fbpx

สเปโรโซนาตา ความร้าวราน แหลกสลาย และบทสนทนาเกี่ยววรรณกรรมไทยร่วมสมัย

แม้ว่าในแวดวงแคบๆ อย่างวรรณกรรมซีเรียส (วรรณกรรมสร้างสรรค์ [!?])[1] จะมีงานของนักเขียนหญิงไม่มากนัก แต่ผลงานของนักเขียนหญิงที่ทำงานอยู่ในขอบเขตของวรรณกรรมแนวทางนี้ก็เต็มไปด้วยคุณภาพและน่าสนใจ ทั้งในแง่ประเด็นทางสังคมและความสามารถทางวรรณศิลป์ สำหรับผมแล้วนักเขียนหญิงที่ทำงานในแนวทางของวรรณกรรมซีเรียสนั้นมีวิธีการเขียนที่น่าสนใจมากๆ โดยเฉพาะการถ่ายทอดมิติทางอารมณ์ที่สอดประสานไปพร้อมๆ กับการเสนอประเด็นทางสังคมได้อย่างกลมกลืนและแนบเนียน สิ่งที่ผมชอบที่สุดคืองานของพวกเธอไม่ได้มีความพยายามจะป้ายยาตาสว่างทางสังคมอย่างโจ่งแจ้ง แต่พวกเธอค่อยๆ เผยให้เห็นผ่านวิธีการเขียนของพวกเธอ

‘สเปโร โซนาตา ท่วงทำนองแห่งความหวัง’ ของ รมณ กมลนาวิน เป็นผลงานรวมเรื่องสั้นทั้งหมด 12 เรื่องที่เคยตีพิมพ์ในต่างกรรมต่างวาระกัน ในเบื้องต้น เรื่องสั้นทั้ง 12 เรื่องนี้หากพิจารณาจากการตีพิมพ์ครั้งแรกจะพบได้ว่าเป็นเรื่องสั้นที่ตีพิมพ์อยู่ในระหว่างปี 2555-2564 เบ็ดเสร็จรวมเก้าปี สิ่งที่ผมสนใจก็คือ เราอาจได้เห็นการเดินทางเกือบทศวรรษ รวมทั้งการคลี่คลายทางความคิด และรูปแบบในเส้นทางสายวรรณกรรมของนักเขียนหญิงรุ่นใหม่ได้อย่างชัดเจนหรือไม่… มันอาจเป็นหลักฐานที่ยืนยันแนวทางทางวรรณกรรมของรมณ กมลนาวินตลอดทศวรรษนี้ก็เป็นได้  

นักเขียนหญิงมือรางวัล

จากประวัติท้ายเล่ม เราพบว่า รมณ กมลนาวิน เป็นชื่อจริง-นามสกุลจริงของนักเขียนหญิงที่ตัดสินใจลาออกจากงานประจำเมื่อปี 2564 เพื่อมาเขียนวรรณกรรมเป็นหลักและทำงานแฮนด์เมดเป็นงานเสริม รมณมีผลงานตีพิมพ์มากมายและต่อเนื่องอยู่ตามนิตยสารต่างๆ ยิ่งไปกว่านั้นยังเป็นนักเขียนที่คว้ารางวัลจากเวทีต่างๆ มากมาย เช่น รางวัลวรรณกรรมรามคำแหง, รางวัลจากสมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์, รางวัลเปลื้อง วรรณศรี, รางวัลพานแว่นฟ้า, รางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด มีผลงานรวมเล่มและเขียนร่วมกับนักเขียนคนอื่นๆ ตั้งแต่ปี 2561 มีนวนิยายเล่มแรกคือ ‘หากข้ามคืนนี้ หัวใจไม่แหลกยับเยินไปเสียก่อน’ ในปี 2563

ด้วยความที่เป็นนักเขียนมือรางวัล ผ่านเวทีประกวดมากมาย ในรวมเรื่องสั้น ‘สเปโรโซนาตาฯ’ นี้โดยมากเป็นการรวบรวมเรื่องสั้นที่ได้รางวัลจากหลากหลายเวที เช่นรางวัลเปลื้อง วรรณศรี (‘หญิงสาวกับชายชราผู้อ่านปรัชญาชีวิตของยิบราน’, ‘เรือบางลำยังไม่กลับจากทะเล’) รางวัลวรรณกรรมรามคำแหง (‘ศพในแม่น้ำ’, ‘ผู้ถูกทำลาย’) รางวัลพานแว่นฟ้า (‘ดาวส่องเมือง’, ‘เช้าวันอาทิตย์ที่แสนเศร้า’, ‘สเปโร โซนาตา บทเพลง ของคนจร’)

