fbpx

“ถ้าสังคมเป็นประชาธิปไตย คนจะจับปืนมาสู้กันน้อยลง”: ฟังเสียงจาก ‘ยะลา-ปัตตานี-นราธิวาส’ ถึงการเลือกตั้ง ’66

ยิ่งเข้าใกล้วันเลือกตั้งอย่างเป็นทางการในวันที่ 14 พฤษภาคมนี้ ไม่ว่าจะเดินทางผ่านถนนสายใด ตั้งแต่เหนือสุดชายแดนไทยจรดสามจังหวัดชายแดนใต้ ล้วนมีป้ายหาเสียงของพรรคการเมืองต่างๆ เรียงรายต้อนรับช่วงเวลาแห่งการเลือกตั้งใหญ่ในรอบสี่ปี ทว่าหากสังเกตให้ดีในบรรดาป้ายหาเสียงเหล่านั้น น้อยนักที่เราจะเห็นการเสนอนโยบายเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้

ตลอดระยะเวลาหลายทศวรรษ ปัญหาชายแดนใต้มีแนวโน้มกลายเป็นเรื่องเฉพาะในพื้นที่ของสามจังหวัด – ยะลา ปัตตานี นราธิวาส คำถามสำคัญคือในการเลือกตั้งระดับประเทศครั้งนี้ เรื่องราวและสุ้มเสียงจากคนในพื้นที่มีที่ทางอยู่ตรงไหนในสมการเลือกตั้งใหญ่ และพรรคการเมืองต่างๆ จะตีโจทย์ปัญหาที่เกิดขึ้นในชายแดนใต้เคียงขนานไปกับการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างในการเมืองภาพรวมได้อย่างไร เพราะในความเป็นจริงนั้น การเมืองเชิงนโยบายสันติภาพชายแดนใต้ไม่อาจแยกขาดจากการเมืองภาพใหญ่ของประเทศได้

ในห้วงเวลาสำคัญเช่นนี้ 101 ชวน รศ.เอกรินทร์ ต่วนศิริ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี, ซูกริฟฟี ลาเตะ นักกิจกรรมทางการเมืองกลุ่ม The Patani และคนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ มาพูดคุยว่าด้วยความคาดหวังต่อการเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 นโยบายสาธารณะที่สอดรับกับชีวิตของผู้คนในพื้นที่ ที่ทางของนักการเมืองแต่ละพรรคท่ามกลางบริบทความรุนแรงที่กินเวลามาเนิ่นนานหลายปี และการกระจายอำนาจที่จะทำให้การพัฒนาอยู่ในมือคนท้องถิ่นอย่างแท้จริง

ในวันที่เส้นทางแห่งประชาธิปไตยจะเปิดให้ทุกคนไปใช้สิทธิออกเสียงกันในวันที่ 14 พฤษภาคมนี้ ความหวัง ความฝัน และความปรารถนาของคนใน ‘ยะลา-ปัตตานี-นราธิวาส’ เป็นอีกเสียงที่รอคอยให้ทุกคนรับฟัง

ที่ทางของพรรคการเมืองหัวก้าวหน้าในพื้นที่อนุรักษนิยม

รศ.เอกรินทร์ ต่วนศิริ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ระบุว่าบรรยากาศการเลือกตั้งในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ในปีนี้คึกคักไม่ต่างจากจังหวัดอื่น โดยหากพิจารณาจากป้ายหาเสียงในพื้นที่จะมีสองนโยบายหลักที่พรรคการเมืองนำมาเสนอเพื่อเรียกคะแนนเสียงจากประชาชนในพื้นที่

นโยบายแรกเป็นประเด็นที่คุ้นหูคุ้นตาไม่แตกต่างจากพื้นที่อื่นในประเทศ นั่นคือนโยบายเศรษฐกิจหรือเรื่องปากท้องซึ่งยังคงเป็นนโยบายหลักที่พรรคการเมืองชูในการเลือกตั้ง เพียงแต่เอกรินทร์ชี้ให้เห็นว่าแต่ละพรรคการเมืองจะมีวิธีการนำเสนอแนวทางไปสู่การมีปากท้องที่ดีแตกต่างกันออกไป โดยอาศัยแนวทางจากผลงานที่ผ่านมาของแต่ละพรรค

นโยบายที่สอง เนื่องด้วยสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นพื้นที่ที่ทหารกุมอำนาจเบ็ดเสร็จมาจนถึงปัจจุบัน หลายพรรคการเมืองจึงเสนอวิธีการแก้ไขปัญหาเรื่องความมั่นคงและความรุนแรงภายในพื้นที่ เช่น เสนอยกเลิกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) เสนอยกเลิกกฎหมายพิเศษ ไม่ว่าจะเป็น พ.ร.ก. ฉุกเฉิน กฎอัยการศึก และ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ รวมถึงเสนอนโยบายกระจายอำนาจ ซึ่งนโยบายเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงบริบททางการเมืองของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่แตกต่างไปจากจังหวัดอื่นๆ

