fbpx
สเปนยุค COVID-19 และทางออกของวิกฤต กับ เนื้อแพร เล็กเฟื่องฟู และ ชานนทร์ เตชะสุนทรวัฒน์

สเปนยุค COVID-19 และทางออกของวิกฤต กับ เนื้อแพร เล็กเฟื่องฟู และ ชานนทร์ เตชะสุนทรวัฒน์

ปกป้อง จันวิทย์ สัมภาษณ์

ณรจญา ตัญจพัฒน์กุล เรียบเรียง

 

 

เมื่อสเปนต้องเผชิญความท้ายทางวิกฤต COVID-19 อย่างหนัก นอกไปจากจำนวนผู้ติดเชื้อพุ่งขึ้นสูงอย่างต่อเนื่องจนมียอดผู้ติดเชื้อมากเป็นอันดับสองของโลก แซงหน้าอิตาลีไปแล้ว ไวรัส COVID-19 ยังสั่นสะเทือนสเปนทั้งการเมือง เศรษฐกิจ และวิถีชีวิตผู้คน

ท่ามกลางวิกฤตที่ท้าทาย สเปนจะหาทางออกได้อย่างไร?

101 ชวน อ.เนื้อแพร เล็กเฟื่องฟู อดีตอาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปัจจุบันทำงานเป็นรองศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์อยู่ที่ Universidad Carlos III de Madrid และ ชานนทร์ เตชะสุนทรวัฒน์ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปัจจุบันศึกษาต่อปริญญาเอกอยู่ที่ Universidad Autònoma de Barcelona สำรวจสถานการณ์การระบาดในสเปนและทางออกจากวิกฤต รวมทั้งพูดคุยถึงงานวิจัยล่าสุดเรื่องความเหลื่อมล้ำจากปิดเมือง ในรายการ 101 One-On-One Ep.120: “สเปนในสมรภูมิ COVID-19” (ออกอากาศเมื่อวันที่ 14 เมษายน 2563)

 

เหตุที่ระบาดหนัก

 

ชานนทร์: ตามที่สำนักข่าวอธิบายทั่วไป สาเหตุที่สเปนมียอดติดเชื้อเป็นอันดับต้นๆ ของโลกมาจากสัดส่วนประชากรสูงอายุเป็นอันดับต้นๆ ในยุโรปเหมือนอย่างอิตาลี รวมถึงปัจจัยเชิงวัฒนธรรม เช่น คนยุโรปใต้เวลาทักทายจะใกล้ชิดกันเป็นพิเศษ มีไลฟ์สไตล์ที่เฮฮา สนุกสนาน แต่เหตุผลเหล่านี้เป็นเพียงคำอธิบายโดยทั่วไป ยังไม่มีงานวิจัยรองรับ

นอกจากนั้นยังมีคำอธิบายอื่นๆ อย่างกลุ่มคนที่ต่อว่ารัฐบาลก็จะบอกว่ารัฐบาลสั่งปิดเมืองช้าเกินไปทั้งๆ ที่เห็นตัวอย่างจากอิตาลีมาแล้ว หรือโทษสาธารณสุขที่ไม่ห้ามปรามไม่ให้คนออกไปชุมนุม เช่น งานวันสตรีสากลเมื่อวันที่ 8 มีนาคมที่ผ่านมา

เนื้อแพร: อีกสาเหตุหนึ่งคือความผิดพลาดของรัฐบาลที่สั่งชุดตรวจที่ไม่ได้มาตรฐานมากกว่า 600,000 ชุด ทำให้รัฐบาลตรวจคนติดเชื้อได้น้อยกว่าที่ตั้งเป้าไว้ คนที่อาจจะติดเชื้อก็ไม่มีโอกาสตรวจ

ชานนทร์: ล่าสุดเพิ่มมีงานวิจัยสั้นๆ ที่ออกมาอธิบายถึงความเป็นไปได้ว่า ประเทศที่ยอดผู้เสียชีวิตสูงอาจเกิดจากมีโครงสร้างครอบครัวที่ประชากรวัยทำงานอาศัยอยู่กับพ่อแม่ในสัดส่วนที่สูง ซึ่งสเปนกับอิตาลีก็อาจจะเข้าข่ายกรณีนี้เช่นกัน

