fbpx
ท่าทีอาเซียน ก่อนการประชุมสุดยอดนัดพิเศษกรณีเมียนมา

ท่าทีอาเซียน ก่อนการประชุมสุดยอดนัดพิเศษกรณีเมียนมา

ประเทศสมาชิกประชาคมอาเซียนทั้ง 10 ประเทศตกลงจะมีการประชุมสุดยอดผู้นำนัดพิเศษ เพื่อหาทางออกร่วมกันกรณีการทำรัฐประหารในประเทศเมียนมา นำโดยพลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย และคณะรัฐประหารในนาม State Administration Council (SAC) ซึ่งถูกต่อต้านอย่างรุนแรงจากประชาชนเมียนมา และมีการใช้ความรุนแรงโดยเจ้าหน้าที่รัฐต่อประชาชน จนมีผู้เสียชีวิตมากกว่า 700 ราย และมีผู้ถูกควบคุมตัวไปแล้วมากกว่า 3,000 ราย

สถานการณ์ดังกล่าวส่งผลกระทบต่อความมั่นคงและความสัมพันธ์ของประเทศสมาชิกประชาคมอาเซียนเกินกว่าระดับที่ถือเป็นสถานการณ์ภายใน (Domestic Affairs) ของประเทศเมียนมาไปแล้ว ทำให้จะมีการจัดประชุมสุดยอดผู้นำนัดพิเศษ ณ กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย ในวันที่ 24 เมษายน 2021 โดยผู้ที่จะเข้าร่วมการประชุมในฐานะตัวแทนนายกรัฐมนตรีไทยคือ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ คุณดอน ปรมัตถ์วินัย

บทความนี้เป็นการแสดงความคิดเห็นส่วนตัวของผู้เขียน ต่อท่าทีของประเทศสมาชิกอาเซียน ในการประชุมสุดยอดผู้นำนัดพิเศษในครั้งนี้

ในกรณีของเมียนมา พลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้นำ SAC ประกาศว่า จะเป็นผู้เข้าร่วมการประชุมนัดพิเศษนี้ด้วยตนเอง ซึ่งการประกาศเช่นนี้ตีความได้ 2 กรณี:

กรณีแรก นักสังเกตการณ์บางกลุ่มพิจารณาว่า นี่คือท่าทีที่ผ่อนปรนและต้องการประนีประนอมของผู้นำกองทัพ โดยกลุ่มนี้พิจารณาว่า เมียนมาจำเป็นต้องพึ่งพาอาเซียน ดังนั้น พลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย จึงต้องมาประชุมเพื่อจะได้พบปะพูดคุย และแสวงหาทางออกอย่างสันติร่วมกันกับเพื่อนบ้านในภูมิภาค และขณะเดียวกัน ก็หาทางลงจากหลังเสือให้ตนเองด้วย

กรณีที่สอง นักสังเกตการณ์อีกกลุ่มพิจารณาโดยมองจากมิติประวัติศาสตร์ว่า ที่ผ่านมา ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นในเมียนมา ไม่ว่าจะเป็นการเดินหน้ากระบวนการประชาธิปไตย การร่างรัฐธรรมนูญ การให้มีการเลือกตั้ง การยอมให้พรรค NLD จัดตั้งรัฐบาล โดยมีตัวแทนของกองทัพร่วมรัฐบาล รวมทั้งการรัฐประหาร ล้วนแล้วแต่เกิดขึ้นเพราะกองทัพเมียนมาต้องการให้เกิดขึ้น ประกอบกับคำพูดของนายพล Soe Win รองประธานคณะ SAC ที่โทรศัพท์พูดคุยกับคุณ Christine Burgener ผู้แทนพิเศษของเลขาธิการสหประชาชาติในประเด็นเมียนมา (Special Envoy of the Secretary-General on Myanmar) และแจ้งให้เธอทราบว่า “We are used to sanctions and we survived the sanctions time in the past”. “We have to learn to walk with only few friends”. แสดงให้เห็นว่าเมียนมาไม่สนใจหากจะต้องอยู่อย่างโดดเดี่ยว และอาจทำให้ตีความต่อได้ว่า การที่ มิน อ่อง หล่าย ตัดสินใจเดินทางไปร่วมการประชุมครั้งนี้ด้วยตนเอง เพราะเขาคิดแล้วว่า การประชุมร่วมกับอาเซียนจะส่งผลบวกต่อการรัฐประหารและการบริหารประเทศโดย SAC 