ผมมีข้อสังเกตสองประการ ประการแรก บรรดารางวัลวรรณกรรมแต่ละเวทีโดยเฉพาะอย่างยิ่งเวทีของวรรณกรรมสร้างสรรค์หรือวรรณกรรมซีเรียส (ที่ไม่ได้กว้างขวางอะไรในแวดวงวรรณกรรมไทยสักเท่าไรนัก) นั้น โดยมากจะมีแต่ผู้ชาย ผู้ที่ได้รางวัลก็มีแต่ผู้ชาย นักเขียนที่เข้ารอบก็มีแต่ผู้ชาย ผมออกจะสงสัยอย่างหนึ่งว่า โลกของวรรณกรรมซีเรียสและ/หรือวรรณกรรมสร้างสรรค์ของไทยนั้นเป็นโลกของผู้ชายหรือไม่ ข้อสงสัยนี้ทดไว้ก่อน ยังไม่จำเป็นต้องตอบในตอนนี้ก็ได้ เพราะข้อสังเกตของผมประการต่อมาก็คือ การที่รมณ กมลนาวิน ในฐานะนักเขียนหญิงนั้นสามารถพาผลงานของตัวเองบุกฝ่าดง ‘โลกของผู้ชาย’ (ตามข้อสงสัยของผม) เข้ามาได้ย่อมเป็นปรากฏการณ์ที่น่าสนใจสำหรับผมอย่างยิ่ง เราอาจพิจารณาได้หลากหลายแง่มุม

ความร้าวราน/แหลกสลายของยุคสมัย

แม้ตัวเรื่องสั้นแต่ละเรื่องจะมีระยะเวลาในการตีพิมพ์ที่แตกต่างกันยาวนานเกือบทศวรรษและเรื่องสั้นบางเรื่องยังเป็นเรื่องที่ส่งประกวดในเวทีต่างๆ ที่มีชุดคุณค่าและจุดประสงค์ที่แตกต่างกันอย่างชัด แต่สิ่งที่ยึดโยงเรื่องสั้นทั้งหมดในเล่มให้ไปในทิศทางเดียวกันก็คือการนำเสนอความแหลกสลายของปัจเจกบุคคลท่ามกลางสังคมที่ดูจะหดหู่และสิ้นหวังจนเราไม่อาจมองเห็นได้เลยว่าก้นบึ้งหรือจุดสุดท้ายของความสิ้นหวังในสังคมไทยนี้จะไปสิ้นสุดที่จุดใด

จากทั้ง 12 เรื่องมีเรื่องสั้นที่นำเสนอความล่มสลายที่เกิดจากครอบครัวหรือเป็นเรื่องที่แสดงให้เห็นถึงความแตกร้าวในครอบครัวถึงห้าเรื่อง นั่นคือ ‘หญิงสาวกับชายชราผู้อ่านปรัชญาชีวิตของยิบราน’, ‘sad movie’, ‘ผู้ถูกทำลาย’, ‘เรื่องที่เริ่มจากหญิงสาวผู้ก่อกำเนิดจากสายลม’ และ ‘คืนสังหาร’ เป็นเรื่องเกี่ยวกับคนต่างด้าว ชนกลุ่มน้อยและมีประเด็นเกี่ยวกับการค้ามนุษย์อยู่สี่เรื่องคือ ‘คืนที่อาลีถูกล่า’, ‘ศพในแม่น้ำ’, ‘ดาวส่องเมือง’ และ ‘เช้าวันอาทิตย์ที่แสนเศร้า’ ส่วนอีกสามเรื่องที่เหลือนั้นเป็นประเด็นเกี่ยวกับการต่อสู้และความร้าวรานในจิตใจของตัวละคร

