fbpx

ความเป็นชาติ อธิปไตย และความสัมพันธ์ระหว่างอำนาจของรัฐ: เมื่อทหารพม่ายิง ตชด. ไทย

สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทยทวีความรุนแรงขึ้นในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมา หลายจังหวัดถูกปรับเป็นพื้นที่สีแดงถึงแดงเข้มพร้อมมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดที่รัดกุมมากกว่าหลายเดือนที่ผ่านมา รัฐบาลเร่งแก้ไขปัญหา ขณะที่ความไว้วางใจของประชาชนต่อการจัดการกับวิกฤตของรัฐนั้นลดน้อยลงเรื่อยๆ ขณะเดียวกันประเทศไทยก็เผชิญปัญหาในระดับระหว่างประเทศด้วยเช่นเดียวกัน แม้ว่าปัญหาดังกล่าวจะไม่ถูกพูดถึงมากนัก แต่หากพิจารณาแล้วเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในกลางเดือนเมษายนย่อมเป็นหนึ่งในประเด็นทางความมั่นคงและผลประโยชน์ของชาติอย่างไม่ต้องสงสัย

22 เมษายน 2564 ณ บริเวณแนวชายแดนไทย-พม่า ริมแม่น้ำสาละวิน ทหารของรัฐบาลพม่าใช้ปืนกลยิงขู่เรือของประชาชนบ้านแม่สามแลบ จ.แม่ฮ่องสอน ยิงเรือตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) ที่กำลังปฏิบัติหน้าที่อยู่ในน่านน้ำฝั่งไทย

นับเป็นครั้งที่ 3 ที่มีเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นในรอบสัปดาห์ ซึ่งอาจนับเป็นสถานการณ์ความมั่นคงระหว่างประเทศได้ ทั้งการใช้อาวุธเพื่อข่มขู่และมุ่งร้ายต่อทรัพย์สินภายในพื้นที่ของประเทศไทย สร้างความหวาดกลัวแก่ประชาชนภายในดินแดน และปิดท้ายด้วยการยื่นข้อเสนอยุติการใช้ความรุนแรงแลกกับการส่งเสบียงอาหาร เหตุการณ์ดังกล่าวเป็นสถานการณ์ของภัยความมั่นคงระหว่างประเทศ แต่ทว่าการตอบโต้ของทางการไทยกลับเป็นการเรียกประชุมปรับความเข้าใจ ทั้งยังออกมาแถลงว่าเกิดจากความเข้าใจผิดเล็กน้อย ทั้งสองฝ่ายประสานความเข้าใจแล้ว และขอให้ประชาชนในพื้นที่ยินยอมและทำตามที่ทางการพม่าร้องขอ 

เหตุการณ์และวิธีการรับมือดังกล่าวของทางการไทยสร้างกระแสของความกังขาในหมู่ประชาชนชาวไทยเป็นอย่างมาก หลายคนแสดงความคิดเห็นว่าสิ่งที่พม่าทำคล้ายกับวิธีการขมขู่หรือไม่? แม้จะไร้ผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต แต่ประเทศไทยแสดงจุดยืนต่อเหตุการณ์นี้ในลักษณะที่ผ่อนปรนเกินไปหรือไม่? ประเด็นสำคัญที่สะท้อนออกมาผ่านสายตาและความคิดเห็นของประชาชน ได้แก่ 1) ความรู้สึกของการเป็นชาติภายในรัฐไทยเกิดความสั่นคลอนในความเชื่อมั่น และ 2) อำนาจอธิปไตยและความสัมพันธ์ระหว่างอำนาจรัฐภายในภูมิภาค 

วิกฤตการณ์ความเชื่อมั่นภายในชาติ

รัฐ ประกอบไปด้วยประชาชน พื้นแผ่นดิน รัฐบาล และอำนาจอธิปไตย’ คือฐานความคิดเบื้องต้นของการศึกษาเกี่ยวกับรัฐ จุดเริ่มต้นของรัฐสมัยใหม่เกิดขึ้นจาก ‘Treaties of Westphalia’ (สนธิสัญญาเวสต์ฟาเลีย) ในปี 1648 ทีมีสาระสำคัญมาจากประเด็นทางศาสนาและการปกครอง ผู้ปกครองของรัฐมีอำนาจสูงสุดเหนือดินแดนและองค์ประกอบอื่นภายในรัฐ ทั้งยอมรับการไม่แทรกแซงยังกิจการของรัฐอื่น จนเป็นที่มาของการให้ความสำคัญกับอำนาจอธิปไตยภายในประเทศ รัฐสมัยใหม่ในเวลาร้อยปีต่อมาจึงกลายมาเป็นการมีอำนาจสูงสุดในการบังคับใช้ของรัฐบาลต่อประชากรภายในแผ่นดินที่ได้มีการขีดเส้นแบ่งยอมรับจากสังคมโลก[1]

