fbpx

‘กรุงเทพมหานคร’ องค์กรปกครองท้องถิ่นแบบ ‘พิเศษ’ จริงหรือ?

หลายครั้งที่มีโอกาสเดินทางเข้ากรุงเทพฯ ผมมักมีคำถามนี้กับตัวเองขึ้นมา คำถามที่ว่า กรุงเทพมหานครเป็นองค์กรปกครองท้องถิ่นแบบพิเศษจริงหรือ?

ครั้งหนึ่งที่ยังพอจำได้ ช่วงปลายปี 2557 ผมขึ้นรถไฟใต้ดินไปลงแถวๆ สถานีสีลม เห็นป้ายไวนิลตราครุฑชวนสะดุดใจมาก เรื่องห้ามรถทุกชนิดเดินในการจัดกิจกรรมสีลมถนนคนเดิน ลงนามโดยรองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ที่มีพื้นเพเป็นคนทางเหนือ) ปฏิบัติราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจนครบาลในฐานะเจ้าพนักงานจราจรในเขตกรุงเทพมหานคร ถ้ากรุงเทพมหานคร (กทม.) พิเศษจริง กับเรื่องแค่นี้ คนลงนามควรต้องเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (หรือผู้อำนวยการเขตก็ยังได้)

อีกครั้งเมื่อมีโอกาสอ่านบทความชิ้นหนึ่งว่าด้วยเรื่องป้ายรถเมล์ ผู้เขียนตั้งข้อสังเกตว่าป้ายรถเมล์ที่เห็นๆ ในกรุงเทพฯ ไม่พ้นเป็นของสองหน่วยงานหลักคือ กทม. (เป็นส่วนใหญ่) กับกรมทางหลวง (ถนนสายหลัก/เชื่อมโยงต่างจังหวัด) อาจมีบ้างที่เป็นของเอกชน (ตามหน้าห้างสรรพสินค้า) ซึ่งสองหน่วยงานนี้จัดสร้างและติดตั้งป้ายรถเมล์เท่านั้น แต่ไม่สามารถกำหนดตำแหน่งของป้ายรถเมล์ได้เอง เพราะอยู่ในอำนาจของกรมการขนส่งทางบก โดยอนุกรรมการพิจารณากำหนดที่หยุดรถโดยสารในเขตกรุงเทพมหานคร

ยิ่งไปกว่านั้น ขนส่งสาธารณะ (Public Transportation) ส่วนใหญ่ที่ได้ใช้บริการก็หาใช่อยู่ในความดูแลของ กทม. ไม่ ผิดแผกกับมหานครใหญ่ของโลกที่สิ่งเหล่านี้อยู่ภายใต้การบริหารจัดการโดยท้องถิ่น

ระบบขนส่งสาธารณะที่ให้บริการในเขตพื้นที่ กทม.

สองสามตัวอย่างข้างต้นสะท้อนว่าแม้แต่ กทม. ก็ไม่มีอำนาจจัดการเหนือพื้นที่อย่างเต็มที่ กระทั่งในเรื่องสำคัญของท้องถิ่นอย่างการจัดการจราจร/ขนส่งมวลชน กทม. เองไม่ได้มีอำนาจมากมายอะไร อำนาจเป็นของส่วนกลางทั้งสิ้น ยังไม่พูดถึงเรื่องอื่นอีกสารพัด

พอกลับมาลองสำรวจตรวจตรากฎหมายหลักๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้ง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 พ.ร.บ.กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2542 พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2528 พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการกรุงเทพมหานคร และบุคลากรกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2554 ไม่ปรากฏว่ามีกฎหมายฉบับใดระบุว่ากรุงเทพมหานครเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบ ‘พิเศษ’ แบบที่เราเรียกๆ กันเลย