เรื่องการเมืองและความเกลียดชัง ใน ‘สเปโร โซนาตา บทเพลงของคนจร’ ที่ใช้เรื่องราวของสงครามกลางเมืองในรวันดาเป็นอุปมานิทัศน์ถึงการเมืองเรื่องความเกลียดชังและแบ่งฝักฝ่ายในสังคมไทย สำหรับผมแล้วเรื่องนี้อาจเป็นเรื่องที่ผมชอบน้อยที่สุด เพราะถ้าหากผู้เขียนพยายามเปรียบเทียบให้เห็นว่าการเมืองของความเกลียดชังนั้นส่งผลอย่างไรต่อผู้คนบ้างโดยยกตัวอย่างจากรวันดา ผมคิดว่าสำหรับสังคมไทยความขัดแย้งมันมีความซับซ้อนและสามารถอธิบายได้มากกว่าที่จะเอาเหตุการณ์ในรวันดามาตัวเปรียบเทียบ แต่นั่นก็อาจจะเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ต้องอธิบายกันอย่างยาวนานและยังไม่เป็นประเด็นหลักของผมในบทวิจารณ์ชิ้นนี้

จุดที่ผมสนใจในรวมเรื่องสั้นชุดนี้คือประเด็นเรื่องครอบครัวที่ถือว่าเป็นแก่นเรื่องที่ใหญ่ที่สุดในรวมเรื่องสั้นชุดนี้ ครอบครัวในเรื่องสั้นแต่ละเรื่องในรวมเรื่องสั้นชุดนี้คือพื้นที่ของความขัดแย้งของตัวละครในหลากหลายมิติ เช่นในเรื่อง ‘หญิงสาวกับชายชราผู้อ่านปรัชญาชีวิตของยิบราน’ เป็นความขัดแย้งที่เกิดขึ้นจากความผิดหวังของหญิงสาวที่มีชีวิตครอบครัวที่น่าผิดหวัง เธอต้องแบกรับภาระต่างๆ ภายในบ้านอย่างไม่สิ้นสุดเพียงลำพัง แต่นี่ก็คือผลที่เกิดขึ้นหลังจากเธอเลือกที่จะหันหลังให้ความคาดหวังของครอบครัว คือทิ้งการเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัยเพื่อไปแสวงหาชีวิตในโลกกว้าง จนเธอได้พบกับชายสูงอายุคนหนึ่งซึ่งดูเป็นคนมีเสน่ห์ มีความรู้ คอยแปลความหมายในบทกวีของคาลิล ยิบรานให้เธอฟัง จนกระทั่งเธอและเขาใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันและมีลูกด้วยกัน ในชีวิตครอบครัว เธอต้องทั้งเลี้ยงลูก ทำกับข้าว กล่าวคือเข้าสูตรการเป็นแม่และเมียในสังคมแบบชายเป็นใหญ่ ความสามารถในบทกวีและวรรณกรรมของชายชราในเรื่องเริ่มกลับกลายเป็นเครื่องมือในการด่าทอและว่าร้ายเธอให้เจ็บช้ำน้ำใจอยู่ไม่ขาด

แม้ว่าเธอสนใจชีวิตที่กว้างใหญ่ไพศาล สนใจบทกวี อยากเรียนรู้ชีวิต แต่ความสามารถในการเข้าใจโลกของเธอไม่เพียงพอ… ไม่อาจเพียงพอ เธอจึงไม่เข้าใจคาลิล ยิบราน แม้ว่าชายชราจะช่วยอธิบายความหมายของตัวบทให้เธอได้เข้าใจ แต่เธอเองก็กลับไม่เข้าใจตัวบทที่มันใหญ่กว่านั้น นั่นคือชีวิต ผิดกับชายชราที่เจนจัดกับโลก เข้าใจบทกวีได้อย่างทะลุปรุโปร่ง แต่ความเข้าใจต่อโลกผ่านบทกวีกับการใช้ชีวิตตามอุดมคตินั้นมันแตกต่างกัน คนที่เข้าใจและเจนจัดต่อเรื่องที่ยากที่สุดในชีวิตอาจเป็นคนที่มีชีวิตเป็นภาระของคนทั้งโลกก็ได้ อย่างไรก็ตาม ความไร้เดียงสาต่อชีวิตมันไม่อาจทำให้เธอใช้ชีวิตที่เหลือได้อย่างมีความสุข ชีวิตครอบครัวของเธอจึงเต็มไปด้วยความทุกข์ตรม

