชื่อมสัญญาณเข้าโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจ แต่เธอและเพื่อนร่วมงานไม่หยุดบันทึกภาพความโกลาหลหน้าสโมสรกองทัพบกที่นักการเมืองต่างขั้วหลากสีถูกทหารควบคุมตัวขึ้นรถออกไป

ฐปณีย์บอกว่า โทรทัศน์ถูกปิดก็จริง แต่ Social Media ไม่สามารถปิดได้ เธอใช้ทั้งเฟซบุ๊กและอินสตาแกรมซึ่งอัพโหลดวีดีโอได้ครั้งละ 15 วินาที รายงานข่าวตั้งแต่ช่วงเย็นจนถึงค่ำมืด เพราะนี่เป็นบันทึกประวัติศาสตร์

“เมื่อมีการรัฐประหาร สื่อไทยมักหยุดทำหน้าที่เพราะคิดว่าไม่มีช่องทางในการรายงานข่าว และต้องดูสื่อต่างประเทศรายงานข่าวในประเทศตัวเองแทน แต่เมื่อโซเชียลมีเดียยังไม่ถูกปิด เราก็ต้องทำงานต่อ”

ในฐานะสื่อ ฐปณีย์มองว่า 4 ปีที่ผ่านมา คนที่เป็นกระบอกเสียงให้ชาวบ้านซึ่งถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนนั้นปกติก็น้อยอยู่แล้ว องค์กรสื่อที่ให้ความสำคัญกับสิทธิมนุษยชนนั้นแทบไม่ต้องพูดถึง ในขณะนักข่าวที่ให้ความสำคัญกับสิทธิมนุษยชนก็มีน้อยลงทุกที

สื่อหลายสำนักอาจคิดว่าประเด็นสิทธิมนุษยชนนำเสนอยาก ด้วยเหตุผลต่างๆ นานา แต่นักข่าวจากข่าว 3 มิติมองว่า แต่เหตุผลที่ไม่ควรอ้างคือกลัวองค์กรตัวเองเดือดร้อน “แม้ว่ามีรัฐประหาร พอทำงานไปถึงจุดหนึ่งก็ตอบตัวเองได้ว่าเราไม่กลัว เพราะเราพิสูจน์แล้วว่ายังทำได้ ประชาชนได้รับรู้ข่าวสารไม่ใช่เพราะองค์กรสื่อถูกปิดหรือไม่ถูกปิด แต่เพราะยังมีนักข่าวที่ยังทำงานอยู่ ยังมีคนที่อยากรู้อยากเห็น ไม่ปิดตาตัวเอง”

ฐปณีย์ออกตัวว่า ไม่ใช่คนที่มุ่งมั่นทำข่าวโจมตีรัฐบาลทหาร แต่การทำข่าวเชิงสิทธิมนุษยชน ให้ความสำคัญกับเสียงคนตัวเล็กๆ เช่น แรงงานประมง ชาวโรฮิงญา และชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็ทำให้ถูกฝ่ายความมั่นคงเล่นงานได้เช่นเดียวกัน

“ระหว่างอยู่ที่ดอยไตแลง ช่อง 3 โทรมาบอกว่ากระทรวงกลาโหมส่งหนังสือมาหา บอกว่าเราออกนอกประเทศอย่างผิดกฎหมายและทำข่าวที่กระทบกับความมั่นคง ขอให้งดการนำเสนอข่าว” เธอยกตัวอย่างเมื่อปี 2559 ตอนข้ามชายแดนไทยไปทำข่าวที่ดอยไตแลงของกองกำลังไทใหญ่

เธอตอบปลายสายสนทนาไปว่า มีสื่อไปกันหลายสำนัก และไม่ได้มีอะไรน่ากังวล เพราะว่าที่ดอยไตแลงมีงานวันชาติทุกปีอยู่แล้ว เธอวิเคราะห์ว่า ช่วงเวลานั้นรัฐบาลทหารพยายามสร้างความสัมพันธ์อันดีกับรัฐบาลพม่า อาจทำให้ข่าวที่เธอทำกระทบความเชื่อมั่นระหว่างไทยกับพม่า