“ตัวอย่างนโยบายของพรรคก้าวไกลเสนอให้มีการทบทวนวิธีจัดการบริหารภายในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะการดึงทหารออกจากสมการหลักปฏิบัติการทางการเมือง หมายความว่าต้องมีการกระจายอำนาจเพื่อให้สิทธิแก่ประชาชนในการเลือกผู้นำสูงสุดของตัวเอง” 

“พรรคอื่นๆ เช่น พรรคประชาชาติที่เป็นพรรคการเมืองหลักในพื้นที่ก็เสนอให้มีการทบทวนกฎหมายพิเศษ ส่วนพรรคพลังประชารัฐ ณ ตอนนี้ นโยบายในประเด็นความมั่นคงและความขัดแย้งยังไม่เด่นชัดมากนัก จะเน้นเรื่องของปากท้องและการสนับสนุนให้ประชาชนในพื้นที่มีโอกาสเข้าถึงทรัพยากรของรัฐมากขึ้น” เอกรินทร์อธิบาย

เอกรินทร์ให้ข้อมูลที่น่าสนใจว่าพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ในปีนี้ ผู้ที่มีสิทธิเลือกตั้งเป็นครั้งแรกมีจำนวนเยอะที่สุดในประเทศจากสถิติที่สำรวจ รวมจำนวนคนอายุระหว่าง 18-22 ปี ที่มีสิทธิเลือกตั้งครั้งแรกในปีนี้ทั้งหมดกว่า 194,633 คน จำแนกเป็นปัตตานี 61,992 คน ยะลา 43,838 คน และนราธิวาส 64,244 คน ซึ่งในคนรุ่นใหม่กลุ่มนี้มีความเป็นไปได้สูงมากที่จะเทคะแนนเสียงให้พรรคก้าวไกล

อย่างไรก็ดี หากจะพูดถึงคนรุ่นใหม่ในพื้นที่ซึ่งเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งครั้งแรกและครั้งที่สอง เอกรินทร์มองว่าส่วนใหญ่จะเลือกพรรคก้าวไกลโดยเฉพาะในบัตรบัญชีรายชื่อ แต่สำหรับเขตนั้นอาจจะมีความแตกต่างกัน เพราะในสังคมมุสลิม สถาบันครอบครัวยังคงมีบทบาทสำคัญ หมายถึงพ่อแม่ยังผูกพันกับหัวคะแนนแบบเก่าที่อาจเป็นเครือญาติหรือคนรู้จัก หรือเรียกในทางรัฐศาสตร์ได้ว่าเป็นระบบอุปถัมภ์ค้ำจุนที่ยังเป็นปัจจัยสำคัญต่อการเลือกตั้ง

อีกหนึ่งพลวัตทางการเมืองที่น่าสนใจคือ คนรุ่นใหม่บางส่วนใช้วิธีการต่อรองและการให้เหตุผลต่อครอบครัวมากขึ้น หมายถึงการยืนยันในการเลือกพรรคก้าวไกลซึ่งเป็นพรรคที่ครองใจกลุ่มคนรุ่นใหม่โดยพิจารณาทางด้านนโยบายเป็นหลัก แม้ว่าจะถูกร้องขอจากครอบครัวให้กาบัตรเลือกตั้งเขตเพื่อรักษาความสัมพันธ์ก็ตาม

ต่อประเด็นนี้ เอกรินทร์เสริมว่าเป็นเรื่องปกติของพลวัตการเมืองที่ได้รับอิทธิพลมาจากการศึกษาและสื่อที่คนรุ่นใหม่มีโอกาสเข้าถึง ทั้งในฐานะเป็นผู้เสพสื่อ ส่งต่อ และผลิตขึ้นมาเอง เรียกได้อีกชื่อว่าเป็นหัวคะแนนธรรมชาติ ที่กำลังเกิดขึ้นในหมู่คนสนับสนุนพรรคก้าวไกล แม้ว่าพวกเขาเองอาจจะถูกด้อยค่าจากกลุ่มคนที่ไม่เห็นด้วยก็ตาม ทั้งการใช้ความเป็นอาวุโส หรือใช้เหตุผลทางด้านศาสนาในการตีความว่าเป็นพรรคที่มีนโยบายขัดต่อศาสนาอิสลามอย่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม หรือ พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า แต่คนรุ่นใหม่ก็ไม่ได้หวั่นไหวและมองเรื่องการเมืองเป็นเรื่องอุดมการณ์ ความคิด และความฝันในภาพรวมที่พวกเขากำลังเผชิญอยู่ เช่น เรื่องเศรษฐกิจ การศึกษา สิทธิเสรีภาพ และเรื่องรัฐสวัสดิการ เป็นต้น 

