fbpx
โอ้ดวงจำปา

โอ้ดวงจำปา

แมท ช่างสุพรรณ เรื่อง

 

 

ในช่วงฤดูใบไม้ร่วงของปี 2017 นิตยสาร Granta ซึ่งเป็นนิตยสารทางวรรณกรรมรายฤดูกาลที่มีประเด็นหลักในการตีพิมพ์แต่ละเล่ม ได้วางจำหน่ายเล่มที่ 141 ซึ่งมีประเด็นหลักคือประเทศแคนาดา

ในบทนำของเล่มที่เขียนโดยหนึ่งในบรรณาธิการรับเชิญ แมเดอลีน เถียน (Madeleine Thien) เจ้าของผลงาน Do Not Say We Have Nothing อันโด่งดัง ได้ระบุถึงกระบวนการทำงานในเล่มไว้ว่า คณะทำงานใช้วิธีประกาศรับต้นฉบับออกไปให้แพร่หลายที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยแนวคิดหลักที่ใช้กำหนดทิศทาง คือ  อะไรที่กำลังอยู่ในจินตนาการของที่นี่ ในตอนนี้? (What is being imagined here, now?)

ภายในระยะเวลาไม่นาน ต้นฉบับทั้งภาษาอังกฤษและภาษาฝรั่งเศสก็หลั่งไหลเข้ามานับพันชิ้น หลังจากพิจารณาคัดเลือก มีผลงานได้รับการตีพิมพ์ทั้งหมด 28 ชิ้น และหนึ่งในผู้ที่ผ่านการคัดเลือกในครั้งนี้ ชื่อสุวันคำ ทำมะวงสา (Souvankham Thammavongsa)

 

หนองคาย ปี 1978

เด็กผู้หญิงคนหนึ่งได้ลืมตาดูโลกในค่ายอพยพของผู้ลี้ภัยจากสงครามเวียดนาม พ่อแม่ของเธอต่อแพไม้ไผ่ข้ามแม่น้ำโขงมาขณะที่เธอยังอยู่ในท้อง แม้ว่าจะเกิดในประเทศไทย แต่เนื่องจากสถานที่เกิดคือค่ายผู้อพยพ เธอจึงไม่ได้รับสัญชาติไทย และสถานะของเธอในตอนนั้นคือผู้ไร้รัฐไร้สัญชาติ

ต่อมาไม่นาน ครอบครัวของเธอได้รับการอุปถัมภ์จากชาวแคนาดาให้ได้โยกย้ายไปตั้งรกรากใหม่ เธอจึงได้สถานะใหม่เป็นชาวแคนาดาเชื้อสายลาว แต่จนกระทั่งบัดนี้ เธอยังไม่เคยไปที่ประเทศลาวเลยสักครั้ง

 

How to Pronounce Knife คือชื่อเรื่องสั้นที่ได้รับการคัดเลือกให้ตีพิมพ์ในนิตยสาร Granta และต่อมาชื่อนี้ก็ถูกใช้เป็นชื่อหนังสือรวมเรื่องสั้นเล่มแรกของเธอ ก่อนหน้านี้ สุวันคำเขียนงานในรูปแบบของบทกวีเป็นหลัก เธอเคยมีบทกวีรวมเล่มมาแล้ว 4 เล่มคือ Small Arguments (2003), Found (2007), Light (2013) และ Cluster (2019)

จากประวัติศาสตร์ของครอบครัวและประสบการณ์ของตัวเธอเอง สุวันคำได้พาผู้อ่านเข้าไปสู่โลกของผู้พลัดถิ่นชาวลาว ผ่านแง่มุมอันหลากหลายของตัวละครที่ถูกนำมาบอกเล่า กล่าวโดยรวมได้ว่า รวมเรื่องสั้นเล่มนี้ว่าด้วยเรื่องของทวิอัตลักษณ์ในความเป็นชาวลาวและชาวแคนาดา (On being Laotian and Canadian)

 

 