จากข่าวที่ดอยไตแลงสู่ข่าวค้าแรงงานประมง ฐปณีย์บอกว่า การทำข่าวที่เผยให้เห็นว่ามีแรงงานไทยถูกหลอกไปค้าแรงงานเยี่ยงทาสที่อินโดนีเซียนานถึง20 ปี สะท้อนว่าอุตสาหกรรมประมงไทยมีส่วนร่วมในการละเมิดสิทธิมนุษยชน

“เราเพียงแต่ต้องการให้แรงงานไทยได้รับความช่วยเหลือให้ได้กลับบ้าน ไม่ได้ต้องการที่จะโจมตีรัฐบาล แต่จังหวะนั้นเป็นช่วงที่อุตสาหกรรมประมงไทยกำลังถูกจับตาจากสหภาพยุโรป จนถูกออกใบเหลืองเพื่อตักเตือน เราถูกมองว่าการทำข่าวนี้คือการทำลายภาพลักษณ์ประเทศ”

ระหว่างที่ข่าวชิ้นนี้ออกอากาศครั้งแรก ฐปณีย์ยังอยู่ที่อินโดนีเซีย เพื่อหาทางพาแรงงานไทยได้กลับบ้าน แต่กลับกลายเป็นเป้าจากกลุ่มธุรกิจประมงไทยและอินโดนีเซีย เพราะข่าวของเธอทำให้ธุรกิจประมงเสียผลประโยชน์

“พอสื่อต่างประเทศเข้ามาจับเรื่องนี้ ก็กลายเป็นระดับโลก และรัฐบาลไทยก็กลายเป็นเป้าในสายตาของนานาชาติในเรื่องการแสดงความรับผิดชอบ ยังไม่ทันกลับถึงไทยแต่บิ๊กตู่พูดถึงเราต่อหน้าสื่อมวลชนว่า เรามีปัญญารับผิดชอบไหมถ้าไทยโดนใบเหลือง จะมีเงินจ่ายไหม 2 แสนล้านบาท สนุกมากนักหรือวิ่งไปเกาะโน้นเกาะนี้ และสั่งให้กลับไทยทันที เราคิดว่าท่าทีแบบนี้เป็นการคุกคามเสรีภาพสื่ออย่างเปิดเผยในที่สาธารณะ”

แม้ท่าทีของรัฐบาลจะไม่พอใจการรายข่าวของช่อง3 แต่เมื่อเกิดความพยายามในการช่วยให้แรงงานไทยเป็นพันคนได้กลับบ้าน ฐปณีย์รู้สึกว่าเธอได้รับกำลังใจจากคนไม่น้อย แต่ก็เปรียบเหมือนข่าวแรงงานประมงทำให้เธอได้รับช่อดอกไม้ พอต่อมาเธอทำข่าวโรฮิงญากลับได้รับก้อนอิฐแทน

ฐปณีย์มองว่า บทเรียนนี้สะท้อนว่าสังคมไทยเป็นสังคมที่คับแคบ และสนใจเฉพาะเรื่องในบ้านตัวเอง แต่ไม่เคยสนใจเรื่องสิทธิมนุษยชน ทั้งที่เรื่องแรงงานทาสและเรื่องโรฮิงญามีพื้นฐานเดียวกันคือสิทธิมนุษยชน

“ข่าวโรงฮิงญา ทำให้เราถูกกระบวนการ IO เล่นงาน กระแส Social Media เข้ามาโจมตี มีการลงรูปเราและข้อความ เช่น พวกไม่รักชาติ บ้านฐปณีย์มีที่พอไหม ให้รับโรฮิงญาไปอยู่ด้วย มากกว่านั้นยังด่าไปถึงครอบครัวเราด้วย มีหมอบางคนถึงขั้นถ่ายเซลฟี่ตัวเองกับคนไข้ที่กำลังนอนบนเตียง แล้วโพสต์เฟซบุ๊กว่าเอาเวลามาช่วยคนไทยดีกว่าไปช่วยพวกโรฮิงญา”