ทั้งนี้ เอกรินทร์เน้นย้ำว่าฐานเสียงจากคนรุ่นใหม่อาจยังไม่มากพอที่จะเปลี่ยน ส.ส.เขตในพื้นที่ สำหรับในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้พรรคปีกหัวก้าวหน้ายังต้องรอและใช้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ โดยส่วนตัวเขาคิดว่าคนรุ่นใหม่ในพื้นที่รู้ถึงเงื่อนไขนี้ดีและยังคงรอคอยความเปลี่ยนแปลงอย่างมีความหวัง  

“ถ้าถามว่าพรรคก้าวไกลมีโอกาสได้ที่นั่งในเขตของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ไหม ผมมองว่ายังยาก เพราะเสียงโหวตของคนรุ่นใหม่รวมกันแล้วก็อาจยังไม่เพียงพอจะผลักดันให้เกิด ส.ส.จากก้าวไกลในพื้นที่ชายแดนใต้ แต่ถ้าพูดถึงคะแนนเสียงบัญชีรายชื่อผมคิดว่าได้เยอะมากกว่าพรรคอนาคตใหม่ในปี 2562 แน่นอน”

“จากงานวิจัยของผมที่ศึกษาพฤติกรรมการเลือกตั้งของคนในพื้นที่ตั้งแต่ปี 2562 ที่ผ่านมา เราพบว่าพฤติกรรมการเลือกตั้งของคนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังยึดติดกับบุคคลเป็นหลักมากกว่าจะพิจารณาจากนโยบายของพรรคการเมือง แต่ปัจจุบันก็ค่อยๆ เปลี่ยนแปลงไปในหมู่คนรุ่นใหม่ คือคนรุ่นใหม่จะดูจากนโยบายของพรรคการเมืองเป็นหลัก เพราะฉะนั้นในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตัวบุคคลยังมีส่วนสำคัญในการดึงคะแนนเสียงของประชาชนในพื้นที่” เอกรินทร์เสริม

รศ.เอกรินทร์ ต่วนศิริ

นอกจากนี้ จากปัญหาความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งกินเวลายาวนานจนใกล้จะครบสองทศวรรษในปีหน้า ตลอดหลายสิบที่ผ่านมา ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในพื้นที่คือการที่มีคนรุ่นใหม่จำนวนมากเติบโตมาพร้อมกับความหลากหลาย ไม่ได้มีความเป็นชาตินิยมมลายูโดยสิ้นเชิงอีกต่อไป นี่คือหมุดหมายสำคัญอย่างมากที่เกิดขึ้นในการเมืองของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้

“คนรุ่นใหม่มีความคิดและความฝันหลากหลายไม่แตกต่างจากคนทั่วไปที่อยู่ในบ้านเมืองนี้ พวกเขาอยากมีชีวิตที่ดี อยากมีโอกาสที่ดี และอยากทำให้บ้านเกิดของเขาพัฒนาขึ้นไม่แตกต่างจากคนกรุงเทพฯ หรือพื้นที่อื่นๆ ของไทย นี่คือสมการที่เปลี่ยนไปอย่างมากในสถานการณ์ภาคใต้ สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไปแล้ว” 

หมุดหมายแห่งการเปลี่ยนแปลงนี้ยังสะท้อนให้เห็นว่าจากนี้ต่อไป พื้นที่การเมืองที่มีความเป็นประชาธิปไตยและโอบรับความแตกต่างหลากหลายจะทำให้หนทางการใช้อาวุธน้อยและแคบลง เพราะพื้นที่ของประชาธิปไตยจะเปิดกว้าง โอบอุ้ม และให้สิทธิเสรีภาพแก่คนในพื้นที่ ซึ่งจะเปิดโอกาสให้สามจังหวัดชายแดนภาคใต้กลับมาใช้แนวทางการต่อสู้ทางการเมืองในรูปแบบของกลไกรัฐสภามากกว่าใช้ความรุนแรงหรือสมาทานแนวความคิดการใช้ความรุนแรง

“ถ้าเราได้รัฐบาลฝั่งประชาธิปไตยจะทำให้เกิดแนวทางใหม่ๆ ในการแก้ไขปัญหาภาคใต้ ไม่ใช่แค่แนวทางของการปราบปรามและติดอาวุธอย่างที่ผ่านมา เช่น อาจมีการใช้แนวทางสันติวิธีมากขึ้น มีการเจรจาพูดคุยอย่างจริงจังผ่านรัฐสภา ซึ่งจะทำให้สังคมไทยมีความหวังมากขึ้นด้วยในการเห็นถึงความคืบหน้าของวิธีการใหม่ๆ ที่ไม่ใช้ความรุนแรง ซึ่งเรื่องนี้ต้องเริ่มจากการทำงานของรัฐบาลก่อน” 