ใน How to Pronounce Knife พ่อของเด็กผู้หญิงคนหนึ่งบอกลูกว่า อย่าพูดภาษาลาวและอย่าบอกใครว่าตัวเองเป็นคนลาว เพราะมันไม่ใช่เรื่องดีที่จะบอกใครต่อใครว่าตัวเองมาจากไหน แต่ในขณะเดียวกันนั้น พ่อก็ใส่เสื้อยืดที่มีคำว่า LAOS คาดอยู่บนหน้าอก ยังไม่ต้องพูดถึงเรื่องของรูปลักษณะใดๆ ของเด็กผู้หญิงคนนี้ที่ไม่รู้ว่า คำว่า knife ออกเสียงอย่างไรในภาษาอังกฤษ

คนในบ้านเพียงคนเดียวที่รู้วิธีอ่านคำคือพ่อของเธอ แต่วิธีการออกเสียงที่พ่อของเธอสอน กลับทำให้เธอพบความจริงอีกอย่างที่โรงเรียน

 

ใน Mani Pedi นักมวยรองบ่อนคนหนึ่งไม่มีอนาคตในวงการ สุดท้ายจึงต้องไปเป็นพนักงานทำเล็บมือเล็บเท้าอยู่ในร้านของน้องสาว เขาตกหลุมรักข้างเดียวต่อลูกค้าที่เป็นฝรั่ง และถูกน้องสาวตำหนิห้ามปรามว่าอย่าฝันอะไรที่มันไกลตัว คำถามรันทดของเขาคือ หรือความเป็นอยู่ของคนพลัดถิ่นต่ำต้อยจำกัดแม้กระทั่งสิทธิที่จะฝัน แม้รู้ว่าฝันไม่มีทางเป็นจริง แต่ความฝันก็ทำให้เขามีกำลังใจในการมีชีวิตต่อ

 

ใน Paris ผู้หญิงลาวคนหนึ่งที่อยากทำจมูกให้โด่งเหมือนฝรั่งเพื่อจะได้รับสิ่งที่เธอมองว่าเป็นโอกาส โกรธเป็นฟืนเป็นไฟเมื่อเพื่อนชายที่หลงรักเธอเรียกเธอด้วยชื่อในภาษาลาว ในทางกลับกัน เพื่อนชายคนนั้นก็ไม่ชอบใจเมื่อถูกเรียกด้วยชื่อฝรั่ง

 

ใน A Far Distant Things พ่อชาวลาวไม่อยากให้ลูกสาวสนิทสนมกับเพื่อนฝรั่ง เพราะทัศนคติเรื่องความสัมพันธ์เชิงหนุ่มสาวที่เปิดเผยในการคบหา และความคิดที่ว่าครอบครัวของเพื่อนฝรั่งเป็นครอบครัวธรรมดาไม่มีความสำคัญอะไรในสังคม หลายปีต่อมา ตัวลูกสาวพบว่า สิ่งที่พ่อตัวเองปรารถนานั้นไม่ประสบความสำเร็จ ความเป็นอยู่เธอยังคงอยู่ในระดับเดียวกับพ่อผู้พลัดถิ่น

 

เรื่องราวบางส่วนที่ยกตัวอย่างมาข้างต้น คือภาพแทนของชีวิตผู้พลัดถิ่นที่สื่อถึงความเป็นอื่นอันติดตัวอยู่เสมอ สุวันคำเปิดเผยโลกต่างด้าวของผู้อพยพที่คนส่วนใหญ่รู้ว่ามีอยู่ มองเห็นได้ แต่อยู่นอกเหนือความใส่ใจไต่ถาม ให้ได้รับรู้ผ่านประสบการณ์ของตัวเอง คนในครอบครัว และเพื่อนร่วมเชื้อชาติที่ชะตาชีวิตตกอยู่ในที่นั่งเดียวกัน ซึ่งในแง่หนึ่ง คือการเพิ่มมุมมองให้แก่การมองเข้ามาของคนภายนอกว่า ข้างในความเป็นอื่นมีรูปลักษณ์อย่างไร

 