ในเรื่อง ‘ผู้ถูกทำลาย’ เป็นเรื่องที่ช่วยให้เราตระหนัก ความเกลียดชังที่นำมาสู่ความทารุณโหดร้ายและกลายเป็นบาดแผลในจิตใจนั้นบ่อยครั้งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในพื้นที่ของสิ่งที่เรียกว่าสถาบันครอบครัว ผมคิดว่าเรื่องสั้นเรื่องนี้พยายามทำให้เราไม่แฟนตาซีและ/หรือโรแมนติไซส์ความเป็นครอบครัวแบบโฆษณาหมู่บ้านจัดสรรในช่วงทศวรรษ 2530 แต่มันคือการนำเสนอความโหดร้ายของครอบครัวและนำไปสู่ตัวตนของปัจเจกบุคคลที่ล่มสลาย แตกร้าวอยู่ภายใน

ในตัวเรื่อง แม่ผู้ซึ่งกลายเป็นย่าในเวลาต่อมาเลี้ยงดูลูกชายของเธออย่างโหดร้ายทารุณบนพื้นฐานความเกลียดชังต่อสามีของเธอ เธอเฆี่ยนตีลูกชายอย่างคนคุ้มคลั่ง ควบคุมตัวเองไม่ได้ “ความโกรธที่ขังแน่นในอกระเบิดออกมา นางเหลือบเห็นเชือกฟางตกอยู่บนพื้นจึงฉวยขึ้นมา รวบแขนทั้งสองของลูกชายแล้วพันเชือกมัดไว้ที่เสากลางบ้าน กระหน่ำตีอีกไม่ยั้ง ปากตะโกนด่าทอไม่หยุด” (หน้า 112) ต่อมาเมื่อลูกชายของเธอเติบใหญ่หลังจากหนีออกจากบ้านไปและกลับมาพร้อมกับลูกชายเล็กๆ อีกหนึ่งคน เธอพยายามจะไถ่โทษต่อลูกชายและพยายามเลี้ยงดูหลานอย่างดี แต่บาดแผลที่ก่อตัวขึ้นจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของตัวตนลูกชายนั้นพอกพูนจนล้นเกิน ดังนั้นบาดแผลจึงเคลื่อนย้ายไปสู่หลานชายของเธอนั่นเอง

ลูกชายของเขาเฆี่ยนตีหลานในแบบเดียวกับที่เธอเคยเฆี่ยนตีลูกชายนั่นเอง ตัวเรื่องยังชี้ให้เห็นความผิดปกติในจิตใจของลูกชายด้วย “ภาพที่เห็นเมื่อผลักประตูห้องนอนลูกชาย นางแทบล้มทั้งยืน เขาสวมผ้าถุงเก่าของนางยืนจังก้าคร่อมร่างเล็กเอาไว้ หลานชายถูกผู้เป็นพ่อจับมัดมือประกบเข้าหากัน แล้วใช้ไม้ไผ่เรียวเล็กกระหน่ำตีแผ่นหลัง แขนและขา หลานน้อยกรีดร้องด้วยความเจ็บปวดดิ้นทุรนทุราย นางตั้งสติได้ตะเบ็งเสียงร้องห้ามแล้วเข้าขวาง โอบหลานรักเอาไว้ในอ้อมกอด” (หน้า 123) และในตอนท้ายเรื่อง เธอพบว่าหลานของเธอนั้น “กำลังกดบีบท้องจิ้งจก” (หน้า 124)

มรดกของความเกลียดชังและคุ้มคลั่งนั้นคือสิ่งที่ส่งต่อผ่านพื้นที่ของ ‘ครอบครัว’​ มันทำให้ผมนึกถึงคำพูดของพี่ที่เคารพคนหนึ่งเมื่อครั้งปรึกษาปัญหาชีวิตกัน “แต่ละบ้านมีวิธีการทำร้ายลูกที่แตกต่างกัน” ผมออกจะเห็นด้วยและคิดว่านี่คือสิ่งที่ไม่เกินความเป็นจริงมากนัก เราต่างถูกทำลายในรูปแบบที่แตกต่างกัน…