แล้วคำว่า ‘พิเศษ’ มาจากไหน

ย้อนกลับไปสมัยรัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร ในปี 2515 ได้ออกประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 335 จัดตั้งกรุงเทพมหานคร ระบุว่า “มีความจำเป็นที่จะต้องจัดรูปการปกครองและการบริหารให้มีลักษณะพิเศษ” โดยรวมกิจการปกครองต่างๆ ที่มีของจังหวัดนครหลวงกรุงเทพธนบุรีทั้งหมดเข้าเป็นหน่วยการปกครองเดียวกัน กทม. จึงแตกต่างจากจังหวัดอื่นๆ ในตอนนั้นคือเป็นการปกครองชั้นเดียว ปราศจากส่วนท้องถิ่น ทั้ง อบจ. เทศบาล ตลอดจนสุขาภิบาล โดยให้มีสภากรุงเทพมหานครที่สมาชิกครึ่งหนึ่งมาจากการเลือกตั้ง (แต่ระยะ 4 ปีแรกให้มาจากการแต่งตั้งทั้งหมด)

ดูเผินๆ เหมือนจอมพลถนอมเป็นผู้ให้กำเนิด กทม. แต่อันที่จริงประกาศคณะปฏิวัติดังกล่าวกำหนดให้ กทม. เป็น ‘จังหวัด’ ซึ่งมีฐานะเป็น ‘ส่วนภูมิภาค’ ผู้ว่าฯ มาจากการแต่งตั้งโดยคณะรัฐมนตรี เอาเข้าจริง กทม. กลายสภาพเป็น ‘ส่วนท้องถิ่น’ ในยุครัฐบาลสัญญา ธรรมศักดิ์ ตามกฎหมายใหม่ที่ออกเมื่อปี 2518 (หลังเหตุการณ์ 14 ตุลา 16) เริ่มให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ (พร้อมคณะรองผู้ว่าฯ) เป็นครั้งแรก มีนายธรรมนูญ เทียนเงินเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครคนแรกที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน[1] นั่นแหละความพิเศษสุดของ กทม. ในยามนั้น ขณะที่ท้องถิ่นอื่นทั่วประเทศกว่าจะได้โอกาสเช่นนี้ต้องรอถึงช่วงกลางทศวรรษ 2540

ท้องถิ่นรูปแบบพิเศษในต่างประเทศ

อย่างไรก็ดี หากลองนำ กทม. ไปเทียบกับองค์กรท้องถิ่นรูปแบบพิเศษของต่างประเทศบางส่วน เราจะเห็นว่าในสหรัฐอเมริกา องค์กรปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ (special district) หมายถึงหน่วยการปกครองท้องถิ่นซึ่งมุ่งทำภารกิจเรื่องหนึ่งเรื่องใดเป็นหลัก โดยมีวัตถุประสงค์เป็นการเฉพาะ (special purpose) ได้แก่ เขตโรงเรียน (school district) และเขตพิเศษต่างๆ อาทิ เขตสนามบิน เขตขนส่งมวลชน เขตห้องสมุด ซึ่งบอร์ดบริหาร โดยมากมักมาจากการเลือกตั้งของประชาชนในท้องถิ่นนั้นๆ

ในฝรั่งเศส นครปารีสมีความพิเศษอยู่ตรงที่มีสองสถานะพร้อมกันคือเป็นทั้งเทศบาล (ที่เป็นหน่วยการปกครองท้องถิ่นระดับพื้นฐาน) และจังหวัด (ที่เป็นส่วนภูมิภาคและส่วนท้องถิ่นในเวลาเดียวกัน) ขณะที่ในพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศทั้งสองหน่วยดังกล่าวดำรงอยู่แยกจากกัน ขณะที่เกาะกอร์ส (Corse) ที่ถือเป็นท้องถิ่นรูปแบบพิเศษอีกชนิดหนึ่งของฝรั่งเศสมีฐานะเทียบเท่าภาค (ที่เป็นหน่วยการปกครองท้องถิ่นระดับบนสุด) โดยให้มีสภาเศรษฐกิจและสังคมกับสภาวัฒนธรรมการศึกษาและคุณภาพชีวิตเพิ่มขึ้นมาจากสภาท้องถิ่นตามปกติ[2]