 

เกาะติดชีวิตยุค COVID-19 ในสเปน

 

เนื้อแพร: พอประกาศปิดเมือง ผู้คนก็เริ่มวิตกกังวลเป็นธรรมดา แต่สเปนได้เห็นตัวอย่างจากอิตาลีที่ประกาศปิดเมืองล่วงหน้าไปก่อนแล้วว่าจะต้องตกอยู่ในสภาพประมาณไหน เช่นคนเริ่มกักตุนสินค้า อย่างไรก็ตามเมื่อปิดเมืองไปแล้วประมาณ 1 สัปดาห์ ภาวะกักตุนสินค้าไม่ได้รุนแรงมาก เพราะรัฐบาลยังอนุญาตให้ร้านขายอาหารสด หรือซูเปอร์มาร์เก็ตเปิดทำการได้

มาตรการปิดเมืองในสเปนนั้นนับไว้ว่าเข้มข้นมาก ปกติคือต้องอยู่บ้าน ห้ามออกไปข้างนอกยกเว้นว่ามีเหตุจำเป็นอย่างเช่น ออกไปซื้ออาหารหรือว่าพาสุนัขออกไปเดินเล่น

ก่อนหน้านี้รัฐบาลผ่อนปรนมาตรการลง ยอมอนุญาตให้คนออกไปทำงานข้างนอกได้บ้าง แต่พอปล่อยคนออกไปได้สักสองสัปดาห์ สถานการณ์ก็เริ่มกลับมาแย่ลง รัฐบาลจึงกลับไปใช้มาตรการเข้มข้นอีกครั้ง

ชานนทร์: ที่สเปนจะมีเจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจตราตามย่านต่างๆ ถ้าหากมีใครที่มีท่าทีเหมือนว่าออกมาเดินเล่นก็จะเข้าไปพูดคุย แต่ที่บาร์เซโลนาตำรวจไม่ได้ตรวจเข้มงวดมากเมื่อเทียบกับตำรวจในรัฐอื่นๆ ที่แจกใบสั่งให้คนที่ออกมาเดินเล่น

ส่วนมหาวิทยาลัย หลังจากรัฐบาลสั่งปิดเมืองแล้วก็ย้ายการเรียนการสอนไปออนไลน์หมด งานสัมมนาก็ย้ายไปจัดออนไลน์ อย่างแต่เดิมที่เชิญอาจารย์จากอเมริกามาบรรยายที่บาร์เซโลนาก็ยกเลิกเที่ยวบินแล้วย้ายไปจัดสัมมนาออนไลน์แทน

เนื้อแพร: ในช่วงระยะแรกที่มีข่าว COVID-19 เริ่มระบาดที่จีน คนต่างชาติชาวเอเชียจะกังวลมากกว่าคนสเปน แต่พอคนเอเชียเริ่มสวมหน้ากากอนามัย คนสเปนก็เริ่มกลัวว่าคนหน้าตาเอเชียจะเป็นพาหะนำโรค เพราะสเปนไม่มีวัฒนธรรมใส่หน้ากากป้องกันโรค ธุรกิจร้านของชำของคนสเปนเชื้อสายจีนที่อยู่ตามเมืองใหญ่ๆ กลายเป็นกลุ่มแรกๆ ที่ต้องเจอกับการเหยียดเชื้อชาติ แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นกลุ่มแรกเช่นกันที่รู้ว่าไวรัสอันตรายมากจากญาติที่อยู่ในจีน ธุรกิจต่างๆ ของคนเชื้อสายจีน ทั้งร้านอาหาร ร้านทำผม ร้านทำเล็บจึงปิดล่วงหน้าก่อนที่รัฐบาลจะประกาศปิดเมือง