ฐปณีย์ยอมรับว่ากระบวนการ IO ประสบสำเร็จที่สามารถสร้างข้อมูลข่าวสารให้คนในสังคมรู้สึกเกลียดชัง ซึ่งสะท้อนว่าเมื่อรัฐมีนโยบายไม่ต้องการแก้ปัญหาโรฮิงญา อะไรก็ตามที่ขัดแย้งกับนโยบายรัฐ กระบวนการ IO จะทำงานเต็มที่

“ตอนนั้นผู้ใหญ่ในช่อง 3 บอกเราว่าทางรัฐบาลขอให้หยุดรายงานข่าวนี้ แต่เราบอกขอให้เชื่อในสิ่งที่เราทำว่าไม่ใช่การโจมตีรัฐบาล แต่คือการช่วยเหลือชีวิตคน สุดท้ายข่าวก็ได้ออก แต่รัฐบาลก็แถลงตามเดิมว่าต้องผลักดันโรฮิงญาออกไป และการทำข่าวปกป้องสิทธิมนุษยชนของเราก็ถูกมองว่าเป็นภัยต่อความมั่นคง”

เธอย้ำถึงการใช้ IO ของฝ่ายความมั่นคงว่า “IO คือการยืนยันว่าไม่มีความเป็นสุภาพบุรุษในหมู่ชายชาติทหาร”

จากประสบการณ์การทำข่าวที่ผ่านมา ฐปณีย์ได้รับบทเรียนว่า สังคมที่ถูกปิดด้วยอำนาจเผด็จการ กระบวนการ IO จะยิ่งถูกใช้เพื่อเป้าหมายอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด มากกว่าสังคมที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย

“หัวใจของข่าวสืบสวนสอบสวน ไม่เลือกรัฐบาลพลเรือนหรือรัฐบาลทหาร”

อีกตัวอย่างที่น่าสนใจในการมองบทบาทของสื่อมวลชนไทยในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา สำนักข่าวอิศราที่มีลายเซ็นชัดเจนในการตรวจสอบนักการเมือง ตั้งแต่การเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินและงบประมาณการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ กระทั่งเกิดการรัฐประหาร หลายคนที่ต่อต้านรัฐประหารรู้สึกถึงความล้มเหลวของระบบตรวจสอบ สิทธิเสรีภาพสื่อและประชาชนถูดปิดกั้น

คำถามคือทำไมสำนักข่าวอิศรายังสามารถทำข่าวขุดคุ้ยการทุจริตในภาครัฐได้ แม้แต่น้องชายของหัวหน้า คสช. ก็ถูกสำนักข่าวอิศราเปิดโปงในหลายกรณีด้วยกัน

มนตรี จุ้ยม่วงศรี บรรณาธิการศูนย์ข่าวสืบสวนสอบสวน สำนักข่าวอิศรา กล่าวกับ 101 ว่า ทหารเข้ามามีอำนาจปกครองบ้านเมือง พวกเขาไม่ได้เป็นทหารอย่างเดียว แต่มีสภาพเป็นนักการเมืองด้วย เพราะทหารกำลังบริหารประเทศอยู่ แต่ต้องยอมรับตรงไปตรงมาว่า ข้อมูลการทุจริตเกี่ยวกับทหารได้มาค่อนข้างยากกว่านักการเมืองทั่วไป

“ถ้าการเมืองมีกลไกปกติ มีทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาล ข้อมูลลึกๆ ในการเปิดโปงรัฐบาลส่วนมากก็มาจากฝ่ายค้าน หรือพรรคร่วมรัฐบาลที่อาจจะต้องการเลื่อยเก้าอี้รัฐมนตรี แต่ปัจจุบันทหารปกครอง ไม่มีสภา ไม่มีกรรมาธิการ ผมเรียกว่าบริหารบ้านเมืองด้วยพรรคเดียวคือพรรคทหารที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จ ข้อมูลส่วนบุคคลจะหลุดออกมายาก ยิ่งเป็นข้อมูลประเภทเอกสารยิ่งยาก แต่วิธีการสืบค้นยังพอหาได้ นี่เป็นข้อดีของเทคโนโลยีที่เอื้อต่อยุคสมัย”