“สิ่งสำคัญของการมีรัฐบาลประชาธิปไตยคือเราหวังว่าต่อไปนี้ทุกคนจะสามารถพูดเรื่องต่างๆ ได้อย่างปลอดภัย ไม่มีใครถูกจับกุมเวลาอยากจะฝันหรือคิดอะไร เพราะผมเชื่อว่าการเปิดโอกาสให้คนพูดและคิดย่อมดีกว่าการปิดปากให้เงียบแต่ทำให้ผู้คนอึดอัดแล้วไปอยู่ในขบวนการที่ใช้ความรุนแรงแทน” เอกรินทร์กล่าว

มากไปกว่านั้น เอกรินทร์ให้ความเห็นว่าหากการเลือกตั้งครั้งนี้พรรคการเมืองฝั่งฟากประชาธิปไตยได้จัดตั้งรัฐบาล ภารกิจของรัฐบาลชุดดังกล่าวในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มีสามแง่มุมดังต่อไปนี้

ประการที่หนึ่ง การยกเลิกเรื่องของกฎหมายพิเศษในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่คนพื้นที่เรียกร้องกันมาเนิ่นนาน

ประการที่สอง อาจมีการเปลี่ยนแปลงกลไกของรัฐราชการอันเป็นอำนาจใหญ่ในพื้นที่อย่างศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ซึ่งอยู่ภายใต้การควบคุมของกองทัพ ไม่ว่าจะให้มีการโยกย้ายหรือพิจารณาให้เลขาธิการ ศอ.บต. มาจากการเลือกตั้งแทน หรือขั้นสูงสุดคืออาจให้มีการยกเลิกอำนาจ ศอ.บต.

“การได้รัฐบาลพลเรือนโดยเฉพาะฝั่งประชาธิปไตยเข้ามาจะช่วยให้บาลานซ์อำนาจของทหารได้ ซึ่งจะเป็นผลดีในเรื่องความโปร่งใสและการปกป้องรักษาสิทธิมนุษยชน ต้องมีการตรวจสอบและกำกับดูแลการใช้กำลังของทหารในการละเมิดสิทธิมนุษยชนของประชาชน ทั้งการบุกค้น จับกุม และใช้กฎหมายต่างๆ ที่ผ่านมาทหารมีอำนาจเต็มและไม่เคยได้รับการตรวจสอบเลย ไล่มาตั้งแต่เรื่องงบประมาณไปจนถึงการด้อยค่าสิทธิมนุษยชน”

ประการที่สาม สิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปแน่นอนคือการเอาจริงเอาจังกับเรื่องกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพมากขึ้นโดยไม่ให้ทหารเป็นผู้นำการเมืองในท้องที่อีกต่อไป แต่เปิดทางให้พลเรือนและรัฐสภาเป็นผู้นำในการแก้ปัญหาต่างๆ เพื่อให้เกิดสันติภาพแทน

สุดท้าย เมื่อให้ลองวาดภาพความหวังหลังการเลือกตั้งใหญ่ที่เรารอคอยกันมาว่า 4 ปี เอกรินทร์ระบุว่า “ผมคาดหวังว่าผู้มีอำนาจทั้งหลายจะเห็นถึงความต้องการของประชาชนผ่านหีบเลือกตั้งและเสียงโหวต”

“สำหรับสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ผมหวังว่าการเลือกตั้งครั้งนี้จะทำให้ผู้คนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เห็นว่าการเลือกตั้งจะทำให้ชีวิตของพวกเขาดีขึ้นได้ผ่านนโยบายต่างๆ และเป็นช่องทางหนึ่งที่จะทำให้ความฝัน ความคิด และการมีชีวิตที่ดีของพวกเขาได้เผยให้สังคมเห็นจากการลงคะแนนเสียง เพราะผมเชื่อมั่นว่าเส้นทางแห่งประชาธิปไตยเป็นเส้นทางที่เราจะรักษาชีวิตผู้คนได้มากที่สุดท่ามกลางความแตกต่างหลากหลาย แม้ว่าคนเหล่านั้นจะเห็นต่างกับเราก็ตาม” เอกรินทร์กล่าวทิ้งท้าย

ถ้าการเมืองดี ความรุนแรงในพื้นที่จะหายไป

จากบรรยากาศการเมืองไทยในช่วงที่ผ่านมากับความคุกกรุ่นจากกรุงเทพฯ มาจนถึงชายแดนใต้ ซูกริฟฟี ลาเตะ นักกิจกรรมทางการเมืองกลุ่ม The Patani เล่าให้เราฟังว่าบรรยากาศช่วงเลือกตั้งที่ปัตตานีซึ่งเป็นบ้านเกิดของเขามีความเข้มข้นอย่างมาก ทั้งในแง่ความพิเศษทางการเมืองของพื้นที่ชายแดนใต้ที่มีการควบคุมอย่างเข้มงวดและการบังคับใช้กฎหมายพิเศษโดยทหาร เพราะฉะนั้นในการเลือกตั้งแต่ละครั้ง คนในพื้นที่จึงค่อนข้างให้ความสำคัญอย่างมาก ทั้งยังมีนักกิจกรรมการเมืองหรือคนรุ่นใหม่หลายคนประเดิมลงสนามการเลือกตั้งเป็นนักการเมืองหน้าใหม่ในปีนี้