ในหมู่เพื่อนต่างชาติ โดยเฉพาะคนเอเชียกันเองก็คุยกันว่า ไวรัสที่ทำให้คนจีนยอมปิดธุรกิจ เสียรายได้ แปลว่าต้องร้ายแรงมาก

ชานนทร์: ถึงแม้ว่าคนสเปนจะขึ้นชื่อว่ามีวิถีชีวิตที่รักการสังสรรค์ แต่เมื่อเกิดสถานการณ์การระบาด คนสเปนเองก็ยอมรับและไม่ได้ต่อต้านมาตรการ social distancing เท่าไร ถึงแม้ว่าเมื่อเทียบกับคนชาติอื่นๆ คนสเปนจะดูอึดอัดกับมาตรการปิดเมืองที่ออกไปไหนไม่ได้เป็นพิเศษ หลายคนก็หาวิธีการที่จะจัดการกับความเครียดของตัวเอง

เนื้อแพร: ส่วนเรื่องระบบสาธารณสุข โดยทั่วไปก่อนสเปนจะเผชิญวิกฤตเศรษฐกิจช่วงปี 2008 ไม่ว่าจะเป็นคนสเปนหรือคนต่างชาติที่มาเรียนหรือทำงานจะได้รับสิทธิรับบริการสาธารณสุขฟรีเมื่อลงทะเบียน แต่หลังจากวิกฤตเศรษฐกิจ ระบบสวัสดิการสุขภาพก็ยังฟื้นตัวได้ไม่เต็มที่

ชานนทร์: ที่สเปน รัฐบาลแคว้นมีอำนาจอิสระในการจัดการเรื่องสาธารณสุขในระดับหนึ่ง อย่างรัฐบาลแคว้นของบาร์เซโลนาก็รับมือด้วยการสร้างแอปพลิเคชั่นเป็นหน้าด่านตรวจคัดกรองเพื่อที่คนไม่ต้องไปออกันที่โรงพยาบาล แอปพลิเคชั่นจะส่งแบบสอบถามเช็คอาการเรื่อยๆ ทุกวัน หากว่าอาการรุนแรงมาก ก็จะมีคำแนะนำให้เรียกรถพยาบาลมารับไปโรงพยาบาล

 

 ‘บาซูก้าการคลัง’ ของสเปน?

 

เนื้อแพร: กรณีสเปน การหยิบมาตรการกระตุ้นทางการคลังระดับ ‘บาซูก้า’ ออกมาใช้เป็นเรื่องที่ค่อนข้างยาก เนื่องจากสเปนมีระดับหนี้สาธารณะที่สูงมากอยู่แล้วจากวิกฤตหนี้สาธารณะ อย่างประเทศไทยที่สามารถใช้บาซูก้าการคลังได้เพราะมีระดับหนี้สาธารณะค่อนข้างต่ำ

สเปนอยู่ภายใต้กรอบความร่วมมือของสหภาพยุโรป นโยบายการคลังก็จะมีทั้งมิติที่อยู่ในกรอบสหภาพยุโรปและภายในประเทศ สิ่งที่สเปนทำได้คือขอเงินกู้จากสหภาพยุโรปที่เรียกว่า EU bond ซึ่งรัฐบาลสเปนและรัฐบาลอิตาลีพยายามจะร่วมมือกันผลักดันให้ประเทศยุโรปเหนือเห็นด้วย ภาพการต่อรองจะคล้ายๆ กับตอนวิกฤตหนี้สาธารณะ

ตอนนี้มีการคุยกันว่า หากปล่อย EU bond ไม่ได้ จะปล่อยให้สเปนและอิตาลีออกจากยูโรโซนเลยจะดีกว่าหรือไม่ แต่ก็มีคนวิเคราะห์ต่อไปอีกว่าต่อให้ปล่อยสเปนกับอิตาลีออกจากยูโรโซน ทั้งสองประเทศก็ยังต้องใช้หนี้ด้วยเงินยูโรอยู่ดี ประเทศก็จะล้มแน่นอน