มนตรี จุ้ยม่วงศรี
มนตรี จุ้ยม่วงศรี

มนตรีบอกว่า แม้ พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 จะให้หน่วยงานข้าราชการเปิดเผยข้อมูลให้สาธารณะทราบ แต่เอาเข้าจริงก็ไม่ได้เปิดทั้งหมด นักข่าวอาจจะต้องเข้ารหัสหลายชั้น บางข้อมูลกว่าจะเจอในเว็บไซต์ แทนที่จะอยู่หน้าเว็บ ก็ดันไปซ่อนอยู่ด้านใน ต้องกดเข้าไป 3-4 ชั้นถึงจะเจอ ข้อมูลสำคัญๆ ที่ปรากฎอยู่ในข่าวเจาะหลายๆ ชิ้นในไทย ก็หาได้จากเว็บไซต์กรมบัญชีกลาง กรมพัฒนาธุรกิจการค้า คนทั่วไปสามารถเข้าไปสืบค้นได้ ทั้งการประมูลโครงการ วงเงิน ข้อมูลบริษัทที่เข้ามายื่นราคาประกวด แต่สื่อไทยยังใช้งานจากข้อมูลเหล่านั้นน้อยไป

เมื่อต้องเปรียบเทียบถึงผลกระทบจากการทำข่าวทุจริตในรัฐบาลพลเรือนกับรัฐบาลทหาร จากประสบการณ์ของ มนตรีบอกว่า ในยุคสมัยที่นักการเมืองมีอำนาจ สำนักข่าวอิศราถูกฟ้องร้องมากกว่ายุคทหาร อาจเพราะทหารไม่อยากให้ประเจิดประเจ้อ จึงใช้วิธีเงียบๆ เช่น ข่าวน้องชายของบิ๊กตู่ วันดีคืนดีก็มีการติดต่อมาจากผู้ดูแลเว็บไซต์ขอให้ถอดข่าวของน้องชายบิ๊กตู่ออกจากหน้าเว็บ โดยอ้างคำสั่งคสช. เราก็ยืนยันว่าต้องทำหนังสือแจ้งมาเป็นลายลักษณ์อักษร ให้มีผู้ใหญ่เซ็นต์มา ทุกวันนี้ก็ไม่ได้มีหนังสือมา ข่าวชิ้นนี้ก็ยังอยู่บนหน้าเว็บ แล้วสังคมก็ไปสนใจเรื่องอื่นแล้ว

“ข่าวตรวจสอบหลายๆ ชิ้นเราได้ข้อมูลและเอกสารลับมาจากคนทั่วไปที่ส่งมาให้ทั้งทางอีเมล์และไปรษณีย์ ข้อมูลการเปิดบริษัทของน้องชายบิ๊กตู่ในค่ายทหารก็มีคนส่งมาให้ ถามว่าคนธรรมดาจะส่งให้ไหม ผมว่าก็ต้องเป็นคนที่เข้าใจเรื่องมากพอสมควรจึงส่งข้อมูลมาให้เรา”

หลายคนถามว่าทำข่าวเปิดโปงทหารกลัวหรือไม่ มนตรีตอบว่า เรื่องกลัวหรือไม่กลัวไม่ใช่ระเด็น เพราะไม่เคยทำข่าวเรื่องส่วนตัว ทุกข่าวที่ทำเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์สาธารณะ เขามองว่า ถึงที่สุดแล้วอยู่ที่ตัวนักข่าวเอง ถ้าไม่ใช้แหล่งข้อมูลเดียว ใช้เอกสารหลักฐานที่เชื่อถือได้ เวลาเขียนข่าวให้ฝ่ายที่ถูกกล่าวหาได้ชี้แจง ซึ่งเป็นหลักการพื้นฐานที่สื่อมวลชนต้องทำอยู่แล้ว ถ้าทำตามกระบวนการนี้ไม่มีปัญหา

“หัวใจของข่าวสืบสวนสอบสวน ไม่เลือกรัฐบาลพลเรือนหรือรัฐบาลทหาร ข่าวอุทยานราชภักดิ์ที่อิศรารายงาน ผมก็ไม่มีอะไรต้องกลัว ผมไปลงพื้นที่เอง ไปคุยกับชาวบ้านในพื้นที่ ไม่มีใครมาห้าม”