การปะทะกันของโลกเก่าและโลกใหม่ถูกนำเสนอผ่านสายตาของหลายชีวิต ผ่านงานการที่ต่ำต้อยด้อยค่าจากสายตาคนภายนอกที่ชาวลาวพลัดถิ่นต้องทำ เพราะขาดทักษะสำคัญพื้นฐานอย่างภาษา ในโลกของผู้พลัดถิ่น ภาษาเป็นทั้งสะพานให้ก้าวไปหาความสำเร็จและเป็นหุบเหวลึกเกินป่ายปีน

 

ความเป็นรองในสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นภายใต้โครงสร้างทางสังคมและวัฒนธรรมของแผ่นดินใหม่ได้ถูกคลี่ออกให้เห็นผ่านความฝันและความมุ่งหวังในชีวิตที่ดีกว่าของตัวละครผ่านวิธีต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการใช้ชีวิตโดยไม่ละทิ้งอัตลักษณ์เดิม การกระโจนเข้าหาสิ่งใหม่โดยไม่แยแสต่อสิ่งเก่า และการพยายามทำความเข้าใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นด้วยสายตาสองวัฒนธรรม

 

จากสายตาของเด็กน้อยในครอบครัวที่ปรับตัวต่อโลกใหม่ได้ง่ายกว่า จากสายตาของแม่ที่เฝ้ามองการเปลี่ยนไปเมื่อเติบโตขึ้นของลูก จากสายตาของพ่อที่ออกไปทำงานใช้แรงงาน จากสายตาของคู่รักวัยหนุ่มสาว ความกระอักกระอ่วนอดสูของผู้พลัดถิ่นถูกนำมาบอกเล่า การรักษาศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ดูเหมือนจะเป็นอีกประเด็นของบทสนทนาที่มุ่งไปสู่เจ้าบ้านฝรั่ง ตรงไปยังโลกของคนขาว

 

บทสนทนาของสุวันคำมีลักษณะของการไม่เรียกร้องความเห็นอกเห็นใจ บางขณะมีท่าทีเย้ยหยันสายตาที่มองเข้ามาอย่างไม่เข้าใจด้วยซ้ำ  เป็นบทสนทนาแห่งการเปิดเผยว่า ค่านิยมทั้งตะวันออกและตะวันตกส่งผลต่อชีวิตคนอย่างไรบ้าง และแต่ละคนรับมือกับมันอย่างไร ทั้งจากผู้แพ้ ผู้ชนะ และผู้ที่ยังต่อสู้อยู่

 

สัญลักษณ์อย่างหนึ่งที่สุวันคำเลือกใช้ในการบอกเล่าที่ชวนให้พิจารณา คือ การกำกับชื่อเรียก ตัวละครบางตัวมีทั้งชื่อฝรั่งและชื่อลาว ตัวละครบางตัวมีชื่อฝรั่ง หรือแม้กระทั่งละชื่อ วิธีการให้ชื่อทำให้เราเห็นถึงมิติของตัวละครที่มีต่อตัวตนของตัวเอง การละชื่อหรือไร้ชื่อเป็นการเปิดช่องว่างให้ผู้อ่านตีความว่าตัวละครตัวนั้นอยู่ภายใต้ความคิดแบบใด ไม่ว่าจะเป็นแบบตะวันออก ตะวันตก หรือแบบผสมผสาน

การละชื่อไม่เพียงถูกใช้กับตัวละคร สุวันคำละชื่อสถานที่ของฉากออก ลึกๆ ผู้อ่านที่รู้ประวัติของเธอจะรู้ว่าเรื่องทั้งหมดถูกวางอยู่บนพื้นที่ของความเป็นชาวลาวและชาวแคนาดา เหตุการณ์ทั้งหมดต้องเกิดในแคนาดา แต่การละชื่อเฉพาะของฉากทำให้เรื่องเล่าลอยตัวออกจากพื้นที่เฉพาะของชีวิตและประสบการณ์ส่วนตัว การละชื่อเป็นการปล่อยให้เรื่องเล่าไปอยู่ที่อื่นที่มีความคล้ายคลึงกันของเหตุการณ์ได้อย่างเสรี เป็นการขยายอาณาเขตบทสนทนาของเธอไปยังหนใดก็ตามที่มีเรื่องราวของผู้อพยพในโลกตะวันตก และสามารถไปไกลได้ถึงเป็นอุปมานิทัศน์ของทุกดินแดน