มหานครโตเกียวมีการจัดตั้งเขตพิเศษ 23 เขต (ward) เลือกจากพื้นที่ที่มีความหนาแน่นและเป็นศูนย์กลางความเจริญ ให้มีภารกิจอำนาจหน้าที่บางประการมากกว่ามาก ดังที่เคยเป็นข่าวใหญ่เมื่อหลายปีก่อน เมื่อเขตชิบูยะออกข้อกำหนดท้องถิ่นอนุญาตให้คู่รักเพศเดียวกันยื่นคำร้องเพื่อออกหนังสือรับรองสถานะความเป็นคู่ชีวิต (Partnership Certificate) เป็นแห่งแรกของญี่ปุ่น เพื่อให้มีสิทธิเฉกเช่นคู่สมรสทั่วไป นายกเทศมนตรีชิบูยะให้เหตุผลว่าสอดคล้องกับลักษณะของเขตชิบูยะซึ่งเป็นพื้นที่นําสมัยและเป็นที่รู้จักอย่างดีด้านความคิดสร้างสรรค์และเปี่ยมด้วยความเป็นเสรีนิยม[3] แต่รูปแบบในการบริหารไม่ได้มีลักษณะแตกต่างจากกันมากนัก นอกจากนี้ กฎหมายการปกครองท้องถิ่นของญี่ปุ่นยังเปิดโอกาสให้จัดตั้งองค์กรความร่วมมือในรูปแบบต่างๆ ระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (Local Cooperation) ตั้งแต่ 2 แห่งขึ้นไปได้ โดยเฉพาะในรูปของสมาคมกิจการบางส่วน (Partial Affairs Associations) เช่น การจัดการขยะ ฯลฯ[4]

แตกต่างเหมือนกัน

แน่นอนในทางความจริง กทม. มีความพิเศษ ไม่เหมือนการปกครองท้องถิ่นรูปแบบอื่นของไทยหลายประการ นอกจากประเด็นเรื่องระบบเลือกตั้งผู้บริหารโดยตรงดังกล่าวแล้วนั้น

1. เป็นเมืองหลวงอันเป็นที่ตั้งของหน่วยงานส่วนกลางต่างๆ จึงได้เปรียบจากการที่มีโครงการต่างๆ ของหน่วยงานเหล่านั้นดำเนินการในเขตพื้นที่รับผิดชอบของ กทม.

2. มีกฎหมายเฉพาะของตัวเองหลายฉบับ ส่วนท้องถิ่นประเภทอื่นใช้กฎหมายกลางในแต่ละเรื่อง เช่น พระราชบัญญัติระเบียบบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2542

3. มีอำนาจหน้าที่มากกว่า อปท. ประเภทอื่น ตามกฎหมายจัดตั้งมีทั้งสิ้น 27 เรื่อง เช่น การผังเมือง การวิศวกรรมจราจร (มาตรา 89) และมีเพิ่มขึ้นเป็น 44 เรื่อง ตามกฎหมายกระจายอำนาจที่ให้ กทม. มีทั้งภารกิจของ อปท. ขนาดเล็ก และขนาดใหญ่รวมกัน เช่น การจัดให้มีโรงพยาบาล การขนส่งมวลชน (มาตรา 16, 17)

4. มีรายรับจำนวนมหาศาล ประมาณการปี 2564 อยู่ที่ราว 7.6 หมื่นล้านบาท (ในจำนวนนี้เป็นเงินอุดหนุนรัฐบาลเกือบ 2.5 หมื่นล้านบาท) ทว่าก็เป็นฐานรายได้เดียวกับท้องถิ่นรูปแบบทั่วไป โดยเฉพาะรายได้ที่จัดเก็บเองจากภาษีโรงเรือนและที่ดิน และรายได้ที่ส่วนราชการอื่นจัดเก็บให้จากภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นหลัก