ในขณะที่ความเป็นชาติ มีความรู้สึกของประชาชนภายในสังคมเข้ามาเกี่ยวเป็นส่วนสำคัญ คือ ‘สิ่งประดิษฐ์ของความเชื่อมั่น ความจงรัก และความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน’[2] องค์ประกอบของชาติกลายเป็นสิ่งยึดมั่นของประชาชนที่มีเหมือนกัน จนความเหมือนนั้นประกอบสร้างประชาชนให้เป็นส่วนหนึ่งของสังคมเดียวกันโดยมีการยอมรับ (membership recognition) เป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินว่าใครเป็นส่วนหนึ่งหรือไม่เป็น 

เมื่อมีความรู้สึกของส่วนร่วมเข้ามาเกี่ยวข้องเป็นสำคัญ ความเป็นชาตินิยมจึงปรากฏขึ้นมามีบทบาทในสังคมเช่นเดียวกัน ชาตินิยมคือค่านิยมทางการเมืองที่เพิ่งสร้างขึ้นมาในยุคสมัยใหม่ ค่านิยมดังกล่าวกลายเป็นความชอบธรรมในการกระทำของรัฐ และกลายเป็นฐานกำลังในการเสริมสร้างหรือคงไว้ซึ่งอัตลักษณ์และอำนาจของชาตินั้นๆ กล่าวโดยย่อ ชาตินิยมคือขุมอำนาจและความชอบธรรมของรัฐชาติ โดยมีหลักการในการแบ่งประชาชนออกเป็นชาติต่างๆ ซึ่งจะอยู่ภายใต้ความเป็นรัฐอีกขั้นหนึ่ง และยังมีบทบาทสำคัญที่ผูกโยงกับศรัทธาและความเชื่อ (ชาตินิยมปฏิบัติตนคล้ายกับเป็นศาสนา) ว่าประชาชนมีหน้าที่และความรับผิดชอบในการรับใช้หรือทำเพื่อแผ่นดินบ้านเกิด[3] นอกจากนี้ค่านิยมยังเป็นความรู้สึก (sentiment) ที่ถูกส่งผ่านไปยังประชาชนแต่ละรุ่นผ่านการศึกษาและการปลูกฝังการเรียนรู้เป็นสำคัญ[4] ควบคู่กันไปกับวัฒนธรรมภายในสังคม  

จากการปลูกฝังความเป็นชาติของประชาชนทุกคนไม่ว่าจะในทางใด ส่งผลให้เกิดการซึมซับชาตินิยมในประชาชนทุกคน ขึ้นอยู่กับว่าบุคคลนั้นรู้สึกชาตินิยมมากหรือน้อย จะรู้ตัวหรือไม่รู้ตัว (consciously/ sub-consciously) ความเป็นชาติกลายเป็นสิ่งหนึ่งที่ประชาชนหลายคนยึดมั่น นี่คือภาษาของฉัน นี่คืออาหารของประเทศ นี่คืออากาศเมืองไทย นี่คือชุดที่พวกเรามักใส่ นี่คือมุกตลกที่คนไทยเท่านั้นจะเข้าใจ นี่คือเกรียนไทยที่ฝีปากออนไลน์ไม่แพ้ชาติใดในโลก ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ ตั้งแต่เรื่องเล็กอย่างการแสดงออกถึงการหัวเราะที่ใช้ในการส่งข้อความว่า ‘555+’ ซึ่งออกเสียงตรงกับการหัวเราะในภาษาไทย ไปจนถึงการประกาศศักดาด้วยเรือดำน้ำและยุทโธปกรณ์ย่อมเป็นความรู้สึกของชาติที่แต่ละคนมีไม่เท่ากัน เพราะมันทำให้เรานั้นรู้สึกต่างจากคนอื่น แต่ต่างจากคนอื่นเพื่อเป็นส่วนหนึ่งทางสังคมของกันและกัน จึงเกิดเป็นความหวงแหนในความต่างที่เหมือนกัน และสร้างความรู้สึกของความภาคภูมิใจของความเป็นชาติขึ้นมา