คำถามคือ ผลบวกที่ มิน อ่อง หล่าย คาดหวังคืออะไร สิ่งที่เราคาดการณ์ได้ก็คือ การยอมรับในเวทีระดับภูมิภาค (ซึ่งเมียนมาจะเรียกว่านานาชาติ) ว่า SAC คือรัฏฐาธิปัตย์ และผู้นำอาเซียนรับรอง (endorse) มิน อ่อง หล่าย ในฐานะผู้นำ 

หากเป็นเช่นนี้ เท่ากับเป็นการโยนเผือกร้อนกลับมาที่อาเซียน ทำให้สมาชิกอาเซียนที่เหลือตกที่นั่งลำบาก เพราะ:

ประการแรก หากผู้นำอาเซียนยอมประชุม ปรึกษาหารือ กับพลเอก มิน อ่อง หล่าย เพียงฝ่ายเดียว จะสามารถนำไปสู่การหาข้อสรุปและแนวทางที่สร้างสรรค์เพื่อแก้ปัญหาทางตันในเมียนมาได้หรือไม่ เพราะถึง มิน อ่อง หล่าย และ SAC อาจจะเข้าควบคุมอำนาจรัฐ และควบคุมแกนนำพรรค NLD ได้ แต่พวกเขาไม่สามารถควบคุมหรือสร้างความเชื่อใจให้กับประชาชนเมียนมา ดังนั้น ในทางปฏิบัติ รัฐบาลของ มิน อ่อง หล่าย ล้มเหลวอยู่แล้วในการบริหารจัดการประเทศ ต้องใช้แต่ความรุนแรง

ประการที่สอง ตัวแทนของเมียนมาที่ชอบธรรมคือใคร ในเมื่อสถานการณ์ปัจจุบันคือ ความร่วมมือระหว่าง Committee Representing Pyidaungsu Hluttaw (CRPH) หรือกลุ่มว่าที่สมาชิกสภานิติบัญญัติของเมียนมาที่ได้รับการเลือกตั้ง แต่ยังไม่ทันได้เข้ารับตำแหน่งเพราะเกิดการรัฐประหารเสียก่อน ร่วมกับตัวแทนภาคประชาชนที่ต่อต้านการทำรัฐประหารด้วยการอารยะขัดขืน (Civil Disobedience Movement: CDM) และตัวแทนจากกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ได้ร่วมกันจัดตั้งรัฐบาลของพวกเขาเองในนาม National Unity Government (NUG) ซึ่งประชาชนยอมรับ แต่ไม่มีอำนาจในการบริหาร และมีการแต่งตั้งให้ประธานาธิบดี วิน เมี่ยน ยังคงดำรงตำแหน่งต่อไป เช่นเดียวกับที่นางอองซาน ซูจี ยังคงเป็นที่ปรึกษาแห่งรัฐ โดยมี ละ ชี ชะ เป็นผู้รักษาการตำแหน่งประธานาธิบดี และ ซีน มา อ่อง เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นี่คือตัวแทนที่ประชาชนเห็นชอบและได้รับการยอมรับในสังคม แต่ไม่มีอำนาจในการบริหารประเทศ นี่หมายถึงแรงกดดันจากทั้งในเมียนมาและนานาชาติว่า อาเซียนจะคุยกับใคร ระหว่าง SAC และ/หรือ NUG