5. เป็นหน่วยรับงบประมาณจากรัฐบาลได้ สามารถเสนอขอตั้งงบประมาณไปยังสำนักงบประมาณโดยตรงในส่วนของงบประมาณเงินอุดหนุน ขณะที่ อปท. โดยทั่วไปต้องดำเนินการผ่านกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.)[5]

6. สายการบังคับบัญชาขึ้นตรงกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ขณะที่ อปท. ทั่วๆ ไปให้ผู้ว่าราชการจังหวัดหรือนายอำเภอมีอำนาจหน้าที่กำกับดูแล แล้วแต่กรณี

7. จัดทำบริการสาธารณะขนาดใหญ่ ซึ่งแทบไม่มี อปท. แห่งไหนอีกแล้วที่มีศักยภาพพอที่จะทำได้ เช่น มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช, รถไฟฟ้าบีทีเอส เป็นต้น

8. ใช้โครงสร้างแบบชั้นเดียว แบ่งออกเป็น 50 เขต แต่ละเขตมีสำนักงานเขตที่มีผู้อำนวยการเขตที่มาจากการแต่งตั้งโดยผู้ว่าฯ เป็นผู้บังคับบัญชา และให้มีสภาเขต (ส.ข.) ซึ่งได้รับการเลือกตั้งเข้ามา ทำหน้าที่เสมือนเป็นที่ปรึกษาของ ผอ.เขต[6] จึงไม่ถือว่าเป็นหน่วยการปกครองท้องถิ่นขนาดเล็ก เช่น ทุกจังหวัดที่มีสองชั้น อบจ. เป็นท้องถิ่นระดับบน และเทศบาล/อบต. เป็นท้องถิ่นระดับล่าง[7]

ถึงกระนั้น กทม. ก็หนีไม่พ้นข้อจำกัดที่ อปท. โดยรวมต้องเผชิญภายใต้รัฐรวมศูนย์ เป็นต้นว่า

1. กทม. เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเต็มพื้นที่ (ไม่มีส่วนภูมิภาคซ้ำซ้อน) ก็จริงอยู่ แต่อำนาจจำนวนมากไม่ได้ตกเป็นของผู้ว่า กทม. หากอยู่หน่วยงานส่วนกลางต่างๆ เช่น อำนาจอนุญาตตั้งสถานบริการ โรงแรมในต่างจังหวัดเป็นของผู้ว่าราชการจังหวัด แต่สำหรับ กทม. คืออธิบดีกรมการปกครองและผู้บัญชาการตำรวจนครบาลตามลำดับ ใบอนุญาตร้านเกม ร้านคาราโอเกะ ใน กทม. ผู้ออกใบอนุญาตคืออธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ส่วนจังหวัดต่างๆ เป็นผู้ว่าราชการจังหวัด

2. ถึงแม้ กทม. มีความสามารถในการหารายได้พอสมควร แต่ยังมีโครงสร้างรายได้พึ่งพาส่วนราชการอื่น และเงินอุดหนุนรัฐบาลอยู่มากโข

3. ภารกิจจำนวนมากที่แผนปฏิบัติการกำหนดขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกำหนดให้หน่วยงานต่างๆ ต้องถ่ายโอนให้กรุงเทพมหานคร ตั้งแต่ฉบับแรก (ปี 2545) ล่วงเลยมาจนถึงป่านนี้ก็ยังไม่มีการถ่ายโอนให้แต่อย่างใด อาทิ สถานีขนส่งทางน้ำ ท่าเทียบเรือ (กรมเจ้าท่า) การอนุญาตประกอบกิจการและตรวจตราสถานีบริการน้ำมัน (กรมธุรกิจพลังงาน) การรับจดทะเบียนรถยนต์ (กรมการขนส่งทางบก) การอนุญาตให้เล่นพนัน (สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย) การอนุญาตให้ขายสุรา, ยาสูบ (กรมสรรพสามิต)[8]