ความคาดหวังต่อชีวิตเป็นอีกหนึ่งที่มาของความขัดแย้งที่เกิดขึ้นกับตัวละครในปริมณฑลของครอบครัวอีกเช่นกัน เช่นในเรื่อง ‘sad movie’ ที่ตัวละครหญิงต้องแบกรับภาระทางอารมณ์ของสามีที่ผิดหวังจากการสูญเสียเงินก้อนสุดท้ายในชีวิตจนทำให้สามีคิดหาวิธีตายตลอดเวลา การโอบอุ้มอารมณ์ทุกข์โศกของรคู่ชีวิตเป็นอีกปัญหาที่สำคัญในครอบครัว เพราะมันไม่เป็นเพียงความทุกข์ของคนใดคนหนึ่งเท่านั้นแต่พลังของอารมณ์ในทางลบได้แผ่ปกคลุมครอบครัวทำให้ชีวิตของครอบครัวเต็มไปด้วยความโศกเศร้าอยู่ตลอดเวลา

เรื่องสั้นที่เหลือต่างบอกเล่าความร้าวรานของยุคสมัยออกมาได้อย่างน่าสนใจ มันเต็มไปด้วยความหดหู่ สิ้นหวัง การมีชีวิตอยู่เป็นเรื่องที่น่าเศร้า เศร้าจากการต่อสู้ที่ไม่รู้ว่าจะชนะได้เมื่อไร และสิ่งที่น่าสนใจที่สุดอย่างหนึ่งก็คือ ในการต่อสู้นั้นหากเรารู้ว่ากำลังต่อสู้กับอะไรเราก็คงวางแผนได้ไม่ยาก แต่การไม่รู้ว่าเราต้องต่อสู้กับอะไร เราจะชนะหรือแพ้ใครและจะนำไปสู่อะไรนั่นต่างหาก คือเรื่องที่น่าเศร้าที่สุด

บทสนทนาต่อบทวิจารณ์ท้ายเล่มและความซับซ้อนบนความเรียบง่ายของการเขียน

ในบทวิจารณ์ท้ายเล่มของพิเชฐ แสงทอง นั้นพยายามชี้ให้เห็นว่านับตั้งแต่ช่วงต้นทศวรรษ 2530 จนถึงต้นทศวรรษ 2540 มีวิวาทะในประเด็นเรื่องสั้นจำเป็นต้องมีโครงเรื่องหรือไม่ เนื่องจากในช่วงเวลานั้นเป็นช่วงที่แนวเขียนแบบกระแสสำนึกเป็นที่นิยมในหมู่นักเขียนไทยหลังจากที่พยายามหาทางออกจากแนวการเขียนที่น่าเบื่อของสัจนิยม

ต่อประเด็นนี้ผมอยากเสนอเพิ่มเติมสักนิดว่า แนวทางการเขียนที่น่าเบื่อหน่ายแบบสัจนิยมนั้นเป็นแนวทางที่ ‘เคย’ เป็นกระแสหลักของนักเขียนไทยในช่วงหลัง 14 ตุลา 2516 จนถึง 6 ตุลา 2519 ซึ่งก็ไปสัมพันธ์กับแนวคิดแบบสังคมนิยมที่เป็นอุดมการณ์หลักในสังคมไทยขณะนั้น แต่แล้วเมื่อเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลา ก็เหมือนเป็นจุดสิ้นสุดของแนวการเขียนแบบนี้เช่นกัน ดังนั้น ตลอดช่วงทศวรรษ 2520 วงการวรรณกรรมไทยจึงพยายามหาทางออกจากแนวการเขียนแบบสัจนิยม แนวการเขียนแบบกระแสสำนึกก็ดี แอ็บเสิร์ดก็ดี หรือแม้แต่การนำเสนอในรูปแบบของเมตาฟิกชั่น (เรื่องเล่าซ้อนเรื่องเล่า) และกลวิธีของศิลปะในรูปแบบอื่นๆ จึงถูกนำมาใช้ในแวดวงวรรณกรรมอย่างแพร่หลาย