 

นอกจากมุมมองและบทสนทนาที่สื่อออกมาจากสายตาของกลุ่มผู้อพยพแล้ว ในรวมเรื่องสั้น 14 เรื่องมีเรื่องสั้นอีก 2 เรื่องที่ไม่ให้สัมผัสของตะวันออกหรือเรื่องราวของผู้พลัดถิ่นในเรื่องเลย คือ Slingshot และ The Gas Station

เรื่องแรกสุวันคำพาเราไปสำรวจความในใจของหญิงชราไร้ชื่อวัยเจ็ดสิบที่ก่อความสัมพันธ์ทั้งทางใจและทางกายกับหนุ่มอายุสามสิบสอง เรื่องหลังเป็นเรื่องของนักบัญชีสาวที่เล่นเกมกับชายหนุ่มนักรัก ที่ต่างคนต่างคิดว่าอีกฝ่ายเป็นเกมของตน ซึ่งหากพิจารณาจากภาพรวมของเรื่องเล่าแล้ว สองเรื่องนี้คือความเป็นอื่น เป็นสิ่งแปลกแยก ดูเหมือนจะผิดที่ผิดทาง แต่ในความผิดที่ผิดทางนี้ก็ได้ส่งสัญญาณพิเศษบางอย่างออกมา

กล่าวคือ หากตัดเรื่องสั้นสองเรื่องนี้ออกจากเล่ม เรื่องเล่าของสุวันคำจะเป็นเพียงน้ำเสียงตัวแทนของคนพลัดถิ่นที่ถ่ายทอดความรู้สึกจากเรื่องราวรายรอบตัวเอง แต่เมื่อมีเรื่องสั้นสองเรื่องนี้แทรกอยู่ สิ่งที่แสดงออกมา คือการไม่ติดอยู่กับกรอบเกณฑ์ของวรรณกรรมพลัดถิ่นหรือทรัพยากรจากประสบการณ์ชีวิต และการแสดงออกถึงความเข้าใจในวิธีคิดแบบตะวันตกอย่างลึกซึ้ง จนสามารถถ่ายทอดออกมาได้อย่างแยบยล

ไม่เพียงเท่านั้น ความผิดที่ผิดทางนี้ยังมีนัยแห่งการล้อถึงความเป็นอื่นที่เป็นเอกภาพหลักของเรื่องสั้นที่รวมอยู่ในเล่ม ความเป็นตะวันตกที่ผิดแผกอยู่บนพื้นที่ของผู้พลัดถิ่น ความแปลกแยกนี้ส่งให้งานเขียนของสุวันคำมีความเป็นสากล เป็นอิสระ และเปล่งประกายยิ่งขึ้น

 

สำหรับชาวลาว โดยเฉพาะชาวลาวพลัดถิ่นแล้ว เพลงดวงจำปาหรือจำปาเมืองลาวนั้นเปรียบเสมือนสื่อแทนถึงถิ่นฐานบ้านเกิด เมื่อได้ยินเสียงเพลงจากเครื่องเล่นที่ลอยมากับลม เสียงฮัมหรือเสียงเสียงร้องที่เปล่งออกมาชวนให้คิดว่าเขาเหล่านั้นกำลังคิดถึงบ้าน แต่ในความคิดถึงนั้นอาจมีหลากหลายความรู้สึกปะปนอยู่ข้างในและมิได้เปิดเผย นี่อาจเป็นการตีความที่เกินเลยไป แต่ความรู้สึกเวิ้งว้างหวั่นไหวที่หลงเหลือจากเรื่องเล่าที่วิจารณ์ความเป็นลาวและคุณค่าที่ยึดถือไปด้วยในตัว ทำให้หวนคิดว่าเรื่องราวใน How to Pronounce Knife คือภาพแทนของความในใจอันหนักอึ้งที่ซ่อนอยู่ในเสียงเพลงของคนที่จำต้องจากบ้านมา

 

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save