อปท. ที่ถูกเพ่งเล็งเป็นพิเศษ

ภายหลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาในฐานะหัวหน้า คสช. ได้ออกประกาศฉบับที่ 85 ที่ส่งผลสะเทือนต่อโครงสร้างภายในองค์กรปกครองท้องถิ่นอย่างยิ่ง เรื่องการได้มาซึ่งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นเป็นการชั่วคราว เจตนาเพื่องดจัดการเลือกตั้งระดับท้องถิ่นหากผู้บริหารท้องถิ่นคนเดิมเป็นจนครบวาระแล้วให้พ้นจากตำแหน่ง และให้ปลัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นปฏิบัติหน้าที่ หากเป็นสภาท้องถิ่นให้นำระบบการสรรหามาใช้แทน ซึ่งให้มีผลเป็นการทั่วไปกับ อปท. ทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็น อบจ. อบต. เทศบาล รวมถึง กทม. ด้วย ยกเว้นแค่เพียงเมืองพัทยา

แต่กรณีกรุงเทพมหานครมีความพิเศษกว่านั้นตรงที่มีประกาศฉบับที่ 86 เรื่องการได้มาซึ่งสมาชิกสภากรุงเทพมหานครและสมาชิกสภาเขตเป็นการชั่วคราวมาบังคับโดยตรง (10 กรกฎาคม 2557) เนื่องจากสภากรุงเทพมหานครกำลังจะครบวาระช่วงปลายเดือนกรกฎาคม กำหนดให้นำระบบการสรรหามาใช้ทันที โดยลดจำนวน ส.ก. ลงเหลือ 30 คน จากเดิมที่เคยมี 61 คน[9] และอย่างน้อย 2 ใน 3 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดต้องเป็นข้าราชการหรือเคยเป็นข้าราชการตั้งแต่ระดับนักบริหารระดับสูงหรือระดับ 10 หรือเทียบเท่าขึ้นไป คณะกรรมการสรรหาประกอบด้วยปลัดกระทรวงมหาดไทยเป็นประธาน ผู้ว่าการ สตง. เลขาฯ กกต. เลขาฯ ปปช. เลขาฯ กฤษฎีกา อัยการสูงสุด เลขาฯ กอ.รมน. อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และภาคเอกชนให้คัดกันเองเหลือ 1 คน ส่วนสภาเขตให้งดการจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาเขตไปอย่างไม่มีกำหนด

ผลที่ได้ใกล้เคียงกับสิ่งที่ Fred W. Riggs เรียกว่า Bureaucratic Polity เรียกได้ว่าเป็นการฟื้นคืนของระบอบอำมาตยาธิปไตยในระดับท้องถิ่น ซึ่งฝ่ายข้าราชการเข้ามามีบทบาทชี้นำการเมืองผ่านการเข้ามาดำรงตำแหน่งโดยตรง สภากรุงเทพมหานครที่มาจากการแต่งตั้งจึงประกอบด้วยข้าราชการทั้งหมด แบ่งเป็นข้าราชการประจำ 10 คน อดีตข้าราชการ 19 คน มีตัวแทนภาคประชาสังคมเพียง 1 คน (ซึ่งก็เคยรับราชการมาก่อน)[10] ผ่านไปกว่า 7 ปี สภาชุดนั้นยังคงอยู่เรื่อยมาถึงทุกวันนี้ (ปัจจุบันคงเหลือ 26 คน)