ประการที่สาม สืบเนื่องจากประเด็นข้างต้น หรืออาเซียนจะเชิญตัวแทนมาจากทั้ง 2 กลุ่ม แต่นั่นก็จะยิ่งกลายเป็นความยุ่งยากซับซ้อน เพราะจะกลายเป็นการประชุมระหว่าง 9 ผู้นำอาเซียน กับอีก 2 ตัวแทนจากประเทศเมียนมา ซึ่งไม่แน่ว่าใครจะมีสถานะไหน แน่นอนว่า การที่ทั้ง 2 ฝ่ายมาเผชิญหน้ากัน ร่วมถกเถียง แสดงความคิดเห็นแบบมีอารยะ โดยมีอาเซียนเป็นสักขีพยานคือสิ่งที่ทุกคนคาดหวังอยากจะเห็น และน่าจะเป็นกระบวนการแสวงหาสันติภาพที่ดีที่สุด แต่ถ้าเป็นการประชุมในลักษณะนี้ พลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ก็น่าจะไม่ยอมให้เกิดขึ้นเช่นกัน เพราะนั่นเท่ากับเป็นการยอมลดราวาศอก และยอมลดสถานะรัฏฐาธิปัตย์ของตนตั้งแต่เริ่มต้นกระบวนการเสียแล้ว

ในขณะที่ฝ่าย NUG ก็อาจจะไม่ยอมส่งตัวแทนมาเข้าประชุมตั้งแต่ต้นด้วยซ้ำ เพราะคนที่จะออกจากประเทศมาประชุมย่อมรู้สถานการณ์ดีว่า ไม่มีทางได้กลับเข้าประเทศเมียนมาโดยไม่ถูกฝ่ายตรงข้ามควบคุมตัวอย่างแน่นอน นั่นเท่ากับเขาจะสูญเสียกำลังสำคัญในระดับแกนนำที่ดำเนินการเคลื่อนไหวทางการเมืองในประเทศไป

ประการสุดท้าย ถ้าจะคาดหวังในทางที่ดีว่า หากทั้งสองฝ่ายสามารถมาประชุมร่วมกันได้ คำถามที่สำคัญมากกว่าแค่ผลของการประชุมคือ การบังคับใช้เพื่อให้ผลของการประชุมที่สร้างแนวทางสู่สันติภาพอย่างแท้จริงจะเกิดขี้นได้อย่างไร อาเซียนจะมีกลไกใดเป็นหลักประกันได้ว่า การดำเนินการและการบังคับใช้ผลจากการประชุมจะเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมในเมียนมา

อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ว่าการประชุมสุดยอดนัดพิเศษในครั้งนี้จะมีแต่ความท้าทาย เพราะในความเป็นจริง รูปแบบการประชุมที่เป็นการพบปะพูดคุย พบเจอกันแบบ On-site คือกลไกที่ซับซ้อนและเป็นจุดแข็งที่สุดของอาเซียน นั่นคือ การเปิดโอกาสให้กระบวนการ ASEAN Way ได้ทำงาน 

โดยปกติ หากสถานการณ์ในห้องประชุมอยู่ในภาวะตึงเครียด การถกเถียงทำท่าจะรุนแรง สิ่งที่ประธานในที่ประชุมมักจะทำคือ การหยุดพักการประชุม และระหว่างหยุดพักการประชุมจะเกิดการล็อบบี้ (lobby) ระหว่างการดื่มกาแฟในกลุ่มย่อยๆ ผู้นำกลุ่มที่ขัดแย้งกันกับผู้นำที่ทำหน้าที่เป็นตัวกลางจะเข้ามาตบบ่า จับมือ พูดคุยกันในระหว่างดื่มชา ดื่มกาแฟ และพยายามช่วยกันหาทางออก โดยไม่ต้องคำนึงถึงพิธีการทูต แต่ใช้การประนีประนอมรอมชอมและหาทางออกร่วมกัน โดยแต่ละฝ่ายอาจจะยอมถอยคนละก้าว แสวงหาจุดร่วม สงวนจุดต่าง และมีประเทศสมาชิกอาเซียนประเทศอื่นช่วยกันไกล่เกลี่ย หาทางออกร่วมกันอย่างสร้างสรรค์ และเมื่อสถานการณ์ความขัดแย้งคลี่คลาย ประธานก็จะเรียกสมาชิกกลับเข้าห้องประชุมอีกรอบในบรรยากาศที่สดใสยิ่งขึ้น