ส่วนนโยบายของรัฐบาลกลาง รัฐบาลก็พยายามจะช่วยเหลือธุรกิจ โดยอนุญาตให้ธุรกิจประกาศขอ layoff พนักงานชั่วคราว พนักงานก็จะได้รับเงินชดเชยช่วงว่างงาน และเมื่อจบวิกฤตก็ยังประกันอีกว่าพนักงานจะได้กลับมาทำงาน นอกจากนี้ก็มีมาตรการช่วงเหลือให้ธุรกิจอยู่ต่อไปได้ด้วย เช่น เลื่อนการจ่ายภาษี เลื่อนจ่ายชำระเงินกู้

ชานนทร์: ส่วนระดับรัฐบาลแคว้น รัฐบาลแคว้นคาตาลุนญาเองก็มีแพ็คเกจการคลังออกมากระตุ้นเศรษฐกิจประมาณหนึ่ง

 

หาทางออก หนทางรอดจากวิกฤต COVID-19

 

เนื้อแพร: ข้อถกเถียงว่าสเปนจะออกแบบกลยุทธ์เพื่อออกจากวิกฤต (Exit strategy) สร้างสมดุลระหว่างการควบคุมโรคและการฟื้นเศรษฐกิจอย่างไร จะคล้ายกับที่ทุกประเทศเถียงกัน คือเมื่อปิดเมืองนานเป็นเดือน ก็เกิดภาวะที่ต้องยอมแลกระหว่างสุขภาพกับความจำเป็นทางเศรษฐกิจ

โครงสร้างตลาดแรงงานสเปนมีภาวะว่างงานปกติอยู่ที่ 3% และมีแรงงานอีก 3,000,000 คนที่มาลงทะเบียนว่างงานเพิ่มเติมเมื่อเกิดวิกฤต รวมทั้งมีแรงงานนอกระบบจำนวนหนึ่ง ปัญหาอยู่ตรงที่ว่าจะใช้งบประมาณอุ้มคนอย่างไร เพราะสเปนอยู่ในยูโรโซน ซึ่งมี ‘กฎทอง’ (golden rule)[1] ขีดเพดานหนี้สาธารณะไว้ หากทุ่มงบประมาณช่วยเหลือคนมากเกินไป ก็จะขัดกับสนธิสัญญาของสหภาพยุโรป

เมื่อวันจันทร์ที่ 13 เมษายน 2020 รัฐบาลกลางสเปนเริ่มผ่อนปรนมาตรการปิดเมืองโดยมีมติ ครม. ให้คนทำงานไม่สำคัญ (non-essential workers) เริ่มออกมาทำงาน เพราะรัฐบาลต้องการปลดล็อกสถานการณ์ที่อยู่ในภาวะต้องเลือกระหว่างสุขภาพและเศรษฐกิจ หากปิดเมืองนานจะส่งผลต่อเศรษฐกิจอย่างหนัก

ก่อนประกาศ กลุ่มคนที่รัฐบาลอนุญาตให้ออกมาทำงานคือกลุ่มคนงานจำเป็น (essential workers) อย่างเช่นบุคลากรสายสุขภาพและแรงงานที่ผลิตอาหาร (ที่ไม่ใช่ร้านอาหาร) แต่หลังจากมีมติ ครม. รัฐบาลก็อนุญาตให้คนที่ทำงานเกี่ยวกับก่อสร้าง และโรงงานเพื่อเสริมกำลังการผลิต ส่วนสายการศึกษาหรือร้านค้าทั่วไป รัฐบาลก็บอกไว้ชัดเจนว่ายังต้องปิดต่อไปอีกระยะหนึ่ง

ชานนทร์: แต่ก็มีประเด็นเหมือนกันว่ารัฐบาลแคว้นไม่เห็นด้วยกับมติของรัฐบาลกลาง อย่างเช่นที่คาตาลุนญาเองก็ออกมาบอกว่าไม่เห็นด้วยกับนโยบายนี้ แต่รัฐบาลแคว้นก็ไม่มีอำนาจที่จะออกคำสั่งห้ามไม่ให้กฎหมายจากรัฐบาลกลางมีผลบังคับใช้ รัฐบาลแคว้นจึงใช้วิธีอื่นเพื่อบรรเทาผลกระทบจากมาตรการผ่อนปรน เช่น ตั้งจุดตรวจอุณหภูมิ แจกหน้ากากตามสถานีขนส่งสาธารณะ