แม้ต่อมาหัวหน้า คสช. ซึ่งได้สวมหมวกอีกใบหนึ่งในฐานะนายกรัฐมนตรีจะออกคำสั่งที่ 1/2557 เรื่อง การได้มาซึ่งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นเป็นการชั่วคราว (25 ธันวาคม 2557) โดยอาศัยอำนาจพิเศษตามมาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญชั่วคราวมีนัยเป็นการยกเลิกประกาศข้างต้น แต่ก็ไม่ให้มีผลกับ กทม. แต่อย่างใด (รวมถึงเมืองพัทยา) โครงสร้างการเมืองใน กทม. ตอนนั้นจึงมีผู้ว่าฯ ที่มาจากการเลือกตั้งกับสภา กทม. ที่มาจากการแต่งตั้ง ขณะที่ อปท. อื่นนั้น สองฝ่ายต่างมีที่มาจากการเลือกตั้งทั้งสิ้น เพียงแต่ยังไม่ยอมให้มีการเลือกตั้งครั้งใหม่ได้ง่ายๆ

ช่วงปี 2559 เมื่อเข้าสู่ช่วงปีสุดท้ายของการดำรงตำแหน่งผู้ว่า กทม. ตามวาระปกติ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ต้องเผชิญข้อครหาทุจริตโครงการไฟประดับจนหัวหน้า คสช. ออกคำสั่งให้พักงาน และในที่สุดก็ถูกสั่งให้พ้นจากตำแหน่ง และแต่งตั้ง พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง เป็นผู้ว่าฯ แทนนับแต่นั้นมา การเมืองท้องถิ่นของ กทม. จึงเป็นระบบแต่งตั้งเต็มตัว ไร้ซึ่งการแข่งขันสิ้นเชิงมานานกว่า 8 ปีเต็มกรณีผู้ว่าฯ และร่วม 11 ปีแล้วในส่วนของสภา กทม.

ยิ่งในสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 บ่อยครั้งเห็นได้ชัดว่า กทม. ไม่ได้มีอำนาจตัดสินใจในมาตรการต่างๆ ได้เอง เช่น จัดซื้อวัคซีนฉีดป้องกันให้ประชาชน หากแต่ต้องดำเนินการตามนโยบายของ ศบค. ที่สั่งการลงมา เปรียบประหนึ่งกลไกที่เป็นแขนขาของรัฐราชการ หลายคนจึงเริ่มมีคำถามเหมือนกับผมว่า กทม. ใช่ท้องถิ่นรูปแบบพิเศษจริงๆ ไหม ถ้าคำว่าพิเศษหมายถึงแค่ความแตกต่างก็คงไม่ผิดหรอก แต่ถ้าให้ความหมายลึกซึ้งไปกว่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในมิติของความเป็นอิสระ (autonomy) ยังต้องนับว่าค่อนข้างห่างไกล


[1] แต่นายธรรมนูญดำรงตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม. ได้ไม่ถึง 2 ปีก็ถูกปลดจากตำแหน่ง สืบเนื่องจากเหตุการณ์วันที่ 6 ตุลาคม 2519 ซึ่งลงเอยด้วยการรัฐประหาร โดยรัฐบาลธานินทร์ กรัยวิเชียรใช้อำนาจพิเศษตามรัฐธรรมนูญชั่วคราวให้กลับไปใช้ระบบการแต่งตั้งเช่นเดิม หลังจากนั้น กทม. จึงปราศจากการเลือกตั้งผู้ว่าฯ ไปจนถึงปี 2528 ดู “ย้อนรอย ‘ผู้ว่าฯ กทม.’ แต่งตั้ง 9 ครั้ง เลือกตั้ง 10 ครั้ง ก่อน ‘อัศวิน’ ประกาศลงสนาม,” มติชนออนไลน์ (24 มกราคม 2561), จาก https://www.matichon.co.th/local/quality-life/news_814512

[2] ศุภสวัสดิ์ ชัชวาล, การปกครองท้องถิ่น มุมมองจากประเทศฝรั่งเศส ญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา และไทย, (กรุงเทพฯ: สำนักงานสัญญาธรรมศักดิ์เพื่อประชาธิปไตย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2563), หน้า 103-105.