เมื่อถามว่าจากประสบการณ์การทำข่าวสืบสวนสอบสวน อะไรทำให้สังคมไทยมักไม่ค่อยเห็นการดำเนินคดีนายทหารที่เกี่ยวข้องกับการทุจริต โดยเฉพาะนายทหารที่เข้าสู่อำนาจนอกกติกาประชาธิปไตย มนตรีวิเคราะห์ว่า ประเทศไทยไม่เหมือนเกาหลีใต้ เวลามีกรณีทุจริตขึ้นมา อัยการจะเข้ามาดูทันทีและสั่งฟ้องไวมาก แต่ไทยเราได้แต่รอ ทำให้คนที่ถูกเปิดโปงรู้สึกว่าไม่เป็นไร ยังอีกนาน จะหนีไปต่างประเทศก็ได้ หรือสักพักเดี๋ยวก็มีคนช่วย

บรรณาธิการศูนย์ข่าวสืบสวนฯ มองว่าสังคมไทยยังไม่ได้ซีเรียสกับสิทธิประโยชน์ของตัวเองมากพอ คนที่สนใจว่าภาษีของตัวเองถูกเอาไปใช้ทำอะไรบ้างยังน้อย แต่ลำพังจะบอกว่าประชาชนไม่ได้อยากรู้ก็ไม่ถูกทั้งหมด เพราะองค์กรสื่อเองก็มีนโยบายการนำเสนอข่าวไม่เหมือนกัน เช่น กรณีข่าวหวย 30 ล้านบาท ทุกสื่อเล่นข่าวนี้เหมือนกันหมด ถ้าสื่อใช้วิธีเดียวกันกับกรณีนี้เหมือนกับข่าวทุจริตในภาครัฐ จะมีพลังในการเปลี่ยนแปลง และมีคุณค่าข่าวที่เกี่ยวข้องกับสิทธิประโยชน์ของประชาชน

“สื่อไทยเซ็นเซอร์ตัวเองจนเคยตัว”

ในบรรดาข่าวคดีทางการเมืองและสิทธิเสรีภาพ ตั้งแต่ข่าวสิทธิแรงงาน เหตุการณ์ความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนใต้ เหตุการณ์สลายการชุมนุมเดือน เม.ย.-พ.ค. 2553 การต่อต้านรัฐประหาร จนกระทั่งคดีที่มีผลพวงมาจากกฎหมายอาญามาตรา 112 สำนักข่าวประชาไทเป็นอีกสำนักที่ไฮไลท์ประเด็นข้างต้นให้คนอ่านข่าวได้ตระหนัก

มากกว่าข่าว ประชาไทยังเคยเปิดพื้นเว็บบอร์ดสาธารณะ เพื่อให้เป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนข้อมูลและถกเถียงตามหลักการประชาธิปไตยที่ประชาไทยึดถือ แม้ว่าเจตนาตามหลักการดังกล่าวจะทำให้ จีรนุช เปรมชัยพร ผู้อำนวยการเว็บไซต์ประชาไท ต้องถูกดำเนินคดีถึงสองครั้ง ครั้งแรกเมื่อปี 2552 ในข้อหาจงใจสนับสนุนหรือยินยอมให้มีข้อความเข้าข่ายดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ ฯลฯ อยู่บนเว็บบอร์ดประชาไท เป็นความผิดในฐานะผู้ให้บริการตาม มาตรา 15 พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ซึ่งปัจจุบันคดีถึงที่สุดแล้ว จีรนุชถูกตัดสินจำคุก 8 เดือน ปรับ 20,000 บาท รอลงอาญา1 ปี และครั้งที่สอง ปี 2553 จีรนุชถูกจับและถูกฟ้องในข้อหา พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ และ กฎหมายอาญามาตรา 112 ก่อนจะใช้หลักทรัพย์ประกันตัว200,000บาท ซึ่งปัจจุบันคดีอยู่ในชั้นสืบสวนสอบสวน

นอกจากผู้อำนวยการเว็บฯ จะถูกดำเนินคดี และเว็บไซต์เคยถูกศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ใช้อำนาจ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ สั่งปิดเมื่อช่วงปี 2553 ในปี 2559 ที่รัฐบาล คสช. กำลังรณรงค์จัดให้มีการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ 2560สำนักงานประชาไทก็ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารบุกเข้าตรวจค้น เพื่อหาเอกสารโหวตโน ซึ่งก่อนหน้านั้นนักข่าวประชาไทก็เพิ่งถูกจับที่ราชบุรี ในการไปทำข่าวการรณรงค์ประชามติของนักกิจกรรม