อย่างไรก็ตาม แนวทางการเขียนที่ซับซ้อนของนักเขียนไทยนั้นอาจไม่ใช่เป็นสิ่งที่เพิ่งเกิดขึ้นช่วงต้นทศวรรษ 2520 เพราะตั้งแต่ช่วงต้นทศวรรษ 2510 จนถึงก่อน 14 ตุลา 2516 นักเขียนไทยพยายามหาแนวทางการเขียนที่หลากหลายมากขึ้นแล้ว แต่หลัง 14 ตุลา 2516 จนถึง 6 ตุลา 2519 แนวทางการเขียนกับอุดมการณ์ทางสังคมนั้นเป็นไปในทิศทางเดียวกัน แนวการเขียนที่ซับซ้อนและหลากหลายจึงถูกเบียดตกกระแสไป ต่อเมื่อหลังเหตุการณ์ 6 ตุลานี้เอง ผมเห็นว่าแวดวงวรรณกรรมไทยพยายาม ‘กลับ’ ไปหาแนวทางการเขียนที่เคยเกิดขึ้นก่อนหน้า 14 ตุลา 2516

นอกจากนี้ พิเชฐพยายามเสนอว่าในช่วงทศวรรษ 2550 นักเขียนรุ่นใหม่ๆ กลับมาเขียนเรื่องสั้นแบบที่มีโครงเรื่องแต่เป็นโครงเรื่องที่แบบใหม่ที่แตกต่างไปจากโครงเรื่องสัจนิยมของทศวรรษ 2520-2530 ซึ่งเป็นผลมาจากวรรณกรรมซีเรียสหรือวรรณกรรมสร้างสรรค์นั้นหดตัวเล็กลง มีวรรณกรรมแนวอื่นที่เคยเป็นกระแสรองเบียดตัวขึ้นมาในหมู่ผู้อ่านมากขึ้น ในความเห็นของพิเชฐที่น่าสนใจก็คือ นักเขียนรุ่นใหม่นี้ที่ (แม้ว่าจะ) ได้รับอิทธิพลจากวรรณกรรมซีเรียสในช่วงทศวรรษ 2540 สามารถสลัดขนบประพันธศิลป์ของวรรณกรรมซีเรียสได้ ทำให้ผลงานของนักเขียนรุ่นใหม่มีโครงเรื่องที่ซับซ้อน มีกลวิธีที่น่าสนใจ และข้ามประเภทของวรรณกรรมที่หลากหลาย ทำให้ความเคร่งเครียดของวรรณกรรมซีเรียสหรือวรรณกรรมสร้างสรรค์หดแคบลง

สำหรับพิเชฐนั้น ผลงานของ รมณ กมลนาวินมีลักษณะดังที่ว่าของนักเขียนรุ่นใหม่ที่นำเอาโครงเรื่องกลับมาสู่การเขียนเรื่องสั้นแต่สามารถพัฒนางานของตัวเองให้พ้นไปจากขนบของวรรณกรรมซีเรียสแบบทศวรรษ 2540 จากนั้นพิเชฐก็วิเคราะห์ให้เห็นความซับซ้อนของโครงเรื่องในงานของรมณได้อย่างน่าสนใจ

ในที่นี้ผมอยากจะเสนอประเด็นเพิ่มเติมอีกเล็กน้อยก็คือ กลวิธีการเขียนของรมณที่มีความน่าสนใจมากสำหรับผม ในเรื่องสั้นแต่ละเรื่องของ ‘สเปโร โซนาตาฯ’ นั้นแม้จะมีความซับซ้อนทางด้านโครงเรื่องอย่างที่พิเชฐได้ชี้ให้เห็นไปแล้ว แต่สิ่งที่ผมเห็นกลับเป็นเรื่องการใช้วิธีการบรรยายที่เรียบง่ายแต่ทรงพลัง ด้วยความที่ตัวเรื่องแต่ละเรื่องนั้นนำเสนอความร้าวราน ล่มสลายและโศกเศร้า วิธีการเขียนบรรยายอย่างเรียบง่ายนี้แหละเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นอารมณ์ ความรู้สึกที่ดิ่งลึกของตัวละครได้ดี