ฉะนั้นแล้ว หากจะบอกว่ารัฐชาติหนึ่งขับเคลื่อนได้ด้วยแรงใจ กำลัง และความเชื่อมั่นของประชาชนก็คงจะไม่ใช่ข้อผิดพลาดนัก ยิ่งในสภาพแวดล้อมของประเทศที่เป็นประชาธิปไตย เสียงของประชาชนและความเห็นของคนในสังคมย่อมมีความสำคัญเสมอ แล้วจะเกิดอะไรขึ้นหากความเชื่อมั่นในชาติของตนเองค่อยๆ จางหายไป ความรู้สึกของชาติที่ถูกปลูกฝังมาในตัวแต่ละบุคคลเป็นกระบวนการที่สำคัญของการสร้างชาติและเล่นกับความรู้สึกของส่วนร่วมในระดับที่ค่อนข้างรุนแรง ฉะนั้นเมื่อประชาชนที่ได้รับการปลูกฝังดังกล่าวมามากกว่าครึ่งค่อนชีวิตรู้สึกว่าเกียรติภูมิของประเทศนั้นลดลงหรือหายไป ความรู้สึกและความเชื่อมั่นในประเทศย่อมยิ่งกว่าแค่หมดสิ้น แต่อาจจะเกิดเหตุการณ์ในลักษณะของการ backfire อาทิปรากฏการณ์ของกลุ่ม ‘ย้ายประเทศกันเถอะ’ (เปลี่ยนชื่อเป็น ‘โยกย้าย มาส่ายสะโพกโยกย้าย’) เมื่อประชาชนรู้สึกว่าสิ่งที่เขายึดมั่นและเชื่อมาทั้งชีวิตนั้นไม่มีจริงหรือกลายเป็นสิ่งไร้ค่า เกิดการสูญสิ้นซึ่งความเชื่อถือในรัฐชาติของตัวเอง (ไม่ว่าจะเพราะหมดหวังหรือมีโอกาสในชีวิตที่ดีกว่าก็ตาม) พวกเขาย่อมไม่ลังเลที่จะสละรัฐชาตินั้นทิ้งอย่างไร้ความรู้สึกใดที่เคยมีกับแผ่นดินบ้านเกิด  

จากแนวคิดที่อธิบายมาทั้งหมด เห็นได้ว่าประเทศไทยกำลังเดินหน้าสู่วิกฤตของความเชื่อมั่น ระลอกที่หนึ่งย่อมเกิดขึ้นจากการบริหารวิกฤตการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งส่งผลให้มียอดผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตเพิ่มมากขึ้นในแต่ละวัน ทั้งนี้ยังรวมถึงประเด็นของการนำเข้าวัคซีน ประชาชนเห็นและเกิดการเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ภายในโลก เราสามารถพูดได้ว่าประชาชนเล็งเห็นถึงสองประเด็นคือ หนึ่ง ศักยภาพของรัฐในการจัดการ และสอง รัฐชาติไม่มีความรักและใส่ใจให้ประชาชนเหมือนที่ประชาชนรู้สึกต่อรัฐ ฉะนั้นแล้วความเชื่อมั่นในประเทศไทยจึงลดลงเป็นอย่างมาก สิ่งหนึ่งที่จะต้องเน้นย้ำคือการมองรัฐของประชาชนในปัจจุบันนี้คือมองผ่านการบริหารด้วยรัฐบาลหนึ่ง แต่ไม่ใช่ว่ารัฐนั้นจะเท่ากับรัฐบาลเสมอไป 

ระลอกที่สองคือเหตุการณ์ความมั่นคงระหว่างประเทศของการถูกทหารพม่ายิงขู่ที่ชายแดน เกิดเป็นคำถามจากประชาชนหลังรับรู้ข่าวนี้ว่า อธิปไตยของประเทศไทยกลายเป็นของเมียนมาร์ไปแล้วหรือ? ซึ่งมีอยู่ 2 ประเด็นหลักที่ทำให้หลายคนมีความคิดเห็นเช่นนั้น ได้แก่