[3] ฉัตรชัย เอมราช, การรับรองสิทธิของคู่รักเพศเดียวกันในญี่ปุ่น, วารสารญี่ปุ่นศึกษา ปีที่ 33 ฉบับที่ 1 (มีนาคม-มิถุนายน 2559), หน้า 9-11.

[4] คล้ายกับการก่อตั้ง ‘สหการ’ ในกฎหมายว่าด้วยเทศบาลของไทย ที่ให้มีสภาพเป็นทบวงการเมือง และมีคณะกรรมการบริหารประกอบด้วยผู้แทนของเทศบาลที่เกี่ยวข้อง ซึ่งอดีตเคยมีสหการเดินรถยนต์โดยสารระหว่างเทศบาลนครกรุงเทพฯ กับเทศบาลเมืองนนทบุรี ก่อนที่ต่อมาจะกลายเป็น ขสมก. ทว่านับแต่นั้นมาก็ไม่ได้มีการจัดตั้งสหการใดๆ ขึ้นอีกเลย

[5] แต่ด้วยมาตรการของ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ.2561 มีผลให้ อปท. เป็นหน่วยรับงบประมาณโดยตรง ไม่ต้องยื่นคำขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีผ่านกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) อีกต่อไป โดยเริ่มนำมาใช้กับ อบจ. ก่อน (ปีงบประมาณ 2563) ตามด้วยเทศบาลนครกับเทศบาลเมือง (ปีงบประมาณ 2564) เทศบาลตำบลกับ อบต. ยังคงยึดแนวทางเดิมนั่นคือ เสนอตั้งงบมาที่สำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจังหวัด ผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดไปถึงกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เพื่อส่งไปยังสำนักงบประมาณ

[6] แม้ พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร (ฉบับที่ 6) พ.ศ.2562 ไม่มีบทบัญญัติยกเลิกสภาเขตโดยตรง แต่ได้เขียนกันไว้ทำนองว่ามิให้มีสภาเขตไปจนกว่าจะมีการปรับปรุงพระราชบัญญัติฉบับนี้ให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติและแผนการปฏิรูปประเทศ ดู “(เกือบจะมี) เลือกตั้งกรุงเทพฯ: เข้าใจการบริหารราชการของกรุงเทพฯ ก่อนที่จะฝันถึงการเลือกตั้ง,” ELECT (25 กุมภาพันธ์ 2564), จาก https://elect.in.th/bkk-admin/

[7] ณัฐกร วิทิตานนท์, “กรุงเทพ “มหานคร” ที่ไม่ได้มีสองชั้น,” บล็อกกาซีน ประชาไท (12 มีนาคม 2556), จาก https://blogazine.pub/blogs/cityatmouth/post/4024

[8] ดู อรทัย ก๊กผล, สารานุกรมการปกครองท้องถิ่นไทย เรื่อง กรุงเทพมหานคร, (กรุงเทพฯ: สถาบันพระปกเกล้า, 2547), หน้า 57-61.

[9] กฎหมายกรุงเทพมหานครล่าสุดได้ปรับเกณฑ์สัดส่วนจำนวนประชากรต่อจำนวน ส.ก.ใหม่ ซึ่งคาดหมายได้ว่าจะทำให้จำนวน ส.ก.ลดลงอย่างมาก เหลือแค่ประมาณ 38 คน จากเดิม 61 คน ดู “เลือกตั้งท้องถิ่น: แก้กฎหมายลดจำนวน ส.ก. ให้อำนาจเต็มมหาดไทยตรวจสอบคุณสมบัติ,” iLaw (7 พฤศจิกายน 2562), จาก https://ilaw.or.th/node/5467

[10] “เปิด 30 รายชื่อ “สมาชิกสภากรุงเทพสรรหา” ข้าราชการพรึ่บ!,” ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ (17 กันยายน 2557), จาก https://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1410939224

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save