จีรนุช เปรมชัยพร
จีรนุช เปรมชัยพร

ประชาไทก่อตั้งวันที่ 6 ก.ย. 2547 สังคมไทยล้มลุกคลุกคลานกับความขัดแย้งทางการเมืองมาหลายสิบปี และอยู่ในภาวะที่ถูกควบคุมด้วยกฎหมายพิเศษ บทเรียนจากการเป็นสื่อออนไลน์ของประชาไทในการสะท้อนปรากฏการณ์ที่ผ่านมาคืออะไร จีรนุชวิเคราะห์ว่า ความท้าทายที่ประชาไทเจอมาตลอด คือ ไม่ว่าเราจะเห็นด้วยกับกฎหมายหรือไม่ เราจะพยายามจะทำงานภายใต้สิ่งที่กฎหมายระบุไว้ แต่ความยากในการทำงานของประชาไทอยู่ที่การตีความกฎหมายของผู้มีอำนาจ

“รัฐประหาร 2549 เป็นทั้งวิกฤตและโอกาสสำหรับประชาไท เพราะสื่อกระแสหลักจำนวนมากยังไม่เป็นออนไลน์เต็มตัว พอรัฐประหาร 2557 เราเห็นว่ารัฐจัดการกับพื้นที่ออนไลน์หนักขึ้นชัดเจน และสื่อทั่วไปก็เลือกที่จะเงียบหรือปิดกั้นตัวเอง อาจเพราะเราอยู่ในวัฒนธรรมที่ถ้ารัฐประหารสำเร็จ สื่อก็พร้อมจะยอมรับ มากกว่านั้นสื่อบางส่วนก็เลือกที่จะเป็นส่วนหนึ่งของการรัฐประหารไปโดยปริยาย วัฒนธรรมแบบนี้ทำให้สื่อไทยเซ็นเซอร์ตัวเองจนเคยตัว”

กรณีดังกล่าว จีรนุชตั้งข้อสังเกต เช่น ข่าวการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ทำไมคนต่างจังหวัดถึงต้องมาดูทีวีทุกช่องรายงานข่าวการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ตลอดทั้งวัน เธอวิเคราะห์ว่า อาจเพราะสื่อไทยเลือกวางตัวเองไว้กับศูนย์รวมอำนาจ หรือเลือกจะอยู่ในระบบอุปถัมภ์

ถ้าสื่อเป็นข้อต่อสำคัญของสังคม จีรนุชบอกว่า สื่อเลือกจะเป็นหรือไม่เป็นส่วนหนึ่งของระบบอุปถัมภ์ก็ได้ แต่สื่อส่วนใหญ่เลือกจะเป็น เพราะรู้วิธีหาผลประโยชน์จากระบบอุปถัมภ์ แต่วัฒนธรรมแบบนี้สื่อก็รู้ดีว่าพาให้สังคมไทยเละเทะมาแล้ว

“ถามว่าคุณค่าอะไรในสังคมที่สื่อจะยืนหยัดเพื่อมัน ถ้าถามสื่อต่างประเทศ เรามักจะได้ยินว่าสิทธิเสรีภาพ ในขณะที่สื่อไทยกลับอ้างถึงเสรีภาพบนความรับผิดชอบ การอ้างแบบนี้เราคิดว่าเป็นวาทกรรมที่ใช้เพื่อไม่ให้มีเสรีภาพมากกว่า เพราะมันนำไปสู่การไม่อนุญาตให้บางความเห็นได้ถูกแสดงออก สื่อไทยเชื่อเรื่องการจัดระเบียบมากกว่าเชื่อในความหลากหลาย”