1. ทหารพม่ามีประกาศแจ้งยื่นคำขาดให้เรือทุกลำต้องติดธงไทยหัวท้ายไม่ว่าจะอยู่จุดไหน แม้กระทั่งในน่านน้ำไทยเอง ทั้งยังจะต้องแวะจอดให้ทำการตรวจค้น (ยกเว้นเรือของเจ้าหน้าที่ไทย) จนหลายคนเกิดคำถามว่าการแจ้งดังกล่าวคล้ายกับคำสั่งหรือไม่? การบังคับที่ล่วงเกินเข้ามาถึงกระทั่งในอาณาเขตของประเทศไทยเป็นการกระทำที่สมควรหรือไม่? แน่นอนว่าการติดธงเพื่อความปลอดภัยไว้ก่อนเป็นเรื่องที่ควรจะกระทำและสนับสนุนให้ประชาชนไทยหลีกเลี่ยงการปะทะในสถานการณ์ที่มีความเปราะบางนี้ ทว่ากระบวนการแจ้งคำสั่งของพม่านั้น ทางการไทยมีวิธีจัดการอย่างไรนอกจากยินยอมทำตาม แม้ว่าสุดท้ายเราจะเห็นด้วยกับจุดประสงค์ในการแยกสัญชาติเรือ ทว่าทำไมประเทศไทยถึงไม่มีบทบาทในการเข้าไปเจรจามากว่านี้ ทำได้เพียงแต่ตั้งรับ จนดูเหมือนว่าทางการไทยยินยอมในการบังคับของพม่า

การปล่อยให้ประเทศอื่นสามารถออกคำสั่งในแผ่นดินของตนเอง ทั้งยังมอบสิทธิในการตรวจสอบเรือโดยที่ไม่มีการเจรจาหรือโต้แย้ง อาจกล่าวได้ว่าสถานภาพทางอำนาจระหว่างประเทศของไทยนั้นเป็นรองเพื่อนบ้านเสียด้วยซ้ำ

2. หลังเหตุการณ์ ทางการไทยได้มีการประชุมพูดคุยกับทหารพม่า โดยใช้คำว่า ‘ประสานความเข้าใจ’ จากนั้นจึงได้ข้อสรุปว่าเรือไทยสามารถดำเนินการแล่นได้ปกติ จะไม่มีการยิงอีกต่อไป แต่มีข้อแม้ว่าจะต้องส่งเสบียงให้ทหารพม่า ข้อแม้ดังกล่าวเป็นประเด็นสำคัญอย่างมากในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เหมือนการทดสอบว่าประเทศไทยยอมแค่ไหน พม่าต่อรองและมีอำนาจเหนือกว่าได้มากแค่ไหน

ดูจากรูปการณ์แล้วเห็นการผ่อนปรนและยอมว่าตามเลยกับที่พม่าเรียกร้อง จึงไม่น่าแปลกใจหากเหตุการณ์จะถูกสะท้อนออกมาในแง่ที่ว่าประเทศไทยไม่ยืนหยัดแม้แต่จะต่อรอง ไม่ใช่ว่าไม่มีความสามารถ แต่เพราะเหตุใดจึงได้เลือกตัดสินใจยินยอมกับข้อแม้ของพม่าที่รุกล้ำเข้ามาในอธิปไตยและอำนาจของทางการไทยอย่างชัดเจน ผลลัพธ์ที่ออกมาจึงเป็นความรู้สึกของหลายคนที่มองว่าประเทศไทยกลายเป็นเมืองรองยอมพม่า

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงวิกฤตการณ์ปัจจุบันนี้ส่งผลให้เกิดสภาวะคล้าย red flag สำหรับความเป็นรัฐชาติของไทย กล่าวคือประชาชนกังขาต่อศักยภาพและสูญเสียความมั่นใจว่าแม้แต่ชายแดน แผ่นดิน และพื้นที่ของประเทศตอนนี้ก็ไม่อาจจะปกป้องได้ แล้วประชาชนในประเทศนี้จะหาความมั่นคงอะไรได้ นี่คือคำถามที่เพิ่มมากยิ่งขึ้นและเป็นอันตรายต่อความเป็นรัฐชาติอย่างไม่ต้องสงสัย เมื่อประชาชนหมดความเชื่อมั่น ประเทศจะเดินหน้าอย่างมีคุณภาพต่อไปได้อย่างไร 

ความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างรัฐ 

เช่นเดียวกันกับหลักการความเป็นรัฐ ในเบื้องต้นความสัมพันธ์ระหว่างประเทศภายใต้สังคมโลกนั้นดำเนินบนโครงสร้างของความเป็นอนาธิปไตย กล่าวคือไม่มีอำนาจปกครองทางการเมืองสูงสุด ไม่มีประเทศใดมีอำนาจอธิปไตยเหนือประเทศใด ทุกประเทศล้วนแต่มีอธิปไตยเป็นของตนเอง แต่ก็ใช่ว่าทุกประเทศจะเท่าเทียมหรือเสมอซึ่งกันและกัน ไม่ว่าจะเป็นขนาดในเชิงกายภาพหรือขนาดในเชิงขุมอำนาจที่สะสมมา ฉะนั้นนอกจากศักยภาพทางกายภาพแล้ว ประเทศหนึ่งจะมีอำนาจต่อรองหรือไม่ ขึ้นอยู่กับบทบาทและจุดยืนภายในความสัมพันธ์ระดับกลุ่ม ไม่ว่าจะภูมิภาคหรือนานาชาติ จึงเห็นหลายประเทศที่แข่งขันเป็นที่หนึ่งในด้านต่างๆ พยายามแสดงบทบาทและศักยภาพของตัวเอง เพราะเมื่อมีแสงไฟมาจับจ้องและสามารถสถาปนาบทบาทของตัวเองบนเวทีโลกได้ เมื่อนั้นอำนาจในการต่อรองก็จะเพิ่มพูนจนสามารถหาผลประโยชน์หรือป้องกันผลประโยชน์ของประเทศตัวเองได้ ภาพลักษณ์ของประเทศและการยอมรับของต่างชาติจึงมีความสำคัญในระดับหนึ่ง 