นี่คือกลไก ASEAN Way ที่ทรงพลัง มีประสิทธิภาพ และไม่เป็นทางการ แต่กลับสร้างผลลัพธ์ที่ดีในการเดินหน้าของประชาคมอาเซียนมาแล้วตลอด 53 ปีที่ผ่านมา ซึ่งการประชุมทางไกล Online ทำให้กลไกเช่นนี้เกิดขึ้นไม่ได้

นอกจากนี้ ถ้าไม่นับความไม่แน่นอนในเรื่องเมียนมา เราหวังว่าจะเห็นผลได้อะไรจากการประชุมสุดยอดผู้นำนัดพิเศษในครั้งนี้ เราต้องอย่าลืมว่า อาเซียนคือกลไกที่ถูกสร้างขึ้นมาในช่วงสงครามเย็นที่มีความขัดแย้งอย่างรุนแรง ตลอดประวัติศาสตร์ของอาเซียน เวทีนี้ทำให้ความรุนแรงต่างๆ ไม่เกิดขึ้น การร่วมกันแสวงหาทางออกอย่างสร้างสรรค์ระหว่างประเทศสมาชิกในกรณีที่มีความขัดแย้ง คือหนึ่งในความสำเร็จหลักของอาเซียนตลอดประวัติศาสตร์กว่าครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา และเราหวังจะเห็นความสำเร็จเช่นนั้นอีกครั้งในกรณีของเมียนมา

ในความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน ไทยและประชาคมอาเซียนต้องเร่งดำเนินการ 4 เรื่อง คือ

เรื่องแรก ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุดและเร่งด่วนที่สุด คือ การให้ความช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรม โดยเฉพาะกับประชาชนเมียนมาที่หนีภัยความรุนแรงเข้ามาที่บริเวณชายแดนของประเทศเพื่อนบ้าน อย่างไรก็ตาม การรับผู้อพยพเป็นเรื่องละเอียดอ่อนและเปราะบางมาก เพราะหากให้องค์การระหว่างประเทศเข้ามาบริหารจัดการ ไทยอาจจะไม่มีภาระในเรื่องงบประมาณมากนัก แต่ก็เท่ากับไทยจะไม่สามารถบังคับใช้กฎหมายไทยในบริเวณค่ายผู้อพยพ ซึ่งอยู่ในประเทศไทย ได้อย่างที่ควรจะเป็น บางครั้งอาจถูกตีความได้ว่า เราสูญเสียอำนาจอธิปไตยในบางระดับ 

ในทางตรงกันข้าม หากประเทศไทยเป็นตัวตั้งตัวตี ออกหน้ารับผู้อพยพโดยไทยดำเนินการเองทั้งหมด ความเปราะบางด้านความมั่นคงในบริเวณชายแดนก็จะเกิดขึ้น เพราะกองทัพเมียนมาก็จะไม่พอใจประเทศไทย ต้องอย่าลืมว่า ความสัมพันธ์ที่ดีของกองทัพที่อยู่คนละฝั่งของชายแดนมีความสำคัญมาก ทั้งต่อกองทัพเมียนมาและกองกำลังของกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งต่างก็มีฐานที่มั่นกระจายตัวกันอยู่ตลอดแนวชายแดน และไทยจำเป็นต้องมีความสัมพันธ์อันดีด้วย โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาถึงสถานการณ์ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในระยะยาวที่เราต้องรักษาเสถียรภาพและความสัมพันธ์ไว้ สายสัมพันธ์ที่ผู้นำกองทัพ ทั้งในส่วนกลางและส่วนหน้า ที่มีความสนิทสนมในระดับที่สามารถพูดคุย แลกเปลี่ยนข่าวสารด้านความมั่นคงระหว่างกัน ถือเป็นเรื่องสำคัญที่สุดที่จะป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุหรือความเข้าใจผิดบริเวณชายแดน ซึ่งเกิดขึ้นได้ง่ายและเปราะบางมากยิ่งขึ้น หากพิจารณาถึงภัยคุกคามด้านความมั่นคงแบบองค์รวม (Comprehensive Security) เช่น ไทยต้องการปราบปรามกลุ่มผู้ลักลอบค้ายาเสพติดบริเวณชายแดน แต่อาจถูกกองทัพของอีกฝ่ายตีความเป็นการรุกราน หากมีการยิงและกระสุนไปตกในอีกฝั่งของชายแดน