 

การเมืองสเปนยุค COVID-19

 

ชานนทร์: ช่วงนี้สถานการณ์การเมืองในสเปนเห็นแนวโน้มที่ทุกฝ่ายพยายามจะเห็นพ้องไปในทิศทางเดียวกัน เห็นได้จากการเมืองระดับชาติว่า ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายอนุรักษนิยมหรือฝ่ายแรงงานต่างก็เห็นด้วยกับนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ต่างๆ

ส่วนการเมืองระดับภูมิภาค ยังไม่เห็นข่าวว่าฝ่ายที่ต้องการแยกตัวเป็นอิสระในแคว้นคาตาลุนญาออกมาเคลื่อนไหว และตอนนี้ก็ยังสรุปไม่ได้ว่าวิกฤตนี้จะทำให้แคว้นคาตาลุนญาจะยอมรับรัฐบาลกลางมากขึ้นหรือต่อต้านมากกว่าเดิม เพราะยังไม่เห็นผลของนโยบายรัฐบาลกลาง

สิ่งที่น่าจะเกิดขึ้นกับรัฐบาลปัจจุบันซึ่งนำโดยพรรคสังคมนิยมแรงงานคือ พรรคอาจจะได้รับความนิยมน้อยลง เพราะถูกทุกฝ่ายโจมตีอย่างหนักหน่วง ฝ่ายอนุรักษนิยมก็โจมตีว่าพรรคสังคมนิยมแรงงานจัดการวิกฤตได้ไม่เร็วพอ ฝ่ายรัฐบาลแคว้นต่างๆ ก็ขัดแย้งกับรัฐบาลกลางเรื่องนโยบายผ่อนปรนการปิดเมือง แต่ทั้งหมดทั้งมวลนี้ก็ยังคงไม่มีความตึงเครียดทางการเมืองปะทุออกมา ยังต้องรอดูผลของนโยบายผ่อนปรนการปิดเมืองว่าจะทำให้เกิดการระบาดระลอกสองหรือไม่เช่นกัน

 

ปิดเมือง เปิดมิติความเหลื่อมล้ำ

 

ล่าสุดอาจารย์เนื้อแพรเพิ่งเขียนงานวิจัยเรื่อง ผลกระทบจากมาตรการปิดเมืองสู้ COVID-19 ต่อตลาดแรงงานในกรณีประเทศไทย ใช้ข้อมูลการสำรวจภาวะการทำงานของประชากรมาวิเคราะห์

เนื้อแพร: สิ่งที่งานวิจัยพยายามจะทำก็คือ นำรายชื่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่รัฐบาลประกาศห้ามทำในแต่ละจังหวัดมาคิดว่าหากรัฐบาลประกาศห้ามเช่นนี้จะเกิดอะไรขึ้นในภาพรวมทั้งประเทศ จากนั้นจึงนำข้อมูลเหล่านี้มาประกบกับตัวเลขลักษณะการจ้างงานของไทย ซึ่งเป็นตัวเลขที่แสดงให้เห็นว่าคนทำงานประเภทไหนบ้าง

ผลที่ออกมาคือ มีผู้ได้รับผลกระทบประมาณ 5 ล้านคนในกรณีที่ปิดเมืองอย่างผ่อนปรน (ไม่ได้ห้ามออกจากบ้านแต่ต้องป้องกันโรค และมีบางกิจกรรมที่รัฐสั่งห้าม) แต่คำว่าได้รับผลกระทบในที่นี้ไม่ได้หมายความว่าตกงานเท่านั้น แต่ขึ้นอยู่กับเนื้อหาของงานด้วยว่าทำงานที่บ้านได้หรือไม่ ในจำนวน 5 ล้านคนนี้ไม่ใช่ทุกคนที่ได้รับผลกระทบหนัก จะมีอยู่ 2 ล้านคนที่เป็นกลุ่มเสี่ยง รัฐควรดูแลโดยตรง