สำหรับประเทศไทย ความมั่นคงภายในประเทศเผชิญหน้ากับความสั่นคลอน ประเด็นระหว่างประเทศเองก็เผชิญกับความเสี่ยง สถานะทางอำนาจของไทยภายในภูมิภาคถูกสะท้อนผ่านเหตุการณ์ครั้งนี้ การกระทำที่คล้ายกับยอมว่าตามพม่านั้น เป็นไปได้หรือไม่ว่าจะทำให้การทูตของไทยในอนาคตและบทบาทของไทยต่อเวทีภูมิภาคถูกลดความเชื่อถือ เช่น ตำแหน่งของการเป็นคนกลางและผู้เจรจาภายในอาเซียนจะถูกมองว่าเหมาะสมหรือไม่ เพราะเพียงแค่เรื่องความมั่นคงภายในประเทศยังไม่มีความหนักแน่นหรือไร้ซึ่งทิศทางตอบโต้ที่สมควร

บทความนี้ไม่ได้ต้องการจะเห็นการเกิดสงครามหรือการปะทะกัน แต่เห็นว่าทางการไทยสามารถมีบทบาทต่อประเด็นดังกล่าวมากกว่าแค่การประสานความเข้าใจและยินยอม และเล็งเห็นว่าประเทศไทยสามารถพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส นำเหตุการณ์ดังกล่าวมามีอำนาจต่อรอง (leverage) มากยิ่งขึ้นภายในอนาคตหากสามารถเปิดโต๊ะการเจรจา ท้วงถาม และเรียกร้องได้ โดยมีข้อเสนอดังต่อไปนี้

1. เหตุการณ์ดังกล่าวมีน้ำหนักมากเพียงพอที่ไทยจะแสดงท่าทีไม่พอใจและไม่ทนต่อการใช้ความรุนแรงดังกล่าว การล้ำเข้ามาภายในอาณาเขตของไทยคือจุดสำคัญในการแสดงให้นานาชาติเห็นเมื่อถามถึงความชอบธรรมในการแสดงท่าทีไม่พอใจต่อพม่า แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่สมควรดึงนานาชาติเข้ามายุ่งเกี่ยวจนเกินไป สิ่งที่ต้องการจึงเป็นเพียงการจับตาดูของคนนอกเพื่อเพิ่มความกดดันต่อรัฐบาลพม่าและเพิ่มอำนาจในการต่อรองของไทย

2. การรับรู้ของพม่า เนื่องจากการเป็นพันธมิตรซึ่งกันและกัน และจากความช่วยเหลือในประเด็นปัญหาภายในประเทศของพม่าที่ผ่านมา หากประเทศไทยจะแสดงท่าทีขึงขังหรือไม่พอต่อการกระทำเช่นนี้ก็อาจจะถือเป็นกลยุทธ์ในการต่อรองได้ พม่าต้องการการยอมรับอย่างเป็นทางการ และประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่เหมือนจะให้สิ่งที่ต้องการนี้ และถึงแม้จะไม่ได้ผล รัฐบาลพม่าไม่ยอมผ่อนปรนให้กับท่าทีที่แสดงจุดยืนของไทย เช่นนั้นก็คงไม่ลงเอ่ยถึงขั้นความขัดแย้งเพราะความสัมพันธ์แบบพึ่งพาซึ่งกันและกันแต่เดิมยังคงค้ำจุน ทั้งยังมีสายตาจากนานาชาติที่จ้องมอง 