เมื่อเป็นเช่นนี้ การต่อสายชี้แจงข้อมูลและความสัมพันธ์อันดีของกองทัพที่อยู่คนละฝั่งของชายแดนจึงสำคัญมาก หากไม่มีกลไกเหล่านี้ อุบัติเหตุเล็กๆ อาจขยายตัวกลายเป็นความขัดแย้งระหว่างประเทศที่ต้องใช้กองกำลังเข้าโจมตีซึ่งกันและกัน อีกทั้งยังมีประเด็นเรื่องการค้าพลังงานระหว่างประเทศที่ไทยพึ่งพาก๊าซธรรมชาติจำนวนมากจากเมียนมา ดังนั้น การกระทำใดที่เป็นการถนอมน้ำใจและรักษาความสัมพันธ์ในระยะยาวจึงเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง เพราะหากประเทศไทยจะเปิดตนเองเป็นที่ลี้ภัย (asylum) ให้กับกลุ่มคนที่กองทัพเมียนมามองว่าเป็นภัยคุกคามด้วยตนเอง อาจจะไม่ใช่เรื่องดีนัก

ทางออกที่ดีที่สุดคือ ใช้กลไกและมติของอาเซียน ที่ผ่านมา การประชุมระดับสุดยอดผู้นำเป็นกลไกสูงสุดที่มีอำนาจตัดสินใจได้อย่างเด็ดขาด ซึ่งไทยเราสมควรเข้าร่วม และผลักดันให้มีมติใช้ประโยชน์จากกลไกของอาเซียนในการช่วยเหลือผู้อพยพเมียนมา นี่เป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่ไทยสามารถดำเนินการได้ และในขณะเดียวกัน ก็อาจจะมีการชี้แจงกับทางเมียนมาด้วยว่า ไทยต้องดำเนินการเพราะนี่คือมติของอาเซียน และไทยเป็นส่วนหนึ่งของอาเซียน เราจึงต้องรับหน้าที่ในภารกิจนี้

กลไกสำคัญของอาเซียนที่ไทยสามารถผลักดันได้ทันทีคือ ASEAN Coordinating Centre for Humanitarian Assistance on Disaster Management (AHA Centre) หรือศูนย์ประสานงานอาเซียนเพื่อความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการจัดการภัยพิบัติ ที่จะเป็นหน่วยงานหลักในการรวบรวมทรัพยากรจากทุกประเทศสมาชิกเพื่อช่วยเหลือคนเมียนมา โดยชุดปฏิบัติการที่จะลงไปในพื้นที่เพื่อสำรวจความต้องการและให้ความช่วยเหลือกับประชาชนเมียนมาคือ One ASEAN One Response ซึ่งสามารถส่งทีมลงพื้นที่ได้ทันที ภายใต้ปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยการเป็นหนึ่งเดียวกันด้านการตอบโต้ภัยพิบัติทั้งภายในและภายนอกภูมิภาคอย่างเป็นรูปธรรม