เธอบอกอีกว่า รัฐประหาร 2557 ทำให้นักข่าวประชาไททำงานลำบากมากที่สุดตั้งแต่ก่อตั้งเว็บฯ มา คำสั่งคสช. ที่ 3/2557 ในการเรียกประชาชนเข้าไปรายงานตัว ก็มีนักข่าวประชาไทที่ถูกเรียกตัวเช่นเดียวกัน จนผ่านมา 4 ปีก็ยังมีทหารไปหานักข่าวที่บ้านเสมอ

กรณีข่าวอินโฟกราฟิก มาตรา 112 ที่มีเนื้อหาพยายามพูดถึงคดีความที่เกิดขึ้นหลังรัฐประหาร 2557 ว่าทำอะไรบ้างถึงเข้าข่ายมาตรา 112 จีรนุชบอกว่านักข่าวประชาไทที่เขียนข่าวชิ้นนี้ก็ถูกทหารเรียกตัวไปพบเช่นกัน

“วิธีการของทหาร คือ โทรหานักข่าวที่เบอร์โทรศัพท์ส่วนตัว และจะให้ไปพบวันนั้นเลย ประชาไทขอให้ทหารส่งจดหมายหรืออีเมล์ที่เป็นทางการมาให้ แต่เขาไม่ทำ ประชาไทยืนยันว่ากรณีการเรียกตัวไปพบไม่ใช่เรื่องส่วนตัว ต้องเป็นเรื่องขององค์กร เพราะข่าวที่เผยแพร่นั้นเผยแพร่บนเว็บไซต์ประชาไท นี่เป็นหลักปฏิบัติของเราตอนพูดคุยกับทหารในค่ายทหาร เขารู้อยู่ว่าไม่มีอะไรที่เป็นความผิด แต่กลับบอกว่าคนดูจะไปตีความและเข้าใจผิดได้ และยังบอกว่าไม่ได้บังคับนะ เราฟังดูก็รู้ว่าเป็นน้ำเสียงข่มขู่”

ผู้อำนวยการเว็บไซต์ประชาไทอธิบายถึงความกลัวที่เกิดกับนักข่าวว่า การเผชิญหน้ากับเจ้าหน้าที่รัฐหรือข้อกฎหมาย ไม่ได้ทำให้ประชาไทลำบากใจมากเท่ากับการสร้างบรรยากาศของความเกลียดชัง การใส่ร้ายป้ายสีของสังคม

“นักข่าวประชาไทไม่ได้กลัวการถูกฟ้องมากกว่าการถูกทำร้ายร่างกาย ซึ่งเราไม่สามารถดูแลหรือปกป้องได้ตลอดเวลา และการใช้ความรุนแรงแบบนั้นก็หาผู้รับผิดชอบไม่ได้ นี่เป็นสิ่งที่เราระวังมาเสมอโดยไม่พยายามจะโยนฟืนเข้าไปในกองไฟโดยไม่จำเป็น เพราะฉะนั้นต้องยอมรับว่าการเซ็นเซอร์ตัวเองก็จำเป็น”

จีรนุชพูดถึงการเซ็นเซอร์ของประชาไทว่า มีข่าวหลายชิ้นที่ประชาไทตัดสินใจไม่เผยแพร่ เช่น ผู้ลี้ภัยการเมืองในต่างประเทศ กลุ่มทำสื่อใต้ดินในต่างประเทศ ประชาไทมองว่าประเด็นดังกล่าว อย่างน้อยก็สะท้อนว่าเป็นจิ๊กซอว์ตัวหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นปัญหาของสังคมไทย

“เราคิดว่าคนที่ลี้ภัยการเมืองไม่ใช่ปีศาจร้าย และสิ่งที่พวกเขาพยายามทำ ก็อยู่บนความเชื่อเรื่องสิทธิเสรีภาพเป็นหลัก แต่บรรยากาศของสังคมไทยที่มีการไล่ล่าผู้เห็นต่างทางการเมือง ทำให้เราต้องคิดถึงความปลอดภัยของแหล่งข่าวดัวย และเราไม่ต้องการถูกผลักเข้าไปอยู่ในมุมของการใส่ร้ายป้ายสีแบบที่เราไม่ต้องการ หรือถูกเอาไปขยายผลในเชิงสมคบคิด”