“หลังจากเลือกตั้ง 2562 หลายพื้นที่เริ่มมีคนรุ่นใหม่ลงไปเป็นนักการเมืองท้องถิ่นหรือลงไปเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้ง กระแสคนที่ต้องการความเปลี่ยนแปลงเริ่มมากขึ้น มีผู้ท้าชิงก็จะมีหน้าใหม่เป็นนักกิจกรรมรุ่นใหม่ที่ผันตัวลงเลือกตั้ง หรือแม้แต่ก่อตั้งพรรคใหม่ไปเลยก็มี”

“มีพรรคเป็นธรรมจากลุ่ม Patani Baru แต่เป็นพรรคเล็กที่มีนักกิจกรรมจากปัตตานีร่วมอยู่มาก พวกเขามีนโยบายการสร้างสันติภาพที่ได้ใจชาวปัตตานีที่มีความเป็นชาตินิยม แต่เป็นพรรคเล็กซึ่งยากมากที่จะมีที่นั่งในรัฐสภาในหารเลือกตั้งครั้งนี้ แต่พวกเขาอาจสามารถช่วยขยับเพดานเสรีภาพในปัตตานีได้ และในอนาคตก็อาจจะมีที่นั่งในรัฐสภา”

ปฏิเสธไม่ได้ว่าในการเลือกตั้งที่จะถึงนี้ พรรคการเมืองหลักซึ่งเป็นอดีตฝ่ายค้านที่เป็นที่จับตามองอย่างมากจากสังคมคือ พรรคเพื่อไทยกับพรรคก้าวไกล สำหรับสนามการเลือกตั้งในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซูกริฟฟีชี้ให้เห็นถึงโจทย์ที่ทั้งสองพรรคมีสำหรับการหาเสียงในพื้นที่ชายแดนใต้ ซึ่งเป็นโจทย์ใหญ่ที่น่าสนใจไม่น้อย

“ต้องยอมรับว่าพรรคก้าวไกลมีกระแสค่อนข้างดีมาก ทั้งกระแสจากโซเชียลมีเดียและการสื่อสารในโลกออนไลน์ที่ทำให้พวกเขาเป็นที่รู้จัก แต่ถ้าพูดกันตามตรง การจะชนะในสามจังหวัดชายแดนใต้ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะในหลายพื้นที่ยังใช้ระบบหัวคะแนนแบบเก่าและยึดโยงที่ตัวบุคคลอยู่”

“ปฏิเสธไม่ได้ว่าในสังคมภาพรวมของชุมชนมุสลิมที่นี่ค่อนข้างเป็นมีความอนุรักษนิยมสูง หมายความว่าสิ่งไหนก็ตามที่สุ่มเสี่ยงต่อการการขัดกับหลักศาสนาก็อาจถูกปฏิเสธจากคนที่นี่ เช่น พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม เป็นนโยบายที่ไม่ง่ายนักที่จะสื่อสารให้คนในพื้นที่เข้าใจ จำเป็นต้องอาศัยเวลาในการสื่อสารพูดคุยกันมากหน่อย ในขณะเดียวกันก็จะมีบางพรรคการเมืองในพื้นที่ใช้จุดแข็งนี้ในการหาเสียงว่านโยบายไหนก็ตามที่อาจขัดต่อหลักศาสนาหรือส่งผลกระทบต่อสังคมมุสลิม เขาจะต่อต้านเต็มที่ เป็นการรักษาฐานเสียงของชาวมุสลิมที่มีความคิดแบบอนุรักษนิยม”

“สำหรับพรรคเพื่อไทยที่มีบาดแผลเรื่องตากใบกับคนในพื้นที่ โจทย์สำคัญที่ทางพรรคต้องทำคือการลบบาดแผลในอดีตด้วยการหาคนผิดมาลงโทษ แม้อายุความตอนนี้จะเหลือแค่ 1 ปีก็ตาม” ซูกริฟฟีอธิบาย

ซูกริฟฟี ลาเตะ

ในส่วนของนโยบายภาพรวม โจทย์ความท้าทายที่ทุกพรรคการเมืองมีร่วมกันหากต้องการคะแนนเสียงจากประชาชนในสามจังหวัดชายแดนใต้ คือการผลักดันนโยบายที่จะนำมาสู่สันติภาพระยะยาวในพื้นที่ รวมไปถึงนโยบายเกี่ยวกับความมั่นคง โดยเฉพาะการยกเลิกการบังคับใช้กฎหมายพิเศษ 