ในกรณีนี้ สัดส่วนรายได้ของกลุ่มคนที่ไม่สามารถออกไปทำงานได้จะเสียไปประมาณ 0.1% ของ GDP หากปิดเมือง 1 เดือน

แต่ถ้าหากปิดเมืองในไทยโดยสมบูรณ์แบบอย่างในสเปนและอิตาลี (ห้ามออกนอกบ้านยกเว้นกรณีจำเป็น) คาดว่าผู้ที่ได้รับผลกระทบหนักจะพุ่งสูงถึง 7 ล้านคน และอีก 21 ล้านคนจะได้รับผลข้างเคียง แต่จะกระทบมากหรือน้อยก็ยังขึ้นอยู่กับการปรับพฤติกรรมการทำงานด้วย

กลุ่มคนที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุดคือ กลุ่มคนที่ทำอาชีพที่ไม่สามารถทำงานจากที่บ้านได้ เช่น ช่างตัดผม ช่างทำเล็บ พนักงานโรงงานที่ต้องทำงานกับเครื่องจักร หากประกาศปิดเมือง รายได้ของกลุ่มคนเหล่านี้จะเป็นศูนย์ทันที ส่วนคนอีกกลุ่มหนึ่งที่ได้รับผลกระทบเช่นกันคือคนทำงานพาร์ทไทม์ เพราะงานอยู่ในกิจการที่รัฐบาลสั่งปิด

ในมิติการศึกษา แต่จะเห็นแนวโน้มว่าการศึกษาและรายได้สูงจะสัมพันธ์โดยตรงกับงานที่เอื้อต่อการใช้เทคโนโลยีซึ่งเป็นงานที่นั่งทำอยู่บ้านได้ในภาวะที่โดนกักตัว ส่วนกลุ่มคนที่มีการศึกษาและรายได้ระดับล่างจะได้รับผลกระทบจากการปิดเมืองมากกว่า โดยเฉพาะกลุ่มค่าจ้างขั้นต่ำ (6,000-9,000 บาทต่อเดือน) เป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด เสี่ยงตกงานและเสี่ยงติดเชื้อ ซึ่งมีจำนวน 20% ของคนที่ได้รับผลกระทบ คิดเป็นคนประมาณเกือบ 1 ล้านคน

หากเชื้อยังระบาดอยู่ คนกลุ่มนี้คือกลุ่มคนที่เดือดร้อนนานที่สุด เพราะเป็นกลุ่มแรกที่หยุดงานและกลุ่มสุดท้ายที่จะได้กลับไปทำงาน

จากการปิดเมือง เราจะเห็นมิติของความเหลื่อมล้ำอย่างชัดเจน ขณะที่คนที่ทำงานอยู่บ้านได้ หรือทำงานที่ไหนก็ได้คือคนที่มีรายได้สูงอยู่แล้ว แต่คนที่ไม่สามารถทำงานอยู่บ้านได้ ต้องออกไปทำงานนอกบ้านคือกลุ่มคนที่มีรายได้ต่ำ ดังนั้นเราต้องคำนึงอยู่เสมอว่าการปิดเมืองมีราคาที่ต้องจ่าย

มองในมิติอื่นๆ ภาคส่วนที่จะได้รับผลกระทบจากการปิดเมืองมากที่สุดคือภาคบริการและงานบันเทิง ซึ่งภาคส่วนเหล่านี้มีผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย ในมิติเรื่องเพศ จะเห็นว่าผู้หญิงจะได้รับผลกระทบมากกว่าผู้ชาย แต่สัดส่วนต่างกันไม่มาก ส่วนมิติเรื่องอายุ พบว่ากลุ่มคนอายุประมาณ 26-35 จะได้รับผลกระทบสูงเพราะอยู่ในช่วงเก็บเงินเพื่อตั้งตัว