3. ประเทศไทยเองที่ถูกหาว่าสนับสนุนความรุนแรงในพม่าจากนานาชาติก็อาจจะได้รับการบรรเทาลงตาม ประเทศไทยสามารถนำประเด็นเรื่องการส่งความช่วยเหลือไปยังผู้ลี้ภัย ผู้พลัดถิ่นที่เผชิญกับความยากลำบากในสมัยนี้เพื่อจะได้คะแนนความนิยมและยอมรับจากต่างชาติมากยิ่งขึ้น แม้ว่าในความเป็นจริงแล้วไทยจะสนับสนุนจริงหรือทำจริงหรือไม่ก็ตาม ทว่าการจะชูประเด็นเรื่องดังกล่าวต้องดำเนินอย่างระมัดระวังเพราะประเด็นที่เกี่ยวข้องกับผู้ลี้ภัยมีนัยสำคัญทางการเมืองและอธิปไตยระหว่างรัฐ

กลุ่มผู้ลี้ภัยจากสถานการณ์ภายในพม่าข้ามมาประเทศไทยส่วนใหญ่คือชาวกะเหรี่ยง ความขัดแย้งระหว่างชาวกะเหรี่ยงและรัฐพม่าสามารถย้อนกลับไปสมัยที่ดินแดนยังถูกปกครองโดยอังกฤษ ซึ่งตลอดเวลาที่ผ่านมาชาวกะเหรี่ยงต้องการตั้งรัฐอิสระของตนเองจนเกิดการปะทะกับรัฐพม่าเป็นครั้งคราว ทำให้มีการจัดตั้งกองกำลัง KNU (สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง) ซึ่งถือได้ว่าเป็นภัยทางความมั่นคงภายในรัฐจนเกิดเป็นความรุนแรงและความพยายามจะกวาดล้างที่ส่งผลให้มีผู้ลี้ภัยมายังประเทศไทยเป็นจำนวนมาก ความขัดแย้งระหว่างทั้งสองดำเนินมาเป็นเวลานาน และสามารถกล่าวได้ว่าปัญหาของทั้งสองส่วนส่งผลให้เกิดเหตุการณ์แม่น้ำสาละวินระหว่างประเทศไทยและพม่าเสียด้วยซ้ำ

กะเหรี่ยง ไทย พม่า

ความผันผวนภายในประเทศพม่าในปี 2021 ส่งผลให้ความขัดแย้งระหว่างทางการและกองกำลังสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยงทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม เมื่อกองกำลังประกาศที่จะต่อต้านกับรัฐบาลใหม่ของพม่า เกิดการโจมตีฐานทัพในบริเวณใกล้ชายแดนไทยส่งผลให้ทางการพม่าตอบโต้เปิดปฏิบัติการโจมตีทางอากาศที่ฐานของชาวกะเหรี่ยง ชาวกะเหรี่ยงจำนวนมากเดินทางอพยพหนีความรุนแรงเข้ามาในฝั่งไทย หนึ่งในเหตุการณ์ที่สำคัญได้แก่ความพยายามที่จะสกัดการขนส่งเสบียงอาหารให้แก่ทหารพม่าบริเวณแม่น้ำสาละวิน ซึ่งเป็นที่มาของข้อแม้ในการส่งเสบียงให้แก่ทหารพม่าแทนการหยุดยิง เช่นเดียวกันการปะทะกันระหว่างทั้งสอง ไม่ว่าจะเป็นการซุ่มยิงหรือการวางระเบิดที่ทำให้มีนายทหารเสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้ประเทศไทยเข้าไปรับผลกระทบในทางอ้อมดังที่ปรากฏตามหน้าสื่อ

เรื่องภายในประเทศไม่ใช่บทบาทที่ประเทศไทยควรเข้าไปยุ่งเกี่ยวเพราะอาจจะส่งผลเสียให้มากกว่า และเช่นเดียวกันภายในภูมิภาคก็มีสิ่งที่เรียกว่า ‘ASEAN way’ หลักการไม่แทรกแซงของประชาคมอาเซียน (ASEAN’s principle of non-interference)โดยเฉพาะด้านสังคมการเมืองของสมาชิกอาเซียน แต่ในขณะเดียวกัน หลักมนุษยธรรมเองก็ไม่ใช่สิ่งที่ประเทศไทยจะปฏิเสธได้ (หากต้องการจะเป็นหนึ่งในพลเมืองโลกตัวอย่าง) เหตุการณ์ความรุนแรงภายในประเทศพม่ายังเป็นที่จับตามอง บริเวณรอบชายแดนและหัวข้อเรื่องผู้ลี้ภัยจึงยังเป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่ทางการไทยต้องพิจารณาอย่างถี่ถ้วน ดังที่ได้กล่าวว่าในแง่หนึ่ง เนื่องจากความสัมพันธ์อันดีกับพม่าทำให้ไทยรู้สึกกระอักกระอ่วนกับการรับผู้ลี้ภัยที่ซึ่งทางการพม่ามองว่าเป็นภัยความมั่นคงของประเทศ แต่ในขณะเดียวกันสถานภาพของการเป็นรัฐหนึ่งในระบบโลกที่เน้นค่านิยมของมนุษยธรรม ประเทศไทยจึงไม่อาจไม่สนใจหรือแสร้งทำเป็นไม่สนใจ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาจึงเห็นถึงการแบ่งรับแบ่งสู้ การเปิดรับผู้ลี้ภัยแต่ในขณะเดียวกันก็เร่งหาทางให้ผู้ลี้ภัยสามารถเดินทางกลับไปยังถิ่นฐานได้ จนเกิดเป็นกระแสข่าวลือว่าทางการไทยผลักผู้ลี้ภัยออกนอกประเทศหรือส่งกลับไปทั้งๆ ที่พื้นที่นั้นยังมีความเสี่ยง 