“สำคัญที่สุดคือนโยบายเกี่ยวกับการสร้างสันติภาพ ที่นี่มีความขัดแย้งมาเป็นเวลากว่า 20 ปี และเราเห็นถึงความล้มเหลวจากการจัดการด้วยวิธีความมั่นคงแบบที่ทำมาเกือบ 20 ปี รวมถึงการบริหารประเทศกว่า 8 ปีโดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา”

“โดยเฉพาะในช่วงโควิด-19 ระบาดก็ยังมีการบังคับใช้กฎหมายที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน วิธีการและนโยบายของนายกรัฐมนตรีคนก่อนที่นำมาใช้กับที่นี่ก็ไม่ได้ทำให้การสร้างสันติภาพในพื้นที่ดีขึ้นเลย ยังรวมถึงไปถึงบรรยากาศในพื้นที่ด้วยที่มีการคุกคามกลุ่มคนที่ใส่ชุดมลายู คุกคามคนที่รวมกลุ่มกันแสดงพลังทางอัตลักษณ์หรือวัฒนธรรมของตนเอง” ซูกริฟฟีกล่าว

เขาเสริมว่าความสำคัญของการมี พ.ร.บ.เกี่ยวกับการสร้างสันติภาพคือการเป็นเครื่องหมายสำคัญว่าการสร้างสันติภาพในสามจังหวัดชายแดนใต้จะไม่สะดุดหยุดลงหากมีการรัฐประหารเกิดขึ้นอีก รวมถึงนโยบายปฏิรูปกองทัพ การจัดการอำนาจของ กอ.รมน. และการกระจายอำนาจในพื้นที่ซึ่งล้วนเป็นประเด็นที่สำคัญอย่างมากสำหรับประชาชนในพื้นที่ชายแดนใต้

“นโยบายหรือแนวทางในการจัดการพื้นที่แบบรัฐบาลที่ผ่านมาไม่มีทางทำให้เกิดสันติภาพได้ ผมก็หวังว่าคนที่ต้องการจะเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไปจะเป็นซีกฝั่งประชาธิปไตยและจะมีความเข้าใจต่อบริบทของพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้”

อีกด้านหนึ่งที่สำคัญย่อมหนีไม่พ้นนโยบายเกี่ยวกับเศรษฐกิจ ซูกริฟฟีชี้ให้เห็นว่าหากไปดูสถิติตัวเลขความยากจน คนสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มีความยากจนกว่าคนในพื้นอื่นๆ ตลอดหลายสิบปีที่ผ่าน นโยบายด้านเศรษฐกิจจึงเป็นนโยบายที่ค่อนข้างเป็นจุดขายของหลายพรรคการเมือง

ในแง่หนึ่ง ปัญหาชายแดนใต้อาจถูกมองว่าเป็นปัญหาเฉพาะพื้นที่ ทั้งในแง่ของผู้ได้รับผลกระทบและในแง่ของคนที่มีหน้าที่บริหารจัดการ ซึ่งตัวชี้วัดหนึ่งคือแทบไม่มีพรรคการเมืองไหนเสนอวาระเรื่องชายแดนใต้เป็นนโยบายหาเสียงหลักเลย ในประเด็นนี้ซูกริฟฟีเห็นด้วยว่าในสนามการเลือกตั้งใหญ่ที่จะถึงนี้ เรายังไม่เคยเห็นพรรคไหนพูดเรื่องนโยบายการจัดการความมั่นคงและสันติภาพในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างตรงไปตรงมา

อย่างไรก็ดี แม้จะไม่มีนโยบายหลักเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาในสามจังหวัดชายแดนใต้ แต่ซูกริฟฟีระบุว่าเขาคาดหวังกับพรรคการเมืองฝั่งประชาธิปไตยในเรื่องการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างที่กรุงเทพฯ ทั้งนโยบายกระจายอำนาจ ลดบทบาทของกองทัพ หรือการแก้กฎหมายที่ลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน เพราะสำหรับเขา หากพรรคการเมืองมีเจตนารมณ์ชัดเจนว่าต้องการเปลี่ยนการเมืองภาพใหญ่ที่กรุงเทพฯ ให้เป็นประชาธิปไตย เขาเชื่อว่าการเมืองที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้จะได้ประโยชน์ไปด้วย และอย่างน้อยจะทำให้การต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพในสามจังหวัดชายแดนใต้มีความหวังมากขึ้น

“ประเทศไทยจำเป็นต้องมีเสรีภาพ ต้องมีการกระจายอำนาจ ต้องให้คนในพื้นที่จัดการทรัพยากรของตนเองได้มากขึ้น และเราอยากเห็นภาพการทำประชามติซึ่งคาบเกี่ยวกับโครงสร้างรัฐธรรมนูญและจำเป็นต้องใช้พลังในสภา เราอยากเห็นการลดความขัดแย้งได้ในระยะยาว”

“ผมเชื่อมั่นว่าถ้าสังคมมีความเป็นประชาธิปไตย คนจะจับปืนมาต่อสู้กันน้อยลง” ซูกริฟฟีกล่าว 