ในขณะที่อุปกรณ์ให้ความช่วยเหลือต่างๆ ได้มีการเตรียมความพร้อมไว้แล้วตั้งแต่สมัยที่ไทยเป็นประธานอาเซียนในปี 2019 นั่นคือ เต็นท์ เครื่องกำเนิดไฟฟ้า ห้องน้ำและระบบสาธารณสุขเคลื่อนที่ ตลอดจนเครื่องมือช่วยเหลือต่างๆ ที่เราเก็บเอาไว้ในคลังสินค้าขนาดใหญ่ที่จังหวัดชัยนาท ภายใต้โครงการระบบโลจิสติกส์ฉุกเฉินสำหรับใช้ในกรณีเกิดภัยพิบัติของอาเซียน (Disaster Emergency Logistics System for ASEAN: DELSA) รวมทั้งการให้การสนับสนุนด้านบุคลากรทางการแพทย์จากศูนย์การแพทย์ทหารอาเซียน (ASEAN Centre of Military Medicine: ACMM) ซึ่งมีกรมการแพทย์ทหารบกของไทยเป็นกำลังสำคัญ เพราะต้องอย่าลืมว่า ขณะนี้ทั้งไทยและเมียนมาต่างอยู่ในภาวะเปราะบางต่อการแพร่ระบาดของโควิด-19 การให้ความช่วยเหลือและคัดกรองผู้ป่วยจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง

ฝ่ายไทยก็ต้องให้กองทัพภาคที่ 1 และกองทัพภาคที่ 3 ร่วมกับ หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา เข้ามาทำหน้าที่ในลักษณะผู้ช่วยกับกลไกของอาเซียนนี้ โดยต้องคำนึงถึงมิติในด้านรัฐศาสตร์มากกว่ามิติด้านนิติศาสตร์ เน้นการช่วยเหลือชีวิตเพื่อนมนุษย์ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่สุด 

เรื่องที่สอง คือ การร่วมกันผลักดันกับประเทศสมาชิกให้ดำเนินการคว่ำบาตรแบบเน้นเป้าหมาย (Targeted Sanction) ไม่ใช่การคว่ำบาตรหรือการลงโทษแบบเหมารวมที่จะทำให้คนเมียนมาเดือดร้อน แต่เน้นเป้าหมายการหยุดและตัดท่อน้ำเลี้ยง เส้นทางการเข้าถึง และการใช้เงินของผู้นำกองทัพของเมียนมา ซึ่งแน่นอนว่าผลประโยชน์ทางธุรกิจของเหล่าผู้นำกองทัพเมียนมาและเครือข่าย รวมทั้งเงินฝากมีอยู่ในทั่วโลก (สหรัฐฯ และสหภาพยุโรป รวมทั้งออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ดำเนินการยุติเส้นทางทางการเงินไปแล้ว) และในประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะในประเทศไทยและในประเทศสิงคโปร์

อย่างไรก็ดี การที่จะผลักดันเรื่องนี้ในเวทีอาเซียน เพื่อให้ได้มติจากส่วนรวมแล้วจึงให้แต่ละสมาชิกไปดำเนินการ จะเกิดขึ้นได้คงต้องผ่านการดำเนินการในทางลับ คุยกันนอกรอบ และไม่เป็นทางการระหว่างไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย ซึ่งอินโดนีเซียในฐานะประเทศที่ใหญ่ ไม่มีพรมแดนติดกับเมียนมา และไม่มีความสุ่มเสี่ยงที่กองทัพจะผิดใจกัน อาจจะเป็นผู้เสนอเรื่องนี้เข้าสู่ที่ประชุมอาเซียน ขณะที่สิงคโปร์ก็เป็นหนึ่งในศูนย์กลางของโลก มีประเด็นเรื่องของการปกปิดข้อมูลผู้ฝากเงิน และการยังยั้งการเข้าถึงบัญชีก็มีกฎระเบียบที่ซับซ้อน ดังนั้น ถ้าต้องการสันติภาพและการเดินหน้าไปสู่ประชาธิปไตยอย่างแท้จริงในภูมิภาคนี้ ผู้นำระดับสูงของสิงคโปร์ต้องมีส่วนร่วม ส่วนการตัดท่อเงินของของผู้นำกองทัพเมียนมาก็ต้องได้รับความร่วมมือจากสิงคโปร์ด้วย และถ้าสิงคโปร์ยังร่วมมือด้วย ไทยก็พร้อมที่จะทำตาม เพราะนี่คือมติของอาเซียน