อดีตที่ผ่านมา ผู้ลี้ภัยนอกจากจะถูกมองว่าเป็นภาระและเป็นปัญหาในการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างประเทศซึ่งเป็นสิ่งที่เห็นได้ในเชิงประจักษ์แล้ว ยังมีเรื่องของความรู้สึกเป็นชาติที่ให้ความชอบธรรมในการเพิกเฉย ‘เพราะกะเหรี่ยงไม่ใช่คนไทย’ แม้จะมีการช่วยเหลือแต่เป็นการช่วยเหลือด้วยมุมมองของคนนอก กะเหรี่ยงไม่ได้ถูกรวมเป็นคนในชาติไทย การดำเนินการของรัฐต่อผู้ลี้ภัยชาวกะเหรี่ยงร่วมไปถึงมุมมองของประชาชนในชาติที่อยากจะช่วยเหลือผู้ลี้ภัยจึงเป็นความสงสารและเห็นใจเสียส่วนใหญ่ หากแต่ไม่ใช่ส่วนหนึ่งของสังคมไทยและย่อมไม่ใช่ปัญหา [สำคัญ] ของประเทศ อาทิเช่น หากประชาชนสามารถเลือกให้รัฐบาลจัดการกับปัญหา ณ ปัจจุบันได้ระหว่างวัคซีนเพื่อป้องกันเชื้อโควิดของคนไทยภายในประเทศกับประเด็นเรื่องผู้ลี้ภัย การจัดลำดับความสำคัญคงเป็นไปในทิศทางของผลประโยชน์ภายในชาติเป็นหลัก 

ประเด็นเรื่องของผู้ลี้ภัยจึงนำมาสู่ประเด็นของ Human security/interest vs. National security/interest ในขณะที่บางคนตอบว่าการช่วยเหลือมนุษย์คือเรื่องจำเป็นสำคัญอันดับหนึ่ง ก็จะมีอีกฝ่ายที่มองว่ามันเทียบไม่ได้กับความมั่นคงและเสถียรภาพของชาติ และอาจจะร่วมไปถึงเรื่องการเมืองความสัมพันธ์ระหว่างรัฐอย่างไม่ต้องสงสัย แล้วประเทศไทยควรจะเลือกอย่างไรเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของทุกฝ่ายและเพื่อรักษาผลประโยชน์ของประเทศให้ได้มากที่สุด

หากไทยมีอำนาจเหนือกว่าในการต่อรอง การเปิดรับผู้ลี้ภัยโดยไม่ต้องรู้สึกเกรงกลัวว่าจะเกิดความรู้สึกกินใจกับพม่าก็สามารถทำได้ ขณะเดียวกันก็สามารถเพิ่มความนิยมในแวดวงนานาชาติ ลดภาพลักษณ์ของการใช้ความรุนแรงในปีที่ผ่านมา แม้จะไม่มากแต่ก็ไม่น้อยจนสามารถเกิดการ call out ของประเทศประชาธิปไตยอื่น

หากแต่การรับผู้ลี้ภัยเองก็ไม่ใช่กระบวนการที่ทำได้อย่างง่ายโดยไร้ปัญหา ปฏิเสธไม่ได้ว่าความพร้อมของประเทศไทยในการรองรับจำนวนผู้ลี้ภัยมีจำกัด ฉะนั้นประเทศไทยควรจะหันไปหาประชาคมอาเซียน แม้จะมีหลักการไม่แทรกแซงเรื่องภายในประเทศเป็นหลักปฏิบัติสำคัญ แต่สถานการณ์ที่เกิดขึ้น ประเทศไทยสามารถอธิบายได้ว่านี่คือเรื่องของหลักมนุษยธรรมเบื้องต้นที่ทุกประเทศพึงมี ไม่ใช่การเข้าไปแทรกแซงการเมืองของประเทศอื่น แต่เป็นการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ เรียกร้องให้ประเทศสมาชิกหันมาให้ความช่วยเหลือ หรือใช้กลไกของนานาชาติกดดันให้อาเซียนเข้ามามีบทบาทร่วมกันในประเด็นเรื่องของผู้ลี้ภัย