แน่นอนว่าการอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลทหารมากว่า 8 ปีส่งผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ของคนประเทศไม่น้อย โดยเฉพาะพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ที่ต้องพบเจอกับปัญหาความรุนแรงและกฎหมายที่ลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนมาโดยตลอด เมื่อเป็นเช่นนั้น การเลือกตั้งครั้งนี้จึงเป็นความหวังครั้งสำคัญที่ซูกริฟฟี รวมถึงคนในพื้นที่หลายคนคาดหวังว่าจะมาสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นเสียที โดยเฉพาะการนำทหารและกองทัพออกไปจากสมการการเมืองการปกครองในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้โดยสิ้นเชิง

“นายกฯ คนก่อนก็เป็นทหาร เพราะฉะนั้นวิธีคิดและเลนส์ในการมองและแก้ปัญหาในพื้นที่ก็เป็นแบบทหาร เราจะเห็นข้าราชการบางคนมีศักยภาพก็ถูกย้ายไปที่อื่น ส่วนราชการบางคนที่ทำผิดพลาดในพื้นที่อื่นก็ถูกย้ายมาที่นี่ เหล่านี้เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่จำเป็นต้องได้รับการแก้ไข” 

“8 ปีมานี้สะท้อนภาพให้คนในพื้นที่มองเห็นความสำคัญของการเมืองภาพใหญ่มากขึ้น และเข้าใจมากขึ้นว่าการเข้าคูหากาพรรคการเมืองที่อยู่ฝั่งประชาธิปไตยนั้นสำคัญอย่างไรต่อการเปลี่ยนแปลงอนาคตของพวกเรา” 

ความฝันของคนรุ่นใหม่คือการมองเห็นบ้านเกิดมีความหวังอีกครั้ง

อาร์ฮัม (นามสมมติ) นักศึกษาจบใหม่จากจังหวัดนราธิวาส เล่าย้อนกลับไปถึงบรรยากาศการเลือกตั้งนายกฯ เมื่อ 4 ปีที่แล้วที่มีความคึกคักมากเป็นพิเศษ เพราะมีการเปลี่ยนผ่านความคิดของคนรุ่นใหม่และมีพรรคใหม่เกิดขึ้นมา เขาเสริมว่าโดยส่วนตัวให้ความสำคัญกับการเลือกตั้งใหญ่ระดับประเทศมากกว่าระดับท้องถิ่น เพราะการเลือกตั้งระดับประเทศมีการดีเบตของแคนดิเดตแต่ละพรรค มีการเสนอนโยบายให้ดูอย่างจริงจัง แตกต่างจากการเลือกตั้งท้องถิ่นที่ไม่ค่อยมีการสื่อสารกับคนในพื้นที่มากนัก ส่วนใหญ่จะการเลือกจากตัวบุคคลที่เป็นที่รู้จักของคนในพื้นที่อยู่แล้ว

เมื่อถามถึงความหวังที่มีต่อการเลือกตั้งครั้งนี้ อาร์ฮัมระบุว่าเขาคาดหวังให้รัฐบาลหลังการเลือกตั้งพัฒนาพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้มีการลงทุนเรื่องอาชีพและการหางานในพื้นที่มากขึ้น เนื่องจากภาพจำตอนนี้คนส่วนใหญ่รู้สึกหวาดกลัวการเข้ามาในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ มองว่าเป็นสถานที่อันตรายมากว่าตลอดหลายสิบปี

“เรามองว่าแทบจะต้องแก้ไขยกแผงเลย เพราะปัญหาทุกอย่างหมักหมมมานานมากแล้ว เช่น การขนส่งสาธารณะในสามจังหวัดน้อยมาก รถไฟก็ผ่านแค่บางสถานที่ในสามจังหวัด จะไปไหนก็มีแค่รถส่วนตัวหรือไม่ก็ต้องนั่งรถสองแถว เราไม่ได้มีขนส่งสาธารณะหรือรถเมล์แบบกรุงเทพฯ ด้านการศึกษาก็อยากให้ยกระดับมหาวิทยาลัยในพื้นที่ให้มีคุณภาพทัดเทียมจังหวัดอื่น เราอยากให้มีการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นหลังการเลือกตั้งครั้งนี้”

“เรื่องเศรษฐกิจก็อยากให้มีการลงทุนมากขึ้น ในพื้นที่พึ่งจะมีพวกห้างสรรพสินค้าเข้ามาที่สามจังหวัดในช่วง 10 ปีที่ผ่านมานี่เอง เมื่อก่อนแม้แต่โลตัสหรือบิ๊กซียังไม่มีเลย เพราะคนไม่กล้าเข้ามาลงทุน ไม่กล้าแม้แต่จะเข้ามาในพื้นที่ กลายเป็นว่าตอนนี้คนในพื้นที่ออกไปหางานที่กรุงเทพฯ กันหมด เพราะคนส่วนใหญ่รู้สึกว่าไม่คุ้มเสี่ยงที่จะเข้ามาลงทุนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้”

“เหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ผ่านมาเกิน 20 ปีแล้ว ตั้งแต่เรายังไม่เกิด ตอนนี้เรื่องราวก็ยังคาราคาซังเหมือนเดิม ไม่มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลง คนในพื้นที่บางคนเลยมองว่าคงแก้อะไรไม่ได้ แต่เราก็ยังหวังว่ามันจะได้รับการแก้ไข อยากให้มีการจัดการและมีการลงทุนในสามจังหวัดบ้าง เพราะพื้นที่ตรงนี้โดนปล่อยเกาะมานานแล้ว”

อาร์ฮัมเล่าให้เราฟังว่าเขาและเพื่อนหลายคนมองภาพอนาคตตัวเองว่าอยากทำงานที่บ้านเกิดของตัวเอง ไม่ได้ต้องการเดินทางเข้าไปหางานที่กรุงเทพฯ แต่อย่างที่รู้กันว่า ณ ตอนนี้ ความเจริญต่างๆ รวมถึงงานทุกอย่างมักกระจุกตัวอยู่ในเมืองใหญ่ เขาจึงอยากให้มีการกระจายอำนาจมาให้พื้นที่สามจังหวัดชายแดนที่ค่อนข้างรกร้างและกันดารมานานหลายปี

“เพื่อนๆ รุ่นเดียวกันกับเราส่วนใหญ่อินการเมืองกันมาก ติดตามข่าวการเลือกตั้งกันตลอดอยู่แล้ว สำหรับการเลือกตั้งที่จะถึงนี้ เราอยากได้รัฐบาลที่สามารถส่งเสริมสิ่งที่ประชาชนอยากได้ ที่สำคัญคืออยากให้ผลักดันเรื่องการขนส่งสาธารณะ การศึกษา และเศรษฐกิจในพื้นที่ชายแดนใต้มากกว่าที่เป็นอยู่ตอนนี้ ให้มีการจัดการงบประมาณที่ดีมากขึ้น เพราะถ้าเลือกได้เราก็อยากทำงานที่บ้านเกิดตัวเองมากกว่าจะต้องไปหางานทำที่จังหวัดอื่น” อาร์ฮัมกล่าว

การปะทุขึ้นของความขัดแย้งและความรุนแรงในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ดำเนินมากว่าหลายทศวรรษ เมื่อพูดถึงต้นตอของปัญหาในพื้นที่ แน่นอนว่ามันไม่อาจแยกขาดออกจากปัญหาเชิงโครงสร้างในการเมืองระดับประเทศได้ ในขณะเดียวกัน ปัญหาปากท้องหรือเศรษฐกิจก็เป็นเรื่องสำคัญที่คนในพื้นที่ยังคงรอคอยอย่างมีความหวัง ว่าสักวันพวกเขาจะสามารถลืมตาอ้าปากได้ในบ้านเกิดของตัวเอง แม้จะกินเวลามาเนิ่นนานหลายปี แต่ปัญหาที่ทับซ้อนกันภายใต้พรมผืนใหญ่ในพื้นที่ชายแดนใต้อาจถูกพลิกขึ้นมาสะสางได้อีกครั้งผ่านการเลือกตั้งใหญ่หนนี้

แน่นอนว่าบทความนี้เป็นเพียงการถกถามความเห็นของคนเพียงไม่กี่คนในพื้นที่ ทว่าปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่ามันสะท้อนให้เราเห็นถึงสิ่งสำคัญที่ประชาชนในสามจังหวัดชายแดนใต้ต้องการ – ความหวัง ความฝัน ความปลอดภัย จะมีอะไรที่พวกเขาปรารถนาไปมากกว่านี้อีกหรือ หากแต่เมื่อไหร่กันที่การเมืองไทยจะดึงเอาสุ้มเสียงของพวกเขาไปอยู่ในสมการแห่งความเปลี่ยนแปลงเสียที ท่ามกลางความผันผวนและปรวนแปรของเหตุบ้านการเมือง ยังไม่รวมความห่าเหวกว่าหลายสิบปีที่ทหารและกองทัพกลายมาเป็นผู้กุมอำนาจเบ็ดเสร็จในพื้นที่ ณ วันนี้ ถึงเวลาแล้วหรือไม่ที่รัฐไทยจะคืนสันติภาพให้ชายแดนใต้

อีกไม่เกินสามวันแห่งวาระการเลือกตั้งใหญ่ ผ่านคูหาเล็กๆ ที่รอคอยให้ประชาชนเข้าไปแสดงเจตจำนงของตนเองนั้น เราอาจเห็นแสงสะท้อนแห่งความหวังส่องประกายอยู่ไม่ไกล ตราบใดที่ไม่มีใครจะนำเอาเสรีภาพและสันติภาพไปจากพี่น้องสามจังหวัดชายแดนใต้อีก

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save