เรื่องที่สาม ไทยต้องร่วมผลักดันผู้นำอาเซียนให้ออกแถลงการณ์ร่วมกันไปยังประเทศคู่เจรจาหลักของอาเซียน (Dialogue Partners) ทั้ง 10 ประเทศ อันได้แก่ ออสเตรเลีย แคนาดา จีน สหภาพยุโรป อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ นิวซีแลนด์ รัสเซีย และสหรัฐฯ ให้ยุติการขายอาวุธ และการให้ความร่วมมือทางการทหารกับเมียนมา รวมถึงต้องไม่แทรกแซงกิจการภายในของเมียนมา ซึ่งแม้จริงๆ แล้ว รัสเซีย จีน อินเดีย และสหรัฐฯ จะเป็นประเทศเป้าหมาย แต่การที่จะระบุประเทศชัดเจนคงไม่ใช่เรื่องที่เหมาะสม เราจึงต้องแสดงจุดยืนกับทุกประเทศคู่เจรจาอย่างเท่าเทียมกัน และอาเซียนก็ต้องแสดงจุดยืนชัดเจนว่า เราไม่ต้องการการแทรกแซงจากมหาอำนาจภายนอก ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด และในขณะเดียวกัน อาเซียนที่มีพรมแดนติดกับเมียนมาก็ต้องควบคุมไม่ให้มีการเคลื่อนย้ายอาวุธจากประเทศของตนเข้าไปในเมียนมาด้วย

และ เรื่องสุดท้าย ไทยต้องมีมาตรการชัดเจนว่า การค้าขายระหว่างประเทศ โดยเฉพาะการค้าชายแดน เพื่อส่งสินค้าอุปโภคบริโภคเข้าไปในเมียนมายังต้องทำได้อย่างปกติ เพราะหากสินค้าเหล่านี้ไม่สามารถส่งเข้าไปค้าขายในเมียนมาได้ คนที่เดือนร้อนไม่ใช่ผู้นำกองทัพเมียนมา แต่เป็นประชาชน และถึงแม้ในปัจจุบัน ราคาสินค้าบางอย่างในเมียนมาจะปรับสูงขึ้นแล้ว เช่น ราคาน้ำมันพืชในปัจจุบันเพิ่มขึ้นกว่า 20% แต่ผู้ผลิตและผู้ค้าชาวไทยต้องเร่งส่งสินค้าเหล่านี้ และเจ้าหน้าที่ของรัฐในฝ่ายไทย คงต้องดำเนินการทุกอย่างเพื่อให้สินค้าเหล่านี้ออกไปถึงมือประชาชนเมียนมาได้ด้วยต้นทุนที่ต่ำที่สุด (หยุดการเก็บผลประโยชน์เข้าตัวเถอะครับ ในเวลาที่ประชาชนเมียนมาเขาเดือดร้อนเช่นนี้ อย่าให้ต้นทุนสินค้ามันสูงขึ้นไปอีกเลย) เราต้องการให้ประชาชนเมียนมาสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ โดยไม่เดือดร้อนจนเกินไป สามารถเข้าถึงสินค้าและบริการได้ เพราะในเมียนมา นอกจากวิกฤตโควิด-19 ที่ทำให้เศรษฐกิจตกต่ำอยู่แล้ว วิกฤตทางการเมืองยิ่งทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจทุกอย่างเป็นอัมพาต หากประชาชนไม่สามารถเข้าถึงสินค้าในการดำรงชีพได้ เท่ากับเรายิ่งซ้ำเติมสถานการณ์ในเมียนมา

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Spotlights

4 Nov 2020

101 Policy Forum : ประเทศไทยในฝันของคนรุ่นใหม่

101 เปิดวงสนทนาพูดคุยกับตัวแทนวัยรุ่น 4 คน ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน , สิรินทร์ มุ่งเจริญ, ภาณุพงศ์ สุวรรณหงษ์, อัครสร โอปิลันธน์ ว่าด้วยสังคม การเมือง เศรษฐกิจไทยในฝัน ต้นตอที่รั้งประเทศไทยจากการพัฒนา ข้อเสนอเพื่อพาประเทศสู่อนาคต และแนวทางการพัฒนาและสนับสนุนคนรุ่นใหม่

กองบรรณาธิการ

4 Nov 2020

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save