ตอนนี้รัฐบาลไทยเดินมาถูกทางหนึ่งประเด็นคือ เริ่มคิดที่จะช่วยเหลือคนที่ไม่มีงานทำ เพียงแต่ว่าการแจกเงินจำนวนเดียวกันโดยที่ไม่พิจารณาว่าคนกลุ่มไหนควรจะได้รับความช่วยเหลือก่อน อาจทำให้การจัดสรรไม่เป็นธรรมและได้ผลไม่เต็มที่

หากประเทศไทยเข้าสู่ระยะที่เชื้อระบาดรุนแรง เราคิดว่างานวิจัยที่ทำมาน่าจะช่วยในการมองหา exit strategy ซึ่งน่าจะปรับใช้ได้กับทุกๆ ประเทศทั่วโลก เพราะปัญหาที่เผชิญอยู่ค่อนข้างคล้ายกันอย่างที่กล่าวมา

 

วงการเศรษฐศาสตร์โลกกับโจทย์ COVID-19

 

ชานนทร์: งานวิจัยเกี่ยวกับ COVID-19 ที่ออกมาในช่วง 1-2 เดือนนี้นับว่ามีความสำคัญต่อผู้ดำเนินนโยบายมาก หลายรัฐบาลเวลาออกนโยบายจัดการวิกฤต เราไม่สามารถเปิดตำราเรียนได้ว่าจะต้องทำอย่างไรเพราะเป็นสถานการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

ในสาขาเศรษฐศาสตร์ เว็บไซต์อย่าง National Bureau of Economic Research (NBER) จะมีงานประเภทแบบจำลองทางทฤษฎีที่พยายามจะว่าผลจากวิกฤตครั้งนี้ต่างจากวิกฤตเศรษฐกิจอื่นที่โลกเคยเผชิญมาอย่างไร วิกฤตการเงิน 2008-2009 สาเหตุเกิดจากตลาดเงินตลาดหุ้นพังทลายก่อน แต่วิกฤต COVID-19 เกิดจากนโยบายปิดเมืองที่พังทลายฝั่งการผลิต ห้ามให้คนดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ สุดท้าย ผลย้อนกลับมาทางฝั่งอุปสงค์ของผู้บริโภค เพราะคนหยุดทำงาน รายได้น้อยลง ไม่มีกำลังซื้อ ผลส่งไปส่งกลับระหว่างอุปทานและอุปสงค์คือสาเหตุที่ทำให้วิกฤตครั้งนี้ยืดเยื้อยาวนานและรุนแรง

นอกจากนี้ กลุ่มอาจารย์ที่มหาวิทยาลัย Universitat Autònoma de Barcelona ที่ศึกษาเศรษฐศาสตร์มหภาคก็พยายามจะออกข้อเสนอเฉพาะทางสั้นๆ ว่า ในสถานการณ์ที่ไม่รู้ตัวเลขผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตที่แท้จริงจากปัญหา selection bias ทำให้หลายประเทศอาจจัดการผิดพลาด ดังนั้น รัฐบาลจำเป็นต้องตรวจหาเชื้ออย่างกว้างขวาง ควรจะมีแบบสอบถามเกี่ยวกับอาชีพ โครงสร้างครอบครัว และกิจกรรมนอกเวลางาน แนบถามคนที่ถูกตรวจหาเชื้อ พอมีข้อมูลเหล่านี้ในปริมาณมากขึ้น ก็จะทำให้เราเห็นภาพว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจแบบไหนที่มีความเสี่ยงต่อการติดโรค หรือจะผ่อนปรนตรงไหนได้บ้าง และออกนโยบายได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

ถอดบทเรียนจากโลกเศรษฐศาสตร์

 

เนื้อแพร: จากมุมมองของนักเศรษฐศาสตร์ เราสามารถใช้การอธิบายเชิงสถิติแบบ Difference-In-Differences analysis วิเคราะห์ความต่างนโยบายสาธารณสุขของแต่ละประเทศ ว่าจะให้ผลต่างกันอย่างไร เราสามารถดูว่าแนวโน้มของอัตราการติดเชื้อเมื่อเทียบกันนั้นจะเป็นอย่างไร แนวโน้มเศรษฐกิจจะเป็นอย่างไรต่อไป เราสามารถเรียนรู้ความสำเร็จและความผิดพลาดของนโยบายจากตรงนี้ได้หมด