แม้ว่าในอดีตที่ผ่านมา จะพิสูจน์ให้เห็นจากกรณีของโรฮิงญาว่าไม่ได้เป็นไปอย่างราบรื่น ทว่าย่อมดีกว่าการที่ประเทศไทยจะแบกรับประเด็นผู้ลี้ภัยไว้เพียงประเทศเดียว หรือถึงแม้จะไม่สำเร็จในท้ายที่สุด แต่ความพยายามและการแสดงออกด้วยการดึงอาเซียนเข้ามามีบทบาทสำคัญเพื่อลดภาระของประเทศย่อมเพิ่มบทบาทสำคัญภายในภูมิภาคตามหลักค่านิยมเสรีประชาธิปไตยของนานาชาติ

ท้ายที่สุด แม้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอาจจะไม่ได้เป็นกระแสที่ใหญ่โตมากนัก แต่สิ่งที่เกิดขึ้นก็สามารถสะท้อนหลายสิ่งในสังคมปัจจุบันที่กำลังเผชิญหน้ากับวิกฤตที่หลากหลาย ความเชื่อมั่นภายในประเทศที่กำลังถดถอยยิ่งเมื่อมีเหตุการณ์ความมั่นคงระหว่างประเทศเช่นนี้เกิดขึ้นยิ่งเป็นข้อกังขาของประชาชน ในบางกรณีก็กลายเป็นข้อบั่นทอนความเชื่อมั่นต่อรัฐยิ่งกว่าเดิมว่าทำไมประเทศไทยถึงมีท่าทีที่โอนอ่อนและประนีประนอม

แน่นอนว่าสงครามหรือความขัดแย้งระหว่างรัฐไม่ใช่สิ่งที่ใครประสงค์ให้เกิด แต่รัฐเองก็ต้องต้องหาเหตุผลและตอบข้อกังขาของประชาชนให้ได้ว่าเหตุใดถึงตัดสินใจดำเนินความสัมพันธ์ไปในแง่นั้น เพื่อที่อย่างน้อยการออกมาอธิบายก็จะสามารถรักษาความเชื่อมั่น เชื่อใจ และความรู้สึกถึงเกียรติของประเทศไม่ให้ถูกลดทอน เช่นเดียวกันกับสถานการณ์ภายนอกประเทศที่จะต้องคงรักษาไว้ซึ่งผลประโยชน์ของประเทศชาติเป็นหลัก น่านน้ำสากลต้องไม่มีการปฏิบัติการทางทหารที่เป็นภัยต่อผู้อื่น การแสดงถึงจุดยืนอย่างเข้มแข็งว่าอธิปไตยไม่ใช่สิ่งที่จะมาละเมิดได้โดยง่าย แม้จะมีความสัมพันธ์อันดีต่อกันคือจุดยืนของประเทศไทยที่ควรแสดงให้เห็น นั่นคือการคงไว้ซึ่งภาพลักษณ์และบทบาทภายในภูมิภาค ทั้งนี้ยังสามารถพลิกโต๊ะนำเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมามีอำนาจในการต่อรอง เช่นประเด็นการกดดันในเรื่องของผู้ลี้ภัยทีก็สามารถที่จะลดทอนความเสี่ยงที่ประเทศไทยจะต้องแบกรับได้ เป็นต้น

เหตุการณ์พม่ายิงเข้ามายังฝั่งน่านน้ำของไทยจึงเป็นทั้งภาพสะท้อนวิกฤต จุดชนวน และโอกาสทางการทูตที่สำคัญ


[1] Roland Axtmann (2004), The State of State: The Model of the Modern State and Its Contemporary Transformation, International Political Science Review, Vol.23, No.3 (July 2004), 260

[2] Ernest Gellner (1983), Nations and Nationalism, Oxford: Blackwell, 7 

[3] ดูเพิ่มเติม Elie Kedourie (1960), Nationalism, (London: Hutchinson) 

[4] ดูเพิ่มเติม Ernest Gellner (1983), Nations and Nationalism, (Oxford: Blackwell)

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save