ในเรื่อง ‘เรือบางลำยังไม่กลับจากทะเล’ แม้จะเป็นการเล่าด้วยการตัดสลับระหว่างเหตุการณ์ในปัจจุบันกับเหตุการณ์ในอดีตที่เป็นภูมิหลังของตัวละคร  ‘มุนา หญิงสาวผู้ที่เสียสามีอันเป็นที่รักไป และตัวเรื่องยังได้เล่าถึงภูมิหลังของตัวละครฮารีส สามีของมุนา สิ่งที่เราเห็นคือภาพในอดีตของตัวละครที่มาบรรจบกัน ณ ปลายเรื่องนี่อาจเป็นสิ่งที่ไม่ได้ใหม่ถอดด้ามอะไร เป็นวิธีการที่เรียบง่ายมาก แต่จุดเด่นของเรื่องนี้กลับอยู่ที่การค่อยๆ ชี้ให้เห็นถึงความขัดแย้งและความเปลี่ยนแปลงในชะตากรรมของตัวละครอย่างค่อยไปเป็นค่อยไป ค่อยๆ เค้นอารมณ์ความรู้สึกของตัวละครออกมาแสดงต่อผู้อ่าน จากนั้นผู้อ่านจะได้ซึมซาบอารมณ์ความรู้สึกของ ‘มุนา’ ที่ยังคงรอคอยเรือบางลำอยู่เสมอ

สิ่งที่ผมประทับใจความเรียบง่ายในการเขียนของรมณก็คือ ตัวเรื่องสั้นแต่ละเรื่องนั้นคือการรีดเค้นอารมณ์ความรู้สึกจากผู้อ่านอยู่ตลอดเรื่องและทุกเรื่อง แต่วิธีการนำเสนอไม่ใช่เป็นการเล่นแบบเอาล่อเอาเถิดกับผู้อ่าน หรือเป็นการแสดงอภินิหารทางวรรณกรรมของตัวนักเขียน สำหรับผมความเรียบง่ายในงานของรมณคือการแสดงให้ความจริงใจในการเล่าเรื่อง มีความพยายามที่จะให้คนอ่านเข้าถึงและเข้าใจอารมณ์ความรู้สึกของตัวละครและตัวเรื่อง และในท้ายที่สุดมันไปเร้าอารมณ์ของผู้อ่านได้อย่างยอดเยี่ยม

ส่งท้าย

ก่อน 14 ตุลา 2516 นักเขียนไทยพยายามค้นหาแนวทางการเขียนใหม่ๆ ที่สามารถสะท้อนสะคมและอารมณ์ความรู้สึกของพวกเขาได้ดีกว่าขนบแบบสัจนิยม ดังนั้นเทคนิคและกลวิธีในการนำเสนอของวรรณกรรมไทยจึงมีความหลากหลายมากขึ้น จากนั้น ‘เทรนด์’ ของเทคนิคทางวรรณกรรมในแวดวงวรรณกรรมไทยกลับมาอีกครั้งในทศวรรษ 2520 ภายใต้ชื่อวรรณกรรมสร้างสรรค์และมันได้ส่งอิทธิพลให้กับนักเขียนไทยมาอย่างยาวนาน จนกระทั่งในทศวรรษ 2550 จนถึงปัจจุบัน แนวทางการเขียนของนักเขียนไทยมีมากขึ้นกว่าแต่ก่อน และสิ่งที่ผมเห็นได้ชัดเจนอย่างหนึ่งก็คือ การกลับไปใช้วิธีการที่เรียบง่ายในการเล่ามากขึ้น แต่ในความเรียบง่ายเหล่านั้นเต็มไปด้วยรายละเอียดต่างๆ ของเทคนิคการเขียนและความซับซ้อนในวิธีการจัดการกับเรื่องเล่ามากกว่าเดิม ยิ่งไปกว่านั้น นักเขียนรุ่นใหม่มีภาษาที่ทรงพลังสามารถดึงเอาความรู้สึกอันละเอียดลออออกมานำเสนอได้อย่างน่าชื่นชม ในงานของ รมณ กมลนาวิน เป็นงานที่น่าประทับใจเช่นที่ผมได้กล่าวมา

ไม่ว่า รมณ จะเขียนเรื่องที่ชวนหดหู่สิ้นหวัง แหลกสลายเพียงใด แต่สำหรับผมวรรณกรรมไทยมีความหวังมากขึ้นมาอีกครั้งหนึ่งแล้ว…


[1] โปรดอ่านการอธิบายเรื่องวรรณกรรมซีเรียสและวรรณกรรมสร้างสรรค์ในแวดวงวรรณกรรมไทยได้ในท้ายเล่มของรวมเรื่องสั้น สเปโรโซนาตาที่ผมกำลังเขียนถึงอยู่เล่มนี้ ของพิเชฐ แสงทอง ที่อธิบายและวิเคราะห์ได้อย่างน่าสนใจอย่างยิ่ง

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save