ตอนนี้โลกกำลังกลายเป็นห้องทดลอง คือทุกประเทศตอนนี้ต่างคนต่างทำ เผชิญปัญหาคนละเวลาและมิติ แต่ถ้าหากเราข้อมูลเหล่านี้มาช่วยกันวิเคราะห์และศึกษา เมื่อเผชิญวิกฤตครั้งหน้าจะได้ปรับตัวอย่างรวดเร็ว

ตอนนี้ สิ่งที่รัฐบาลไทยควรทำคือต้องใช้ทรัพยากรที่มีอยู่จำกัดลดความทุกข์ของคนให้ได้มากที่สุด

เราต้องตั้งคำถามว่านโยบายลดความทุกข์ของคนได้จริงไหม หากยิงบาซูก้าไปแล้วผลของบาซูก้าไหลรินลงไปสู่คนส่วนล่างจริงก็อาจจะช่วยได้ แต่การยิงบาซูก้าไปที่ธุรกิจใหญ่ๆ แล้วหวังให้ไหลรินลงไปสู่คนระดับล่าง มันเกิดขึ้นได้จริงมากน้อยแค่ไหน เรามีหลักฐานจากการยิงบาซูก้าครั้งก่อนๆ ว่าตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ ดังนั้นต้องยิงบาซูก้าให้ตรงกลุ่มที่เสี่ยงตกงานและเสี่ยงติดเชื้อที่สุด เพื่อลดผลกระทบให้ได้มากที่สุด

ชานนทร์: ส่วนในมิติเศรษฐศาสตร์การเมืองและการพัฒนาประชาธิปไตย เราจะเห็นว่าแต่ละประเทศจะออกนโยบายจัดการ COVID-19 ที่แตกต่างกันตามพื้นฐาน อย่างเช่นจะเห็นว่าเกาหลีใต้ตรวจผู้ติดเชื้อได้เยอะเพราะมีพื้นฐานโครงสร้างทางวิทยาศาสตร์สูง ซึ่งสุดท้ายก็จะวนกลับไปที่ว่าศักยภาพของรัฐว่ารัฐลงทุนกับโครงสร้างในการจัดการวิกฤตขนาดไหน

ประเด็นที่เป็นข้อถกเถียงไปทั่วโลกว่า ระบบการปกครองแบบอำนาจนิยมหรือประชาธิปไตยแก้วิกฤตได้ดีกว่ากัน สุดท้ายแล้วคำถามอยู่ที่เรื่องศักยภาพของรัฐมากกว่า แต่ศักยภาพของรัฐก็สัมพันธ์กันกับระบอบการปกครองเช่นเดียวกัน มีงานวิจัยที่เสนอว่า หากอาศัยอยู่ในประเทศที่อำนาจของผู้นำไม่เสถียร ผู้นำจะรู้สึกว่าการลงทุนไปกับศักยภาพรัฐอาจจะไม่คุ้ม เพราะมองว่าสุดท้ายแล้วก็จะเสียอำนาจไป จึงไปลงทุนกับการทำให้นั่งเก้าอี้กุมอำนาจต่อไปได้นานๆ แทน

 

เชิงอรรถ

[1] กฎทอง (golden rule) คือเงื่อนไขตามสนธิสัญญาว่าด้วยความมีเสถียรภาพความร่วมมือและธรรมาภิบาลด้านเศรษฐกิจและการเงินของสหภาพยุโรป (Treaty on Stability, Coordination and Governance in the Economic and Monetary Union: TSCG) ที่ออกมาเมื่อปี 2012 หลังวิกฤตหนี้สาธารณะ โดยกำหนดให้งบประมาณต้องขาดดุลเชิงโครงสร้าง 0.5% ของ GDP หรือต่ำกว่าสำหรับประเทศที่มีหนี้สาธารณะเกิน 60% ของ GDP

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save