แม้ประชาไทจะยอมเซ็นเซอร์ตัวเอง แต่เมื่อเดือนมีนาคม 2561ที่ผ่านมา ทั้งข่าวอินโฟกราฟิก มาตรา 112 และข่าวสื่อใต้ดินในต่างประเทศ ได้รับความสนใจจากกลุ่มผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน ให้เข้าร่วมในโปรเจค The Uncensored Playlist ผลงานข่าวถูกแปลงเป็นเพลง ผ่านการทำงานร่วมกันของค่ายเพลงในเยอรมนีกับศิลปินในบราซิล และนำมาเผยแพร่ลงใน iTunes และ Spotify และนอกจากไทย ยังมีจีน อียิปต์ เวียดนาม อุซเบกิสถาน ที่เข้าร่วมโปรเจคดังกล่าวด้วยเช่นกัน

จีรนุชบอกว่า ตั้งแต่รัฐประหาร แม้ข่าวประชาไทจะจืดชืดหรือซ้ำซากก็ตาม แต่มันคือการบันทึกประวัติศาสตร์ ความพยายามในการรายงานการคุกคามละเมิดสิทธิมนุษยชนเป็นพันธกิจ ทุกคนอยู่ในบรรยากาศของความขัดแย้งที่สะสมมานาน ทั้งในระดับครอบครัวและสังคม เป็นภาวะที่บั่นทอนพอสมควร

“ต้องยอมรับว่า คสช. ทำสำเร็จที่ทำให้สังคมไทยรู้สึกบั่นทอนและคุ้นชินกับการใช้วิธีนอกกฎหมาย”

“ปลดล็อกคำสั่ง คสช. ทวงคืนเสรีภาพประชาชน”

ดูเหมือน 4 ปีที่ผ่านมา สื่อแต่ละองค์กรจะค่อยๆ มองเห็นปัญหาจากการรัฐประหารและการบริหารโดยรัฐบาล คสช. ได้ชัดเจนขึ้น กรณีแถลงการณ์วันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก เมื่อวันที่ 3 พ.ค. 2561 โดยสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย, สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย, สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ คงสะท้อนได้ว่ามอตโต้ที่ใช้ “ปลดล็อกคำสั่ง คสช. ทวงคืนเสรีภาพประชาชน” นั้น เริ่มยึดโยงกับประชาชนมากขึ้น

“สถานการณ์ด้านเสรีภาพของสื่อมวลชนไทยอยู่ในภาวะไม่ปกติ ยังอยู่ภายใต้ประกาศและคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) หลายฉบับ เปิดทางให้อำนาจรัฐเข้ามาแทรกแซง ควบคุมการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนเป็นระยะๆ เข้าข่ายปิดกั้น ลิดรอนสิทธิการรับรู้ข่าวสาร และเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนและสื่อมวลชน” ส่วนหนึ่งที่แถลงการณ์ระบุ

โดยแถลงการณ์เรียกร้องให้ “รัฐบาล คสช. ต้องระมัดระวังการออกกฎหมายที่จำกัดเสรีภาพของประชาชนและสื่อมวลชน พร้อมกับ “โละ เลิก ล้าง” ประกาศหรือคำสั่งของ คสช. ที่ลิดรอนเสรีภาพสื่อ ซึ่งก็คือเสรีภาพของประชาชนนั่นเอง”

ทั้งยังทิ้งท้ายว่า “สื่อมวลชนทุกแขนง ทุกแพลตฟอร์ม พึงตระหนักการทำหน้าที่ภายใต้กรอบจริยธรรมแห่งวิชาชีพ ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง และปฏิรูปประเทศด้านต่างๆ โดยเฉพาะการปฏิรูปสื่อมวลชน และขอยืนหยัดพร้อมที่จะรับการถูกตรวจสอบจากสังคม ด้วยวิถีทางอันถูกต้อง ชอบธรรมด้วยกฎหมายตามระบอบประชาธิปไตย”

แต่สปิริตของแถลงการณ์นี้คงไม่สามารถการันตีได้ ว่าในอนาคตสมาคมสื่อจะต้องออกแถลงการณ์เช่นนี้ซ้ำอีกหรือไม่ เมื่อสิ่งที่สังคมไทยเผชิญอยู่นั้นซับซ้อนและท้าทายหลายเท่าตัว

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save